Skip to main content

 

ทั้งการกล่าวปาฐกถาของนายแดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก รวมถึงแถลงการณ์ตอบโต้ของรัฐบาลไทย ต่างสะท้อนถึงปัญหาพื้นฐานในการสื่อสารทางการเมือง ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อทิศทางการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสหรัฐในอนาคต

กล่าวคือ ทั้งสองฝ่ายต่างมีปัญหาในแบบที่ Giovanni Sartori (1970) นักรัฐศาสตร์ชาวอิตาเลียน เรียกว่า "Concept Misformaion" หรือ "ความผิดพลาดในการจัดระบบความคิด" โดยทุกครั้งที่จะมีการสื่อสารหรือทำความเข้าใจในปรากฏการณ์หนึ่งๆ ผู้ศึกษาเอง จำเป็นต้องสร้างกรอบแนวคิดหรือชุดคำศัพท์ให้ชัดเจนเสียก่อน ทั้งนี้เพื่อสร้างความเข้าใจที่สอดคล้องต้องกันระหว่างผู้ส่งสาส์นกับผู้รับสาส์น

เช่น การกล่าวถึงคำว่า "Democracy" ของนายแดเนียล ซึ่งแนวคิดหรือมาตรวัดคุณภาพประชาธิปไตยตามมาตรฐานและนัยยะการตีความของรัฐบาลสหรัฐ อาจมีคุณลักษณะหรือเกณฑ์การจำแนกแจงแจงหลายประการ ที่ไม่สอดคล้องหรือยากต่อการทำความเข้าใจของกลุ่มรัฐบาลจากรัฐโลกที่สาม โดยเฉพาะ รัฐไทยและอาเซียน ซึ่งย่อมมีพื้นฐานและรูปพัฒนาการทางการเมืองที่แตกต่างจากสหรัฐ

ในทางกลับกัน การสร้างกรอบแนวคิดของรัฐบาลไทยว่าด้วยเรื่อง "ประชาธิปไตยแบบไทยๆ" ซึ่งมีทั้งตัวแปรต้น ตัวแปรตาม และตัวแปรพิเศษนอกระบบ เข้ามาโลดแล่นก่อรูปจนกลายเป็นโครงสร้างอำนาจทางการเมืองอันซับซ้อน ได้ทำให้แนวคิดเรื่องประชาธิปไตยตามความเข้าใจของกลุ่มชนชั้นนำไทย กลายเป็นศัพท์บัญญัติที่เต็มไปด้วยความหมายแฝง (Connotation) และการให้นิยามตามบริบทเฉพาะ (Contextual Definition) ซึ่งย่อมสร้างความยากลำบากต่อการแปรรหัสสาส์นของรัฐบาลสหรัฐ

นอกจากนั้น การเน้นย้ำของนายแดเนียลที่ว่า "International Community" ล้วนต้องการเห็นความก้าวหน้าในกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยไทย ต่างสะท้อนให้เห็นถึงรูปอัตตวิสัย (Subjectivity) ทางการทูตและลัทธิเอกภาคีนิยม (Unilateralism) ของรัฐอภิมหาอำนาจอย่างสหรัฐ ที่อาจส่งผลให้เกิดความผิดพลาดในการจัดระบบความคิดเพื่อสื่อสารกับรัฐบาลไทย

โดยเมื่อใดก็ตาม ที่มีการพูดถึงประชาคมระหว่างประเทศ ผู้รับสาส์นบางท่านอาจมีการรับรู้ตีความในประสบการณ์ที่แตกต่างกันออกไป เช่น อาจหมายถึงการประชุมในเวทีสหประชาชาติของตัวแทนรัฐบาลต่างๆ หรือหมายถึง สังคมชุมชนนานาชาติที่ครอบคลุมทั้งตัวแสดงภาครัฐ อาทิ จำนวนรัฐอธิปไตยต่างๆ ทั่วโลก และตัวแสดงที่มิใช่รัฐ เช่น องค์กรนานาชาติและภาคประชาสังคมต่างๆ

ซึ่งการแปรแนวคิดเช่นว่านี้ คงมิได้หมายความว่า จะมีทุกรัฐหรือทุกองค์กรในระบบโลกที่ต้องการเห็นความก้าวหน้าในประชาธิปไตยไทยตามรูปแบบที่สหรัฐเข้าใจหรือเรียกร้องเสมอ หรืออาจมิได้มีแต่ช่องทางผู้แทนภาครัฐ เช่น กระทรวงการต่างประเทศและสำนักนายกรัฐมนตรี (ตามที่รัฐบาลไทยมักใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการตีโต้ต่างประเทศ) หากแต่อาจกินความครอบคลุมไปถึงกลุ่มพลังการเมืองและกลุ่มพลังสังคมต่างๆ ที่ก่อตัวขึ้นรอบโลก เช่น กลุ่มผู้ศรัทธาในสิทธิเสรีภาพและลัทธิปัจเจกชนนิยม (Individualism) ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้อาจมองประชาธิปไตยไทยว่าล้มเหลวหรือสวนทางกับที่ คสช.เข้าใจ

จากจุดบอดดังกล่าว ทั้งตัวแทนรัฐไทยและสหรัฐอเมริกา คงต้องหันมาทบทวนเรื่อง "Concept Misformation" พร้อมพยายามเรียนรู้สภาพเงื่อนไขและค่านิยมทางการเมืองของกลุ่มอำนาจหรือตัวแสดงต่างๆ กันอย่างจริงจังรอบด้าน มิเช่นนั้น ทั้งการปฏิรูปการเมืองไทยในยุคโลกาภิวัฒน์และสายสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ อาจเกิดอาการตะกุกตะกัก พร้อมค่อยๆ เสื่อมถอยร้าวฉานลงจนส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศ


ดุลยภาค ปรีชารัชช

 


 

บล็อกของ ดุลยภาค

ดุลยภาค
รัฐประหารที่ส่อเค้าล้มเหลวในตุรกีล่าสุด ให้บทเรียนราคาแพงต่อวิชา "รัฐประหารศึกษา” และ "การเมืองเปรียบเทียบ" โดยเฉพาะเรื่องบทบาททหารกับการเมือง
ดุลยภาค
กล่าวโดยสรุป รัฐจารีตอุษาคเนย์ มักคุ้นชินกับเกมสังเวียนพยัคฆ์-คชสาร ซึ่งถูกจัดขึ้นเพื่อสะท้อนประสบการณ์เชิงบวก-เชิงลบต่อสัตว์พื้นเมืองทั้งสองชนิด รวมถึงใช้เพื่อส่งสัญญะ แสดงพลังข่มขู่ขับไล่ผู้รุกรานต่างถิ่น แต่ขณะเดียวกัน เกมสังเวียนประเภทนี้ ก็ถูกใช้เพื่อตอบสนองมหกรรมบันเทิงของเหล่ากษัตริย์-ขุนนาง-ประชาชน ซึ่งก็ไม่แตกต่างอะไรมากนักจากศึกสังเวียนโคลอสเซียมในจักรวรรดิโรมัน