Skip to main content

 

คงจำกันได้ว่าเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา คุณทักษิณและคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เดินทางเยือนเมืองเชียงรุ่ง เมืองเอกของแคว้นสิบสองปันนาในเขตมณฑลยูนนาน พร้อมกล่าวชื่นชมวัฒนธรรมไตลื้อที่คล้ายคลึงกับวัฒนธรรมล้านนา รวมถึงพยายามเชื่อมโยงปฏิสัมพันธ์ระหว่าง 5 เชียง ซึ่งได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย เชียงรุ่ง เชียงตุง และเชียงทอง หรือหลวงพระบาง

ท่าทีการแสดงออกเช่นนี้ นอกจากจะพยายามสื่อถึงศักยภาพของตระกูลชินวัตรที่เตรียมแผ่อาณาจักรธุรกิจคลุมแดนเอเชียอาคเนย์ตอนบน โดยมีสิบสองปันนาเป็นจุดรองรับยุทธศาสตร์มุ่งลงใต้ของรัฐบาลปักกิ่งและรัฐบาลยูนนาน ซึ่งถือเป็นการเดินเกมการทูตเพื่อถ่วงดุลกับ คสช. ในระบบเครือข่ายนโยบายต่างประเทศจีน

แต่กระนั้น ความน่าสนใจที่ลุ่มลึกขึ้น กลับอยู่ตรงที่การใช้ไพ่ "สหพันธ์ไต" หรือ "Tai Federation" เป็นหมุดหมายในการขายนโยบายเออีซีฉบับชินวัตรในเขตอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง หรือ GMS ซึ่งหากข้อสันนิษฐานดังกล่าวเป็นจริง ฝ่ายการเมืองชินวัตรหรือแม้แต่ คสช. คงต้องหันมาพยายามทำความเข้าใจสิบสองปันนากันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในแง่ของระบบการเมืองอันสัมพันธ์กับ "ประวัติศาสตร์ชาติพันธ์วรรณนา" หรือ "Ethnohistory"

จากกรณีดังกล่าว ทีมการเมืองของทั้งสองฝ่าย คงต้องกลับไปอ่านงานพื้นฐานทางด้านมานุษยวิทยาชาติพันธุ์อย่างน้อยสองชิ้นเพื่อปูพื้นความรู้อย่างพอเพียงและเหมาะสมก่อนคิดที่จะเล่นเกมภาคีเอเชียอาคเนย์ตอนบน

งานชิ้นแรก คือ "Political Systems of Highland Burma" ของ เอ็ดมุนด์ ลีธ ซึ่งแบ่งสังคมในผืนแผ่นดินใหญ่อินโดจีนไว้สองแบบ คือ สังคมที่ลุ่มในเขตหุบเขาที่ได้รับอิทธิพลจากอินเดียและสังคมชาวเขาในเขตที่สูงซึ่งได้รับอิทธิพลจากจีน พร้อมกันนั้น ลีธ ยังได้จัดประเภทระบบการเมืองในเขตเทือกเขาคะฉิ่นของพม่า โดยแบ่งออกเป็น ระบบการเมืองของพวกฉานและระบบการเมืองของพวกคะฉิ่น พร้อมผลักดันให้วัฒนธรรมอำนาจนิยมและประชาธิปไตยเป็นจุดเด่นของแต่ละระบบการเมือง

ฉะนั้น งานของลีธ จึงเป็นตำราวิชาการพื้นฐานที่ผู้ศึกษาเรื่องชาติพันธุ์ในเขตสุวรรณภูมิตอนเหนือ ซึ่งรวมถึงสิบสองปันนา จำเป็นต้องอ่านและตีความให้ถึงแก่นก่อนคิดที่จะเปิดปฏิบัติการภาคสนามเชิงลึกในทางมานุษยวิทยา

ส่วนงานชิ้นที่สองกลับเป็นงานวิพากษ์โต้กลับทฤษฏีของลีธ เรื่อง "ระบบการเมืองในสิบสองปันนา: การศึกษาอาณาจักรของพวกลื้อในมณฑลยูนนานประเทศจีน โดยการศึกษาแบบ Ethnohistory" ของมิตสุโอะ นากามุระ

