ผมรู้สึกผิดบาปที่รู้สึกว่าตัวเองชอบเล่าเรื่องราวโศกนาฎกรรมในชีวิตของคนเล็กคนน้อย แต่ในอีกด้านผมก็คิดว่ามันเป็นหน้าที่ๆจะต้องสะท้อนภาพประทับ ความทรงจำ และความรู้สึกออกมา มันไม่ได้เป็นเพียงหน้าที่ทางวิชาชีพ แต่มันเป็นหน้าที่ของมนุษย์ หน้าที่ของคนเล็กคนน้อยคนหนึ่งที่มีความเป็นคนเท่าๆกันกับพวกเขา
วันนี้ขอพูดเรื่องของ 'ตูน' นิดนึง
หลายคนสงสัยว่าตูนเป็นใคร ขยายความให้นิด 'ตูน' ก็คือ ธเนตร อนันตวงษ์ หนุ่มร่างเล็ก วัย 25 ที่ถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบอุ้มจาก รพ.สิรินธร เมื่อวานนี้
ตูนรูปร่างเล็กจริง ตูนสูงไม่ถึง 150 ซม. หนักไม่ถึง 40 กก.
ข่าวบางแห่งกระพือหนักว่าตูนเป็น นศ.ธรรมศาสตร์ เป็นแอคติวิสต์กลุ่มประชาธิปไตยใหม่ ว่าไปนู่น...
ถูกครึ่งเดียว ตูนเป็นแอ็คติวิสต์จริง แต่ตูนไม่ได้เป็นนักศึกษา
สำหรับผม ความหมายของการเป็นแอคติวิสต์หรือการเป็นนักเคลื่อนไหวไม่ใช่แค่เป็นคนที่แถลงข่าวหรือไฮด์ปาร์คบนเวที ไม่ใช่แค่คนที่เป็นเสนาธิการคอยคุมเกมส์กำหนดแนวทางการเคลื่อนไหวในวงประชุมวางแผน
มันยังมีอีกพวกที่พูดไม่เก่ง คิดไม่ทัน แต่ดันมีใจรัก ก็หาทำหน้าที่อื่นๆในขบวนการเคลื่อนไหว หยิบจับวิ่งซื้อของ แบกลำโพง โบกรถจราจร เป็นการ์ด ถ้าจะมีโอกาสได้ออกทีวี มีภาพลงหน้าสื่อบ้างก็ตอนถือโปสเตอร์ป้ายผ้าให้นักข่าวถ่ายรูปนั่นแหละ
ที่พูดนี่ก็เพราะว่ารู้จริง สมัยเป็นนักศึกษาหน้าที่อื่นๆที่นอกจากการเป็นแกนนำหรือเสนาธิการในขบวนการเคลื่อนไหวนี่ผมทำมาหมดแล้ว ( เอ ถ้าลูกผมอ่านเจอ มันจะอายเพื่อนไหมนี่ )
ตูน ก็เป็นคนอย่างผมนี่แหละ ส่วนที่ต่างกันก็คือถ้าผมอดหยาก เงินหมด มีหนี้สิน ไม่มีเงินลงทะเบียนเรียน ผมก็ยังหัวซุกหัวซุนกลับไปบ้านขอเงินได้ แต่ไอ้ตูนมันไม่มีใคร!
