Skip to main content

 

เร็วๆ นี้ ผมได้เดินทางมาสักการะอนุสาวรีย์สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ณ วัดชนะสงคราม ย่านบางลำพู ซึ่งเดิมคือวัดตองปุ อดีตศูนย์รวมคณะสงฆ์ฝ่ายรามัญในเขตพระนคร (ตั้งชื่อตามขนบนิยมแบบวัดตองปุในเขตกรุงศรีอยุธยา) จากนั้น จึงค่อยเปลี่ยนชื่อมาเป็นวัดชนะสงครามเพื่อสดุดีวีรกรรมของเจ้าวังหน้าในยุทธนาการที่มีต่อกองทัพพม่าเมื่อครั้งสมรภูมิสงครามเก้าทัพ สงครามท่าดินแดงและสามสบ

แต่กระนั้น สิ่งที่น่าประหลาดใจ คือ การพบเห็นพระฉายาลักษณ์ของเจ้าครอกฟ้าสิริรจนา เจ้าศรีอโนชา พระอัครชายาในสมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ และพระขนิษฐาของพระเจ้ากาวิละแห่งนครลำปาง-เชียงใหม่ ซึ่งพอจะสะท้อนให้เห็นว่าขัตติยะนารีพระองค์นี้ เปรียบประดุจกับสะพานทองที่คอยเชื่อมร้อยถักทอสายสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์จักรีกับราชวงศ์เจ้าเจ็ดตนแห่งล้านนา ซึ่งเริ่มค่อยๆ ก่อรูปหลังยุคที่เจ้าล้านนาผลัดเปลี่ยนนโยบายทางการเมืองการทหารด้วยการหันมาโยกสายสัมพันธ์เข้าหาพระเจ้ากรุงธนบุรีเพื่อร่วมมือขับไล่อิทธิพลของกองทัพพม่าออกไปจากแผ่นดินโยนก พร้อมมีผลกระทบอย่างล้ำลึกต่อกระบวนการรวมศูนย์อำนาจระหว่างแกนกลางลุ่มเจ้าพระยากับอดีตประเทศราชล้านนาจนก่อเกิดเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ในเวลาต่อมา

นอกจากนั้น สิ่งที่น่าทึ่งอีกประการหนึ่ง เห็นจะมิพ้นบทบาทของเจ้าศรีอโนชาในการปราบกบฏสรรค์ที่ลุกฮือเพื่อยึดอำนาจจากพระเจ้าตากสินในช่วงเวลาที่อดีตล้นเกล้ารัชกาลที่ 1 และวังหน้าเจ้าบุญมา ติดศึกต่อรบกับกองทัพญวนในแผ่นดินเขมร โดยว่ากันว่า เจ้าศรีอโนชา ได้ระดมชาวโยนกจากบ้านปากเพรียว แขวงเมืองสระบุรี (ซึ่งอพยพและถูกเทครัวมาจากเชียงแสน) เข้าร่วมสนธิกำลังกับชาวอีสานจากนครราชสีมาและกองอาสาทัพเรือรามัญ เข้าโรมรันกับทัพพระยาสรรค์จนประสบความสำเร็จในการยับยั้งเหตุจลาจล พร้อมทูลเชิญสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกและเจ้าพระยาสุรีสีห์ขึ้นผ่านพิภพเสวยราชย์เป็นสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปฐมกษัตริย์ผู้เป็นต้นราชวงศ์จักรี และพระสวามีบุญมา ขึ้นเป็นสมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือเจ้าวังหน้า ซึ่งก็ถือเป็นการพลิกแผ่นดินจากสายวงศ์พระเจ้ากรุงธนบุรีมาสู่สายวงศ์รัตนโกสินทร์อย่างเป็นทางการ

จากกรณีดังกล่าว การศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับเจ้าครอกฟ้าศรีอโนชา จึงเป็นประเด็นที่สำคัญยิ่งต่อแวดวงประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทยและอุษาคเนย์ศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงสร้างการเมืองในช่วงปลายสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งหากคำบอกเล่าบางส่วนเกิดเป็นจริงขึ้นมา นั่นแสดงว่า เจ้าศรีอโนชาถือเป็นวีรสตรีล้านนาที่อยู่เบื้องหลังการชิงอำนาจของเจ้าสยามแห่งลุ่มเจ้าพระยา มิหนำซ้ำ มหาสตรีองค์นี้ยังเป็นผู้บัญชาการให้ทัพลาว (โยนก-อีสาน) และ ทัพมอญ ประกอบกำลังกันเพื่อปราบปรามทัพสยามจากแขวงสิงห์บุรี-ชัยนาท แล้วจากนั้น จึงถ่ายโอนอำนาจไปให้กับชนชั้นนำสยามที่มีพื้นเพมาจากเครือวานสยาม-มอญ จนเถลิงราชย์ขึ้นเป็นต้นวงศ์องค์ใหม่ พร้อมนำไปสู่สภาวะถดถอยลงของขั้วอำนาจเก่า (สยาม-เจ็ก) ในสายของพระเจ้ากรุงธนบุรี

น่าสนใจดีครับ สังคมไทยเคยมีงานประวัติศาสตร์นิพนธ์จำนวนหนึ่งที่อธิบายบทบาทของเจ้าสตรีองค์สำคัญ อาทิ เจ้าดารารัศมี หรือ พระพี่นางสุพรรณกัลยา หากแต่งานวิชาการที่ว่าด้วยเรื่องเจ้าศรีอโนชา เห็นจะมิมีให้เห็นมากนัก ซึ่งข้อมูลส่วนใหญ่มักได้จากการแกะรอยจากตำนานเจ้าเจ็ดตนที่ว่าด้วยเรื่องการหงายเมืองธนบุรี-กรุงเทพฯ (กู้เมืองพลิกแผ่นดิน) ของเจ้าศรีอโนชา หรือ ภูมิประวัติสั้นๆ ของกู่พระอัฐิเจ้าศรีอโนชาตรงกำแพงด้านนอกของวัดพระธาตุลำปางหลวง ซึ่งก็นับเป็นช่องว่างที่ขาดหายไปของประวัติศาสตร์ชนชั้นนำสายสกุลสตรีนิยมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

ดุลยภาค ปรีชารัชช

 

 

บล็อกของ ดุลยภาค

ดุลยภาค
รัฐประหารที่ส่อเค้าล้มเหลวในตุรกีล่าสุด ให้บทเรียนราคาแพงต่อวิชา "รัฐประหารศึกษา” และ "การเมืองเปรียบเทียบ" โดยเฉพาะเรื่องบทบาททหารกับการเมือง
ดุลยภาค
กล่าวโดยสรุป รัฐจารีตอุษาคเนย์ มักคุ้นชินกับเกมสังเวียนพยัคฆ์-คชสาร ซึ่งถูกจัดขึ้นเพื่อสะท้อนประสบการณ์เชิงบวก-เชิงลบต่อสัตว์พื้นเมืองทั้งสองชนิด รวมถึงใช้เพื่อส่งสัญญะ แสดงพลังข่มขู่ขับไล่ผู้รุกรานต่างถิ่น แต่ขณะเดียวกัน เกมสังเวียนประเภทนี้ ก็ถูกใช้เพื่อตอบสนองมหกรรมบันเทิงของเหล่ากษัตริย์-ขุนนาง-ประชาชน ซึ่งก็ไม่แตกต่างอะไรมากนักจากศึกสังเวียนโคลอสเซียมในจักรวรรดิโรมัน