Skip to main content


เสาร์อาทิตย์ ตั้งใจจะต่อเติมบ้านส่วนที่ทำค้างไว้ให้แล้วเสร็จ ต้องจ้างช่างชาวบ้านและลูกมือเป็น นร ม ปลายมาทำ เพราะงานปูนทำเองไม่ไหวแล้ว

ช่างไม่มา ส่วนลูกมือไปเฝ้าเบ็ดตกปลาที่อ่างเก็บน้ำ เสียเวลารอ เสียหัวสองวันเต็มๆ วันหยุดด้วย

พบเพื่อนในหมู่บ้าน ถามถึงนายช่างผู้หายสาบสูญ เพื่อนเล่าให้ฟังว่า นายช่างของเราหลบลูกชายคนโตที่โตเป็นหนุ่มใหญ่แล้ว มันเล่นม้า มันเล่นยาบ้า แล้วก็มาจิกไถเงินผู้พ่อ นายช่างใหญ่ของเราเลยต้องแอบซ่อนตัวหลบลูกชายของตัวเอง

เพื่อนยังไล่ให้ข้อมูลในชุมชนมาอย่างยืดยาว แต่ขอไม่เล่าเพราะไม่ปลอดภัย บอกได้แค่ว่าตอนนี้คนในชุมชนคิดถึงการประกาศสงครามยาเสพติดกับคนชื่อทักษิณอีกแล้ว



ดราม่าที่น่าจะเผ็ดร้อนที่สุดแห่งปี น่าจะเป็นกรณีเรื่องการประหารชีวิตและการรณรงค์ให้ยกเลิกโทษประหาร

ถกเถียงจนถึงขั้นด่าทอกันมากมายขอไม่ลงรายละเอียด แต่เพื่อนที่อยู่ฝ่ายรณรงค์ให้ยกเลิกโทษประหารหลายคนดูจะอกหัก เสียใจ ที่คนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งประกาศตัวสนับสนุนโทษประหารเต็มตัว

เมื่อยกกรณียาเสพติด หากมองย้อนหลังไปถึงยุคของทักษิณประกาศสงครามยาเสพติด ผมพบว่าคนชั้นกลางในเมืองกับคนจนในชนบทมีภาพความทรงจำที่แตกต่างกัน

คนชั้นกลางมีภาพความทรงจำถึงการจับและฆ่าผู้ค้ารายใหญ่จำนวนมาก เป็นการสังหารนอกกฎหมายที่ไม่สามารถหาตัวคนร้ายเป็นส่วนใหญ่ จนคำว่า”ฆ่าตัดตอน” กลายเป็นคำฮิตติดหู และภาพของทักษิณได้กลายเป็นภาพของ ฆาตกร ปีศาจร้าย ผู้เข่นฆ่าเพื่อนมนุษย์ไป

ต่างกัน ในพื้นที่ชนบท และในพื้นที่ชุมชนแออัด ยาเสพติดแทบจะหายหมดไป บรรดาผู้ค้าที่รอดจากความตายก็หายหดซุกหัว คนหนุ่มสาวที่เคยเป็นมิจฉาชีพ หาเงินได้ก็เอามาซื้อยาก็กลับคืนมาเป็นปุถุชนคนปกติ กลับคืนสู่ครอบครัวไม่ต้องบำบัดอะไรมากมาย

แถวบ้านผม จากคนที่แทบไม่ได้อยู่บ้าน ไปเสพยาตามป่าตามทุ่ง ลักลอบตัดไม้ทั้งในป่าและในที่ดินของคนอื่นมาแลกกับยา ก็กลับคืนสู่บ้านเรือนครอบครัว

กลายเป็นการคืนคนดีสู่สังคมในภาคปฏิบัติ นอกจากคืนลูกหลานให้กับพ่อแม่แล้ว ยังเป็นการคืนแรงงานให้กับครอบครัวและระบบสังคมด้วย

ภาพลักษณ์ของทักษิณและวิธีคิดในการแก้ปัญหา ระหว่างคนชั้นกลางกับคนชั้นล่างจึงต่างกันด้วย

เพราะสภาพความเสี่ยงความเลวร้ายที่จะต้องเผชิญการคุกคามจากอาชญากรมันแตกต่างกัน

ก็มันไม่มี รปภ คอยแลกบัตรหน้าหมู่บ้าน มันไม่มีกล้อง CCTV คอยสอดส่อง หรือต่อให้มีก็คงจะถูกถอดไปขาย โทรเรียกตำรวจๆ ก็ไม่ค่อยมา ดีไม่ดีโดนตบเอาโทรศัพท์ไปขายด้วย

คราวนี้พอเกิดการประหารชีวิตขึ้นการรณรงค์ค้านโทษประหารชีวิตก็ตามมา และคลื่นสึนามิสนับสนุนโทษประหารชีวิตก็โถมถมกลบกระแสรณรงค์ “ตายเกลื่อน” “ดับอนาถ” ภาษาข่าวจะพาดหัวแบบนี้



