Skip to main content

เขื่อนแตกในภาคพะโค เกิดขึ้นไล่เลี่ยกับการออกรายงานของสหประชาชาติให้มีการสอบสวนพลเอก มิน อ่อง หล่าย และนายทหารระดับสูงในกองทัพพม่า หลังมีการนำเสนอข้อมูลหลักฐานว่า ทหารพม่าก่ออาชญากรรมกวาดไล่ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา

ปรากฏการณ์นี้จึงเป็นโอกาสเหมาะที่กองทัพและรัฐบาลพม่าจะออกมาตัดกระแสกลบข่าวโรฮิงญาโดยแสดงให้ประชาคมโลกเห็นว่าทางการพม่ามีความตั้งใจจริงในการแก้ไขภัยพิบัติและช่วยเหลือมนุษยธรรมแก่ผู้ประสบภัย หากแต่ว่า หนังม้วนนี้คงต้องดูกันยาวๆ เพราะโศกนาฏกรรมผู้ลี้ภัยโรฮิงญาได้กลายเป็นประเด็นร้อนระดับโลกไปเสียแล้ว พร้อมก่อผลกดดันต่อรัฐบาล/กองทัพพม่าอย่างหนักหน่วงในแง่การเมืองระหว่างประเทศ

สำหรับเรื่องเขื่อนแตก น่าจับตามองบุคคลสำคัญในรัฐบาลพม่า ว่าจะออกมาสร้างคะแนนนิยมได้มากน้อยเพียงไรในห้วงเวลานี้ เช่น รองประธานาธิบดีเฮนรี่ แวนเทียว ซึ่งเป็นประธานศูนย์จัดการภัยพิบัติแห่งชาติด้วย รวมถึงตัวแสดงอื่นๆ เช่น รัฐมนตรีประจำสำนักมนตรีแห่งรัฐ และมุขมนตรีภาคพะโค

ส่วนทางฟากกองทัพ มิน อ่อง หล่าย เริ่มออกมาแสดงบทบาทจัดการเขื่อนแตกอย่างแข็งขันแล้ว รวมถึงทหารพม่าในพื้นที่ก็เริ่มขนกำลังออกมาช่วยระงับภัยพิบัติ ทั้งนี้รวมถึงผู้อำนวยการสำนักยุทธการพิเศษที่ 3 (Bureau of Special Operations 3) ซึ่งมีชื่อปรากฏในรายงานสหประชาชาติในกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวโรฮิงญา ซึ่งสำนักยุทธการพิเศษที่ 3 จัดเป็นหน่วยเหนือที่คุมกองทัพภาคทหารบกจำนวนสามแห่ง ได้แก่ กองทัพภาคตะวันตกที่ยะไข่ กองทัพภาคตะวันตกเฉียงใต้ที่เขตสามเหลี่ยมปากน้ำอิระวดี และกองทัพภาคใต้ที่พะโคซึ่งมีกองบัญชาการหลักอยู่ที่ตองอู ทำหน้าที่คุมกำลังพลในการจัดการเขื่อนแตกในครั้งนี้

สำหรับเขื่อนคลองซวาร์ (Swa Creek/Chaung Dam) ตั้งอยู่ในภาคพะโค มีพื้นที่ลุ่มน้ำคลุมย่านซวาร์กับเยตาเฉ่ซึ่งอยู่ทางตอนบนของภาค คือ ระหว่างทางจากเมืองตองอูไปเขตเมืองหลวงใหม่เนปิดอว์ ตัวเขื่อนอยู่ฟากตะวันออกของเทือกเขาพะโค โดยสร้างกั้นคลองซวาร์ ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาที่ไหลสบแม่น้ำสะโตง ฉะนั้น พื้นที่ภัยพิบัติจึงมีลักษณะเป็นแนวตัดขวางตามแนวคลองที่ไหลจากทิศตะวันตกไปตะวันออก หรือ ไหลจากเทือกเขาพะโคไปออกแม่น้ำสะโตงนั่นเอง การเอ่อล้นของกระแสน้ำจึงทำให้ทางหลวงใหม่จากย่างกุ้งไปเนปิดอว์และมัณฑะเลย์ถูกตัดขาดบางส่วน เนื่องจากเป็นถนนแนวดิ่งที่ตัดขวางแนวคลอง จากนั้น กระแสน้ำก็รุกเข้าไปกระทบทางหลวงสายเก่าจากย่างกุ้งไปมัณฑะเลย์อีก ซึ่งตั้งอยู่ด้านขวาของทางหลวงสายใหม่ อย่างไรก็ตาม คาดว่ามวลน้ำคงไหลผ่านที่ลุ่มลงสู่แม่น้ำสะโตง ผ่านตองอู แล้วระบายออกอ่าวเมาะตะมะในที่สุด

