Skip to main content

13 พฤษภาคม 2553 เวลาประมาณสี่ทุ่ม  ชาติชาย ชาเหลา คนขับแท็กซี่ อายุ 25 ปี ถูกกระสุนปืนยิงเข้าที่ศีรษะ เสียชีวิตคาที่ จากกระสุนปืนไรเฟิลจากทหารยุติชีวิตของเขาลงทันทีขณะที่ในมือของเขายังถือกล้องถ่ายวิดีโออยู่

.
.
.
การเกิดขึ้นของคนเสื้อแดงหลังปี 49 นอกจากที่จะไม่ได้รับการยอมรับหรือการเสนอข่าวจากสื่อมวลชนแล้วยังกลับส่งผลตรงกันข้าม

ถ้าไม่ชุมนุมใหญ่ๆจริงๆ ก็ไม่มีทางเป็นข่าว หรือหากเป็นก็อยู่ในกรอบเล็กๆและเนื้อหาส่วนใหญ่ในสื่อดูจะไม่เป็นคุณต่อพวกเขา

แต่ถ้ามีพลาดพลั้งเผลอ เกิดความรุนแรงปะทะกับฝ่ายตรงข้าม ไม่ว่าทั้งเจ้าหน้าที่รัฐหรือเสื้อเหลืองสื่อกระแสหลัก สื่ออาชีพทั้งหลายก็พร้อมที่จะระดมมือตีนทุบกระทืบพวกเขาลงจนจมกองตีน

แต่พวกเขาก็ทรหดพอที่จะลุกขึ้นมาได้ใหม่ทุกครั้ง

ไม่แน่ใจว่าจากเหตุนี้ด้วยหรือไม่ การมาชุมนุมของคนเสื้อแดงต่อๆมามักจะพกกล้องถ่ายภาพหรือถ่ายวิดีโอมาด้วยเสมอ

ผมเห็นตั้งแต่กล้องดิจิตอลราคาถูกๆ กล้องถ่ายวิดีโอแบบใช้ม้วนเทปในการบันทึกรุ่นพระเจ้าเหา  ส่วนใหญ่ก็ถ่ายกันเอง ใครสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตก็นำภาพที่ได้ไปโพสต์ตามเว็บบอร์ด ส่วนภาพวิดีโอนี่ไม่รู้ว่าเอาไปทำอะไรเพราะ youtube ก็ยังง่อยอยู่ในสมัยนั้น ยังไม่ต้องพูดถึงเฟซบุ๊กหรือโซเชียลมีเดียอะไรอื่นๆที่อาจเรียกได้ว่ายังไม่ทันเกิด

ผมเข้าใจว่ามันช่วยเติมเต็มส่วนที่ขาดให้พวกเขา ก็เมื่อสื่อหลักไม่สนใจ พวกเขาก็ทดแทนด้วยการเป็นสื่อบันทึกกิจกรรมของพวกเขาเอง

เมื่อเกิดความรุนแรง เมื่อเกิดข้อครหา เมื่อมีเหตุการณ์ปะทะ พวกเขาก็ใช้อาวุธโกโรโกโสที่ถืออยู่ในมือบันทึกเหตุการณ์ ตอบโต้กับสื่อของฝ่ายตรงข้ามเพื่อช่วงชิงการอธิบายต่อสาธารณะ

ไม่ค่อยเวอร์คหรอก แต่ก็ดีขึ้นกว่าเดิมซักหน่อย พอได้มีภาพมุมมองอีกด้านมาโต้เถียงกันบ้าง

สถานการณ์เสื้อแดงไม่ได้ดีขึ้นมากนัก แต่หลังการตายในปี 53 สื่อส่วนหนึ่งหันมาสนใจและทำความเข้าใจคนเสื้อแดงมากขึ้น อาจเป็นเพราะสงสาร ซึ่งก็พอถือเป็นเรื่องดีได้บ้าง

แต่ถ้าถามว่าบทบาทการทำหน้าที่สื่อของคนเสื้อแดงเองมันหมดไปหรือไม่ก็คงต้องบอกว่าไม่ใช่ ภาพข่าวที่พวกเขาบันทึกถูกดึงไปใช้บ่อยครั้ง และมีหลายครั้งที่ไม่มีการให้เครดิต มีบางครั้งก็อ้างที่มาว่ามาจากนักข่าวพลเมือง

