Skip to main content

 

 

ในปี พ.ศ.2537 หรือเมื่อประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์ ได้ตีพิมพ์หนังสือเรื่อง "ประวัติศาสตร์สาธารณรัฐประชาชนจีนจนถึงยุคสี่ทันสมัย: ผลกระทบต่อ พคท.” ซึ่งพัฒนามาจากงานวิจัยของนฤมิตร สอดศุข ที่ขณะนั้น ดำรงตำแหน่งเป็นอาจารย์ประจำสาขาสังคมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร (นครปฐม)

จุดเด่นของงานชิ้นนี้ คือ การอธิบายการล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยผ่านการปรับเปลี่ยนแนวนโยบายต่างประเทศของจีนเมื่อช่วงต้นทศวรรษ 2520 หรือที่รู้จักกันดีในนาม "ยุคสี่ทันสมัย" ของเติ้งเสี่ยวผิงซึ่งเน้นการพัฒนาขับเคลื่อนรัฐจีนบนพื้นฐานของ 4 เสาหลัก อันได้แก่ การเกษตร การอุตสาหกรรม การทหาร และวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี

โดยนฤมิตร ได้วิเคราะห์เอาไว้ว่า การเปลี่ยนผ่านวิถีการทูตจีนจากการต่างประเทศแนวดั้งเดิมที่เน้นการส่งออกพลังปฏิวัติผ่านการสนับสนุนการเคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคเอเชีย มาเป็นการต่างประเทศยุคสี่ทันสมัยที่เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจแนวทุนนิยมพร้อมลดการสนับสนุนกิจกรรมการเมืองที่มีต่อพรรคคอมมิวนิสต์สาขา คือ ตัวแปรสำคัญที่ส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อการเสื่อมถอยล่มสลายของ พคท.

ขณะเดียวกัน นฤมิตร ยังได้อธิบายเหตุปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังการล่มสลายของ พคท. ไว้อย่างน่าสนใจ อาทิ ปัจจัยเกี่ยวกับผู้นำ โดยเฉพาะการกระชับอำนาจของเติ้งเสี้ยวผิงผ่านการปฏิรูปโครงสร้างพรรคคอมมิวนิสต์จีนซึ่งส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนแนวทางนโยบายต่างประเทศจีนที่มุ่งเข้าสู่การกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับเพื่อนบ้านมากกว่าเรื่องการปฏิวัติการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์บริวาร

หรือสภาวะเกี่ยวพันระหว่างการเมืองภายในกับการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งผู้เขียนได้เทน้ำหนักไปที่การบุกกัมพูชาของกองทัพเวียดนามผ่านการสนับสนุนทางทหารของสหภาพโซเวียต ซึ่งบีบคั้นให้จีนต้องหันมากระชับความสัมพันธ์กับผู้นำรัฐบาลไทยเพื่อลดอิทธิพลของค่ายโซเวียต-เวียดนาม-ลาว จนทำให้ พคท. ต้องตัดสินใจเป็นศัตรูกับพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีน ซึ่งยังผลให้ พคท.ต้องถูกโดดเดี่ยวจากกลุ่มพันธมิตรอินโดจีน พร้อมสูญเสียแนวร่วมปัญญาชนนักศึกษาที่เคยเข้าร่วมกับ พคท.เพื่อต่อต้านลัทธิเผด็จการอำนาจนิยมแบบขวาจัดของระบอบทหารไทย

ในอีกประการหนึ่ง การอ่านหนังสือเล่มนี้ ยังทำให้เกิดการตกผลึกทางความคิดเกี่ยวกับการเมืองและการต่างประเทศของเอเชียในหลากหลายรูปแบบ ซึ่งในที่นี้ จะขอแบ่งออกเป็น 4 ส่วนหลัก ดังนี้

ประการที่หนึ่ง: สภาพแวดล้อมของระบบความมั่นคงเอเชียได้ส่งผลอย่างล้ำลึกต่อการแตกสลายของ พคท. กล่าวคือ การคงกองทหารโซเวียตถึง 40 กองพลเพื่อกดดันจีนในกรณีเรื่องพิพาทเขตแดนทางแถบไซบีเรีย พร้อมอิทธิพลของโซเวียตที่มีต่อเวียดนาม ได้ทำให้จีนถูกบีบคั้นทางภูมิรัฐศาสตร์อย่างรุนแรงทั้งในเขตพรมแดนด้านเหนือและด้านใต้ ในขณะที่ความปราชัยของเขมรแดงหลังการแตกของพนมเปญ ได้ทำให้จีนต้องสูญเสียพันธมิตรหลักเพื่อใช้ปิดล้อมโซเวียต-เวียดนาม จนทำให้จีนต้องหันมาทำสงครามสั่งสอนเวียดนาม พร้อมเข้าโหมกระชับมิตรกับรัฐบาลไทย

