Skip to main content
รถตู้กลางเก่ากลางใหม่ของบริษัทดาวทองขนส่ง จำกัด ออกจากสถานีช้างเผือก 10.30 น. หนุ่มใหญ่วัย 40 เศษ ไว้เคราบางๆและสวมแว่นตาดำตลอดเวลาซิ่งเจ้าเพื่อนยากปุเลงไปตามสันเขาน้อยใหญ่บนเส้นทางเชียงใหม่-เปียงหลวง 161 กิโลเมตร แดดฤดูร้อนจัดจ้านขับให้ดอกหางนกยูงสีแดงข้างทางสดเข้ม


ออกจากตัวเมืองเชียงใหม่ผ่านอำเภอเชียงดาวถึงแยกเมืองงาย เลี้ยวซ้ายไปตามถนนสายแม่จา-เปียงหลวง ก่อนที่เส้นทางจะไต่ไปตามสันเขาคดเคี้ยว หนุ่มนักซิ่งของเราจะเตือนผู้โดยสารผ่านน้ำเสียงหนักแน่นว่า


"หากใครมึนหัวหรือต้องการเข้าห้องน้ำให้รีบบอกผมหรือหยิบถุงตรงเบาะทางด้านหน้าที่เตรียมเอาไว้ให้ หากใครฮาก(อาเจียน)ใส่รถ ปรับ 500" เขาขยับแว่นเป็นเชิงว่า "ผมหวังว่า ทุกคนคงเข้าใจนะครับ" ก่อนจะปิดบานประตูด้วยเสียงหนักแน่นเหมือนน้ำเสียง ทุกคนบนรถยิ้ม

เอ่อ อาเจียนแล้วหยิบถุงมาฮากนี่พอเข้าใจได้แต่ปวดฉี่นี่สิจะหยิบถุงมาฮากยังไงหว่า ???


เมื่อเข้าสู่บ้านเลาวู ผู้มาเยือนจะมองเห็นคำว่า "ประตูสู่เวียงแหง" อยู่บนสันผาอย่างเด่นชัด หลังจากตรวจบัตรประจำตัวประชาชนในด่านทหาร จากนั้นอีก 18 กิโลเมตร จึงเข้าสู่หมู่บ้านเปียงหลวงใจกลางที่ราบหุบเขากว้างใหญ่ (เปียง-ที่ราบ,หลวง-กว้างใหญ่)


ศูนย์กลางทางวัฒนธรรมของคนไทใหญ่เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย


ประตูทางเข้าหมู่บ้านเป็นโครงไม้ทาสีน้ำตาลมีหลังคาครอบ ด้านข้างเป็นป้อมยามของหน่วยรักษาความปลอดภัย คนจำนวนมากกลับบ้านเพื่อร่วมงานปอย-ส่างลอง(21-25 เมษายน 52)และเยี่ยมครอบครัว ส่วนใหญ่เป็นชาวไทใหญ่ที่อพยพมาจากรัฐฉาน นอกจากนั้น ก็มีจีน ลาหู่ เย้า คนไทยพื้นราบ เคาะตัวเลขจำนวนประชากรแล้วอยู่ที่ 10,000 คน มากกว่า 2,000 ครัวเรือน


บางส่วนข้ามมาจากฝั่งพม่าเมืองเกียงตอง หล่าเซล เชียงตุง ข๋อนหลำ เมืองนาย เข้ามาทางด่านหลักแต่ง ห้วยยาว ป๋างกิ่วก่อ ซึ่งเคยเป็นเส้นทางและหมู่บ้านของผู้อพยพมากกว่า 200 ครัวเรือน ปัจจุบัน ด่านปิดตาย ชาวไทใหญ่ส่วนหนึ่งถูกย้ายเข้าไปอยู่ในศูนย์พักรอ ‘กงจ่อ'


เปียงหลวงเป็นหนึ่งในเจ็ดหมู่บ้านของอำเภอเวียงแหง ได้แก่ เปียงหลวง บ้านจ๊อง ม่วงป็อก แสนไห ปางป๋อ กองลมและเวียงแหง ภายในหมู่บ้านมีโรงเรียนสอนภาษาจีนชื่อว่า กวงหัว เรียนกันทุกวันจันทร์-เสาร์ ค่าใช้จ่ายต่อหัว 120-150/เดือน/รายวิชา ต้องลงเรียน 330 รายวิชาถึงจะจบหลักสูตร


