Skip to main content

< พิณผกา งามสม >

 

ถ้าผู้หญิงคืออีกซีกหนึ่งของฟากฟ้า อย่างที่จอน เลนนอน ไอดอลแห่งยุคบุปผาชนเคยกล่าวไว้  ภาพข่าว ดร. วันอาซีซาร์ ประกาศลาออกจากตำแหน่งสมาชิกรัฐสภาแห่งสหพันธ์รัฐมาเลเซีย เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา เพื่อเปิดทางให้กับสามีได้ลงเลือกตั้งชิงเก้าอี้ในรัฐสภาที่ว่างลงในฐานะอีกครึ่งชีวิตทางการเมืองของนายอันวาร์ อิบราฮิม ก็คงเป็นตัวอย่างจริงของความเป็นอีกฟากหนึ่งของท้องฟ้า แต่จะเป็นท้องฟ้าของวันใหม่ดังที่นายอันวาร์ย้ำมาตลอดหรือไม่ เป็นเรื่องของการเมืองที่ยากจะคาดการณ์

headline วันอาซีซาร์

ดร. วันอาซีซาร์ ได้ชื่อว่าเป็นทัพหลังที่แข็งแกร่งของนายอันวาร์ จากอาชีพจักษุแพทย์ เธอต้องกระโจนลงสู่สนามการเมือง เมื่อสามีถูกเกมการเมืองเล่นงานจนสะบักสะบอมทั้งข้อหาคอร์รัปชั่นและประพฤติผิดทางเพศ เมื่อ 8 ปี ก่อน

ผลจากเกมการเมืองที่นายอันวาร์ตกเป็นผู้ถูกกระทำ ได้ชักนำให้นักเคลื่อนไหวและนักการเมืองรวมตัวกันเป็นพรรคยุติธรรมประชาชน โดยมีดร. วันอาซีซาร์เป็นหัวหน้าพรรค เป็นที่รู้กันว่า ดร. วันอาซีซาร์รั้งตำแหน่งหัวหน้าพรรค รอวันที่นายอันวาร์เป็นอิสระ และสามารถลงชิงชัยในสนามเลือกตั้งได้อีกครั้ง

วันนี้ นายอันวาร์ ต้องเผชิญข้อกล่าวหาเดิมๆ อีกครั้ง ว่าด้วยการประพฤติผิดทางเพศ แน่นอนว่า ดร.วันอาซีซาร์จะต้องทำหน้าที่ของเธอต่อไป ดังที่ประกาศไว้ว่า จะยังคงดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคยุติธรรมประชาชนและประธานมูลนิธิสันติภาพ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในทางการเมืองสำหรับบรรดาฝ่ายค้าน
 
ย้อนหลังไปวันที่ 30 กรกฎาคม คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยาของอดีตนายกรัฐมนตรีที่มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมการเมืองไทยอย่างถอนรากถอนโคน ต้องโทษจำคุก 3 ปี จากคำตัดสินของศาลชั้นต้นว่ามีความผิดฐานความผิดฐาน ร่วมกันจงใจหลีกเลี่ยงการชำระภาษีอากรอันเป็นความผิดตามประ มวลรัษฎากร มาตรา 37 (1) (2) และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 และ 91 การต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมยังคงดำเนินต่อไป เมื่อเธอยื่นอุทธรณ์และขอประกันตัวไปด้วยหลักทรัพย์ 8 ล้านบาท

ผู้หญิงสองคนจากประเทศพรมแดนชิดติดกัน กำลังเดินไปบทเส้นทางที่สัมพันธ์กับบทบาทหน้าที่ในทางการเมืองของสามี แต่ด้วยทิศทางที่แตกต่าง

