Skip to main content

 

 

หลายปีมาแล้ว ที่ปัญหาความไม่สงบตรงปลายด้ามขวาน ถูกตั้งคำถามอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับมูลเหตุและแนวโน้มของสถานการณ์ความขัดแย้ง ซึ่งมักมีการเทน้ำหนักไปที่ความไม่ลงรอยกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ หรือการถูกคุกคามเชิงอัตลักษณ์ของคนท้องถิ่นทั้งในเรื่องของภาษาและศาสนา รวมถึงความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ทางเศรษฐกิจ

แต่กระนั้น ประเด็นเกี่ยวกับประดิษฐกรรมเชิงแผนที่วิทยาในยุคอาณานิคมที่คอยตอกย้ำสถานภาพเชิงภูมิศาสตร์การเมืองระหว่างรัฐสยามกรุงเทพ รัฐพื้นถิ่นปัตตานี และรัฐสหพันธ์มลายู จนก่อเกิดเป็นระเบียบการบริหารปกครองรัฐชาติ อย่างที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบัน กลับถูกละเลยและค่อยๆ จางหายไปจากกระบวนการแก้ปัญหาวิกฤติชายแดนใต้

โดยจากการตรวจสอบสนธิสัญญาสยาม-อังกฤษ (Anglo-Siamese Treaty) เมื่อปี ค.ศ. 1909 ซึ่งเป็นข้อตกลงเพื่อแลกโอนหัวเมืองมลายูระหว่างรัฐบาลสยามกับรัฐบาลอาณานิคมอังกฤษ จนกลายเป็นรากฐานแห่งการก่อเกิดอำนาจอธิปไตยระหว่างรัฐไทยกับรัฐมาเลเซียในปัจจุบัน ตัวสนธิสัญญาได้กำหนดให้สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสตูล ตกอยู่ใต้การครอบครองของสยาม พร้อมประกันให้หัวเมืองทั้งหมดที่ตั้งอยู่ในแนวเส้นขนานที่ 11 อยู่ใต้อธิปไตยสยาม ส่วน เปอร์ลิส เคดาห์ กลันตันและตรังกานู ตกอยู่ใต้การควบคุมของอังกฤษ พร้อมถูกกำหนดให้อยู่ในดินแดนที่เรียกกันว่า "รัฐนอกสหพันธรัฐมลายู" (ร่วมกับยะโฮ) ซึ่งมีสถานภาพคล้ายๆ กับ "รัฐในอารักขา" หรือ "Protectorate" ที่เจ้าพื้นเมืองมลายูยังพอมีอำนาจอิสระทางการปกครองในระดับที่สูงกว่ารัฐพื้นเมืองตรงฝั่งสยามซึ่งต้องถูกโยงให้เข้าไปอยู่ในกระบวนการรวมศูนย์อำนาจของกรุงเทพ


แผนที่การโอนดินแดนระหว่างสยาม-อังกฤษ เมื่อปี 1909

จากการปันดินแดนของชุดแผนที่สนธิสัญญา ได้ทำให้เกิดคำถามสำคัญเกี่ยวกับเส้นลอยเลื่อนภูมิประวัติศาสตร์ (Geo-Historical Fault Line) ในหลากหลายมิติ อาทิ ตัวตนของรัฐจารีตปัตตานี (ก่อนที่จะมีการปันดินแดนเมื่อช่วงปี ค.ศ.1909) มีขอบข่ายปริมณฑลเชิงอำนาจที่แผ่ไปถึงที่ใดบ้าง และการแลกโอนดินแดนระหว่างสยามกับอังกฤษ โดยเฉพาะการใช้แม่น้ำโกลกเป็นแนวแบ่งอาณาเขต หรือการขีดเส้นขนานที่ 11 เพื่อประกันวงอำนาจให้กับสยาม มันมีลักษณะที่สอดคล้องกับธรรมชาติการเมืองและวัฒนธรรมของหัวเมืองมลายูมากน้อยเพียงไร ซึ่งก็คงหนีไม่พ้น เรื่องของการหาความลงตัวระหว่างภูมิศาสตร์การเมืองรัฐชาติกับภูมิศาสตร์วัฒนธรรมท้องถิ่น ที่เป็นปัญหาคลาสสิกสำหรับกระบวนการสร้างรัฐสร้างชาติของรัฐอธิปไตยต่างๆ

