Skip to main content
 

เมาท์เทนวิว เป็นโรงแรมขึ้นชื่ออีกแห่งหนึ่งในซาปาที่มีคนไทยนิยมไปพักมากที่สุด
อย่างน้อย รีเซฟชั่นโรงแรมอย่างมิงก็เม้าท์ให้ฟังเอาไว้อย่างนั้น

เราพบเมาท์เทนวิวในเว็บไซต์แนะนำที่พักจากนักท่องเที่ยวคนหนึ่งที่เขียนบันทึกเรื่องราวของเขาในเวียดนามเอาไว้อย่างน่าสนใจ "เมาท์เทนวิว สวยและสะอาด ข้างหลังเป็นทิวเขาที่สลับซับซ้อนและตรงกับจุดที่พระอาทิตย์ตกพอดี ด้านซ้ายจะเห็นกลุ่มบ้านเรือนกลางใจเมืองซาปา ขวาจะเป็นถนนสีเทายาวเหยียดและกลุ่มนาขั้นบันได ทุกเช้า (หากคุณตื่นเช้า) จะมองเห็นละอองหมอกระเรี่ย"

เท่านั้นแหละครับ เมื่อผมกะยาดาไปถึงซาปา เราดิ่งไปเมาท์เทนวิวโดยไม่รอรีเควสซ้ำสอง

เมาท์เทนวิว มีบริการนำเที่ยวหลายรูปแบบ เราเลือกใช้บริการไกด์ทัวร์หมู่บ้านแบบฮาร์ด โร้ด เดินทะลุมันทีเดียว 4 หมู่บ้าน ในเวลา 1 วัน แล้วนั่งรถกลับ จากหมู่บ้านแคท แคท - เลาไช - ยาแหล่งโฮ - และขึ้นรถกลับที่หมู่บ้านถ่าวาน มีอาหารกลางวันเป็นแซนวิช 1 มื้อ สนนราคานี้อยู่ที่ 15 เหรียญ/คน โดยมีไม ไกด์ชาวม้งดำเป็นคนนำทาง

ไม เป็นม้งดำที่พูดภาษาอังกฤษได้ดีมาก เธออายุเพียง 19 ปี จากหมู่บ้านเลาไชและไม่ได้เรียนหนังสือ เธอฝึกพูดภาษาอังกฤษจากการอาชีพไกด์ อาศัยว่ากล้าพูด เท่านี้ก็เป็นไกด์ได้แล้ว

ไม มารอเราแต่เช้า หลังจากทักทายกันเป็นที่เรียบร้อย เธอเดินนำเราลงเนินข้างเมาท์เทนวิว ครอบครัวของเธอมีด้วยกัน 11 คน เธอมีความฝันว่า เธออยากไปอยู่ออสเตรเลีย ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่า สวยเรียบง่ายและน่าอยู่กว่าประเทศของเธอมาก

ซาปาเป็นเมืองที่ล้อมรอบไปด้วยภูเขาสลับซับซ้อน เราทั้ง 3 คนเดินผ่านนาขั้นบันไดริมทางเดินมาหลายผืน ชาวนาเวียดหลายคนเริ่มต้นการทำนาด้วยการขุดดินเป็นขั้น ล้นเนิน ส่วนใหญ่ยังใช้แรงควายไถนา ภาพเด็กชายขี่ควายบนเนินน่าประทับใจมาก ผ่านไปสักระยะ จะมีชาวนาเวียดกระเตงลูกทำนา เป็นภาพที่หาดูได้ยาก

"คนที่นี่ไม่ค่อยชอบถูกถ่ายรูป" ไม พยายามอธิบายให้เราระมัดระวังเรื่องการถ่ายรูป
"ทำไม" ยาดาสนใจขณะที่โฟกัสหญิงชาวซาปาคนหนึ่ง
"เค้าเชื่อว่า เค้าจะไม่สบาย" ไมว่า
"แล้วถ่ายภาพไมได้หรือเปล่า" ผมถาม หันมามองใบหน้าไมอย่างจริงจัง
"ได้สิ ฉันไม่เป็นไร" เธอยิ้มหลังคำตอบ
...

