Skip to main content




อินเดียถือเป็นรัฐมหาอำนาจที่ทรงบทบาทต่อเวทีการเมือง-ความมั่นคงเอเชีย ในเชิงภูมิยุทธศาสตร์เปรียบเทียบ (Comparative Geo-Strategy) หากนำอินเดียไปเทียบกับสหรัฐ รัสเซียและจีน เราอาจเห็นความแตกต่างบางประการ

ขณะที่อาณาเขตซึ่งตั้งประชิดทั้งมหาสมุทรแอตแลนติกและแปซิฟิก พร้อมเพื่อนบ้าน (แคนาดา-เม็กซิโก) ที่มีอำนาจคุกคามทางบกในระดับต่ำ สหรัฐอเมริกา นับเป็นรัฐที่กุมความได้เปรียบในการพัฒนาแสนยานุภาพทางทะเล ส่วนรัสเซียคือรัฐที่ทรงพลังในการรบภาคพื้นทวีป โดยผืนทะเลน้ำแข็งในเขตอาร์กติก ส่งผลให้รัสเซียมุ่งเน้นการพัฒนากองเรือเฉพาะบางจุดตรงย่านทะเลน้ำอุ่น โดยเฉพาะแถบทะเลดำหรืออ่าวคัมรานห์ในเวียดนาม (หากแต่กองเรือรัสเซียก็ยังไม่มีการก่อตัวของฐานทัพที่มีลักษณะกระจายตัวไปรอบโลกเหมือนสหรัฐ)

สำหรับจีน ชายแดนบกที่ถูกล้อมประชิดด้วยรัฐเพื่อนบ้านจำนวนมาก พร้อมทรัพยากรและยุทธศาสตร์เดินเรือในทะเลจีนใต้ ทำให้จีนมีการปฏิรูปพลังนาวิกานุภาพในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับอำนาจทางบกมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนอินเดีย ถือเป็นรัฐที่สะท้อนความพิเศษทางภูมิยุทธศาสตร์ อินเดียคงไม่ต่างอะไรกับจีนในแง่ดินแดนพื้นทวีปที่มักถูกคุกคามบางส่วนจากเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะสนามหิมาลัยซึ่งเป็นเขตประจัญหน้าระหว่างอินเดีย ปากีสถานและจีน หากแต่ด้วยสัณฐานภูมิศาสตร์ที่หันหน้าชนทั้งทะเลอาระเบียและทะเลอันดามัน พร้อมการค้นพบน้ำมัน-ก๊าซธรรมชาติ รวมถึงกิจกรรมพาณิชนาวีที่คึกคักขึ้นในอ่าวเบงกอล กองทัพแห่งชาติอินเดียจึงเร่ิมให้ความสำคัญกับการพัฒนาแสนยานุภาพทางเรืออย่างสืบเนื่อง

ในโลกทัศน์ความมั่นคงอินเดีย หนึ่งในเขตยุทธศาสตร์ที่สัมพันธ์กับผลประโยชน์แห่งชาติ คือ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งสังเกตได้จากอาณาเขตทางทะเลของอินเดียที่ขยายชนทั้งเมียนมา ไทยและอินโดนีเซีย หรือ ฐานทัพเรือในกัลกัตตา วิสาขปัตนัม และพอร์ทแบลร์ในย่านหมู่เกาะอันดามัน-นิโคบาร์ ซึ่งมักมีรัศมีปฏิบัติการทางทะเลที่ครอบคลุมผืนน้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะเดียวกัน เพื่อเสริมประสิทธิภาพของนโยบายมุ่งสู่ตะวันออก (Look East Policy) การพัฒนาอำนาจทางทะเลย่อมเป็นหลักประกันให้การพัวพันทางเศรษฐกิจ การเมือง ความมั่นคงระหว่างอินเดียกับอาเซียน เต็มไปด้วยความราบรื่นและตอบสนองผลประโยชน์ของอินเดีย

ในอีกมุมหนึ่ง K.M.Panikkar นักการทูตและนักประวัติศาสตร์อินเดียชื่อดัง ได้เคยเปรียบช่องแคบมะละกาว่ามีสัณฐานคล้ายคลึงกับปากจระเข้ โดยใครก็ตามที่สามารถควบคุมช่องแคบดังกล่าว ย่อมมีความได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์ในการคุกคามอินเดีย ขณะเดียวกัน Robert Kaplan ในหนังสือเรื่อง Monsoon Asia ก็ได้ระบุนัยสำคัญของอ่าวเบงกอลในฐานะชุมทางการค้าในศตวรรษที่ 21 ซึ่งการเติบโตของฐานทัพและอู่ชายทะเลยุทธศาสตร์อินเดีย ย่อมส่งผลกระทบต่อโครงสร้างภูมิรัฐศาสตร์โลก รวมถึงมีผลต่อพลังอำนาจทางทะเลของสหรัฐอเมริกาในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ส่วน Desmond Ball นักวิชาการด้านความมั่นคงเอเชีย ก็ได้เคยเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการติดตั้งสถานีข่าวกรองสัญญาณ (Signal Intelligence) บนเกาะโคโค้ของเมียนมาในยุครัฐบาลทหารตานฉ่วยที่ได้รับการสนับสนุนจากจีน โดยเหตุการณ์ดังกล่าว ได้กระตุ้นให้อินเดียกระทำการตอบโต้ด้วยการสถาปนากองทัพเรือภาคตะวันออกไกลแห่งใหม่ที่พอร์ทแบลร์ ซึ่งถือเป็นการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ทางทะเลเพื่อถ่วงดุลจีน

ฉะนั้น คงมิเกินเลยนัก หากกล่าวว่า อินเดียคือรัฐมหาอำนาจเอเชียที่เริ่มส่งอิทธิพลต่อระบบความมั่นคงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะการประลองกำลังกับจีน การกระชับสัมพันธ์กับสหรัฐ ตลอดจนแนวโน้มการเติบโตรุ่งเรืองของอ่าวเบงกอลที่สัมพันธ์กับกิจกรรมการทูตทหารเรือ (Naval Diplomacy) ของกองทัพอินเดียที่เร่ิมจะพุ่งทะยานขึ้นเรื่อยๆบนเวทีความมั่นคงเอเชียอาคเนย์

 

 

บล็อกของ ดุลยภาค

ดุลยภาค
รัฐประหารที่ส่อเค้าล้มเหลวในตุรกีล่าสุด ให้บทเรียนราคาแพงต่อวิชา "รัฐประหารศึกษา” และ "การเมืองเปรียบเทียบ" โดยเฉพาะเรื่องบทบาททหารกับการเมือง
ดุลยภาค
กล่าวโดยสรุป รัฐจารีตอุษาคเนย์ มักคุ้นชินกับเกมสังเวียนพยัคฆ์-คชสาร ซึ่งถูกจัดขึ้นเพื่อสะท้อนประสบการณ์เชิงบวก-เชิงลบต่อสัตว์พื้นเมืองทั้งสองชนิด รวมถึงใช้เพื่อส่งสัญญะ แสดงพลังข่มขู่ขับไล่ผู้รุกรานต่างถิ่น แต่ขณะเดียวกัน เกมสังเวียนประเภทนี้ ก็ถูกใช้เพื่อตอบสนองมหกรรมบันเทิงของเหล่ากษัตริย์-ขุนนาง-ประชาชน ซึ่งก็ไม่แตกต่างอะไรมากนักจากศึกสังเวียนโคลอสเซียมในจักรวรรดิโรมัน