Skip to main content


ภาพของวัฒน์ ปราศัยบนกระบะรถหน้ารัฐสภาในกิจกรรม ครก.112
ยื่นรายชื่อขอแก้ไข กม.อาญา ม.112 เมื่อ  29 พฤษภาคม 2555

 


ผมอ่านวรรณกรรมไทยแนวสะท้อนสังคมไม่เยอะนัก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันมันไม่ได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงชีวิตของผม

ในช่วงวัยแห่งการแสวงหา (ใช้คำว่าแสวงหาแล้วอยากจะอ้วก ถ้าไม่มีเงินค่าอยู่กิน เล่าเรียนจากพ่อและแม่ ก็คงไม่มีโอกาสได้แสวงหาหรอก) มีนักเขียนสองคนที่ผมตามอ่านงานของเขา วิมล ไทรนิ่มนวล เป็นนักเขียนคนแรก เรื่อง "งู" ของวิมล เนื้อหาโหดสัส เข้มขม เหมือนเหล้าขาวราคาถูกที่ผลิตจากวัสดุเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมเกษตร

มันสะท้อนภาพสังคมของคนชั้นล่าง ขณะเดียวก็สะท้อนความเน่าเหม็น ฉาวโฉ่ เช้าฉุ่ย ในระดับโครงสร้างอย่างปิดบังแบบพอเป็นพิธี

งานของวิมลเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผมมีปัญหากับธรรมกายจนเกือบเรียนไม่จบ (รายละเอียด)

น่าเสียดายที่สุดท้ายแล้วนักเขียนคนหนึ่งที่มีความกล้าวิพากษ์ระบบสังคมกลับยอบตัวอยู่ใต้ระบบสถาบันที่ตัวเองเคยวิพากษ์

นักเขียนคนที่สองก็คือเขาล่ะ วัฒน์ วรรยางกูร หรือ สหายร้อย นักปฏิวัติ ศิลปินจากเขตงาน 333 พื้นที่ที่ผมลงหลักเคยเป็นพื้นที่ที่เขาเคยหยัดยืน

เกือบสามสิบปีก่อน อ้วน กิตติชัย งามชัยพิสิฐ แนะนำให้ผมอ่าน ปลายนาฟ้าเขียว งานของวัฒน์หวานกว่าของวิมล เป็นความหวานแบบเฉิ่มๆ คล้ายกับงานที่เผยแพร่ในนิตยสารทั่วไป มันหวานแบบบ้านนอกคอกนา หวานเหมือนข้าวหมากห่อใบบัว กินเล่นๆ พอได้อารมณ์ครึ้มๆ แต่ผมดันชอบ

ชอบจนถึงกับชวนคู่ชีวิตมาปักหลักในชนบท ซึ่งสุดท้ายถึงแม้จะไม่มีแม่นกเขาไพร แต่ก็มีเจ้าไก่เถือนมาเป็นที่รักถึงสองตัว

งานอีกชิ้นที่ชอบมากก็คือ "ฉากและชีวิต" เวลาเปลี่ยน ใจคนเปลี่ยน ประสบการณ์ที่ถมทับทำให้งานของวัฒน์เปลี่ยนไป มันขมขึ้น แต่ก็ยังเป็นความขมปนความหวานแต่ก็มีกลิ่นหอมอ่อนๆของเม็ดข้าว เหมือนกับเหล้าสาโทที่หมักจนแก่กล้าพร้อมที่จะถูกนำไปต้มกลั่นเป็นสุราใส

แต่ที่มากกว่านวนิยายหรือสิ่งที่เรียกให้หรูว่าวรรณกรรม ก็คือชีวิตของวัฒน์เอง

วัฒน์ ไม่ได้ยุติชีวิตในวัย 61 ปี ลงอยู่ตรงที่การเป็นผู้ประกอบการรายเล็กหรือรายใหญ่ วัฒน์เขียนชีวิตของตัวเองให้โลดแล่นอยู่บนเส้นทางการต่อสู้ของประชาชนตลอดมา ชีวิตของวัฒน์ได้กลายเป็นวรรณกรรมชั้นดีไม่ต่างจากงานที่วัฒน์ผลิตออกมา

เขียนเนื่องในโอกาสที่วัฒน์อายุครบรอบ 61 ปี 2 วัน

14 มกราคม 2559

 

หมายเหตุ: แก้ไขเพิ่มเติมเล็กน้อยจาก https://www.facebook.com/sarayut.tangprasert/posts/1088802967830520?pnref=story

บล็อกของ gadfly

gadfly
  เห็นบนเฟซบุ๊กมีการพูดกันบ่อยๆว่า แกนนำ นปช.พาคนไปตาย พาคนไปติดคุก แกนนำไม่รับผิดชอบกับชีวิตของมวลชน ผมคิดว่ามันเป็นข้อกล่าวหาโจมตีผู้อื่นเพื่อเป็นการยกตนขึ้นสูง หรืออีกนัยหนึ่งคือมันเป็นข้อกล่าวหาทางศีลธรรม
gadfly
ผมคิดว่าผู้ที่ให้บทเรียนที่ดีที่สุดสำหรับผู้ที่สนับสนุนการรัฐประหาร ก็คือ ทหาร รัฐบาลทหาร และ ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯที่พวกเขาสร้างขึ้นมาเอง
gadfly
เมื่อคืนผมไม่ได้ดื่มเหล้า เลยเกิดอาการตาสว่าง ต้องใช้ความพยายามอย่างมากที่จะหลับ และกว่าจะหลับก็ปาเข้าไปเกินตีสาม .หลับแล้วก็ยังฝันต่ออีก.ฝันว่าได้กลับไปอยู่บ้าน บ้านก็ยังคงมีสภาพเหมือนเดิม แต่สภาพแวดล้อมรอบบ้านกลับเปลี่ยนไป มันกลายเป็นทุ่งหญ้า กว้าง กว้าง และกว้าง...
gadfly
เมื่อคิดถึงเรื่องโอกาสทางการศึกษา ในกรณีผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดตาม กม.อาญา มาตรา 112ผมคิดถึงนักศึกษาสองคนคนหนึ่งเรียนอยู่ ม.เทคโนโลยีมหานคร คณะวิศวกรรมศาสตร์ ปีสุดท้าย เขาชื่ออัครเดช ชื่อเล่นว่า เค
gadfly
อ่านข้อถกเถียงในประเด็นเรื่องฟรีสปีช เฮทสปีช ความรุนแรง เสรีภาพในการแสดงออก ฯลฯ ของบรรดาปัญญาชนมากมาย แต่ใจกลับย้อนคิดถึงเหตุการณ์หนึ่ง ซึ่งอาจไม่เกี่ยวไม่ข้องกับเหตุการณ์ข้างต้นเลย ก็เลยลองยกมา