Skip to main content

ชื่อบทความเดิม : เยือนสวนทูนอิน อ่านชีวิต ความคิด 75 กะรัต 'รงค์ วงษ์สวรรค์

 

ภู เชียงดาว : เรียบเรียง/รายงาน

 

 

 

หมายเหตุ : นี่เป็นมุมมองชีวิต ความคิด ว่าด้วยการเมือง ทหาร การปฏิวัติ สุขภาพ และการเขียนหนังสือ ของ ' รงค์ วงษ์สวรรค์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี 2538 ที่ได้ถ่ายทอดออกมา เมื่อ 20 พ.ค.2550 ณ สวนทูนอิน โป่งแยง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่

 

รายงานชิ้นนี้เคยตีพิมพ์ ใน นิตยสารขวัญเรือน' ปักษ์แรก กรกฎาคม 2550 ผู้เขียนขออนุญาตนำมาเรียบเรียง/รายงาน ใน ประชาไท' อีกครั้ง เพื่อเป็นการไว้อาลัยและรำลึกถึงการจากไปอย่างสงบของพญาอินทรีแห่งวรรณกรรม เมื่อค่ำของวันที่ 15 มี.ค.2552 

 

 

 http://blogazine.prachatai.com/upload/headline/headline_20090316-023338.jpg

'รงค์ วงษ์สวรรค์  ศิลปินแห่งชาติ ปี 2538  พญาอินทรีแห่งวรรณกรรม

 (ที่มาภาพ โอ ไม้จัตวา:http://www.flickr.com/photos/freemindcard/sets/72157594143593002/)

 

 20 พ.ค.2550 ผมมีโอกาสไปเยือนสวนทูนอิน โป่งแยง แม่ริม เชียงใหม่ อันเป็นถิ่นพำนักของ "พญาอินทรีบินเหนือดอยสูง" 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ศิลปินแห่งชาติ ปี 2538 อีกครั้งหนึ่ง

เป็นการไปเยือนคารวะในห้วง 75 กะรัตของนักเขียนผู้ยิ่งยงท่านนี้ เมื่อเก๋งสีครีมพาเราไต่ไปบนความสูงของดอยโป่งแยงอย่างช้า ๆ พอถึงตีนดอย รถตู้ที่จอดรับส่งพาเราขึ้นไปข้างบน บรรยากาศโดยรอบดูสงบ เงียบและงาม จังหวะที่รถกำลังตีโค้งตรงทางเข้าสวนทูนอิน ผมหันไปมองและอ่านถ้อยคำที่แขวนอยู่บนป้ายเล็ก ๆ ทางซ้ายมือ

 

"ฆ่าหม่อน ฆ่าไหม ฆ่าต้นไม้ ฆ่าเงาไม้"

 

ผมชอบป้ายอนุรักษ์ธรรมชาติของเจ้าของสวนแห่งนี้ เป็นสำนวนปรัชญา งามง่าย ชวนให้สะดุดและครุ่นคิด

 

"พวกกระทรวงป่าไม้น่าจะหัดเขียนป้ายแบบนี้บ้างนะ..." ผมครุ่นคำนึงกับตัวเอง

 

ถึงแล้ว...ผู้คนมากหน้าหลายตากำลังนั่งกันอยู่บนลานกว้าง เราเข้าไปคารวะ รงค์ วงษ์สวรรค์ กับคุณสุมาลี คู่ชีวิตที่นั่งอยู่บนโต๊ะไม้โบราณ ก่อนพากันไปนั่งตรงซุ้มกินหอมตอมม่วน บรรยากาศเรียบง่าย เป็นกันเอง ทุกคนที่มาร่วมงานต่างพากันหอบหิ้วข้าวปลาอาหารมาฮ่วมฮอมกันเหมือนดั่งญาติมิตร

 

ผมนิ่งมอง รงค์ วงษ์สวรรค์ ใน พ.ศ.นี้ ยังรับรู้สึกได้ถึงพลังชีวิต พลังใจที่แข็งแกร่งและสดใหม่อยู่เสมอ แม้ว่าวันวัยจะผ่านล่วงมาถึง 75 ปีก็ตาม

 

เมื่อทุกคนทยอยขึ้นมากันจนหมดขบวนแล้ว "กรรณิการ์ เพชรแก้ว" นักข่าวสาวจากประชาชาติธุรกิจ เอ่ยทักทายแขกผู้มาเยือน ก่อนจะยื่นไมค์ให้กับเจ้าของบ้าน เจ้าของงานวันคล้ายวันเกิดในวันนั้น...

 

นานแล้วที่เราไม่ได้ฟังมุมมองความคิดของเขา- - รงค์ วงษ์สวรรค์

 

รงค์ วงษ์สวรรค์ เอ่ยออกมาเป็นประโยคแรกในวันนั้นว่า "...ถ้าสมมติว่าวันนี้เป็นวันเกิดผม ผมเกิดเมื่อ 6 โมงเช้าของวันนี้ และผมก็อายุ 75 ปีแล้ว ผมบอกตัวเองว่า บาทหนึ่งมีอยู่สี่สลึง สลึงหนึ่งมีอยู่ 25 สตางค์ ผมใช้ไปแล้ว สามสลึงถ้ามีใช้ได้ครบหนึ่งร้อยก็เหลืออยู่สลึงเดียว แต่คงไม่ครบหรอกครับ อีกซักเฟื้องหรือสิบสองสตางค์ก็น่าจะตายได้แล้ว..." 