ชีวิตของผู้หญิงของผู้นำในอดีตทั้งในโลกเสรี และโลกสังคมนิยมก็เช่นกัน

ooo

headline เจียงชิง

เจียงชิง: เมื่อคนแก่ไม่สามารถควบคุมเมียของตัวเอง
“ประธานเหมาคิดว่าท่านสามารถควบคุมภรรยาและคนรอบด้านอย่างหลินเปียวกับคังเซิงได้ แต่แล้วท่านกลับควบคุมไม่ได้” ……บทสรุปความเห็นที่สิรินทร์ พัธโนทัย พยายามบอกกับผู้อ่าน ‘มุกมังกร’ว่าประธานเหมา เจ๋อ ตุง ผู้เป็นศูนย์รวมความสามัคคีของชาวจีนมีความสัมพันธ์ชนิดไหนกับ “แก๊ง 4 คน” ในห้วงเวลาโกลาหลจากการปฏิวัติวัฒนธรรม

เจียงชิง เติบโตมาในครอบครัวชาวนา เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนโดยทำงานด้านวัฒนธรรมด้วยการเป็นนักแสดง

เจียงชิงเป็นภรยาคนที่ 3 ของประธานเหมาและเป็นคนสุดท้าย โดยใช้ชีวิตคู่ร่วมกับประธานเหมานานถึง 37 ปี เจียงชิงเริ่มก้าวขึ้นมามีบทบาทระดับนำในพรรคช่วงบั้นปลายชีวิตของประธานเหมา เจียงชิงร่วมกับสมาชิกระดับแกนนำของพรรคอีก 3 คนคือ จางชุนเฉียว  เหยาเหวินหยวน และหวังหงเหวิน ในนามแก๊ง 4 คน โดยใช้กรปฏิวัติวัฒนธรรม กำจัดผู้ที่คิดต่างทางการเมือง และปลุกระดมให้เกิดการกวาดล้างผู้ไม่ซื่อตรงต่อพรรค และพวกลัทธิแก้และนายทุน ครั้งมโหฬาร ในระหว่างปี 1966 -1976

ผลจากการปฏิวัติวัฒนธรรมจีน ส่งผลให้ชาวจีนจำนวนกว่า 700,000 คนต้องถูกทารุณกรรม ทั้งจากการถูกลงโทษโดยทางการ และถูกทำร้ายร่างการจากเหตุจลาจล มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 34,274 นอกจากนี้ยังสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอันเนื่องจาก ‘กองทัพแดง’ เข้ารื้อค้นทำลายบ้านเรือนราษฎร และร้านค้าที่ต้องสงสัยว่าเป็นฝ่ายนายทุน หรือเป็นพวกลัทธิแก้

การปฏิวัติวัฒนธรรมนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า แท้ที่จริงแล้วเป็นไปเพื่อกำจัดศัตรูทางการเมืองของแก๊ง 4 คนนั้นเอง อย่างไรก็ตามผลจากการปลุกระดมและการทำงานอย่างแข็งขันของกองทัพแดงภายในเวลา 10 ปี ก็ส่งผลสะเทือนไปกว้างขวางและก่อความคลางแคลงใจต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนอย่างปฏิเสธไม่ได้
ภายหลังการอสัญกรรมของประธานเหมาในปี 1976 แก๊งสี่คนถูกจับกุมเนื่องจากซ่องสุมกำลังอาวุธเพื่อยึดอำนาจรัฐ

ในระหว่างดำเนินคดี และถูกกักขังอยู่นั้น เจียงชิงยังคงยืนยันว่า สิ่งที่กระทำลงไปภายใต้การนำของแก๊งสี่คน เป็นเจตนารมณ์ของประธานเหมาโดยประกาศว่าตัวเธอเองนั้นเป็นหัวหน้าฝูงสุนัขของประธานเหมา และจะกัดทุกคนที่ประธานเหมาสั่งให้กัด

เจียงชิงถูกพิพากษาโทษประหารชีวิตในปี 1981 แต่ได้รับการลดโทษเหลือเพียงจำคุกตลอดชีวิตในปี 1983 อย่างไรก็ตาม เธอได้รับการปล่อยตัวเพื่อเข้ารับการรักษามะเร็งที่ลำคอ ในปี 1991 เจียงชิงแขวนคอตายในห้องน้ำของโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ปี 1991

ความสัมพันธ์ระหว่างเจียงชิง กับประธานเหมาในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมจีนนั้น เป็นข้อถกเถียงและคาดเดากันไปต่างๆ บ้างเชื่อว่า ประธานเหมาและมาดามเหมามีความสัมพันธ์ที่ห่างเหินในช่วงเวลานั้น บ้างก็ว่าอันที่จริงแล้วแก๊ง 4 คนนั้นมีสมาชิก 5 คน

