Skip to main content

 

 

แผนที่ฝรั่งเศส จาก Librairie Armand Colin แห่งนครปารีส ได้แสดงภูมิสัณฐานรัฐอาณานิคมอินโดจีน (France Indochine) และอาณาจักรสยามได้อย่างน่าประหลาดใจ โดยเฉพาะแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขาอย่างน้ำงึม และเซบั้งไฟ หรือทะเลสาบเขมร (โตนเลสาบ) ซึ่งแสดงที่ลุ่มต่ำน้ำท่วมถึงในเขตข้างเคียง

กระนั้น สิ่งที่น่าฉงนที่สุด ได้แก่ การขานชื่อแม่น้ำสายหลักในแผ่นดินสยาม ซึ่งไม่ปรากฏใช้คำว่า 'แม่น้ำเจ้าพระยา' แต่ระบุแทนด้วยคำว่า 'แม่น้ำ' หรือ 'Me Nam' ซึ่งเป็นคำเรียกแนวแม่น้ำเจ้าพระยาตามคนสยามโบราณ

พร้อมกันนั้น แนวแม่น้ำที่กล่าวมายังทอดตัวเหยียดยาวตั้งแต่ลำแม่น้ำเจ้าพระยา (ในปัจจุบัน) ตรงปลายอ่าวไทยไปจนถึงต้นแม่น้ำน่านเขตเขาหลวงพระบางติดชายแดนลาว ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่านักทำแผนที่ฝรั่งเศสได้ยึดเอาแม่น้ำน่านเป็นแกนกลางในการสำรวจโดยวาดแควสายรอง เช่น แม่น้ำยม หรือแควสายหลัก เช่น แม่น้ำปิง เป็นเพียงลำน้ำที่ไหลสบมายังตัวแม่น้ำ หากแต่มิได้เป็นสายเดียวหรือเป็นส่วนควบเดียวกันกับแม่น้ำเจ้าพระยา (เหมือนดั่งแม่น้ำน่าน) ซึ่งทั้งนี้คงเป็นเพราะสนามสำรวจลุ่มน้ำน่าน อาจอยู่ใกล้เส้นทางรถไฟสายเหนือหรือแนวอาณานิคมฝรั่งเศสมากที่สุด พร้อมมีการเชื่อมโยงการค้าและยุทธศาสตร์กับลุ่มน้ำโขง โดยเฉพาะ เมืองน่าน เมืองตรอน เมืองพิชัย และเมืองพิษณุโลก เป็นอาทิ

นอกจากนั้น ช่างวาดแผนที่ยังได้ระบุนามลำน้ำต่างๆ ในสยาม โดยใช้คำนำหน้าแตกต่างกันออกไป เช่น เรียก 'แม่น้ำมูล' ว่า 'น้ำมูล/Nam Moun' แต่เรียก 'แม่น้ำชี' ว่า 'ลำน้ำชี/Lam Nam Si' เรียก 'แม่น้ำป่าสัก' ว่า 'น้ำสัก/Nam Sak' เรียก 'แม่น้ำแม่กลอง' ว่า 'แม่กลอง/Me Klang' และเรียก 'แม่น้ำท่าจีน' ว่า 'Tachin R.' ซึ่งถือเป็นการกำหนดนามที่อาจผันแปรตามนิรุกติศาสตร์ท้องถิ่นหรือความรับรู้ของช่างสำรวจเกี่ยวกับความโดดเด่นหรือรูปสัณฐานของลำน้ำแต่ละสาย

สำหรับรายละเอียดต้นฉบับและที่มาของชุดแผนที่ โปรดดู

INDO-CHINE Française et MADAGASCAR collection de cartes murales .
Cambodge, Cochinchine,Thaïlande,Vietnam, Laos, Birmanie, Tonkin, Hanoï,Mékong, Bangkok...
Librairie Armand Colin, Paris 103 Boulevard St Michel par Paul Vidal De La Blache professeur à la faculté des Lettres de l'Université de Paris.


ดุลยภาค ปรีชารัชช

 

 

 

บล็อกของ ดุลยภาค

ดุลยภาค
โจทย์สำคัญของสถาบันกองทัพที่สิงสถิตอยู่ในสังคมอันเต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลาย ว่าสุดท้ายแล้ว กระบวนการปฏิรูปการเมืองของประเทศ กับ การปฏิรูปภาคทหารของกองทัพ จะดำเนินควบคู่ไปกับการปฏิรูปทางสังคมที่ตั้งอยู่บนฐานความยุติธรรมและสันติวิธี ได้มากน้อยเพียงไร