Skip to main content

อิทธิพลอาณานิคมตะวันตกในอุษาคเนย์ มีอายุยาวนานราว 473 ปี หากนับตั้งแต่โปรตุเกสพิชิตมะละกาในปี ค.ศ. 1511 จนถึงการประกาศเอกราชของบรูไนเมื่อปี ค.ศ. 1984 ซึ่งถือเป็นรัฐเอเชียอาคเนย์แห่งสุดท้ายที่เป็นอิสระจากระบอบอาณานิคมฝรั่ง

หากจัดประเภทคร่าวๆ อาจแบ่งระบอบอาณานิคมตะวันตกออกเป็นสองประเภทหลัก ได้แก่ อาณานิคมโดยตรงกับอาณานิคมโดยอ้อม สำหรับการปกครองโดยตรงนั้น แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลการเมืองเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของเจ้าอาณานิคมที่แผ่คลุมลงไปยังรัฐและสังคมพื้นเมืองแบบเข้มข้น ซึ่งพบเห็นย่านภูมิศาสตร์การเมืองหลายแห่ง อาทิ "French Cochin China" "British Strait Settlement" และ "Ministrial Burma"

ขณะที่การปกครองทางอ้อม แสดงถึงความร่วมมือหรือการแบ่งปันอำนาจบางส่วนระหว่างเจ้าอาณานิคมฝรั่งกับคณะผู้ปกครองพื้นเมือง โดยปล่อยให้เกิด "Autonomy" บางประการสำหรับกระบวนการบริหารจัดการดินแดน/ประชากร หากแต่แท้จริงแล้ว อำนาจควบคุมสั่งการก็ยังตกอยู่ใต้กำลังของเจ้าอาณานิคมอยู่ ตัวอย่างเด่นชัด คือ การปกครองของดัตช์ในชวา การปกครองอังกฤษในดินแดนส่วนใหญ่ของ "British Malaya" การปกครองแบบรัฐในอารักขา (Protectorate) ของฝรั่งเศสในลาว กัมพูชา ตังเกี๋ย และ อันนัม รวมถึงการปกครองอังกฤษเหนือเขตอาณาบริเวณชายแดนภูเขา (Frontier Areas Administration) เช่น ในรัฐฉาน หรือในเขตภูเขาฉิ่น-คะฉิ่น

สิ่งที่น่าสนใจ คือ ความแตกต่างระหว่างอาณานิคมโดยตรงกับโดยอ้อม มีผลอย่างไรต่อกระบวนการบูรณาการรัฐชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมรดกประวัติศาสตร์เช่นนี้ ส่งผลสะเทือนต่อพลวัตความขัดแย้งภายในประเทศหรือภายในภูมิภาคอย่างไร

การตอบคำถามเหล่านี้ ย่อมต้องการคำอธิบายที่ลุ่มลึกเป็นระบบ แต่อย่างน้อยในที่นี้ เราก็พอมองเห็นภาพคร่าวๆ ของมรดกประวัติศาสตร์ในฐานะเส้นทางบังคับ (Path-Dependence) ที่ทรงอิทธิพลต่อการก่อรูปรัฐ (State Formation) และโครงสร้างความขัดแย้งในรัฐและสังคม ยกตัวอย่างเช่น ปัญหาการสร้างรัฐสร้างชาติและสร้างสันติภาพในพม่าที่เป็นผลส่วนหนึ่งจากความแตกต่างระหว่าง "Ministrial Burma" กับ "Frontier Areas Administration" ในยุคอาณานิคมอังกฤษ หรือการแยกรัฐอินโดจีนฝรั่งเศสที่สะบั้นลาวและกัมพูชาออกจากเวียดนาม และแม้แต่ในเวียดนามยุคหลังเอกราช รัฐทางเหนือและรัฐทางใต้ซึ่งขยายตัวมาจากแกนปกครองตังเกี๋ยกับโคชินไชน่า ก็แยกขั้วกันชัดเจนในช่วงระยะเวลาหนึ่ง อันอาจเป็นผลส่วนหนึ่งจากรากอิทธิพลฝรั่งเศสที่มีระดับแตกต่างกันในโครงสร้างอาณานิคมทางตรงกับทางอ้อม

ท้ายที่สุด แม้จะมีปัจจัยตัวแปรอีกหลายส่วนที่ส่งผลต่อการก่อรูปรัฐหรือพลวัตความขัดแย้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ก็คงปฏิเสธมิได้ว่าระดับที่แตกต่างกันระหว่าง "Direct Rule" กับ "Indirect Rule" ที่ครอบทับหน่วยดินแดนต่างๆ ในยุคอาณานิคม ย่อมมีผลบางประการต่อเอกภาพและกระบวนการบูรณาการรัฐชาติในประวัติศาสตร์เอเชียอาคเนย์


ดุลยภาค ปรีชารัชช

 

บล็อกของ ดุลยภาค

ดุลยภาค
รัฐประหารที่ส่อเค้าล้มเหลวในตุรกีล่าสุด ให้บทเรียนราคาแพงต่อวิชา "รัฐประหารศึกษา” และ "การเมืองเปรียบเทียบ" โดยเฉพาะเรื่องบทบาททหารกับการเมือง
ดุลยภาค
กล่าวโดยสรุป รัฐจารีตอุษาคเนย์ มักคุ้นชินกับเกมสังเวียนพยัคฆ์-คชสาร ซึ่งถูกจัดขึ้นเพื่อสะท้อนประสบการณ์เชิงบวก-เชิงลบต่อสัตว์พื้นเมืองทั้งสองชนิด รวมถึงใช้เพื่อส่งสัญญะ แสดงพลังข่มขู่ขับไล่ผู้รุกรานต่างถิ่น แต่ขณะเดียวกัน เกมสังเวียนประเภทนี้ ก็ถูกใช้เพื่อตอบสนองมหกรรมบันเทิงของเหล่ากษัตริย์-ขุนนาง-ประชาชน ซึ่งก็ไม่แตกต่างอะไรมากนักจากศึกสังเวียนโคลอสเซียมในจักรวรรดิโรมัน