Skip to main content

 

ช่วงนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย กำลังกำหนดเลือกเส้นทางที่จะสร้างทางรถไฟสายใหม่ โดยคัดเลือกระหว่างสาย ‘จัตุรัส-ชัยภูมิ-หนองบัวลำภู-เลย’ กับสาย ‘ลำนารายณ์-เพชรบูรณ์-เลย-หนองบัวลำภู’ ซึ่งขณะนี้ กำลังหาข้อมูล เหตุผล ความคุ้มค่า และความต้องการของประชาชน ฯลฯ เพื่อทำการคัดเลือกก่อสร้างเพียง 1 เส้นทาง ภายในปลายเดือนเมษายน 2558 นี้

ต่อกรณีดังกล่าว ได้เกิดกระแสรณรงค์ของชาวเพชรบูรณ์กันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมที่นำโดย ดร.วิศัลย์ โฆษิตานนท์ เพื่อผลักดันให้การรถไฟหันมาเลือกเส้นทางสายเพชรบูรณ์เพื่อกระตุ้นความเจริญของจังหวัด พร้อมหนุนเสริมให้เพชรบูรณ์กลายเป็นแกนยุทธศาสตร์ใหม่ที่เชื่อมโยงภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสาน รวมถึงพม่ากับอินโดจีน จนกลายเป็นศูนย์กลางใหม่ของรัฐไทยและอาเซียนภาคพื้นทวีป

พร้อมกันนั้น แนวคิดการย้ายเมืองหลวงมาเพชรบูรณ์ของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่เคยเกิดขึ้นสมัยปลายสงครามโลกครั้งที่สอง ก็กลับมาเป็นหัวข้ออภิปรายหลักควบคู่กับกระแสสร้างทางรถไฟ จนทำให้ภาพเพชรบูรณ์ในฐานะอดีตว่าที่เมืองหลวงสำรองเพื่อเก็บรักษาสมบัติชาติให้รอดพ้นจากกองทหารต่างชาติ ควบคู่กับเมืองชุมทางยุทธศาสตร์ความมั่นคงและการพัฒนาในยามสถานการณ์คับขัน กลายมาเป็นคุณสมบัติพิเศษที่ช่วยตอกย้ำคุณค่าเชิงภูมิรัฐศาสตร์ของจังหวัดแห่งนี้

สำหรับความเห็นส่วนตัวของผม ในฐานะบุคคลที่สนใจด้านภูมิศาสตร์ผังเมือง และผู้แต่งหนังสือเรื่อง "Naypyidaw: The New Capital of Burma" (Bangkok: White Lotus, 2009) ผมค่อนข้างชื่นชมในแนวทางการเคลื่อนไหวของคนเพชรบูรณ์ และมองว่าการสร้างทางรถไฟมายังหัวเมืองตอนในเพื่อกระตุ้นความเจริญและสร้างฐานยุทธศาสตร์ชาติแห่งใหม่ ถือเป็นเรื่องปกติในกระบวนการพัฒนาเมืองร่วมสมัย และเป็นแนวโน้มที่ภาครัฐหรือภาคประชาสังคมไทยควรใส่ใจ โดยทำเลของจังหวัดเพชรบูรณ์ย่อมส่งผลดีต่อประเทศไทยในสองมิติหลักๆ ได้แก่

1. มิติการพัฒนา กล่าวคือ รัฐไทยมีพลังเศรษฐกิจแบบเอกนครซึ่งขึ้นอยู่กับการโตเดี่ยวของกรุงเทพ จนทำให้เมืองในเขตแนวหลังตอนใน (Hinterland) มีขีดเจริญทางเศรษฐกิจที่แตกต่างจากกรุงเทพเป็นอย่างมาก ซึ่งภูมิทัศน์เช่นว่านี้ ถือว่าผิดแผกจากพม่าหรือเวียดนาม ที่ใช้ทฤษฏีทวินครหรือไตรนคร จนทำให้เกิดศูนย์กลางพัฒนาออกเป็น 2-3 ศูนย์ ซึ่งในระยะยาวอาจส่งผลดีต่อการกระจายความเจริญไปยังภูมิภาคต่างๆ

การกระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพ ไม่ได้หมายความว่า ให้ทอดทิ้งกรุงเทพแล้วไปหาเมืองหลวงใหม่แบบเร่งด่วน แต่หมายถึง การคงกรุงเทพให้เป็นเมืองหลวงไว้ดังเดิม แต่กระตุ้นศูนย์พัฒนาตามวงภูมิภาคแยกย่อย เช่นที่เชียงใหม่ โคราช นครศรีธรรมราช ฯลฯ

แต่กระนั้น ด้วยการปรากฏตัวของขั้วนครใหม่ในกลุ่มประเทศเออีซี เช่น มะละแหม่ง และทวายของพม่า หรือดานังของเวียดนาม ซึ่งแม้จะทำให้กระแสโลจิสติกส์การลงทุน ยังคงไหลหมุนเวียนเข้ากรุงเทพอย่างแน่นขนัด โดยเฉพาะจากการก่อสร้างท่าเรือทวายและการพัฒนาสีหนุวิลล์ของกัมพูชา
หากแต่ แนวระเบียงขนส่งตะวันออก-ตะวันตก หรือ East-West Economic Corridor (EWEC) ที่เชื่อมพม่ากับอินโดจีนผ่านพื้นที่แนวหลังของกรุงเทพ กลับมีเพียงเมืองขนาดเล็กและแนวป่าเขาที่ปล่อยว่างทอดยาวหลายร้อยกิโลเมตร จนทำให้การเชื่อมโยงขนส่งมีอัตราการหมุนเวียนสินค้าที่เบาบางและไม่คึกคักเท่าที่ควร แม้จะมีเมืองใหญ่บางแห่งปรากฏขึ้นระหว่างทาง เช่น พิษณุโลก และขอนแก่น

จากกรณีดังกล่าว การสร้างทางรถไฟมาเพชรบูรณ์อาจช่วยอุดช่องว่างในเรื่องแกนเศรษฐกิจเหนือ-ใต้-ออก-ตก ได้มากขึ้น โดยปริมาณประชากรและฐานทรัพยากรของเมืองเพชรบูรณ์ เช่น สินค้าเกษตร แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ รวมถึงสินแร่และน้ำมันดิบ จะทำให้พลังเศรษฐกิจจากกรุงเทพที่มาหยุดอยู่ที่ลำนายรายณ์ ไหลขึ้นชัยบาดาลแล้วตรงเข้าเพชรบูรณ์ พร้อมไปบรรจบกับการไหลลงของกระแสสินค้าบริการที่เคลื่อนมาจากระเบียงบก EWEC ซึ่งตัดผ่านอำเภอหล่มสักทางตอนเหนือของจังหวัด

ซึ่งพลังดังกล่าว จะช่วยปั้นให้เกิดแกนเศรษฐกิจตอนใน (Hinterland Economic Pole) ที่ทำหน้าที่ดึงดูดเชื่อมโยงพลังเศรษฐกิจจากเขตอาเซียนพื้นทวีป เช่น จากดานังของเวียดนาม และไชยะบุรีของลาว หรือตามเมืองยุทธศาสตร์ภาคเหนือ-กลาง-อีสาน เช่น นครสวรรค์ พิษณุโลก ขอนแก่น ให้เชื่อมโยงกระชับแน่นกันมากขึ้น

ขณะเดียวกัน การสร้างทางรถไฟมาเพชรบูรณ์ ไม่ได้หมายความว่า ให้ละทิ้งเส้นทางรถไฟจากชัยภูมิมาหนองบัวลำภู แต่การรถไฟควรพิจารณาสร้างเพิ่มตามความเหมาะสม เพื่อขยายข้อต่อจากพลังเศรษฐกิจโคราช ให้ไหลขึ้นสู่ชัยภูมิ หนองบัวลำภู เลย และวกลงหาเพชรบูรณ์อีกต่อหนึ่ง ซึ่งหากสำเร็จ จะทำให้ไทยมีทางรถไฟสายวงแหวน จนกลายเป็นอู่เศรษฐกิจเออีซีขนาดใหญ่ ซึ่งจะช่วยเสริมมิให้ไทยเป็นเพียงแค่ทางผ่านระหว่างพม่ากับเวียดนาม แต่จะกลายเป็นจุดกึ่งกลางขนาดใหญ่ที่ช่วยรวมและกระจายสินค้าเออีซีไปตามดินแดนต่างๆ อย่างทั่วถึง

