Skip to main content

 

มัณฑะเลย์ สุดยอดเมืองการค้าและเมืองยุทธศาสตร์ในเขตภาคพื้นทวีปเมียนมาร์ ตั้งอยู่ตรงเขตที่ดอนสลับเนินสูงโดยมีแน่น้ำเอยาวดี (อิระวดี) ลำน้ำชองมาจีและแควเมียะเหง่ ไหลรินโอบล้อมเขตปริมณฑลเมือง พร้อมมีเนินเขาศักดิ์สิทธิ์นาม "เขามัณฑะเลย์" ตั้งขนาบอยู่ทางฟากตะวันออกของตัวเมือง

ในบริบททางประวัติศาสตร์ มัณฑะเลย์ถือเป็นเมืองที่มีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์และการปกครอง โดยธิดา สาระยา ได้เคยอธิบายว่า มัณฑะเลย์คือเมืองใหม่ที่สร้างขึ้นในรัชสมัยพระเจ้ามินดงแห่งราชวงศ์คองบอง (สร้างเมื่อปี ค.ศ.1857)โดยมีสถานภาพเป็นราชธานีสืบต่อจากกรุงอมรปุระและเป็นศูนย์กลางของโลกจักรวาลตามคติความเชื่อแบบพุทธ-พราหมณ์ของรัฐเมียนมาร์ยุคโบราณ

ทัศนียภาพเมืองมัณฑะเลย์ซึ่งเต็มไปด้วยแนวค่ายคูประตูหอรบและพระราชวังอันโอ่อ่า (The Illustrated London News. 1 May 1886)

สำหรับเหตุผลของการสร้างเมืองมัณฑะเลย์ จัดว่ามีการตีความกันไปหลากหลายแนวทาง ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม โหราศาสตร์และการทหาร โดยเฉพาะเงื่อนไขทางการทหาร สารานุกรมเมียนมาร์และนักวิชาการหลายท่านได้อธิบายว่า ในสมัยพระเจ้ามินดง เรือกำปั่นอังกฤษสามารถเดินทางตามลำแม่น้ำเอยาวดีขึ้นไปได้ไกลถึงเมืองอังวะและอมรปุระ โดยหากมีสงครามเกิดขี้น กองทัพอังกฤษอาจนำปืนใหญ่ใส่เรือกำปั่นเพื่อใช้โจมตีราชธานีเมียนมาร์ตามลำแม่น้ำเอยาวดี

แรงบีบคั้นทางยุทธศาสตร์ส่งผลให้พระเจ้ามินดงประกาศโยกย้ายราชธานีเพื่อหลบหนีจากวิถีเรือปืน โดยทำเลที่ตั้งของเมืองมัณฑะเลย์จัดว่าอยู่ห่างจากลำแม่น้ำเอยาวดีมากกว่าเมืองอมรปุระ ซึ่งเป็นเมืองหลวงเก่า จากกรณีดังกล่าว พระเจ้ามินดงอาจทรงรู้สึกปลอดภัยหากมีการตั้งศูนย์อำนาจแห่งใหม่ ณ เมืองมัณฑะเลย์ (แกนกลางของเมืองมัณฑะเลย์อยู่ห่างจากฝั่งน้ำเอยาวดีประมาณ 5 ไมล์)

อย่างไรก็ตาม เมื่อสงครามอังกฤษ-เมียนมาร์ ครั้งที่สาม ก่อตัวขึ้นในปี ค.ศ.1885 กองทัพอังกฤษก็ได้ส่งเรือรบขนาดใหญ่จากฐานทัพเรือย่างกุ้งล่องทวนกระแสน้ำเอยาวดีเข้ากดดันนครมัณฑะเลย์ พร้อมส่งกองทหารซีปอยของอินเดียยาตราทัพเข้าจู่โจมราชธานีมัณฑะเลย์ จนส่งผลให้ราชวงศ์เมียนมาร์ต้องสิ้นสูญและทำให้อังกฤษประสบความสำเร็จในการผนวกดินแดนเมียนมาร์แบบเบ็ดเสร็จ

ครั้นเมื่อเมียนมาร์ตกอยู่ใต้อาณัติอังกฤษแบบเต็มตัว กลุ่มข้าหลวงอังกฤษได้สถาปนามัณฑะเลย์ให้กลายเป็นเมืองยุทธศาสตร์ในเขตเมียนมาร์ตอนบนเพื่อปราบปรามชาวเมียนมาร์ที่ลุกฮือต่อต้านการปกครองของอังกฤษโดยมีการปรับแปลงพระราชวังมัณฑะเลย์ให้กลายเป็นค่ายทหารขนาดใหญ่ หรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “Fort Dufferin” รวมถึงมีการแปลงสภาพเมืองมัณฑะเลย์ให้กลายเป็นศูนย์การค้าชั้นนำสืบเนื่องจากมัณฑะเลย์ตั้งอยู่บนเส้นทางคาราวานจากจีนผ่านเมียนมาร์เข้าไปยังอินเดีย