ดูเหมือนจะได้ยกระดับขึ้นมาเป็นสื่อ แต่ก็ดูเหมือนว่าจะเป็นสื่อประเภทสองในทางศักดิ์ฐานะ

ชาติชาย ซาเหลา ก็คือหนึ่งในสื่อเสื้อแดงที่ผมเขียนถึง  แต่ความตายของเขาก็เป็นแค่เพียงความตายของคนเสื้อแดงคนหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้ถูกยกมาพูดถึงว่าเป็นความตายของสื่อแต่อย่างใด

แม้ว่าเขาจะพยายามบันทึกและถ่ายทอดความรุนแรงที่เขาเห็นออกมาสู่สาธารณะจากมุมมองของเขาก็ตาม

การเกิดขึ้นของสื่อพลเมืองอาจทำให้สื่ออาชีพทำงานยากลำบากมากขึ้น ต้องรัดกุมในการนำเสนอมากขึ้น ต้องพยายามเสนอในสิ่งที่เป็นข้อเท็จจริงมากขึ้น  แต่ในขณะเดียวกันมันก็ทำให้คนที่ทำอาชีพสื่อทำงานได้ง่ายมากขึ้น และลดความเสี่ยงในการทำงานลงอย่างมากเช่นกัน

ก็นักข่าวพลเมืองทำงานเป็นกองหน้าให้อยู่แล้ว

ที่จริงก็ดูวินวินถ้าไม่คิดถึงภาพของหนุ่มสุรินทร์วัย 25 ปี ที่ถูกยิงตายเหมือนหมาข้างถนน เพราะมันทำให้ผมรู้สึกว่าคุณค่าของสื่ออาชีพด้อยค่าลงขณะที่สื่อในมือของประชาชนสูงค่าขึ้น

0000

ปล. ถ้ารู้สึกว่าโลกสวยเกินไปก็อยากให้ลองอ่านคอมเมนต์ตามลิงค์ดู https://www.youtube.com/watch?v=YoRlRrKXzBY


เรื่องที่เกี่ยวเนื่อง: https://www.facebook.com/sarayut.tangprasert

 

บล็อกของ gadfly

gadfly
  เห็นบนเฟซบุ๊กมีการพูดกันบ่อยๆว่า แกนนำ นปช.พาคนไปตาย พาคนไปติดคุก แกนนำไม่รับผิดชอบกับชีวิตของมวลชน ผมคิดว่ามันเป็นข้อกล่าวหาโจมตีผู้อื่นเพื่อเป็นการยกตนขึ้นสูง หรืออีกนัยหนึ่งคือมันเป็นข้อกล่าวหาทางศีลธรรม
gadfly
ผมคิดว่าผู้ที่ให้บทเรียนที่ดีที่สุดสำหรับผู้ที่สนับสนุนการรัฐประหาร ก็คือ ทหาร รัฐบาลทหาร และ ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯที่พวกเขาสร้างขึ้นมาเอง
gadfly
เมื่อคืนผมไม่ได้ดื่มเหล้า เลยเกิดอาการตาสว่าง ต้องใช้ความพยายามอย่างมากที่จะหลับ และกว่าจะหลับก็ปาเข้าไปเกินตีสาม .หลับแล้วก็ยังฝันต่ออีก.ฝันว่าได้กลับไปอยู่บ้าน บ้านก็ยังคงมีสภาพเหมือนเดิม แต่สภาพแวดล้อมรอบบ้านกลับเปลี่ยนไป มันกลายเป็นทุ่งหญ้า กว้าง กว้าง และกว้าง...
gadfly
เมื่อคิดถึงเรื่องโอกาสทางการศึกษา ในกรณีผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดตาม กม.อาญา มาตรา 112ผมคิดถึงนักศึกษาสองคนคนหนึ่งเรียนอยู่ ม.เทคโนโลยีมหานคร คณะวิศวกรรมศาสตร์ ปีสุดท้าย เขาชื่ออัครเดช ชื่อเล่นว่า เค
gadfly
อ่านข้อถกเถียงในประเด็นเรื่องฟรีสปีช เฮทสปีช ความรุนแรง เสรีภาพในการแสดงออก ฯลฯ ของบรรดาปัญญาชนมากมาย แต่ใจกลับย้อนคิดถึงเหตุการณ์หนึ่ง ซึ่งอาจไม่เกี่ยวไม่ข้องกับเหตุการณ์ข้างต้นเลย ก็เลยลองยกมา