Skip to main content

 

วันนี้ ประวัติศาสตร์โลกได้จารึกข่าวการจากไปของนาย ลี กวน ยู รัฐบุรุษอาวุโสแห่งสาธารณรัฐสิงคโปร์ กันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง

ในโลกเอเชีย สิงคโปร์ คือ รัฐที่มุ่งเน้นการพัฒนา (Developmental State) จนสามารถแปลงสภาพจากนครรัฐเล็กๆ ริมทะเลขึ้นทะยานสู่รัฐชั้นนำทางเศรษฐกิจและการศึกษาอันดับต้นๆ ของโลก

ส่วนในทางการเมืองเปรียบเทียบ อาจมีเพียงแค่เขตบริหารพิเศษฮ่องกง ที่มีสภาพแวดล้อมและความโดดเด่นทางภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และ การศึกษาที่คู่ควรแก่การวิเคราะห์เปรียบเทียบกับสิงคโปร์มากที่สุด เช่น รายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากร หรือ ความหลายหลายวัฒนธรรม ทั้ง ชุมชนจีนและชุมชนนานาชาติ

ผมจึงตัดสินใจเดินทางตะลอนไปทั่วฮ่องกงเพื่อสำรวจอิทธิพลของสิงคโปร์และร่องรอยทางประวัติศาสตร์ของลี กวน ยู ที่พอจะหลงเหลืออยู่บ้างในนครรัฐคู่แฝดแห่งนี้

จุดหมายแรก ผมเข้าไปค้นสมุดภาพเก่าๆ ในห้องสมุดมหาวิทยาลัยฮ่องกง (The University of Hong Kong) สถาบันการศึกษาที่มีอายุมากกว่า 100 ปี และเคยได้รับการจัดชั้นให้เป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของเอเชีย มาหลายสมัย
พลิกไปพลิกมา ได้พบภาพถ่ายของนาย ลี กวน ยู ซึ่งเดินทางมารับปริญญาดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ณ มหาวิทยาลัยฮ่องกง เมื่อปี ค.ศ.1970

โดยพอเป็นที่เข้าใจได้ว่าชนชั้นนำหรือชนชั้นกลางในรัฐอาณานิคมเก่าอังกฤษอย่างสิงคโปร์และฮ่องกง มักมีการส่งบุตรหลานไปร่ำเรียนในสถาบันการศึกษาตามแบบตะวันตก เช่น นาย ลี กวน ยู เอง ที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ หากแต่การเชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัยฮ่องกง ได้ช่วยคลี่คลายให้เห็นถึงปรัชญาและยุทธศาสตร์การศึกษาที่ดันให้มหาวิทยาลัยเอเชียหรือในรัฐอาณานิคมเก่าสามารถพุ่งทะยานจนติดอันดับสถาบันการศึกษาชั้นนำของโลก ได้อย่างน่าประทับใจ

ส่วนมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore) ก็ได้ถูกพัฒนาคุณภาพการศึกษานับตั้งแต่ยุค ลี กวน ยู จนสามารถทะยานขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของเอเชียเช่นกัน ซึ่งผลัดกันรั้งตำแหน่งขึ้นลงสูสีกันกับมหาวิทยาลัยฮ่องกง จนกลายเป็นสองสถาบันอันดับต้นๆ ของเอเชียที่เริ่มได้รับความนิยมจากนักศึกษาทั่วโลก โดยเฉพาะในกลุ่มนักศึกษาตะวันตกและจากจีนแผ่นดินใหญ่

ถัดมา ผมเดินทางไปฟังสัมมนาเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในอาเซียน ณ ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยซิตี้ออฟฮ่องกง (City University of Hong Kong) ซึ่งที่แห่งนี้ ผมได้พบปะพูดคุยกับวิทยากรชื่อดังอย่าง Dr.James Gomez นักข่าวอาวุโสและนักการเมืองที่คลุกคลีอยู่กับสนามเลือกตั้งสิงคโปร์มาเนิ่นน่าน เจมส์ เป็นคนสิงคโปร์เชื้อสายอินเดีย จบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ และ จบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยโมนาช ประเทศออสเตรเลีย โดยปัจจุบัน เจมส์ได้ผันตัวเองมาเป็นอาจารย์ ณ มหาวิทยาลัยนานาชาติแห่งหนึ่งในเขตกวางตุ้งใกล้เกาะฮ่องกง

พร้อมกันนั้น ผมยังได้พูดคุยกับศาสตราจารย์ Mark Thompson ผอ. ศูนย์ Southeast Asian Studies ซึ่งถือเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเมืองไทย การเมืองฟิลิปปินส์ และ ราชวงศ์การเมือง (Political Dynasty) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