ต่อมา เมื่อเข้าสู่ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง มัณฑะเลย์ได้ตกอยู่ใต้การปกครองของทหารญี่ปุ่นโดยมีการยึดครอง “Fort Dufferin” เพื่อใช้เป็นฐานสะสมอาวุธยุทธภัณฑ์ในการต่อต้านการโจมตีจากทหารฝ่ายสัมพันธมิตร ตลอดช่วงสมัยสงคราม มัณฑะเลย์กลายเป็นยุทธภูมิแห่งการสู้รบระหว่างทหารญี่ปุ่นกับทหารสัมพันธมิตร รวมถึงกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่เปิดทางไปสู่เขตปริมณฑลข้างเคียง อันได้แก่ อินเดีย จีน และเขตเทือกเขาชายแดน อาทิ ดินแดนของชนเผ่าฉิ่น คะฉิ่นและไทใหญ่

แผนที่ยุทธศาสตร์เมืองมัณฑะเลย์ (Indien: Handbuch Für Reisende, published by Verlag von Karl Baedeker in Leipzig, 1914)

โดยหากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดประสบความสำเร็จในการพิชิตเมืองมัณฑะเลย์ ฝ่ายที่กุมชัยชนะย่อมมีความได้เปรียบในการควบคุมเส้นทางสายยุทธศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็น ถนนเลโด/สติลเวล (Ledo/Stilwell Road) ถนนพม่า (Burma Road), ถนนสายย่างกุ้ง-มัณฑะเลย์และเส้นทางแม่น้ำเอยาวดีจากย่างกุ้งไปบาโม ท้ายที่สุด การยุทธ์ได้จบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตรซึ่งนำโดยทหารอังกฤษ ทหารราชปุตและทหารกูรข่า โดยมีการทิ้งระเบิดเข้าไปยังเขตพระนครจนส่งผลให้พระราชวังมัณฑะเลย์ถูกทำลายจนกลายเป็นเถ้าถ่าน

ต่อมาในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐบาลเมียนมาร์ได้ประกาศจัดตั้งภาคทหารตอนเหนือซึ่งมีกองบัญชาการหลักอยู่ที่เมืองเมเมียว (ปยีงอู-ลวี่ง) ห่างจากมัณฑะเลย์ไปทางตะวันออกเฉียงเหนือราวหกสิบกว่ากิโลเมตร ปรากฏการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ขอบข่ายทางการทหารของเมืองมัณฑะเลย์ ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของเมืองเมเมียวอีกต่อหนึ่ง

จนในปี ค.ศ.1949 กองกำลังกะเหรี่ยงได้แผ่อิทธิพลบางส่วนขึ้นไปในเขตเมียนมาร์ตอนบนและทำการยึดครองเมืองมัณฑะเลย์เพื่อใช้เป็นฐานสะสมกำลังในการบุกโจมตีเมืองย่างกุ้ง การแตกดับของมัณฑะเลย์ได้สร้างแรงกดดันทางยุทธศาสตร์ให้กับรัฐบาลเมียนมาร์เนื่องจากกองกำลังกะเหรี่ยงสามารถสร้างฐานกระโจนทางยุทธศาสตร์ (Strategic Springboard) เพื่อรุกคืบและบีบคั้นรัฐบาลกลางผ่านโครงข่ายคมนาคมจากเมืองมัณฑะเลย์มุ่งตรงสู่เมืองย่างกุ้ง ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งแนวปะทะที่อยู่นอกเหนือจากจุดครอบครองอื่นๆ ของพวกกะเหรี่ยงอย่างเช่นที่เมืองตองอูและเมาะละแหม่ง

ขณะเดียวกัน การแตกของมัณฑะเลย์ก็สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับประชาชนเชื้อสายพม่าแท้ เนื่องจากทหารฝ่ายตรงข้ามได้ทำการกวาดล้างข้าราชการพม่าในเมืองมัณฑะเลย์ ตลอดจนทำลายวัดวาอาราม และเผาทรัพย์สินของทางราชการ จนเวลาต่อมากองทัพเมียนมาร์ได้ระดมสรรพกำลังเพื่อชิงคืนเมืองมัณฑะเลย์ โดยการยุทธ์ได้สิ้นสุดลงด้วยชัยชนะของกองทัพแห่งชาติ

หลังจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น กองทัพเมียนมาร์ได้ก่อสร้างค่ายทหารและติดตั้งอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยภายในตัวเมืองมัณฑะเลย์เพื่อยกระดับให้เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ซึ่งส่งผลดีต่อการรักษาความสงบเรียบร้อยในเขตรัฐฉานและเขตพม่าภาคเหนือ

ครั้นเมื่อเข้าสู่ช่วงปลายปี ค.ศ.1961 จนถึงปี ค.ศ.1998 รัฐบาลกลางได้ทำการปรับแปลงภูมิทัศน์ด้านความมั่นคงในเขตเมียนมาร์ตอนบน โดยมีการลดบทบาทของเมืองเมเมียว แล้วทำการสถาปนามัณฑะเลย์ให้กลายเป็นเมืองทหารชั้นนำและจุดศูนย์ดุลทางภูมิรัฐศาสตร์ในเขตภาคเหนือของประเทศ

