Skip to main content

 

นับจากช่วงก่อนเรื่อยมาจนถึงช่วงหลังเลือกตั้ง 2010 ซึ่งนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงการเมืองการปกครองพม่า จากระบอบเผด็จการทหารอำนาจนิยมเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยอำนาจนิยมแบบมีระเบียบวินัยที่กำลังจะเบ่งบาน ได้ปรากฏคณะนายพลทั้งสี่ ซึ่งทรงบทบาทและมีอิทธิพลต่อการเมืองพม่าในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional Period)

สองท่านแรก คือ ขุนทหารสายอนุรักษ์นิยม หากแต่ก็แปลงสภาพเป็นกลุ่มสถาปนิกผู้ออกแบบรัฐพม่ายุคใหม่ได้อย่างงดงาม ซึ่งได้แก่ พลเอกอาวุโส ตาน ฉ่วย อดีตประธานสภาปกครองทหาร ผบ.สส. และ รมต.กลาโหม กับพลเอกรองอาวุโส หม่อง เอ อดีตรองประธานสภาทหาร และ ผบ.ทบ.

นายพลทั้งสองได้ร่วมขจัดอำนาจที่โดดเด่นของนายทหารสายปฏิรูปนิยม อย่าง พลโท ขิ่น ยุ้นต์ อดีตนายกรัฐมนตรี หากแต่ก็ดันแผนปฏิบัติ "Roadmap" ของขิ่น ยุ้นต์ เข้าสู่วาระการปฏิรูปการเมืองและการพัฒนาประชาธิปไตยจนสามารถผลักให้พม่ามีการปกครองรูปแบบใหม่ได้อย่างสมบูรณ์

ส่วนสองท่านหลัง ได้แก่ นายพล ฉ่วย มาน อดีตเสนาธิการสามเหล่าทัพ และนายพล เต็ง เส่ง (เทียน เส่ง) อดีตนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลทหารตาน ฉ่วย โดยทั้งสองนายพลได้ละทิ้งตำแหน่งในกองทัพแห่งชาติ พร้อมแปลงสถานะขึ้นเถลิงอำนาจเป็นประธานรัฐสภาและประธานาธิบดีแห่งสหภาพตามลำดับ ประกอบกับมีบทบาทสูงเด่นในกระบวนการปฏิรูปการเมืองและการสร้างสันติภาพในพม่ายุคปัจจุบัน

หากตรวจดูภูมิหลังขุนทหารทั้งสอง จะพบว่า ฉ่วย มาน คือ นายทหารสายอนุรักษ์นิยมที่เจนจัดในการตีค่ายทหารกะเหรี่ยงและกองกำลังชนชาติพันธุ์อื่นๆ หากแต่กลับค่อยๆ พลิกบทบาทขึ้นเป็นนักเจรจาสันติภาพ รวมถึงเป็นหนึ่งในผู้ผลักดันประเด็นสหพันธรัฐนิยม (federalism) ให้เป็นระเบียบการปกครองใหม่ของรัฐพม่า

ขณะที่ เต็ง เส่ง มีลักษณะโน้มเอียงไปทางนายทหารสายการทูต โดยมีบทบาทในการกระชับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีประจำสภาทหาร ซึ่งปัจจุบัน คงปฏิเสธมิได้ว่า เขาคือนักปฏิรูปตัวยงที่มีภาพลักษณ์สูงเด่นบนเวทีการเมืองพม่า

นอกเหนือจากคณะนายพลทั้งสี่แล้ว หลังเลือกตั้ง 2010 จนกระทั่งถึงศึกเลือกตั้งในช่วงปลายปี 2015 ได้ปรากฏองครักษ์พิทักษ์รัฐอันดับห้า ได้แก่ นายพล มิน อ่อง หล่าย ผบ.สส.แห่งกองทัพพม่า ซึ่งถือเป็นคนสนิทของผู้มีอำนาจนอกรัฐธรรมนูญอย่าง ตาน ฉ่วย และหม่อง เอ หากแต่ก็ค่อยๆ ขยับสายสัมพันธ์เชิงอำนาจกับทั้งฉ่วย มาน และเต็ง เส่ง

พร้อมกันนั้น นายพลท่านนี้ ยังเริ่มฉายแววจรัสแสงในกระบวนการเจรจาสันติภาพและการรักษาความมั่นคงภายใน โดยเฉพาะ ปัญหาการสู้รบกับกลุ่มกบฏโกก้างในเขตรัฐฉานภาคเหนือ จนทำให้อดประหวั่นพรั่นพรึงกันมิได้ว่า ศึกเลือกตั้งคราหน้า มิน อ่อง หล่าย พร้อมด้วยชนชั้นนำอย่าง ฉ่วย มาน และเต็ง เส่ง อาจกลายมาเป็นหนึ่งใน candidates คนสำคัญที่เตรียมชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่แห่งสหภาพพม่า