คนเปียงหลวงจึงพูดได้หลายภาษา ไทย จีน ไทใหญ่และภาษาอังกฤษของบางคนดีอย่างคาดไม่ถึง ส่วนในตัวเมืองเชียงใหม่ชาวไทใหญ่จะพักอาศัยในบริเวณวัดกู่เต้า ตลาดคำเที่ยงและสี่แยกไฟหลวง


ปอย-ส่างลอง เป็นภาษาไทยใหญ่ ปอย แปลว่างาน ,ส่าง แปลว่าสามเณร ,ลอง แปลว่าดักแด้ นำทั้ง 3 คำมารวมกัน หมายความว่า เตรียมตัวเป็นสามเณรหรือพิธีบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อนตามเทศกาลของผู้คนในศาสนาพุทธ ปอย-ส่างลอง เปียงหลวง จะจัดกันทั้งวันทั้งคืน จนครบ 5 วัน (ไม่นับรวมเวลาเตรียมงานอีก 1 เดือน) ก่อนจะบวชเป็นสามเณรซึ่งชาวไทใหญ่เชื่อว่า การกลับมาร่วมงานจะได้บุญใหญ่

.....


เดือนและสา 2 พี่น้อง หญิงสาวชาวไทใหญ่ในวัยไม่ถึง 20 ปี ทั้งคู่ทำงานเย็บผ้าในโรงงานทอผ้าแห่งหนึ่งของจังหวัดระยอง


เดือนบอกว่า กลับมาร่วมงานบวชหลานชายของเธอที่ครบกำหนดบวชปอยส่างลองในปีนี้ สองพี่น้องต้องลางานหนึ่งอาทิตย์ เดินทางจากระยองมากรุงเทพฯแล้วต่อรถทัวร์มาเชียงใหม่ในคืนนั้น ก่อนจะมาขึ้นรถตู้ที่ขนส่งช้างเผือกอีก 3 ชั่วโมง เพื่อไปเปียงหลวงหมู่บ้านของเธอ รวมสะระตะแล้วเธอใช้ชีวิตอยู่บนรถ 2 วัน


"เพิ่งมาครั้งแรกเหรอ" เดือนชวนคุย

"ครับ ตื่นเต้นมาก" ผมตอบเธอ

".........."

"ลางานมาทั้งอาทิตย์ เจ้านายให้ลาเหรอ"

"จริงๆ ก็ไม่ให้ลานะ แต่ตื้อเค้าจนได้หละ เพื่อนบางคนที่รู้จักก็ไม่ได้มา"

"แล้วทำไง"

"ลาออก" เดือนตอบยิ้มๆ ทีเล่นทีจริง

ถึงด่านตรวจบ้านเลาวู สองพี่น้องต้องจ่ายค่าปรับ 200 บาท ฐานอายุบัตรขอเดินทางออกนอกพื้นที่หมดอายุ ผลพวงจากการดิ้นรนที่จะมีชีวิตรอด ทำให้คนไทใหญ่หลายคนไม่ได้มาร่วมงานบุญและหากเป็นจริงอย่างที่เดือนพูดถึง นั่นหมายถึง พลังศรัทธาของศาสนาที่ฝังรากอยู่ในจิตใจของคนไทใหญ่

.....


บริเวณงานอยู่ภายในสนามฟุตบอลโรงเรียนบ้านเปียงหลวงและพิธีกรรมจะทำกันที่วัดเปียงหลวงซึ่งอยู่ตรงข้ามโรงเรียนโดยมีพระอาจารย์ชาวไทใหญ่ผู้เป็นที่นับถือของคนเปียงหลวงเป็นผู้ดูแล พระอาจารย์ผู้มีเสียงก้องกังวานจะช่วยดูแลเด็กๆ ตั้งแต่การท่องบทสวดรับเพื่อเข้าสู่พิธีการตั้งแต่ การโกนหัว การแห่ลูกแก้ว การบวชเป็นสามเณร


พระอาจารย์ชาวไทใหญ่บอกว่า ปีนี้ มีส่างลองจำนวน 108 คน นับเป็นบวชลูกแก้วที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยทำมา ประเพณีการบวชลูกแก้วสืบทอดกันมานานนับเวลาไม่ถูก อาจจะมากกว่า 100 ปี แต่ละปีผู้คนจะรอเวลานี้เพื่อมาร่วมงานบุญ แม้บางคนไม่ได้กลับมาร่วมด้วยตัวเองแต่จะส่งเงินมาช่วยเหลือญาติพี่น้อง


