Skip to main content

 

วิวาทะว่าด้วยการเปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็นไทยและไทยเป็นสยาม เริ่มกลับมามีสีสันอีกครั้ง ด้วยการปรากฏตัวของฤาษีพุทธจรัล แห่งอาศรมอมราวดี เมืองเชียงใหม่ ที่ออกมาส่งเสริมเรื่องคุณธรรมนำอนาคตของนายกตู่ พร้อมแนะนายกให้เปลี่ยนชื่อประเทศกลับไปเป็นสยามเพื่อแก้เคล็ดทางการเมือง

สิ่งนี้ ดันสอดคล้องกับกิจกรรมรณรงค์ของ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ Charnvit Kasetsiri นักประวัติศาสตร์ผู้เคยกระตุ้นให้สังคมไทยขบคิดเรื่องการเปลี่ยนชื่อประเทศจากไทยเป็นสยามมาเนิ่นนาน

ชาญวิทย์กับฤาษีพุทธจรัล สองปราชญ์ต่างสำนักที่มีอายุราวเจ็ดสิบกว่าปีด้วยกันทั้งคู่ ผ่านร้อนผ่านหนาวทางการเมืองไทยมาเนิ่นนาน คนหนึ่งรักในคุณค่าประชาธิปไตยและมีคำอธิบายเชิงวิชาการที่หนักแน่น อีกคนนิยมในความสามัคคีของชนในชาติและสันทัดการถ่ายทอดผ่านคติความเชื่อแบบโบราณ แต่กระนั้น ทั้งสองปราชญ์กลับเห็นพ้องตรงกันในเรื่องการเปลี่ยนชื่อประเทศกลับไปเป็นสยาม

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักประวัติศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านอุษาคเนย์ศึกษา ผู้เสนอให้เปลี่ยนชื่อประเทศจากไทยเป็นสยาม ซึ่งสะท้อนความหลากหลายของอัตลักษณ์พหุชาติพันธุ์ในสยาม

ฤาษีพุทธจรัล แห่งอาศรมอมราวดี เมืองเชียงใหม่ เสนอให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เปลี่ยนชื่อประเทศจากไทยเป็นสยามเพื่อแก้เคล็ดทางการเมือง

น่าเชื่อว่า หากนายกตู่ ที่ประกาศความรักชาติบ้านเมือง พร้อมเชื่อถือในโชคลางตามพื้นฐานของทหารนักรบ อาจจะสะกิดใจในคำทำนาย และคงหันมาลองพิจารณาถึงนัยสำคัญของการเปลี่ยนชื่อรัฐ ไม่มากก็น้อย และหากมีการพ่วงคำอธิบายจากสำนักชาญวิทย์ การรณรงค์นี้คงแหลมคมและมีน้ำหนักพอตัว โดยแม้ว่าประเด็นนี้ยังจะต้องมีการถกเถียงอภิปรายกันอยู่อีกมาก รวมถึงมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ตลอดจนอาจมีคนมองว่าพฤติกรรมของผู้ปกครองและประชาชน ย่อมมีความสำคัญมากกว่าการเปลี่ยนชื่อประเทศ หากแต่มุมเสนอของชาญวิทย์ ก็กลับให้แง่คิดที่น่าสนใจหลายประการ

ด้านล่าง คือ ตัวอย่างความเห็นว่าด้วยการประกาศชื่อสยามประเทศของชาญวิทย์

"เมื่อผม เริ่มรณณรงค์ เปลี่ยนชื่อประเทศ จากไทย เป็นสยาม
ผมถาม น.ศ.ของผม ซึ่งส่วนใหญ่ ตอบว่า ไม่เอาสยาม เอาไทย
น.ศ.ของผม มักจะมอง และแอบคิดว่า ผมเชย โบราณ ล้าสมัย
เมื่อผม เริ่มรณณรงค์ เปลี่ยนชื่อประเทศ จากไทย เป็นสยาม
เพื่อนนักวิชาการ อาวุโส คนหนึ่ง บอกว่า ไม่สำเร็จหรอก ยกเว้นจะต้องได้ จปจ. เป็นพรรคพวก หลายปีผ่านไป เว็บที่เราเคยทำ เพื่อการลงชื่อร่วมรณณรงค์ ก็ถูกลบไป"

