Skip to main content

 

 

หลังการทำรัฐประหารพร้อมสถาปนารัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา รัฐไทยได้ก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองครั้งสำคัญ โดยหากวิเคราะห์ตามหลักรัฐศาสตร์พื้นฐาน (ของอริสโตเติล) ว่าด้วยการจำแนกจำนวนคณะผู้ปกครอง อาจถือได้ว่า รัฐไทยกำลังตกอยู่ใต้ระบอบอภิชนาธิปไตย (Aristocracy) ซึ่งเป็นที่เชื่อถือกันในหมู่ชนชั้นนำทหารว่าเต็มไปด้วยคนดีและกลุ่มคนผู้เสียสละต่อชาติบ้านเมือง หากแต่ สำหรับมุมมองของกลุ่มคนที่ต่อต้านรัฐประหารนั้น รูปแบบการปกครองดังกล่าวอาจกำลังขยับเข้าใกล้ระบอบคณาธิปไตย (Oligarchy) เข้าไปทุกที

ขณะเดียวกัน ท่ามกลางระบอบที่ถูกครอบงำโดยชนส่วนน้อยบนยอดพีระมิดแห่งอำนาจ รูปร่างหน้าตาของรัฐใหม่อาจมีการหยิบยืมคุณลักษณะพิเศษของระบอบราชาธิปไตย (Monarchy) โดยเฉพาะการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เข้ามาแปลงสภาพให้เป็นเป้าหมายหลักในการบริหารจัดการประเทศ ซึ่งถือเป็นการแสดงความศรัทธาของคณะผู้นำทหารที่มีต่อองค์ราชันย์พหูสูตรผู้ทรงปราดเปรื่องตามแบบฉบับของเพลโต (Philosopher King)

ส่วนในเรื่องของการปกครองโดยคนหมู่มาก อย่างเช่นระบอบประชาธิปไตย (Democracy) นั้น คณะทหารไทยอาจจะมองไปที่ภาพแห่งความสับสนวุ่นวายที่เกิดจากการแย่งชิงอำนาจของบรรดานักกวนเมืองและม็อบมวลชนหลากสี จนนำไปสู่การตีตราหรือการเหมารวมเอาว่าประชาธิปไตยย่อมมีลักษณะที่ซ้อนทับหรือคาบเกี่ยวกันกับระบอบมวลชนธิปไตย หรือที่เรียกกันว่า "Mobocracy” ซึ่งส่งผลให้รัฐไทยยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องตกอยู่ใต้การปกครองของคนกลุ่มน้อยสืบต่อไป ทั้งนี้เพื่อเป็นการผ่องถ่ายค่อยๆ พัฒนาหรือหวนกลับไปหาวิถีประชาธิปไตยแบบไทยๆ "Thai-Style Democracy” หรือสิ่งที่เรียกกันว่า ประชาธิปไตยแบบอำนาจนิยมที่มีระเบียบวินัย "Disciplined Authoritarian Democracy” โดยกองทัพเชื่อว่าแบบแผนการปกครองดังกล่าวจะสามารถขจัดกลุ่มการเมืองที่นิยมประชาธิปไตยแบบเสียงข้างมาก (Majoritarian Democracy) พร้อมช่วยผดุงยับยั้งสภาวะแตกร้าวระส่ำระส่ายของประเทศชาติได้ในเวลาเดียวกัน


พลเอกประยุทธ์และภรรยา (THAIPUBLICA)

จากการจำแนกระบอบการเมืองการปกครองในเบื้องต้น อาจทำให้ท่านผู้อ่านได้พอสัมผัสถึงกลิ่นอายหรือระบบความคิดทางการเมืองของชนชั้นนำทหารไทยได้บางส่วน โดยจากภาพแนวโน้มเชิงโครงสร้างที่กล่าวไป การหันมาทบทวนตัวตนหรือคุณลักษณะพิเศษทางการเมืองผ่านการรื้อแนวคิด "รัฐทหารบก" หรือ "Army State" คงจะช่วยขยับมุมมองให้ท่านผู้อ่านได้เรียนรู้หรือเข้าใจรูปลักษณ์การปกครองไทยยุคปัจจุบันได้อย่างแจ่มชัดยิ่งขึ้น