บทสนทนาระหว่างสิรินทร์ พัธโนทัย ตัวแทนทางการทูตอย่างลับๆ ที่ได้ผ่านช่วงเวลาวิกบากกรรมจากการปฏิวัติวัฒนธรรมจีนด้วยนั้น เลือกที่จะอธิบายในหนังสืออัตชีวประวัติ ‘มุกมังกร’ ผ่านบทสนทนาของเธอเองกับจิง ผู่ซุน ภรรยาของเลี่ยว เผิงจื้อ สมาชิกระดับแกนนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีนว่า

“แล้วทำไมประธานเหมาถึงปล่อยให้เธอทำอย่างนี้” ฉันถาม
“ตอนนี้ท่านก็แก่มากแล้ว” เธอตอบพร้อมชี้หัวของเธอเอง “คนแก่มักจะไม่สามารถควบคุมเมียได้” (หน้า 398 มุกมังกร)

headline เอวิต้า เปรอง

เอวิต้า เปรอง สตรีหมายเลขหนึ่งบนสายรุ้งแห่งประชานิยม
เอวิตา เปรอง หรือในชื่อจริง มาเรีย เอวา ดูอาร์เต้ เดอ เปรอง  สตรีหมายเลขหนึ่งคนแรกของอาร์เจนตินา และเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายทั่วโลกทั้งขณะมีชีวิตและเมื่อจากไป ประวัติของเธอ ถูกนำมาเขียน ทำละคร และภาพยนตร์ฮอลีวูด  

ประวัติส่วนตัวกว่าที่เธอจะไต่เต้าขึ้นมาสู่การเป็นภรรยาคนที่ 2 ของนายพลเปรองซึ่งผู้นำที่ครองใจชาวอาร์เจนตินาในช่วงสงครามเย็น (ระหว่างปี ค.ศ. 1946-55 และ 1973-4)..และเป็นสตรีหมายเลขหนึ่งของอาร์เจนตินานั้นเป็นเกร็ดแห่งการซุบซิบนินทาชั้นเลิศ ภาพที่ชัดเจนของเธอก็คือ การไต่เต้าจากเด็กยากจน เรียนรู้ความแตกต่างทางชนชั้นโดยแลกด้วยประสบการณ์จริง เอวิตา อาจเป็นได้ทั้งนางฟ้าและปีศาจ ซึ่งสุดแท้แต่ใครจะเลือกใช้ฐานคติทางการเมืองใดตัดสิน และแน่นอนว่า ประวัติของเธอที่ไม่ได้มาจากตระกูลชั้นสูง และไม่ได้จบการศึกษาชั้นเลิศ รวมถึงการไต่เต้าขึ้นมาจากการเป็นนักแสดง ก็ทำให้เธอต้องฝ่าฟันอย่างหนักเพื่อจะได้รับการยอมรับจากชนชั้นนำในอาร์เจนตินา โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกองทัพซึ่งเป็นกลุ่มอำนาจสายอนุรักษ์นิยม
 
อย่างไรก็ตาม เอวิต้า ในฐานะภรรยาของนายพลเปรอง เลือกที่จะทำงานการเมืองเคียงบ่าเคียงไหล่ และปฏิเสธไม่ได้ว่า เธอนั้นเป็นเสมือนฝ่ายประชาสัมพันธ์ชั้นยอดให้กับนายพลเปรอง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ แนวคิดเปรอนิสม์ (Peronism) นั้นถูกเผยแพร่โดยนายพลเปรองและเอวิต้า แม้ว่าโดยหลักทฤษฎีแล้วมันอาจจะเป็นการผสมปนเประหว่างชาตินิยม ประชานิยม และสังคมนิยม รวมถึงบางคราวก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นฟาสซิสม์ด้วย แต่ที่แน่ๆ กลุ่มเป้าหมายของเปรองก็คือ กลุ่ม แรงงาน และคนจน