เพราะฉะนั้น แม้ว่าจะมีการแปรรูปเปลี่ยนร่างการปกครองเป็นเช่นใด การเมืองแบบเสนาธิปัตย์ (Praetorian Politics) ที่เต็มไปด้วยการสยายปีกของชนชั้นนำทหารหรืออดีตชนชั้นนำทหาร จะยังคงครองจุดเด่นในราชวงศ์การเมืองพม่า หรือในกระบวนการสร้างรัฐสร้างชาติของพม่าสืบไป

ขณะเดียวกัน การตบเท้าของขุนทหารที่ทยอยเข้ามาเล่นการเมืองกันมากขึ้น พร้อมๆ กับการชูบทบาทแข่งขันกันเป็นนักปฏิรูปของบรรดาเหล่าเสนาระดับสูง ก็ค่อยๆ บีบรัดทอนโอกาสทางการเมืองของนางอองซาน ซูจี ให้ริบหรี่มืดบอดลงตามลำดับ

โดยเกือบห้าปีมาแล้ว (นับแต่การครองอำนาจของรัฐบาลกึ่งพลเรือนชุดใหม่) ที่เราได้เห็นชนชั้นนำในระบอบเก่า หรือชนชั้นนำที่อยู่ตรงช่วงรอยต่อระหว่างระบอบเก่ากับระบอบใหม่ ค่อยๆ แบ่งตัดชิ้นเค้กทางการเมืองพร้อมโกยแต้มคะแนนสะสมเพื่อครองใจประชาชนชาวพม่ากันอย่างสืบเนื่อง

ดังนั้น จึงน่าลุ้นต่อว่าจะมีพลังพิเศษชนิดใด ที่สามารถหนุนเสริมชะตาชีวิตทางการเมืองของนางซูจี ให้สามารถแข่งขันกับเหล่าเสนาองครักษ์ได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ

กระนั้น หากสมมุติว่านางซูจี ได้เถลิงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ขึ้นมาจริงๆ นักการเมืองพม่าหลายต่อหลายคน ทยอยเริ่มตั้งคำถามกันบ้างแล้ว ว่ารัฐพม่าในอนาคตจะสามารถพัฒนาประเทศให้อยู่บนรากฐานของความมั่นคงแบบมีสมดุลได้เทียบเท่ากับสมัยรัฐบาลเต็ง เส่ง ซักเพียงไร

ซึ่งคำถามเช่นนี้ นับว่ามีนัยสำคัญต่อธรรมชาติการเมืองของรัฐพม่า ที่เต็มไปด้วยความเปราะบางทางศาสนา-ชาติพันธุ์ ตลอดจนความขัดแย้งของกลุ่มอำนาจต่างๆ หากแต่ก็มีความจำเป็นที่จะต้องสถาปนาระบอบประชาธิปไตยให้มีเหมือนกับรัฐอื่นๆ ทั่วโลก เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ


ดุลยภาค ปรีชารัชช

 

 

 

บล็อกของ ดุลยภาค

ดุลยภาค
รัฐประหารที่ส่อเค้าล้มเหลวในตุรกีล่าสุด ให้บทเรียนราคาแพงต่อวิชา "รัฐประหารศึกษา” และ "การเมืองเปรียบเทียบ" โดยเฉพาะเรื่องบทบาททหารกับการเมือง
ดุลยภาค
กล่าวโดยสรุป รัฐจารีตอุษาคเนย์ มักคุ้นชินกับเกมสังเวียนพยัคฆ์-คชสาร ซึ่งถูกจัดขึ้นเพื่อสะท้อนประสบการณ์เชิงบวก-เชิงลบต่อสัตว์พื้นเมืองทั้งสองชนิด รวมถึงใช้เพื่อส่งสัญญะ แสดงพลังข่มขู่ขับไล่ผู้รุกรานต่างถิ่น แต่ขณะเดียวกัน เกมสังเวียนประเภทนี้ ก็ถูกใช้เพื่อตอบสนองมหกรรมบันเทิงของเหล่ากษัตริย์-ขุนนาง-ประชาชน ซึ่งก็ไม่แตกต่างอะไรมากนักจากศึกสังเวียนโคลอสเซียมในจักรวรรดิโรมัน