คงมิผิดนัก หากจะกล่าวว่า กองทัพบกคือสถาบันที่มีกำลังและสมรรถนะในการเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองอย่างต่อเนื่องยาวนานพร้อมมีปริมาณกำลังพลและลักษณะการแผ่อิทธิพลทางการเมืองที่สูงกว่าหรือเหนือกว่ากลุ่มเหล่าทัพและกองกำลังอื่นๆ อาทิ กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และกองกำลังตำรวจ ประกอบกับการกระโจนเข้าสู่วงอำนาจรัฏฐาธิปัตย์แบบเต็มตัวของพลเอกประยุทธ์ ซึ่งเติบโตมาจากสายทหารบก ก็ยิ่งทำให้การศึกษาโครงสร้างหรือประสิทธิภาพของรัฐทหารบก กลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการวิเคราะห์ระบบการเมืองการปกครองไทย

สำหรับข้อได้เปรียบของทหารบกที่มีเหนือองค์กรอื่นๆ นอกจากเรื่องของการถือครองอาวุธยุทโธปกรณ์ ปริมาณกำลังพล และ ประสบการณ์ในการเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองอย่างช่ำชองแล้ว การก่อตัวทางประวัติศาสตร์และโครงสร้างบังคับบัญชาที่แผ่คลุมไปทั่วประเทศ นับเป็นคุณลักษณะที่ส่งผลอย่างล้ำลึกต่อกระบวนการกระชับอำนาจ ตลอดจนการสำแดงท่วงทำนองทางการเมืองของคณะผู้นำทหารไทย โดยสามารถแบ่งประเด็นการวิเคราะห์ ดังนี้

ประเด็นที่หนึ่ง : วัฒนธรรมของกองทัพบกมีรากฐานของตัวเองในด้านประเพณีนิยมและความเป็นมาทางประวัติศาสตร์อันยาวนาน โดยเฉพาะโครงเรื่องประวัติศาสตร์ที่ผูกติดอยู่กับแนวคิดแบบ "รัฐขุนศึกราชาชาตินิยม/ Monarchical-Praetorian Nationalism State ดังเห็นได้จากการตอกย้ำเอกราชและการดำรงอยู่ของรัฐไทยผ่านการเสียสละของพระมหากษัตริย์และขุนศึกผู้กล้าในอดีตซึ่งถือเป็นธรรมเนียมที่พบเห็นได้เป็นปกติในวิถีปฏิบัติของกองทัพบก อาทิ การถือเอาห้วงเวลาที่พระเจ้าตากสินทรงเคลื่อนทัพม้าตีฝ่าวงล้อมพม่าเมื่อคราวใกล้เสียกรุงครั้งที่สอง เป็นวันสถาปนาทหารม้า หรือ การตั้งชื่อค่ายทหารและกองกำลังป้องกันชายแดน ซึ่งมักเต็มไปด้วยพระนามหรือการก่อตัวของอนุสาวรีย์วีรชนในยุคจารีต เช่น ค่ายนเรศวรมหาราช ค่ายเอกาทศรถ ค่ายขุนเจืองธรรมิกราช หรือ กองกำลังสุรนารี กองกำลังสุรสีห์และกองกำลังสุรศักดิ์มนตรี

