Skip to main content

ทีมข่าวการเมือง

ภาพการชุมนุมของคนเสื้อแดงฯ
การชุมนุมของคนเสื้อแดงที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อ 10 ธ.ค. 52
(ที่มา: CBNpress)

การชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือคนเสื้อแดงที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อ 10 ธ.ค. ผ่านไปอย่างเรียบร้อย โดยไม่มีเหตุยกคนมาล้อมคนเสื้อแดง อย่างที่สุนันท์ ศรีจันทรา นักวิเคราะห์ตลาดหลักทรัพย์ กล่าวเชิญชวนผ่านช่องเนชั่นฯ แต่อย่างใด

\\/--break--\>

หลังจากก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 25 พ.ย. ได้ประกาศเลื่อนการชุมนุม 28 พ.ย. – 2 ธ.ค. ออกไป โดยให้เหตุผลว่าเพื่อเลี่ยงการจัดงานในช่วงงานสำคัญช่วงวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธ.ค. และหลีกเลี่ยงการที่รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร [1]

ต่อมา 2 ธ.ค. คนเสื้อแดง ก็กำหนดวันชุมนุมใหม่เป็น 10 ธ.ค. เพื่อรำลึกวันรัฐธรรมนูญ โดยวีระ มุสิกพงศ์ ประกาศว่า ไม่ได้เป็นการชุมนุมใหญ่เพื่อขับไล่รัฐบาลเพราะไม่ได้ระดมพลคนเสื้อแดงทั้งประเทศ แต่จะชุมนุมเพื่อแสดงเจตนาของคนเสื้อแดงที่ต่อต้านเผด็จการแล้วเรียกร้องประชาธิปไตย [2]
 
ตามมาด้วยการที่กรณ์ จาติกวณิช รมว.กระทรวงการคลัง ประกาศเมื่อ 7 ธ.ค. ขยายการจัดงานเฉลิมพระเกียรติที่ถนนราชดำเนิน จากเดิมกำหนดสิ้นสุดวันที่ 7 ธ.ค. ก็ขยายการจัดงานไปถึงวันที่ 9 ธ.ค. และล่าสุดเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. ก็ประกาศขยายการจัดงานไปจนถึง 13 ธ.ค. โดยเว้นการจัดงานวันที่ 10 ธ.ค. ซึ่งเป็นวันที่คนเสื้อแดงชุมนุมโดยกรณ์ให้เหตุผลว่า “เพื่อไม่ให้เสียบรรยากาศของประชาชนที่เข้าร่วมงาน” [3]

จึงไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย ที่ตลอดเวลาการประกาศชุมนุมหลายฝ่ายก็ออกมาร่วมกัน “ยำ” นปช. แสดงความไม่เห็นด้วยกับการจัดชุมนุม โดยให้เหตุผล อาทิ กระทบกับช่วงการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ ในช่วงวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อันเป็นช่วงเวลาอันเป็นมหามงคล อาทิ การชุมนุมของคนเสื้อแดงไม่กลมกลืนกับบรรยากาศของการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ ของรัฐบาล อาทิ คนเสื้อแดงนำเอาสถาบันเบื้องสูงมาบังหน้าในการเคลื่อนไหว เพราะกำหนดการชุมนุมวันที่ 10 จะมีกิจกรรมจุดเทียนชัยถวายพระพร

ฟังดูราวกับว่าคนเสื้อแดงเจตนาจัดงานในช่วงของการจัดงานเฉลิมพระเกียรติวันเฉลิมพระชนมพรรษาฯ แต่ข้อเท็จจริงก็คือ คนเสื้อแดงประกาศชุมนุมแต่แรกระหว่างวันที่ 28 พ.ย. – 2 ธ.ค. และเมื่อเลื่อนการชุมนุมออกไป และประกาศการชุมนุมอีกครั้งในวันที่ 10 ธ.ค. วันดังกล่าวก็ไม่ได้อยู่ในช่วงของการจัดงานเฉลิมพระเกียรติวันเฉลิมพระชนมพรรษา

000

 

1.งานเฉลิมพระเกียรติ
และการชุมนุมวันรัฐธรรมนูญ

 

แรกเริ่มเดิมที นายกรัฐมนตรีได้จัด “การประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 82 พรรษา 2552 ครั้งที่ 2/2552” ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เมื่อ 16 พ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล

หลังประชุมได้มีการแจ้งกำหนดการของงานเฉลิมพระเกียรติฯ โดยนอกจากการจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล และกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ ที่ท้องสนามหลวง ซึ่งทำเป็นประจำทุกปีแล้ว ในปีนี้จะมีการจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ ใน 2 พื้นที่คือ

1.การจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ ณ ลานพระราชวังดุสิต ระหว่างวันที่ 5 - 13 ธันวาคม 2552 เริ่มตั้งแต่เวลา 17.00 - 21.00 น. โดยจะมีกิจกรรมต่าง ๆ ที่น่าสนใจ อาทิ การแสดง 4D Visual Light and Sound บริเวณพระที่นั่งอนันตสมาคม เริ่มตั้งแต่ 19.00 น. และ 2.การจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ ณ ถนนราชดำเนิน ตั้งแต่ป้อมมหากาฬ ถึงโรงแรมรัตนโกสินทร์ ภายใต้แนวคิด "ความสุขของคนไทยใต้แสงพระบารมี" ระหว่างวันที่ 3 - 7 ธันวาคม 2552 เวลา 18.00 - 24.00 น. ประกอบด้วย 9 กิจกรรม

และเมื่อ 29 พ.ย. ในรายการ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์” นายกรัฐมนตรีก็ย้ำถึงการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในช่วงวันเฉลิมพระชนมพรรษา อีกครั้งว่าจัดใน 2 สถานที่ โดยกิจกรรมที่ถนนราชดำเนินที่ใช้ชื่อว่า “ความสุขของคนไทย ใต้แสงพระบารมี” เจ้าภาพคือกระทรวงการคลังจะจัดระหว่างวันที่ 3-7 ธันวาคม จะปิดการจราจรบนถนนราชดำเนินกลางตั้งแต่ เวลา 6 โมงเย็น – เที่ยงคืนของทุกคืน ส่วนกิจกรรมที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เจ้าภาพคือกระทรวงมหาดไทยจะจัดระหว่างวันที่ 5-13 ธ.ค. โดยมีการปิดการจราจรบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าตั้งแต่ 5 โมงเย็น – 3 ทุ่ม [4]

และในวันที่ 2 ธ.ค. ภายหลังจากที่นายกรัฐมนตรีทราบว่าคนเสื้อแดงนัดชุมนุมใหม่ในวันที่ 10 ธ.ค. นายกรัฐมนตรีก็ตอบผู้สื่อข่าวระหว่างแถลงข่าวที่ทำเนียบรัฐบาลว่า “สิทธิในการชุมนุมเป็นของประชาชน รัฐบาลมีหน้าที่ทำให้ทุกอย่างมีความสงบเรียบร้อย เราอยากจะให้บรรยากาศช่วงนี้เป็นบรรยากาศที่สงบ คนไทยสบายใจ แต่เราไม่สามารถไปจำกัดสิทธิตามรัฐธรรมนูญได้” [5]

ดังนั้น หากกำหนดการจัดกิจกรรมของรัฐบาลเป็นไปตามนี้ การชุมนุมของ นปช. ในวันที่ 10 ธ.ค. ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร นายกรัฐมนตรีก็ยืนยันว่าสิทธิการชุมนุมเป็นของประชาชน ไม่สามารถจำกัดสิทธิตามรัฐธรรมนูญได้ แถมสถานที่จัดการชุมนุมวันที่ 10 ธ.ค. ก็คือถนนราชดำเนินกลางบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งที่ถนนราชดำเนินในวันดังกล่าวก็ไม่ได้ใช้จัดงานฉลองฯ แล้ว เพราะตามกำหนดการเดิมจะใช้พื้นที่ระหว่างวันที่ 3-7 ธ.ค.

แต่หลังจากที่ นชป. ประกาศชุมนุม 10 ธ.ค. ก็ตามมาด้วยการโจมตีรายวันของพันธมิตรฯ-พรรคประชาธิปัตย์

 

2.ปฏิกิริยา

 

เทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวเมื่อ 4 ธ.ค. ว่าคนเสื้อแดงชอบอ้างวันสำคัญต่างๆ เป็นเหตุผลในการเคลื่อนไหว อีกหน่อยคงอ้างวันเกิดของแกนนำคนเสื้อแดงจัดการชุมนุม โดยเทพไทยังเสนอให้คนเสื้อแดงทบทวนและยุติความเคลื่อนไหวก็คงไม่สายเกินไป

กลุ่มคนเสื้อแดงมักชอบอ้างวันสำคัญต่างๆ เป็นเหตุผลในการเคลื่อนไหว เช่น วันครบรอบการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 50 ครบรอบวันปฏิวัติ วันเกิด พ.ต.ท.ทักษิณ อีกหน่อยคงอ้างวันเกิดของแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงในการจัดการชุมนุมเพื่อออกมาเคลื่อนไหว ทั้งนี้ คนทั้งประเทศมีความรู้สึกว่าไม่อยากให้ทุกฝ่ายมีกิจกรรมทางการเมืองที่สร้าง ความขัดแย้ง อยากให้ทุกฝ่ายคำนึงถึงกิจกรรมที่เกิดขึ้นในเดือน ธ.ค. ควรเป็นกิจกรรมที่เป็นมิ่งมงคล สร้างสรรค์ และสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นในชาติ และตนอยากเรียกร้องไปยังกลุ่มคนเสื้อแดงว่าควรรับฟังความเห็นของประชาชน ถ้าจะทบทวนและยุติความเคลื่อนไหวก็คงไม่สายเกินไป สำหรับตนในช่วงเดือนนี้จะหลีกเลี่ยงไม่พูดถึงประเด็นการเมือง และตนจะใช้วันที่ 5-7 ธ.ค.เป็นวันที่จะทำกิจกรรมเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล และหลีกเลี่ยงการตอบโต้ทางการเมือง เพื่อไม่ให้เกิดเป็นประเด็นความขัดแย้ง [6]

ขณะที่สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง กล่าวเมื่อ 4 ธ.ค. ถึงกรณีที่รัฐบาลไม่ประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เพื่อใช้ในการชุมนุมวันที่ 10 ธ.ค. ว่ารัฐบาลไม่ต้องการให้ประชาชนตกใจหรือผิดหวังกับบรรยากาศงานเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวามหาราช เพราะขณะนี้ เราต้องการให้เป็นบรรยากาศของความสุขจริงๆ ส่วนในจุดที่กลุ่มคนเสื้อแดงจะชุมนุมคือที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งจะมีเวทีงานแสดงกิจกรรมวันพ่ออยู่ด้วยนั้น นายสุเทพกล่าวว่า คิดว่าเมื่อคนเสื้อแดงได้เห็นบรรยากาศในงานวันพ่อที่รัฐบาลจัด ก็หวังว่าใน 1-2 วันนี้เสื้อแดงอาจจะทบทวนก็ได้ ซึ่งยังมีเวลาที่จะฉุกคิดทบทวน เพราะการแสดงพลังทางการเมืองคิดว่ายังมีเวลา หลังปีใหม่จะทำอย่างไรค่อยมาว่ากัน [7]

ขณะที่ขั้วพันธมิตรฯ และพรรคการเมืองใหม่ อย่าง สำราญ รอดเพชร โฆษกพรรคการเมืองใหม่ กล่าวเมื่อ 6 ธ.ค. ว่าต้องการให้คนเสื้อแดงยกเลิกการชุมนุมเพราะไม่กลมกลืนกับบรรยากาศของการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ ของรัฐบาล และเสนอว่าชุมนุมหลัง 13 ธ.ค. “ก็คงจะไม่ลงแดงตาย”