ภาคพะโค ถือเป็นเขตปลูกข้าวสำคัญของพม่า โดยมีการสร้างเขื่อนชลประทานถึงสามสิบกว่าแห่งตามเขตภูมิศาสตร์ต่างๆ เช่น ตามลำแควสาขาที่ไหลลงแม่น้ำสะโตง การสร้างเขื่อนถือเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาที่โดดเด่นตั้งแต่สมัยรัฐบาลทหาร SPDC เพื่อกระตุ้นผลิตผลทางการเกษตรและเพิ่มรายได้ให้แก่กลุ่มชาวนา สำหรับเขื่อนคลองซวาร์สร้างขึ้นราว ค.ศ. 1998-1999 แล้วเสร็จราวปี ค.ศ. 2001-2002 พื้นที่ชลประทานเขื่อนครอบคลุมหมู่บ้านมากกว่าหนึ่งร้อยสามสิบแห่ง โดยมีลำคลองซวาร์และคลองชลประทานเป็นเส้นทางส่งน้ำหลัก ส่วนโครงสร้างประชากร พบเห็นกลุ่มกะเหรี่ยง ไทใหญ่และบะหม่า (พม่าแท้) อาศัยปะปนกันในเขตพื้นที่ภัยพิบัติ หากแต่พวกกะเหรี่ยงและไทใหญ่ทางฟากตะวันตกของแม่น้ำสะโตงและตลอดแนวลำซวาร์ ก็ถูกกลืนกลายโดยวัฒนธรรมบะหม่าไปหมดแล้ว

เขื่อนซวาร์ในพม่าแตกซึ่งเกิดขึ้นหลังเขื่อนลาวแตกที่อัตตะปือสะท้อนยุทธศาสตร์การพัฒนาของรัฐบาลในกลุ่มอาเซียนพื้นทวีป ที่เน้นไปที่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน หากแต่กรณีเขื่อนแตกในพม่า มีจุดหักเหทางเวลาที่สัมพันธ์กับการเมืองระหว่างประเทศ นั่นคือ วิกฤตโรฮิงญา ซึ่งเป็นเรื่องเปราะบางและท้าทายความมั่นคงรัฐพม่า ฉะนั้น จึงต้องจับตาดูต่อไปว่ายุทธศาสตร์การกู้ภาพลักษณ์ของรัฐบาล/กองทัพพม่า จะสามารถชะรอเบี่ยงกระแสโรฮิงญาไปมากน้อยซักเพียงไร

 

ดุลยภาค ปรีชารัชช

ปล. เวลาผมนั่งรถจากย่างกุ้งไปเนปิดอว์ จะผ่านสะพานข้ามคลองธรรมชาติหลายแห่ง ที่ไหลจากเทือกเขาพะโคไปลงแม่น้ำสะโตง และพื้นที่ด้านซ้ายของถนนจะมีอ่างเก็บน้ำและเขื่อนชลประทานหลายแห่ง สิ่งเหล่านี้สะท้อนภาพเครือข่ายกสิกรรมที่รัฐบาลทหารพม่าพัฒนาขึ้น ส่วนหนึ่งก็เพื่อเปิดพื้นที่การตั้งถิ่นฐานใหม่ตรงเขตภาคกลางตอนใต้และเพื่อสร้างเครือข่ายกสิกรรมรอบเขตเมืองหลวงใหม่เนปิดอว์ ซึ่งมีเขื่อนชลประทานและวิทยาลัยเกษตรศาสตร์รวมถึงแปลงปลูกข้าว อ้อย และ พืชผลอื่นๆจำนวนมากรายรอบตัวเมืองหลวง ฉะนั้น แม้การย้ายเมืองหลวงจะมีเหตุผลผลักดันหลายประการ แต่หนึ่งในความเปลี่ยนแปลงสำคัญก็คือการเปิด Agricultural Frontier ตรงย่านใจกลางเพื่อแปลงสภาพให้เป็นศูนย์ยุทธศาสตร์การพัฒนาแห่งใหม่ โดยย่านเยตาเฉ่ซึ่งมีคลองซวาร์ไหลผ่านและกุมประตูสู่เนปิดอว์ ก็อยู่ในจุดหัวใจของโซนกสิกรรมแห่งใหม่ในรัฐพม่านั่นเอง

บล็อกของ ดุลยภาค

ดุลยภาค
รัฐประหารที่ส่อเค้าล้มเหลวในตุรกีล่าสุด ให้บทเรียนราคาแพงต่อวิชา "รัฐประหารศึกษา” และ "การเมืองเปรียบเทียบ" โดยเฉพาะเรื่องบทบาททหารกับการเมือง
ดุลยภาค
กล่าวโดยสรุป รัฐจารีตอุษาคเนย์ มักคุ้นชินกับเกมสังเวียนพยัคฆ์-คชสาร ซึ่งถูกจัดขึ้นเพื่อสะท้อนประสบการณ์เชิงบวก-เชิงลบต่อสัตว์พื้นเมืองทั้งสองชนิด รวมถึงใช้เพื่อส่งสัญญะ แสดงพลังข่มขู่ขับไล่ผู้รุกรานต่างถิ่น แต่ขณะเดียวกัน เกมสังเวียนประเภทนี้ ก็ถูกใช้เพื่อตอบสนองมหกรรมบันเทิงของเหล่ากษัตริย์-ขุนนาง-ประชาชน ซึ่งก็ไม่แตกต่างอะไรมากนักจากศึกสังเวียนโคลอสเซียมในจักรวรรดิโรมัน