 

เป็นการเกริ่นนำเหมือนกับจะบอกว่า รงค์ วงษ์สวรรค์ ณ พ.ศ.2550 นั้นมองชีวิตอย่างชัดเจนและเป็นสุข

 

"...ทุกวันนี้ผมมีความสุขด้วยเหตุผลง่ายนิดเดียว เพราะคิดว่าตนเองไม่มีความทุกข์แค่นั้น คนเราที่ไม่มีความสุขเพราะไปคิดกังวลว่าเรามีความทุกข์ ทุกข์ว่าเมื่อไหร่จะเปลี่ยนรัฐบาล เมื่อไหร่จะเปลี่ยนรัฐมนตรีที่มันโกงลำไย เมื่อไหร่จะเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี ก็ได้เปลี่ยนแล้ว ทหารมาเปลี่ยนให้สะใจดีไหม? บอกว่าไม่ชอบทหาร ในที่สุดก็ต้องพึ่งทหารจนได้..."

 

เอาละสิ, แค่เริ่มต้นก็เริ่มครึกครื้นเสียแล้ว กับบทสนทนาว่าด้วยการเมืองไทยในห้วงยามนี้...

 

1. การเมือง ทหาร การปฏิวัติ

 

แน่นอน เป็นที่รับรู้กันดีว่า รงค์ วงษ์สวรรค์ นั้นผ่านการปฏิวัติมาหลายครั้งแล้ว นับครั้งยังทำงานเป็นนักหนังสือพิมพ์ใช้ชีวิตความเป็นหนุ่มตั้งแต่สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี

 

"...ผมทำงานหนังสือพิมพ์ เมื่ออายุ 20 ตอนนั้น จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี จนปีนี้ 75 ก็เท่ากับทำงานหนังสือพิมพ์มา 55 ปี ได้ผ่านนายกรัฐมนตรีมาหลายคน ได้ผ่านรัฐมนตรีมาหลายคน ได้ผ่านการรัฐประหารมาหลายครั้งมาก จนรู้สึกเป็นเรื่องปกติ..."

 

เมื่อพูดการปฏิวัติ รัฐประหารครั้งล่าสุด เมื่อวันที่19 กันยายน 2549 ในนามของ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ในระบอบประชาธิปไตยทรงเป็นประมุข(คมช.)

รงค์ บอกว่า การปฏิวัติกันครั้งนี้ ไม่ค่อยน่าตื่นเต้นเท่าไหร่

 

"...แต่การปฏิวัติครั้งนี้เป็นการปฏิวัติที่น่าแปลก แม้แต่ผมซึ่งทำงานกับงานข่าวตลอดเวลา ซึ่งไม่เคยเห็นเลย เพราะทุกครั้งที่มีการปฏิวัติ ประชาชนที่ยืนข้างถนนส่วนมากเห็นทหารยืนอยู่นานเป็นวัน ๆ มักจะเอาน้ำไปให้ สมัยก่อนไม่มีขวดน้ำจะเป็นถุงโอเลี้ยง นมเย็น  ส้มเขียวหวานเอาไปให้ ถ้ายืนนานก็เอาข้าวผัดไปให้ แต่ยุคนี้น่าแปลกใจมาก มีคนเอาดอกไม้ไปให้ทหาร เอาพวงมาลัยไปสวมกระบอกปืนรถถัง เป็นเรื่องที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน และที่น่าแปลกที่สุดคือ โคโยตี้ ไปเต้นหน้ารถถัง ปฏิวัติอะไร...มีระบำโป๊ไปเต้นให้ทหารดู..."

 

'รงค์ วงษ์สวรรค์ ‘2550 บอกย้ำด้วยน้ำเสียงขรึมปนขำ ว่า "การปฏิวัติครั้งนี้ประทับใจมาก นักปฏิวัติได้ดูระบำโป๊กลางถนน"

 

'รงค์ ยังเล่าเหตุการณ์การปฏิวัติแบบอารมณ์ขันอีกว่า เคยมีทหารไทยทำการปฏิวัติไม่สำเร็จครั้งหนึ่ง เพราะว่า มีทหารขับรถถังแล้วหลงถนน กระทั่งทหารต้องเอ่ยถามชาวบ้านไปว่า "รัฐสภาไปทางไหน?"