เอวิต้า ทำงานรุกคืบสร้างพื้นที่ทางการเมืองใหม่ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มคนที่เคยปราศจากตัวตนทางการเมือง ได้แก่ เด็กกำพร้า กลุ่มแรงงาน สหภาพ และผู้หญิง เธอก่อตั้งมูลนิธิ เอวา เปรอง ทำงานด้านการกุศล โดยมุ่งไปที่การให้ความช่วยเหลือเด็กกำพร้า และผู้หญิงไร้บ้านซึ่งคนเหล่านี้ก็กลายมาเป็นฐานเสียงสำคัญของเธอ

ภายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดี ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1946 ซึ่งนายพลเปรองได้ครองตำแหน่งประธานาธิบดี เอวิต้าเริ่มเรียกร้องสิทธิเลือกตั้งให้กับผู้หญิง กระทั่งได้ชัยชนะในปี  1947  นอกจากนี้ยังก่อตั้งพรรคสตรีนิยมเปรองนิสม์  (Feminist Peronist Party) ปี 1952 โดยมีสมาชิกแรกตั้งถึง 500,000 คน และมีสาขาพรรคกว่า 3,600

แต่ข้อเท็จจริงหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ เอวิตา เปรอง นั้นเป็นสตรีที่ก้าวขึ้นมาพร้อมกับนโยบายประชานิยมของนายพลเปรอง เปรองนั้นอาศัยความเป็นดาราภาพยนตร์ และนักจัดรายการวิทยุเข้าถึงกลุ่มชนชั้นแรงงาน คนยากจน และโดยอาศัยวาทศิลป์ครองใจผู้คนระดับรากหญ้า

กล่าวได้ว่า เอวิต้า คือผู้หญิงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประวัติศาสตร์การเมืองอาร์เจนตินา ทั้งถูกคาดการณ์ด้วยว่าเธอจะเป็นผู้สืบอำนาจต่อจากนายพลเปรอง ทว่าวาระสุดท้ายของชีวิตเดินทางมาถึงก่อนจุดจบทางการเมือง เส้นทางอันรุ่งโรจน์ของเธอต้องจบลงเมื่อวัย 33 ปีด้วยโรคมะเร็งในมดลูกเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม ปี 2493

แน่นอนว่า เมื่อมีด้านสว่างย่อมมีด้านมืด แม้ว่ายุคสมัยของทั้งนายพลเปรอง และเอวิต้าจะจับใจผู้คนชนชั้นรากหญ้าเพียงใดก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงที่ตามก็คือว่า ผลพวงจากนโยบายประชานิยมที่สร้างต้นทุนทางการเมืองอย่างสูงลิ่วของคนทั้งสอง โดยทุ่มเทลงไปเอาใจคนยากจนและกลุ่มแรงงานนั้น ทำให้อาร์เจนตินาสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินไปมาก และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของอาร์เจนตินาในเวลาต่อมา

การจากไปของเอวิต้า กลายเป็นความสูญเสียอันยิ่งใหญ่ของชาวอาร์เจนตินาในช่วงเวลานั้น ฝูงชนจำนวนมหาศาลออกมายังท้องถนนเพื่อไว้อาลัยสตรีหมายเลขหนึ่ง ภายในเวลาแค่วันเดียว มีรายตัวเลขผู้ได้รับบาดเจ็บเนื่องจากการเบียดเสียดถึง 2,000 คน และมีผู้เสียชีวิต 8 คน

เอวิต้ายังคงมีเรื่องราวดึงดูดความสนใจของผู้คนแม้เมื่อเธอเสียชีวิต นายพลเปรองมีโครงการที่จะจัดทำอนุสรณ์สถานอย่างยิ่งใหญ่ให้กับสตรีหมายเลขหนึ่ง ทว่าเมื่อนายพลเปรองต้องสิ้นอำนาจ ศพของเอวิต้าก็ไม่รับการเอาใจใส่จากรัฐบาลทหารและถูกโขมยไป ก่อนที่จะได้กลับคืนมาปี 1974 ปัจจุบันศพของเอวิตาบรรจุไว้ในสุสาน La Recoleta Cemetery

headline อิเมลดา มาร์กอส

อิเมลดา มาร์กอส เมียของผู้นำโลกที่ 3
เอ่ยถึง อิเมลดา มาร์กอส จินตภาพเกี่ยวกับเธอนั้นมักโยงใยไปถึงรองเท้าสองพันกว่าคู่ และตู้เสื้อผ้าหรูหราอลังการ ขณะที่ประชาชนในประเทศฟิลิปปินส์ก็ยังคงย่ำอยู่กับความยากจนและการเมืองที่หมุนวนอยู่กับที่

