Skip to main content

รัฐเมียนมาอยู่ในช่วง "Praetorian Transition" หรือ การเปลี่ยนผ่านอำนาจชนชั้นนำทหารซึ่งกินเวลาราวๆ 55 ปี นับแต่รัฐประหารโดยนายพลเนวินเมื่อปี ค.ศ. 1962 จนถึงปัจจุบัน

Robert Taylor ปรมาจารย์การเมืองเมียนมา เคยกล่าวว่า แผนการเปลี่ยนผ่านระบอบการเมืองจาก "เสนาธิปัตย์" (Praetorianism) มาสู่ "ประชาธิปไตยแบบมีระเบียบวินัยที่กำลังจะเบ่งบาน" (Flourishing Disciplined Democracy) เกิดขึ้นตั้งแต่ครากองทัพทำรัฐประหารยุติภาวะจลาจลในปี ค.ศ. 1988 โดยทุกครั้งที่ทหารเมียนมาแทรกแซงการเมืองมักจะอ้างเสมอว่าตนเป็นเพียงรัฐบาลชั่วคราวที่เข้ามารักษาเสถียรภาพแห่งรัฐเท่านั้น ทว่า คำว่า "ชั่วคราว" หรือ "รักษาการณ์" ของทหารเมียนมา ก็กินเวลาเข้าไปถึง 20 ปี เช่น อายุขัยรัฐบาลเนวินซึ่งตกอยู่ราว 26 ปี (1962-1988) และอายุขัยรัฐบาลตานฉ่วย ราว 19 ปี (1992-2011)


พลเอกอาวุโสตานฉ่วย (คนกลางภาพ)

เมียนมาระยะเปลี่ยนผ่านที่เห็นๆ กันอยู่ทุกวันนี้ คือ ผลผลิตทางยุทธศาสตร์ของพลเอกอาวุโสตานฉ่วยซึ่งปกครองประเทศด้วยระบอบอำนาจนิยมทหาร หากแต่ก็ตัดสินใจกดปุ่มเซ็ตกระบวนการแปลงสัณฐานรัฐผ่านแผนโรดแมป 7 ขั้น ทั้งร่างรัฐธรรมนูญ ทำประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ เลือกตั้ง และการจัดตั้งสถาบันการเมืองใหม่ พร้อมพัฒนารัฐให้ทันสมัยบนเงื่อนไขที่ว่ากองทัพยังคงมีบทบาทนำในการเมืองระดับชาติและสามารถแทรกตัวเข้าไปอยู่ในกลไกบริหารปกครองรัฐได้ทุกระดับ

ผลที่ตามมา คือ "ประชาธิปไตยอำนาจนิยมใต้เงาเสนาธิปัตย์" ซึ่งในช่วงต้นปี 2011 นายพลตานฉ่วย ประธานสภาทหาร (SPDC) ได้จับมือกับนายพลหม่องเอ ผบ.ทบ. ถอนตัวออกจากระบบการเมืองใหม่ แล้วหันไปดันนายพลเต็งเส่งและธุระฉ่วยมานขึ้นคุมแผงบริหารรัฐและนิติบัญญัติ แต่ทว่า สำหรับการปกครองกองทัพ มินอ่องหล่าย ถูกสถาปนาขึ้นเป็น ผบ.สส. คนใหม่ พร้อมต่ออายุราชการเป็น ผบ.สส. สองสมัยซ้อน หรือพูดอีกแง่คือมินอ่องหล่ายจะกินตำแหน่งราว 10 ปี นับแต่ครารัฐบาลเต็งเส่งไปจนถึงการสิ้นสุดอายุบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล NLD ที่นำโดยติ่นจ่อ-ซูจี


พลเอกอาวุโสมินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเมียนมา

จริงอยู่ แม้ทหารเมียนมาจะเปลี่ยนบทบาทจาก "Direct Ruler" มาเป็น "Indirect Ruler" ซึ่งสะท้อนการลดระดับลงของอิทธิพลทหารในทางการเมือง กระนั้น อายุขัยของเสนาธิปัตย์เมียนมาที่ลากยาวกว่า 55 ปี ก็คงทำให้ "The Man on Horseback" ยังคงฝังรากลึกสถิตอยู่ในโครงสร้างสังคมการเมืองเมียนมาสืบไป

สำหรับทหารไทย ก็กำลังอยู่ในช่วง "Praetorian Transition" เช่นกัน ดังเห็นได้จากโรดแมปของ คสช. ซึ่งมีลู่วิ่งคล้ายคลึงกับกรณีเมียนมา การแปลงสัณฐานรัฐไทยครานี้ เข้าหลักรัฐศาสตร์ที่ว่า หากชนชั้นนำทหารมิได้ถูกกดดันอย่างหนักหน่วงจากพลังประท้วงประชาธิปไตย สงครามกลางเมือง การแทรกแซงจากมหาอำนาจ หรือความแตกแยกเปราะบางของขั้วอำนาจภายในกองทัพ เมื่อนั้น ทหารผู้ปกครองจะเป็นผู้ตัดสินใจเองว่าตนจะถอนตัวกลับเข้ากรมกองเวลาใด และยังสามารถผลิตสูตรการเมืองใหม่เพื่อให้กองทัพมีบทบาทนำในระยะเปลี่ยนผ่าน

อาจเว้นเสียแต่ปัจจัยฝืดเคืองทางเศรษฐกิจที่มีผลต่อการล่มสลายของระบอบอำนาจนิยมแบบฉับพลัน แต่ถ้าหาก คสช. ยังสามารถประคับประคองประวิงเวลาสืบไป คล้ายๆ กับทหารเมียนมา ผลลัพธ์การเมืองไทย คงหนีไม่พ้น "Authoritarian Democracy under Praetorian Shadow"  ซึ่งเป็นระบอบพันทาง (Hybrid Regime) ที่พบเห็นได้ทั่วไปในกระบวนการแปลงสัณฐาน (Metamorphosis) ของพลังอำนาจนิยมในรัฐกำลังพัฒนาทางแถบเอเชีย แอฟริกาและละตินอเมริกา


ดุลยภาค ปรีชารัชช

 

 

 

บล็อกของ ดุลยภาค

ดุลยภาค
โจทย์สำคัญของสถาบันกองทัพที่สิงสถิตอยู่ในสังคมอันเต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลาย ว่าสุดท้ายแล้ว กระบวนการปฏิรูปการเมืองของประเทศ กับ การปฏิรูปภาคทหารของกองทัพ จะดำเนินควบคู่ไปกับการปฏิรูปทางสังคมที่ตั้งอยู่บนฐานความยุติธรรมและสันติวิธี ได้มากน้อยเพียงไร