Skip to main content

 

เหตุระเบิดใจกลางกรุงจาการ์ตา เมื่อวันที่ 14 มกราคมที่ผ่านมา ได้สร้างปริศนาชิ้นสำคัญเกี่ยวกับภูมิทัศน์ความมั่นคงและระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โจทย์ที่น่าขบคิด คงไม่ใช่เรื่องร้านกาแฟสตาร์บัคส์และศูนย์การค้าชาริน่า ซึ่งเป็นทำเลทองในการสร้างความน่าสะพรึงกลัวในระดับนานาชาติ หรือเรื่องคะแนนนิยมของประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ที่สัมพันธ์กับการดำเนินนโยบายต่อต้านการก่อการร้าย

หากแต่ประเด็นสำคัญ น่าจะเป็นเรื่องของสมรรถนะกลุ่มติดอาวุธ ซึ่งอาจสร้างแรงสั่นสะเทือนอย่างลึกซึ้งต่อความเปลี่ยนแปลงด้านความมั่นคงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในยุคโลกาภิวัฒน์ เราปฏิเสธไม่ได้ว่า กลุ่มติดอาวุธ (Armed Groups) ซึ่งจำแนกคร่าวๆ ออกเป็น กลุ่มก่อการร้าย (Terrorists) กลุ่มก่อความไม่สงบ (Insurgencies) ขุนศึก (Warlords) หรือแม้กระทั่ง กลุ่มอาชญากรติดอาวุธ (Armed Criminals) ได้ขยับขึ้นเป็นหน่วยวิเคราะห์ทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในระดับที่ใกล้เคียงกับรัฐไปเรียบร้อยแล้ว

ขณะเดียวกัน ตัวแสดงที่มิใช่รัฐเหล่านี้ยังมีสมรรถนะในการทำสงครามภายในและการทำสงครามระหว่างประเทศ รวมถึงมีการจัดองค์กรที่ครอบคลุมหน่วยดินแดนและประชากรจำนวนมากจนทำให้เกิด "อธิปไตยเชิงพฤตินัย” หรือ "De facto Sovereignty” ที่ส่งผลต่อการผลิตภาพภูมิทัศน์การเมืองโลกที่แตกต่างผิดแผกออกไปจากแผนที่ภูมิศาสตร์ในชีวิตประจำวันซึ่งมักแสดงแต่เพียงรูปร่างรัฐผ่าน "อธิปไตยเชิงนิตินัย” หรือ "De jure Sovereignty”

จากนัยสำคัญที่กล่าวไป คำถามชวนคิดจึงอยู่ที่ว่า เหตุวินาศกรรมจาการ์ตา สามารถให้แง่มุมหรือข้อพึงระวังอะไรได้บ้างเกี่ยวกับภูมิทัศน์การเมืองและความมั่นคงเอเชียอาคเนย์ คำตอบอาจมีหลากหลาย แต่สำหรับผม คิดว่าการทบทวนเครือข่ายก่อการร้ายที่ฝังตัวอยู่ในภูมิภาคอาเซียนพร้อมค้นหาจุดเชื่อมโยงซึ่งสัมพันธ์กับแนวคิดเรื่องอธิปไตยและภูมิศาสตร์การเมือง น่าจะให้ภาพที่ลุ่มลึกและเป็นประโยชน์

หากพลิกดูภูมิหลังการก่อการร้ายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่า อินโดนีเซีย คือ กองบัญชาการหรือฐานยุทธศาสตร์หลักของกลุ่มเจไอ หรือ เจมาห์ อิสลามียะห์ (Jamah Islamiyah/ JI) ซึ่งเคยก่อวินาศกรรมที่เกาะบาหลีเมื่อหลายปีก่อน พร้อมเป็นกลุ่มก่อการร้ายที่ทรงอิทธิพลที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ความน่าสะพรึงกลัวของเจไอ คงมิได้อยู่ที่ความเชื่อมโยง (ในระดับโลก) กับกลุ่มไอเอส (ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้ก่อเหตุ) หรือกับกลุ่มอัลไคด้าเพียงอย่างเดียว หากแต่กลับอยู่ที่ฐานเครือข่ายของเจไอเอง ที่เชื่อมโยงกับกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ ในอาเซียน อาทิ กลุ่มลักซ์การ์ จิฮัด และอาเจะห์ในอินโดนีเซีย กลุ่มอาบูไซยาฟและแนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโรในฟิลิปปินส์ หรือกลุ่มกัมปูลัน มูญาฮีดีนในมาเลเซีย