ต้องการให้คนเสื้อแดง ประกาศยกเลิกการชุมนุม เพราะอยู่ในช่วงทีรัฐบาลกำลังจะจัดงานมหามงคลซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่สำคัญในการแสดงกิจกรรมต่างๆ ถึงแม้จะมีการอ้างว่าจะร่วมจุดเทียนชัยถวายพระพร แต่ก็ไม่กลมกลืนกับบรรยากาศการจัดงานของรัฐบาลที่ดำเนินมาได้ด้วยดี ประชาชนกำลังมีความสุขอยู่ในช่วงเวลามหามงคล ซึ่งถ้าหากกลุ่มคนเสื้อแดงจัดงานในช่วงเวลาดังกล่าวจะเป็นการทำลายบรรยากาศ เนื่องจากไม่มีการรับประกันว่าจะมีการเกิดเหตุความรุนแรงเกิดขึ้นหรือไม่จาก มือที่สามที่จะเข้ามาสร้างความวุ่นวายตลอดจนกระแสข่าวที่ว่าจะมีกลุ่มทหาร พรานเข้ามาร่วมการชุมนุมด้วย

“พรรคการเมืองใหม่จึงขอเรียกร้องให้กลุ่ม นปช. ประกาศยกเลิกการชุมนุมและหากต้องการจะปราศรัยเรื่องรัฐธรรมนูญจริงๆ ก็ สามารถใช้สถานที่ในห้องประชุมได้อยู่แล้วหรือไม่ก็เลื่อนการชุมนุมออกไป หลังวันที่ 13 ธ.ค. ก็คงจะไม่ลงแดงตาย” [8]

ส่วนสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการพรรคการเมืองใหม่ กล่าวว่าแม้คนเสื้อแดงจะมีสิทธิเสรีภาพเต็มที่ตามรัฐธรรมนูญ แต่ต้องคำนึงถึงความเหมาะสมและกาลเทศะ และแม้คนเสื้อแดงจะมีกิจกรรมจุดเทียนชัยถวายพระพร แต่สุริยะใสก็เห็นว่า “ไม่สมควรอย่างยิ่ง” ที่นำเอาสถาบันเบื้องสูงมาบังหน้าในการเคลื่อนไหวทางการเมือง

การชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดงมีสิทธิเสรีภาพเต็มที่ตามรัฐธรรมนูญแต่ ต้องการให้กลุ่มคนเสื้อแดงคำนึงถึงความเหมาะสมและกาลเทศะ เพราะสถานการณ์บ้านเมืองปัจจุบันกำลังอยู่ในภาวะตึงเครียด การจัดงานดังกล่าวของรัฐบาลเป็นการสร้างความผ่อนคลายให้กับประชาชน และคนไทยเองก็กำลังมีความสุขกับการที่เห็นองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมี ทรงมีพระพลานามัยที่แข็งแรงสมบูรณ์ขึ้นเพราะฉะนั้นอย่าทำลายบรรยากาศด้วยการชุมนุมในช่วงเวลามหามงคล

เลขาธิการพรรคกล่าวต่อว่า การชุมนุมดังกล่าวอ้างว่าจะมีการจุดเทียนชัยถวายพระพร โดยมี “น.ช. ทักษิณ ชินวัตร” (คำพูดของสุริยะใส) เป็นผู้นำ ซึ่งกลุ่มคนเสื้อแดงไม่ควรนำเอาเรื่องสถาบันเบื้องสูงมาบังหน้าในการเคลื่อนไหวทางการเมืองซึ่งเป็นเรื่องไม่สมควรเป็นอย่างยิ่ง และขอถามกลับไปยังพรรคเพื่อไทย ตลอดจนกลุ่มคนเสื้อแดงทีออกมาประกาศว่าเดือนธันวาคมจะเป็นช่วงเวลาของการพักรบเนื่องจากเป็นช่วงเวลาของการเฉลิมพระชนมพรรษา แต่กลับไม่ทำอย่างที่พูดโดยการเคลื่อนไหวเป็นระยะๆ อย่างนี้เรียกได้ว่าเป็นการแสดงออกถึงความจงรักภักดีหรือไม่ [9]

 

3.ขยายวันจัดงานเฉลิมพระเกียรติ

 

แม้การชุมนุมของคนเสื้อแดง 10 ธ.ค. จะไม่พบกับการประกาศใช้ “พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร” แบบที่เคยเจอ แต่ก็พบกับวิธีรับมือการชุมนุมแบบใหม่ของรัฐบาล

โดยเมื่อวันที่ 7 ธ.ค. วันหยุดชดเชยวันสุดท้ายก่อนที่จะเริ่มวันทำงาน 8 ธ.ค. ซึ่งตามกำหนดการเดิมควรเป็นวันสุดท้ายของการจัดงานฉลอง “ความสุขของคนไทย ใต้แสงพระบารมี” ที่จัดบริเวณถนนราชดำเนินกลาง ซึ่งกระทรวงการคลังเป็นเจ้าภาพ แต่แล้วมีการ “ต่ออายุ” ไปอีก 2 วัน โดยกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะเจ้าภาพจัดงาน กล่าวว่าได้รับการตอบรับอย่างดีเยี่ยมจากประชาชนทั้งชาวไทยและต่างชาติที่เดินทางมาร่วมงานนับแสนคนในแต่ละวัน อีกทั้งยังมีประชาชนอีกเป็นจำนวนมากทั้งในเขตกรุงเทพและในต่างจังหวัดที่ต้องการเดินทางมาร่วมกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น คณะผู้จัดงานจึงมีมติขยายเวลาการจัดงานออกไป จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 7 ธันวาคม เป็นวันที่ 9 ธันวาคม เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกท่านได้มาสัมผัสกับความสุขในวาระอันเป็นมหามงคล และร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองครั้งประวัติศาสตร์นี้อย่างเต็มที่

"รัฐบาลมีความพร้อมเต็มที่ ที่จะขยายการจัดงานครั้งนี้ไปจนถึงวันที่ 13 ธันวาคม เพื่อให้สอดคล้องกับการจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ ณ บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าและพระที่นั่งอนันตสมาคม และสามารถรองรับความต้องการของประชาชนชาวไทย ที่มีความประสงค์จะเดินทางมาร่วมกิจกรรมแห่งประวัติศาสตร์และแสดงความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว อย่างไรก็ตาม ทางรัฐบาลก็มีความจำเป็นที่จะต้องรอดูท่าที จากทางกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดง ที่มีการประกาศที่จะชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในวันที่ 10 ธันวาคมนี้ก่อน ทั้งนี้เพื่อเป็นการเคารพสิทธิการแสดงออกทางการเมือง ของกลุ่มผู้ชุมนุมที่มีการแสดงเจตจำนง ก่อนหน้าที่รัฐบาลจะประกาศขยายการจัดงาน" [10]

ในวันเดียวกัน นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ก็กล่าวว่า ยังไม่สายเกินไปที่กลุ่ม นปช. จะใช้โอกาสน้อมรับกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ใช้วิจารณญาณและไต่ตรอง เลื่อนการชุมนุมในวันที่ 10 ธ.ค.นี้ออกไปก่อน และให้โอกาสประชาชนคนไทยใช้เวลาในช่วงนี้สร้างความสุขและสร้างความสมานฉันท์ และความปรองดองในชาติกลับคืนมา [11]

และต่อมา ในวันที่ 9 ธ.ค. กรณ์ จาติกวณิช ก็ประกาศขยายการจัดงานฉลอง “ความสุขของคนไทย ใต้แสงพระบารมี” ที่จัดบริเวณถนนราชดำเนินกลาง ออกไปจนถึงวันที่ 13 ธ.ค. โดยเว้นการจัดงานในวันที่ 10 ธ.ค. “เนื่องจากวันที่ 10 ธ.ค.นี้ ซึ่งเป็นวันรัฐธรรมนูญ ทางกลุ่มเสื้อแดงยืนยันที่จะมีการชุมนุมในวันดังกล่าว รัฐบาลจึงกำหนดให้ไม่มีการจัดงานในวันนั้น เพื่อไม่ให้เสียบรรยากาศของประชาชนที่เข้าร่วมงาน ซึ่งพิจารณาแล้วว่า อาจจะไม่เหมาะสมนักหากจะมีการชุมนุมพร้อมกับการจัดงานเฉลิมฉลอง” กรณ์กล่าว [12]

ดังนั้นจึงเป็นรัฐบาลเอง ที่ขยายการจัดงานเฉลิมพระเกียรติเข้ามาซ้อนกับการชุมนุม จากเดิมกิจกรรมที่ถนนราชดำเนินจะสิ้นสุดวันที่ 7 ธ.ค. ก็ขยายเป็น 9 ธ.ค. และขยายจนถึง 13 ธ.ค. เว้นการจัดงานในวันที่ 10 ธ.ค. วันเดียว เพื่อให้ดูเหมือนคนเสื้อแดงทำลายบรรยากาศของการจัดงานเฉลิมพระเกียรติ

ซึ่งไม่ผิดไปจากที่ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. กล่าวเมื่อ 7 ธ.ค. ว่า

การเปลี่ยนกำหนดการจัดงานวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคมเพิ่มเติมจากวันที่ 5-7 ธันวาคม ไปถึงวันที่ 13 ธันวาคม เรื่องนี้ก็ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่าพรรคประชาธิปัตย์คิดอะไรอยู่ เพราะเป็นการใช้ข้ออ้างการจัดงานวันเฉลิมพระชนมพรรษามาเป็นประโยชน์ทางการเมืองโดยตรง เนื่องจากก่อนหน้านี้แกนนำคนเสื้อแดงได้ตรวจสอบกำหนดการการจัดกิจกรรมวันเฉลิมพระชนมพรรษามาแล้วว่าในช่วงวันที่ 10 ธันวาคม หากมีการชุมนุมจะไม่กระทบกระเทือนกับกิจกรรมใดๆ แต่จู่ๆ กลับมีแนวคิดที่จะจัดกิจกรรมเพิ่มเติมเพื่อปิดกั้นการชุมนุมของคนเสื้อแดงใน วันที่ 10 ธันวาคม ซึ่งตรงนี้เราคงจะไม่อธิบายใดๆ เพราะสังคมส่วนใหญ่เห็นพฤติกรรมของพรรคประชาธิปัตย์ดี [13]

 

4.การชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
และกิจกรรมวันรัฐธรรมนูญ

 

โปรดบันทึกด้วยว่า เมื่อ 8 ธ.ค. สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ แกนนำพันธมิตรฯ คนสำคัญ กล่าวโจมตีการชุมนุมวันที่ 10 ธ.ค.ของคนเสื้อแดงว่า

เป็นการเคลื่อนไหวในเชิงสัญลักษณ์ว่าเป็นวันที่ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญโดยมีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ และเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่เขาเรียกร้องต้องการคือฉบับปี 2540 โดยเนื้อหาของการชุมนุมจะสะท้อนถึงการส่งทอดความรู้สึก กำลังใจและสัญญาณไปถึงเครือข่ายทั่วประเทศว่า แม้จะอยู่ในช่วงของการเฉลิมฉลองในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 82 พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และประชาชนควรทำให้เกิดความสงบ แต่พวกเขาเลือกที่จะกระทำ แสดงว่าเขากล้าท้าทายไม่เพียงแต่รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์เท่านั้น แต่เขายังกล้าท้าทายราชสำนักด้วย

“ดังนั้น การเคลื่อนไหวครั้งนี้เป็นการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ของรัฐธรรมนูญ และมีนัยสำคัญที่จะให้คนเข้าใจได้ว่า มิได้หวั่นเกรงต่อสถาบันหลักของชาติ ทำให้การดำรงเป้าหมายเดิมยังคงอยู่” [14]

นอกจากนี้ ASTVผู้จัดการออนไลน์ ยังเผยแพร่บทความ “อยากเห็นคนไทยสั่งสอน “เสื้อแดง” ไม่รู้กาลเทศะ!!” ที่โจมตีว่าคนเสื้อแดงชุมนุมวันที่ 10 ธ.ค. แสดงว่าต้องการสื่อให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง บทความยังบอกว่าอยากเห็นการที่มีคนเสื้อแดงออกมาชุมนุมแล้ว “ถูกคนโห่ไล่ รุมด่าประณามใส่หน้า”

“หากจะกล่าวกันอย่างตรงไปตรงมาแล้ว การดึงดันจัดการชุมนุมในวันที่ 10 ดังกล่าวหากมองอย่างผิวเผินก็อาจมองได้ว่าเป็นการรำลึกถึงรัฐธรรมนูญ แต่หากพิจารณาให้ลึกแล้วคนพวกนี้ต้องการสื่อให้เห็นถึงการ “เปลี่ยนแปลง” การปกครองใช่หรือไม่

เป็นการเคลื่อนไหวที่ต้องการสื่อให้เห็นในเชิงสัญญลักษณ์ !!

