Skip to main content

โหนกระแสเทศกาลวันพ่อ รวบรวมบันทึกความทรงจำที่มีเกี่ยวกับพ่อ และความพยายามในการต่อสู้รักษาความทรงจำของปัจเจกบุคคลที่มีต่อ 'พ่อ'

๐๐๐๐

 

 

5 ธันวาคม 2557  คำถามถึงความทรงจำกับเทศกาลวันพ่อ

 

ผมสงสัยว่าทำไมคนจำนวนมากถึงบ่นว่าคิดถึงพ่อในวันนี้นะครับ

พ่อผมตายไปเมื่อปีที่แล้ว ก็คิดถึงเรื่อยๆนะครับ เห็นห้องที่แกนอน เห็นเก้าอี้ที่แกนั่ง มองเห็นกระโถนที่แกเคยใช้ เห็นภาพเก่าๆของแก หรือที่แกถ่ายกับผมก็คิดถึง

ผมคิดว่าความผูกพันธ์ ความคิดถึง มันไม่มีเวลา ไม่มีฤดูกาลน่ะ มันคิดถึง มันโหยหาถึงกันได้ตลอด เวลาทำงานก็ไม่คิดถึง เวลาว่างๆก็คิดถึงกัน เวลาผ่านไปนานๆ มันก็คิดถึงกันห่างทิ้งระยะออกไป ผมว่าเป็นเรื่องธรรมดา

แต่การบ่นออกมาดังๆเรื่องคิดถึงพ่อนี่ก็เป็นเรื่องแปลก ปกติเรื่องที่เป็นส่วนตัวมากๆนะครับ โดยส่วนตัวแล้วผมไม่ค่อยชอบที่จะเอาความเป็นส่วนตัวออกมาแสดงในที่สาธารณะ ยกเว้นแต่ว่า มันเจ็บปวด มันสิ้นไร้ไม้ตอกจริงๆ

แล้วปรากฎการณ์การแสดงออกเรื่องการคิดถึงพ่อในช่วงสองวันนี้อธิบายปรากฎการณ์อะไรในสังคม

แล้วถ้าถ้าคนที่ไม่มีภาพความทรงจำเกี่ยวกับพ่อ หรือภาพความทรงจำที่เลวร้ายกับผู้เป็นพ่อจะเป็นอย่างไร เอ่ยคำว่าคิดถึงพ่อออกมาดังๆเพื่อให้ดูเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับคนในสังคมโดยซ่อนเก็บ ความแปลกแยก โดดเดี่ยว ไว้กับตัวหรือ?

และหากว่าไม่มีวันพ่อแห่งชาติขึ้นมานี่ หลายๆคนนี่อาจจะลืมที่จะคิดถึงพ่อไปแล้วหรือ? และหากเป็นเช่นนั้นแล้วแล้วจำนวนวันที่เหลืออีกสามร้อยหกสิบกว่าวันล่ะ เราจะทำอย่างไรกับความทรงจำ กับความรู้สึก?

หรือจะระลึกถึงผู้ให้กำเนิดตามวันเวลาทีรัฐตั้งนาฬิกาปลุกไว้ให้ก็คงจะเพียงพอแล้วหรือไร?

ผมยอมรับได้กับการมีเทศกาลไว้เพื่อรักษาความทรงจำบางอย่างไว้เพื่อไม่ให้ถูกลบลืม แต่ถ้าเป็นเทศกาลที่พยายามยัดเยียดความทรงจำบางอย่างเข้ามาครอบครองกลืนกินความทรงจำของปัจเจกบุคคลนี่ผมว่ามันสามานย์มาก

มนุษย์เราอ่อนแอได้ถึงระดับนี้แล้วล่ะหรือ?

อ่อนแอได้ในระดับที่ปล่อยให้มีการนำเข้าความทรงจำและระบบคุณค่าของรัฐโดยแทบที่จะไม่เฉลียวใจหรือไม่ปริปากเลย???
 