การบวชลูกแก้วไม่ได้เป็นเพียงพิธีกรรมแต่เป็นแรงศรัทธาที่ฝังอยู่สายเลือดของคนไทใหญ่ ถึงแม้ว่า การบวชแต่ละครั้งจะต้องใช้เงินสูงถึง ครอบครัวละ 60,000 บาท ในการเตรียมงานและเลี้ยงแขกที่มาร่วมงาน จนช่วงหลังมีการประชาสัมพันธ์ให้งานประเพณีเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการส่งเสริมการท่องเที่ยว หน่วยงานส่วนท้องถิ่นจึงเข้ามาร่วมและสบทบทุนร่วมจัดงาน


ซุ้มส่างลองแต่ละซุ้มจะได้รับการประดับประดาอย่างงดงาม ส่างลองทุกคนจะต้องมาอยู่อาศัยภายในซุ้มจนครบกำหนด 5 วัน โดยมีผู้ดูแล เรียกว่าพ่อส้าน-แม่ส้าน ที่คอยช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกเพราะเชื่อกันว่าระหว่างพิธีการบวชเท้าของส่างลองจะต้องไม่แตะพื้น ดังนั้น เวลาจะไปไหนมาไหนพ่อส้านจะทำหน้าที่ให้ส่างลองขี่คอ ส่วนแม่ส้านจะทำหน้าที่เรื่องอาหารการกินดูแลแขกและแต่งหน้าตาส่างลองให้งดงามอยู่เสมอ


สำหรับชุดในการประกอบพิธีกรรม แต่ละชุดจะต้องตัดใหม่ทั้งหมด มีสีสันตามวันที่แตกต่างกันออกไป หลังจากท่องบทสวดรับขึ้นใจจะเป็นพิธีโกนผม โดยใช้น้ำละลายกับส้มป่อย(มะขามแขก)ชำระล้างก่อนกันไม่ให้เจ็บศีรษะ โกนแล้วหัวจะใส เริ่มจากพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือโดยมีพระพี่เลี้ยงคอยช่วยเหลือ


ก่อนจะขึ้นไปรับศีลในโบสถ์แล้วจึงแยกย้ายกันกลับบ้านเพื่อเข้าพิธีส่างลองในเช้าวันรุ่งขึ้น


พระอาจารย์ไทใหญ่ยิ้มอ่อนโยนบนใบหน้า บอกว่า คนไทใหญ่ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหนยังคงผูกพันเป็นพี่น้องกัน ปอย-ส่างลอง เป็นมากกว่าพิธีกรรม คือ แรงศรัทธาที่ฝังรากลึก เด็กไทใหญ่ทุกคนต้องเข้าพิธีกรรมนี้และสับเปลี่ยนกันเป็นพ่อส้าน-แม่ส้าน ซึ่งเชื่อกันว่า ตายไปแล้วจะกลายเป็นดวงดาวบนท้องฟ้า


ดวงดาวแห่งพุทธะ สีสันของเจ้าชายส่างลอง เปียงหลวง

 

 


เปียงหลวง หมู่บ้านใจกลางที่ราบกว้างหุบเขา มุมมองนี้ถ่ายจากศาลเจ้าชาวจีน บนภูที่สูงที่สุดในหมู่บ้าน



วัดเปียงหลวง ศิลปะไทใหญ่ มุมมองกลางคืน







โกนผม ก่อนเข้าพิธี











ส่างลอง ในลีลาต่างๆ




 