...

อยากเห็นเหมือนกันว่าเวลาที่ถูกคนโห่ไล่ รุมด่าประณามใส่หน้าแล้วคนพวกนี้จะรู้สึกอย่างไร

เพราะเชื่อว่าคนไทยที่จงรักภักดีทุกคนคงไม่อยากเห็นคนที่ไม่รู้จัก กาลเทศะ มาทำลายความสุขที่กำลังเกิดขึ้นในบ้านเมือง และบางทีในวันนั้นอาจได้เห็นการสั่งสอนในลักษณะที่เป็น “อารยะ” กับคนพวกนี้อย่างจริงจังเสียที!!” [15]

ทั้งจากมุมมองของสมเกียรติ และบทความจากค่ายพันธมิตรฯ ที่เสนอว่า การที่คนเสื้อแดงชุมนุมวันที่ 10 ธ.ค. เนื่องในวันรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องผิด เพราะ 1.การชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และการชุมนุมในวันรัฐธรรมนูญเป็นการท้าทายราชสำนัก 2.ผิดเพราะชุมนุมในช่วงการเฉลิมฉลองในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

แต่ตามข้อเท็จจริง การชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย การจัดกิจกรรมทางการเมืองในวันรัฐธรรมนูญ และการชุมนุมทางการเมืองในเดือนธันวาคมในช่วงใกล้วันเฉลิมพระชนมพรรษาฯ ก็ล้วนเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์การเมืองไทยระยะใกล้มาแล้วทั้งสิ้น และเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นปกติ โดยที่ก็ไม่มีใครหยิบยกขึ้นมาเป็นข้อโจมตีทางการเมืองกันอย่างเอาการเอางานแบบที่สมเกียรติกระทำ

 

การใช้พื้นที่ ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

ภาพ ในหลวง และ พระราชินี เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2514 ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
ภาพจากหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย วันที่ 10 มิ.ย. 2514 หน้า 16 คำบรรยายภาพระบุว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ ทรงรับการถวายความเคารพจากทหาร เนื่องในพิธีสวนสนาม เนื่องในวันรัชดาภิเษก เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 25 ปี ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 8 เดือนนี้” (ที่มา: อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกับความหมายที่มองไม่เห็น, หน้า 249)

ภาพหน้าแรก หนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย ฉบับวันที่ 14 ต.ค. 2516
หน้าแรกของหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย ฉบับวันที่ 14 ต.ค. 2516 เป็นภาพการเดินขบวนใหญ่เมื่อ 13 ต.ค. 2516 (ที่มา: อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกับความหมายที่มองไม่เห็น, หน้า 254)

ภาพ วันที่ 22 มี.ค. 2519 กลุ่มกระทิงแดง ชุมนุมคัดค้านศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.)
ภาพจากหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย ฉบับวันที่ 22 มี.ค. 2519 กลุ่ม “กระทิงแดง” ชุมนุมคัดค้านศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) ที่จะเดินขบวนต่อต้านฐานทัพสหรัฐอเมริกาในไทย
(ที่มา: อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกับความหมายที่มองไม่เห็น, หน้า 275)

ภาพพันธมิตรประชาชนเพื่อนประชาธิปไตย 25 พ.ค. 2551
เมื่อ 25 พ.ค. 2551 พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็ใช้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นจุดเริ่มต้นการชุมนุม 193 วัน (ที่มา: ASTVผู้จัดการออนไลน์)

 

การชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อรำลึกวันรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 10 ธ.ค. ถูกสมเกียรติมองว่าเป็นการท้าทายราชสำนัก ซึ่งสมเกียรติอาจลืมไปว่าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นพื้นที่สาธารณะ นับตั้งแต่มีการสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในปี 2482 สมัยรัฐบาล พล.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา กระทั่งแล้วเสร็จและทำพิธีเปิดในปี 2483 จนถึงปัจจุบัน มีการใช้พื้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจัดกิจกรรมหลากหลายวัตถุประสงค์โดยทุกฝ่าย ไม่ใช่พื้นที่ชุมนุมทางการเมืองเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยหรือข้อเสนอทางการเมืองอื่นเท่านั้น แต่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยยังเป็นสถานที่จัดงานรัฐพิธี และงานพระราชพิธีด้วย

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นพื้นที่จัดกิจกรรมหลายวัตถุประสงค์ของผู้คน นับตั้งแต่ชุมนุมเรียกร้องดินแดน นับตั้งแต่การชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยในทุกหลายยุคหลายสมัย กระทั่งใช้เป็นที่สวนสนามของทหาร และแม้กระทั่งใช้เป็นพื้นที่ชุมนุมขอให้รัฐบาลแก้ปัญหาปากท้องของพ่อค้าแม่ค้า คนขับรถแท็กซี่ ก็เคยใช้มาแล้ว และก็ปรากฏว่าพื้นที่ฐานของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก็เคยใช้เป็นสถานที่ประทับสำหรับประกอบพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาแล้ว [16]

และต้องไม่ลืมว่า การชุมนุม 193 วันของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อปี 2551 วันแรกของการชุมนุม 25 พ.ค. 51 ก็เริ่มต้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

 

หลายกิจกรรมในวันรัฐธรรมนูญ
ขณะที่สมเกียรติมองว่าการจัดกิจกรรมเนื่องในวันรัฐธรรมนูญ 10 ธ.ค. ไม่เหมาะสมเพราะ “อยู่ในช่วงของการเฉลิมฉลองในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา” ก็ปรากฏว่าวันรัฐธรรมนูญถือเป็นวันสำคัญที่ถือเป็นวันหยุดราชการและวันหยุดธนาคาร และในวันนี้ทุกฝ่ายต่างก็มีการจัดกิจกรรมในช่วงวันรัฐธรรมนูญ ซึ่งวันดังกล่าวนี้ก็อยู่ถัดจากวันเฉลิมพระชนมพรรษาอยู่แล้ว โดยที่ผ่านมาก็ไม่มีใครหยิบยกการจัดกิจกรรมทางการเมืองในวันรัฐธรรมนูญ มาเป็นเหตุโจมตีว่าจัดกิจกรรมทางการเมืองในช่วงเวลาอันเป็นมหามงคลในวันเฉลิมพระชนมพรรษาฯ

สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ คงทราบดีว่าทุกปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ วางพานพุ่มดอกไม้ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพานพุ่มดอกไม้ของส่วนพระองค์ และทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะถวายบังคมพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เนื่องในวันพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ณ หน้าอาคารรัฐสภา เป็นประจำทุกปี

นอกจากนี้หลังพระราชพิธีนี้ ส.ส.ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล และ ส.ว. ก็จะไปถวายบังคมพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระบรมราชานุสาวรีย์ หน้าอาคารรัฐสภาในวันรัฐธรรมนูญนี้ด้วย

ขณะที่นอกจากรัฐบาลและราชสำนักแล้ว หลายฝ่ายก็นิยมใช้วันรัฐธรรมนูญจัดกิจกรรมทางการเมือง

หากยังจำกันได้ “สมัชชาคนจน” ก็ประกาศก่อตั้งเป็นทางการในวันรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2538 โดยประกาศทั้งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรุงเทพฯ และที่สันเขื่อนปากมูล อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ คงจำได้ดีเพราะเคยเป็นที่ปรึกษาสมัชชาคนจน

ขณะที่ “มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน” ก็ใช้โอกาสวันรัฐธรรมนูญ 10 ธ.ค. แถลงข้อเสนอต่อสังคมมาโดยตลอด โดยในปี 2547 ที่ลานปรีดี ม.ธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนร่วมกับคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา จัดงาน “วันทวงคืนรัฐธรรมนูญ” นายสมเกียรติ ตั้งนโม อธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน แถลงว่า มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนและองค์กรพันธมิตรได้จัดทำสมุดปกเหลืองคู่มือการเลือกตั้ง 48 นำเสนอ “4 ไม่เลือก” และ “10 เลือก” เป็นข้อมูลให้กับประชาชนใช้พิจารณาประกอบการตัดสินใจเลือก ส.ส. [17]

ในปี 2548 ที่ลานปรีดี ม.ธรรมศาสตร์ เมื่อ 10 ธ.ค. สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจัดกิจกรรมวันธรรมศาสตร์และวันรัฐธรรมนูญ ด้วยการร่วมวางพวงมาลาคารวะนายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส โดยมีนายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ นักคิดนักเขียนชื่อดัง กล่าวปาฐกถาเรื่อง "ทวงคืนรัฐธรรมนูญ" ว่าประชาชนจะต้องรวมพลังเรียกร้องอำนาจตามรัฐธรรมนูญของตัวเองคืนมา เพราะรัฐบาลชุดนี้ใช้อำนาจรัฐธรรมนูญออกกฎหมายลูกให้อำนาจแก่ผู้บริหาร ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไม่ยอมทำตามรัฐธรรมนูญ [18]

หลังรัฐประหาร 19 ก.ย. วันที่ 10 ธ.ค. 2549 ที่ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนและสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้จัดเสวนาเนื่องในวันรัฐธรรมนูญ เรื่อง "รัฐธรรมนูญฉบับลงขันปัญญา เพื่อประชาธิปไตยกินได้" โดยมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนออกแถลงการณ์ประกาศนำร่างประชาธิปไตยฉบับกินได้ 6 ข้อให้บรรจุในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อสร้างความเท่าเทียมและความมั่นคงในชีวิตของประชาชน และป้องกันการฉีกรัฐธรรมนูญในอนาคตไม่ให้ง่ายเหมือนที่ผ่านมา [19]

และเมื่อ 10 ธ.ค. ปี 2550 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับมหาวิทยาลัยเลี่ยงคืน จัดงาน “10 ธันวาวันทวงคือรัฐธรรมนูญ” พร้อมด้วยการจัดราชดำเนินเสวนาในหัวข้อ “รัฐธรรมนูญไทยภายหลงการเลือกตั้งไม่มีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ โดยมีวิทยากรประกอบด้วยอรรถจักร สัตยานุรักษ์ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ประภาส ปิ่นตบแต่ง สมชาย ปรีชาศิลปกุล [20]

ล่าสุดเมื่อ 10 ธ.ค. ปี 2551 ที่ ม.เที่ยงคืน ถ.ห้วยแก้ว จ.เชียงใหม่ นักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนประกาศคำแถลง “คำประกาศรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมแห่งการเมืองภาคประชาชน" เสนอหลักการและแนวทางปฏิบัติต่อสังคมไทย เพื่อกอบกู้ความหมายและปฏิบัติการของ "การเมืองภาคประชาชน" คืนแก่ประชาชน โดยเฉพาะคนจนคนชายขอบ [21]

ขณะที่หลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 หลายกลุ่มก็อาศัยวันรัฐธรรมนูญ 10 ธ.ค. นัดชุมนุม โดยเมื่อ 10 ธ.ค. 2549 ที่สนามหลวงมีการชุมนุมประท้วงคณะรัฐประหารโดยเครือข่าย 19 กันยาต้านรัฐประหาร และในเวลา 18.30 น. มีการเดินขบวนไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อวางพวงมาลาที่เขียนข้อความว่าคณะราษฎรเป็นผู้เรียกร้องประชาธิปไตย และมีการเผารัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2549 ฉบับจำลองทิ้ง [22]

ในปี 2551 หลังจากการตัดสินยุบพรรคพลังประชาชนและอีก 2 พรรคการเมือง จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ก็จัดแถลงข่าว ที่โรงแรมเรดิสัน เมื่อ 10 ธ.ค. โจมตีการยุบพรรคพลังประชาชน โดยจาตุรนต์กล่าวว่า เรากำลังเห็นกระบวนการของคณะยึดอำนาจที่พยายามดำเนินการตามแผนบันได 4 ขั้นให้เสร็จสมบูรณ์ หลังจากที่มีการยุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย และล้มรัฐบาลสำเร็จไปแล้ว [23]