สภาพบ้านเรือนในเขตภูเขาของซาปาส่วนใหญ่เป็นบ้านดิน หลังคาทำด้วยแผ่นไม้ครอบลงมาถึงตัวบ้านเพื่อป้องกันความหนาว ขุดลึกลงไปอยู่ในพื้นบนเนินดินเตี้ยๆ บางแห่งจะเป็นหินก้อนใหญ่นำมาก่อเป็นตัวบ้าน รอบบ้านจะทำแปลงเกษตรผักสวนครัว ที่เห็นมากที่สุดเห็นจะเป็นผักกวางตุ้งและกะหล่ำปลีหัว เลี้ยงเป็ดไก่ ปล่อยให้อิสระเต็มที่เอาไว้ในนาปริ่มน้ำ

ช่วงเดินเมษายนจะเป็นช่วงเดือนของการเตรียมดินสำหรับปลูกข้าว เตรียมหว่านดำเพาะเป็นกล้าข้าวเพื่อเตรียมไปปลูกในแปลงใหญ่อีกที ลาดเนินเขาแต่ละแห่งสูงต่ำ บางแห่งสูงมากแต่ก็ถูกแปรสภาพเป็นพื้นนาเกลี้ยง ลึกเข้าไปในภูเขา หลายจุดมีบริษัทรับเหมาทั้งจากเกาหลีและญี่ปุ่นมาขุดหน้าดินป้อนโรงงานอุตสาหกรรม

มนุษย์นี่เจ๋งที่สุดในการทำลายล้าง เปล่า ผมแค่ประชดกับตัวเอง
"ดีนะ ไมได้อยู่กับธรรมชาติที่มีคนหลายคนต้องจ่ายเงินเพื่อให้ได้ชมความงาม" ยาดาเอ่ยระหว่างทางพักริมลำธารที่ล้อมรอบไปด้วยภูเขาสลับซับซ้อน
"..." ไมนิ่งคิดเพื่อหาคำตอบ
"ไม่เชิง ชาวบ้านไม่ได้อะไรหรอก" เธอให้คำตอบ
ชาวบ้านไม่ได้อะไรหรอก นอกจากเป็นเพียงลูกจ้าง คนที่ได้ คือใคร
เจ้าของโรงแรม นักลงทุนด้านการท่องเที่ยว ฯลฯ
ผมขี้เกียจหาคำตอบ
...

เที่ยงวัน ณ ร้านแห่งหนึ่งที่ถูกจำลองเป็นเสมือนโรงเตี๊ยมในหมู่บ้านเลาไช อย่างที่เห็นในหนังจีน ไมพาเราเดินเข้าไปเพื่อกินแซนวิชไข่และแฮม ที่เตรียมมา เราพบเห็นกลุ่มนักท่องเที่ยวอีกหลายกลุ่มที่ใช้เส้นทางเดียวกันกับเรามาอยู่ในโรงเตี๊ยมแห่งนั้นอีกหลายคน

คนขายไอติมชนเผ่าขับมอเตอร์ไบก์มาจอดหน้าร้าน รอลูกค้า ยั่วน้ำลายด้วยไอติมสีขาว ส่งไอเย็นสดใส เด็กชาวม้งดำ 2 คน เลียไอติมในมือด้วยความแช่มชื่น

อากาศร้อนอ้าวแต่ก็เย็นเยียบอย่างบอกไม่ถูก ตามความเห็นของผม ซาปา มีสภาพอากาศที่ค่อนข้างพิลึกพิลั่นไม่ใช่น้อย เดี๋ยวก็มีแดดจ้า เดี๋ยวก็มีหมอกลงหนา สลับกันไป คาดเดาว่าคงเป็นลักษณะของเมืองที่อยู่ในหุบเขาที่มีความแปรปรวนตามแรงกดในสภาพอากาศ

เด็กชาวม้งดำคนหนึ่งแอบมองเราทางหน้าต่าง เธอรอจังหวะเวลา ทันทีที่นักท่องเที่ยวลุกจากโต๊ะ เธอจะเอื้อมมือไปหยิบขวดน้ำพลาสติก หากมีน้ำเหลืออยู่ในขวดเธอจะดื่มให้หมดก่อนที่จะเก็บขวดเปล่าเอาไว้ในถุง

เราต้องเดินทางต่อไปแล้ว
...

เส้นทางที่เหลืออีกระยะครึ่งทางเป็นทางเชื่อมต่อระหว่างไร่ของชาวเวียดในซาปา จากยาแหล่งโฮถึงถ่าวาน รถจะรอรับเราอยู่ที่นั่น ไมทำหน้าที่ของเธออย่างเต็มที่

ช่วงหนึ่งเธอเอ่ยถามเราด้วยความเขินอายว่า
"เมืองไทยมีผู้ชายตุ้งติ้งหรือเปล่า" เธอพยายามใช้ศัพท์ว่าเลดี้บอย
"มีสิ เมืองไทย เรียกว่า กะเทย" ยาดาพยายามคิดคำอธิบายที่ไม่ได้ออกไปในลักษณะดูหมิ่นและให้เข้าใจว่า เมืองไทยค่อนข้างจะยอมรับกับการมีอยู่ของคนเหล่านี้
"เลดี้ บอย ที่เมืองไทยผ่าตัดแปลงเพศได้ ประกวดมิส อคาซา โลก ได้รับรางวัลชนะเลิศ เอ่อ บางคนสวยกว่าผู้หญิงจริงๆ เสียอีก" ยาดาเสริมท้าย
"โอ จริงเหรอ" ไมทำตาโต รอยยิ้มของเธอเจืออารมณ์เขินเล็กๆ
"... เวียดนามมีเลดี้ บอย หรือเปล่า"
"มี แต่เค้าไม่กล้าเปิดเผยตัวเองหรอก" ในกังวานนั้น ไม หมายความว่า จะถูกทางการจับ
...