 

"จะไปยึดเขาดันหลง แปลกมาก เดินทางจากปราจีนบุรี มาจากกาญจนบุรี พอเข้ากรุงเทพฯ พวกเขาก็หลง ถ้าเป็นอย่างต่างประเทศ ทหารแพ้หมดเลย โดนลูกระเบิดตายเลย"

 

'รงค์ บอกถึงการปฏิวัติของไทยครั้งล่าสุดนี้ว่า การปฏิวัติแบบนี้ไม่ได้มีที่ไทยแห่งเดียว เมื่อ 10 กว่าปีที่ก่อน ที่โรมาเนีย มีทหารปฏิวัติเหมือนกัน เพื่อจะขับไล่เผด็จการชอเชสคู ซึ่งเป็นประธานาธิปดีที่โกงบ้านเมือง

 

"ผมเคยพาภรรยาไปดูบ้านของแก ในบ้านมีห้องนอนแค่ 800 กว่าห้อง เมียก็มีเพชรประมาณ 2-3 ถัง มีเครื่องเสื้อตัวละล้านกว่าบาทเป็นร้อย ๆ ตัว เป็นต้น มีรองเท้าประมาณพันกว่าคู่"

 

รงค์ บอกเล่าให้ฟังว่า มีสิ่งหนึ่งที่น่าบันทึกไว้ในการปฏิวัติครั้งนั้นที่โรมาเนีย มีทหารที่ไม่ยอมปฏิวัติโดนขึ้นศาลในข้อหาว่าทรยศต่อประชาชน พวกเขาต้องการปฏิวัติขนาดนั้น มีนายพลบางคนไม่อยากจะร่วมปฏิวัติเพราะอาจมีผลประโยชน์กับประธานาธิปดีคอร์รัปชั่นถูกขึ้นศาลทหารและถูกจำคุก แต่ก็แค่เพียง 3-5 เดือน พอเป็นพิธี พอให้รู้ว่าอย่าทรยศกับประชาชน

 

"ผมบังเอิญพาภรรยาไปเที่ยวหลังจากการปฏิวัติซัก 2 ปี ยังได้เห็นศพของนักศึกษา ประชาชนที่ตายจากการปฏิวัติ เพราะยิงกันมาก ยิงกันเมืองถล่ม ตึก 10-20 ชั้นล้มพังเลย และที่โรมาเนียมีประเพณีที่ผมอยากเอามาใช้ในเมืองไทย คือ ที่โรมาเนีย ใครตายตรงไหนก็ฝังตรงนั้นเลย แล้วทำไม้กางเขนไว้ เมืองไทยน่าจะทำบ้าง คือใครรบตรงตรงไหนก็ไปขีดเส้นไว้ พอปฏิวัติเสร็จก็เอาศพมาฝังไว้ตรงนั้นเลย บูคาเรสเป็นประเทศหลุมฝังศพทั้งเมืองเลย..."

 

'รงค์ ยังพูดติดตลกอีกว่า ปฏิวัติในเมืองไทยครั้งนี้ ก็สนุกดี ปฏิวัติมาแล้วก็ได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ เป็นนักบวช แปลกมาก เพราะทุกทีเราให้นายพลเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ครั้งนี้เป็นนักบวช

 

กระนั้น 'รงค์ พยามจะบอกกับพวกเราว่า ควรมองโลกให้สนุก ถ้ามองโลกให้สนุกมันก็สนุก

 

"...สมัยที่ผมอายุ 30 กว่า ตอนที่เผด็จการมีอำนาจสูงสุดตอนนั้น ไม่ค่อยสนุกหรอก สำหรับชีวิตหนังสือพิมพ์ค่อนข้างมีอันตรายอยู่พอสมควร กับการเป็นฝ่ายค้านที่เขียนคัดค้านผู้มีอำนาจ แต่เดี๋ยวนี้รู้สึกว่าอันตรายก็จะน้อยลงไป..."

 

2. สุขภาพ

 

เมื่อพูดถึงเรื่อง "สุขภาพ" ของ รงค์ วงษ์สวรรค์ ที่หลายคนเป็นห่วงเป็นใย

 

รงค์บอกกับเราว่า เป็นเพียงผู้ชายอายุ 75 ซึ่งไม่ค่อยแข็งแรง แต่ก็ไม่เรียกตัวเองว่าเป็นคนป่วย และไม่เรียกตัวเองว่าเป็นคนพิการ แค่เป็นโรคไต เป็นโรคที่รักษาไม่ได้เท่านั้นเอง

 

รงค์ ยังพูดเรื่องประสบการณ์การผ่าตัด- -ชีวิต

 

"ผมมีประสบการณ์ผ่าตัดมาแล้ว 2 ครั้งในชีวิต ครั้งแรกที่ผ่าเกิดจากอาการที่ผมตื่นขึ้นมาในตอนเช้าวันหนึ่งแล้วผมรู้สึกเบื่อชีวิต  คือปกติผมเป็นคนนอนหลับสนิทไม่ฝัน ถ้าคืนไหนฝันนั้นหมายความว่าจะต้องเกิดอะไรขึ้น ถ้าไม่ปวดท้องก็ปวดหัว คือถ้าคืนไหนฝันแสดงว่าป่วย แต่เช้าวันนี้แย่กว่า คือเบื่อโลก เบื่อชีวิต จึงไปหาหมอที่ ศูนย์วิจัยของโรงพยาบาลที่กรุงเทพฯ หมอก็เลยตรวจให้หลังเที่ยง หมอก็เอาแผ่นฟิล์มมาให้ดูว่ามีอะไรบ้างในกระเพาะ ปรากฏว่าในลำไส้มีตุ่ม ๆ ขึ้นมากมายหลายสิบตุ่ม ทั้งตุ่มเล็กตุ่มใหญ่ มีตุ่มเท่าหัวแม่มืออยู่ในกระเพาะอาหาร ก็เลยสันนิษฐานได้อย่างเดียวว่าเป็นเนื้องอก..."

