Skip to main content

 

หนังสือขนาดกะทัดรัดทางด้านรามัญศึกษา ซึ่งใช้ชื่อว่า "มอญ ชาติปราศจากแผ่นดิน" รวบรวมโดย สุนทร ศรีปานเงิน และ จัดพิมพ์โดย กลุ่มสันนิบาตชนชาติมอญ ถือเป็นคู่มือฉบับพกพาที่จะพาท่านผู้อ่านไปทำความรู้จักกับตัวตนที่แท้จริงของมอญในทางประวัติศาสตร์และการเมือง โดยมีข้อถกเถียงที่น่าสนใจ อาทิ

1. มอญคือชนชาติเก่าแก่ที่สุดในบรรดาชนชาติทั้งหมดที่อาศัยอยู่ในประเทศพม่าปัจจุบัน นอกจากนั้น มอญยังเป็นคลังอารยธรรมโบราณแห่งสุวรรณภูมิ ซึ่งมีทั้งมอญแถบพม่า อย่างที่เมืองสะเทิม และมอญในเมืองไทย อย่างอาณาจักรทวารวดีและหริภุญชัย

2. มอญเคยเป็นชนชาติที่บุกตีเมืองอังวะจนทำให้พม่าสูญอิสรภาพในช่วงระยะเวลาหนึ่ง หากแต่การเรืองอำนาจของพระเจ้าอลองพญา ถือเป็นเคราะห์กรรมของมอญ ซึ่งนับแต่กองทัพพม่าบุกผนวกหงสาวดีได้ในปี ค.ศ. 1757 มอญกลายเป็นชนชาติที่ไร้แผ่นดิน

อนึ่ง การเผากรุงและจับกุมเชลยในครานั้น ถือเป็นตัวอย่างของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เด่นชัดในยุคจารีต ขณะที่ คำสั่งพระเจ้าอลองพญาที่สั่งประหารพระสงฆ์มอญจำนวนมากโดยให้ช้างเหยียบ ได้สะท้อนเจตจำนงของพม่าในการทำลายวัฒนธรรมมอญให้สิ้นสูญไปจากรามัญเทศะ

3. หลังได้รับเอกราชจากอังกฤษเป็นต้นมา พรรครัฐมอญใหม่ได้เรียกร้องดินแดนของชนชาติมอญจากรัฐบาลกลางพม่า ซึ่งครอบคลุมพื้นที่พม่าตอนล่างอย่างพะโค สะเทิม มะละแหม่ง ทวาย และ มะริด โดยในสมัยรัฐบาลนายพลเนวิน ได้มีการสถาปนารัฐมอญขึ้น หากแต่กลับเป็นเพียงดินแดนเล็กๆ ที่มีขอบเขตครอบคลุมแค่จังหวัดสะเทิมและมะละแหม่ง ซึ่งยังถือเป็นการจัดการปกครองที่ไม่เที่ยงธรรม เพราะฉะนั้น ชนชาติมอญจึงยังต้องต่อสู้เพื่อเรียกร้องดินแดนสืบต่อไป

จากการประเมินบทอภิปรายภายในหนังสือเล่มนี้ แม้อาจยังมีข้อโต้แย้งถกเถียงกันอยู่อีกมาก เช่น อายุความเก่าแก่ของชนชาติมอญ ว่าแท้จริงแล้ว จะนมนานกว่าชนชาติอื่นๆ มากน้อยเพียงไร หรือการให้ความหมายเกี่ยวกับทฤษฏีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งถูกนำไปอธิบายผ่านการรณรงค์สงครามในโลกสุวรรณภูมิโบราณ หรือแม้แต่ เรื่องการขอเขตปกครองของชนชาติมอญ ซึ่งมีหลายส่วนที่ทับซ้อนกับถิ่นฐานของชนชาติกะเหรี่ยงและชนชาติพม่า

กระนั้นก็ตาม หนังสือนี้ก็ได้ช่วยคลี่คลายพัฒนาการของชนชาติมอญผ่านมุมมองการต่อสู้ทางการเมืองการทหารได้อย่างแจ่มชัด พร้อมมีคุณูปการต่อการศึกษาเชิงเปรียบเทียบ โดยเฉพาะ การนำมาวิเคราะห์ร่วมกับเหตุการณ์เมื่อครั้งที่พม่าเสียกรุงจนต้องตกเป็นเบี้ยล่างของมอญ และการล่มของกรุงศรีอยุธยาในปี ค.ศ.1767 หรือราวๆ สิบปี หลังมอญเสียเมืองให้ม่าน ซึ่งคงให้ภาพความโกรธแค้นเกลียงชังต่อชนชาติที่บุกเข้ามาทำลายพระนครของรัฐผู้แพ้ในวิถีที่ไม่แตกต่างกันมากนัก


ดุลยภาค ปรีชารัชช

 

 

 

บล็อกของ ดุลยภาค

ดุลยภาค
รัฐประหารที่ส่อเค้าล้มเหลวในตุรกีล่าสุด ให้บทเรียนราคาแพงต่อวิชา "รัฐประหารศึกษา” และ "การเมืองเปรียบเทียบ" โดยเฉพาะเรื่องบทบาททหารกับการเมือง
ดุลยภาค
กล่าวโดยสรุป รัฐจารีตอุษาคเนย์ มักคุ้นชินกับเกมสังเวียนพยัคฆ์-คชสาร ซึ่งถูกจัดขึ้นเพื่อสะท้อนประสบการณ์เชิงบวก-เชิงลบต่อสัตว์พื้นเมืองทั้งสองชนิด รวมถึงใช้เพื่อส่งสัญญะ แสดงพลังข่มขู่ขับไล่ผู้รุกรานต่างถิ่น แต่ขณะเดียวกัน เกมสังเวียนประเภทนี้ ก็ถูกใช้เพื่อตอบสนองมหกรรมบันเทิงของเหล่ากษัตริย์-ขุนนาง-ประชาชน ซึ่งก็ไม่แตกต่างอะไรมากนักจากศึกสังเวียนโคลอสเซียมในจักรวรรดิโรมัน