ในวันเดียวกัน “แซม” ยุรนันท์ ภมรมนตรี หรือแซม ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และทีมงาน ถือฤกษ์วันที่ 10 ธันวาคมซึ่งเป็นวันรัฐธรรมนูญ รวมตัวกันบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน เพื่อเปิดตัวการสมัครผู้ว่าฯ กทม. ของเขาอย่างเป็นทางการ โดยติดป้ายหาเสียงที่ถนนดินสอ เขตพระนคร แล้วไปจุดเทียนที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพื่อสื่อถึงการสานต่อระบอบประชาธิปไตยและประกาศจะรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ [24]

กิจกรรมในวันรัฐธรรมนูญจึงเป็นไปอย่างหลากหลาย ทั้งจัดกิจกรรมโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรำลึกถึงวันพระราชทานรัฐธรรมนูญ ไปจนถึงเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญเลยก็ได้

 

5.ย้อนพินิจพันธมิตรฯ ชุมนุม

 

ขณะที่สมเกียรติและแกนนำพันธมิตรฯ เห็นว่าการชุมนุมของคนเสื้อแดงในวันที่ 10 ธ.ค. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นการชุมนุม “ในช่วงของการเฉลิมฉลองในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 82 พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” อันเป็นการ “ไม่รู้จักกาลเทศะ” [25] สมเกียรติถึงกับใช้คำว่า “ท้าทายราชสำนัก” [25]

ในทางกลับกัน การชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในปีก่อนๆ ก็เคยชุมนุมในเดือนธันวาคม ซึ่งถ้ายึดเอามาตรฐานพันธมิตรฯ อย่าง สุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการพรรคการเมืองใหม่ ที่ถือว่าเดือนธันวาคมเป็น “ช่วงเวลาของการเฉลิมพระชนมพรรษา” ส่วนโฆษกพรรคการเมืองใหม่อย่างสำราญ รอดเพชร ก็ถือว่าเดือนธันวาคมเป็น “ช่วงเวลามหามงคล” [27]

เมืองไทยรายสัปดาห์ในช่วงเวลาอันเป็นมหามงคล
เมื่อย้อนกลับไปในปี 2548 ยุคที่ “รายการเมืองไทยรายสัปดาห์” ของสนธิ ลิ้มทองกุล ถูกปลดออกจากผังรายการของช่อง 9 อสมท. หลังจากนั้นเขาและสโรชา พรอุดมศักดิ์ จึงออกมาจัดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรทุกๆ วันศุกร์ ชูคำขวัญ “เราจะสู้เพื่อในหลวง” และ “ถวายคืนพระราชอำนาจ” เริ่มจัดรายการที่หอประชุม ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กระทั่งย้ายมาจัดที่สวนลุมพินี กลายเป็นการชุมนุมย่อยๆ นั้น

โดยในการจัดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร ครั้งที่ 10 ที่วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี สนธิซึ่งปราศรัยมาจากวัดป่าบ้านตาด ผ่านมายังผู้ชมที่สวนลุมพินี โดยในช่วงตอบคำถาม สนธิได้เสนอให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นลาออกแล้วคืนอำนาจให้พระเจ้าอยู่หัวฯ เพื่อให้มีการตั้งนายกรัฐมนตรีพระราชทาน แล้วร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยสนธิถือว่าถ้าเป็นแบบนี้ พ.ต.ท.ทักษิณจะทำคุณประโยชน์ให้ประเทศไทยอย่างมาก

สโรชา - ถึงเวลาตอบคำถาม มีคำถามเข้ามาเยอะเลือกสักไม่กี่คำถาม เดี๋ยวมีอีกคำถามหนึ่งซึ่งเป็นคำถามที่ประชาชนที่ชมอยู่หลายต่อหลายสัปดาห์ ได้ถามนะคะ แต่ว่า ไว้ช่วงท้ายแล้วกัน ถามว่า ถ้านายกฯ แน่จริง ยุบสภาฯ เหมือนญี่ปุ่นได้ไหม เพราะถ้าเจ๋งจริงประชาชนเขาก็เลือกกลับเข้ามาใหม่ เพราะตอนนี้ประชาชนอยากให้เกิดความเปลี่ยนแปลง

สนธิ - ผมไม่อยากจะให้ยุบสภา ผมอยากให้ท่านนายกฯ เสียสละ ได้ไหม

สโรชา - คือ ?

สนธิ - ท่านลาออกแล้วคืนอำนาจให้พระเจ้าอยู่หัวฯ ไปเลย แล้วให้พระเจ้าอยู่หัวฯ ตั้งนายกฯ พระราชทานมาคนหนึ่ง แล้วก็ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ขึ้นมา ท่านจะทำคุณประโยชน์ให้ประเทศไทยอย่างมาก [28]

ช่วงท้ายรายการสนธิได้แจ้งว่าจะเว้นการจัดรายการ 1 สัปดาห์ โดยวันศุกร์ที่ 2 ธ.ค.จะของดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ 1 สัปดาห์ เนื่องจากใกล้วันสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ และวันเฉลิมพระชนมพรรษา และจะขอถือโอกาสเจริญภาวนาเพื่อถวายเป็นพระราชสักการะ โดยนัดหมายอีกครั้งในวันที่ 9 ธ.ค.

ภายหลังผ่านช่วงวันเฉลิมพระชนมพรรษาฯ เมื่อ 6 ธ.ค. นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ถอนฟ้องสนธิ ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา และเมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า การถอนฟ้องครั้งนี้เพราะต้องการทำตามกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ใช่หรือไม่ นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า จริงๆ แล้วรัฐบาลน้อมรับตามแนวพระราชดำริ และต้องการทำงานอย่างสร้างสรรค์ แต่ไม่อยากนำเรื่องพระราชดำรัสมาอ้าง [29]

ขณะที่รัฐบาลเอาช่วงวันเฉลิมพระชนมพรรษาเป็นโอกาสยุติความขัดแย้งทางการเมือง ขณะที่ฟากของสนธิยังคงเคลื่อนไหวต่อไป โดยมีการจัดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร ครั้งที่ 11 ที่สวนลุมพินี ในวันศุกร์ที่ 9 ธ.ค. ตามกำหนดเดิม โดยการชุมนุมครั้งนี้ มีคำพูดอมตะของสนธิที่ว่าถ้าเขาไปรับตำแหน่งทางการเมือง เจอหน้าเขาที่ไหนให้ถุยน้ำลายใส่หน้าและเอารองเท้าตบหน้าได้ทันที

“พ่อแม่พี่น้องประชาชน ตลอดจนคุณสโรชาด้วย จำเอาไว้ วันไหนในอนาคต ตราบจนกระทั่งผมตาย ถ้าผมไปรับตำแหน่งอะไรทางการเมือง แล้วถ้าผมไม่ใช่สื่อมวลชนของท่านต่อไป เจอหน้าที่ไหน ถุยน้ำลายใส่หน้าผม ถอดรองเท้าตบหน้าผมได้ทันที” [30]

ชุมนุม 193 วัน ในเดือนธันวาคม

ภาพการ์ดพันธมิตรฯ ระหว่างเหตุการณ์ที่ปากซอยวิภาวดี
การ์ดพันธมิตรฯ ระหว่างเหตุการณ์ที่ปากซอยวิภาวดี ซอย 3 เมื่อ 25 พ.ย. 51
(ที่มา: สำนักข่าวแห่งชาติ)


ข่าวต้นชั่วโมงของ อสมท. เมื่อ 2 ธ.ค. ท่าทีของ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง หลังการยุบพรรคการเมืองทั้ง 3 พรรค เบื้องต้นจะปักหลักชุมนุมในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ที่มา: MCOT บันทึกโดย Palrakonline http://www.youtube.com/watch?v=jPnyfZP86qs

ขณะที่ในปี 2551 ซึ่งมีการชุมนุม 193 วันของพันธมิตรฯ ขับไล่รัฐบาลพรรคพลังประชาชน ในช่วงท้ายของการชุมนุม ผู้ชุมนุมได้เข้ายึดสนามบินสุวรรณภูมิเมื่อ 25 พ.ย. 51 โดยระหว่างเคลื่อนขบวนของพันธมิตรฯ ส่วนหนึ่ง ได้มีการปะทะกับผู้ชุมนุม นปช. ที่ปากซอยวิภาวดีซอย 3 ด้วย โดยภาพที่ปรากฏเป็นข่าวคือบนรถนำขบวนของการ์ดพันธมิตรฯ มีการ์ดพันธมิตรรายหนึ่งชูภาพพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขณะที่การ์ดพันธมิตรอีกรายที่อยู่ข้างกันกำลังใช้ปืนพกยิงผู้ชุมนุม นปช. ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามของถนน เป็นพฤติกรรมของผู้ชุมนุมที่อ้างความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 51 ก็มีข่าวการ์ดของผู้ชุมนุมการนำพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาติดที่โล่ กระทั่งมีหลายฝ่ายออกมาตำหนิจึงล้มเลิกความคิดนี้

โดยเมื่อการชุมนุมเข้าสู่เดือนธันวาคม ก็ยังไม่มีวี่แววว่าแกนนำจะประกาศยุติการชุมนุม กระทั่งในวันที่ 2 ธ.ค. ที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคพลังประชาชน ชาติไทย และมัชฌิมาธิปไตย



ทันทีที่ศาลสั่งยุบพรรคพลังประชาชน เริ่มแรกแกนนำพันธมิตรฯ ยังไม่ยุติการชุมนุม โดยเวลาประมาณ 13.00 น. พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ปราศรัยระหว่างชุมนุมที่สนามบินสุวรรณภูมิว่า ขอให้ผู้ชุมนุมอย่านิ่งนอนใจ และขอร้องให้ปักหลักชุมนุมต่อไป เพื่อประเมินท่าทีอีกครั้ง นอกจากนี้ พล.ต.จำลอง ยังเชิญชวนให้ประชาชนออกมาร่วมชุมนุมและร่วมฉลองชัยชนะในช่วงกลางคืน [31]

เวลาประมาณ 13.30 น. ที่สนามบินดอนเมือง นายสมศักดิ์ โกศัยสุข แถลงว่า จะยังไม่ยุติการชุมนุม เราจะกลับบ้านตอนนี้ไม่ได้เด็ดขาด เนื่องจากเป้าหมายของพันธมิตร คือ ขับไล่รัฐบาลและคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขณะนี้เสร็จแล้ว เหลือเพียงการเมืองใหม่ซึ่งต้องสานต่อให้จบ ไม่ใช่ไล่ให้ออกไปแล้วจบ แต่สังคมไม่ได้อะไร โดยแกนนำทั้ง 5 คนจะหารือกันในเวลา 17.00 น.ของวันนี้ [32]
 
เวลาประมาณ 15.00 น. นายศิริชัย ไม้งาม แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย รุ่น 2 ซึ่งดูแลรับผิดชอบการชุมนุมที่สนามบินสุวรรณภูมิ ยืนยันว่าการชุมนุมยังปักหลักต่อไป แม้คดียุบพรรคทั้ง 3 พรรค จะส่งผลให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ต้องพ้นจากตำแหน่ง แต่เชื่อว่าคนใกล้ชิด หรือคนของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรียังคงอยู่ และถือครองอำนาจโดยไม่ชอบธรรม รวมถึงการพ้นจากตำแหน่งก็ไม่ใช่เป้าหมายของการชุมนุม [33]

และมีกระแสว่าในการประชุมของแกนนำพันธมิตรฯ มีท่าทีว่าจะยุติการชุมนุมชั่วคราว แต่หากพรรคพลังประชาชนจะเลือก ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง หรือนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ ทางพันธมิตรฯ อาจเลือกที่จะปักหลักชุมนุมต่อไป [34]

กระทั่งในเวลาประมาณ 19.00 น. ที่บ้านพระอาทิตย์ 5 แกนนำพันธมิตรฯ นำโดยนายสนธิ ลิ้มทองกุล ได้อ่าน “แถลงการณ์ ฉบับที่ 27/2551 พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เรื่อง ประกาศชัยชนะของประชาชน” ซึ่งระบุว่า เมื่อได้รับชัยชนะตามวัตถุประสงค์แล้ว ประกอบกับเป็นช่วงเวลามหามงคลเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว และพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็ไม่มีความปรารถนาที่จะชุมนุมต่อไปโดยไม่จำเป็น พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจึงขอประกาศยุติการชุมนุมทั้งที่ทำเนียบรัฐบาล สนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินดอนเมือง ในวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2551 [35]

