Skip to main content

 

เมื่อเอ่ยถึงเมืองแปร คนไทยส่วนใหญ่อาจนึกถึงชื่อพระเจ้าแปร ขุนศึกแห่งทัพหลวงตะเบงชะเวตี้ ที่ทรงไสคชาธารเข้าฟันสมเด็จพระสุริโยทัยขาดสะพายแล่ง ณ สมรภูมิทุ่งมะขามหย่อง หรืออาจจะหวนคะนึงถึงท่อนเพลงผู้ชนะสิบทิศซึ่งลำนำเอาไว้ว่า "เจ็บใจคนรักโดนรังแก ข้าจะเผาเมืองแปรให้มันวอดวาย"

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ย่อมสะท้อนให้เห็นถึงนัยสำคัญของเมืองแปรในฐานะนครรัฐจารีตกึ่งอิสระ ที่มีเมืองออกเข้ามาอยู่ใต้ร่มปริมณฑลของเจ้าอนุกษัตริย์ผู้ครองเมือง ซึ่งก็ทำให้พระเจ้าแปร ทรงมีลำดับชั้นเชิงอำนาจที่เทียบเท่ากับพระเจ้าอังวะ พระเจ้าตองอู หรือพระเจ้าเชียงใหม่ โดยจะยอมตกอยู่ใต้อาณัติ ก็แต่เพียงกับกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ ดั่งเช่น พระเจ้าตะเบงชะเวตี้หรือพระเจ้าบุเรงนอง ซึ่งก็นับเป็นคุณลักษณะพื้นฐานของหน่วยการเมืองในโลกจารีตประเพณีพม่าสมัยราชวงศ์ตองอูยุคต้น

กระนั้น หากสืบค้นเสาะหาตัวตนของเมืองแปรในเชิงลึกตามกรอบคิดแบบคนพม่า "แปร" อาจถือเป็นยอดนคราที่ช่วยเบิกไขปริศนาทางประวัติศาสตร์ฉบับพิสดารให้กับคนไทย ในแบบที่ไม่ค่อยจะมีใครได้รับรู้กันมาก่อน และเพื่อเป็นการเติมเต็มองค์ความรู้ดังว่า ข้าพเจ้าจึงตัดสินใจตะลุยเหยียบแดนเมืองแปร ดินแดนที่ได้ชื่อว่าเป็นเพชรน้ำงามในเขตลุ่มน้ำอิระวดี

แปร คือ เมืองใหญ่ทางตอนบนของภาคพะโค ห่างจากกรุงย่างกุ้งขึ้นไปทางเหนือราวๆ 300 กิโลเมตร ตัวเมืองตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำอิระวดี ซึ่งหากวิ่งรถไปทางฟากตะวันตกจะเชื่อมต่อไปถึงรัฐยะไข่ริมชายทะเลอ่าวเบงกอล แต่หากวิ่งรถไปทางด้านตะวันออก จะทะลุเข้าเมืองตองอู ในเขตลุ่มน้ำสะโตง แต่ถ้าเดินทางขึ้นไปทางเหนือ จะเชื่อมต่อไปยังเมืองพุกาม

ส่วนเรื่องสำเนียงการออกเสียงนั้น คนไทย มักเรียกว่า "แปร" ส่วนคนอังกฤษสมัยอาณานิคมจะนิยมออกเสียงว่า "โปรม/Prome" แต่หากเป็นคนพม่าทั้งในอดีตและปัจจุบัน จะออกเสียงว่า "ปีย์/Pyay"

การเยือนแปรในครั้งนี้ ข้าพเจ้าตัดสินใจเช่ารถแท็กซี่ส่วนตัว โดยวิ่งรถไปตามมอเตอร์โรดสายเก่าที่เคลื่อนตัวจากใจกลางกรุงย่างกุ้ง แล้วยิงตรงขึ้นเหนือเลาะเลียบและตัดสลับกับทางรถไฟ ซึ่งว่ากันว่า ถนนเส้นดังกล่าว ถูกสร้างขึ้นโดยเจ้าอาณานิคมอังกฤษ ซึ่งเป็นถนนขนาดสองเลน หากแต่พื้นผิวถนนมักมีลักษณะค่อนข้างราบเรียบ แม้จะมีร่องรอยตะปุ่มตะป่ำในบางเส้นทาง ส่วนทัศนียภาพสองข้างทางนั้น ล้วนเต็มไปด้วยแปลงปลูกข้าว คลองชลประทาน และสวนผลไม้อันเขียวชอุ่ม ซึ่งทำให้อดมิได้ที่จะนึกถึงผลงานวิชาการของไมเคิล อาดัส หรือ ไมเคิล อ่องทวิน ที่ว่าด้วยเรื่องเทคนิคการปลูกข้าวและนวัตกรรมชลประทานที่อำนวยผลผลิตเหลือคณานับในเขตพม่าตอนล่าง (Lower Burma) เมื่อช่วงสมัยอาณานิคมอังกฤษ