 

ดัดแปลงเล็กน้อยจาก เฟซบุ๊ก Sarayut Tangprasert

 

๐๐๐๐

 

4 ธันวาคม 2557 จารีตที่กดทับผู้เป็นลูก จารีตที่กดทับเหตุผลและการสื่อสารของมนุษย์และครอบครัว

 

เห็นภาพนี้แล้วเกิดอาการปรี๊ด! คิดถึงผู้ถูกกดทับอยู่ภายใต้จารีตทั้งหลาย ไม่เพียงแต่ผู้ที่เป็นลูกที่จะอ้าปากเถียงไม่ออก แต่มันทำให้ง่ายสำหรับผู้เป็นพ่อแม่ในการที่ไม่ต้องใช้เหตุผลความจำเป็น ความรู้สึก อะไรมาอธิบายถึงสภาพปัญหาหรือทัศนะต่างๆของพ่อแม่กับลูกได้เลย  การอธิบายระบบจารีตเป็นวาทกรรมสำเร็จรูปทำแทนให้หมด

 

ที่มาภาพ:  แฟนเพจ ทีวีพูล TV Pool Buffet

เห็นคำขวัญวันพ่อเยอะแยะ ตกลงว่าวันพ่อนี่จริงๆแล้วก็คือการรุมสหบาทาให้ผู้เป็นลูกก้มหัวลงใต้วาทกรรมกตัญญูรู้คุณ ไม่ต้องคิด ไม่ต้องตั้งคำถามหรือเรียกร้องอะไรต่อผู้ให้กำเนิดภายใต้ระบบเหตุผลเลยใช่ไหมครับ?

ที่มา: เฟซบุ๊ก Sarayut Tangpraser

 

๐๐๐๐

28 พฤษภาคม 2556 ความทรงจำของผมที่มีต่อพ่อโดยที่ไม่มีอุดมการณ์ของรัฐเข้ามาเบียดแทรก

 

 

วันนี้ผมขับมอเตอร์ไซค์ไปอำเภอเพื่อแจ้งเรื่องการเสียชีวิตของพ่อ ช่วงนี้บนเส้นทางไปกลับระหว่างหมู่บ้านที่ผมลงหลักกับที่ทำการอำเภอซึ่งห่างกัน 80กม. เต็มไปด้วยผีเสื้อหลากสี มันบินว่อน ไม่สิ น่าจะเรียกว่าพวกมันดูเหมือนว่าจะลอยล่องไปตามกระแสอากาศมากกว่า

ผมรู้สึกถึงการมีอยู่ของพวกมันก็ต่อเมื่อๆผมออกรถจากบ้านในช่วงสาย ผมต้องเร่งไปให้ถึงอำเภอก่อนที่จะพักเที่ยง ร่างของพวกมันบางตัวมาปะทะกับใบหน้าหรือตัวรถ มองไปข้างหน้าตามพื้นถนน ผมพบซากสิ่งมีชีวิตที่ดูเหมือนใบหรือกลีบดอกไม้ล่วงอยู่กราดเกลื่อนบนเส้นทางสีดำ บางร่างก็จากไปอย่างโดดเดี่ยว บางร่างก็มีเพื่อนหรือคู่รักบินวนเวียนอยู่ใกล้ๆ

ย้อนกลับมาคิดถึงชีวิต คิดถึงเพื่อนคนหนึ่งในจำนวนที่มีอยู่อย่างน้อยนิดที่ได้เสียชีวิตไปบนท้องถนน ถ้าเพื่อนยังอยู่ เพื่อนก็คงจะแบ่งรับแรงปะทะที่ผมเผชิญอยู่ไปไม่น้อย และการเมืองบนท้องถนนของคนเล็กคนน้อยที่เพื่อนถือเป็นสรณะ ก็อาจไม่ถูกลากเข้ารกเข้าพงไปถึงขนาดนี้

คิดถึงพ่อผู้พึ่งจะจากไป ก่อนที่พ่อจะเสียชีวิต ผมไม่เคยคิดเลยว่าชีวิตของชายวัย 91 จะเปราะบางขนาดนี้ อดทบทวนไม่ได้ว่าบางที่คำพูดที่ออกจากปากของผมไปโดยไม่ยั้งคิด หรือการปฏิบัติดูแลผู้สูงอายุที่ไม่ถูกต้องก็อาจทำให้ชีวิตที่เปราะบางต้องร่วงหล่นบนเส้นทางได้

ก็คงจะไม่เก็บมาเป็นปมฝังใจ เพียงแต่ตั้งใจว่าเส้นทางข้างหน้า ผมจะต้องพุ่งผ่านไปด้วยความระมัดระวังมากกว่านี้