อิเมลดา มาร์กอส อาจเป็นสตรีคนเดียวในโลกที่โลกจดจำรองเท้าของเธอมากพอๆ กับตัวเธอ (อย่างไรก็ตาม ตัวเลขนั้นไม่แน่ชัด สื่อรายงานว่าเธอมีรองเท้าประมาณ 2700 – 3000 คู่ ขณะที่อิเมลดา ยืนยันว่าเธอมีรองเท้าแค่ 1,060 คู่เท่านั้น!!!) สปอร์ตไลท์ฉายไปที่อิเมลดา อดีตสตรีหมายเลขหนึ่ง ชัดขึ้น และชัดขึ้นเรื่อยๆ เมื่อสามีของเธอร่วงหล่นจากอำนาจ
 
เฟอร์ดินันด์ มาร์กอส  เป็นผู้นำประเทศฟิลิปปินส์ในระหว่างปี 1965-1986 เช่นเดียวกันกับผู้นำในยุคสมัยแห่งการพัฒนาในประเทศโลกที 3 อื่นๆ มาร์กอส ถูกกล่าวหาว่าคอร์รัปชั่น เอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง และเป็นเผด็จการ จนกระทั่งถูกดึงลงจากอำนาจด้วยการปฏิวัติใหญ่โดยขบวนการประชาชนเมื่อปี 1986 ต้องลี้ภัยไปยังฮาวาย และเสียชีวิตที่นั่นในปี 1989 แม้แต่ศพของเขาก็ไม่ได้รับอนุญาตให้นำกลับมาฝังยังประเทศเกิด โดยผู้นำขณะนั้น นางคอราซอน อาควิโน อ้างเรื่องความมั่นคงของประเทศ

อิเมลดา มาร์กอสนั้น ไม่ปรากฏรายงานบทบาททางการเมืองของเธอว่ามีนัยสำคัญอย่างไรต่อสามี หากแต่ภาพลักษณ์ของความเป็นคนสุลุ่ยสุร่าย มีทรัพย์สินโดยเฉพะเครื่องแต่งกายเครื่องประดับจำนวนมาก ได้ตอกย้ำภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำสุดยอดคอรัปชั่นและเอื้อประโยชน์พวกพ้องของมาร์กอสผู้เป็นสามี

แน่นอนว่า ทรัพย์สินจำพวกเสื้อขนสัตว์ รองเท้า กระเป๋า ฯลฯ เหล่านี้เป็นภาพอันฉูดฉาดที่ช่วยขับเน้นประเด็นคอร์รัปชั่นของผู้นำในประเทศกำลังพัฒนาที่ประชากรส่วนใหญ่ยังยากจน ทว่า การนับจำนวนข้าวของเครื่องใช้ เครื่องประดับอันไม่จำเป็นทั้งหลายนั้น ย่อมง่ายดายกว่าการขุดรากถอนโคนตัวระบบที่เป็นปัญหาหยั่งรากลึกในสังคมการเมืองของฟิลิปปินส์เอง

ผู้นำฟิลิปปินส์คนต่อๆ มาก็ยังคงเผชิญกับข้อกล่าวหาเดิมๆ นั่นคือระบบเล่นพวกพ้อง ระบบเครือญาติ เผด็จการ และคอร์รัปชั่น แม้แต่นางสิงห์น้อย กลอเรีย อาร์โรโย่ ผู้นำคนล่าสุด
 
