Skip to main content
รถตู้กลางเก่ากลางใหม่ของบริษัทดาวทองขนส่ง จำกัด ออกจากสถานีช้างเผือก 10.30 น. หนุ่มใหญ่วัย 40 เศษ ไว้เคราบางๆและสวมแว่นตาดำตลอดเวลาซิ่งเจ้าเพื่อนยากปุเลงไปตามสันเขาน้อยใหญ่บนเส้นทางเชียงใหม่-เปียงหลวง 161 กิโลเมตร แดดฤดูร้อนจัดจ้านขับให้ดอกหางนกยูงสีแดงข้างทางสดเข้ม


ออกจากตัวเมืองเชียงใหม่ผ่านอำเภอเชียงดาวถึงแยกเมืองงาย เลี้ยวซ้ายไปตามถนนสายแม่จา-เปียงหลวง ก่อนที่เส้นทางจะไต่ไปตามสันเขาคดเคี้ยว หนุ่มนักซิ่งของเราจะเตือนผู้โดยสารผ่านน้ำเสียงหนักแน่นว่า


"หากใครมึนหัวหรือต้องการเข้าห้องน้ำให้รีบบอกผมหรือหยิบถุงตรงเบาะทางด้านหน้าที่เตรียมเอาไว้ให้ หากใครฮาก(อาเจียน)ใส่รถ ปรับ 500" เขาขยับแว่นเป็นเชิงว่า "ผมหวังว่า ทุกคนคงเข้าใจนะครับ" ก่อนจะปิดบานประตูด้วยเสียงหนักแน่นเหมือนน้ำเสียง ทุกคนบนรถยิ้ม

เอ่อ อาเจียนแล้วหยิบถุงมาฮากนี่พอเข้าใจได้แต่ปวดฉี่นี่สิจะหยิบถุงมาฮากยังไงหว่า ???


เมื่อเข้าสู่บ้านเลาวู ผู้มาเยือนจะมองเห็นคำว่า "ประตูสู่เวียงแหง" อยู่บนสันผาอย่างเด่นชัด หลังจากตรวจบัตรประจำตัวประชาชนในด่านทหาร จากนั้นอีก 18 กิโลเมตร จึงเข้าสู่หมู่บ้านเปียงหลวงใจกลางที่ราบหุบเขากว้างใหญ่ (เปียง-ที่ราบ,หลวง-กว้างใหญ่)


ศูนย์กลางทางวัฒนธรรมของคนไทใหญ่เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย


ประตูทางเข้าหมู่บ้านเป็นโครงไม้ทาสีน้ำตาลมีหลังคาครอบ ด้านข้างเป็นป้อมยามของหน่วยรักษาความปลอดภัย คนจำนวนมากกลับบ้านเพื่อร่วมงานปอย-ส่างลอง(21-25 เมษายน 52)และเยี่ยมครอบครัว ส่วนใหญ่เป็นชาวไทใหญ่ที่อพยพมาจากรัฐฉาน นอกจากนั้น ก็มีจีน ลาหู่ เย้า คนไทยพื้นราบ เคาะตัวเลขจำนวนประชากรแล้วอยู่ที่ 10,000 คน มากกว่า 2,000 ครัวเรือน


บางส่วนข้ามมาจากฝั่งพม่าเมืองเกียงตอง หล่าเซล เชียงตุง ข๋อนหลำ เมืองนาย เข้ามาทางด่านหลักแต่ง ห้วยยาว ป๋างกิ่วก่อ ซึ่งเคยเป็นเส้นทางและหมู่บ้านของผู้อพยพมากกว่า 200 ครัวเรือน ปัจจุบัน ด่านปิดตาย ชาวไทใหญ่ส่วนหนึ่งถูกย้ายเข้าไปอยู่ในศูนย์พักรอ ‘กงจ่อ'


เปียงหลวงเป็นหนึ่งในเจ็ดหมู่บ้านของอำเภอเวียงแหง ได้แก่ เปียงหลวง บ้านจ๊อง ม่วงป็อก แสนไห ปางป๋อ กองลมและเวียงแหง ภายในหมู่บ้านมีโรงเรียนสอนภาษาจีนชื่อว่า กวงหัว เรียนกันทุกวันจันทร์-เสาร์ ค่าใช้จ่ายต่อหัว 120-150/เดือน/รายวิชา ต้องลงเรียน 330 รายวิชาถึงจะจบหลักสูตร