หมู่บ้านเล็กหมู่บ้านน้อยที่เราเดินทางผ่าน สิ่งที่นักท่องเที่ยวจะเจอเป็นสิ่งแรก คือ ร้านสินค้าที่ระลึก มีตั้งแต่เข็มกลัด ผ้าปักลาย หมวก(สามเหลี่ยม) กระเป๋า

และการเข้ามากลุ้มรุมขายสินค้าของชาวบ้าน
"ทู บาย ฟอม มี๊" เด็กๆ จะออกเสียงยาวๆ และเดินตามกันเป็นพรวน ยื่นกระเป๋าและเส้นไหมถักให้เราดู หญิงชาวอเมริกันต่อรองราคาด้วยเสียงห้าว ถัดไปเป็นชายหนุ่มชาวญี่ปุ่น ที่เดินผละออกมาจากกลุ่มโบกมือ "โน แต๊งๆๆๆ" ก่อนจะเดินหนีและมีเด็กๆ เดินตามเป็นพรวน

ส่วนผมกะยาดา เราใช้ความนิ่งสงบสยบความเคลื่อนไหว
เอ่อ แต่บางทีก็ใช้สภาพโทรมของนักท่องเที่ยวอย่างสยบก็ได้ผลชะงัด
ถ่าวาน เป็นหมู่บ้านใหญ่ พี่สาวของไมเปิดร้านขายสินค้าที่ระลึกอยู่ที่นี่ เราแวะเข้าไปดูตามคำเชิญ แต่ไม่มีสิ่งใดน่าสนใจหรือแปลกไปมากกว่าไนท์ บาซา ที่เชียงใหม่ เราจึงไม่ซื้อ ไม ไม่ว่าอะไร ไม่เหมือนกับแม่ค้าคนอื่นๆ ที่เมื่อลูกค้าซื้อจะคะยั้นคะยอหรือเข้าโหมดบึ้งตึงขึ้นมาทันที

ระหว่างรอรถตู้มารับกลับโรงแรม ...
ยาดายื่นเงินจำนวนหนึ่งให้ไม ถือเป็นเงินพิเศษ ระหว่างความผูกพันที่ก่อตัวขึ้น
อย่างไม่รู้ว่าควรจะตอบแทนเธอ อย่างไรดี

ไม โบกมือเป็นคำตอบ
"ทุกอย่างมันโอเค สำหรับฉัน"
ผมไม่รู้จะแปลคำตอบของเธอออกมาเป็นภาษาไทยอย่างไรดี สิ่งที่มากกว่านั้น คือ ภาษาที่ออกมาจากหัวใจของเธอ ไม ไกด์แห่งซาปา คนนี้ เด็กผู้หญิงที่มีความฝันอยากเห็นโลกกว้าง เธอยอมรับว่า เธอไม่อยากอยู่ที่นี่ เธอไม่อยากแต่งงานเร็วเหมือนกับเด็กผู้หญิงในหมู่บ้านของเธอ

เธออยากเดินทาง!!
แต่วันนี้ ไม ยังไม่เคยออกจากหมู่บ้านของตัวเอง แม้แต่ฮานอย!!