ทำให้ในวันที่ 3 ธันวาคม พันธมิตรฯ ได้ยุติการชุมนุมและถอนการชุมนุมออกจากสนามบินสุวรรณภูมิและสนานที่อื่น ซึ่งถ้าหากในวันที่ 2 ธ.ค. ไม่มีการตัดสินคดียุบพรรค 3 พรรคการเมือง พันธมิตรฯ ก็คงชุมนุมต่อไปไม่มีกำหนดสิ้นสุด และแม้มีคำตัดสินยุบพรรคแล้ว ในชั้นต้นแกนนำก็ยังประกาศให้ผู้ชุมนุมปักหลักต่อไป จน “ไทยอีนิวส์” ตั้งข้อสังเกตว่าพันธมิตรฯ ได้รับสัญญาณพิเศษบางอย่าง จึงมีการประชุมแกนนำและสั่งยุติการชุมนุมชนิด “หัวคะมำ” [36]

หลังยุติการชุมนุมในวันที่ 3 ธ.ค. อีกไม่ถึง 7 วันดี พันธมิตรฯ ก็จัดชุมนุมกันอีก เมื่อ 8 ธ.ค. โดยที่ไม่มีใครไปกล่าวหาว่าพันธมิตรฯ ชุมนุมในช่วงเวลาอันเป็นมหามงคลแต่อย่างใด

การชุมนุมตลอดเดือนธันวาคม
โดยเมื่อ 8 ธ.ค. 51 กลุ่มพันธมิตรฯ นครศรีธรรมราช ได้จัดการชุมนุมฉลองชัยชนะที่ลานราชพฤกษ์ไนท์พลาซ่า ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำวันที่ 8 ธ.ค. โดยมีแกนนำอย่างนายสมศักดิ์ โกศัยสุข และนายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ เดินทางมาร่วมงานด้วยพร้อมยังขึ้นประกาศบนเวทีว่าหากพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลได้อีก แกนนำจะส่งสัญญาณ ให้พันธมิตรฯทั่วประเทศออกมาเคลื่อนไหวกดดันขับไล่ทันที

โดยการชุมนุมนั้นเป็นไปอย่างสุดเหวี่ยงและเกิดการทะเลาะวิวาทของวัยรุ่นด้วย โดยหลังจากเวลา 23.00 น. งานเสร็จสิ้น ขณะประชาชนที่มาร่วมกว่า 300 คนกำลังเริ่มทยอยกลับ ปรากฏว่าได้เกิดเหตุทะเลาะวิวาทกันขึ้นในกลุ่มซึ่งเป็นวัยรุ่นที่อยู่ในอาการเมามายเกิดเขม่นยกพวกตะลุมบอนกัน หลายคนได้รับบาดเจ็บส่วนใหญ่ศีรษะแตก โดยหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ฉบับ 10 ธ.ค. 51 พาดหัวว่า “พธม.ฉลองชัยเมาตีกันเละ” [37]

โดยตลอดเดือนธันวาคม พันธมิตรฯ จัดการชุมนุมย่อย “ฉลองชัยชนะ” ตามจังหวัดต่างๆ โดยเท่าที่รวบรวมได้มีดังนี้

เมื่อ 19 ธ.ค. 51 แกนนำพันธมิตรได้แก่ สมศักดิ์ โกศัยสุข ประพันธ์ คูณมี อมร อมรรัตนานนท์ (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น อมรเทพ) ศรัณยู วงศ์กระจ่าง ร่วมอภิปรายในงาน “พบปะแลกเปลี่ยนแนวคิดประชาภิวัฒน์” ซึ่งพันธมิตรฯ พิษณุโลก จัดขึ้นที่โรงแรมเทพนคร อ.เมือง จ.พิษณุโลก

นอกจากนี้ เมื่อ 20 ธ.ค. 51 ตั้งแต่เวลา 16.00 น. พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยภาคเหนือตอนล่าง ได้จัดงาน “สานสัมพันธ์เครือข่ายพันธมิตรฯ ภาคเหนือตอนล่างภาคกลางตอนบน” ที่ลานอนุรักษ์วัฒนธรรม ริมแม่น้ำปิง อ.เมือง จ.กำแพงเพชร โดยมีแกนนำพันธมิตรฯ ร่วมปราศรัยได้แก่ สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์, ประพันธ์ คุณมี, วีระ สมความคิด, ไทกร พลสุวรรณ, สำราญ รอดเพชร, อธิวัฒน์ กุลชาติ, เสน่ห์ หงส์ทอง, มาลีรัตน์ แก้วก่า และแสงธรรม ชุนชฎาธาร [38]

เมื่อ 21 ธ.ค. 51 พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จ.สงขลา จัดปราศรัย “จับตา(ย)...รัฐบาลมาร์ค” ที่ลานหน้าสถานีรถไฟหาดใหญ่ แกนนำคนสำคัญที่ร่วมเวทีได้แก่สมศักดิ์ โกศัยสุข สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ และเสน่ห์ หงส์ทอง [39]

เมื่อ 22 ธ.ค.51 พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจันทบุรี - ตราด ร่วมกันจัดเวทีพันธมิตรฯ “ประชาภิวัฒน์ เพื่อชาติ และราชบัลลังก์ รวมพลังสร้าง การเมืองใหม่” บริเวณสนามหญ้าตรงข้ามที่ทำการหอการค้า จ.จันทบุรี มีแกนนำพันธมิตรฯ และแนวร่วมที่สำคัญขึ้นปราศรัย ได้แก่ ไทกร พลสุวรรณ, พี่นุช พันธมิตรฯ จันทบุรี, พิเชฐ พัฒนโชติ, อธิวัฒน์ บุญชาติ สมศักดิ์ โกศัยสุข, สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ และสุวิชาณ สุวรรณนาคะ แกนนำพันธมิตรฯ จังหวัดจันทบุรี [40]

วันที่ 27 ธ.ค. 51 พันธมิตรฯ จ.นครศรีธรรมราช จัดเวที “การเมืองใหม่ประชาภิวัฒน์” ที่ลานวัฒนธรรม ราชพฤกษ์ไนท์พลาซ่า โดยถือเป็นการฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ มีแกนนำคนสำคัญที่ไปปราศรัยได้แก่ อัญชลี ไพรีรักษ์, ศิริชัย ไม้งาม และหรั่ง ร็อคเคสตร้า [41]

ภาพสนธิ ลิ้มทองกุล ในการปราศรัยที่ธันเดอร์โดม
สนธิ ลิ้มทองกุล ในการปราศรัยที่ธันเดอร์โดม เมื่อ 27 ธ.ค. 51 (ที่มา: ASTVผู้จัดการออนไลน์)

ขณะที่การชุมนุมครั้งใหญ่ที่สุด นับตั้งแต่ยุติการชุมนุมที่สนามบินสุวรรณภูมิเกิดขึ้นในงาน “ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ฉลองชัยประชาชน” ซึ่งพันธมิตรฯ จัดขึ้นที่อาคารธันเดอร์โดม เมืองทองธานี ตั้งแต่เวลา 16.00 น.วันที่ 27 ธ.ค. 51 โดยมีแกนนำคนสำคัญทั้ง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ศรัณยู วงศ์กระจ่าง มาลีรัตน์ แก้วก่า สนธิ ลิ้มทองกุล รวมทั้ง น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ร่วมปราศรัยด้วย

การปราศรัยตอนหนึ่งสนธิกล่าวกับผู้ชุมนุมในฐานะ “ลูกจีนรักชาติ” ขอโอกาสให้อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะและพรรคประชาธิปัตย์ได้ทำงาน สนธิยังได้กล่าวว่า “ถ้าไม่ใช่เพราะพันธมิตรฯ ศาลรัฐธรรมนูญคงไม่อ่านตำพิพากษาคดียุบพรรคการเมือง”

โดยสนธิ กล่าวว่า หลังเลิกชุมนุมแล้ว ตนในฐานะลูกจีนรักชาติ ถือว่าได้ทำภารกิจจบลงชั่วคราว และขอให้โอกาสนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และพรรคประชาธิปัตย์ได้ทำงาน เพราะเชื่อมั่นว่านายอภิสิทธิ์มีความตั้งใจ เนื่องจากเป็นคนที่มีชาติวุฒิ คุณวุฒติดี วุฒิภาวะใช้ได้ เพราะฉะนั้นจึงขอว่าอย่าเพิ่งด่วนตัดสิน ให้เวลาได้ทำงานสักพัก นายสนธิยังกล่าวด้วยว่า พี่น้องที่เคยชุมนุมหลายคนบอกว่ารู้สึกเหงา และเร่าร้อน เพราะ 193 วันที่ร่วมชุมนุมทำให้พูดกับคนอื่นไม่รู้เรื่องไปแล้ว ต้องพูดจากันเอง เพราะพวกเราคือคนปกติ ในสังคมที่ไม่ปกติ

นายสนธิยืนยันว่าเอเอสทีวีจะยังเป็นทีวีของพันธมิตรฯ ตลอดไปตราบที่ตนยังมีชีวิตอยู่และไม่เจ๊งไปก่อน และว่า ถ้าไม่ใช่เพราะพันธมิตรฯ ศาลรัฐธรรมนูญคงไม่อ่านตำพิพากษาคดียุบพรรคการเมืองในวันที่ 2 ธ.ค. และไม่รู้ว่าเดือนมกราคมปีหน้าจะตัดสินหรือยัง รัฐบาลสัตว์นรกชุดเก่าจะยังคงทำความฉิบหายให้กับประเทศต่อไป จะมีคนตายไปอีกเท่าไหร่ คนชั่วเกิดขึ้นมาอีกจำนวนมากขนาดไหน เพราะฉะนั้นที่สังคมสงบ สันติลงได้ ก็เพราะพันธมิตร ซึ่งบุญกุศลที่พี่น้องพันธมิตรฯ ได้ทำมาตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน จะทำให้พี่น้องตลอดจนลูกหลานหรือบรรพบุรุษได้รับบุญกุศลอันนั้นในปีใหม่ฟ้าใหม่ จะส่งเสริมให้พี่น้องได้รับความเจริญ มีสุขภาพ มีคุณธรรมสติปัญญาที่จะทำงานให้สังคมดีขึ้นต่อไป ส่วนตนนั้นจะยังอยู่ที่เดิม ไม่ไปไหน พร้อมที่จะรับใช้พี่น้องเต็มที่ไม่เปลี่ยนแปลง ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เป็นอย่างไรก็ยังเป็นอย่างนั้น ไม่เปลี่ยนแปลง และจะอยู่กับพี่น้องตลอดไป [42]
 
ไฮไลท์สำคัญของการชุมนุมในวันนั้นยังอยู่ที่การที่ น.ต.ประสงค์ เสนอให้พันธมิตรฯ ตั้งพรรคการเมือง โดยกล่าวว่า “หากเราอยากได้การเมืองใหม่ เราต้องเข้าสู่กระบวนการการเลือกตั้งด้วยการตั้งพรรคการเมืองของพวกเราพี่น้องพันมิตรฯ” [43] ซึ่งหลังจากข้อเสนอ น.ต.ประสงค์ ไม่นาน ในเดือนพฤษภาคมปี 52 มวลชนพันธมิตรฯ ก็มีมติสนับสนุนให้มีการตั้งพรรคการเมืองคือ “พรรคการเมืองใหม่” ในเวลาต่อมา

ปิดท้ายการชุมนุมพันธมิตรฯ ในปี 51 เมื่อ 28 ธ.ค. ซึ่งสมัชชาประชาชนภาคอีสาน 19 จังหวัด ร่วมกับกลุ่มภาคีมวลชนคนโคราชรักประชาธิปไตย และ เครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) จ.นครราชสีมา และภาคอีสาน จัดเวทีชุมนุมปราศรัยใหญ่ “สร้างสรรค์ปีใหม่ 2552 บทเรียนเลือด หลอมรวมร่วมศรัทธา จักฟันฝ่า สานฝันอย่างมั่นคง” ที่ บริเวณลานข้างอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม) ถ.ชุมพล อ.เมือง จ.นครราชสีมา โดยวงดนตรีที่มาเล่นได้แก่ วงสะเก็ดระเบิด, หรั่ง ร็อคเคสตร้า, แหลม ผู้จัดกวน, กำปั่น บ้านแท่น, ศิลปินเพลงโคราช, ประทีป ขจัดพาล, วงซูซู และมีการปราศรัยโดย สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์, พิภพ ธงไชย, ไชยวัฒน์ สินสุวงศ์, ทพ.ศุภผล เอี่ยมเมธาวี [44]