โดยการรักษาประเพณีทางประวัติศาสตร์ให้ตราตรึงอยู่ในความทรงจำของกำลังพลจนกลายเป็นประเพณีนิยม ได้ส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อการแสดงนาฏกรรมแห่งรัฐเพื่อปลุกขวัญประชาชนพร้อมรวมประเทศให้เป็นหนึ่งเดียว ยกตัวอย่างเช่น การเปิดเพลงที่เน้นการต่อกรกับข้าศึกภายนอกหลังการทำรัฐประหาร การเตรียมรณรงค์เผยแพร่ละครและสื่อสิ่งพิมพ์ที่เน้นเอกลักษณ์ความเป็นไทย หรือ การปกป้องสถาบันกษัตริย์และราชบัลลังก์ผ่านการผลักดันโครงการพระราชดำริพร้อมเข้าจัดการกับผู้กระทำการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างเด็ดขาด

ประเด็นที่สอง : กองทัพบกมักมีการพัฒนาขีดความสามารถเพื่อตอบสนองภารกิจพิทักษ์รัฐที่ค่อนข้างมีเอกภาพ โดยมักมีการจัดแบ่งออกเป็นห้าหรือหกสายงานหลัก ได้แก่ การป้องกันประเทศ การรักษาความมั่นคงภายใน การรักษาความสงบเรียบร้อย การพิทักษ์รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ การพัฒนาประเทศ และการปฏิบัติภารกิจทางทหารอื่นๆ ที่มิใช่สงคราม ขณะเดียวกัน กองทัพบกยังมีการแบ่งส่วนราชการออกเป็นหน่วยงานแยกย่อย อาทิ สำนักงานเลขานุการ กรมกำลังพล กรมข่าว กรมยุทธการ กรมการเงิน กรมกิจการพลเรือน ฯลฯ รวมถึงมีการแตกแขนงออกเป็นหลายเหล่า เช่น ทหารราบ ทหารม้า ทหารปืนใหญ่ ทหารสื่อสาร ทหารการเงิน ทหารพระธรรมนูญ ฯลฯ

โดยลักษณะการแบ่งแยกสายงานที่หลากหลายชัดเจน ได้ส่งผลให้กองทัพบกมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับรัฐขนาดย่อมที่มีเทคนิคการบริหารจัดการอันเป็นเอกเทศหรือสามารถช่วยกระตุ้นผลักดันให้องค์กรตนมีขีดกำลังที่จะทำการปกครองประเทศได้ในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งถือเป็นข้อได้เปรียบที่ทำให้ทหารบกสามารถก้าวเข้ามาเป็นคณะผู้จัดการรัฐได้ในช่วงหลังรัฐประหารหรือหลังการยึดอำนาจใหม่ๆ เช่น การใช้ทหารพระธรรมนูญเข้ามาดูแลเรื่องศาลทหาร หรือ การใช้ทหารราบและทหารม้าเข้าปราบปรามจับกุมคู่ปรปักษ์ทางการเมือง แต่กระนั้น สมรรถนะขององค์กรเช่นนี้ ก็มักจะใช้ได้เพียงเฉพาะแค่การควบคุมความสงบในระยะสั้น โดยในการบริหารกิจการสาธารณะระยะยาว ผู้นำทหารบกมักมีประเพณีการดึงส่วนราชการพลเรือนอื่นๆ เข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน

หากทว่า ด้วยการจัดตั้งสายงานแบบรัฐราชการ (Bureaucratic Polity/ Weberian State) ซึ่งถ่ายทอดคำสั่งออกมาเป็นลำดับจากชั้นบนลงสู่เบื้องล่าง ก็ได้ทำให้เกิดการก่อตัวของเทคนิคบริหารจัดการที่ไม่แตกต่างกันมากนักระหว่างองค์กรทหารกับองค์กรข้าราชการพลเรือน จนทำให้ผู้นำทหารบกมักได้รับความร่วมมืออย่างดีจากบรรดาข้าราชประจำ ดังเห็นได้จากเหล่าข้าราชการอาวุโสจากกระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ ที่ทยอยตบเท้าเข้ามาร่วมวงบริหารกับพลเอกประยุทธ์กันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง จนทำให้สิ่งที่ Guy Claine เรียกว่า "Administocracy" หรือ "รัฐบริหารแบบข้าราชการประจำ" ที่มองว่าข้าราชการมักมีประสิทธิภาพและมีความสำคัญมากกว่านักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง กลายเป็นระเบียบใหม่ของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ที่เน้นกระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะผ่านแบบแผนการทำงานและวัฒนธรรมองค์กรของกลุ่มข้าราชการประจำ

