Skip to main content

 

วันที่ 4 กรกฏาคม 2557 พลเอกมินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพเมียนมาร์ ได้เดินทางมาเยี่ยมพบผู้นำทหารระดับสูงของกองทัพไทย พร้อมเข้าคารวะประธานองคมนตรี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งว่ากันว่า ผบ.สส เมียนมาร์ ให้ความเคารพนับถือเป็นพิเศษในฐานะบิดาบุญธรรม

สำหรับนายพลมินอ่องหล่ายนั้น ถือเป็นชนชั้นนำทหารที่กุมสายบังคับบัญชาทั้งหมดของกองทัพเมียนมาร์ รวมถึงมีอำนาจอย่างสูงส่งในระบบการเมืองเมียนมาร์ ดั่งเห็นได้จาก อำนาจในการแต่งตั้งสมาชิกทหารเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 25 ของโครงสร้างรัฐสภาทั้งหมด พร้อมการขึ้นดำรงสภาพเป็นองค์รัฏฐาธิปัตย์แบบเต็มตัวหากมีการการประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศ นอกจากนั้น เขายังมีบทบาทในการกำหนดนโยบายสาธารณะที่สำคัญของประเทศ ผ่านการกุมกลไกการทำงานในสภากลาโหมและความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งกล่าวกันว่า บรรดาแผงอำนาจระดับสูงในสภาดังกล่าว เช่น รัฐมนตรีมหาดไทย รัฐมนตรีกลาโหม หรือ รัฐมนตรีกิจการชายแดน ล้วนแล้วแต่เป็นบุคคลที่ต้องถูกคัดเลือกโดยตรงจากนายพลมินอ่องหล่าย

ในแวดวงทหารเมียนมาร์นั้น มินอ่องหล่าย ถือเป็นนายทหารดาวรุ่งซึ่งก้าวเข้ามากุมบังเหียนกองทัพในขณะที่มีอายุยังไม่มากนักเมื่อเทียบกับนายทหารรุ่นพี่คนอื่นๆ โดยเป็นที่ยกย่องกันว่า มินอ่องหล่าย คือทหารนักรบที่ผ่านการศึกมาอย่างโชกโชน ซึ่งเห็นได้จาก เส้นทางชีวิตที่เติบโตมาจากเหล่าทหารราบพร้อมถูกส่งไปประจำการยังรัฐชายแดนต่างๆ อย่างต่อเนื่องยาวนาน เช่น รัฐมอญ รัฐอาระกัน และรัฐฉาน โดยเวลาต่อมา เขาได้ถูกส่งไปเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนนายร้อยเมียนมาร์ที่เมืองเมเมียว ก่อนที่จะดำรงตำแหน่งเป็นเสนาธิการสามเหล่าทัพสืบต่อจากนายพลธุระฉ่วยมาน ซึ่งถือเป็นฐานอำนาจหลักก่อนจะก้าวกระโจนขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดในปัจจุบัน

นอกเหนือจากชีวประวัติโดยสังเขปแล้ว สิ่งที่น่าติดตาม คือ ท่าทีของพลเอกมินอ่องหล่าย ที่สนับสนุนการทำรัฐประหารของทหารไทย ซึ่งเขาได้กล่าวอย่างชัดเจนว่าทหารไทยและทหารเมียนมาร์ล้วนมีภารกิจทางประวัติศาสตร์ที่คล้ายคลึงกัน นั่นคือ การปกป้องชาติบ้านเมือง และคุ้มครองความปลอดภัยให้กับประชาชน

จากกรณีดังกล่าว คงจะมิผิดนัก หากจะกล่าวว่า ในมุมมองของผู้นำทหารเมียนมาร์ส่วนใหญ่ ภาพเหตุการณ์ประท้วงเมื่อปี 1988 คือ สภาวะสุ่มเสี่ยงอย่างรุนแรง ที่อาจนำมาซึ่งการแตกสลายของรัฐ โดยเฉพาะการจลาจลที่แพร่ระบาดในวงกว้าง และการสะพัดของข่าวลือเกี่ยวกับการก่อหวอดของกองกำลังแบ่งแยกดินแดน และการเข้าแทรกแซงของมหาอำนาจตะวันตกเพื่อล้มล้างการปกครองทหาร ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าว อาจจะยังคงวนเวียนอยู่ในมโนทัศน์ของนายพลมินอ่องหล่ายอย่างมิเสื่อมคลาย ดั่งเห็นได้จากท่าทีของมินอ่องหล่ายที่เคยส่งสัญญาณใช้ความรุนแรงต่อม็อบพระสงฆ์-ประชาชน ที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงปี ค.ศ.2007

ในอีกแง่มุมหนึ่ง เหตุวุ่นวายในเมียนมาร์ที่เคยนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลรักษาการณ์ของนายพลเนวินเมื่อช่วง ค.ศ.1958-1960 ก็นับเป็นหนึ่งตัวอย่างที่อาจจะอยู่ในกระบวนการรับรู้ทางการเมืองของมินอ่องหล่าย พร้อมเป็นตัวแบบที่ละม้ายคล้ายคลึงกับการกระชับอำนาจของคณะทหารไทยในปัจจุบัน