คนเปียงหลวงจึงพูดได้หลายภาษา ไทย จีน ไทใหญ่และภาษาอังกฤษของบางคนดีอย่างคาดไม่ถึง ส่วนในตัวเมืองเชียงใหม่ชาวไทใหญ่จะพักอาศัยในบริเวณวัดกู่เต้า ตลาดคำเที่ยงและสี่แยกไฟหลวง


ปอย-ส่างลอง เป็นภาษาไทยใหญ่ ปอย แปลว่างาน ,ส่าง แปลว่าสามเณร ,ลอง แปลว่าดักแด้ นำทั้ง 3 คำมารวมกัน หมายความว่า เตรียมตัวเป็นสามเณรหรือพิธีบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อนตามเทศกาลของผู้คนในศาสนาพุทธ ปอย-ส่างลอง เปียงหลวง จะจัดกันทั้งวันทั้งคืน จนครบ 5 วัน (ไม่นับรวมเวลาเตรียมงานอีก 1 เดือน) ก่อนจะบวชเป็นสามเณรซึ่งชาวไทใหญ่เชื่อว่า การกลับมาร่วมงานจะได้บุญใหญ่

.....


เดือนและสา 2 พี่น้อง หญิงสาวชาวไทใหญ่ในวัยไม่ถึง 20 ปี ทั้งคู่ทำงานเย็บผ้าในโรงงานทอผ้าแห่งหนึ่งของจังหวัดระยอง


เดือนบอกว่า กลับมาร่วมงานบวชหลานชายของเธอที่ครบกำหนดบวชปอยส่างลองในปีนี้ สองพี่น้องต้องลางานหนึ่งอาทิตย์ เดินทางจากระยองมากรุงเทพฯแล้วต่อรถทัวร์มาเชียงใหม่ในคืนนั้น ก่อนจะมาขึ้นรถตู้ที่ขนส่งช้างเผือกอีก 3 ชั่วโมง เพื่อไปเปียงหลวงหมู่บ้านของเธอ รวมสะระตะแล้วเธอใช้ชีวิตอยู่บนรถ 2 วัน


"เพิ่งมาครั้งแรกเหรอ" เดือนชวนคุย

"ครับ ตื่นเต้นมาก" ผมตอบเธอ

".........."

"ลางานมาทั้งอาทิตย์ เจ้านายให้ลาเหรอ"

"จริงๆ ก็ไม่ให้ลานะ แต่ตื้อเค้าจนได้หละ เพื่อนบางคนที่รู้จักก็ไม่ได้มา"

"แล้วทำไง"

"ลาออก" เดือนตอบยิ้มๆ ทีเล่นทีจริง

ถึงด่านตรวจบ้านเลาวู สองพี่น้องต้องจ่ายค่าปรับ 200 บาท ฐานอายุบัตรขอเดินทางออกนอกพื้นที่หมดอายุ ผลพวงจากการดิ้นรนที่จะมีชีวิตรอด ทำให้คนไทใหญ่หลายคนไม่ได้มาร่วมงานบุญและหากเป็นจริงอย่างที่เดือนพูดถึง นั่นหมายถึง พลังศรัทธาของศาสนาที่ฝังรากอยู่ในจิตใจของคนไทใหญ่

.....


บริเวณงานอยู่ภายในสนามฟุตบอลโรงเรียนบ้านเปียงหลวงและพิธีกรรมจะทำกันที่วัดเปียงหลวงซึ่งอยู่ตรงข้ามโรงเรียนโดยมีพระอาจารย์ชาวไทใหญ่ผู้เป็นที่นับถือของคนเปียงหลวงเป็นผู้ดูแล พระอาจารย์ผู้มีเสียงก้องกังวานจะช่วยดูแลเด็กๆ ตั้งแต่การท่องบทสวดรับเพื่อเข้าสู่พิธีการตั้งแต่ การโกนหัว การแห่ลูกแก้ว การบวชเป็นสามเณร


พระอาจารย์ชาวไทใหญ่บอกว่า ปีนี้ มีส่างลองจำนวน 108 คน นับเป็นบวชลูกแก้วที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยทำมา ประเพณีการบวชลูกแก้วสืบทอดกันมานานนับเวลาไม่ถูก อาจจะมากกว่า 100 ปี แต่ละปีผู้คนจะรอเวลานี้เพื่อมาร่วมงานบุญ แม้บางคนไม่ได้กลับมาร่วมด้วยตัวเองแต่จะส่งเงินมาช่วยเหลือญาติพี่น้อง


