Skip to main content

ข่าว รมต.ต่างประเทศจีน พบผู้นำเมียนมาและบังคลาเทศช่วงวันสองวันนี้ เพื่อแก้ปัญหารัฐยะไข่ผ่านการเจรจาทวิภาคี ส่วนหนึ่ง คงหนีไม่พ้นเรื่องภูมิรัฐศาสตร์กับการขยายอำนาจจีนในเอเชีย


าย Wang Yi รมต.ต่างประเทศของจีนเดินทางเยือนเมียนมา เมื่อวันที่ 19 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยก่อนหน้านี้ได้ไปเยือนบังคลาเทศ และเรียกร้องให้บังคลาเทศกับเมียนมาเปิดเจรจาแบบทวิภาคีเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตโรฮิงญาอย่างสันติ ภาพจาก XinHua

ตรงอาณาบริเวณที่เชื่อมโยงระหว่างเอเชียใต้กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีนมีมหายุทธศาสตร์ (Grand Strategy) สองส่วนหลัก ได้แก่

1. ยุทธศาสตร์สร้อยไข่มุก หรือ String of Pearls ซึ่งเน้นไปที่การปิดล้อมอินเดียและการขยายแสนยานุภาพทางการค้าการทหารของจีนผ่านท่าเรือน้ำลึก โดยเน้นหนักไปที่บังคลาเทศ เมียนมา ศรีลังกา และปากีสถาน

2. ยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง หรือ One Belt One Road (OBOR) ซึ่งเน้นขยายโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับพลังการค้าจีนครอบคลุมทั้งเอเชียและยุโรป โดยมีเมียนมา และบังคลาเทศ เป็นจุดยุทธศาสตร์หลักที่โยงภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีนเข้ากับน่านทะเลเบงกอล

การซ้อนทับของสองมหายุทธศาสตร์ ส่งผลให้เมืองท่าในรัฐยะไข่และเมืองท่าในบังคลาเทศ เช่น จิตตะกอง กลายเป็นอาณาบริเวณหลักที่กระทบต่อขีดอำนาจจีนบนเวทีเศรษฐกิจการเมืองเอเชีย ทั้งในแง่ความมั่นคงพลังงานที่กระทำผ่านแนวท่อก๊าซ หรือ การขนส่งสินค้าตามแนวระเบียงเศรษฐกิจ หรือแม้กระทั่ง การส่งกำลังบำรุงทางทหารของกองทัพจีนเพื่อปกป้องเส้นทางการค้า

ฉะนั้น ส่วนหนึ่งคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ คือ แรงขับเคลื่อนหลักที่อยู่เบื้องหลังการรุกทางการทูตของจีนครั้งนี้ ซึ่งหากรัฐยะไข่ไร้เสถียรภาพจนทำให้มหาอำนาจชาติอื่นเข้าแทรกแซงทั้งเมียนมาและบังคลาเทศ ผลประโยชน์จีน ย่อมถูกคุกคามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น การกล่อมให้ทั้งเมียนมาและบังคลาเทศหันมาพูดคุยเจรจากันโดยมีจีนเป็นฝ่ายไกล่เกลี่ยสนับสนุน ก็ย่อมส่งผลดีต่อการประกันเขตอิทธิพลจีนซึ่งเริ่มฝังรากลึกตรงแนวรอยต่อระหว่างเอเชียใต้กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

งานนี้ จีนได้ประโยชน์ในแง่การรักษาเขตอิทธิพลและการกลายเป็นผู้ริเริ่มหลักในการพัฒนาระบบการทูตเอเชีย โดยเฉพาะรูปแบบที่เน้นไปที่การปล่อยให้รัฐมหาอำนาจเพียงชาติเดียวกลายเป็นฝ่ายผลักดันให้รัฐคู่พิพาทหันมาเจรจาต่อรองกันแบบสองฝ่ายเพื่อลดความยุ่งยากซับซ้อนของตัวแสดง ซึ่งก็ทำให้เมียนมาสมประโยชน์ในการดึงจีนเข้ามาลดแรงกดดันจากประชาคมโลกเช่นกัน

กระนั้นก็ตาม รัฐที่น่าจะเสียเปรียบและจับจ้องกิจกรรมการทูตของจีนครั้งนี้แบบจดจ่อที่สุด คงไม่พ้นอินเดีย มหาอำนาจหลักแห่งเอเชียใต้ ซึ่งแม้จะพยายามปลดปล่อยอำนาจเพื่อถ่วงดุลจีนในเมียนมาและบังคลาเทศ หากแต่ก็ยังคงถูกบีบคั้นทางยุทธศาสตร์อย่างรุนแรง โดยเฉพาะความยากลำบากในการสลัดออกจากแอกสร้อยไข่มุกของจีน ซึ่งรุกกระหน่ำและรวมพลังกับยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งถนนจนคุกคามผลประโยชน์อินเดียอย่างสืบเนื่อง

ท้ายที่สุด คงกล่าวได้ว่า เรื่องโรฮิงญาซึ่งสัมพันธ์ลึกซึ้งกับปฏิสัมพันธ์ระหว่างเมียนมาและบังคลาเทศ ได้แสดงให้เห็นถึงการเกี่ยวพันระหว่างความขัดแย้งทางอารยธรรมกับความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ จนดึงให้มหาอำนาจยักษ์ใหญ่อย่างจีนกระโดดเข้าไปพัวพันเพื่อประกันเขตอิทธิพลตน หากแต่จีนเองก็เลือกใช้ option แบบ China's Peripheral Diplomacy ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงรูปโฉมของระบบการทูตเอเชียมากขึ้นเรื่อยๆ


ดุลยภาค ปรีชารัชช

 

บล็อกของ ดุลยภาค

ดุลยภาค
โจทย์สำคัญของสถาบันกองทัพที่สิงสถิตอยู่ในสังคมอันเต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลาย ว่าสุดท้ายแล้ว กระบวนการปฏิรูปการเมืองของประเทศ กับ การปฏิรูปภาคทหารของกองทัพ จะดำเนินควบคู่ไปกับการปฏิรูปทางสังคมที่ตั้งอยู่บนฐานความยุติธรรมและสันติวิธี ได้มากน้อยเพียงไร