Skip to main content

รัฐเมียนมาอยู่ในช่วง "Praetorian Transition" หรือ การเปลี่ยนผ่านอำนาจชนชั้นนำทหารซึ่งกินเวลาราวๆ 55 ปี นับแต่รัฐประหารโดยนายพลเนวินเมื่อปี ค.ศ. 1962 จนถึงปัจจุบัน

Robert Taylor ปรมาจารย์การเมืองเมียนมา เคยกล่าวว่า แผนการเปลี่ยนผ่านระบอบการเมืองจาก "เสนาธิปัตย์" (Praetorianism) มาสู่ "ประชาธิปไตยแบบมีระเบียบวินัยที่กำลังจะเบ่งบาน" (Flourishing Disciplined Democracy) เกิดขึ้นตั้งแต่ครากองทัพทำรัฐประหารยุติภาวะจลาจลในปี ค.ศ. 1988 โดยทุกครั้งที่ทหารเมียนมาแทรกแซงการเมืองมักจะอ้างเสมอว่าตนเป็นเพียงรัฐบาลชั่วคราวที่เข้ามารักษาเสถียรภาพแห่งรัฐเท่านั้น ทว่า คำว่า "ชั่วคราว" หรือ "รักษาการณ์" ของทหารเมียนมา ก็กินเวลาเข้าไปถึง 20 ปี เช่น อายุขัยรัฐบาลเนวินซึ่งตกอยู่ราว 26 ปี (1962-1988) และอายุขัยรัฐบาลตานฉ่วย ราว 19 ปี (1992-2011)


พลเอกอาวุโสตานฉ่วย (คนกลางภาพ)

เมียนมาระยะเปลี่ยนผ่านที่เห็นๆ กันอยู่ทุกวันนี้ คือ ผลผลิตทางยุทธศาสตร์ของพลเอกอาวุโสตานฉ่วยซึ่งปกครองประเทศด้วยระบอบอำนาจนิยมทหาร หากแต่ก็ตัดสินใจกดปุ่มเซ็ตกระบวนการแปลงสัณฐานรัฐผ่านแผนโรดแมป 7 ขั้น ทั้งร่างรัฐธรรมนูญ ทำประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ เลือกตั้ง และการจัดตั้งสถาบันการเมืองใหม่ พร้อมพัฒนารัฐให้ทันสมัยบนเงื่อนไขที่ว่ากองทัพยังคงมีบทบาทนำในการเมืองระดับชาติและสามารถแทรกตัวเข้าไปอยู่ในกลไกบริหารปกครองรัฐได้ทุกระดับ

ผลที่ตามมา คือ "ประชาธิปไตยอำนาจนิยมใต้เงาเสนาธิปัตย์" ซึ่งในช่วงต้นปี 2011 นายพลตานฉ่วย ประธานสภาทหาร (SPDC) ได้จับมือกับนายพลหม่องเอ ผบ.ทบ. ถอนตัวออกจากระบบการเมืองใหม่ แล้วหันไปดันนายพลเต็งเส่งและธุระฉ่วยมานขึ้นคุมแผงบริหารรัฐและนิติบัญญัติ แต่ทว่า สำหรับการปกครองกองทัพ มินอ่องหล่าย ถูกสถาปนาขึ้นเป็น ผบ.สส. คนใหม่ พร้อมต่ออายุราชการเป็น ผบ.สส. สองสมัยซ้อน หรือพูดอีกแง่คือมินอ่องหล่ายจะกินตำแหน่งราว 10 ปี นับแต่ครารัฐบาลเต็งเส่งไปจนถึงการสิ้นสุดอายุบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล NLD ที่นำโดยติ่นจ่อ-ซูจี


พลเอกอาวุโสมินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเมียนมา

จริงอยู่ แม้ทหารเมียนมาจะเปลี่ยนบทบาทจาก "Direct Ruler" มาเป็น "Indirect Ruler" ซึ่งสะท้อนการลดระดับลงของอิทธิพลทหารในทางการเมือง กระนั้น อายุขัยของเสนาธิปัตย์เมียนมาที่ลากยาวกว่า 55 ปี ก็คงทำให้ "The Man on Horseback" ยังคงฝังรากลึกสถิตอยู่ในโครงสร้างสังคมการเมืองเมียนมาสืบไป

สำหรับทหารไทย ก็กำลังอยู่ในช่วง "Praetorian Transition" เช่นกัน ดังเห็นได้จากโรดแมปของ คสช. ซึ่งมีลู่วิ่งคล้ายคลึงกับกรณีเมียนมา การแปลงสัณฐานรัฐไทยครานี้ เข้าหลักรัฐศาสตร์ที่ว่า หากชนชั้นนำทหารมิได้ถูกกดดันอย่างหนักหน่วงจากพลังประท้วงประชาธิปไตย สงครามกลางเมือง การแทรกแซงจากมหาอำนาจ หรือความแตกแยกเปราะบางของขั้วอำนาจภายในกองทัพ เมื่อนั้น ทหารผู้ปกครองจะเป็นผู้ตัดสินใจเองว่าตนจะถอนตัวกลับเข้ากรมกองเวลาใด และยังสามารถผลิตสูตรการเมืองใหม่เพื่อให้กองทัพมีบทบาทนำในระยะเปลี่ยนผ่าน

อาจเว้นเสียแต่ปัจจัยฝืดเคืองทางเศรษฐกิจที่มีผลต่อการล่มสลายของระบอบอำนาจนิยมแบบฉับพลัน แต่ถ้าหาก คสช. ยังสามารถประคับประคองประวิงเวลาสืบไป คล้ายๆ กับทหารเมียนมา ผลลัพธ์การเมืองไทย คงหนีไม่พ้น "Authoritarian Democracy under Praetorian Shadow"  ซึ่งเป็นระบอบพันทาง (Hybrid Regime) ที่พบเห็นได้ทั่วไปในกระบวนการแปลงสัณฐาน (Metamorphosis) ของพลังอำนาจนิยมในรัฐกำลังพัฒนาทางแถบเอเชีย แอฟริกาและละตินอเมริกา


ดุลยภาค ปรีชารัชช

 

 

 

บล็อกของ ดุลยภาค

ดุลยภาค
รัฐประหารที่ส่อเค้าล้มเหลวในตุรกีล่าสุด ให้บทเรียนราคาแพงต่อวิชา "รัฐประหารศึกษา” และ "การเมืองเปรียบเทียบ" โดยเฉพาะเรื่องบทบาททหารกับการเมือง
ดุลยภาค
กล่าวโดยสรุป รัฐจารีตอุษาคเนย์ มักคุ้นชินกับเกมสังเวียนพยัคฆ์-คชสาร ซึ่งถูกจัดขึ้นเพื่อสะท้อนประสบการณ์เชิงบวก-เชิงลบต่อสัตว์พื้นเมืองทั้งสองชนิด รวมถึงใช้เพื่อส่งสัญญะ แสดงพลังข่มขู่ขับไล่ผู้รุกรานต่างถิ่น แต่ขณะเดียวกัน เกมสังเวียนประเภทนี้ ก็ถูกใช้เพื่อตอบสนองมหกรรมบันเทิงของเหล่ากษัตริย์-ขุนนาง-ประชาชน ซึ่งก็ไม่แตกต่างอะไรมากนักจากศึกสังเวียนโคลอสเซียมในจักรวรรดิโรมัน