ขณะเดียวกัน แผนการสถาปนามหารัฐอิสลามบริสุทธ์ (ดอเลาะ อิสลามิยะห์ นุสันตารา) ของเจไอ ภายใต้หลักปกครองกฏหมายชาริอะห์ พร้อมจินตภาพแนวอาณาเขตที่หมายครอบคลุมดินแดนของอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน ฟิลิปปินส์ตอนใต้ กัมพูชาตอนใต้ ตลอดจนบางส่วนของประเทศไทย ยังเป็นอีกหนึ่งปริศนาที่ชี้ชวนให้เกิดคำถามสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์การเมืองการทหาร ยกตัวอย่างเช่น หากกลุ่มไอเอสเข้าไปพัฒนาสัมพันธ์กับเจไอ แล้วใช้พื้นอุดมการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ของเจไอที่เน้นการผลิตหน่วยดินแดนและประชากรขนาดใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือใช้ฐานเครือข่ายที่โยงใยเชื่อมโยงกับกลุ่มติดอาวุธหรือกลุ่มก่อการร้ายอื่นๆ ในภูมิภาค ทั้งรัฐและสังคมเอเชียอาคเนย์จะรับมืออย่างไรต่อสมรรถนะการโจมตีและการก่อวินาศกรรมที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มก่อการร้าย

ในอีกแง่มุมหนึ่ง หากอธิปไตยเชิงกฎหมาย อาทิ อาณาเขตแห่งรัฐที่ได้รับการรับรองตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรืออำนาจอิสระของรัฐในการบริหารจัดการความมั่นคงภายในดินแดนแห่งตน กลับค่อยๆ ถูกท้าทายแทรกแซงจากอำนาจอธิปไตยเชิงประจักษ์ของกลุ่มติดอาวุธต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เขตอิทธิพลของกลุ่มติดอาวุธตามท้องที่ภูมิศาสตร์ (อย่าง กลุ่มโมโรทางภาคใต้ของฟิลิปปินส์ หรือ กลุ่มติดอาวุธอื่นๆ ในเกาะชวา สุมาตรา บอร์เนียวและมาลูกู)

รวมถึง พลังอำนาจที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มติดอาวุธ ทั้งในแง่ของการระดมทุน การขยายมวลชน การสะสมอาวุธ และ การดำเนินนโยบายการทูตแบบไม่เป็นทางการ ตลอดจน การหันมาพัฒนาสัมพันธ์ภายในกลุ่มติดอาวุธด้วยกันเอง เช่น การติดต่อแลกเปลี่ยนเชิงยุทธศาสตร์และยุทธวิธีระหว่างกลุ่มผู้ก่อการร้ายกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ หรือระหว่างกลุ่มผู้ก่อการร้ายกับขุนศึกชายแดนและอาชญากรท้องถิ่น

คำถามที่น่าคิดต่อ คือ เราจะจัดวางระเบียบภูมิศาสตร์การเมืองระหว่างอธิปไตยเชิงกฎหมายกับอธิปไตยเชิงประจักษ์ อย่างไร และเราจะดำเนินชีวิตแบบไหนท่ามกลางระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่กลุ่มติดอาวุธค่อยๆ กลายเป็นผู้ถือดุลอำนาจซึ่งเริ่มมีอัตรากำลังใกล้เคียงกับรัฐมากขึ้น

ครับ โจทย์เหล่านี้ คือ ประเด็นท้าทายที่ส่งผลสะเทือนต่อระบบนานาชาติและระบบการทูตภายในภูมิภาค