นักสิทธิมนุษยชนบางคนบอกว่าผิดหวังกับเสื้อแดง ทำไมเสื้อแดงไม่เอารัฐประหาร แต่เอาการประหารชีวิต ผมก็อยากถามกลับว่า ก็นักสิทธิมนุษยชนเอง ไม่เอาประหารชีวิต แต่เอา รัฐประหาร มันก็มีอยู่เยอะ เป็นส่วนใหญ่เลยด้วยซ้ำ (เห็นลอยหน้าออกสื่อบอกไม่เอาโทษประหารก็มี) จะอธิบายยังไง ลองอธิบายให้เป็นระบบดู

โสโครกระดับนี้ ออกมาฟอกตัวสะอาด แต่ทำให้การรณรงค์แย่ลง

เสื้อแดงโดนยิงตายกลางถนนมาแล้วในปี 53 แต่แทบจะไม่เห็นอ้ายอีนักสิทธิมนุษยชนไทยตัวไหนออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมให้ ถ้าไม่แกล้งเอาหูไปนา เอาตาไปไร่ ก็กลายเป็นการเข้าไปทำงานให้รัฐบาลอภิสิทธิ สุเทพ ไปเลย

(นอกจากคนรุ่นใหม่ๆ แล้วยกเว้นให้ สุณัย ผาสุก HRW องค์กรเดียวมั้ง ที่เป็นข้อยกเว้น ปล ผมอายุห้าสิบแล้ว )

หากสรุปจากมุมมองของผมจากปัญหาการรณรงค์เรื่องยกเลิกโทษประหารไม่ได้รับการยอมรับหรือถูกต่อต้านจากสาธารณะเนื่องจากว่า เหตุผลยกเลิกโทษประหารชีวิต มันเป็นข้อเสนอเชิงคุณค่าที่เป็นนามธรรมมาก ขณะที่การคุกคามจากอาชญากรมันเป็นรูปธรรมที่ยังไม่มีข้อเสนอหรือทางออก

การรณรงค์เรื่องการยกเลิกโทษประหารจึงไม่ใช่เพียงแค่การแก้ข้อกฎหมายโดยอ้างเพียงแค่ คุณค่า หลักการ หรือศีลธรรมใดๆ แต่เป็นการสื่อสาร แลกเปลี่ยน ทำความเข้าใจสภาพปัญหาที่เป็นจริงพร้อมกับการสร้างข้อเสนอต่อสังคมในเชิงระบบ (ที่กว้างกว่าการประหารชีวิตหรือไม่)ที่เป็นรูปธรรมสามารถปฏิบัติได้ให้สังคมพิจารณาด้วย

 

 

บล็อกของ gadfly

gadfly
  เห็นบนเฟซบุ๊กมีการพูดกันบ่อยๆว่า แกนนำ นปช.พาคนไปตาย พาคนไปติดคุก แกนนำไม่รับผิดชอบกับชีวิตของมวลชน ผมคิดว่ามันเป็นข้อกล่าวหาโจมตีผู้อื่นเพื่อเป็นการยกตนขึ้นสูง หรืออีกนัยหนึ่งคือมันเป็นข้อกล่าวหาทางศีลธรรม
gadfly
ผมคิดว่าผู้ที่ให้บทเรียนที่ดีที่สุดสำหรับผู้ที่สนับสนุนการรัฐประหาร ก็คือ ทหาร รัฐบาลทหาร และ ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯที่พวกเขาสร้างขึ้นมาเอง
gadfly
เมื่อคืนผมไม่ได้ดื่มเหล้า เลยเกิดอาการตาสว่าง ต้องใช้ความพยายามอย่างมากที่จะหลับ และกว่าจะหลับก็ปาเข้าไปเกินตีสาม .หลับแล้วก็ยังฝันต่ออีก.ฝันว่าได้กลับไปอยู่บ้าน บ้านก็ยังคงมีสภาพเหมือนเดิม แต่สภาพแวดล้อมรอบบ้านกลับเปลี่ยนไป มันกลายเป็นทุ่งหญ้า กว้าง กว้าง และกว้าง...
gadfly
เมื่อคิดถึงเรื่องโอกาสทางการศึกษา ในกรณีผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดตาม กม.อาญา มาตรา 112ผมคิดถึงนักศึกษาสองคนคนหนึ่งเรียนอยู่ ม.เทคโนโลยีมหานคร คณะวิศวกรรมศาสตร์ ปีสุดท้าย เขาชื่ออัครเดช ชื่อเล่นว่า เค
gadfly
อ่านข้อถกเถียงในประเด็นเรื่องฟรีสปีช เฮทสปีช ความรุนแรง เสรีภาพในการแสดงออก ฯลฯ ของบรรดาปัญญาชนมากมาย แต่ใจกลับย้อนคิดถึงเหตุการณ์หนึ่ง ซึ่งอาจไม่เกี่ยวไม่ข้องกับเหตุการณ์ข้างต้นเลย ก็เลยลองยกมา