ขณะเดียวกัน เส้นเขตแดนอันเป็นผลจากสนธิสัญญา 1909 ยังมีผลต่อการก่อรูปของระบอบอาณานิคมอังกฤษในมลายู โดยอาจทำให้วิวัฒนาการของรัฐเมืองขึ้นในคาบสมุทรมลายู ส่งผลกระทบต่อโลกทัศน์หรือการรับรู้ทางการเมืองของเจ้าพื้นถิ่นปัตตานี อาทิ การร้อยเรียงให้อาณานิคมย่านช่องแคบ อย่าง ปีนัง หรือดินแดนในสหพันธรัฐมลายู อย่าง เปรัก ปะหัง ฯลฯ หรือดินแดนนอกสหพันธรัฐมลายู อย่าง เคดา กลันตัน ฯลฯ มีรูปลักษณ์เชิงรัฐประศาสนศาสตร์ในอัตราที่หลากหลายและแตกต่างกันออกไป พร้อมมีเขตบริหารดินแดนที่อยู่ไม่ไกลจากรัฐปัตตานีอันถูกผนวกให้เข้าไปอยู่ในระบบมณฑลเทศาภิบาลแบบรวมศูนย์ของรัฐสยาม


แผนที่โครงสร้างอาณานิคมมลายูซึ่งมีทั้งอาณานิคมช่องแคบ ดินแดนในสหพันธรัฐและดินแดนนอกสหพันธรัฐ

โดยปรากฏการณ์ดังกล่าว อาจทำให้เกิดภาพความแตกต่างในมิติของการพัฒนาเศรษฐกิจการเมืองระหว่างจังหวัดชายขอบเขตสยาม อย่าง ปัตตานี หรือ นราธิวาส กับ เขตรัฐอารักขาทางตอนบนของคาบสมุทรมลายู และ สถานีการค้าที่เต็มไปด้วยกิจกรรมพาณิชย์นาวีอันคึกคักอย่างเกาะปีนัง จนส่งผลต่อความรู้สึกหรือความรับรู้ของชนชั้นนำท้องถิ่นในเขตปัตตานี ไม่มากก็น้อย

ในอีกแง่มุมหนึ่ง กระบวนการสถาปนาประเทศสหพันธรัฐมาเลเซีย ในช่วงทศวรรษ 1946-48 ที่ผนวกรวมเอารัฐมลายูตอนบน พร้อมกับคงไว้ซึ่งระบอบสุลต่านและอำนาจการปกครองมลรัฐของกลุ่มเจ้าเมือง ก็อาจเป็นตัวแปรที่ส่งผลต่อความรู้สึกของสายผู้นำในขบวนการเคลื่อนไหวการเมืองปัตตานี โดยการสร้างรูปแบบสหพันธรัฐ หรือ Federation ที่ประกอบด้วยรัฐบาลกลางและรัฐบาลมลรัฐ ที่ถูกกำหนดให้มีสิทธิอำนาจชัดเจนในการบริหารจัดการท้องถิ่นตามรัฐธรรมนูญ พร้อมๆ กับคงไว้ซึ่งสถาบันเจ้าสุลต่านในเขตมลรัฐหลายแห่ง อาจช่วยชักนำให้เกิดวิถีการเมืองการปกครองแนวเปรียบเทียบที่ย่อมแตกต่างจากภาพของจังหวัดชายแดนใต้ อย่าง ปัตตานี ที่กลับถูกปกครองโดยผู้ว่าราชการจังหวัดที่ถูกแต่งตั้งมาจากกรุงเทพในคราบของระบบรัฐเดี่ยว หรือ Unitary State