ประเด็นที่สาม : กองทัพบกมีการจัดดินแดนที่แผ่คลุมไปทั่วประเทศไทยอันเป็นผลโดยตรงจากธรรมชาติและขีดความสามารถในการรบภาคพื้นดินของทหารบกซึ่งทำให้ต้องมีการตั้งค่ายหรือหน่วยทหารที่กินทับแทรกซึมเข้าไปในเขตเมืองหลวง เขตภูมิภาคและเขตปริมณฑลชายแดน โดยในยามที่บ้านเมืองตกอยู่ในสภาวะปกติ กองทัพบกจะแบ่งเขตปกป้องและปกครองประเทศออกเป็นสี่ส่วนหลัก คือ ภาคกลาง ภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคใต้ โดยพิจารณาจากความจำเป็นในการป้องกันประเทศ การปกครองบังคับบัญชาหน่วยทหาร การสนับสนุนการช่วยรบ ซึ่งจะยึดถือประเพณีการแบ่งดินแดนที่ใกล้เคียงกับเขตปกครองของกระทรวงมหาดไทย


แผนที่แสดงการจัดดินแดนโดยสังเขปของกองทัพบก โดยแสดงให้เห็นถึงระบบกองทัพภาคที่แบ่งแยกย่อยออกเป็น 1.หน่วยรบประจำภาค เช่น กองพลและกองกำลัง และ 2. โครงข่ายบังคับบัญชาในแบบมณฑลและจังหวัดทหารบก

ผลที่ตามมาจากจินตภาพทางภูมิรัฐศาสตร์ดังกล่าว ได้กระตุ้นให้ กองทัพบกทำการแบ่งเขตป้องกันบริหารออกเป็นสี่ระบบกองทัพภาค ได้แก่ กองทัพภาคที่หนึ่ง รับผิดชอบพื้นที่ภาคกลาง กองทัพภาคที่สอง รับผิดชอบพื้นที่ภาคอีสาน กองทัพภาคที่สาม รับผิดชอบพื้นที่ภาคเหนือ และ กองทัพภาคที่สี่ รับผิดชอบพื้นที่ภาคใต้

โดยในแต่ละกองทัพ จะมีแม่ทัพภาคเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด พร้อมถ่ายระดับการบริหารลงสู่มณฑลทหารบกและจังหวัดทหารบก ซึ่งถือเป็นการกำหนดวงดินแดนทางทหารที่ซ้อนทับและไล่ตีคู่ขนานไปกับเขตปกครองมหาดไทย โดย หน่วยดินแดนทั้งสองจะรับผิดชอบในเรื่องการระดมสรรพกำลัง การเรียกเกณฑ์พลเมืองสนับสนุนกิจการทหาร รวมถึงการดูแลอสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับความมั่นคงและการส่งกำลังบำรุงทางทหาร โดยมณฑลทหารบกจะมีลักษณะเป็นการจัดกลุ่มจังหวัดเพื่อรวมศูนย์อำนาจคล้ายคลึงบางส่วนกับระบบมณฑลเทศาภิบาลในอดีต พร้อมมีจังหวัดทหารบกเป็นหน่วยระดมพลแยกย่อยที่ขึ้นตรงต่อมณฑลและกองทัพภาคอีกต่อหนึ่ง