 

"...พอเป็นเนื้องอก ก็มีการสานต่ออีกว่าจะเป็นมะเร็งหรือเปล่า ตอนนั้นมีความทุกข์อยู่สองสามวัน ระหว่างที่เขาเอาเนื้อไปตรวจ แต่ผลก็ปรากฏว่าไม่ได้เป็นมะเร็งเป็นเนื้องอกธรรมดา สรุปแล้ว ก็เอาออกแล้วก็กลับมานอนที่บ้าน พักอยู่หลายเดือน..."

 

"...พออยู่ ๆ มาสะดือก็โป่งมาอีก ต้องไปผ่าตัดอีก ปรากฏว่าหมอผ่าตัดคนที่แล้วเรียงเส้นลำไส้ไม่สวยกลายเป็นไส้เลื่อน ก็เลยต้องกลายเป็นว่าผ่าตัด 2 หน ปีนั้นทั้งปีไม่ต้องทำอะไรเลยเดินขาถ่างอยู่ในบ้าน แต่ก็รอดพ้นจากมะเร็ง..." รงค์ บอกเล่าด้วยอารมณ์ขัน

 

รงค์ บอกกับเราด้วยว่าบักหำน้อย-บักจ่อย ลูกชายทั้งสองเคยยินดีสละไตให้

 

"...เคยมีความคิดว่าอยากจะเปลี่ยนไต ผมมีลูกชายสองคนคนแรกชื่อว่าบักหำน้อย เป็นชื่อที่เรียกน่ารักของชาวอีสาน คนเล็กชื่อว่าไอ่จ่อยแปลว่าผอม ลูกทั้งสองก็ยินดีที่จะสละไตให้ผม ผมก็คิดว่าจะผ่าตัดเปลี่ยนดีไม่ดี แต่ผมก็มาคิดว่ามันไม่ยุติธรรมสำหรับเด็ก ซึ่งผมเป็นพ่อของเขาเดินทางอีกไม่กี่ก้าวก็จะถึงหลุมฝังศพ ผมไม่ควรเอาอวัยวะที่จะต้องใช้ในการเจริญเติบโต ต่อสู้โลกของเขาเอามาเป็นของตัวเอง ผมก็เลยไม่เปลี่ยนไม่เอาไตของลูก..."

 

เหตุผลของ' รงค์ ที่ไม่ยอมเปลี่ยนไตจากจีน

เพราะส่วนใหญ่ไตมาจากอำนาจและคอรัปชั่น !

 

รงค์ บอกว่า ก่อนไปประเทศจีน ก็ได้ไปที่กรุงเทพฯ มีเพื่อนรุ่นน้องเป็นทหารระดับพลเอกที่กองทัพบกบอกว่าจะลัดคิวให้ แต่ รงค์คิดว่ามันไม่ยุติธรรม เพราะเขาเข้าคิวมาเป็นปี ๆ เราจะมาลัดคิวด้วยอำนาจ ซึ่งทหารรุ่นน้องยศนายพลท่านนี้คงให้ด้วยความรักและหวังดี แต่ท้ายสุด รงค์ ก็บอกไม่เอา

 

"...แล้วก็มีคนบอกให้ไปเอาไตที่ประเทศจีน เพราะเมืองจีนมีไตทุกวัน ไตได้มาจากนักโทษที่รับโทษประหารชีวิตเพราะคอร์รัปชั่น ไม่มีเรื่องอื่น ไตที่ประเทศจีนเป็นไตของคนที่คอร์รัปชั่นทั้งนั้นเลย ไตดี ๆ ไม่มีเลย ผมก็เลยไม่เอา สรุปแล้วผมก็เลยไม่ผ่าตัด ก็ยอมไปฟอกไต ยอมทุกข์ทรมานต่อไป เมื่อไหร่จะตายก็ยังไม่แน่..."

 

รงค์ พูดถึงโรคไต น้ำ  ผลไม้ ปลา ผัก และออกซิเจน

 

รงค์ บอกว่า ไม่ปัสสาวะมาหลายปีแล้ว ไม่มีแม้แต่หยดเดียว เมื่อไม่มีปัสสาวะ หมอก็ห้ามกินน้ำ ทุกวันนี้ดื่มน้ำได้ 500 ซีซี ต่อวัน น้ำทุกชนิด ไม่ว่า ชา กาแฟ น้ำอัดลม ฯลฯ

 

อาหารประเภทแป้ง ทานได้มื้อละ 60 กรัม (ประมาณ 3 ช้อน)

สัตว์กีบทั้งหลาย ทานได้เฉพาะเนื้อหมูอย่างเดียว

ปลา ทานได้แต่ปลาน้ำจืดอย่างเดียว (ปลาทะเลกินไม่ได้ทุกชนิด)

 

