Skip to main content

 

เมียนมากำลังมีการเลือกตั้งทั่วประเทศครั้งสำคัญใน วันที่ 8 พฤศจิกายน 2558 หรืออาจราวช่วงปลายปีนี้เป็นอย่างช้า หากมีเหตุฉับพลันให้ต้องเลื่อนเวลาการเลือกตั้งออกไปก่อน แต่อย่างน้อย กิจกรรมการเมืองในครั้งนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงขั้นตอนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ ประชาธิปไตย (Democratic Transition) ที่ค่อยๆ พัฒนาขึ้นตามลำดับ

สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ มีมิติที่น่าสนใจอย่างน้อย 3 ส่วนหลัก

มิติแรก : หากพลิกดูประวัติศาสตร์การเมืองร่วมสมัยของเมียนมา นับแต่การเลือกตั้งเมื่อปลายปี 2553 ได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะสถาปนาระบอบประชาธิปไตยแบบพรรคเด่นเดียว กล่าวคือ แม้จะมีกลิ่นอายประชาธิปไตยพหุพรรคซึ่งเต็มไปด้วยการจดทะเบียนพรรคการเมืองจำนวนหลายสิบพรรค หากแต่พรรคที่ครองอำนาจนำในระบบเลือกตั้งและในโครงสร้างรัฐสภา คือ พรรคสหสามัคคีและการพัฒนา หรือ USDP (Union Solidarity and Development Party) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลที่มีสมาชิกส่วนใหญ่เป็นอดีตทหาร

ทว่า นับแต่การเลือกตั้งซ่อมในปี 2555 ที่ นางออง ซาน ซู จี สามารถกวาดที่นั่งในสภาได้เกือบทั้งหมด อาจเป็นไปได้ว่า ในสนามเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงนี้ พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy: NLD) อาจคว้าที่นั่งในสภาในอัตราส่วนที่ใกล้เคียงหรือสูงกว่าพรรค USDP จนทำให้ระบบพรรคการเมืองเมียนมา แปลงสภาพไปสู่ระบบทวิพรรคนำโดยสองพรรคการเมืองใหญ่

มิติที่สอง : การเลือกตั้งครั้งนี้ มีการชิงผู้แทนทั้งหมดมากกว่า 1,100 ที่นั่ง โดยแบ่งเขตแข่งขันออกเป็น 2 ส่วนหลัก ครอบคลุมทั้งสนามระดับชาติและระดับภูมิภาค โดยในสนามสหภาพจะประกอบด้วย 1. สภาผู้แทนราษฎร 330 ที่นั่ง ซึ่งใช้ตำบล (Township) เป็นหน่วยเลือกตั้ง โดย 1 ตำบล สามารถเลือกผู้แทนได้ 1 คน และ 2. สภาชนชาติ 168 ที่นั่ง ซึ่งในภาคพม่าแท้ทั้ง 7 แห่ง และในรัฐชาติพันธุ์อีก 7 แห่ง ซึ่งแต่ละแห่งแบ่งหน่วยเลือกตั้งออกเป็น 12 เขต (ในแต่ละภาคและแต่ละรัฐ) จึงทำให้มีผู้แทนทั้งหมด 168 ที่นั่ง (12 X 14)

ส่วนสนามภูมิภาคในระดับมลรัฐ จะมีการเลือกตั้งคณะผู้แทนสภาประจำภาคและรัฐต่างๆ ที่ใช้ตำบลเป็นหน่วยเลือกตั้ง หากแต่ใน 1 ตำบล จะเลือกผู้แทนได้ 2 ที่นั่ง จึงทำให้มีจำนวนผู้แทนทั้งสิ้นราว 660 ที่นั่ง อย่างไรก็ตาม เมื่อได้สมาชิกผู้แทนจากการเลือกตั้งในแต่ละสภา จะมีสมาชิกทหารที่ได้รับการคัดสรรจากผู้บัญชาการทหารสูงสุด เข้าไปถือกุมที่นั่งในสภาร้อยละ 25 จึงทำให้โครงสร้างสภาเมียนมาในระดับต่างๆ มีสมาชิกทั้งที่เป็นทหารและพลเรือน ผสมปนเปกันไป

มิติที่สาม : ไม่ว่าพรรคใดหรือกลุ่มอำนาจใดเป็นฝ่ายคว้าชัยชนะในศึกเลือกตั้ง 2558 ช่วงเวลานับจากวันลงคะแนนเสียงเป็นต้นมา จนถึงช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2559 จะกลายเป็นช่วงสุญญากาศทางการเมืองที่เต็มไปด้วยการเจรจาต่อรองและการหาจุดสมดุลแห่งอำนาจ