"ผมมาคิดดูว่า ทำไมหนอ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เปลี่ยนนามได้ ปี 2482 แต่หลายๆ คน หลายๆ ครั้ง พยายามเปลี่ยนกลับ แต่ไม่ได้
หลายๆ คนคิดว่า นามประเทศไทย เป็นนามเผด็จการทหาร เป็นฟาสซีสต์ แต่หลายๆ คนก็คิดว่า นามสยามเป็นนามศักดินา สมบูรณาญาสิทธิราช รอแยลลีสต์ ดังนั้น ถ้าต้องเลือก ก็เลือกฟาสซีสต์ มากกว่ารอแยลีสต์ ??? จริงหรือ"

"ผมเองนั้น คิดว่า นามสยาม เหมาะกว่า ในความหมายชาติพันธุ์
กล่าวคือ อันประเทศของเรานั้น หาได้ "รวมแต่เลือดเนื้อ ชาติเชื้อไทย" ไม่ ประเทศของเรา มีทั้ง ไทย ไต ลาว โยน ขะแมร์ มอญ พม่า มลายู กะเหรี่ยง ม้ง แต้จิ๋ว ไหหลำ ฮกเกี้ยน กวางตุ้ง แคะ ฮ่อ ทมิฬ เปอร์เซีย ฝรั่ง อังกฤษ สก๊อต ปาธาน ฯลฯ หลากหลายกว่า 50 ชาติพันธุ์ (เผลอๆ ที่เรียกว่าไทย โดยสายเลือดนั้น เป็นชนส่วนน้อย) ไม่เชื่อ ท่านลองสืบ โคตรเหง้า ของตนทางสายพ่อ และแม่ ดูสิครับ เกือบทุกๆ เทอม ผมให้ น.ศ.ของผม ทำรายงาน ประวัติตระกูล ของข้าพเจ้า ก็พบว่า ส่วนใหญ่ เป็น จปจ. จปล. จปม จปข ??? ทำไม แต่แล้ว ทำไม ทั้ง น.ศ. ของผม และ/หรือ เพื่อนๆ นักวิชาการของผม ครอบครัว ญาติพี่น้องของผม จึงต้องการนาม ไทย มากกว่า สยาม ผมยังหา คำตอบไม่ได้ ครับ ผมคงต้องกลับไปอ่าน "ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว..." ของจิตร ภูมิศักดิ์ ใหม่อีกครั้ง ต้องอ่านให้แตก ให้ได้ ครับ"

หมายเหตุ: คำย่ออย่าง จปจ. จปล. จปม. จปข. ถือเป็นคำที่เซียนอุษาคเนย์อย่างสุจิตต์ วงษ์เทศ หรือคอประวัติศาสตร์อื่นๆ นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย เช่น เจ๊กปนเจ๊ก เจ๊กปนลาว เจ๊กปนมอญและเจ๊กปนแขก

สนใจลองอ่านเอกสารวิชาการของชาญวิทย์เพิ่มเติม (ดาวน์โหลดฟรี)

ส่วนความคิดเห็นของผมนั้น รัฐอุษาคเนย์เอง ก็มักมีการเปลี่ยนชื่อประเทศเช่นกัน อย่าง การเปลี่ยนจาก Burma เป็น Myanmar ซึ่งอันหลังเป็นคำที่อดีตรัฐบาลทหารพม่าเชื่อมั่นว่าจะครอบคลุมชนชาติพันธุ์ต่างๆ ในสหภาพมากกว่า แถมมีความเป็นมาทางนิรุกติศาสตร์ที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมพื้นถิ่นพม่ามากกว่าคำเรียกขานของอังกฤษอย่าง Burma ขณะที่การตั้งเชื่ออินโดนีเซีย ก็เป็นภาพสะท้อนถึงการประดิษฐ์ชื่อและภาษาใหม่เพื่อควบรวมดินแดนต่างชาติพันธุ์แล้วสถาปนาขึ้นเป็นรัฐเอกราชใหม่