17_7_01
ไมกับยาดา

17_7_02
ใบหน้าเปรอะขนาดนี้มีให้เห็นตามรายทางในหมู่บ้าน

17_7_03

17_7_04

17_7_05

17_7_06

17_7_07
นาขั้นบันไดและคนทำนา

17_7_08
หลุมศพ ชาวเวียดนามนิยมฝังศพเหมือนคนจีน ฝังกันในพื้นที่นานั่นแหละครับ

17_7_09
ปักผ้าลวดลายผ้ากันสดๆ

17_7_10
ไม ไกด์นำเที่ยวชาวม้งดำ

บล็อกของ กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์

กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
ใบไม้ปลิดออกจากขั้ว กลายเป็นสีขาวกลางผืนป่าสีเขียว
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
   ฮ่อมดง มองเห็นเป็นพุ่มๆ ริมทาง
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
ดงน้อยเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวมักจะหยุดค้างแรม มีห้องน้ำที่ทำด้วยไม้ไผ่สานใบตองตึงต่ออย่างหยาบๆ ในห้องขุดลึกเป็นโพรงราวๆ 3 เมตร ปากหลุมเป็น 4 เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 1x1 เมตร มีไม้พาดระหว่างปากหลุมให้นักท่องเที่ยวเข้าไปนั่งทำธุระทั้งหนักและเบานักเดินป่าสัก 10 คน มาถึงดงน้อยในเย็นวันนั้น อากาศขมุกขมัวทำให้เวลากลางวันสั้นกว่าเวลากลางคืน มืดสนิทภายใต้อ้อมกอดของขุนเขาและราวป่า ลูกหาบของคณะเดินป่าชุดนั้นเริ่มอุธทรณ์ เมื่อพวกเขาคิดว่า จะเดินไปอ่างสลุงในคืนนั้น เพื่อให้ทันดูทะเลหมอก“หากพวกคุณจะไป พวกคุณไปได้เลย ลูกหาบ(4 คน)จะพักที่นี่แล้วตามไปพรุ่งนี้”“อ่าว แล้วเราจะเอาอะไรกินคืนนี้” หนึ่งในนั้นเริ่ม…
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
ผมยืนมอง ขาหมูอวบๆ สีน้ำตาลเข้มแช่อยู่ในน้ำพะโล้ที่ร้านพรเพ็ญ(ขาหมูเสวย เจ้าเก่า)มันนอนนิ่งๆ รอคนขายเอามีดมาปาดบางๆ โปะลงบนข้าวให้ลูกค้า ไอร้อนหน้าเตาพอจะช่วยให้เนื้อตัวผมเบาขึ้นจากความหนาวนอกร้านที่กัดกร่อนถึงกระดูก"ซื้อขาหมู 100 บาท ครับ" ผมบอกคนขายแกกำลังวุ่นวายอยู่กับงานขายตรงหน้า ลูกค้าเริ่มทยอยเข้ามาหนาตา แดดสายแหย่ตัวรอดตามช่องชายคา ผมคิดว่า เราน่าจะซื้อขาหมูขึ้นไปกินบนดอยหลวงเชียงดาว...
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
ผมเจอ สาม พัน โบก โดยบังเอิญ คุณป้าจากสองคอน รีสอร์ท แกบอกว่าให้ขับรถไปสัก 3 กิโลเมตร เลี้ยวซ้าย สุดสวนมะขามของอาจารย์เรืองประทิน นั่นแหละอาจารย์เรืองประทิน ชายร่างใหญ่ ผิวสีน้ำตาลไหม้ ผมหยักศกสีดำสนิท ทำให้แกดูขรึมๆ แต่รอยยิ้มที่ออกมาจากดวงตาเล็กๆ คู่นั้น บอกว่า แกเป็นคนมีไมตรี“นาย 2 คน มาจากที่ไหนกัน” แกทักด้วยน้ำเสียงแบบพ่อพิมพ์ภูธร“กรุงเทพฯ ครับ” เพื่อนผมบอก ก่อนจะเล่าที่มาที่ไปและมาที่นี่ได้ยังไง“โอ้ว นั่น คุณเดินลงไปสำรวจสิ” แกชี้ไปที่กลุ่มโขดหินเว้าแหว่ง ข้างหน้า
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
ทะเลแหวก ที่หาดนพรัตน์ธารา เสียงเครื่องเรือหางยาวออกจากฝั่ง พรายฟองทะเลสีขาวละเอียดแหวกออกเป็นสายตามความเร็วของเรือ ไกลออกไปสุดลูกหูลูกตา ขอบฟ้ากับผืนน้ำจรดกันแทบเป็นเนื้อเดียวอาสาสมัครลงความเห็นว่า เราควรจะไปทะเลแหวกอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-อ่าวพระนาง หมู่เกาะพีพี หรือ "หาดคลองแห้ง" ตามคำเรียกเดิมของคนพื้นถิ่น ด้วยเหตุผลง่ายๆ ทางภูมิศาสตร์ช่วงน้ำลง น้ำคลองซึ่งไหลลงมาจากภูเขาทางด้านเหนือจะแห้งขอด ทรายขาวละเอียดปนเปลือกหอยยาวเหยียดจะโผล่เหนือผืนน้ำ ทอดยาวลงทะเล ก่อนจะบรรจบกับเกาะเขาปากคลอง เข้ากันได้ดีกับทิวสนริมฝั่ง กลายเป็นภูมิทัศน์ชายหาดแปลกตาสำหรับนักท่องเที่ยว ไกลออกไป…