Skip to main content

 

ย้อนไปเมื่อ 68 ปีที่แล้ว วันนี้ถือเป็นเหตุการณ์ที่บรรดาตัวแทนเจ้าฟ้าและประชาชนไทใหญ่ ต่างร่วมกันจัดตั้งสภาสหพันธรัฐรัฐฉาน อันเป็นการควบรวบหน่วยนครรัฐไทใหญ่ที่แตกกระจัดกระจายให้มีเอกภาพขึ้นซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่กระตุ้นให้รัฐฉานหันมาร่วมมือกับพม่าเพื่อเตรียมขอเอกราชจากอังกฤษอย่างเป็นทางการ

นอกจากนั้น วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2490 ยังเป็นวันที่กำหนดให้มีธงชาติสีเหลือง เขียว แดง และวงกลมสีขาว เป็นตราสัญลักษณ์ประจำชนชาติรัฐฉาน ซึ่งรวมทั้งการประพันธ์เพลงชาติที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน โดยมี ขุนปานจิ่ง เจ้าฟ้าเมืองน้ำสั่นแห่งรัฐฉานภาคเหนือ ซึ่งเป็นประธานสภาสหพันธรัฐรัฐฉานขณะนั้นเป็นผู้กำหนด

ขณะเดียวกัน ตามทรรศนะของนักกู้ชาติไทใหญ่ วันชาติรัฐฉาน (7 ก.พ. 2490) ยังถือเป็นตันกำเนิดแห่งวันสหภาพพม่า (12 ก.พ. 2490) และวันเอกราชสหภาพพม่า (4 ม.ค. 2491) ซึ่งถือเป็นวันที่ถือกำเนิดสนธิสัญญาปางโหลง และวันปลดแอกดินแดนอดีตอาณานิคมพม่าออกจากอังกฤษตามลำดับ เพราะหากไม่มีการประชุมในวันที่ 7 ก.พ. 2490 แล้ว ก็จะไม่มีวันสหภาพและวันเอกราชแห่งสหภาพพม่า

สำหรับปีนี้ รัฐบาลกลางพม่ายังคงอนุญาตให้มีการเฉลิมฉลองทั่วภาคพื้นรัฐฉาน หากแต่ความคึกคักอลังการยังคงมีขึ้นที่ดอยไตแลง ศูนย์อำนาจแห่งสภากอบกู้รัฐฉาน (RCSS) และกองบัญชาการหลักประจำกองทัพรัฐฉานภาคใต้ (SSA-S) ตรงข้ามอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยในงาน ล้วนเต็มไปด้วยการชุมนุมของพี่น้องไตจากทั่วทุกสารทิศ รวมถึงการออกแถลงการณ์ของพลโทเจ้ายอดศึกซึ่งยังคงเน้นหนักไปที่การสร้างสันติภาพและสหพันธรัฐที่แท้จริงผ่านจิตวิญญาณแห่งน้ำใจปางโหลง (ซึ่งฝ่ายขบวนการกู้ชาติไทใหญ่มักมองว่า เพราะน้ำใจของเจ้าฟ้าไทใหญ่ที่ได้ตัดสินใจยอมบูรณาการดินแดนกับฝ่ายพม่า จึงทำให้มีสหภาพพม่าในวันนี้) พร้อมกันนั้น ในงานยังมีการจัดพิธีสวนสนามประจำวันชาติ พร้อมแสดงแสนยานุภาพของหน่วยทหารต่างๆ โดยเฉพาะหน่วยทหารรบพิเศษ ที่ถูกจัดตั้งขึ้นใหม่เมื่อไม่นานมานี้

