Skip to main content

 

กระแสการพัฒนาประชาธิปไตย มักเป็นหัวข้อที่ถกเถียงกันอยู่บ่อยครั้งในแวดวงการเมืองเปรียบเทียบ โดยเฉพาะอิทธิพลของนักรัฐศาสตร์อย่าง Huntington ในงานเขียนเรื่อง 'The Third Wave: Democratization in the Late Twentieth Century' (1991) ซึ่งแบ่งลำดับช่วงของพัฒนาการประชาธิปไตยออกเป็นสามกระแสหลัก โดยคลื่นที่รุกกระทบภูมิทัศน์การเมืองโลกต่างเต็มไปด้วยการปะทะตีสลับกันไปมาระหว่างคลื่นพลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย (Democratic Transition) กับคลื่นกระแสโต้กลับ (Reverse Wave) หวนคืนสู่ระบอบเผด็จการ

สำหรับคลื่นประชาธิปไตยในประวัติศาสตร์โลก มักแบ่งออกเป็น

- คลื่นลูกที่หนึ่ง ซึ่งกินช่วงเวลาอันยาวนานนับแต่ปี ค.ศ.1828-1926 โดยมีทั้งการแพร่ระบาดของการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตย เช่น ในฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ อิตาลี และออสเตรีย พร้อมด้วยกระแสการโต้กลับที่นำไปสู่การสถาปนาพลังเผด็จการ ดังเห็นได้จากการปรากฏตัวของระบอบคอมมิวนิสต์ ระบอบฟาสซิสต์ และระบอบทหารในยุโรปและละตินอเมริกา

- คลื่นลูกที่สอง ซึ่งกินช่วงเวลาสั้นๆ ตั้งแต่ปี ค.ศ.1943-1962 โดยเห็นได้จากการสถาปนาการปกครองประชาธิปไตยในรัฐอักษะซึ่งอยู่ในสถานะปราชัยจากสงครามโลกครั้งที่สอง เช่น เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น รวมถึงการปรับใช้ระบอบประชาธิปไตยของรัฐเอกราชใหม่ในละตินอเมริกา เอเชีย และแอฟริกา ส่วนกระแสโต้กลับมักเกิดขึ้นระหว่างปี ค.ศ.1958-1975 ซึ่งเต็มไปด้วยการผุดตัวขึ้นมาใหม่ของระบอบอำนาจนิยมและการทำรัฐประหารโดยคณะผู้ปกครองทหาร

- คลื่นลูกที่สาม ที่เริ่มจากการถอนตัวออกจากการเมืองของทหารโปรตุเกส ตามด้วยกระแสการหวนคืนของรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งในรัฐต่างๆ ทั่วโลก จนกระทั่งมาถึง การพังทลายของกำแพงเบอร์ลินและการล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์จากค่ายสหภาพโซเวียตราวปี ค.ศ.1989-1991 ซึ่งนำสู่การเบ่งบานของพลังประชาธิปไตยทั้งในยุโรปตะวันออก ละตินอเมริกา เอเชีย และแอฟริกา

จากการจำแนกกระแสคลื่นประชาธิปไตยของ Huntington คำถามที่น่าสนใจอยู่ตรงที่ว่า รัฐเอเชียอาคเนย์ ยืนอยู่ตรงจุดไหนของคลื่นประวัติศาสตร์การเมืองโลก และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะสามารถผลิตกระแสเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยกับกระแสโต้กลับคืนสู่อำนาจนิยมออกมาในรูปแบบใดได้บ้าง

ต่อกรณีดังกล่าว Clark D. Neher และ Ross Marlay นักรัฐศาสตร์อเมริกันในหนังสือเรื่อง 'Democracy and Development in Southeast Asia: The Winds of Change' (1995) ได้วางรัฐเอเชียอาคเนย์เข้าไปอยู่ในกรอบทับซ้อนระหว่างช่วงปลายของคลื่นลูกที่สองกับช่วงหลังจุดสิ้นสุดของคลื่นลูกที่สาม โดยเริ่มจากปี ค.ศ.1960 ไปจนถึง 1995 หรือราวช่วงพัฒนาโครงสร้างประชาธิปไตยหลังเอกราชจากอาณานิคมตะวันตกจนกระทั่งถึงยุคหลังล่มสลายของสงครามเย็น โดย Neher และ Marlay ได้แบ่งเกณฑ์ประเมินระดับการพัฒนาประชาธิปไตยออกเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่

1. การมีส่วนร่วมของพลเมือง อาทิ การเปิดกว้างสำหรับกิจกรรมรวมกลุ่มและการจัดตั้งสมาคมทางการเมืองของประชาชน รวมถึงพลังอิสระของพรรคการเมืองในโครงสร้างระดับชาติหรือระดับท้องถิ่น