แผนที่แสดงแนว Motor Road จากย่างกุ้งไปแปร (โปรดสังเกตเครื่องหมายวงกลมที่แสดงตำแหน่งของเมืองย่างกุ้งและเมืองแปร)


อนุสาวรีย์นายพลอองซาน ใจกลางเมืองแปร

การเดินทางครั้งนี้ใช้เวลาประมาณห้าชั่วโมงกว่าๆ จนกระทั่งถึงใจกลางเมืองแปร ซึ่ง "Landmark" ที่ทำให้นักท่องเที่ยวต้องสะดุดตามากที่สุด คงหนีไม่พ้น อนุสาวรีย์นายพลอองซานซึ่งนั่งสง่าอยู่บนหลังอาชาไนยสีทอง โดยว่ากันว่า พื้นที่รอบเมืองแปร คือ ศูนย์รวมการเคลื่อนไหวปฏิวัติทางการเมืองในพม่า นับตั้งแต่การลุกฮือต่อต้านอังกฤษด้วยการปลุกเสกคาถาอาคมแบบโบราณของซายาซาน ที่ถือกันว่าเป็น "การปฏิวัติผีบุญสไตล์พม่า" จนกระทั่งถึงยุคขบวนการสามสิบสหายที่นายพลอองซานพร้อมด้วยผู้นำขบวนการชาตินิยมพม่าท่านอื่นๆ ได้ใช้แปรเป็นฐานปฏิวัติสู้รบกับทั้งกองทัพอังกฤษและกองทัพญี่ปุ่น (ซึ่งก็กระทำควบคู่ไปกับพื้นที่อื่นๆ เช่น มิตถิลา เปียงมะนา และตองอู)

นอกจากนั้น แปร ยังเป็นถิ่นฐานบ้านเกิดของนายพลเนวิน จอมเผด็จการทหารและเจ้าลัทธิสังคมนิยมวิถีพม่า พร้อมเป็นแหล่งรณรงค์หาเสียงที่เข้มข้นของเมียนมาร์ยุคปัจจุบัน ซึ่งเห็นได้จากที่ทำการสาขาของพรรครัฐบาลและพรรคเอ็นแอลดีของนางซูจี ที่เกาะกลุ่มค่อนข้างหนาแน่นทั้งในเขตเมืองแปรและหัวเมืองตอนบนอื่นๆ ของภาคพะโค


ทัศนียภาพเมืองแปร มองเห็นแนวป่าไม้ ขุนเขา และสะพานทอดข้ามแม่น้ำอิระวดี ที่ออกแบบโดยวิศวกรพม่าเพื่อเชื่อมการคมนาคมไปยังเมืองซิตต่วยในรัฐยะไข่ (แม่น้ำอิระวดีช่วงผ่านเมืองแปร หากกะด้วยสายตาแบบคร่าวๆ จะมีความกว้างใกล้เคียงกับแม่น้ำโขงช่วงไหลผ่านจังหวัดมุกดาหาร)

อันดับต่อมา ข้าพเจ้าได้ตัดสินใจเดินทางไปยังเมืองศรีเกษตร เมืองโบราณเก่าแก่ยุคก่อนพุกามของพวกพยูที่พึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อช่วงกลางปี ค.ศ.2014 สำหรับอาณาจักรศรีเกษตรนั้น พม่ามักเรียกว่า "ทะเยคิตตะยา" ถือเป็นอาณาจักรเก่าแก่ที่ในความเป็นจริงประกอบไปด้วยนครรัฐหลักๆ อยู่ 3 แห่ง ได้แก่ ศรีเกษตร เบ็กตะโน่ และฮาลิน โดยภายในเมืองเอกอย่างศรีเกษตร จะพบเห็นแนวคูน้ำ-กำแพงเมืองที่มีสัณฐานเป็นรูปวงรี ซึ่งวัดเส้นรอบวงของตัวเมืองได้ราวๆ 14 กิโลเมตร ภายในล้วนประกอบด้วยซากโบราณสถานอย่างเช่น พระราชวัง และวัดวาอารามต่างๆ โดยจากการขุดค้นทางโบราณคดี ทำให้พอสันนิษฐานได้ว่า ชาวพยูในอดีตล้วนนับถือทั้งศาสนาพุทธนิกายเถรวาทและมหายาน และศาสนาพราหมณ์ฮินดู (เน้นไวษณพนิกาย) โดยมีการขุดพบจารึกภาษาบาลี พร้อมด้วยรูปปั้นพระวิษณุ และพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร

พระธาตุชเวสันดอว์ประจำเมืองแปร พร้อมรูปถ่ายในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สอง ที่แสดงการยาตราทัพของกองทหารกูรข่า (เนปาล) ซึ่งเคลื่อนทัพผ่านเมืองแปรตรงหน้าพระธาตุชเวสันดอว์ ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธการขับไล่กองทัพญี่ปุ่น (ขอบคุณความเอื้อเฟื้อจากพิพิธภัณฑ์ประจำวัดพระธาตุชเวสันดอว์)

ถัดจากเมืองเก่าของชาวพยู ข้าพเจ้าได้เดินทางต่อไปยังพระธาตุชเวสันดอว์ ซึ่งเป็นเจดีย์บรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า สร้างขึ้นเมื่อ ค.ศ.46 หรือเมื่อเกือบสองพันปีมาแล้ว โดยมีความสูงเมื่อวัดจากฐานประมาณ 39 เมตร แต่ถ้าวัดจากพื้นราบจะสูงกว่า 88 เมตร รอบองค์เจดีย์จะมีเจดีย์เล็กๆ ห้อมล้อมอีกเป็นจำนวนทั้งสิ้น 64 องค์ พระธาตุชเวสันดอว์ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญของคนพม่า ใกล้เคียงกับพระธาตุมุเตาที่หงสาวดี พระธาตุชเวดาโกงที่ย่างกุ้ง หรือพระธาตุชเวซิโกงที่พุกาม นอกจากนั้น บริเวณรอบๆ องค์ธาตุยังเป็นจุดชมวิวชั้นยอดที่สามารถมองเห็นทัศนียภาพเมืองแปรที่เต็มไปด้วยบ้านเรือนที่ตั้งระดะเรียงรายไปตามฝั่งแม่น้ำอิระวดี

จากการเยี่ยมเยือนพบถิ่นเมืองแปรในครั้งนี้ ข้าพเจ้าได้หยุดตารางการเดินทางเอาไว้ที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งริมฝั่งแม่น้ำอิระวดี ท่ามกลางสายฝนที่โหมกระหน่ำลงอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ต้องชะลอการเดินทางจนกว่าสายฝนจะเคลื่อนคล้อยเบาบางลง ข้าพเจ้าเดินทางกลับถึงกรุงย่างกุ้งในเวลาราวๆ เที่ยงคืนของวันเดียวกัน ซึ่งแม้จะเต็มไปด้วยความมืดมิดสลับกับแสงสีของอาคารบ้านเรือน หากแต่ก็คละเคล้าพะเน้าพะนอไปกับบรรยากาศเมืองแปรที่ได้สัมผัสมา ซึ่งนั่นก็คือ สายฝนเมฆหมอกที่แผ่ปกคลุมเหนือแสงศรัทธาทางศาสนาและการเมืองของดินแดนที่ได้ชื่อว่า "ฟ้าลุ่มอิระวดี"

 


ดุลยภาค ปรีชารัชช

 

 

บล็อกของ ดุลยภาค

ดุลยภาค
รัฐประหารที่ส่อเค้าล้มเหลวในตุรกีล่าสุด ให้บทเรียนราคาแพงต่อวิชา "รัฐประหารศึกษา” และ "การเมืองเปรียบเทียบ" โดยเฉพาะเรื่องบทบาททหารกับการเมือง
ดุลยภาค
กล่าวโดยสรุป รัฐจารีตอุษาคเนย์ มักคุ้นชินกับเกมสังเวียนพยัคฆ์-คชสาร ซึ่งถูกจัดขึ้นเพื่อสะท้อนประสบการณ์เชิงบวก-เชิงลบต่อสัตว์พื้นเมืองทั้งสองชนิด รวมถึงใช้เพื่อส่งสัญญะ แสดงพลังข่มขู่ขับไล่ผู้รุกรานต่างถิ่น แต่ขณะเดียวกัน เกมสังเวียนประเภทนี้ ก็ถูกใช้เพื่อตอบสนองมหกรรมบันเทิงของเหล่ากษัตริย์-ขุนนาง-ประชาชน ซึ่งก็ไม่แตกต่างอะไรมากนักจากศึกสังเวียนโคลอสเซียมในจักรวรรดิโรมัน