ซึ่งก็ทำให้ท้ายที่สุด พคท. ที่เลือกฝักใฝ่ฝ่ายจีนอย่างเต็มพิกัด ต้องค่อยๆ สูญเสียฐานที่มั่นและเขตเสบียงอาหารที่เคยได้รับการโอบอุ้มจากพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีน โดยเฉพาะโรงเรียนอบรมการเมืองการทหารในเขตเมืองสิงห์ของลาว (ใกล้ภาคเหนือของไทย) ตลอดจนโครงช่ายยุทธปัจจัยตามเส้นทางสายโฮจิมินทร์ที่เชื่อมต่อกับฐาน พคท.ในเขตภาคอีสาน จากกรณีดังกล่าว การขับเคี่ยวทางภูมิรัฐศาสตร์ และ การแข่งขันกันเองระหว่างจีน-โซเวียต-เวียดนาม ได้ส่งผลต่อการเสื่อมถอยเชิงอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยทั้งสายที่ปฏิบัติการจรยุทธ์อยู่ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสาน

ประการที่สอง: การตีความทฤษฏีสามโลกแนวใหม่ของจีนได้ทำให้เกิดความขัดแย้งในกลุ่มแนวร่วม พคท. ซึ่งสะท้อนให้เห็นความเชื่อมโยงกันระหว่างอุดมการณ์ภายนอกกับแนวทางการเมืองภายใน กล่าวคือ โลกทรรศน์ทางการทูตของจีนยุคสี่ทันสมัย ได้แบ่งโครงสร้างโลกออกเป็น 3 กลุ่มหลัก คือ

1. จักรวรรดินิยมอเมริกันและสังคมจักวรรดิโซเวียต โดยชูให้โซเวียตเป็นศัตรูหมายเลขหนึ่งของจีน
2. จักรวรรดินิยมชั้นรอง อย่างเช่น กลุ่มประเทศในยุโรปตะวันตก แคนาดา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และ
3. รัฐโลกที่สามซึ่งประกอบด้วยรัฐกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนาในเอเชีย แอฟริกาและละตินอเมริกา โดยมีการจัดกลุ่มให้จีนเข้าไปอยู่ในประเภทเดียวกันกับรัฐโลกที่สาม พร้อมเตรียมประสานพลังการต่อสู้ร่วมกับโลกที่สามและบางส่วนของโลกที่สองเพื่อเข้าแข่งขันโรมรันกับโลกที่หนึ่งโดยเน้นหนักไปที่การทำลายล้างสหภาพโซเวียต

การก่อรูปของนโยบายการทูตเช่นนี้ ได้ทำให้ พคท. ซึ่งมีสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน ต้องตัดสินใจดำเนินนโยบายตามรอยจีนแผ่นดินใหญ่อย่างเต็มกำลัง โดยหันมาสร้างแนวร่วมกับรัฐบาลไทยและสหรัฐอเมริกาเพื่อคัดค้านโซเวียตและเวียดนาม จนทำให้ พคท.ได้รับการโต้กลับจากกลุ่มอำนาจในลาวและเวียดนามเหนือ พร้อมถูกคัดค้านจากแนวร่วมสำคัญ ซึ่งได้แก่ "คณะกรรมการประสานงานกองกำลังรักชาติรักประชาธิปไตย" หรือ "กป.ชป.” ที่มีสมาชิกส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มปัญญาชนหัวก้าวหน้าที่หนีเข้าป่าไปรวมกำลังกับ พคท. หลังการกวาดล้างครั้งใหญ่ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519