2. การแข่งขันผ่านสนามเลือกตั้ง เช่น ความสม่ำเสมอของการเลือกตั้ง ความหลากหลายของผู้สมัครเลือกตั้ง ตลอดจน ความบริสุทธิ์ยุติธรรมในกิจกรรมการเลือกตั้ง และ

3. เสรีภาพพลเมือง ซึ่งได้แก่ สภาวะอิสระในการแสดงความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองของประชาชน

สำหรับขั้นตอนถัดมา Neher และ Marlay ได้นำเกณฑ์ทั้งสามเข้าไปจำแนกโครงสร้างการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ คือ ชุดระบอบการเมือง (Political Regime) ที่แบ่งแยกย่อยออกเป็น 4 ชุดหลัก ได้แก่

1. ประชาธิปไตย (Democratic Regime) ซึ่งไม่มีรัฐใดในเอเชียอาคเนย์ (ระหว่างช่วงปี ค.ศ.1960-1995) ที่ตกอยู่ในข่ายประเภทดังกล่าว อันเป็นผลจากอิทธิพลของวัฒนธรรมการเมืองอำนาจนิยม ความผันผวนจากสภาวะสงครามกลางเมือง และลักษณะคุณภาพประชาธิปไตยที่มีความเฉพาะและต่างระดับจากกลุ่มประเทศตะวันตก

2. กึ่งประชาธิปไตย (Semi-Democratic Regime) เช่น ไทย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซียในบางช่วงสมัย ที่มีความสม่ำเสมอของการเลือกตั้ง หรือมีการเปิดกว้างเพื่อให้ประชาชนได้เข้ามามีบทบาทต่อการพัฒนาการเมือง

3. กึ่งอำนาจนิยม (Semi-Authoritarian Regime) เช่น ฟิลิปปินส์สมัยมาร์กอส อินโดนีเซียสมัยซูการ์โน-ซูฮาร์โต สิงคโปร์สมัยลีกวนยู หรือเวียดนามใต้ ลาว และกัมพูชาในช่วงสงครามกลางเมืองที่มีการแกว่งสลับไปมาระหว่างขั้วอำนาจที่นิยมเผด็จการกับประชาธิปไตย

4. อำนาจนิยม (Authoritarian Regime) ได้แก่ ระบอบทหารในไทยและพม่า ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในบรูไน และระบอบคอมมิวนิสต์ในเวียดนาม และลาว

ตลอดช่วงเวลาคาบเกี่ยวระหว่างคลื่นประชาธิปไตยลูกที่สองและสาม จะเห็นว่า รัฐอุษาคเนย์ ได้ทำหน้าที่เป็นห้องทดลองปฏิบัติการของระบอบการเมืองที่สะท้อนถึงการงัดค้างตีสลับกันไปมาระหว่างคลื่นเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยกับคลื่นโต้กลับหวนคืนสู่เผด็จการ ซึ่งพัฒนาการในบางประเทศ ได้ชี้ให้เห็นถึงสภาวะคงเส้นคงวาของระบอบการเมือง เช่น ความยาวนานของระบอบกึ่งอำนาจนิยมในอินโดนีเซียและสิงคโปร์

ขณะที่บางประเทศ คลื่นประชาธิปไตยกลับตกเป็นฝ่ายปราชัยต่อพลังเผด็จการ เช่น การรัฐประหารของนายพลเนวินเพื่อโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนอูนุในปี ค.ศ.1962 ซึ่งนำมาสู่ความแข็งแกร่งทนทานของรัฐทหารอำนาจนิยมในพม่า หรือชัยชนะของอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ในลาวและเวียดนาม ซึ่งท้ายที่สุด ได้นำมาสู่การสถาปนาอำนาจรวมศูนย์ของเผด็จการพรรคแบบเข้มข้น

ส่วนบรูไนหลังเถลิงเอกราชในปี ค.ศ.1984 ได้แสดงให้เห็นถึงพลังอันยิ่งใหญ่ของระบอบอำนาจนิยมกษัตริย์ที่สามารถยึดกุมโครงสร้างรัฐโดยปราศการรบกวนคุกคามจากคลื่นปฏิวัติประชาธิปไตย

อย่างไรก็ตาม ในมาเลเซีย สภาวะกึ่งประชาธิปไตยใต้รูปการปกครองแบบสหพันธรัฐ (federation) กลับมีกำลังสูงส่งกว่าระบอบกึ่งอำนาจนิยมและระบอบอำนาจนิยมแบบเต็มรูป ขณะที่ในฟิลิปปินส์ ระบอบกึ่งอำนาจนิยมสมัยมาร์กอสได้ถูกทลายแทนที่ด้วยโครงสร้างการเมืองแบบกึ่งประชาธิปไตย ส่วนรูปแบบพัฒนาการทางการเมืองไทย การตีโต้กันไปมาระหว่างสภาวะกึ่งประชาธิปไตยกับสภาวะอำนาจนิยมผ่านรัฐประหารของกองทัพ ได้ทำให้คลื่นเปลี่ยนผ่านกับคลื่นโต้กลับมีอานุภาพทางการเมืองที่ใกล้เคียงกัน