จากรายละเอียดที่นำแสดงมา คงหวังว่าคำถามชวนคิดเกี่ยวกับแผนที่สยาม-อังกฤษเมื่อปี ค.ศ.1909 พร้อมด้วยความแตกต่างระหว่างเอกรัฐ-สหพันธรัฐ คงจะช่วยขยับมุมมองให้ท่านผู้อ่านได้รับหลักคิดบางประการเกี่ยวกับการวิเคราะห์สถานการณ์ในชายแดนใต้ แต่อย่างไรก็ตาม ข้อถกเถียงเหล่านั้น คงไม่อาจถือเป็นสูตรแก้ปัญหาไฟใต้ที่มีลักษณะสมบูรณ์โดยปราศจากข้อโต้แย้งใดๆ ยกตัวอย่างเช่น การปกครองแบบสหพันธรัฐมาเลเซียจะกลายมาเป็นโมเดลเพื่อใช้ยับยั้งความรุนแรงในปัตตานีได้มากน้อยเพียงใด เพราะหากวิพากษ์กันอย่างจริงจัง รูปการปกครองรัฐมาเลเซีย กลับมีลักษณะเป็นสหพันธรัฐลูกผสมที่มีทั้งการรวมอำนาจและกระจายอำนาจในเวลาเดียวกัน รวมถึงมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองและดุลประชากรชาวมลายู-จีน-อินเดีย เป็นตัวแปรสนับสนุนที่อาจจะแตกต่างจากสภาวะท้องถิ่นของปัตตานีในบางมิติ

ในขณะที่ การสร้างประเทศอินโดนีเซีย ชนชั้นนำชาตินิยมในยุคเรียกร้องเอกราช กลับปฏิเสธแนวคิดสหพันธรัฐ พร้อมเชื่อมั่นว่ารูปแบบการปกครองดังกล่าว คือ สลักระเบิดในคราบระบอบอาณานิคมเนเธอร์แลนด์ที่ล้วนเต็มไปด้วยการแบ่งแยกหน่วยการปกครองที่หลากหลายจนอาจกลายเป็นอุปสรรคที่หยุดยั้งกระบวนการสร้างรัฐสร้างชาติที่มีเอกภาพ ซึ่งถึงแม้ว่ารัฐเดี่ยวอินโดนีเซีย จะประสบปัญหาเรื่องการแบ่งแยกดินแดน แต่การคลอดเขตปกครองพิเศษอาเจะห์ ที่ดำรงอยู่ภายใต้ระบบรัฐเดี่ยวที่เน้นการกระจายอำนาจมากขึ้น จึงอาจเป็นอีกหนึ่งโมเดลที่เป็นประโยชน์ต่อการแก้ปัญหาชายแดนใต้

จากโมเดลของมาเลเซีย-อินโดนีเซีย อาจทำให้พอได้ข้อสรุปว่า ตกลงแล้ว เส้นแบ่งที่แท้จริงระหว่างสหพันธรัฐแบบรวมอำนาจ เช่น มาเลเซีย กับเอกรัฐแบบกระจายอำนาจ เช่น อินโดนีเซีย นั้น ควรจะอยู่ตรงไหน หรือว่า ทั้งสองรูปการปกครองกลับมีโครงสร้างสถาบันที่ทับซ้อนหรือเจือปนกันบางส่วน และหากเป็นเช่นนั้นจริง นักปกครองไทยจะผลิตเขตปกครองปัตตานีให้มีกลิ่นอายแบบเอกรัฐ หรือสหพันธรัฐ (ซึ่งเป็นเรื่องยากเพราะไทยเป็นรัฐเดี่ยว) หรือเป็นการปกครองแบบรูปผสม