เขาย้ำทานได้แต่ปลาน้ำจืดอย่างเดียว แต่มีข้อแม้ว่าต้องเป็นปลาที่มีเกล็ดเท่านั้น (ในขณะที่ปลาที่มีเกล็ดนั้นหายากมากในเชียงใหม่) 

 

รงค์ ยังบอกอีกว่า ที่โหดร้ายมากสำหรับคนที่เป็นโรคไต คือ ทานผลไม้ไม่ได้ทุกชนิด โดยเฉพาะผลไม้ที่มีสีเหลือง เช่น ข้าวโพด ฟักทอง มะม่วง สับปะรด แม้แต่ลิ้นจี่ มังคุดก็กินไม่ได้

 

รงค์ ย้ำคนใช้ออกซิเจน ไม่ใช่คนป่วย

 

รงค์บอกว่า ทุกวันนี้ต้องใช้ออกซิเจน เนื่องจากหายใจไม่ค่อยสะดวก แต่ถึงแม้ว่าต้องใช้ออกซิเจน แต่ก็ไม่ได้คิดว่าผมเป็นคนป่วย เพราะว่าเดี๋ยวนี้ในร้านเหล้าร้านกาแฟที่ทันสมัยของโลก เขาก็จะเสิร์ฟออกซิเจนด้วย ญี่ปุ่นนำก่อนเพื่อนเลย กินกาแฟไปดูดออกซิเจนไป เพราะออกซิเจนทำให้สดชื่น

 

"...แต่คนไทยยังเชื่อว่าเป็นเรื่องของคนป่วย ผมก็ไม่ได้ว่าอะไร เหมือนกับคนถือไม้เท้าเขาก็บอกว่าเป็นคนแก่ ซึ่งผมบอกว่ามันไม่ใช่ ไม้เท้านี่ใคร ๆ ก็ต้องถือ ถ้ารู้สึกว่าตัวเองศูนย์มันเสียและการมีชีวิตอยู่ในป่า ไม้เท้าสำคัญที่สุด เพราะว่าเราอาจจะลื่นหกล้ม หรือเวลาเราเดินไปงูได้ยินเสียงไม้เท้ามันก็จะหนี..."

 

http://blogazine.prachatai.com/upload/headline/headline_20090316-023633.jpg

'รงค์ วงษ์สวรรค์ คุณสุมาลี คู่ชีวิต กับ สเลิงรงค์ - วงค์ดำเลิง วงษ์สวรรค์ บุตรชาย

(ที่มาภาพ โอ ไม้จัตวา: http://www.flickr.com/photos/freemindcard/sets/72157594143593002/)

 

 

3. การครองชีวิต

 

ในขณะที่บรรยากาศกำลังเริ่มครึกครื้น แสงดาว ศรัทธามั่น' กวีนักเขียนแห่งล้านนา ลุกขึ้นถาม 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ด้วยน้ำเสียงอารมณ์ดี

 

"มีคนอยากรู้ว่า 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ใช้ชีวิตคู่อย่างไรถึงมีความสุขอย่างนี้..."

 

รงค์ บอกว่า ที่สำคัญมากที่สุด คือต้องให้เกียรติผู้หญิง

 

"ผมให้เกียรติผู้หญิงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งโสเภณี ผมเป็นนักเขียนผู้ชายคนเดียวที่ต่อสู้ดิ้นรนเพื่อโสเภณีมาตลอดชีวิต..."           

 

"...เราควรให้เกียรติผู้หญิง การใช้ชีวิตคู่ก็ไม่ควรเอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกัน อย่างผมกับภรรยา(คุณสุมาลี) ภรรยาผมทำงานหนักกว่าผมมาก ถึงแม้ก่อนผมป่วยเป็นโรคไต ก็จะต้องดูแลผม ซึ่งผมถือว่าเป็นงานหนัก แต่พอถึงปี ผมจะให้รางวัลภรรยา คือพาไปเที่ยวเมืองนอกอย่างน้อยปีละครั้ง ให้เขาได้พักผ่อนไปเที่ยวตามสบาย และเผอิญผมก็โชคดีที่ภรรยาไม่เคยอ้อนวอนให้ผมซื้อเพชรให้ เขาไม่เคยประสงค์แบบนั้น คนที่เมียขอให้ซื้อเพชรให้ปีละเม็ดนะซวยฉิ...หาย มันไม่ใช่เม็ดละบาทสองบาท มันเม็ดละเป็นแสน  เสื้อผ้าก็เหมือนกันเขาไม่เคยสุรุ่ยสุร่ายฟุ่มเฟือยจนเกินเหตุ เธอก็แต่งตัวธรรมดา ๆ ผมก็เห็นว่ามันเป็นเรื่องที่ดี..."

 

"การครองชีวิตคู่มันอยู่ที่เหตุผล..." 'รงค์ กล่าวทิ้งท้าย

 

 

4. งานเขียนคือชีวิต

 

รงค์ยังคงบอกกับเราไว้ว่า งานเขียนคือหน้าที่ รายงานความเป็นไปในโลก

 

"...เป็นหน้าที่ของผมที่ต้องรายงานเรื่องราวต่างๆ ให้สังคมทราบว่าอะไรเกิดขึ้นในโลก และผมเป็นคนอย่างนั้นเอง คือ ผมชอบรู้อะไรมันจะเกิดขึ้น...แล้วส่วนเวลาทำงานก็อย่างที่บอก ผมตื่นเช้า 8 โมงครึ่ง, 9 โมงครึ่งถึงโต๊ะทำงาน ทำงานถึงบ่ายโมง กินข้าวแล้วก็นอน ตื่นหกโมง ล้างหน้าล้างตา 1 ทุ่มก็ทำงานต่อจนถึงตีหนึ่ง กินข้าวมื้อสุดท้ายเมื่อตีสอง..."