สำหรับตัวอย่างรัฐไทยนั้น การเปลี่ยนจากสยามเป็นไทย อาจสะท้อนถึงความพยายามสร้างรัฐชาติพันธุ์เดี่ยวแบบรวมศูนย์ ที่ให้ความสำคัญกับความเป็นปึกแผ่นด้านความมั่นคงมากกว่าความหลากหลายเชิงพหุสังคม ขณะที่ชื่อเรียกภาษาอังกฤษว่าไทยแลนด์ ก็น่าจะนำไปเปรียบเทียบกับนามของรัฐนานาชาติอื่นๆ อย่าง โปแลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ ฯลฯ หากแต่ว่าชื่อรัฐพวกนี้ กลับมีลักษณะเป็นนามกลุ่มน้อยของระบบโลก เพราะรัฐส่วนใหญ่ ไม่ค่อยมีการใช้คำว่าแลนด์ต่อท้ายนาม (แต่จะมีอยู่บ้างถ้าทับพวกรัฐสถาน อย่าง ปากีสถาน อัฟกานิสถาน ฯลฯ) ขณะที่ การเปลี่ยนชื่อกลับจากไทยเป็นสยาม ถือเป็นแรงกระเพื่อมที่สอดคล้องกับกระแสโลกรวมถึงรัฐเพื่อนบ้านบางรัฐในภูมิภาค

เพียงแต่ว่า ในกระบวนการเปลี่ยนแปลงชื่อของรัฐนั้น มักตามมาด้วยการเปลี่ยนผ่านว่าด้วยเรื่องรูปของรัฐและสังคมอย่างล้ำลึก เช่น การหันเหไปสู่รัฐเดี่ยวหรือรัฐรวม สังคมควรจะแปลงร่างเป็นเอกสังคมหรือพหุสังคมในความรับรู้ของคนส่วนใหญ่ และ การเป็นเอกชาติพันธุ์กับพหุชาติพันธุ์ ในตัวตนคนๆ หนึ่ง อย่างไหนจะได้ประโยชน์และยอมรับมากกว่ากันหากมีการเปลี่ยนชื่อประเทศ ซึ่งแน่นอน สิ่งนี้ย่อมหลีกไม่พ้นเรื่องการเมือง ทั้งการเมืองเชิงอัตลักษณ์ (Politics of Identity) การเมืองเรื่องชาตินิยม (Politics of Nationalism) การเมืองเรื่องการจัดการปกครอง (Politics of Governance) การเมืองในนิรุกติศาสตร์ (Politics of Philology) และ การเมืองระหว่างประเทศ/การเมืองข้ามชาติ (International/Transnational Politics)

น่าคิดและน่าอภิปรายเป็นอย่างมาก

 

ดุลยภาค ปรีชารัชช

 

 

บล็อกของ ดุลยภาค

ดุลยภาค
รัฐประหารที่ส่อเค้าล้มเหลวในตุรกีล่าสุด ให้บทเรียนราคาแพงต่อวิชา "รัฐประหารศึกษา” และ "การเมืองเปรียบเทียบ" โดยเฉพาะเรื่องบทบาททหารกับการเมือง
ดุลยภาค
กล่าวโดยสรุป รัฐจารีตอุษาคเนย์ มักคุ้นชินกับเกมสังเวียนพยัคฆ์-คชสาร ซึ่งถูกจัดขึ้นเพื่อสะท้อนประสบการณ์เชิงบวก-เชิงลบต่อสัตว์พื้นเมืองทั้งสองชนิด รวมถึงใช้เพื่อส่งสัญญะ แสดงพลังข่มขู่ขับไล่ผู้รุกรานต่างถิ่น แต่ขณะเดียวกัน เกมสังเวียนประเภทนี้ ก็ถูกใช้เพื่อตอบสนองมหกรรมบันเทิงของเหล่ากษัตริย์-ขุนนาง-ประชาชน ซึ่งก็ไม่แตกต่างอะไรมากนักจากศึกสังเวียนโคลอสเซียมในจักรวรรดิโรมัน