การบวชลูกแก้วไม่ได้เป็นเพียงพิธีกรรมแต่เป็นแรงศรัทธาที่ฝังอยู่สายเลือดของคนไทใหญ่ ถึงแม้ว่า การบวชแต่ละครั้งจะต้องใช้เงินสูงถึง ครอบครัวละ 60,000 บาท ในการเตรียมงานและเลี้ยงแขกที่มาร่วมงาน จนช่วงหลังมีการประชาสัมพันธ์ให้งานประเพณีเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการส่งเสริมการท่องเที่ยว หน่วยงานส่วนท้องถิ่นจึงเข้ามาร่วมและสบทบทุนร่วมจัดงาน


ซุ้มส่างลองแต่ละซุ้มจะได้รับการประดับประดาอย่างงดงาม ส่างลองทุกคนจะต้องมาอยู่อาศัยภายในซุ้มจนครบกำหนด 5 วัน โดยมีผู้ดูแล เรียกว่าพ่อส้าน-แม่ส้าน ที่คอยช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกเพราะเชื่อกันว่าระหว่างพิธีการบวชเท้าของส่างลองจะต้องไม่แตะพื้น ดังนั้น เวลาจะไปไหนมาไหนพ่อส้านจะทำหน้าที่ให้ส่างลองขี่คอ ส่วนแม่ส้านจะทำหน้าที่เรื่องอาหารการกินดูแลแขกและแต่งหน้าตาส่างลองให้งดงามอยู่เสมอ


สำหรับชุดในการประกอบพิธีกรรม แต่ละชุดจะต้องตัดใหม่ทั้งหมด มีสีสันตามวันที่แตกต่างกันออกไป หลังจากท่องบทสวดรับขึ้นใจจะเป็นพิธีโกนผม โดยใช้น้ำละลายกับส้มป่อย(มะขามแขก)ชำระล้างก่อนกันไม่ให้เจ็บศีรษะ โกนแล้วหัวจะใส เริ่มจากพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือโดยมีพระพี่เลี้ยงคอยช่วยเหลือ


ก่อนจะขึ้นไปรับศีลในโบสถ์แล้วจึงแยกย้ายกันกลับบ้านเพื่อเข้าพิธีส่างลองในเช้าวันรุ่งขึ้น


พระอาจารย์ไทใหญ่ยิ้มอ่อนโยนบนใบหน้า บอกว่า คนไทใหญ่ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหนยังคงผูกพันเป็นพี่น้องกัน ปอย-ส่างลอง เป็นมากกว่าพิธีกรรม คือ แรงศรัทธาที่ฝังรากลึก เด็กไทใหญ่ทุกคนต้องเข้าพิธีกรรมนี้และสับเปลี่ยนกันเป็นพ่อส้าน-แม่ส้าน ซึ่งเชื่อกันว่า ตายไปแล้วจะกลายเป็นดวงดาวบนท้องฟ้า


ดวงดาวแห่งพุทธะ สีสันของเจ้าชายส่างลอง เปียงหลวง

 

 


เปียงหลวง หมู่บ้านใจกลางที่ราบกว้างหุบเขา มุมมองนี้ถ่ายจากศาลเจ้าชาวจีน บนภูที่สูงที่สุดในหมู่บ้าน



วัดเปียงหลวง ศิลปะไทใหญ่ มุมมองกลางคืน







โกนผม ก่อนเข้าพิธี











ส่างลอง ในลีลาต่างๆ




 