ต่อมาในปี ค.ศ.1998 จนถึงปี ค.ศ.2006 มัณฑะเลย์ได้กลายเป็นกองบัญชาการหลักประจำกองทัพภาคกลาง (Central Command) โดยแม่ทัพที่คุมพื้นที่ดังกล่าว จะมีกองทหารภายใต้การบังคับบัญชาจำนวนราว 17 กองพัน

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ช่วงปลายปี ค.ศ.2006 อำนาจการควบคุมของเมืองมัณฑะเลย์ได้ถูกลดทอนลงบางส่วนเนื่องจากรัฐบาลเมียนมาร์ได้ประกาศจัดตั้งภาคทหารแห่งที่สิบสามขึ้นโดยมีกองบัญชาการหลักอยู่ที่เมืองเนปิดอว์ (Nay Pyi Taw Command) ซึ่งตั้งอยู่ด้านใต้ของเขตทหารมัณฑะเลย์ ปรากฏการณ์ดังกล่าวส่งผลให้พื้นที่ด้านใต้ของกองทัพภาคกลาง (มัณฑะเลย์) ถูกตัดแบ่งและถ่ายโอนไปยังภาคทหารแห่งใหม่ อย่างเป็นทางการ

จากลำดับเหตุการณ์ที่นำแสดงมา การศึกษาบทบาททางทหารของเมืองมัณฑะเลย์จึงกลายเป็นประเด็นสำคัญในการขยับแนวมองทางด้านนครศึกษา (Urban Studies) หรือภูมิศาสตร์ทหาร (Military Geography) ในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งชุดคำอธิบายที่อาจจะสัมพันธ์กับการวางนโยบายป้องกันประเทศของกองทัพเมียนมาร์ ผ่านการเชื่อมร้อยโครงข่ายยุทธศาสตร์หรือเส้นทางลำเลียงยุทธปัจจัยระหว่างเมืองมัณฑะเลย์ พร้อมด้วยกลุ่มเมืองบริวารข้างเคียง กับ เมืองหลวงใหม่เนปิดอว์

หรือ แม้แต่การศึกษาชุมชนเมืองยุทธศาสตร์แนวเปรียบเทียบ อย่างเช่น ความคล้ายคลึงกันในทางชัยภูมิระหว่างเชียงใหม่กับมัณฑะเลย์ หรือ กรอบคิดเชิงสงครามที่ว่าด้วยเรื่องการเคลื่อนย้ายศูนย์อำนาจให้ปลอดภัยจากวิถีเรือปืน ดั่งปรากฏให้เห็นผ่านการสถาปนาเมืองมัณฑะเลย์หรือเนปิดอว์ของชนชั้นนำเมียนมาร์ ซึ่งอาจจะมีนัยสำคัญทางการยุทธ์ที่พอเทียบเคียงได้บางส่วนกับการพัฒนาเมืองลพบุรีและแผนการสร้างเมืองหลวงใหม่ที่นครเพชรบูรณ์ของรัฐบาลไทยในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นอาทิ

 

ดุลยภาค ปรีชารัชช

 

หมายเหตุ: บทความนี้ ปรับปรุงและเรียบเรียงมาจากภาคผนวกของหนังสือเรื่อง เนปิดอว์: ปราการเหล็กแห่งกองทัพพม่า แต่งโดยดุลยภาค ปรีชารัชช (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2555) ซึ่งจะว่าด้วยเรื่องประวัติเมืองยุทธศาสตร์ทหารสำคัญในเมียนมาร์ อาทิ ตองจี มิตถิลา เปียงมะนา ฯลฯ

 

บล็อกของ ดุลยภาค

ดุลยภาค
รัฐประหารที่ส่อเค้าล้มเหลวในตุรกีล่าสุด ให้บทเรียนราคาแพงต่อวิชา "รัฐประหารศึกษา” และ "การเมืองเปรียบเทียบ" โดยเฉพาะเรื่องบทบาททหารกับการเมือง
ดุลยภาค
กล่าวโดยสรุป รัฐจารีตอุษาคเนย์ มักคุ้นชินกับเกมสังเวียนพยัคฆ์-คชสาร ซึ่งถูกจัดขึ้นเพื่อสะท้อนประสบการณ์เชิงบวก-เชิงลบต่อสัตว์พื้นเมืองทั้งสองชนิด รวมถึงใช้เพื่อส่งสัญญะ แสดงพลังข่มขู่ขับไล่ผู้รุกรานต่างถิ่น แต่ขณะเดียวกัน เกมสังเวียนประเภทนี้ ก็ถูกใช้เพื่อตอบสนองมหกรรมบันเทิงของเหล่ากษัตริย์-ขุนนาง-ประชาชน ซึ่งก็ไม่แตกต่างอะไรมากนักจากศึกสังเวียนโคลอสเซียมในจักรวรรดิโรมัน