สำหรับอิเมลดา มาร์กอส ผู้หญิงที่เคยขึ้นทำเนียบหนึ่งใน 100 สาวงามที่สุดในโลก วันนี้เธอมีอายุ 79 ปี และยังคงต้องเทียวขึ้นศาลในฐานะจำเลยในคดีที่สืบเนื่องจากการคอร์รัปชั่นอันมโหฬารของตระกูลมาร์กอสจำนวนทั้งสิ้น 901 คดี

000

ผู้หญิงของผู้นำทางการเมือง ล้วนถูกจดจำต่างกันไป ทั้งโดยที่เธอเหล่านั้นเลือกและไม่ได้เลือก ตัวเลือกที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับผู้หญิงที่สามีของเธอมีแรงผลักดันทางการเมืองสูงก็คือ เลือกที่จะอยู่เงียบๆ ทำหน้าที่เป็น ‘หลังบ้าน’ไม่ว่าหลังบ้านนั้นจะเปิดหรือปิดประตูก็ตาม

แต่ถ้าใครเลือกจะไม่เป็นแค่ ‘หลังบ้าน’ แต่เลือกออกมายืนเคียงข้าง หรือนำไปข้างหน้า ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่า ชะตากรรมของพวกเธอหนีไม่พ้นถูกขีดวาดด้วยผลลัพธ์ทางการเมืองนั้นเอง

อ้างอิง:

- สิรินทร์ พัธโนทัย, มุกมังกร, เนชั่นพับลิชชิ่ง กรุ๊ป, กรุงเทพฯ: 2539.
- มาเลเซีย: ภริยาอันวาร์ ประกาศลาออกจากสมาชิกรัฐสภา เปิดทางให้สามีลงเลือกตั้ง http://www.prachatai.com/05web/th/home/13033
- ศาลยันคำพิพากษาไร้อคติ ‘อ้อ-บรรณพจน์’ คุกคนละ 3 ปี แต่ให้ประกันตัว ttp://www.prachatai.com/05web/th/home/13023
- Jiang Qing http://en.wikipedia.org/wiki/Jiang_Qing
- Eva Perón http://en.wikipedia.org/wiki/Eva_Per%C3%B3n#Passing_and_funeral
- The Effects of Peronism on Argentina http://www.ccds.charlotte.nc.us/History/Americas/05/neale/
- PERONISM: "Our Sun, Our Air, Our Water" http://209.85.175.104/search?q=cache:WSyPYXXeeswJ:www.time.com/time/magazine/article/0,9171,944526,00.html+peronism&hl=th&ct=clnk&cd=19&gl=th
- The Shoes of Imelda Marcos http://www.time.com/time/magazine/article/0,9171,961002,00.html