68 ปี ผ่านไป ดินแดนชาติพันธุ์ที่ถูกประกอบสร้างขึ้นเป็นรัฐเอกราชยุคใหม่บนพื้นฐานของจินตภาพการจัดการปกครองแบบสหพันธรัฐ (federation) ที่เน้นการกระจายอำนาจที่เป็นธรรมระหว่างรัฐบาลพม่ากับรัฐบาลชนชาติพันธุ์ ยังคงเป็นรูปการปกครองที่พึงปรารถนาสำหรับชนชาติพันธุ์หลายๆ กลุ่ม โดยเฉพาะบรรดานักปฏิวัติไทใหญ่ ที่เริ่มคลายอุดมการณ์แยกประเทศเพื่อตั้งรัฐอิสระออกจากพม่า พร้อมค่อยๆ หันมาเจรจายุติความขัดแย้งเพื่อดันพม่าไปสู่สหพันธรัฐที่แท้จริง (ในแบบที่การบริหารทรัพยากรท้องถิ่นและการธำรงอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ ต้องได้รับการประกันอำนาจอิสระที่เที่ยงธรรมตามกรอบรัฐธรรมนูญ)

แต่กระนั้น ประเด็นอันแหลมคมในกระบวนการสันติภาพ คงหนีไม่พ้นคำถามพื้นฐานที่ว่า "คุณลักษณะเชิงลึกอะไรบ้าง ถึงจะเรียกว่าเป็นสหพันธรัฐที่แท้จริง ตามมุมมองของชนชาติพันธุ์บางกลุ่ม" และ "หากรัฐบาลกลางปล่อยให้มีการกระจายอำนาจในอัตราส่วนที่เพิ่มขึ้น แกนนำชนชาติพันธุ์จะยอมสลายกองกำลังกู้ชาติ พร้อมโอนให้เข้าไปอยู่ในสายบังคับบัญชาของกองทัพแห่งชาติพม่าหรือไม่"

ซึ่งคำถามเหล่านี้ ยังคงเป็นจุดท้าทายที่พร้อมจะสะบั้นความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างตัวแทนรัฐบาลกลางกับตัวแทนชนชาติพันธุ์ โดยเฉพาะการขยายกำลังพลพร้อมจัดตั้งหน่วยรบพิเศษของกองทัพรัฐฉานภาคใต้ ซึ่งเป็นไปเพื่อตอบโต้การรุกล้ำพื้นที่ของกองทหารพม่าที่ยังคงปรากฏอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยอาจถือเป็นลางบอกเหตุทางยุทธศาสตร์ ที่ช่วยชี้วัดได้ถึงแนวโน้มการสู้รบในเขตภาคพื้นรัฐฉาน ที่อาจจะปะทุและขยายวงแพร่ระบาดได้ทุกเมื่อ

เพราะฉะนั้น แม้วันชาติรัฐฉานยามนี้ ดูผิวเผินจะเป็นวันที่เต็มไปด้วยนาฏลีลาชนเผ่าเพื่อส่งออกความต้องการเชิงสหพันธรัฐไปยังกลุ่มอำนาจพม่าที่กรุงเนปิดอว์ หากแต่สภาวะก้ำกึ่งลักลั่นระหว่างการรวมรัฐกับพม่าและการฉีกรัฐออกจากพม่า หรือการงัดค้างปะทะขับหน่วงระหว่างแรงรวมเข้าสู่ศูนย์กลางกับแรงแยกออกจากศูนย์กลาง จะยังคงมีปรากฏอยู่ในวงจรความขัดแย้งรัฐฉานอยู่เป็นระยะพร้อมวางวนเวียนอยู่ในวัฏจักรวันชาติรัฐฉานสืบต่อไป


ดุลยภาค ปรีชารัชช

 

 

บล็อกของ ดุลยภาค

ดุลยภาค
โจทย์สำคัญของสถาบันกองทัพที่สิงสถิตอยู่ในสังคมอันเต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลาย ว่าสุดท้ายแล้ว กระบวนการปฏิรูปการเมืองของประเทศ กับ การปฏิรูปภาคทหารของกองทัพ จะดำเนินควบคู่ไปกับการปฏิรูปทางสังคมที่ตั้งอยู่บนฐานความยุติธรรมและสันติวิธี ได้มากน้อยเพียงไร