ในแง่ทฤษฏีการเมืองระหว่างประเทศ แนวคิดสัจนิยมใหม่ หรือ Neorealism ที่เคยมองพฤติกรรมรัฐอันสัมพันธ์กับโครงสร้างการเมืองโลกจนทำให้เกิดรูปแบบเชิงอำนาจที่ซับซ้อน อาทิ ระบบขั้วอำนาจเด่นเดียว ระบบสองขั้วอำนาจและระบบพหุอำนาจ มาถึงทุกวันนี้ กลุ่มติดอาวุธ โดยเฉพาะกลุ่มก่อการร้ายสามารถแปลงสภาพเป็นหน่วยวิเคราะห์อิสระ (ใต้กรอบทฤษฏีสัจนิยมใหม่) ที่มีทั้งขีดพลังภายในองค์กร แนวทางการกำหนดนโยบายต่างประเทศ และการส่งออกอิทธิพลต่อระบบระหว่างประเทศในระดับที่ใกล้เคียงสูสีกับรัฐ หรือไม่ก็อาจจะมากกว่ารัฐขนาดเล็กและรัฐขนาดกลางบางรัฐบนเวทีโลกเสียอีก

ในอีกทางหนึ่ง ขีดระดับอธิปไตยที่พุ่งทะยานขึ้นของกลุ่มติดอาวุธทั้งในแง่การควบคุมแนวร่วมประชากรและการควบคุมดินแดน หรือการบริหารจัดการองค์กรที่มีทั้งการสร้างเซลล์เครือข่ายของกลุ่มก่อการร้ายซึ่งมีสมรรถนะเชิงปฏิบัติการที่แพร่กระจายไปรอบโลกหรือลักษณะการจัดสายบังคับบัญชากำลังพลและระบบบริหารของกลุ่มก่อความไม่สงบที่ดูจะคล้ายคลึงกับแบบจำลองระบบราชการของรัฐมากขึ้นทุกที ก็ล้วนเผยให้เห็นถึงกำลังวังชาและสมรรถนะของกลุ่มติดอาวุธที่สามารถสร้างแรงกระเพื่อมตลอดจนสร้างภัยคุกคามต่อเสถียรภาพและความมั่นคงของรัฐได้อย่างเอกอุ

ฉะนั้นแล้ว เมื่อภูมิศาสตร์การเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของกลุ่มติดอาวุธ เริ่มมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในระบบโลก ทั้งรัฐและสังคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมที่แปรเปลี่ยนไป ได้ดีแค่ไหน อย่างไร

เหตุวินาศกรรมที่จาการ์ตา เป็นสัญญาณเตือนที่น่าใคร่ครวญพิจารณายิ่งนัก


ดุลยภาค ปรีชารัชช

 

บล็อกของ ดุลยภาค

ดุลยภาค
รัฐประหารที่ส่อเค้าล้มเหลวในตุรกีล่าสุด ให้บทเรียนราคาแพงต่อวิชา "รัฐประหารศึกษา” และ "การเมืองเปรียบเทียบ" โดยเฉพาะเรื่องบทบาททหารกับการเมือง
ดุลยภาค
กล่าวโดยสรุป รัฐจารีตอุษาคเนย์ มักคุ้นชินกับเกมสังเวียนพยัคฆ์-คชสาร ซึ่งถูกจัดขึ้นเพื่อสะท้อนประสบการณ์เชิงบวก-เชิงลบต่อสัตว์พื้นเมืองทั้งสองชนิด รวมถึงใช้เพื่อส่งสัญญะ แสดงพลังข่มขู่ขับไล่ผู้รุกรานต่างถิ่น แต่ขณะเดียวกัน เกมสังเวียนประเภทนี้ ก็ถูกใช้เพื่อตอบสนองมหกรรมบันเทิงของเหล่ากษัตริย์-ขุนนาง-ประชาชน ซึ่งก็ไม่แตกต่างอะไรมากนักจากศึกสังเวียนโคลอสเซียมในจักรวรรดิโรมัน