การจำแนกประเภทระบอบการเมืองผ่านคลื่นประวัติศาสตร์ประชาธิปไตย นับเป็นเทคนิควิเคราะห์ที่น่าสนใจในทางการเมืองเปรียบเทียบ โดยเฉพาะในกลุ่มรัฐโลกที่สามที่สภาวะฉุดกระชากกันไปมาระหว่างคลื่นประชาธิปไตยกับคลื่นเผด็จการ ยังคงมีปรากฏให้เห็นอยู่จนถึงทุกวันนี้ ซึ่งนับตั้งแต่ราวปี ค.ศ.2000 คลื่นประชาธิปไตยระลอกใหม่ได้ค่อยๆ พัดกระหน่ำเข้าใส่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกครั้ง โดยเริ่มจากประเทศไทยที่พรรคไทยรักไทยสามารถกวาดคะแนนเสียงถล่มทลายในสนามเลือกตั้ง หากแต่ก็ต้องถูกโต้กลับด้วยรัฐประหารของกองทัพในเวลาต่อมา

กระนั้น กระแสใบไม้ผลิแห่งอาหรับ (Arab Spring) กลับโหมทะยานพัดตีระบอบเผด็จการอีกครั้ง ดังเห็นได้จาก การพังทลายของผู้ปกครองอำนาจนิยมในลิเบีย อียิปต์ และเยเมน ส่วนในรัฐอุษาคเนย์ แม้จะเห็นเส้นทางเติบโตของประชาธิปไตย เช่น กรณีอินโดนีเซียที่พลังความเหนือกว่าของพลเรือน (Civilian Supremacy) ได้ค่อยๆ ทำให้กองทัพถอนตัวกลับเข้ากรมกองตามลำดับ ขณะที่พม่า ประชาธิปไตยได้ถูกสถาปนาขึ้น หากแต่ก็เป็นไปในลักษณะกึ่งอำนาจนิยมที่กองทัพยังคงมีพลังในการจัดระเบียบโครงสร้างรัฐต่อไป ส่วนในไทยและฟิลิปปินส์ การครองอำนาจของรัฐบาลอภิสิทธิ์และอาโรโย ได้แสดงให้เห็นถึงสัมพันธภาพอันใกล้ชิดระหว่างผู้นำพลเรือนกับผู้นำทหารระดับสูง

นอกจากนั้น การรัฐประหารล่าสุดในไทย กลับทำให้ระบอบอำนาจนิยมฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้งจนกลายเป็นคลื่นโต้กลับที่คอยยับยั้งกระแสการพัฒนาประชาธิปไตยของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในศตวรรษที่ 21


ดุลยภาค ปรีชารัชช


รายการอ้างอิง

Huntington, S. P. 1991. The Third Wave : Democratization in the Late Twentieth Century. Norman : University of Oklahoma Press.

Neher, C.D. and Marlay, R. 1995. Democracy and Development in Southeast Asia: The Winds of Change. London: Westview Press.

วิลาวัณย์ ยี่ทอง. 2557. กระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศโปรตุเกสและประเทศสเปน: จุดเร่ิมต้นของคลื่นลูกที่สามแห่งการพัฒนาประชาธิปไตย. วารสารการเมืองการปกครอง 4 (2): 223-240


 

บล็อกของ ดุลยภาค

ดุลยภาค
รัฐประหารที่ส่อเค้าล้มเหลวในตุรกีล่าสุด ให้บทเรียนราคาแพงต่อวิชา "รัฐประหารศึกษา” และ "การเมืองเปรียบเทียบ" โดยเฉพาะเรื่องบทบาททหารกับการเมือง
ดุลยภาค
กล่าวโดยสรุป รัฐจารีตอุษาคเนย์ มักคุ้นชินกับเกมสังเวียนพยัคฆ์-คชสาร ซึ่งถูกจัดขึ้นเพื่อสะท้อนประสบการณ์เชิงบวก-เชิงลบต่อสัตว์พื้นเมืองทั้งสองชนิด รวมถึงใช้เพื่อส่งสัญญะ แสดงพลังข่มขู่ขับไล่ผู้รุกรานต่างถิ่น แต่ขณะเดียวกัน เกมสังเวียนประเภทนี้ ก็ถูกใช้เพื่อตอบสนองมหกรรมบันเทิงของเหล่ากษัตริย์-ขุนนาง-ประชาชน ซึ่งก็ไม่แตกต่างอะไรมากนักจากศึกสังเวียนโคลอสเซียมในจักรวรรดิโรมัน