ส่วนการจัดดินแดนในยามฉุกเฉินนั้น นวัตกรรมการบังคับบัญชาแบบกองทัพภาค ก็สามารถปรับสภาพให้ยืดหยุ่นพร้อมแปลงแบบแผนเข้าสู่การจัดดินแดนรูปแบบใหม่ เช่น หากเกิดสงครามจากข้าศึกภายนอก อาจแบ่งกองทัพภาค ออกเป็น "เขตหน้า” ซึ่งได้แก่พื้นที่แนวหน้าสุดที่ต้องส่งกองกำลังเข้าเผชิญกับศัตรู หรือ "เขตหลัง” ที่ถูกกันให้เป็นพื้นที่สนับสนุนการช่วยรบของทหารในแนวหน้า

ส่วนในกรณีที่เกิดความไม่สงบภายใน โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนหรือการประท้วงทางการเมืองต่างๆ  หน่วยทหารทั้งหมดในกองทัพภาคจะทำการเพิ่มพูนอำนาจให้อยู่เหนือองค์กรปกครองส่วนภูมิภาคและท้องถิ่นในสายมหาดไทย พร้อมดึงโยกให้หน่วยราชการเหล่านั้นก้าวเข้ามารับคำสั่งหรือรับคำชี้แนะจากแม่ทัพภาคโดยอาศัยโครงข่ายของมณฑลและจังหวัดทหารบกในการกุมอำนาจทางการปกครอง เช่น การเรียกผู้ว่าราชการจังหวัดภาคเหนือทั้งหมดเข้ามาประชุมที่กองบัญชาการกองทัพภาคที่สาม พร้อมสั่งการให้หน่วยรบที่มีการตั้งค่ายอยู่ตามจังหวัดต่างๆ ในภาคเหนือ แปลงสภาพจากกองกำลังป้องกันประเทศมาเป็นกองกำลังรักษาความสงบภายใน


โปสเตอร์การเตรียมความพร้อมของกองทัพบกประจำปี 2557

นอกจากนั้น ตัวแปรแห่งความสำเร็จที่ช่วยให้กองทัพบกสามารถเข้าประสานหรือควบคุมปริมณฑลพลเรือนตามท้องที่ต่างๆ ได้อย่างค่อนข้างเหนียวแน่น คงหนีไม่พ้นการสถาปนากองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน. ที่มีการขยายสาขาครอบคลุมภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ พร้อมมีภารกิจหลักในการบูรณาการแผนโยบายและยุทธศาสตร์การเมืองความมั่นคงร่วมกับหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ อย่างถ้วนทั่ว ในขณะที่กองพลพัฒนา ซึ่งตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนภารกิจกองทัพบกในการพัฒนาพื้นที่ทุกส่วนภาคของประเทศ ก็จัดเป็นเครื่องมือบริหารจัดการรัฐที่ช่วยให้ทหารบกสามารถกระโจนเข้าไปอยู่ในเขตปริมณฑลประชาชนได้มากขึ้นผ่านการช่วยเหลือด้านภัยพิบัติและการพัฒนาพื้นที่ชนบทอันห่างไกลทุรกันดารโดยผ่านฐานเศรษฐกิจของโครงการหลวง

จากคุณลักษณะและสมรรถนะกองทัพบกที่ได้นำแสดงมา จึงมิเกินเลยนักหากจะกล่าวว่า การเมืองการปกครองไทยนับตั้งแต่การปฏิวัติ 2475 จนถึงการทำรัฐประหารใต้ร่มจันทร์โอชา ล้วนแล้วแต่ได้รับอิทธิพลอย่างลึกซึ้งจากโครงสร้างอำนาจแบบ "รัฐทหารบก” หรือ “Army State” ซึ่งถือเป็นรัฐที่ทรงกำลังวังชาในการกระชับอำนาจผ่านการจัดดินแดนแบบรัฐค่ายทหาร (Garrison State) รวมถึงการธำรงรักษาไว้ซึ่งโครงข่ายรัฐราชการแบบรวมศูนย์และการปลดปล่อยนาฏลีลาแห่งรัฐผ่านการยึดกุมพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ในแบบฉบับของรัฐขุนศึกราชาชาตินิยม