บล็อกของ กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์

กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
ละอองน้ำกระจายฟุ้ง แดดอ้าวเป็นไอระยับ จับประกายในสายน้ำเล็กๆ หัวฉีดน้ำพ่นฟูฝอยขึ้นฟ้า หมุนวน 180 องศาเด็กชายจับมือน้องสาว มองละอองน้ำ-ตาเป็นประกาย
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
...วันหนึ่งของเวลากลางวันในสวนสัตว์เขาดิน ..เอ่อ.. ผมยืนถ่ายมื้อเที่ยงแสนอร่อยมื้อนี้มากกว่าหนึ่งชั่วโมง ..ได้ภาพมาประมาณนี้ครับ ..(แกคงหิวมาก)
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
ไฟป่า ยังคงเป็นปัญหาที่กลุ่มอนุรักษ์เขาแผงม้าต้องจัดการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงหน้าแล้ง เช่นนี้...แดดอ้าวผ่าเปรี้ยงลงกลางหัว เหล่าอาสาสมัคร v4n ยืนฟังขั้นตอนการทำงานดับไฟป่าโดยกลุ่มอนุรักษ์เขาแผงม้า ไกลโพ้น เมฆฤดูร้อนลอยอยู่เหนือเทือกเขาที่ได้ชื่อว่า ภูเขาไฟเนินลูกแล้วลูกเล่าถูกแปรสภาพเป็นไร่ เหนือเนินหลายลูก ทะเลหญ้าสลับดงกล้วยป่าแซมเป็นจุดๆ รถบรรทุกน้ำถูกนำมาเตรียมเอาไว้ให้พร้อม
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
ในวงการนักอนุรักษ์ ไม่มีใครที่ไม่รู้จักคุณลุงโชคดี ...!!! ในกลุ่มอาสาสมัครสาธารณะ v4n กำลังเป็นที่รู้จัก ...!!!แววตาอ่อนโยนหลังแว่นกรอบนั้นมองมาที่พวกเราอย่างสงสัย เส้นผมและหนวดเคราเส้นเล็กขาวโพลนเหมือนกับปุยฝ้ายแตกปุยทำให้คุณลุงโชคดีดูอ่อนโยนมากขึ้น ใต้ศาลาเอนกประสงค์กลางลานบ้านของสวนลุงโชค เด็กๆ รุ่นหลังอย่างพวกเรากำลังตามความคิดของคุณลุง
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
...บ้านข่าร้อนมากกกก...ถึงมากที่สุด!! สายลมฤดูร้อนทำกิ่งไทรกลางลานสั่นไหว แดดจ้าเหนือหัวแต่หนุ่มสาวบ้านข่าไม่หวั่นเกรง พวกเขามารวมตัวกันที่ลานหน้าตลาดใจกลางหมู่บ้าน
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
หอนาฬิกา หัวหิน, กลุ่มคนเสื้อสีฟ้าในนามกลุ่มพีซ ฟอร์ เบอร์ม่า นำทีมโดยองค์กรแอมเนสตี้ ไทยแลนด์ มากกว่า 10 คน ชูป้ายรณรงค์ให้ประชาคมอาเซียนหันมาดูสถานการณ์การเมืองในพม่าอย่างจริงจัง รวมทั้ง ปัญหาผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา,แดดฤดูร้อน ร้อนมาก ทันทีที่กลุ่มคนเสื้อฟ้า ปั่นจักรยานมาถึง นักข่าวกลุ่มใหญ่และตำรวจเข้ากลุ้มรุม, ป้ายรณรงค์ถูกโชว์ให้เห็นกันชัดว่า พวกเขามาทำอะไรHey Asean : free all burma
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
  ตะวันยามเช้า สะท้อนประกายสีส้มแดงบนผืนทะเลกว้าง ,เสาสำหรับประกอบพิธีไหว้ผีบรรพบุรุษที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตชาวเลมอแกนกลายเป็นอดีตที่ต้องทำความเข้าใจและอนุรักษ์ไว้ ก่อนที่จะหายไปกับกาลเวลา
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
  หมู่บ้านมอแกน อ่าวบอนใหญ่ แห่งหมู่เกาะสุรินทร์ มองเห็นบ้านเรือนเป็นทิวแถวจากผืนทะเลสีคราม ,ภาพบนถ่ายจากหน้าหมู่บ้าน บนเรือหัวโทง ,ภาพล่างถ่ายจากท้ายหมู่บ้าน บนเส้นทางเดินธรรมชาติ ทั้งหมดนี้ เป็นหนึ่งในโปรแกรมมอแกนพาเที่ยว โครงการนำร่องอันดามัน สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สนใจติดต่อ 083-703-0925 ,andamanproject1@yahoo.com
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
มึดา มักจะมีรอยยิ้มอยู่เสมอ ดวงตากลมโต ใสแหน๋ว อ่อนโยนและเข้มแข็งอย่างไร้เจตนา ผิวขาวอมส้มเรื่อคล้ายผลสตอเบอร์รี่ก่อนที่มันจะสุกกลายเป็นสีแดง นานมาแล้วที่เด็กหญิง คือ เครื่องหมายของคนไร้สัญชาติ,และคงเป็นไปทั้งชีวิตของเธออะไรที่เรียกว่า ไร้สัญชาติ ,คำตอบที่ห้วนและง่ายที่สุด คือ ความหมายของการไม่มีสิทธิในฐานะคนของรัฐ, ที่ควรจะได้รับการคุ้มครอง, อย่างไม่มีเจตนาแอบแฝง บางทีคนมีบัตรประชาชนก็ไม่ได้รับการคุ้มครองเหมือนกัน (HAAAAAA)...