 

งานคืออาชีพ ค่าต้นฉบับคือเงินเดือน

 

"งานมันเป็นปกติ มันเป็นอาชีพของผม ทุกวันนี้ผมยังต้องประกอบอาชีพ ต้องเอาค่าต้นฉบับมาเลี้ยงชีวิต มาเป็นเงินเดือน ดังนั้น ก็ต้องทำงานกันต่อไป...อย่างนี้ก็มีชีวิตอยู่อย่างมีความสุข เราต้องฝักใฝ่เกี่ยวกับการเขียนหนังสือและมองดูรอบตัวมีอะไรเกิดขึ้นในโลก..."

 

ก่อนจบบทสนทนา 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ได้กล่าวคำพรให้เราในวันนั้นว่า- -ไม่โกรธ ไม่เกลียด และมีอารมณ์ขัน

 

 "...ผมขออวยพรกลับไปขอให้ทุกคนมีสุขภาพดี ๆไม่ต้องดีเท่าผม แต่ดีเท่าที่คุณเป็นอยู่ และขอให้ทุกคนมีสุขใจ ขอให้ทำใจสบาย ๆ เหมือนผมตัดหมดแล้ว คือผมไม่เคยโกรธใคร ไม่เคยเกลียดใคร แม้แต่คนที่กวนที่สุดก็ต้องถีบมันนิดหน่อยเท่านั้นเอง แต่ว่าไม่โกรธไม่เกลียดและมีอารมณ์ขัน ไม่ต้องไปตื่นเต้นกับมัน มันจะปฏิวัติ  หน้าตารัฐบาลจะเป็นยังไง เป็นขิงแก่ ขิงเน่า ขิงเห่อเหิม เกิดมาไม่เคยเป็นรัฐมนตรีก็ให้เป็นก็เลยหน้าบานเป็นกะโล้ เดินไปมาไม่เห็นทำอะไรเลย ไม่ต้องไปตื่นเต้นกับมัน..."

 

นี่เป็นบางมุมมอง บางความคิดของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ในห้วงครบรอบ 75 ปี ที่สะท้อนให้เห็นถึงคมความคิดของศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี 2538 ท่านนี้ว่ายังคงชัดเจนกับ "ชีวิต"อย่างยิ่ง

 

 

(ตีพิมพ์ครั้งแรก นิตยสารขวัญเรือน ปักษ์แรก กรกฎาคม 2550)

 

 

 

 

'รงค์ วงษ์สวรรค์ เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2538 เกิดเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2475 ที่จังหวัดชัยนาท เป็นนักเขียนที่มีผลงานหลายอย่าง เช่น คอลัมน์ในนิตยสารและหนังสือพิมพ์ เรื่องสั้น นวนิยาย สารคดี บทภาพยนตร์ เอกลักษณ์ของงานเขียนคือการใช้ภาษา ซึ่งใช้คำยุคเก่า แต่สื่อถึงเรื่องราวที่ทันสมัย

 

ผลงานรวมเล่มแยกตามปีของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์

 

 