โดยความจีรังยั่งยืนของรัฐทหารบกย่อมเกาะเกี่ยวแทรกซึมเข้าไปอยู่ในภูมิทัศน์การเมืองไทยอย่างล้ำลึกจนยากจะถ่ายถอน พร้อมมีผลอย่างยิ่งยวดต่อความสำเร็จในกระบวนการเถลิงอำนาจของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะรัฏฐาธิปัตย์ประจำรัฐไทย เพียงแต่ว่าการครองอำนาจในยุคโลกาภิวัฒน์ที่จะต้องบูรณาการทักษะทางการปกครองอันหลากหลาย ซึ่งรวมถึงเรื่องหลักประชาธิปไตย การกระจายอำนาจ การกระตุ้นการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน และการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบรอบด้าน ตัวตนหรือประเพณีทางความคิดของรัฐทหารบก คงจะมิสามารถตอบโจทย์หรือแก้ปมปัญหาสำคัญของประเทศได้อย่างถ้วนทั่ว

ซึ่งนับเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้รัฐทหารบกใต้ร่มจันทร์โอชา ยังจำเป็นต้องเผชิญกับอุปสรรถที่ต้องมีการเรียนรู้ขวนขวายกันอยู่อีกมาก เพื่อผดุงไว้ซึ่งรัฐนาวาที่สามารถโอบอุ้มนำพาลูกเรือให้ข้ามฝ่าลมมรสุมอันเลวร้ายของประเทศไปอย่างปลอดภัย แต่กระนั้น การต่อเรืออภินิหารเช่นว่านี้ ก็คงต้องใช้วัสดุอุปกรณ์หรือบุคลากรที่อยู่นอกค่ายทหารเป็นจำนวนมาก ฉะนั้น ประเด็นสำคัญจึงอยู่ตรงที่รัฐทหารบกจะสามารถผ่อนความเข้มงวดพร้อมเปิดรับแนวคิดพลเรือน เพื่อกระตุ้นให้เกิดกระแสการปฏิรูปภาคทหาร (Military Reform) ได้มากน้อยซักเพียงไร หรือ รัฐทหารบกจะสามารถหลวมรวมยุทธศาสตร์การพัฒนาตามกระแสโลกให้ผสมผสานร่วมกับยุทธศาสตร์ความมั่นคงแบบจารีตในอัตราจังหวะที่เหมาะสมพอดีอย่างไร โดยคำถามต่างๆ เหล่านี้ ย่อมมีผลต่อวิถีการครองอำนาจของกองทัพบกในอนาคตอันใกล้อย่างแน่นอน

 

ดุลยภาค ปรีชารัชช


 

บล็อกของ ดุลยภาค

ดุลยภาค
รัฐประหารที่ส่อเค้าล้มเหลวในตุรกีล่าสุด ให้บทเรียนราคาแพงต่อวิชา "รัฐประหารศึกษา” และ "การเมืองเปรียบเทียบ" โดยเฉพาะเรื่องบทบาททหารกับการเมือง
ดุลยภาค
กล่าวโดยสรุป รัฐจารีตอุษาคเนย์ มักคุ้นชินกับเกมสังเวียนพยัคฆ์-คชสาร ซึ่งถูกจัดขึ้นเพื่อสะท้อนประสบการณ์เชิงบวก-เชิงลบต่อสัตว์พื้นเมืองทั้งสองชนิด รวมถึงใช้เพื่อส่งสัญญะ แสดงพลังข่มขู่ขับไล่ผู้รุกรานต่างถิ่น แต่ขณะเดียวกัน เกมสังเวียนประเภทนี้ ก็ถูกใช้เพื่อตอบสนองมหกรรมบันเทิงของเหล่ากษัตริย์-ขุนนาง-ประชาชน ซึ่งก็ไม่แตกต่างอะไรมากนักจากศึกสังเวียนโคลอสเซียมในจักรวรรดิโรมัน