Skip to main content

 

สาเหตุที่คนอีสานโหวตโน (ในประชามติที่ผ่านมา) คงอธิบายได้หลายแง่มุม เช่น การวิเคราะห์เชิงรัฐศาสตร์ผ่านฐานคะแนนเสียงพรรคเพื่อไทย และ เขตมวลชน นปช. ซึ่งมีลักษณะแผ่คลุมทั่วภูมิทัศน์การเมืองอีสาน หรือ กรณีโหวตเยสของบางจังหวัด เช่น นครราชสีมาซึ่งเป็นบ้านเกิดพลเอกประยุทธ์และเป็นที่ตั้งกองบัญชาการกองทัพภาคที่สอง

ทว่า หากพินิจผ่านมิติประวัติศาสตร์-วัฒนธรรม อาจเป็นไปได้อยู่บ้างที่รูปอาณาเขตของกลุ่มจังหวัดที่โหวตโนนั้น แท้จริงแล้ว คือ ภาพสะท้อนของเขตวงศ์ชาติพันธุ์แบบ "ลาวพุงขาว"

ลาวพุงขาว คือ ประชากรเชื้อสายลาวที่อยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงตลอดพื้นที่ทั่วฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง

อนึ่ง ลาวพุงขาว เป็นคำเรียกกลุ่มคนที่สักขาตั้งแต่ใต้เข่าหรือเหนือเข่าขึ้นไปจนถึงต้นขา แต่ไม่นิยมสักเลยขึ้นมาถึงพุงหรือเอว จึงยังคงมองเห็นผิวส่วนพุงเป็นเนื้อขาวๆอยู่ ซึ่งถือเป็นวัฒนธรรมสักลายของชาวล้านช้างสองฝั่งโขงมาแต่ครั้งโบราณกาล

ในช่วงแรกของการปฏิรูปการปกครองสมัยรัชกาลที่ห้าผ่านระบบมณฑลเทศาภิบาล ได้มีการแบ่งหัวเมืองลาวพุงขาวออกเป็น "ลาวพวน" กับ "ลาวกาว" (ซึ่งน่าจะเพี้ยนมาจาก "ลาวเก่า") ขณะที่หัวเมืองที่มีระยะทางใกล้กรุงเทพหรือมีประชากรเชื้อสายสยาม/ไทยอาศัยอยู่ เช่น โคราช ถูกเรียกว่า "มณฑลลาวกลาง"

มณฑลลาวพวน ประกอบด้วยเมืองใหญ่ เช่น อุดรธานี ขอนแก่น เลย สกลนคร หนองคาย นครพนม

มณฑลลาวกาว ประกอบด้วยเมืองใหญ่ อาทิ อุบลราชธานี ยโสธร ศรีสะเกษ สุรินทร์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม กาฬสินธุ์

มณฑลลาวกลาง ประกอบด้วยสามเมืองหลัก คือ นครราชสีมา บุรีรัมย์และชัยภูมิ

จากการเทียบเขตโคตรวงศ์ลาวพวน-ลาวกาว เข้ากับ เขตคะแนนคว่ำร่างรัฐธรรมนูญในภาคอีสาน พบว่า มีลักษณะประกบร่องหรือทาบสนิทกันเป็นส่วนใหญ่

ฉะนั้น จึงพออนุมานคร่าวๆ ได้ว่า พฤติกรรมโหวตโนของคนอีสาน อาจได้รับอิทธิพลมาจากแนวลอยเลื่อนภูมิประวัติศาสตร์ (Geo-Historical Fault line) ชนิด "ลาวพุงขาว" ซึ่งถือเป็นการสำแดงอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ที่ซ่อนตัวอยู่เบื้องหลังวัฒนธรรมการเมืองอีสาน