2503 - หนาวผู้หญิง, เถ้าอารมณ์ , ไฟอาย
2504 - สนิมสร้อย,บนถนนของความเป็นหนุ่ม, สนิมกรุงเทพฯ
2505 - ปักเป้ากับจุฬา, บางลำพูสแควร์, คืนรัก
2506 - เสเพลบอยบันทึก,พ่อบ้านหนีเที่ยว
2511 - ใต้ถุนป่าคอนกรีต ขบวนหนึ่ง, หอมดอกประดวน,นิราศดิบ
2512 - เสเพลบอยชาวไร่, ผู้มียี่เกในหัวใจ, หัวใจที่มีตีน, ใต้ถุนป่าคอนกรีต ขบวนสอง,หลงกลิ่นกัญชา
2513 - ฝนซาฟ้าหม่น
2514 - น้ำค้างเปื้อนแดด, ไอ้แมลงวันที่รัก,แดง รวี,หนามดอกไม้, ใต้ถุนป่าคอนกรีต ขบวนสาม
2515 - 00.00 น., ปีนตลิ่ง, ดลใจภุมริน,บ้านนี้มีห้องแบ่งให้เช่า
2516 - นักเลง โกเมน,กรุงเทพฯ รจนา, สัตหีบ : ยังไม่มีลาก่อน, ตาคลี : น้ำตาไม่มีเสียงร้องไห้,ชุมทางพลอยแดง (สารคดี),นาฑีสุดท้ายทับทิมดง
2517 - อเมริกันตาย, แม่ม่ายบุษบง
2518 - คึกฤทธิ์แสบสันต์, 23 เรื่องสั้น,ไม่นานเกินรอ,น้ำตาสองเม็ด,ความหิวที่รัก,มาเฟียก้นซอย,๒๘ ดีกรีเที่ยงวัน บรั่นดีเที่ยงคืน ('รงค์ วงษ์สวรรค์ และ "หำน้อย"), ดอกไม้ในถังขยะ
2519 - จากแชมเพญถึงกัญชา, ขี่ม้าชมดอกไม้, จากโคนต้นไม้ริมคลอง, ถึงป่าคอนกรีต, 2 นาฑีใต้แสงดาวแดง, ปักกิ่ง-กรุงเทพฯ,ซูสีไทเฮา,กัญชาธิปไตย
2520 - ดอกไม้และงูพิษ, ยินโทนิค 28 ดีกรี
2521 - แอลกอฮอลิเดย์, เบื้องข้างพันเอกณรงค์ กิตติขจร, บนหลังหมาแดดสีทอง, ผู้ดีน้ำครำ 1, 'รงค์ วงษ์สวรรค์ แสบสันต์, แกงส้มผักบุ้ง 22.00น.
2522 - ผู้ดีน้ำครำ 2
2525 - บักหำน้อย ซ้ายปลาร้าขวาเนย, สาหร่ายปลายตะเกียบ
2527 - นินทากรุงเทพฯ บุหลันลบแสงสุรยา-บรูไน, ระบำค้อนเคียว, ลมหายใจสงคราม
2528 - ไสบาบานักบุญในนรก
2529 - สามเหลี่ยมในวงกลม
2531 - สารคดีไฉไลคลาสสิค , ครูสีดา
2535 - ผกานุช บุรีรำ
2536 - ดอกไม้ดอลล่าร์, ระบำนกป่า,พูดกับบ้าน, ขุนนางป่า
2537 - แมงบาร์
2538 - 2 นาฑีบางลำพู,บูชาครูนักเลง,บาลีนีส์ทัดดอกลั่นทม,ดอกไม้ในถังขยะ, พรานล่าอารมณ์ขัน
2539 - คึกฤทธิ์ ปราโมช ในเงาเวลาของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์, บนถนนอากาศ
2540 - กินหอมตอมม่วน
2542 - เมนูบ้านท้ายวัง, เงาของเวลา, นอนบ้านคืนนี้, ลมบาดหิน
2544 - นินทา ฯพณฯ สากกะเบือ, นินทานายกรัฐมนตรี, โคบาลนักเลงปืน, หงา คาราวาน เงา-สีสันของแดด, อเมริกา -อเมริกู
2545 - มาดเกี้ยว
2546 - ฝนเหล็ก -- ไฟปืน '๓๕, นาฑีสุดท้ายทับทิมดง (รวมเล่มครั้งแรก)
2547 - บักอี สีจำปา                                                                                                              2549 - เปลี่ยวคอนกรีท

 

 

 