 

6.ย้อนพินิจ “116 วันจากวันแม่ถึงวันพ่อ”
วิธี ‘สมัคร’ เทียบวิธี ‘อภิสิทธิ์’

 

ย้อนกลับไปพิจารณาการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในปี 2551 ซึ่งเริ่มต้นเมื่อ 25 พ.ค. 51 และปักหลักอยู่ที่เชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์ ในเวลานั้น “สมัคร สุนทรเวช” นายกรัฐมนตรีในเวลานั้นก็แนวคิดเหมือนกับรัฐบาล “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ในเวลานี้ ที่จะแสดงความจงรักภักดีด้วยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

ภายใต้ชื่องาน "จากวันแม่ถึงวันพ่อ 116 วันสร้างสามัคคี"

ในรายการสนทนาประสาสมัคร ประจำวันที่ 3 ส.ค. สมัครได้ประชาสัมพันธ์โครงการดังกล่าวว่าจะเริ่มโครงการระหว่างวันที่ 12 ส.ค. – 3 ธ.ค. 51 สมัครกล่าวถึงสาเหตุที่จะทำโครงการดังกล่าวว่า “ทำเพราะคนไทยแยกกันเป็นฝักเป็นฝ่าย” [45]

ต่อมาเมื่อ 4 ส.ค. 51 สมัคร ได้การแถลงข่าวเรื่อง “การจัดงานในวาระสำคัญของประเทศ” ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล โดยให้นักข่าวเอ็นบีทีบันทึกเทปเพียงช่องเดียว มีใจความสำคัญว่า รัฐบาลมีงานใหญ่ 5 งานที่จะต้องทำตั้งแต่บัดนี้ถึงสิ้นปี 2551 งานที่ 1 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-12 สิงหาคม เป็นการจัดงานถวายสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ บริเวณรอบลานพระราชวังดุสิต งานที่ 2 เป็นงาน "จากวันแม่ถึงวันพ่อ 116 วันฯ"

สมัครกล่าวว่าจะกราบทูลเชิญสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ มาที่ทำเนียบ เพื่อพระราชทานธง 76 จังหวัดให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัด จากนั้นก็จะไปวิ่ง 116 วัน ทั่วประเทศ โดยในวันที่ 3 ธันวาคม จะกลับมาที่ลานพระราชวังดุสิต เพื่อนำธงมาถวายคืนสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ

“งาน 116 วัน จากวันแม่ถึงวันพ่อ ที่คิดอย่างนี้ก็คือว่า ก็พูดกันตรงไปตรงมาผู้คนแบ่งแยกกันในบ้านเมือง เราไม่คิดจะแยกหรอกครับ แล้วทางพวกผมที่เป็นรัฐบาลก็แยกไม่ได้ครับ จะต้องทำให้รวมกัน จะรวมกันได้ขนาดไหนอย่างไรจะทูลเชิญสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระราชโอรส วันแม่ถึงวันพ่อ 116 ก็เชิญพระราชโอรสท่าน พระองค์ท่านมา ก็จะเสด็จฯ มาที่ทำเนียบรัฐบาล กำลังกำหนดวันอยู่ มาพระราชทานธง 76 จังหวัด พระราชธงออกไป ผู้ว่าฯ มาหมดครับ รับธงพระราชทาน เขาจะไปวิ่งกัน 116 วัน มีสัญญากันว่าวันที่ 3 ธันวาคม จะกลับมาที่ลานพระราชวังดุสิต เอาธงมาถวายคืนสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ กิจกรรม 116 วันนี้แต่ละจังหวัดจะจัดของตัวเอง จะจัดวิ่งไปแต่ละอำเภอ จะส่งอะไรอย่างไรเป็นงานในรายละเอียด แปลว่าแสดงความผูกพันว่าชีวิตของคนไทยนั้น เราเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ผู้คนที่คิดแตกแยกกันก็คิดว่าสิ่งที่เราจะทำนี้จะช่วยให้ทุกฝ่ายเข้ามาร่วมกัน”

ส่วนงานที่ 3 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-23 ตุลาคม ที่พระราชอนุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) โดยจะเปิดอนุสาวรีย์ในวันที่ 10 พฤศจิกายน เพื่อให้ประชาชนวางพวงมาลา 9 วัน งานที่ 4 จะจัดขึ้นในวันที่ 14 พฤศจิกายน เป็นงานส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย ซึ่งตรงกับวันพระราชทานเพลิงพระศพ ทำถวายให้สมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในเวลาประมาณ 18.00 น. ประชาชนทุกจะร่วมจุดเทียนกันทั้งประเทศ เพื่อส่งดวงพระวิญญาณสู่สวรรคาลัย และงานที่ 5 จะจัดขึ้นในวันที่ 3 และวันที่ 5 ธันวาคม 2551 เพื่อเฉลิมฉลองวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว [46]


พระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัส “ก็ขอให้มีความสำเร็จ”
วันต่อมา 5 ส.ค. 51 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราโชวาท แก่ 7 รัฐมนตรีที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งใหม่ เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณ ภายหลังจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราโชวาทแก่คณะรัฐมนตรีใหม่ สมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ได้กราบบังคมทูลรายงานเกี่ยวกับการบริหารบ้านเมือง

ต่อจากนั้นนายกรัฐมนตรี กราบบังคมทูลว่า

"116 วัน จากวันแม่ถึงวันพ่อ ขอพระราชทานพระบารมี 2 พระองค์ คือ ศาลจะตัดสินคดีความยังต้องออกตัวก่อน บอกว่า คนไทยแตกแยกเป็น 2 ซีก ศาลยืนยันว่าศาลท่านอยู่ตรงกลาง ข้าพระพุทธเจ้าได้ฟังแล้ว ก็เลยต้องพึ่งพระบารมี ขอจัดงานเพื่อสมานสามัคคีอัญเชิญสมเด็จพระบรมฯ มา จะมีวิ่งธง 76 จังหวัด และก็วันที่ 100 ปีอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 5 ก็จะมีแสดงประปา ไฟฟ้า ตลอดทุกอย่างที่ทรงเอาเข้ามา 100 ปีก่อน แสดงรอบละ 9 วัน พอเสร็จแล้ว วันถวายพระเพลิง จะพระราชทานเพลิงสมเด็จพระเจ้าพี่นางฯ ก็จะให้คนทั้งประเทศส่งดวงพระวิญญาณพร้อมกัน พอค่ำนิดนึง หลังจากพระราชทานเพลิงแล้วก็จุดเทียน เงียบทั้งประเทศ ส่งดวงพระวิญญาณให้มีความสว่างกันทั้งประเทศ ไม่มีใครมีข้างไหนอีก แล้วพอหลังวันที่ 3 หลังจากทรงตรวจพลแล้ว วันรุ่งขึ้นสมเด็จพระบรมฯ จะรับธง 76 จังหวัดคืน แล้วก็งานก็จะเฉลิมฉลองวันที่ 5 ก็ 116 วัน พึ่งพระบารมี 2 พระองค์ ให้คนไทยหันหน้าเข้าหากัน แล้วก็คงจะต้องลืมเรื่องต่างๆ ได้ ก็ฟังข่าวมาแล้วก็ได้รับการตอบรับดี สมเด็จพระนางเจ้าฯ โปรดเกล้าฯ ให้วันที่ 10-12 ให้เลยเข้าไปพระที่นั่งอนันตฯ ให้ไปดูศิลป์แผ่นดิน ซึ่งเป็นงานมหัศจรรย์อย่างยิ่ง ข้าพระพุทธเจ้าก็เชิญชวนประชาชนไว้ งานศิลปาชีพ ก็จะมาแสดงกันที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ขายของที่เหลือที่ค้างทั้งหมด ราคาถูกหน่อย แล้วก็แสดงกัน 3 วัน หลังจากนั้นก็ถือว่า 116 วัน จะให้ประชาชนทั้งบ้านทั้งเมือง ได้สมานสามัคคี โดยขอพระบารมีทั้ง 2 พระองค์ พระพุทธเจ้าข้าคงค่อยยังชั่วขึ้น เพราะได้รับการตอบรับค่อนข้างจะดี และบางครั้งรัฐบาลนั้นก็จะถอยทุกวิถีทางไม่ปะทะ ไม่เริ่มต้น ใครจะแสดงอะไร ก็ให้เขาแสดงไป คงจะดับชนวนได้พระพุทธเจ้าข้า"

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัส “ก็ขอให้มีความสำเร็จ” [47]


รัฐบาลแจ้ง สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เสด็จพระราชทานธง 30 ส.ค. ทำเนียบรัฐบาล
ต่อมาในวันที่ 19 ส.ค. เวลา 14.00 น. วันนี้ เวลา 14.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล สมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมการจัดงานพระราชทาน ธงสัญลักษณ์ ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งในโครงการ "จากวันแม่ถึงวันพ่อ 116 วัน สร้างสามัคคี" โดยเชิญรองนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี ผู้บัญชาการ 4 เหล่าทัพ ผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ปลัดกระทรวง อธิบดีกรมการปกครองท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือและทำความเข้าใจในการจัดเตรียมความพร้อมและรูปแบบของการจัดกิจกรรมดังกล่าวให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน

โดยที่ประชุมแจ้งว่า “กิจกรรมเดิน-วิ่งการกุศล เฉลิมพระเกียรติ” ซึ่งเป็น 1 ในกิจกรรมของโครงการ "จากวันแม่ถึงวันพ่อ 116 วัน สร้างสามัคคี" นั้น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ พร้อมด้วย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ ทรงเป็นองค์ประธานในพิธีมอบธงสัญลักษณ์โครงการ "จากวันแม่ถึงวันพ่อ 116 วัน สร้างสามัคคี" เพื่อเปิดงานกิจกรรมเดิน-วิ่ง เฉลิมพระเกียรติฯ ในวันเสาร์ที่ 30 สิงหาคม 2551 เวลา 15.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา ประธานศาลฎีกา ปลัดกระทรวง ผู้บัญชาการ 4 เหล่าทัพ และผู้ว่าราชการจังหวัด 76 จังหวัด จะเป็นผู้ตัวแทนเข้ารับพระราชทาน ธงสัญลักษณ์โครงการ "จากวันแม่ถึงวันพ่อ 116 วัน สร้างสามัคคี" เพื่อนำไปส่งมอบต่อให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล จำนวน 7,520 คน เพื่อสำหรับใช้ในการจัดกิจกรรมการเดิน-วิ่ง การกุศลเฉลิมพระเกียรติฯ [48]

แต่แล้ว ในวันที่ 26 ส.ค. 51 พันธมิตรฯ ประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็ปฏิบัติการ “ไทยคู่ฟ้า” บุกเอ็นบีที แล้วเข้าไปยึดทำเนียบรัฐบาล

ภาพพาดหัวหนังสือพิมพ์ข่าวสด
พาดหัวหนังสือพิมพ์ข่าวสด, 29 ส.ค. 51
(ที่มา: http://www.moj.go.th/th/cms/detail.php?id=1673)

โปรดบันทึกด้วยว่า หลังการยึดทำเนียบรัฐบาล กรณ์ จาติกวณิช ส.ส.กทม. นางเจิมมาศ จึงเลิศศิริ ส.ส.กทม. นายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา จากพรรคประชาธิปัตย์ รวมทั้งนายโสภณ สุภาพงษ์ อดีต ส.ว.กทม. ได้เดินทางมาให้เยี่ยมผู้ชุมนุม และพูดคุยกับแกนนำพันธมิตรฯ เมื่อ 27 ส.ค. ด้วย โดยกรณ์ให้เหตุผลว่ามาดูแลฐานเสียง [49]