แม้สารัตถะการเสวนาจะเป็นเรื่องการจัดประเภทระบอบการเมือง (Typology) ของรัฐต่างๆ ในอาเซียน รวมถึง แนวโน้มการพัฒนาประชาธิปไตยและการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ที่อาจเผชิญกับอุปสรรคในเรื่องของมรดกการเมืองอำนาจนิยม/อนุรักษ์นิยมและการฟื้นคืนชีพของราชวงศ์ทหารในทางการเมือง หากแต่ประเด็นที่เป็น highlight ของการถกเถียง หนีไม่พ้นเรื่องระบอบ ลี กวน ยู ซึ่งน่าคิดต่อว่าควรถูกจัดให้อยู่ใน Regime ประเภทใด และ ควรจะเป็น Model ให้กับรัฐเอเชียอาคเนย์ในแง่มุมใดได้บ้าง

นับจากตั้งรัฐสิงคโปร์มาเกือบ 50 ปี สิงคโปร์อยู่ใต้การปกครองของผู้นำเพียงสามคนเท่านั้น คือ ลี กวน ยู ซึ่งเป็นรัฐบุรุษแห่งยุคสร้างรัฐสร้างชาติ โก๊ะ จ๊ก ตง ผู้นำแห่งการปฏิรูปเศรษฐกิจ และ ลี เซียน ลุง บุตรชาย ลี กวน ยู และ ผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น ผู้เปี่ยมไปด้วยอำนาจบารมี (Charismatic Leader) จนอาจกล่าวได้ว่า สามผู้นำใต้ยุคสามสมัย ได้ช่วยสร้างระบอบประชาธิปไตยอำนาจนิยมแบบไม่เสรี ที่ยืนหยัดอยู่ได้ท่ามกลางการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้พรรคกิจประชาและราชวงศ์การเมืองของตระกูลลี สามารถครองความโดดเด่นบนเวทีการเมืองสิงคโปร์สืบไป (แม้จะมีคะแนนนิยมลดลงอยู่บ้างก็ตามที)

ตอนท้ายของการเสวนา มีผู้ฟังชาวฮ่องกงส่วนหนึ่ง ได้ร่วมแสดงสภาวะที่คล้ายคลึงกันของฮ่องกงเมื่อเทียบกับสิงคโปร์ นั่นคือ รัฐบาลที่ใช้อำนาจบริหารแบบเต็มพิกัด บนหลักประสิทธิภาพประสิทธิผลทางรัฐประศาสนศาสตร์ พร้อมๆ กับ ลัทธิบูชาชนชั้นนำนิยมและคุณธรรมนิยม (Elitism/Meritocracy) ซึ่งเน้นการโอนอำนาจปกครองไปให้แก่ชนชั้นนำส่วนน้อยที่ได้รับการศึกษาระดับสูงและเปี่ยมไปด้วยวิสัยทัศน์สากล พร้อมผลักดันให้การบริหารราชการแผ่นดินเต็มไปด้วยสภาวะโปร่งใสและตรวจสอบได้

ครับ เล่าเรื่องกันมายืดยาว จึงหวังว่า ตัวแบบรัฐสิงคโปร์และรัฐฮ่องกง คงอาจยังประโยชน์ต่อรัฐไทยในการปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดิน รวมถึง การพัฒนาเศรษฐกิจและการปฏิรูปมหาวิทยาลัยไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

 

ดุลยภาค ปรีชารัชช

 

 

บล็อกของ ดุลยภาค

ดุลยภาค
รัฐประหารที่ส่อเค้าล้มเหลวในตุรกีล่าสุด ให้บทเรียนราคาแพงต่อวิชา "รัฐประหารศึกษา” และ "การเมืองเปรียบเทียบ" โดยเฉพาะเรื่องบทบาททหารกับการเมือง
ดุลยภาค
กล่าวโดยสรุป รัฐจารีตอุษาคเนย์ มักคุ้นชินกับเกมสังเวียนพยัคฆ์-คชสาร ซึ่งถูกจัดขึ้นเพื่อสะท้อนประสบการณ์เชิงบวก-เชิงลบต่อสัตว์พื้นเมืองทั้งสองชนิด รวมถึงใช้เพื่อส่งสัญญะ แสดงพลังข่มขู่ขับไล่ผู้รุกรานต่างถิ่น แต่ขณะเดียวกัน เกมสังเวียนประเภทนี้ ก็ถูกใช้เพื่อตอบสนองมหกรรมบันเทิงของเหล่ากษัตริย์-ขุนนาง-ประชาชน ซึ่งก็ไม่แตกต่างอะไรมากนักจากศึกสังเวียนโคลอสเซียมในจักรวรรดิโรมัน