พูดแบบไม่กลัวมันโกรธ เท่าที่รู้ก็คือมันไม่มีบ้าน มันเป็นคนเร่ร่อน แต่เป็นคนเร่ร่อนที่มีอุดมการณ์การเมือง
ถ้ามันได้ออกมา ผมจะขอโทษมันที่บอกกับคนอื่นว่ามันเป็นคนไร้บ้าน
แต่เท่าที่เห็นก็ไม่มีใครในขบวนฯ ทั้งกลุ่มดาวดิน หรือ NDM ปฏิเสธไม่ให้มันเข้าร่วมกิจกรรม ก็มันช่วยทุกอย่าง ผมสังเกตเห็นว่าบางที นศ. ประชุม ตูนก็เข้าไปนั่งฟังเขาประชุมด้วย
โดยส่วนตัวผมเองก็นับว่าตูนเป็นแอคติวิสต์คนหนึ่ง
สำหรับ #ไอ้พวกนักกิจกรรม มันก็ดีอย่างนี้ พวกมันไม่ค่อยทำงานมวลชนแต่อย่างน้อยมันก็ไม่ปฏิเสธมวลชน
ตูนมันก็เลยภูมิใจประกาศตัวไปทั่วว่ามันเป็น NDM บ้าง ดาวดินบ้าง
ช่วงที่มีกิจกรรมการเคลื่อนไหวเราจึงมักจะได้เห็นตูนอยู่ในที่ชุมนุมอยู่เสมอ ช่วงเวลานั้นตูนคงมีความสุข มีอาหารกิน มีเงินที่นักศึกษาเจือจานแบ่งให้ใช้บ้าง แล้วก็มี 'เพื่อน'
ด้วยเหตุนี้ผมจึงไม่สามารถเข้าใจได้ว่าทหารจับตูนไปเพื่ออะไร ก็ในเมื่อมีกลุ่มองค์กรที่ออกมาประกาศชัดเจนเรื่องผังทุจริตอุทยานราชภักดิ์
ถ้าทหารติดตามตูนจากเฟซบุ๊ก มันก็น่าจะรู้ได้ไม่ยากเลยว่าตูนมันไม่ได้เรียนมาสูงมาก พิมพ์ผิดทุกบรรทัดๆละหลายจุด
หรือเป็นเพราะตูนเป็นแค่คนเร่ร่อน ไม่มีการศึกษา จับแล้วไม่มีใครด่าโวยวาย ไม่มีนักวิชาการมาเดินเพ่นพ่านหน้าเรือนจำเพื่อขอเข้าเยี่ยม ลูกศิษย์
น่าสมเพชและน่าอายแทนทหารไทยที่มีศักยภาพในการใช้ความรุนแรงกับใครก็ได้ในประเทศนี้กลับเลือกที่จะใช้ความรุนแรง และความได้เปรียบทางกฏหมายทำร้ายคนที่อ่อนแอที่สุดกับคนอย่าง 'ตูน'
#ลำดับเหตุการณ๋
12 ธันวาคม 2558 มติชนรายงาน "พนักงานสอบสวน บก.ป.ยื่นคำร้องขออำนาจศาลทหารออกหมายจับผู้ต้องหาเพิ่มเติม 1 ราย ทราบชื่อ นายธเนตร อนันตวงษ์ อายุ 25 ปี ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112,116 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์"
13 ธันวาคม 2558 ประชาไทรายงานว่า เวลา 12.10 น. เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบจำนวนสองนายได้เข้าทำการจับตัว 'ตูน' ขณะกำลังรักษาตัวด้วยโรคลำไส้อักเสบ และรอนัดหมายผ่าตัดไส้เลื่อนที รพ.สิรินธร
14 ธันวาคม 2558 ประชาไทรายงาน จ่านิว-ศูนย์ทนายฯร้องศาลปล่อยตัว 'ธเนตร' ฟังผลพรุ่งนี้- ตร.ทหารแจงจับตามหมาย เกรงหลบหนี
15 ธันวาคม 2558 องค์กรสิทธิระหว่างประเทศ ฮิวแมนไรท์วอทช์เรียกร้อง คสช. ส่ง 'ธเนตร' ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล ขณะที่ คณะกรรมการสิทธิ เรียกร้องให้ ให้ญาติสามารถเข้าเยี่ยม ‘ฐนกร-ธเนตร’ เข้าถึงการรักษา ขณะที่ รังสิมันต์ โรม แกนนำกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ประกาศแสดงความรับผิดชอบ เรียกร้องให้ คสช.พิสูจน์ข้อเท็จจริง และ ศาลก็ได้ยกคำร้อง 'จ่านิว-ศูนย์ทนายสิทธิ' ขอให้ไต่สวน กรณีคุมตัว 'ธเนตร' ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
17 ธันวาคม 2558 เวลา 08.28 น.ยังไม่มีข่าวความคืบหน้าว่าเกิดอะไรขึ้นกับ ธเนตร อนันตวงษ์
หมายเหตุ: อ่านอีกเสี้ยวส่วนของชีวิต 'ตูน' โดยเฉพาะความรุนแรงที่เขาได้รับในเรือนจำจากคดีการเมือง ปี 2553 ได้ที่บล็อกของ หนุ่มเรดนนท์ ธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล อดีตนักโทษ ม.112 : ตูน - ธเนตร อนันตวงษ์ ที่ผมรู้จัก
ปิยรัฐ จงเทพ เพื่อนของตูนเรียบเรียงลำดับเหตุการณ์การเข้าจับกุมตูนโดย จนท.นอกเครื่องแบบ ข้อโต้แย้ง กรณี “รอง ผบ.ตร. แถลงสรุปว่า ธเนตร อนันตวงษ์ ถูกจับเพราะเตรียมหลบหนี”
เผยแพร่ครั้งแรกใน: เฟซบุ๊ก Sarayut Tangprasert เมื่อ 15 ธันวาคม 2558