บล็อกของ หัวไม้ story

หัวไม้ story
ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในประเทศไทยจำนวนหนึ่ง อาจจะฮือฮามาสักพักแล้วกับเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ของนักการเมืองค่ายประชาธิปัตย์ นำโดย หล่อใหญ่ อภิสิทธิ์ ตามมาด้วยสาทิตย์ วงษ์หนองเตย  แต่ก็ยังอาจจะยังไม่เห็นประสิทธิผลมากนักสำหรับการเปิดพื้นที่ใหม่ในสื่อใหม่ในโลกออนไลน์ เพราะยังไม่มีการใช้สำหรับแคมเปญหาเสียง หรือแคมเปญกิจกรรมอะไรพิเศษ แต่แล้ว เมื่อเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ชื่อ thaksinlive เริ่มเป็นที่รับรู้ของชาวไซเบอร์เพียงไม่กี่วัน ก็กลับฮือฮาเป็นกระแสพ้นพรมแดนโลกไซเบอร์ออกมาเหมือนปีศาจที่ตามหลอกหลอนไปทุกพรมแดนความรับรู้ของขั้วการเมืองฝ่ายตรงข้าม
หัวไม้ story
ในฐานะที่กระแสรางวัลซีไรต์ปีนี้ช่างแผ่วเบา เราจึงขอกระตุ้น ยั่วยวน ให้หันมองด้วยงานวิจารณ์ของ “นายยืนยง” ซึ่งยืนยันกับการชื่นชม “วิญญาณที่ถูกเนรเทศ” เล่มหนึ่งที่เข้ารอบสุดท้าย ไม่ว่าใครจะครหาอย่างไรก็ตาม         ชื่อหนังสือ         :           วิญญาณที่ถูกเนรเทศ ผู้เขียน              :           วิมล ไทรนิ่มนวล จัดพิมพ์โดย       :   …
หัวไม้ story
โดย ทีมข่าวการเมือง 5 แกนนำพันธมิตร ขึ้นปราศรัย ระหว่างงานรำลึก 1 ปีแห่งการต่อสู้ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อ 25 พ.ค. 52 ที่สนามกีฬากลาง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จ.ปทุมธานี (ที่มา: ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 25 พ.ค. 52)
หัวไม้ story
หลังการชุมนุมคนเสื้อแดงจบลงไปในวันที่ 14 เมษายน 2552 โดยการชุมนุมครั้งนั้นเกิดความรุนแรงขึ้นในหลายจุด ยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการใช้อาวุธ ทั้งจากฝ่ายตำรวจ ผู้ชุมนุม และกลุ่มไม่ทราบฝ่าย ช่วงเวลา 2-3 วันให้หลัง ประชาไทพยายามติดตามหาพยานผู้เห็นเหตุการณ์ ทว่าพยานบุคคลหลายคนเลือกที่จะเป็นเสียงเงียบ และหลายคนเลือกการเดินทางกลับต่างจังหวัด บรรยากาศภายใน 1 สัปดาห์หลังจากนั้น ดูเหมือนเป็นบรรยากาศแห่งความเงียบและหวาดระแวงสำหรับผู้เคยเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มคนเสื้อแดง นั่นทำให้เราเริ่มคิดถึงคนเสื้อแดงที่ต่างจังหวัด…
หัวไม้ story
สัมภาษณ์ เสรี สาระนันท์ ส.ส. หลายสมัยจากอ.วานรนิวาส จ.สกลนคร ถึงเหตุผลที่ ส.ส. ยังคงต้องอยู่กับเสื้อแดงและทักษิณ และกระบวนการจัดการเสื้อแดงที่เป็นฐานเสียง และเป็นมวลชนที่เข้าร่วมการชุมนุม รวมถึงให้เขาประเมินอนาคตของทั้งตนเองและขั้วอำนาจฝ่ายสีแดง การสัมภาษณ์ครั้งนี้สะท้อนถึงพลังของ "ปีศาจ" อย่างทักษิณ ที่จะยังครอบงำจิตใจชาวบ้านและหลอกหลอนการเมืองขั้วตรงข้ามต่อไปอย่างยากจะเปลี่ยนแปลง
หัวไม้ story
เสียง ภาพ ชาวบ้านเสื้อแดง ตำบลหนองไผ่ จังหวัดอุดรธานี บอกเล่าความรู้สึกและความเห็นทางการเมือง ว่าด้วยประชาธิปไตย และทักษิณ หลังการชุมนุมคนเสื้อแดงที่ยุติลงในช่วงบ่ายของวันที่ 14 เม.ย. อนึ่ง ชาวบ้านบางส่วน ได้เข้ามาร่วมการชุมนุมคนเสื้อแดงในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ขณะที่อีกบางส่วนไม่ได้เข้าร่วม แต่ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดอยู่ที่บ้าน ผ่านสถานีดีสเตชั่น และวิทยุชุมชนคนรักอุดร ประชาไทบันทึกคลิปวีดีโอ เมื่อวันที่ 23 เม.ย. ที่ผ่านมา