จนกว่าผมจะกลายเป็นซากสิ่งมีชีวิตหนึ่งบนเส้นทางแห่งกาลเวลา


เพิ่มเติม:

1.เมื่อเปรียบเทียบกับการเลี้ยงลูก มันเหมือนกับเวลามันไหลทวนกลับ เด็กเติบโตขึ้น มีพัฒนาการ แต่ผู้สูงวัยถดถอยและต้องพึ่งพิงเรามากขึ้นเรื่อยๆ

2.ปรีดี พนมยงค์ และ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เป็นไอด้อลของพ่อผม ระยะหลังผมพยายามไม่ให้แกรับรู้เรื่องการเมือง เพราะกลัวว่าแกจะติดคุกตอนแก่ แกเลยไม่มีโอกาสได้อ่านงานของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล

3.หนังสือสองเล่มแรกที่แกซื้อให้ผมอ่าน(พร้อมกับเซ็นต์ปกให้ด้วย)คือ หนังสือรวมบทกวีชักม้า ชมเมือง ของ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ และ ความอบอุ่นอันอ่อนหวาน ของ จิตร ภูมิศักดิ์ (บางชิ้นในเล่มนี้ได้ยินภายหลังว่าเป็นงานของ ทวีป วรดิลก

4.แกไม่ยึดถือรูปเคารพทุกศาสนา แต่ใจอ่อนชอบช่วยเหลือให้สตางค์คน แม้ว่าเขาจะไม่ใช่ญาติพี่น้อง

5.แกเรียนภาษาอังกฤษจากใบปิดหนัง และหนังในโรง จนสามารถที่จะสื่อสารและทำงานกับฝรั่งได้ เรื่องที่แกติดปากพูดถึงตลอดก็คือเรื่อง Bicycle Thieves จนในที่สุดผมต้องไปหามาดู

6.แกเคยหลุดปากด่าผมว่า ถ้ากูไม่ติดพวกมึงกูก็เข้าป่าไปแล้ว

 

ที่มา: เฟซบุ๊ก Sarayut Tangpraser

 

บล็อกของ gadfly

gadfly
  เห็นบนเฟซบุ๊กมีการพูดกันบ่อยๆว่า แกนนำ นปช.พาคนไปตาย พาคนไปติดคุก แกนนำไม่รับผิดชอบกับชีวิตของมวลชน ผมคิดว่ามันเป็นข้อกล่าวหาโจมตีผู้อื่นเพื่อเป็นการยกตนขึ้นสูง หรืออีกนัยหนึ่งคือมันเป็นข้อกล่าวหาทางศีลธรรม
gadfly
ผมคิดว่าผู้ที่ให้บทเรียนที่ดีที่สุดสำหรับผู้ที่สนับสนุนการรัฐประหาร ก็คือ ทหาร รัฐบาลทหาร และ ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯที่พวกเขาสร้างขึ้นมาเอง
gadfly
เมื่อคืนผมไม่ได้ดื่มเหล้า เลยเกิดอาการตาสว่าง ต้องใช้ความพยายามอย่างมากที่จะหลับ และกว่าจะหลับก็ปาเข้าไปเกินตีสาม .หลับแล้วก็ยังฝันต่ออีก.ฝันว่าได้กลับไปอยู่บ้าน บ้านก็ยังคงมีสภาพเหมือนเดิม แต่สภาพแวดล้อมรอบบ้านกลับเปลี่ยนไป มันกลายเป็นทุ่งหญ้า กว้าง กว้าง และกว้าง...
gadfly
เมื่อคิดถึงเรื่องโอกาสทางการศึกษา ในกรณีผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดตาม กม.อาญา มาตรา 112ผมคิดถึงนักศึกษาสองคนคนหนึ่งเรียนอยู่ ม.เทคโนโลยีมหานคร คณะวิศวกรรมศาสตร์ ปีสุดท้าย เขาชื่ออัครเดช ชื่อเล่นว่า เค
gadfly
อ่านข้อถกเถียงในประเด็นเรื่องฟรีสปีช เฮทสปีช ความรุนแรง เสรีภาพในการแสดงออก ฯลฯ ของบรรดาปัญญาชนมากมาย แต่ใจกลับย้อนคิดถึงเหตุการณ์หนึ่ง ซึ่งอาจไม่เกี่ยวไม่ข้องกับเหตุการณ์ข้างต้นเลย ก็เลยลองยกมา