ขณะเดียวกัน ประเด็นสำคัญอีกประการ คือ การที่นักวิชาการหรือนักนโยบายความมั่นคงไทย ยังหาข้อสรุปเชิงรัฐศาสตร์ที่แน่นอนตายตัวมิได้ ว่าตกลงแล้ว ขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองในห้วงเวลาปัจจุบัน อย่าง กลุ่มพูโลหรือบีอาร์เอ็น มีความต้องการที่จะออกแบบรัฐปัตตานีให้มีรูปลักษณ์เป็นเช่นไร ระหว่างรัฐเดี่ยวเอกราชที่ฉีกตัวออกมาจากรัฐไทย หรือเขตปกครองพิเศษที่อยู่ภายใต้รัฐไทย หรือจะเป็น สหพันธรัฐที่มีทั้งแบบที่อยากจะไปรวมกับมาเลเซียและสหพันธรัฐในแบบที่เป็นอิสระ หรือท้ายที่สุด แกนนำที่เคลื่อนไหวต่างมีแนวคิดที่แตกออกเป็นหลายสาย จนยังหาข้อสรุปมิได้ว่าจะพัฒนาโครงสร้างการปกครองปัตตานี ให้เป็นไปในแนวทางใด (ซึ่งรวมถึงข้อถกเถียงเกี่ยวกับศาสนากับการเมือง อย่างเช่น เรื่องรัฐอิสลาม)


บรรดาชนชั้นสูงและเจ้าหน้าที่ปักปันเขตแดนตามสนธิสัญญาสยาม-อังกฤษ ในปี 1909

ส่วนประเด็นว่าด้วยเรื่องเส้นเขตแดนธรรมชาติ ที่เคยถูกรับรู้หรือฉายภาพให้เป็นเหมือนดั่งเส้นลอยเลื่อนภูมิประวัติศาสตร์ที่มักจะนำมาซึ่งความแตกแยกทางการเมือง หรือมีลักษณะเป็นเส้นกั้นดินแดนระหว่างรัฐอธิปไตยตั้งแต่สองรัฐขึ้นไปจนนำมาสู่ความขัดแย้งและการเผชิญหน้าของรัฐต่างๆ หากแต่ในความเป็นจริงแล้ว ประดิษฐกรรมทางภูมิรัฐศาสตร์เช่นว่านี้ อาจจะถูกวิเคราะห์ผ่านแนวมองที่กว้างไกลและลุ่มลึกขึ้น เช่น การกำหนดวงให้เทือกเขาสันกาลาคีรี หรือที่เรียกเป็นภาษามลายูว่า "บันจารันตีตีวังซา" แปลงสภาพจากผืนเขตแดนระหว่างไทย-มาเลเซีย มาเป็นแนวภูมิศาสตร์ที่คอยเชื่อมร้อยวิถีชีวิตของชนพื้นเมืองทั้งสองประเทศได้อย่างแนบแน่น ซึ่งการเปลี่ยนระนาบแนววิเคราะห์จากเขตภูเขาที่แบ่งดินแดนมาเป็นเขตภูเขาที่เชื่อมร้อยเขตแดน อาจจะส่งผลให้เกิดการผลิตนวัตกรรมการจัดการปัญหาชายแดนใต้อันสัมพันธ์กับมาเลเซียที่แปลกใหม่และสร้างสรรค์มากขึ้นกว่าในอดีต

ส่วนการสืบหาเส้นภูมิประวัติศาสตร์ที่อาจสร้างความแตกต่างภายในดินแดนที่ตั้งอยู่ในเขตอธิปไตยของรัฐชาติเดียวกัน (นอกเหนือจากการเป็นพรมแดนระหว่างประเทศ) ก็เริ่มกลายเป็นมุมมองใหม่ที่ช่วยกระตุ้นให้ท่านผู้อ่านได้พอค้นพบความรู้สึกที่ไม่ลงรอยกันของผู้คนต่างถิ่นภายในรัฐเดียวกันได้มากขึ้น อย่างเช่น แม่น้ำสาละวินที่ไหลผ่านรัฐฉานของเมียนมาร์ โดยมักมีการค้นพบข้อแตกต่างระหว่างดินแดนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสาละวิน ที่มักได้รับอิทธิพลจากพระพุทธศาสนาในราชสำนักพุกามของพม่ากับดินแดนฝั่งตะวันออกที่มักได้รับอิทธิพลจากพระพุทธศาสนาจากล้านนาไทย จนทำให้ประชากรในรัฐฉานบางส่วน พอสัมผัสได้ถึงความแตกต่างผ่านเส้นภูมิประวัติศาสตร์ทางธรรมชาติอย่างแม่น้ำสาละวิน