หัวไม้ story
ทีมข่าวการเมือง [การโหยหาอดีตของสองทหารแก่ สุรชัย-เปรม อาจไม่ต่างกันมาก ผิดกันตรงที่ ทหารแก่คนหนึ่งอาจสมใจ สังคมไทย Nostalgia ย้อนยุคขุนศึก อำมาตย์ เป็นใหญ่ได้อีกหลัง 19 ก.ย. 49 มีองคมนตรีมาเป็นนายกฯ ที่ป๋าเห็นเป็นวินสตัน เชอร์ชิล มีนายกฯ หนุ่มที่ป๋าบอก “ผมเชียร์” … เช่นนี้กระมัง สหายเก่า-ทหารแก่อีกคนจึงขอแต่งชุดทหารป่าเข้ามอบตัว ขอ Nostalgia อีกรอบ] ]   000 นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ แกนนำ นปช. ขณะเข้ามอบตัวเมื่อ 27 เม.ย. 52 (ที่มาของภาพ: ASTVผู้จัดการออนไลน์)
หัวไม้ story
[ ทีมข่าวการเมือง ]   ทุกๆ เช้าของวันจันทร์-ศุกร์ ถ้าไม่ใช่วันหยุดนักขัตฤกษ์ ภารกิจของนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย คือเตรียมเดินทางมายังสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมแห่งเอเชีย (Asia Satellite Television) หรือ เอเอสทีวี ถ.พระอาทิตย์ เพื่อดำเนินรายการ “Good Morning Thailand” รายการเล่าข่าวและวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองอย่างเผ็ดร้อน ซึ่งเขาจัดเป็นประจำทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 6.00-7.00 น. แต่วันนี้ 17 เมษายน เขาไม่ได้จัดรายการ “Good Morning Thailand” เหมือนเคย เพราะถูกลอบยิงเมื่อเวลาราว 5.40 น. ก่อนที่รถของเขาจะมาถึงสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี   000   ที่มา:…
หัวไม้ story
(ทีมข่าวการเมือง)ทีมข่าวการเมือง สัมภาษณ์ผู้ชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปช.) หรือคนเสื้อแดง ระหว่างการชุมนุมเมื่อวันที่ 8 เมษายน ที่ผ่านมา โดยถามพวกเขาว่า “ออกมาชุมนุมทำไม?” ต่อไปนี้คือคำตอบของพวกเขา 
หัวไม้ story
ห้องพิจารณาคดี 904 หลังสิ้นเสียงคำพิพากษาให้จำคุก 10 ปี...
หัวไม้ story
[ทีมข่าวการเมือง]"พี่สนธิก็เคยคุยกับผมเป็นการส่วนตัวว่าคิดถึงพรรคคอมมิวนิสต์จีนด้วยซ้ำ มีโปลิตบูโร หรือคณะกรรมการนโยบายของพรรคที่อาจจะไม่ได้มามีตำแหน่งบริหาร ไม่ได้มามีตำแหน่งทางการเมือง แต่ว่าคุมยุทธศาสตร์ คุมทิศทางพรรค ซึ่งอันนี้น่าสนใจ และคงต้องดูว่าโครงสร้างเป็นอย่างไร ขณะเดียวกัน เรายังมีเวลาศึกษาพรรคการเมืองจากหลายประเทศ เพื่อเปรียบเทียบกัน และต้องดูบริบทสังคมไทยด้วย แบบไหนมันเข้ากับสังคมไทย"สุริยะใส กตะศิลา, สัมภาษณ์ใน เนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 876, 13 มีนาคม 2552  000 แกนนำพันธมิตรฯ บน “เวทีคอนเสิร์ตการเมืองครั้งที่ 4” ของพันธมิตรฯ ที่เกาะสมุย เมื่อ 4 มีนาคม 2552…
หัวไม้ story
ทีมข่าวการเมือง การเยือนสหราชอาณาจักรอย่างเป็นทางการของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 13-15 มี.ค. มีหลายประเด็นจากการเยือนดังกล่าวที่ยังไม่ได้รับการพูดถึง หลายเรื่องถูกบิดเบือน และผลิตซ้ำ จนกลายเป็นชุดความคิดที่ถูกยอมรับโดยไม่มีการตั้งคำถาม “ประชาไท” ขอนำเสนอเรื่องที่ยังไม่มีการรายงาน เรื่องที่ยังไม่ถูกพูดถึง และเรื่องที่บิดเบือนดังกล่าว ในระหว่างการเยือนอังกฤษของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ  1.เปิดต้นทางข่าว “ไม่ได้หนี แล้วมาอยู่ตรงนี้ได้อย่างไร”   สื่อมวลชนไทยทุกฉบับพร้อมใจรายงานภารกิจของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่เดินทางเยือนสหราชอาณาจักรอย่างเป็นทางการ…