ทั้งนี้เนื่องจากราวต้นปีหน้า จะมีการตั้งคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยสมาชิกรัฐสภาระดับชาติเพื่อเลือกประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีคนใหม่ โดยสมาชิกพลเรือนจากสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกพลเรือนจากสภาชนชาติ และสภาชิกทหารจากทั้งสองสภา จะร่วมประชุมกันเพื่อส่งผู้ชิงชัยประธานาธิบดีมาอย่างละ 1 ท่าน จึงทำให้มีคู่ชิงประธานาธิบดีทั้งหมด 3 ท่าน

โดยหลังจากนั้น สมาชิกในสภาแห่งชาติทั้งหมด (ซึ่งรวมทั้งสมาชิกทหารและพลเรือนในสภาผู้แทนราษฎรกับสภาชนชาติ) จะลงคะแนนเสียงเลือกประธานาธิบดี โดยผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดจะขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ขณะที่ผู้ที่ได้เสียงสนับสนุนลดหลั่นลงมา จะเถลิงตำแหน่งเป็นรองประธานาธิบดีคนที่หนึ่ง และคนที่สอง ตามลำดับ

จากกรณีดังกล่าว จึงน่าจับตามองอย่างมากว่า ใครจะได้ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของเมียนมา โดยหากนางออง ซาน ซู จี ชนะการเลือกตั้งขึ้นมาจริงๆ ก็จะพบกับข้อตีบตันทางกฎหมาย นั่นคือ การขาดคุณสมบัติพื้นฐานของการเป็นประธานาธิบดีเนื่องจากได้สมรสและมีบุตร หลานเป็นคนต่างชาติ

ในท้ายที่สุดแล้ว นางออง ซาน ซู จี คงจำเป็นต้องต่อรองกับชนชั้นนำทหารเมียนมาท่านอื่นๆ เพื่อเฟ้นหานายทหารนักปฏิรูปให้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ ซึ่งก็อาจมีคู่เทียบคู่ชิงหลายท่าน อาทิ เต็ง เส่ง ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน และพลเอกมิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดคนล่าสุด

เพราะฉะนั้น เกมชักเย่ออำนาจระหว่างสมาชิกพลเรือนกับสมาชิกทหาร จึงอาจเข้มข้นเขม็งเกลียวขึ้นเรื่อยๆ โดยหากกระบวนการเลือกประธานาธิบดีคนใหม่ ยังคงยืดเยื้อ ก็มิแน่ว่า การก้าวขึ้นสู่อำนาจของผู้นำประเทศคนใหม่พร้อมการก่อรูปของสถาบันการเมืองอื่นๆ เช่น คณะรัฐมนตรีทั้งในระดับส่วนกลางและระดับภูมิภาค ซึ่งจำเป็นต้องพึ่งอำนาจแต่งตั้งจากประธานาธิบดี อาจจะลากยาวค้างเติ่งลงมาจนถึงช่วงกลางปี 2559 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงสภาวะผันผวนต่อรองของอำนาจรัฐเมียนมาในช่วงระยะเปลี่ยนผ่านทางการเมือง


ดุลยภาค ปรีชารัชช

เผยแพร่ครั้งแรกที่ ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ วันที่ 21 ต.ต.2558
 

 

 

บล็อกของ ดุลยภาค

ดุลยภาค
รัฐประหารที่ส่อเค้าล้มเหลวในตุรกีล่าสุด ให้บทเรียนราคาแพงต่อวิชา "รัฐประหารศึกษา” และ "การเมืองเปรียบเทียบ" โดยเฉพาะเรื่องบทบาททหารกับการเมือง
ดุลยภาค
กล่าวโดยสรุป รัฐจารีตอุษาคเนย์ มักคุ้นชินกับเกมสังเวียนพยัคฆ์-คชสาร ซึ่งถูกจัดขึ้นเพื่อสะท้อนประสบการณ์เชิงบวก-เชิงลบต่อสัตว์พื้นเมืองทั้งสองชนิด รวมถึงใช้เพื่อส่งสัญญะ แสดงพลังข่มขู่ขับไล่ผู้รุกรานต่างถิ่น แต่ขณะเดียวกัน เกมสังเวียนประเภทนี้ ก็ถูกใช้เพื่อตอบสนองมหกรรมบันเทิงของเหล่ากษัตริย์-ขุนนาง-ประชาชน ซึ่งก็ไม่แตกต่างอะไรมากนักจากศึกสังเวียนโคลอสเซียมในจักรวรรดิโรมัน