บล็อกของ หัวไม้ story

หัวไม้ story
กรณี “แดงจับแดง” ที่เกิดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ไม่ควรถูกมองว่าเป็นแค่เรื่องเข้าใจผิด หรือเรื่องน้ำผึ้งหยดเดียวและจบกัน แต่นี่คือเป็นปัญหาท่าที และหลักการของแกนนำซึ่งไปช้ากว่ามวลชนอย่างสม่ำเสมอ
หัวไม้ story
ขอย้อนรอยความทรงจำจากปากคำของชาวบ้านภูมิซรอลอีกครั้ง ในฐานะที่พวกเขาเป็นมนุษย์ผู้ต้องเผชิญกับชะตากรรมของสงครามที่แท้จริง และบาดเจ็บล้มตายจริง จากการเปิดฉากต่อสู้
หัวไม้ story
วิธีกลบข่าวแบบบ้านๆ ไทยๆ ไม่ต้องลงทุนมากก็กลบมันด้วยน้อง M79 ลูกกระสุนสนนราคาละไม่กี่ร้อย แต่ก็ได้พาดหัวข่าวหน้าหนึ่งกลบข่าวคนเป็นหมื่นเป็นแสนที่ออกมาไล่รัฐบาลในขณะนี้
หัวไม้ story
สื่อต่างประเทศให้ความสนใจกับข่าวการเมืองในไทยกันหนาแน่นตลอดสัปดาห์นี้ ยิ่งใกล้วันศุกร์ วันที่สื่อทั้งหลายเรียกมันว่า judgement day มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งลงข่าวและบทวิเคราะห์กันคึกคักมากขึ้นเท่านั้น ประเด็นของการรายงานของสื่อนอกเน้นหนักไปที่สองเรื่องใหญ่คือ แนวทางของคำพิพากษาที่จะออกมา กับผลสะเทือนทางการเมืองจากการตัดสินหนนี้ ทั้งต่อการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างสองขั้วคือเหลืองกับแดง และผลกระทบที่จะมีต่อเศรษฐกิจไทย (ที่มาของภาพ: มังกรดำ) ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่อาคารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2551 หรือเมื่อ 2 ปีที่แล้ว…
หัวไม้ story
เรื่อง : สิริลักษณ์ ศรีประสิทธิ์ ภาพจาก : http://urbansea09.multiply.com/photos/album/1/Por_Border_Towns  
หัวไม้ story
ทีมข่าวการเมือง พันธมิตรฯ เดินสองแนวทางทั้งการขยายพรรคการเมืองใหม่ และพื้นที่การเมืองภาคประชาชน โดยในภาพนายสมศักดิ์ โกศัยสุข รองหัวหน้าพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) หนึ่งในแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) และแกนนำ พธม.เชียงราย ร่วมพิธีตัดริบบิ้นเปิดสำนักงานพรรคเชียงราย ย่านบ้านดู่ ใกล้มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย เมื่อ 20 ธ.ค. 52 (ที่มา: “ก.ม.ม.” ปักธงเปิดสาขาเชียงรายสำเร็จ - หางแดงรวมตัวได้แค่ 3 ป่วนไม่ขึ้น, ASTVผู้จัดการออนไลน์, 21 ธ.ค. 2552)
หัวไม้ story
ทีมข่าวการเมือง การชุมนุมของคนเสื้อแดงที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อ 10 ธ.ค. 52 (ที่มา: CBNpress) การชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือคนเสื้อแดงที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อ 10 ธ.ค. ผ่านไปอย่างเรียบร้อย โดยไม่มีเหตุยกคนมาล้อมคนเสื้อแดง อย่างที่สุนันท์ ศรีจันทรา นักวิเคราะห์ตลาดหลักทรัพย์ กล่าวเชิญชวนผ่านช่องเนชั่นฯ แต่อย่างใด
หัวไม้ story
  ทีมข่าวการเมือง   องค์กรเพื่อความโปร่งใสสากลหรือ TI ที่มีสำนักงานที่เบอร์ลินเผยแพร่รายงานดัชนีชี้วัดคอรัปชั่น (CPI) ประจำปี 2552 นิวซีแลนด์-เดนมาร์ก-สิงคโปร์-สวีเดน โปร่งใสสุด ไทยได้อันดับ 84 ขณะที่ผลสำรวจย้อนหลังพบว่าไทยเคยได้คะแนนดีที่สุดในปี 2548 ขณะที่ในรอบ 5 ปีมานี้คะแนนต่ำสุดช่วงรัฐบาลรัฐประหารในปี 2550
หัวไม้ story
ภาวะตลาดหุ้นและค่าเงินบาทของไทยดิ่งตัวลงอย่างฮวบฮาบเมื่อสัปดาห์ที่ ผ่านมาด้วยข่าวลือที่สื่อไทยไม่รายงานโดยตรงเลยแม้แต่สำนักเดียวว่าเป็นข่าว ลือเรื่องใด และแม้ตลาดหุ้นจะมีอาการกระเตื้องขึ้นอีกครั้งในวันสุดท้ายของสัปดาห์ แต่ภาวะความไม่มั่นใจของนักลงทุนนี้ถูกวิเคราะห์จากสื่อทั้งสองแห่งว่าเป็น ผลโดยตรงจากความผันผวนและไร้หลักยึดของการเมืองไทยที่เป็นอาการป่วยสั่งสม แอนดรูว์ มาร์แชล จากรอยเตอร์ วิเคราะห์ผ่านบทวิเคราะห์เรื่อง ทำไมพระพลานามัยของพระมหากษัตริย์จึงส่งผลสะเทือนต่อตลาดหุ้น (อ้างอิงจาก http://www.reuters.com/article/latestCrisis/idUSSP406158 อัพเดทเวลา 6.39 น. วันศุกร์ที่ 16 ตุลาคม)…
หัวไม้ story
กรณีนี้ไม่ใช่กรณีเดียวที่เกิดขึ้น สำหรับเรื่องที่เรียกกันว่า ‘หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ’ หากแต่เป็นกรณีแรกๆ ที่ตัดสินใจต่อสู้คดี โดยไม่รับสารภาพ และเดินหน้าสู่การอภัยโทษดังที่เคยเป็น ต่อไปนี้เป็นลำดับเวลาตลอดระยะปีกว่า เนื้อหาการต่อสู้คดีบางส่วน รวมถึงวิธีคิดของเธอจากการสนทนาสั้นๆ แบบเก็บเล็กผสมน้อย
หัวไม้ story
ทีมข่าวการเมือง     คลิปสนธิ ลิ้มทองกุลอ่านฎีกา เมื่อ 4 ก.พ. 2549 ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า (ตอนที่ 1) (ที่มา: บันทึกจาก ASTV)   คลิปสนธิ ลิ้มทองกุลอ่านฎีกา เมื่อ 4 ก.พ. 2549 ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า (ตอนที่ 2) (ที่มา: บันทึกจาก ASTV)   คลิปสนธิ ลิ้มทองกุลอ่านฎีกา เมื่อ 4 ก.พ. 2549 ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า (ตอนที่ 3) (ที่มา: บันทึกจาก ASTV)   คลิปสนธิ ลิ้มทองกุลอ่านฎีกา เมื่อ 4 ก.พ. 2549 ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า (ตอนที่ 4) (ที่มา: บันทึกจาก ASTV)