2. มิติความมั่นคง กล่าวคือ ท่ามกลางการบูรณาการเศรษฐกิจที่ควบแน่นขึ้น การไหลทะลักของแรงงานและสินค้าผิดกฎหมายหรืออาชญากรรมข้ามชาติ หรือแม้แต่การแทรกแซงของมหาอำนาจผ่านกิจกรรมการค้าที่คึกคัก อาจทำให้กองทัพไทยและกองทัพอาเซียน ต้องปรับยุทธศาสตร์เพื่อรับมือกับภัยคุกคามด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่

นอกจากนั้น ภัยคุกคามรูปแบบเก่า เช่น การใช้กำลังทหารกับรัฐเพื่อนบ้านในกรณีพิพาทเขตแดน หรือการตั้งรับการบุกทางทะเลหรือทางบกจากรัฐมหาอำนาจ ก็มิใช่ว่าจะจางหายไปจากโลกยุทธศาสตร์ทหาร

เพราะฉะนั้น การสร้างทางรถไฟพร้อมตั้งคลังยุทธศาสตร์ที่เพชรบูรณ์ จึงมีนัยสำคัญในการวางระบบป้องกันประเทศ โดยในตัวจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นที่ตั้งของค่ายพ่อขุนผาเมืองหรือกองพลทหารม้าที่หนึ่ง ซึ่งเป็นหน่วยทหารขนาดใหญ่และพร้อมสรรพไปด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์ หากแต่ขาดเส้นทางลำเลียงยุทธปัจจัยที่รวดเร็ว

ฉะนั้น การสร้างเส้นทางรถไฟยุทธศาสตร์ตรงแอ่งลุ่มน้ำป่าสักที่ไขเชื่อมจากกรุงเทพมาลพบุรีจนไปสุดชายแดนลาว พร้อมถูกขนาบด้วยเทือกเขาเพชรบูรณ์ทั้งสองด้าน จะทำให้เกิดห้องภูมิประเทศในทางลึกที่เอื้อประโยชน์ต่อการเคลื่อนย้ายกำลังเพื่อรักษาความสงบภายใน หรือ แม้แต่การตั้งรับทางทหารระยะยาวผ่านภูมิประเทศแบบป่าเขา ซึ่งทางรถไฟที่โยงกับถนนทางบกอื่นๆ ทั้งจากกรุงเทพ-เพชรบูรณ์ หรือจากพิษณุโลก-เพชรบูรณ์-ขอนแก่น จะทำให้ภารกิจกองทัพในการบูรณาการภูมิภาค หรือกระจายกำลังตั้งด่านตรวจสกัดสินค้าผิดกฎหมาย สามารถกระทำได้สะดวกขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากการรถไฟตัดสินใจอนุมัติก่อสร้างเส้นทางสายเพชรบูรณ์ขึ้นมาจริงๆ (ซึ่งยังคงต้องรอลุ้นกันต่อไป) กระบวนการวางผังเมืองนครเพชรบูรณ์ อาจต้องมีความรอบคอบเพื่อสร้างความสมดุลระหว่างความมั่นคงกับการพัฒนา รวมถึงระหว่างคนเพชรบูรณ์เองกับคนต่างถิ่น (ทั้งที่มาจากจังหวัดอื่นหรือจากต่างประเทศ) หรือแม้แต่ภาพวิสัยทัศน์นคร ระหว่างเมืองตากอากาศในฝันกับเมืองยุทธศาสตร์ระดับชาติ