ประการที่สาม: การปรับหลักนโยบายต่างประเทศของจีนได้ทำให้ยุทธศาสตร์การทูตยุคสี่ทันสมัย เริ่มเทน้ำหนักไปที่ยุทธศาสตร์แนวร่วมระดับบนที่เน้นการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในระดับรัฐบาลต่อรัฐบาล มากกว่ายุทธศาสตร์แนวร่วมระดับล่างที่เน้นสายสัมพันธ์ระดับพรรคต่อพรรค ประกอบกับการสูญเสียอิทธิพลของจีนที่มีเหนือระบอบพอลพตหลังการล่มของพนมเปญ ได้ช่วยเร่งเร้าให้จีนหันมาเพิ่มขนาดกิจกรรมทางการทูตกับรัฐบาลทหารไทยที่ฝักใฝ่สหรัฐฯ จนทำให้เกิดโครงสร้างดุลอำนาจอินโดจีนแบบใหม่ อันได้แก่ 1.ค่ายของสหรัฐฯ จีน รัฐบาลเขมรพลัดถิ่น ไทยและรัฐสมาชิกอาเซียนอื่นๆ โดยเฉพาะจากเขตภาคพื้นสมุทรเอเชียอาคเนย์ และ 2. ค่ายของโซเวียต เวียดนาม ลาวและรัฐบาลเขมรเฮงสัมริน

ซึ่งภูมิทัศน์ทางการเมืองระหว่างประเทศเช่นนี้ กลับส่งผลต่อการตัดสินใจของ พคท. ที่ต้องโน้มเอียงไปทางค่ายที่หนึ่ง โดยต้องพยายามหันมาร่วมมือกับศัตรูเก่าอย่างรัฐบาลไทยและสหรัฐ แต่ก็จำต้องละทิ้งสหายเก่าอย่างพรรคคอมมิวนิสต์ลาวและเวียดนาม เพียงเพราะการขยับโยกตามผู้อุปถัมภ์ยักษ์ใหญ่อย่างจีน ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว ฐานปฏิวัติสงครามจรยุทธ์และสงครามประชาชนของ พคท. ล้วนผูกโยงอย่างลึกซึ้งกับระบบภูมิศาสตร์การเมืองของรัฐอินโดจีนพื้นทวีป

ประการที่สี่: การที่จีนได้ให้ความร่วมมือกับไทยและกลุ่มประเทศอาเซียนมากขึ้นโดยยอมยุติการเผยแพร่สถานีวิทยุกระจายเสียง รวมถึงความช่วยเหลือต่างๆ ที่เคยมีต่อ พคท. ได้ทำให้การโฆษณาชวนเชื่อของพรรคเกิดอาการสะดุดขาดตอนลงพร้อมสร้างความสับสนทางจิตวิทยาให้กับกลุ่มสมาชิกแนวร่วม

ขณะเดียวกัน การลดขนาดกิจกรรมทางการทูตระดับพรรค ยังได้เกิดขึ้นกับแนวร่วมพรรคคอมมิวนิสต์อื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างเช่น พรรคคอมมิวนิสต์มลายา พรรคคอมมิวนิสต์ฟิลิปปินส์ และพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย จนพอกล่าวได้ว่า การเสื่อมถอยของพลังคอมมิวนิสต์ในไทย อาจจะมีเส้นทางการร่วงโรยที่คู่ขนานไปกับพลังคอมมิวนิสต์ในรัฐภาคพื้นสมุทรอาเซียน พร้อมมีความสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันกับสัมพันธภาพทางทูตที่แน่นแฟ้นขึ้นระหว่างทางการจีนกับรัฐบาลต่างๆ ในกลุ่มประเทศอาเซียน

ในทางตรงกันข้าม ห้วงเวลาแห่งยุคสี่ทันสมัย กลับทำให้พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามและลาว มีการควบแน่นและร่วมมือกันมากขึ้นพร้อมได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียตอย่างเต็มพิกัด จนทำให้ทั้งสองรัฐล้วนถูกปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์มาจนถึงปัจจุบัน โดยกล่าวได้ว่า การปรับนโยบายการทูตจีนในยุคสี่ทันสมัย ได้ช่วยกระตุ้นให้ระบบการปกครองในลาวและเวียดนามมีแนวคิดปลีกย่อยและการจัดองค์กรบริหารบางอย่างที่แตกต่างจากจีน หากแต่จะค่อนมาทางตัวแบบของสหภาพโซเวียต

ในขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์พม่า ล้วนมีวิวัฒนาการแห่งการร่วงโรยที่สอดคล้องกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยอันเป็นผลจากสัมพันธภาพที่แนบแน่นขึ้นระหว่างรัฐบาลจีนกับรัฐบาลพม่า รวมถึงการลุกฮือของขุนศึกชายแดนหลากชาติพันธุ์เช่น พวกว้าและโกกั้ง ที่ก่อหวอดขับไล่แกนนำพรรคเชื้อสายจีน พร้อมแยกตัวหันมาเจรจาหยุดยิงกับรัฐบาลพม่า ซึ่งถือว่ามีความคล้ายคลึงกันบางประการกับการแตกสลายของแนวร่วม พคท. ที่สมาชิกจำนวนมากตัดสินใจหันมามอบตัวเพื่อร่วมมือกับทางการไทย อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องพรรคคอมมิวนิสต์พม่าในเขตที่ราบสูงฉานอาจมีเรื่องของการเมืองเชิงชาติพันธุ์ที่ซับซ้อนและแหลมคมกว่าบริบทของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