ส่วนในประเด็นเกี่ยวกับปัญหาชายแดนใต้ของรัฐไทย เส้นภูมิประวัติศาสตร์ที่สร้างความรู้สึกแตกต่างระหว่างชาวมลายูในเขตจังหวัดสุดแดนใต้ กับ ชาวปักษ์ใต้ทางเหนือ อย่าง สงขลา นครศรีธรรมราช (หรือแม้แต่ ชุมพร สุราษฏร์ธานี) น่าจะมีที่ตั้งอยู่ตรงบริเวณใด ระหว่างเขตภูมิศาสตร์ธรรมชาติอย่างเทือกเขานครศรีธรรมราช หรือ เขตภูมิศาสตร์เชิงประดิษฐ์อย่างเส้นขนานที่ 11 ซึ่งนับเป็นประเด็นที่ต้องมีการค้นคว้าสืบสวนกันต่อไป

กระนั้นก็ตาม ประเด็นที่นำเสนอไปเบื้องต้น ท่านผู้อ่านเองก็ควรมีความรอบคอบและพึงตระหนักเอาไว้เสมอว่า บางครั้งความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนใต้ อาจมิได้เกิดจากมโนทัศน์เรื่องรูปแบบการปกครองรัฐหรือเรื่องเส้นลอยเลื่อนทางภูมิประวัติศาสตร์ เสมอไป หากแต่อาจได้รับอิทธิพลจากตัวแปรอื่น หรืออาจเกิดจากอิทธิพลของปัจจัยต่างๆ ที่คละเคล้าระคนปนเปกันไป ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องปกติในแวดวงวิชาสังคมศาสตร์ ที่อาจหาข้อสรุปที่แน่นอนตายตัวมิได้โดยสมบูรณ์ หากแต่ว่า การถกเถียงเพื่อพิสูจน์สมมุติฐานในหลากหลายประเด็น ก็นับเป็นความพยามยามที่จะจุดประกายทางภูมิปัญญาซึ่งมีความสำคัญต่อการทำความเข้าใจปัญหารัฐปัตตานีที่ถูกทำให้คลุมเครือและเต็มไปด้วยความซับซ้อนมาเนิ่นนาน

 

ดุลยภาค ปรีชารัชช


 

บล็อกของ ดุลยภาค

ดุลยภาค
รัฐประหารที่ส่อเค้าล้มเหลวในตุรกีล่าสุด ให้บทเรียนราคาแพงต่อวิชา "รัฐประหารศึกษา” และ "การเมืองเปรียบเทียบ" โดยเฉพาะเรื่องบทบาททหารกับการเมือง
ดุลยภาค
กล่าวโดยสรุป รัฐจารีตอุษาคเนย์ มักคุ้นชินกับเกมสังเวียนพยัคฆ์-คชสาร ซึ่งถูกจัดขึ้นเพื่อสะท้อนประสบการณ์เชิงบวก-เชิงลบต่อสัตว์พื้นเมืองทั้งสองชนิด รวมถึงใช้เพื่อส่งสัญญะ แสดงพลังข่มขู่ขับไล่ผู้รุกรานต่างถิ่น แต่ขณะเดียวกัน เกมสังเวียนประเภทนี้ ก็ถูกใช้เพื่อตอบสนองมหกรรมบันเทิงของเหล่ากษัตริย์-ขุนนาง-ประชาชน ซึ่งก็ไม่แตกต่างอะไรมากนักจากศึกสังเวียนโคลอสเซียมในจักรวรรดิโรมัน