ในงานชิ้นนี้ มิตสุโอะ ได้พรรณนาถึงภูมิสัณฐานของรัฐจารีตสิบสองปันนาว่าตั้งอยู่ในที่ลุ่มระหว่างหุบเขาซึ่งแทนที่จะได้รับอิทธิพลจากอินเดียอย่างเต็มรูปตามทฤษฏีของลีธ สิบสองปันนากลับรับอิทธิพลของวัฒนธรรมจีนในอัตราส่วนที่มากกว่า ทว่า รัฐแห่งนี้ก็กลับมีพื้นฐานทางนิรุกติศาสตร์ที่อยู่ในกลุ่มตระกูลภาษาไท พร้อมเคยตกเป็นประเทศราชของพม่า จนทำให้สิบสองปันนากลายเป็นรัฐลูกผสมระหว่างอารยธรรมจีนกับอารยธรรมเอเชียอาคเนย์ตอนบน นอกจากนั้น มิตสุโอะ ยังพูดถึงองค์ประกอบ สี่ อย่างของกลุ่มนครรัฐสิบสองปันนา ซึ่งได้แก่ ที่ดิน ผี ประชาชน และเจ้าเมืองหรือเจ้าฟ้า โดยหากขาดปัจจัยใดปัจจัยหนึ่ง เมืองในสิบสองปันนาก็มิสามารถจะถือกำเนิดขึ้นได้

จากผลงานคลาสสิกทั้งสองชิ้น การเข้าไปพัวพันกับระบบการเมืองสิบสองปันนาของกลุ่มชนชั้นนำไทย อาจกลายเป็นการขับเคลื่อนทางยุทธศาสตร์ยุทธวิธีที่เข้าไปแตะสัมผัสกับประเด็นละเอียดอ่อนหลากหลายประการ ทั้งอิทธิพลของอารยธรรมจีน-อินเดีย-สุวรรณภูมิ การรวมกลุ่มของรัฐไทลื้อในรูปแบบสมาพันธ์-สหพันธ์ในเขตที่ลุ่มระหว่างหุบเขา รวมถึงบทบาทของสิบสองปันนาในฐานะรัฐไทกึ่งอิสระใต้การปกครองจีนยุคใหม่ และกลยุทธ์การสานสัมพันธ์กับเจ้าที่ดิน ชาวบ้าน การบูชาผีบรรพบุรุษ และโครงสร้างอำนาจเก่าของกลุ่มเชื้อสายเจ้าเมือง

ซึ่งถือเป็นระบบการเมืองที่ซับซ้อนอ่อนไหว และลุ่มลึกมากกว่าการที่จะทำความเข้าใจเพียงว่า "ดินแดนแห่งนี้ ใช้ภาษาเหนือ มีกาแล และข้าวเหนียวไก่ย่าง" (แต่ก็อาจดีกว่าชนชั้นนำอีกหลายกลุ่มที่มิคิดจะทำความเข้าใจอะไรเลยเกี่ยวกับเพื่อนบ้านสิบสองปันนา)

กระนั้น ความซับซ้อนเช่นนี้ ก็อาจถูกอุดช่องว่างได้บางส่วน หากทีมยุทธศาสตร์ต่างประเทศของทั้งเพื่อไทยและ คสช. คิดที่จะจับกระแสการทูตนอกกรอบรัฐศาสตร์ ความมั่นคง หรือธุรกิจการลงทุนพื้นฐาน โดยพร้อมเสียสละเพื่อที่จะเข้าไปสัมผัสกับโลกความคิดที่ลุ่มลึกขึ้นของนักมานุษยวิทยาชาติพันธุ์

เพราะฉะนั้นแล้ว การเข้าถึง "Ethnohistory" พร้อมซึมซับผลงานของนักมานุษยวิทยาบางเล่ม คงจะไม่เสียเวลามากไปนัก สำหรับการผลิตยุทธศาสตร์การทูตที่เข้าถึงตัวตนที่แท้จริงของรากเหง้าอุษาคเนย์


ดุลยภาค ปรีชารัชช

 

 

บล็อกของ ดุลยภาค

ดุลยภาค
รัฐประหารที่ส่อเค้าล้มเหลวในตุรกีล่าสุด ให้บทเรียนราคาแพงต่อวิชา "รัฐประหารศึกษา” และ "การเมืองเปรียบเทียบ" โดยเฉพาะเรื่องบทบาททหารกับการเมือง
ดุลยภาค
กล่าวโดยสรุป รัฐจารีตอุษาคเนย์ มักคุ้นชินกับเกมสังเวียนพยัคฆ์-คชสาร ซึ่งถูกจัดขึ้นเพื่อสะท้อนประสบการณ์เชิงบวก-เชิงลบต่อสัตว์พื้นเมืองทั้งสองชนิด รวมถึงใช้เพื่อส่งสัญญะ แสดงพลังข่มขู่ขับไล่ผู้รุกรานต่างถิ่น แต่ขณะเดียวกัน เกมสังเวียนประเภทนี้ ก็ถูกใช้เพื่อตอบสนองมหกรรมบันเทิงของเหล่ากษัตริย์-ขุนนาง-ประชาชน ซึ่งก็ไม่แตกต่างอะไรมากนักจากศึกสังเวียนโคลอสเซียมในจักรวรรดิโรมัน