ท้ายที่สุด คงหวังว่า งานนิพนธ์ของนฤมิตร สอดศุข ชิ้นนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านที่สนใจใฝ่รู้ทางด้านการเมืองและการต่างประเทศในจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โดยการซึมซับหนังสือเล่มนี้ อาจมีอรรถรสมากขึ้นหากมีการสืบเสาะเอกสารชั้นต้นหรือบทความวิชาการอื่นๆ ที่สอดคล้องกับหัวข้อหนังสือ อาทิ

1.หนังสือชิ้นคลาสสิกว่าด้วยเรื่องการทูตจีน เช่น "นโยบายต่างประเทศของจีนคอมมิวนิสต์” ของเขียน ธีระวิทย์ ซึ่งแต่งขึ้นในปี พ.ศ.2515 หรือ "นโยบายต่างประเทศของสาธารณรัฐประชาชนจีน: อดีตถึงปัจจุบัน ของจุลชีพ ชินวรรโณ ในเอเชียปริทัศน์ (2523)

2.เอกสารลับของหน่วยงานความมั่นคงไทย อย่างเช่น เอกสารของกองทัพภาคที่สามเรื่องยุทธการผาเมืองเผด็จศึกที่มุ่งตีสลายกองกำลัง พคท.ในเขตเทือกเขาเพชรบูรณ์ (เขาค้อ) โดยมีการใช้อดีตทหารจีนคณะชาติก๊กมินตั๋งเข้าเป็นส่วนหนึ่งในสนามรบ หรือ คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 ว่าด้วยเรื่องนโยบายการเมืองนำการทหารและการต่อสู้ของรัฐบาลไทยเพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ และ

3. บันทึกเรื่องราวของนักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายในอดีต อย่างเช่น หนังสือเรื่อง "ป่าแตก ความเป็นจริงของการประชุมสมัชชา 4 พคท." ของธิดา ถาวรเศรษฐ และ เหวง โตจิราการ ที่เผยแพร่โดยสำนักพิมพ์มติชนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526 หรือ ทรรศนะของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล เกี่ยวกับแกนนำเชื้อสายจีนใน พคท. ที่หาอ่านได้ใน "รวมบทสัมภาษณ์ 2517-2531” (สำนักพิมพ์ธรณ์ธวัช, 2531)

ส่วนหนังสือว่าด้วยเรื่องสี่ทันสมัยของจีนกับการล่มสลายของ พคท. ที่ได้แนะนำไปเบื้องต้น อาจหาซื้อได้ที่ศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หรือร้านหนังสือโอเดียนสโตร์ ในราคาเพียงแค่เล่มละ 50 บาท จึงแนะนำมาเพื่อการส่งเสริมภูมิปัญญาปริทัศน์โดยถ้วนหน้ากัน

 

 

ดุลยภาค ปรีชารัชช
สาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

 

 

บล็อกของ ดุลยภาค

ดุลยภาค
รัฐประหารที่ส่อเค้าล้มเหลวในตุรกีล่าสุด ให้บทเรียนราคาแพงต่อวิชา "รัฐประหารศึกษา” และ "การเมืองเปรียบเทียบ" โดยเฉพาะเรื่องบทบาททหารกับการเมือง
ดุลยภาค
กล่าวโดยสรุป รัฐจารีตอุษาคเนย์ มักคุ้นชินกับเกมสังเวียนพยัคฆ์-คชสาร ซึ่งถูกจัดขึ้นเพื่อสะท้อนประสบการณ์เชิงบวก-เชิงลบต่อสัตว์พื้นเมืองทั้งสองชนิด รวมถึงใช้เพื่อส่งสัญญะ แสดงพลังข่มขู่ขับไล่ผู้รุกรานต่างถิ่น แต่ขณะเดียวกัน เกมสังเวียนประเภทนี้ ก็ถูกใช้เพื่อตอบสนองมหกรรมบันเทิงของเหล่ากษัตริย์-ขุนนาง-ประชาชน ซึ่งก็ไม่แตกต่างอะไรมากนักจากศึกสังเวียนโคลอสเซียมในจักรวรรดิโรมัน