Skip to main content

 

สำนักข่าวมติชน ได้นำแสดงรูปภาพนายกรัฐมนตรีประยุทธ์กำลังทำกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาภายในมหาเจดีย์อุปปาตะสันติ พุทธสถานที่ถูกเนรมิตขึ้นเพื่อใช้สำแดงบารมีของคณะผู้นำพม่าซึ่งประทับอยู่ ณ กรุงเนปิดอว์ (นับแต่ยุคสมัยของนายพลตานฉ่วยจนถึงเต็งเส่ง)

จุดสำคัญนอกเหนือจากการเยี่ยมคารวะเต็งเส่ง ณ ทำเนียบประธานาธิบดีภายใต้ฉากบัลลังก์ทองที่จำลองมาจากท้องพระโรงกษัตริย์พม่าโบราณ การตรวจดูโรงช้างเผือกของนายกประยุทธ์ ซึ่งเป็นประดุจดั่งสัญลักษณ์แห่งสันติภาพและมหาอุดมมงคลตามขนบนิยมของชนชั้นสูงพม่า (พร้อมสะท้อนให้เห็นถึงการเก็บรักษาแนวคิดพระจักรพรรดิราชที่อยู่เบื้องหลังการขยายอำนาจของเหล่ากษัตริย์อุษาคเนย์พื้นทวีปยุคจารีต) ยังเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่มีนัยยะสำคัญต่อการแสดงท่วงทำนองทางการเมืองของพลเอกประยุทธ์ในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้

กล่าวคือ การเนรมิตโรงช้างเผือก ณ กรุงเนปิดอว์ ถือเป็นอภิมหาโครงการของอดีตผู้นำพม่าอย่างพลเอกอาวุโสตานฉ่วย  ซึ่งคิดหวนกลับไปหาราชประเพณีเก่าแก่ของพระราชาพม่า โดยใช้ช้างเผือกเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมทางการเมืองเพื่อต่อวงรอบการครองอำนาจของเหล่าผู้นำทหาร

ทั้งนี้ เนื่องจากนายพลตานฉ่วยมิได้มีฐานอำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง หากแต่มาจากการยึดอำนาจหลังความปั่นป่วนเมื่อครั้งเหตุการณ์ 8888 โดยการค่อยๆ ปูทางให้พม่าก้าวเข้าสู่ยุคประชาธิปไตยแบบมีระเบียบวินัยที่กำลังจะเบ่งบาน หรือเป็นประชาธิปไตยอำนาจนิยมบนรากฐานของวัฒนธรรมทหารพม่า (ซึ่งกำลังถูกปรับใช้ให้เป็นตัวแบบของระบอบการเมืองในเมียนมาร์ปัจจุบัน) ได้ทำให้ พลเอกอาวุโสตานฉ่วย ต้องคอยคิดค้นผลิตนวัตกรรมการเมืองตามสไตล์ "คิดเก่า ทำใหม่" เพื่อเร้าให้สังคมพม่ามีการพัฒนาแบบค่อยเป็นค่อยไปบนวิถีดั้งเดิมของจารีตประเพณีเก่าแก่

เช่น การสร้างราชธานีเนปิดอว์ เพื่อสำแดงภาพอนาคตเมียนมาร์ที่มีทั้งความเจริญทันสมัยและการอนุรักษ์อารยธรรมหลวงในเวลาเดียวกัน โดยสังเกตได้จากลักษณะสถาปัตยกรรมผังเมืองเนปิดอว์ ที่มีทั้งการผุดตัวของห้างสรรพสินค้าที่ถูกก่อสร้างคู่ขนานไปกับเจดีย์และโรงช้างเผือกตามแบบประเพณีแนวกษัตริย์พม่าแท้ โดยเป็นเรื่องเชื่อถือกันในหมู่ชาวพม่าบางส่วน ว่าการปรากฏตัวของช้างเผือกในยุคสมัยของนายพลตานฉ่วย จะนำมาซึ่งสันติสุขและความเจริญรุ่งเรืองของประเทศ ซึ่งคตินิยมเช่นว่านี้ ล้วนได้รับการสานต่อจากนายพลตานฉ่วยผ่านการส่งคณะนายพรานเข้าไปล้อมช้างเผือกในป่าลึก แล้วจึงชะลอมาไว้ที่โรงช้างหลวงซึ่งถูกสร้างใหม่ภายในเมืองหลวงเนปิดอว์