แต่อย่างไรก็ตาม คำอธิบายนี้ อาจมีข้อยกเว้นในบางกรณี เช่น พฤติกรรมโหวตเยสของจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นถิ่นโคตรวงศ์แบบลาวพุงขาวผสมเขมร ทว่า ประวัติเมืองอุบลในอดีต มักแสดงให้เห็นถึงการโน้มตัวเข้าหาแกนกลางสยาม เช่น ท่าทีของพระวอพระตาฯ ที่แสดงความภักดีต่อพระเจ้ากรุงธนบุรี หรือ พระกรณียกิจของพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ซึ่งเคยทรงปกครองมณฑลลาวกาวโดยใช้เมืองอุบลเป็นกองบัญชาการหลัก ตลอดจนมีพระดำริตั้งโรงเรียนฝึกหัดข้าราชการ พัฒนากองตำรวจภูธร และปราบกบฏผีบุญอย่างรุนแรง จนทำให้ฝ่ายปกครองประจำจังหวัดอุบลราชธานี (เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัดและตำรวจ) มักแสดงมาตรการเข้มงวดต่อกลุ่มการเมืองที่ถูกตีความว่าเป็นฝ่ายปฏิปักษ์ต่อความมั่นคงรัฐ

ส่วนเมืองนครราชสีมาและบุรีรัมย์ คือ กรณีเบี่ยงเบนที่สะท้อนร่องรอยอารยธรรมเขมรชั้นสูง (ปราสาทหินพิมาย พนมวัน พนมรุ้ง) ตลอดจนหน่วยดินแดนที่ได้รับอิทธิพลการเมืองจากฝ่ายสยามภาคกลาง (มากกว่าลาวพุงขาว) ตัวอย่างเด่นชัด ได้แก่ การผุดตัวขึ้นมาของชุมนุมเจ้าพิมายหลังยุคล่มอยุธยาที่มีเขตอิทธิพลแตะคลุมหัวเมืองลุ่มน้ำมูลตอนต้นแถบโคราชและอาจถึงบางส่วนของบุรีรัมย์ โดยชุมนุมดังกล่าว มีนโยบายการเมืองที่ตอบรับเชิดชูพระบารมีกรมหมื่นเทพพิพิธ (อดีตเจ้านายเชื้อสายราชวงศ์บ้านพลูหลวง) เพื่อสร้างความชอบธรรมทางการเมืองและผูกสายใยอำนาจร่วมกับดินแดนสยามแกนกลาง

สรุป แม้ทฤษฏีแผ่นลอนเลื่อนชนิดลาวพุงขาว จะเป็นเพียงแค่แนวคิดของผู้เขียนที่จำเป็นต้องได้รับการอธิบายร่วมกับมิติอื่นๆ รวมถึงต้องมีการขุดข้นหลักฐานในอดีตเพื่อสนับสนุนข้อโต้แย้งดังกล่าว ทว่า ผู้เขียนก็เชื่อมั่นว่า ลอยเลื่อนชนิดนี้นี่เองที่พรางตัวซ่อนรูปอยู่เบื้องหลังวัฒนธรรมการเมืองอีสานอย่างแนบแน่นและล้ำลึก

 

 

ฉะนั้น เขตโคตรวงศ์ลาวพุงขาว จึงมิใช่แค่เขตลอยเลื่อนธรรมดา หากแต่เป็นปมเขื่องอัศจรรย์ที่สามารถอธิบายรูปพรรณสัณฐาน นิสัยใจคอ ตลอดจนแนวคิดการเมืองของคนอีสานได้อย่างพิเศษพิสดาร

ดุลยภาค ปรีชารัชช

บล็อกของ ดุลยภาค

ดุลยภาค
รัฐประหารที่ส่อเค้าล้มเหลวในตุรกีล่าสุด ให้บทเรียนราคาแพงต่อวิชา "รัฐประหารศึกษา” และ "การเมืองเปรียบเทียบ" โดยเฉพาะเรื่องบทบาททหารกับการเมือง
ดุลยภาค
กล่าวโดยสรุป รัฐจารีตอุษาคเนย์ มักคุ้นชินกับเกมสังเวียนพยัคฆ์-คชสาร ซึ่งถูกจัดขึ้นเพื่อสะท้อนประสบการณ์เชิงบวก-เชิงลบต่อสัตว์พื้นเมืองทั้งสองชนิด รวมถึงใช้เพื่อส่งสัญญะ แสดงพลังข่มขู่ขับไล่ผู้รุกรานต่างถิ่น แต่ขณะเดียวกัน เกมสังเวียนประเภทนี้ ก็ถูกใช้เพื่อตอบสนองมหกรรมบันเทิงของเหล่ากษัตริย์-ขุนนาง-ประชาชน ซึ่งก็ไม่แตกต่างอะไรมากนักจากศึกสังเวียนโคลอสเซียมในจักรวรรดิโรมัน