บล็อกของ กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์

กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
ใบไม้ปลิดออกจากขั้ว กลายเป็นสีขาวกลางผืนป่าสีเขียว
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
   ฮ่อมดง มองเห็นเป็นพุ่มๆ ริมทาง
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
ดงน้อยเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวมักจะหยุดค้างแรม มีห้องน้ำที่ทำด้วยไม้ไผ่สานใบตองตึงต่ออย่างหยาบๆ ในห้องขุดลึกเป็นโพรงราวๆ 3 เมตร ปากหลุมเป็น 4 เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 1x1 เมตร มีไม้พาดระหว่างปากหลุมให้นักท่องเที่ยวเข้าไปนั่งทำธุระทั้งหนักและเบานักเดินป่าสัก 10 คน มาถึงดงน้อยในเย็นวันนั้น อากาศขมุกขมัวทำให้เวลากลางวันสั้นกว่าเวลากลางคืน มืดสนิทภายใต้อ้อมกอดของขุนเขาและราวป่า ลูกหาบของคณะเดินป่าชุดนั้นเริ่มอุธทรณ์ เมื่อพวกเขาคิดว่า จะเดินไปอ่างสลุงในคืนนั้น เพื่อให้ทันดูทะเลหมอก“หากพวกคุณจะไป พวกคุณไปได้เลย ลูกหาบ(4 คน)จะพักที่นี่แล้วตามไปพรุ่งนี้”“อ่าว แล้วเราจะเอาอะไรกินคืนนี้” หนึ่งในนั้นเริ่ม…
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
ผมยืนมอง ขาหมูอวบๆ สีน้ำตาลเข้มแช่อยู่ในน้ำพะโล้ที่ร้านพรเพ็ญ(ขาหมูเสวย เจ้าเก่า)มันนอนนิ่งๆ รอคนขายเอามีดมาปาดบางๆ โปะลงบนข้าวให้ลูกค้า ไอร้อนหน้าเตาพอจะช่วยให้เนื้อตัวผมเบาขึ้นจากความหนาวนอกร้านที่กัดกร่อนถึงกระดูก"ซื้อขาหมู 100 บาท ครับ" ผมบอกคนขายแกกำลังวุ่นวายอยู่กับงานขายตรงหน้า ลูกค้าเริ่มทยอยเข้ามาหนาตา แดดสายแหย่ตัวรอดตามช่องชายคา ผมคิดว่า เราน่าจะซื้อขาหมูขึ้นไปกินบนดอยหลวงเชียงดาว...
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
ผมเจอ สาม พัน โบก โดยบังเอิญ คุณป้าจากสองคอน รีสอร์ท แกบอกว่าให้ขับรถไปสัก 3 กิโลเมตร เลี้ยวซ้าย สุดสวนมะขามของอาจารย์เรืองประทิน นั่นแหละอาจารย์เรืองประทิน ชายร่างใหญ่ ผิวสีน้ำตาลไหม้ ผมหยักศกสีดำสนิท ทำให้แกดูขรึมๆ แต่รอยยิ้มที่ออกมาจากดวงตาเล็กๆ คู่นั้น บอกว่า แกเป็นคนมีไมตรี“นาย 2 คน มาจากที่ไหนกัน” แกทักด้วยน้ำเสียงแบบพ่อพิมพ์ภูธร“กรุงเทพฯ ครับ” เพื่อนผมบอก ก่อนจะเล่าที่มาที่ไปและมาที่นี่ได้ยังไง“โอ้ว นั่น คุณเดินลงไปสำรวจสิ” แกชี้ไปที่กลุ่มโขดหินเว้าแหว่ง ข้างหน้า
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
ทะเลแหวก ที่หาดนพรัตน์ธารา เสียงเครื่องเรือหางยาวออกจากฝั่ง พรายฟองทะเลสีขาวละเอียดแหวกออกเป็นสายตามความเร็วของเรือ ไกลออกไปสุดลูกหูลูกตา ขอบฟ้ากับผืนน้ำจรดกันแทบเป็นเนื้อเดียวอาสาสมัครลงความเห็นว่า เราควรจะไปทะเลแหวกอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-อ่าวพระนาง หมู่เกาะพีพี หรือ "หาดคลองแห้ง" ตามคำเรียกเดิมของคนพื้นถิ่น ด้วยเหตุผลง่ายๆ ทางภูมิศาสตร์ช่วงน้ำลง น้ำคลองซึ่งไหลลงมาจากภูเขาทางด้านเหนือจะแห้งขอด ทรายขาวละเอียดปนเปลือกหอยยาวเหยียดจะโผล่เหนือผืนน้ำ ทอดยาวลงทะเล ก่อนจะบรรจบกับเกาะเขาปากคลอง เข้ากันได้ดีกับทิวสนริมฝั่ง กลายเป็นภูมิทัศน์ชายหาดแปลกตาสำหรับนักท่องเที่ยว ไกลออกไป…