และในวันที่ 28 ส.ค. เวลา 9.30 น. สมัคร สุนทรเวช ตอบคำถามที่ผู้สื่อข่าวที่ถามว่า การจัดงาน 116 วันจากวันแม่สู่วันพ่อในวันที่ 30 ส.ค. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ จะเสด็จฯ มาเป็นประธานที่ทำเนียบจะดำเนินการอย่างไร โดยสมัครกล่าวว่าจะย้ายไปจัดที่สวนอัมพร และเดี๋ยวตนจะทำหนังสือขึ้นกราบบังคมทูลฯ เพื่อเปลี่ยนแปลงไปใช้ที่สวนอัมพร เมื่อถามว่าแล้วจะปล่อยให้สถานการณ์การชุมนุมเป็นอย่างนี้ต่อไปหรือ นายสมัครกล่าวว่า ก็สุดแล้วแต่ทางกลุ่มผู้ชุมนุมว่าเขาจะมีความคิดเห็นอย่างไร เราไม่อยากไปวิพากษ์วิจารณ์

ในวันเดียวกัน เวลา 10.30 น. สนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรฯ ขึ้นเวทีปราศรัยโจมตีการทำงานของรัฐบาลและการขออนุมัติหมายจับของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สนธิได้ประกาศระดมมวลชนเข้ามาร่วมชุมนุมจนถึงวันอาทิตย์ที่ 31 ส.ค.นี้ และว่าเราจะมีชัยชนะแน่นอน เพราะนายสมัครจะหมดภาวะความเป็นผู้นำไปในที่สุด เนื่องจากที่ผ่านมาได้โกหกทุกเรื่อง สมคบกับ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย จะใช้ทำเนียบรัฐบาลจัดงาน 116 วัน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร จะเสด็จฯมาทรงเป็นประธานเปิดงานวันที่ 30 ส.ค.นี้ แต่ตนตรวจสอบไปยังสำนักราชเลขาธิการในสมเด็จพระบรมฯแล้ว ไม่มีหมายกำหนด การดังกล่าว มุขนี้ไปใช้กับ นปก. ได้แต่ใช้กับพันธมิตรไม่ได้ [50]

และในวันที่ 30 ส.ค. เวลา 15.00 น. ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นองค์ประธานในพิธีพระราชทานธงสัญลักษณ์โครงการ “จากวันแม่ถึงวันพ่อ 116 วัน สร้างสามัคคี” เพื่อนำไปส่งมอบต่อในกิจกรรมเดิน-วิ่ง เฉลิมพระเกียรติฯ หนึ่งกิจกรรมในโครงการ “จากวันแม่ถึงวันพ่อ 116 วัน สร้างสามัคคี” [51]

 

7.สรุป

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าทั้งรัฐบาลสมัคร-อภิสิทธิ์ ต่างอ้างความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเครื่องมือทางการเมือง

เพียงแต่ว่า ในขณะที่ การชุมนุมวันที่ 10 ธ.ค. 52 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยของคนเสื้อแดง กำหนดการชุมนุมเดิมอยู่หลังการจัดงานเฉลิมพระเกียรติ "ความสุขของคนไทยใต้แสงพระบารมี" ที่ ถ.ราชดำเนิน ซึ่งจะสิ้นสุดวันที่ 7 ธ.ค. แต่แล้วรัฐบาลอภิสิทธิ์ ก็ขยายกำหนดการมาจนถึงวันที่ 9 ธ.ค. และขยายกำหนดการจนถึง 13 ธ.ค. โดยเว้นการจัดงานในวันที่ 10 ธ.ค. วันเดียว เพื่อให้ดูเหมือนคนเสื้อแดงทำลายบรรยากาศของการจัดงานเฉลิมพระเกียรติ

เพียงแต่ว่า ก่อนที่พันธมิตรฯ จะยึดทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 26 ส.ค. 51 รัฐบาลสมัครได้แถลงหมายกำหนดการเมื่อ 19 ส.ค. 51 ว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ จะทรงเป็นองค์ประธานในพิธีมอบธงสัญลักษณ์โครงการ "จากวันแม่ถึงวันพ่อ 116 วัน สร้างสามัคคี" ในวันที่ 30 ส.ค. 51 เวลา 15.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี

และเมื่อพันธมิตรฯ ยึดทำเนียบรัฐบาล ทำให้ต้องย้ายสถานที่จัดงานไปเป็นที่สวนอัมพร

ดังนั้น หากพรรคประชาธิปัตย์ สมเกียรติและแกนนำพันธมิตรฯ โจมตีการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อ 10 ธ.ค. ว่าเป็นเรื่อง “ไม่ถูกกาลเทศะ” แล้ว จะพิจารณาความเคลื่อนไหวของแกนนำพันธมิตรฯ และสมเกียรติในปี 2551 ว่าอย่างไร จะพิจารณาวัตถุประสงค์ของกรณ์ จาติกวณิชในการขยายการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ เข้าหาการชุมนุม ว่าอย่างไร

 

000

 

อ้างอิง

รายการ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์” วันอาทิตย์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ.2552 ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์, สำนักข่าวแห่งชาติ, กรมประชาสัมพันธ์ http://thainews.prd.go.th/view.php?m_newsid=255211290098&tb=N255211 โดยช่วงที่นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงรายละเอียดของการจัดงานที่ถนนราชดำเนินกลาง และลานพระบรมรูปทรงม้าไว้ดังนี้

“...นอกเหนือจากที่มณฑลพิธีท้องสนามหลวงแล้ว จะมีพื้นที่ที่จัดงานตรงนี้ก็คือถนนราชดำเนินกลางและลานพระบรมราชวังดุสิต ซึ่งก็คือลานพระบรมรูปทรงม้าที่เรารู้จักกันดี ใน 2 ที่นี้ครับก็จะมีงานตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม ไปจนถึงวันที่ 13 ธันวาคม ซึ่งผมจะขอเรียนให้ทราบนะครับว่ามีรายละเอียดในส่วนนี้ค่อนข้างจะมากครับที่ ถนนราชดำเนินกลางครับ เราจะเริ่มต้นกันตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคมที่จะมีการทำพิธี เรียกว่าเปิดแสงคือแนวคิดของงานนี้คือการใช้งานที่ชื่อว่า “ความสุขของคนไทย ใต้แสงพระบารมี” ครับ จะมีตั้งแต่วันที่ 3 – 7 ธันวาคม โดยเริ่มจากวันที่ 3 ครับที่จะมีพิธีเปิดแสง ใช้ชื่อว่า “แสงพระบารมี เบิกดินฟ้ารวดไสว” ซึ่งจะเกิดขึ้น ณ เวทีกลางป้อมมหากาฬ วันที่ 3 ธันวาคม เวลา 2 ทุ่ม 20 นาที อันนี้จะมีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ ช่อง 7 ด้วย แต่ว่ากิจกรรมของงานถนนราชดำเนินกลางนั้นจะมีทั้งหมด 9 ส่วนด้วยกัน เมื่อสักครู่นี้ที่เป็นการเปิดไฟหรือเปิดแสงครั้งแรกวันที่ 3 ธันวานั้นเป็นกิจกรรมแรก

กิจกรรมที่สองครับ จะเป็นการแสดงแสง สี เสียง เลเซอร์ มัลติวิชั่น ไลฟ์และซาวด์ เรื่องแสงพระบารมี ผสานไทยสมานฉันท์ครับ กิจกรรมนี้จะจัดที่เวทีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยแล้วก็จะมีขึ้นทุกวัน วันที่ 3 – 4 – 5 – 6 – 7 , 2 ทุ่มครึ่ง – 4 ทุ่มครึ่ง ทุกวัน ซึ่งก็จะมีทั้งการแสดงของศิลปินด้วยแล้วก็จะเป็นแสดงในเรื่องของแสง สี เสียงครับ ในชื่อเรื่อง “แสงพระบารมีผสานไทยสมานฉันท์”

กิจกรรมที่สามนะครับก็จะเป็นการแสดงดนตรี “แสงพระบารมี คีตศิลป์ เสนาะนิรันดร์” ณ เวทีดนตรี หน้าสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล อันนี้ก็จะแสดงทุกวันตั้งแต่ 6 โมงเย็น – เที่ยงคืน ซึ่งก็จะมีทั้งเพลงแจ๊ส ออเคสตร้า ป๊อป วงดนตรีคุณภาพ และศิลปินที่มีชื่อเสียงก็จะมาร่วมกันแสดงที่นี่

กิจกรรมที่สี่จะมีเรื่องของการถวายพระพรชัยชื่อ “แสงพระบารมี ร้อยใจมั่นถวายพระพรชัย” อันนี้ก็เป็นเวทีกลางป้อมมหากาฬ อันนี้เฉพาะวันที่ 5 ครับ เวลา 2 ทุ่ม 20 นาที ซึ่งจะเป็นกิจกรรมที่ต่อเนื่องจากการที่มีการจุดเทียนชัยถวายพระพรที่มณฑล พิธีท้องสนามหลวง

กิจกรรมที่ห้า จะเป็นกิจกรรม “แสงพระบารมี ส่องแผ่นดินถิ่นสวรรค์” จะเป็นการตกแต่งไฟ ดาวกระพริบ ไฟพิเศษต่างๆ รวมไปถึงการมีแสงที่บริเวณถนนราชดำเนินทั้ง 2 ฝั่ง อันนี้ก็เกิดขึ้นตั้งแต่ 6 โมงเย็นจนถึงเที่ยงคืนทุกวันที่บริเวณถนนราชดำเนิน

กิจกรรมที่หกครับจะเป็นการแสดงขบวนรถประดับไฟเฉลิมพระเกียรติชุด “แสงพระบารมี ทอมหัศจรรย์อันยิ่งใหญ่” จะเป็นการแสดงตั้งแต่แยกผ่านฟ้าถึงสี่แยกคอกวัว แล้วก็วนกลับมา เป็นรถที่ประดับด้วยแสงไฟต่างๆ อันนี้ก็จะมีวันที่ 4 , วันที่ 6 , วันที่ 7 เวลา 1 ทุ่ม 15 ถึง 2 ทุ่ม 15 ส่วนวันที่ 3 จะเป็น 2 ทุ่มครึ่ง ถึง 3 ทุ่มครึ่ง แล้ววันที่ 5 ก็จะเป็นช่วง 1 ทุ่ม 45 ถึง 2 ทุ่ม 45 แล้วก็เช่นเดียวกันครับจะมีดารารับเชิญในส่วนต่างๆ

นอกจากนั้นจะมีกิจกรรมที่เป็นการแสดงมหัศจรรย์น้ำพุ ดนตรีน้ำพุไฟ ชุด “แสงพระบารมี เปล่งประกายเรืองสายใย” ซึ่งจะมีเพลงพระราชนิพนธ์บริเวณเกาะกลางของถนนราชดำเนินกลาง 6 โมงเย็น ถึงเที่ยงคืน

กิจกรรมที่แปดเป็น “แสงพระบารมี ฉายพระราชกรณียกิจ สถิตย์ไผท” ซึ่งจะเป็นกิจกรรมของแต่ละกระทรวง 2 ฝากถนนราชดำเนินกลาง

และกิจกรรมสุดท้าย กิจกรรมที่เก้า “แสงพระบารมี ศูนย์รวมใจไทยสถาพร” ซึ่งเป็นการจัดทำสายรัดข้อมือสีชมพูเฉลิมพระเกียรติชุดพิเศษ “รักพ่อ” จำหน่ายในราคา 99 บาท และมีพิธี “มอบใจภักดิ์แด่พระผู้เป็นที่รักของคนไทยทั้งชาติ” ในวันที่ 7 ธันวาคม