ต่อข้อกรณีดังกล่าว ผมคิดว่า ภาครัฐและสังคมควรปั้นเพชรบูรณ์ให้เป็นเมืองบูรณาการต้นแบบ ที่ยังคงมีลักษณะเมืองเกษตรป่าเขาตอนในอันแวดล้อมไปด้วยธรรมชาติบริสุทธ์ แต่ขณะเดียวกัน ก็สามารถแปลงสภาพให้เป็นศูนย์ราชการสำรองหรือเมืองหลวงแห่งที่สอง ที่คุมภาคเหนือ-กลาง-อีสาน และเอเชียอาคเนย์ตอนบน ในขณะที่กรุงเทพยังคงเป็นเมืองหลวงแห่งที่หนึ่ง เพื่อธำรงการเติบโตของเศรษฐกิจชายทะเลและเชื่อมโยงกับภาคใต้ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีขั้วพัฒนาแห่งใหม่ที่ทรงพลังในเขตพื้นที่แนวหลัง

สำหรับการออกแบบอนาคตรัฐไทยผ่านผังนครเพชรบูรณ์ อาจใช้ทางรถไฟหรือแม่น้ำป่าสักเป็นจุดแบ่งกายภาพเมือง โดยพื้นที่ฟากตะวันตกสามารถเนรมิตให้เป็นศูนย์ราชการสำรองแห่งใหม่ หากแต่ออกแบบสถาปัตยกรรมอาคารให้มีลักษณะกลมกลืนธรรมชาติและไต่ระดับไปตามสันเขาจากแนวเหนือ-ใต้ โดยให้มองเห็นทิวทัศน์ของอ่างเก็บน้ำป่าแดงและเขตอุทยานข้างเคียง

ส่วนพื้นที่ฟากตะวันออก ให้จัดเป็นโซนพัฒนากสิกรรมและอุตสาหกรรมเกษตรซึ่งเน้นการปลูกพื้นท้องถิ่น เช่น ข้าว ข้าวโพด หรือสวนผลไม้เมืองหนาว ขณะที่เขตตัวเมืองเก่าที่ครอบคลุมวัดวาอารามและชุมชนท้องถิ่นที่มีอัตลักษณ์วัฒนธรรม ให้อนุรักษ์และผลักดันให้เป็นเขตประวัติศาสตร์

ในส่วนพื้นที่ทางเหนือและทางใต้ของตัวเมืองเพชรบูรณ์ การพาดผ่านของทางรถไฟจะทำให้เกิดสี่แยกหรือจุดตัดกับเส้นทางรถยนต์ที่เคลื่อนจากพิษณุโลกมาขอนแก่นทางตอนเหนือ และนครสวรรค์มาชัยภูมิทางตอนใต้ โดยอาจพัฒนาให้เป็นศูนย์กระจายสินค้าหรือเขตเศรษฐกิจ ขณะที่กองพลทหารม้าที่หนึ่งซึ่งมีที่ตั้งหน่วยอยู่ที่ตัวเมืองอาจมีการสร้างคลังยุทธศาสตร์ตัวใหม่ตรงเขตภูเขาแล้วใช้ถนนเชื่อมไปยังค่ายทหารสำคัญของกองทัพภาคที่สามในเขตจังหวัดพิษณุโลก หรือ หากเมืองเพชรบูรณ์มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์เพิ่มขึ้นในอนาคต อาจตัดพื้นที่ตั้งกองทัพภาคแห่งใหม่ (ภาค 5) โดยวางสายรถไฟให้เชื่อมโยงกับหน่วยทหารที่ลพบุรี


วัดพระธาตุผาแก้ว(ผาซ่อนแก้ว) อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์

ในอนาคตคงหวังว่า แกนยุทธศาสตร์รัฐไทยทั้งในทางเศรษฐกิจ ความมั่นคง การบริหารรัฐกิจ หรืออุตสาหกรรมท่องเที่ยวในเขตภูเขา (น้ำหนาว เขาค้อ ฯลฯ) อาจจะถูกเนรมิตบนแกนลุ่มน้ำป่าสักตอนบน อันมีนครเพชรบูรณ์เป็นศูนย์กลาง หากแต่ความเปลี่ยนแปลงเช่นว่า ย่อมขึ้นอยู่กับการก่อตัวของทางรถไฟสายเพชรบูรณ์ ซึ่งถือเป็นส่วนควบเดียวกันกับการพัฒนาเมืองและการพัฒนาประเทศ