โดยในช่วงการบริหารของรัฐบาลพลเรือนอูนุ เมียนมาร์มีระบอบการปกครองประชาธิปไตยแบบรัฐสภา หากแต่การขาดเอกภาพของพรรครัฐบาล (พรรคสันนิบาตอิสรภาพต่อต้านฟาสซิสต์ - AFPFL) ซึ่งแตกออกมาเป็นหลายมุ้งหลายขั้ว ตลอดจนการสะสมกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์พม่าและกองกำลังแบ่งแยกดินแดน รวมถึงสภาวะตีบตันของรัฐสภาที่มิอาจจะหยุดยั้งความขัดแย้งของคนในชาติได้อย่างมีเอกภาพ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นเหตุปัจจัยที่บีบผลักให้รัฐบาลอูนุยอมร้องขอให้กองทัพก้าวเข้ามาทำหน้าที่บริหารประเทศเป็นการชั่วคราวเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง

หลังจากที่กองทัพได้เข้ามากุมอำนาจ ได้มีการประกาศโรดแม็พ 3 แนวทาง ได้แก่
1. การคืนความสงบเรียบร้อยกลับสู่บ้านเมืองพร้อมปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่น
2. การเตรียมจัดเลือกตั้งที่บริสุทธ์และยุติธรรม และ
3. การฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจที่บอบช้ำจากภัยการเมือง

ซึ่งกลับปรากฏว่าในช่วงเวลาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 1958 จนถึงเดือนเมษายน 1960 รัฐบาลรักษาการณ์เนวินกลับเดินเครื่องปฏิรูปประเทศได้อย่างแข็งขัน ซึ่งแม้จะมีอุปสรรคและเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในแง่บวกและแง่ลบ แต่ท้ายที่สุด นายพลเนวิน ก็คืนความสงบกลับสู่สังคมพร้อมจัดให้มีเลือกตั้งทั่วประเทศจนนำไปสู่การกลับเข้ามาบริหารประเทศอีกครั้งของ พรรค AFPFL ภายใต้การนำของอูนุ

จากตัวอย่างที่นำแสดงมา จึงมิแปลกนัก ที่พลเอกมินอ่องหล่ายจะมีท่าทีที่เห็นอกเห็นใจกลุ่มผู้นำ คสช ที่ตัดสินใจเข้ายึดอำนาจการปกครองไทย พร้อมยังแสดงท่าทีเชื่อมั่นในโรดแม็พของ คสช. ซึ่งหากพิจารณาทบทวนดูแล้ว ก็ล้วนแล้วแต่มีแนวทางหรือหลักยุทธศาสตร์การฟื้นฟูประเทศที่คล้ายคลึงกับทหารเมียนมาร์ทั้งในช่วงปีค.ศ. 1958-1960 หรือในช่วงหลังเหตุการณ์ 8888

ขณะเดียวกัน การยึดอำนาจของ คสช ก็เริ่มจะส่งแรงกระเพื่อมบางอย่างไปยังกรุงเนปิดอว์ ซึ่งถือเป็นตัวแบบจากเพื่อนบ้านที่อาจช่วยเสริมสร้างอิทธิพลทางการเมืองให้กับพลเอกมินอ่องหล่าย ในลักษณะที่ว่า ทั้งเมียนมาร์และไทยนั้น ล้วนเป็นรัฐที่เต็มไปด้วยความแตกแยกของกลุ่มพลังต่างๆ จนส่งผลให้บ้านเมืองต้องสะดุดพลิกผันจนยากจะควบคุมอยู่เป็นระยะ ฉะนั้นแล้ว บทบาทกองทัพที่คอยปกป้องคุ้มครองบ้านเมืองในฐานะองครักษ์ผู้คำจุนรัฐ จึงเป็นชุดความคิดที่ยังคงเกาะเกี่ยววนเวียนอยู่ในโลกการเมืองของทหารไทยและทหารเมียนมาร์ สืบต่อไป

ขอบคุณภาพประกอบจาก Myawady News

 

ดุลยภาค ปรีชารัชช

 

หมายเหตุ: บทความนี้มิได้หมายความว่าผู้เขียนจะมีแนวคิดทางการเมืองที่โยกเอียงไปในแนวทางใดเป็นการเฉพาะ หากแต่เป็นเพียงแค่การวิเคราะห์แนวเปรียบเทียบที่พยายามจะสะท้อนถึงระบบความคิดของกลุ่มชนชั้นนำทหารไทยและเมียนมาร์ตามหลักวิชาการเท่านั้น

 

บล็อกของ ดุลยภาค

ดุลยภาค
รัฐประหารที่ส่อเค้าล้มเหลวในตุรกีล่าสุด ให้บทเรียนราคาแพงต่อวิชา "รัฐประหารศึกษา” และ "การเมืองเปรียบเทียบ" โดยเฉพาะเรื่องบทบาททหารกับการเมือง
ดุลยภาค
กล่าวโดยสรุป รัฐจารีตอุษาคเนย์ มักคุ้นชินกับเกมสังเวียนพยัคฆ์-คชสาร ซึ่งถูกจัดขึ้นเพื่อสะท้อนประสบการณ์เชิงบวก-เชิงลบต่อสัตว์พื้นเมืองทั้งสองชนิด รวมถึงใช้เพื่อส่งสัญญะ แสดงพลังข่มขู่ขับไล่ผู้รุกรานต่างถิ่น แต่ขณะเดียวกัน เกมสังเวียนประเภทนี้ ก็ถูกใช้เพื่อตอบสนองมหกรรมบันเทิงของเหล่ากษัตริย์-ขุนนาง-ประชาชน ซึ่งก็ไม่แตกต่างอะไรมากนักจากศึกสังเวียนโคลอสเซียมในจักรวรรดิโรมัน