จากกรณีดังกล่าว การที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งมักจะแสดงวิสัยทัศน์ผ่านสื่อไทยอยู่บ่อยครั้ง ว่าเป็นทั้งผู้นำที่นิยมชมชอบในประวัติศาสตร์ (ตามแบบฉบับขุนศึกราชาชาตินิยม) และเป็นคนร่วมสมัยยุคปัจจุบันที่คิดจะปฏิรูปกองทัพและปฏิรูปบ้านเมืองให้เดินไปข้างหน้าอย่างเป็นระบบระเบียบ จึงอาจจะมิต่างอะไรนักกับกระบวนทัศน์แบบ "คิดเก่า ทำใหม่" ของท่านพลเอกตานฉ่วยของเมียนมาร์ ที่มักจะจินตนาการย้อนกลับไปหาอดีตอันรุ่งโรจน์ของสังคมเก่าในยุคพระมหากษัตริย์ พร้อมค่อยๆ แปลงมรดกทางประวัติศาสตร์ ให้เป็นทั้งคุณลักษณะที่พึงประสงค์ต่อการพัฒนาบ้านเมือง และเป็นทั้งกลไกในการสร้างความชอบธรรมทางการเมืองซึ่งคงจะเร้าให้กลิ่นอายแบบพม่า หรือแบบไทยๆ สามารถคอยหนุนเสริมต่ออายุให้การดำรงอำนาจของ คสช เป็นไปตามตามเป้ายุทธศาสตร์และกรอบเวลาที่กำหนดไว้ในแผนปฏิรูปประเทศ

ฉะนั้น จึงไม่แปลก ที่เราอาจเห็นรอยยิ้มของท่านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในห้วงเวลาที่เดินทางเยือนเมียนมาร์ครานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยามเมื่อท่านได้ทักทายกับช้างเผือกพม่า ณ รัฐโรงละครเนปิดอว์ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า ความซาบซึ้งในสัตว์มงคลโบราณเช่นว่านี้ อาจเป็นความลงตัวที่เกิดจากการบรรจบกันอย่างเหมาะเจาะระหว่าง "ประยุทธ์อัตลักษณ์" กับ "ตานฉ่วยนฤมิตร" ภายใต้กรอบมโนทัศน์แบบ "คิดเก่า ทำใหม่" หรือ "คิดเก่า ทำเก่า" เพียงแต่ว่า หลักคิดการบริหารจัดการบ้านเมืองเช่นนี้ จะใช้ได้กับพลวัตความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยปัจจุบัน ได้มากน้อยเพียงไร หรือว่า ทางบรรจบที่ว่านี้อาจแปลงสภาพเป็นทางแพร่งที่จะนำมาทั้งทางออกอันสดใสกับทางตันอันหม่นหมอง (ในระบบการเมืองการปกครองไทย) ซึ่งถือเป็นประเด็นที่ต้องมีการวิเคราะห์และจับตามองกันต่อไป


ด้วยความเคารพ

ดุลยภาค ปรีชารัชช


 

บล็อกของ ดุลยภาค

ดุลยภาค
รัฐประหารที่ส่อเค้าล้มเหลวในตุรกีล่าสุด ให้บทเรียนราคาแพงต่อวิชา "รัฐประหารศึกษา” และ "การเมืองเปรียบเทียบ" โดยเฉพาะเรื่องบทบาททหารกับการเมือง
ดุลยภาค
กล่าวโดยสรุป รัฐจารีตอุษาคเนย์ มักคุ้นชินกับเกมสังเวียนพยัคฆ์-คชสาร ซึ่งถูกจัดขึ้นเพื่อสะท้อนประสบการณ์เชิงบวก-เชิงลบต่อสัตว์พื้นเมืองทั้งสองชนิด รวมถึงใช้เพื่อส่งสัญญะ แสดงพลังข่มขู่ขับไล่ผู้รุกรานต่างถิ่น แต่ขณะเดียวกัน เกมสังเวียนประเภทนี้ ก็ถูกใช้เพื่อตอบสนองมหกรรมบันเทิงของเหล่ากษัตริย์-ขุนนาง-ประชาชน ซึ่งก็ไม่แตกต่างอะไรมากนักจากศึกสังเวียนโคลอสเซียมในจักรวรรดิโรมัน