ในทางสถาปัตยกรรมผังเมืองเปรียบเทียบ การรณรงค์ของคนเพชรบูรณ์เองหรือแม้แต่ของกระผม อาจไม่ใช่ความเพ้อฝัน หากแต่ตั้งอยู่บนหลักเหตุผลของผลประโยชน์ชาติหลายประการ พร้อมถือเป็นแนวทางปกติที่หลายๆ ประเทศทั่วโลกเคยกระทำกันมาก่อน เช่น การตั้งศูนย์ราชการตรงย่านใจกลางหรือใกล้แหล่งเกษตรกรรมและภูมิภาคตอนใน อย่างกรณีการสร้างเมืองบราซิเลียของบราซิล เมืองอาบูจาของไนจีเรีย และอังการาของตุรกี

ขณะที่ การปั้นปุตราจายาของมาเลเซียที่เน้นการสร้างกลุ่มอาคารราชการที่เป็นระเบียบและเห็นทิวทัศน์ของทะเลสาบจำลอง และการวางหมุดเมืองใหม่ของรัฐบาลพม่าที่เน้นเนรมิตศูนย์ราชการจากแนวเหนือ-ใต้ พร้อมปรับปรุงทางรถไฟที่ตัดผ่านเมืองหลวงใหม่ให้แปลงสภาพเป็นจุดตัดโลจิสติกส์ระดับภูมิภาค ล้วนแล้วแต่เป็นตัวอย่างของการสร้างเมืองและข่ายคมนาคมใหม่เพื่อใช้ขับเคลื่อนการเติบโตของประเทศ

ฉะนั้น จึงหวังว่าโครงการรถไฟหรือเมืองยุทธศาสตร์เพชรบูรณ์ อาจเป็นจุดหักเหที่มีนัยสำคัญต่อความเปลี่ยนแปลงของประเทศไทย โดยเฉพาะในยุคเออีซีที่ความมั่นคงรัฐชาติผูกติดอยู่กับการพัฒนาระหว่างประเทศอย่างลึกซึ้ง จนทำให้งานบริการประชาชน งานพัฒนาภูมิภาค และงานบริหารป้องกันประเทศ มีลักษณะทับซ้อนตัดโยงกันเป็นพัลวัน

จากสภาพเงื่อนไขดังกล่าว การปั้นจุดหัวใจภูมิรัฐศาสตร์ตรงย่านใจกลาง พร้อมออกแบบภาพอนาคตรัฐผ่านการวางผังเมืองอย่างเป็นระบบ ควบคู่ไปกับการพัฒนาข่ายคมนาคมอย่างชาญฉลาด ย่อมส่งผลดีต่อการเจริญเติบโตของประเทศบนพื้นฐานของความมั่นคงและการพัฒนารัฐอย่างมีสมดุล

ซึ่งการจะบรรลุแผนวิสัยทัศน์ดังกล่าว การอนุมัติสร้างทางรถไฟมายังจังหวัดเพชรบูรณ์ คงจะเป็นปฐมบทที่เป็นรูปธรรมมากที่สุดสำหรับการพัฒนาโครงสร้างกายภาพรัฐไทยในสหัสวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นยุคที่ประเทศต้องเดินหน้าบูรณาการร่วมกับเพื่อนบ้าน บนพื้นฐานของความเปราะบางภายในอันเป็นผลจากความขัดแย้งทางการเมืองและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจตามภาคต่างๆ


ดุลยภาค ปรีชารัชช

 

ปล. บทความนี้ ไม่ได้เหมารวมว่าการสร้างทางรถไฟหรือการพัฒนาเมืองจะเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการพัฒนาหรือรักษาความมั่นคงภายในประเทศเพียงอย่างเดียว เพราะในความเป็นจริง ย่อมมีปัจจัยอื่นที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของประเทศ

นอกจากนั้น ผู้อ่านบางท่าน ยังอาจมองไปที่จุดคุ้มทุนทางเศรษฐศาสตร์ หรือการพัฒนาจิตใจ ตลอดจนการยกระดับคุณภาพสังคมในแนวทางอื่นๆ โดยมิจำเป็นต้องผูกติดอยู่กับโครงสร้างกายภาพเมืองและทางรถไฟ ซึ่งกระผมมีความเคารพในทรรศนะอันสร้างสรรค์ของท่านผู้อ่านทุกท่านโดยสุจริตใจ

พร้อมกันนั้น บทความนี้ไม่มีวาระทางการเมืองที่จะโน้มเอียงไปทางพี่น้องจังหวัดเพชรบูรณ์เป็นพิเศษ (โดยปราศจากการมองด้วยหลักเหตุผล) เนื่องจากการก่อสร้างทางรถไฟในเขตพื้นที่อื่นๆ ย่อมมีความสำคัญตามแต่ทรรศนะหรือความรับรู้ของคนในท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ทั้งภาครัฐและสังคมไทย ควรมันมาใส่ใจเพื่อสร้างความเป็นธรรมและสร้างจุดสมดุลระหว่างจังหวัดต่างๆ กันอย่างถ้วนทั่ว

สำหรับในบทความนี้ จุดยืนของกระผมอยู่ที่การวิเคราะห์ศักยภาพของเมืองเพชรบูรณ์ผ่านแนวทางภูมิรัฐศาสตร์/ภูมิศาสตร์การเมือง พร้อมด้วยประสบการณ์วิจัยเกี่ยวกับการสร้างเมืองใหม่ของข้าพเจ้า ซึ่งหากพิจารณากันในมิตินี้เพียงอย่างเดียว ผมเห็นว่า การสร้างทางรถไฟพร้อมพัฒนาจังหวัดเพชรบูรณ์ ถือว่า "Make Sense" และมีความสมเหตุสมผลอยู่มาก (หากมองแนวทางพัฒนาประเทศหรือการรักษาความมั่นคงผ่านศักยภาพของเมืองและระบบโลจิสติกส์)

สำหรับรูปภาพที่แนบมา ขอให้ท่านผู้อ่านลองพิจารณาแผงผังยุทธศาสตร์ของนครเพชรบูรณ์พร้อมแนวพาดผ่านของทางรถไฟ ประกอบกับลองชมสถานที่สำคัญ เช่น พระธาตุผาซ่อนแก้ว และค่ายพ่อขุนผาเมือง ซึ่งย่อมสะท้อนภาพแนวโน้มการ 'Design' เมืองเพชรบูรณ์ได้อย่างลงตัว

สำหรับรายละเอียดของโครงการรถไฟ และที่มาบางส่วนของแผนที่ในบทความ โปรดดูเว็บไซด์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ตามที่แนบมา http://jaturat-nongbualamphu.com/about3.php

 

 

 

บล็อกของ ดุลยภาค

ดุลยภาค
รัฐประหารที่ส่อเค้าล้มเหลวในตุรกีล่าสุด ให้บทเรียนราคาแพงต่อวิชา "รัฐประหารศึกษา” และ "การเมืองเปรียบเทียบ" โดยเฉพาะเรื่องบทบาททหารกับการเมือง
ดุลยภาค
กล่าวโดยสรุป รัฐจารีตอุษาคเนย์ มักคุ้นชินกับเกมสังเวียนพยัคฆ์-คชสาร ซึ่งถูกจัดขึ้นเพื่อสะท้อนประสบการณ์เชิงบวก-เชิงลบต่อสัตว์พื้นเมืองทั้งสองชนิด รวมถึงใช้เพื่อส่งสัญญะ แสดงพลังข่มขู่ขับไล่ผู้รุกรานต่างถิ่น แต่ขณะเดียวกัน เกมสังเวียนประเภทนี้ ก็ถูกใช้เพื่อตอบสนองมหกรรมบันเทิงของเหล่ากษัตริย์-ขุนนาง-ประชาชน ซึ่งก็ไม่แตกต่างอะไรมากนักจากศึกสังเวียนโคลอสเซียมในจักรวรรดิโรมัน