เพราะฉะนั้นตลอดระยะเวลาของวันที่ 3 – 7 ธันวาคมนี้นะครับ ก็จะมีกิจกรรมที่ถนนราชดำเนินกลาง ที่เป็นงานที่กระทรวงการคลังได้เป็นแกนหลักในการจัดขึ้น ที่เราใช้ชื่อว่า “ความสุขของคนไทย ใต้แสงพระบารมี” แล้วนอกจากนั้นจะมีเรื่องของการแสดงพลุไปทุกคืนเช่นเดียวกัน ก็อยากจะขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนได้มาร่วมกิจกรรมความสุขของคนไทย ใต้แสงพระบารมีนี้ระหว่างวันที่ 3 – 7 ธันวาคม ขณะเดียวกันครับที่ลานพระบรมรูปทรงม้าหรือลานพระราชวังดุสิต ก็จะมีงานที่กระทรวงมหาดไทยได้เป็นแกนหลักในการที่จะจัดขึ้นครับ งานนี้จะเป็นงานแสดงแสง สี เสียง ซึ่งตระการตาแล้วก็เป็นการใช้เทคนิครวมทั้งบุคลากรที่เรียกว่ามีประสบการณ์ ในการในจัดงานระดับโลก และก็มีการยืนยันกับคณะกรรมการครับว่าเทคนิคที่ใช้ในการแสดงในส่วนนี้นั้น เป็นเทคนิคที่ไม่เคยได้มีการแสดงมาก่อนในประเทศไทย การแสดงตรงนี้จะเป็นเรื่องของพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่มากว่า 60 ปี การนำเสนอตรงนี้ก็จะมีขึ้นในทุกคืนนะครับ ระหว่างวันที่ 5 - 13 ธันวาคม แล้วก็ขณะเดียวกันนั้นก็จะมีงานแสดงของศิลปิน เป็นงานแสดงดนตรีทุกคืนเช่นเดียวกัน ที่นี้การจัดงานในส่วนนี้จะต้องมีการบริหารจัดการในเรื่องการจราจรนิดหน่อย นะครับ อยากจะเรียนให้พี่น้องประชาชนทราบว่าในส่วนของถนนราชดำเนินกลางนะครับก็มี ความจำเป็นที่จะต้องปิดการจราจร โดยตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 4 ทุ่มเป็นต้นไปก็ต้องมีการปิดการจราจรครับ อันนั้นเป็นการปิดเพื่อการซ้อมการแสดงและหลังจากนั้นครับวันที่ 3 – 7 ธันวาคมที่มีการแสดงในส่วนของถนนราชดำเนินกลางก็จะมีการปิดการจราจรตั้งแต่ เวลา 6 โมงเย็น - เที่ยงคืนของทุกคืน ส่วนงานของกระทรวงมหาดไทยที่ลานพระราชวังดุสิต วันที่ 5 – 13 ธันวาคม ต้องมีการปิดการจราจรตั้งแต่ 5 โมงเย็น – 3 ทุ่ม ในส่วนของลานพระบรมรูปทรงม้า การอำนวยความสะดวกสำหรับพี่น้องประชาชนที่จะเดินทางมาร่วมงาน ซึ่งก็มีการประมาณการกันคร่าวๆ ว่า แต่ละคืนนั้นอาจมีพี่น้องประชาชนนับแสนมาร่วม...”

  • [5] นายกรัฐมนตรียันประกาศใช้พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ไม่กระทบสิทธิในการชุมนุม, สำนักโฆษก สำนักนายกรัฐมนตรี, 2 ธ.ค. 52, http://media.thaigov.go.th/pageconfig/viewcontent/viewcontent1.asp?pageid=471&directory=1779&contents=39359
  • [6] “เทพไท” แนะ “ทักษิณ” หนีไปประเทศเล็กๆ มีทหารคุม รัฐจะได้ไม่ตามล่า, ASTVผู้จัดการออนไลน์, 4 ธันวาคม 2552 http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9520000147977
  • [7] “สุเทพ” หวังเสื้อแดงทบทวนก่อม็อบ 10 ธ.ค. - “ประวิตร” สั่ง ทบ.เช็กทหารพรานร่วมชุมนุม, ASTVผู้จัดการออนไลน์, 4 ธันวาคม 2552 http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9520000147809
  • [8] ก.ม.ม.อัดเสื้อแดงจ้องป่วน 10 ธ.ค. ทำลายบรรยากาศช่วงเวลามหามงคล, ASTVผู้จัดการออนไลน์, 6 ธ.ค. 52 http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9520000148706
  • [9] ผู้จัดการออนไลน์, (แหล่งเดียวกัน) 6 ธ.ค.
  • [10] นปช.โวยรบ.ยืดเวลาจัดงานราชดำเนินปิดกั้นชุมนุม ยันไม่สนม็อบมาแน่10ธ.ค. ซัดผบ.ทบ.โอเวอร์รีแอ๊ค, มติชนออนไลน์, 7 ธ.ค. 52, http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1260176769
  • [11] ปชป.ชี้ยังไม่สายเสื้อแดงเลื่อนม็อบ วอนทุกฝ่ายร่วมทำชาติปกติสุข, ASTVผู้จัดการออนไลน์ 7 ธันวาคม 2552, http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9520000148986
  • [12] รัฐบาลขยายงานเฉลิมพระเกียรติฯ ถึง 13 ธันวา แต่วันนี้งด, ประชาไท, 10 ธ.ค. 52 อ้างแล้ว
  • [13] นปช.โวยรบ.ยืดเวลาจัดงานราชดำเนินปิดกั้นชุมนุม ยันไม่สนม็อบมาแน่ 10 ธ.ค. ซัดผบ.ทบ.โอเวอร์รีแอ๊ค, มติชนออนไลน์, 7 ธ.ค. 52, อ้างแล้ว
  • [14] “สมเกียรติ” เตือน รบ.อย่าประมาท “ม็อบแดง” - จับตา “ทหารรับจ้าง” กองกำลังอันธพาลระบอบแม้ว, ASTVผู้จัดการออนไลน์, 8 ธันวาคม 2552, http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9520000149702
  • [15] อยากเห็นคนไทยสั่งสอน “เสื้อแดง” ไม่รู้กาลเทศะ!!, ASTVผู้จัดการออนไลน์, 8 ธ.ค. 52 http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9520000149299
  • [16] รายละเอียดการใช้พื้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยระหว่างปี พ.ศ.2482 - 2540 โปรดดู มาลินี คุ้มสุภา, อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกับความหมายที่มองไม่เห็น, กรุงเทพฯ: 2548, สนพ.วิภาษา. หน้า 115-131.
  • [17] ด่ากราดขาประจำ 'คนรวย'เขาไม่โกง, ไทยโพสต์, 11 ธ.ค. 47
  • [18] ศิษย์เก่าร่วมงาน"วันธรรมศาสตร์" ส.ศิวรักษ์ให้ช่วยกันทวงคืน"รธน.", เว็บไซต์มติชน, 11 ธ.ค. 48
  • [19] มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนแถลงหลัก 6 ประการ เชิญชวนร่วมร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงขันปัญญาเพื่อประชาธิปไตยกินได้, ประชาไท, 11 ธ.ค. 49 http://www.prachatai.com/journal/2006/12/10869
  • [20] ม.เที่ยงคืนเสนอแก้รธน.ทั้งฉบับเชื่อหลังเลือกตั้งยังไม่เป็นปชต., คมชัดลึก, 10 ธ.ค. 50
  • [21] ม.เที่ยงคืนแถลง "คำประกาศรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมแห่งการเมืองภาคประชาชน", ประชาไท, 11 ธ.ค. 51 http://www.prachatai.com/journal/2008/12/19294
  • [22] ม็อบต้านรัฐประหารอัด คมช.ยับคืนอำนาจประชาชน, เว็บไซต์เดลินิวส์, 11 ธ.ค. 49 ชุมนุมต้านรัฐประหารนับพัน "เรามาล้อมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยถูกขโมย", ประชาไท, 11 ธ.ค. 49 http://www.prachatai.com/journal/2006/12/10867
  • [23] "อ๋อย"สวดรัฐบาลเพื่อชาติ เสนอช้าไปเกิดไม่ได้, ASTV ผู้จัดการรายวัน, 11 ธ.ค. 51
  • [24] "สุขุมพันธุ์"ไม่ท้อคะแนนตามหลัง"ปลื้ม" ขอตื่นเช้าลงพื้นที่ทุกวัน เผย"ดร.โจ"ช่วยเดินหาเสียง, มติชนออนไลน์, 10 ธ.ค. 51 http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1228914320
  • [25] “สมเกียรติ” เตือน รบ.อย่าประมาท “ม็อบแดง” - จับตา “ทหารรับจ้าง” กองกำลังอันธพาลระบอบแม้ว, ASTVผู้จัดการออนไลน์, 8 ธันวาคม 52, อ้างแล้ว
  • [26] อยากเห็นคนไทยสั่งสอน “เสื้อแดง” ไม่รู้กาลเทศะ!!, ASTVผู้จัดการออนไลน์, 8 ธ.ค. 52, อ้างแล้ว
  • [27] ก.ม.ม.อัดเสื้อแดงจ้องป่วน 10 ธ.ค. ทำลายบรรยากาศช่วงเวลามหามงคล, ASTVผู้จัดการออนไลน์, 6 ธ.ค. 52
  • [28] เมืองไทยฯสัญจร 10 : “สนธิ” เเฉ “นายหญิง” อยู่เบื้องหลังสารพัดวิชามาร-ปลุกพลังบริสุทธิ์รุกโต้อธรรม, ASTVผู้จัดการออนไลน์, 26 พ.ย. 48 http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9480000163388&Page=2
  • [29] นายกฯถอนฟ้อง'สนธิ' สั่งรมต.เลิกค้าความสื่อ, เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ, 7 ธ.ค. 48
  • [30] "พรรคพันธมิตรฯ", หัวไม้ ใน Blogazineประชาไท, 30 มี.ค. 52 http://blogazine.prachatai.com/user/headline/post/1878 อ้างถึง เมืองไทยรายสัปดาห์ 11 : “สนธิ” เปิดโปงงาบ 3,500 ล้านซื้อเครื่องบินขับไล่รัสเซีย แจง “รัฐบาลถังแตก”, ASTVผู้จัดการออนไลน์, 10/12/48 http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9480000169650
  • [31] พันธมิตรฯ เริงร่า!! ยุบ พปช.-ตัดสิทธิ์ กก.บห., ASTVผู้จัดการออนไลน์, 2 ธ.ค. 51, http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9510000142373
  • [32] พันธมิตรฯ ยังปักหลักดอนเมือง-สุวรรณภูมิ – แกนนำถกท่าทีต่อไป, ASTVผู้จัดการออนไลน์ 2 ธ.ค. 51, http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9510000142425
  • [33] พันธมิตรฯ ปักหลักสุวรรณภูมิต่อ เชื่อเด็ก "แม้ว" ยังสิง รบ., ASTVผู้จัดการออนไลน์, 2 ธ.ค. 51, http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9510000142456
  • [34] พันธมิตรฯอาจชุมนุมต่อ หาก"เฉลิม-มิ่งขวัญ"ถูกดันนั่งนายกฯ, ASTVผู้จัดการออนไลน์, 2 ธ.ค. 51 http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9510000142466
  • [35] พันธมิตรฯ แถลงประกาศชัยชนะ-ยุติชุมนุมทุกจุด 3 ธ.ค., ASTVผู้จัดการออนไลน์, 2 ธ.ค. 51 http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9510000142617
  • [36] เจ้าของม็อบสั่งหยุดหัวคะมำ แม้แต่พันธมิตรก็ยังไม่รู้ต้องเลิกชุมนุม, ไทยอีนิวส์, 2 ธ.ค. 51 http://thaienews.blogspot.com/2008/12/blog-post_5154.html
  • [37] พธม.ฉลองชัยเมาตีกันเละ, นสพ.เดลินิวส์, 10 ธ.ค. 51 (ลิ้งค์ที่ถูกเก็บไว้) http://www.spiceday.com/picpost/viewthread.php?tid=40400
  • [38] “สมศักดิ์” นำทีมแกนนำสักการะศาล “พระนเรศวร”-ร่วมเวที พธม.สองแคว, ASTVผู้จัดการออนไลน์, 19 ธ.ค. 51, www.manager.co.th/asp-bin/mgrview.aspx?NewsID=9510000149259
  • [39] พันธมิตรฯใต้รู้ทันการเมืองเส็งเคร็ง “สมศักดิ์-สมเกียรติ” เดินหน้าตรวจสอบรัฐบาล, ASTV ผู้จัดการรายวัน, 22 ธ.ค. 51 (ลิ้งค์ที่ถูกเก็บไว้) http://www.parliament.go.th/news/news_detail.php?prid=179801
  • [40] พันธมิตรฯ ภาคตะวันออกกว่า 1 หมื่นคนร่วมงานย้อนรอยเวทีกลาง กทม.ที่เมืองจันท์คึกคัก, ASTVผู้จัดการออนไลน์, 23 ธ.ค. 51 http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9510000150563
  • [41] พธม.เมืองคอนพร้อมรับ “เจ๊ปอง-ศิริชัย-หรั่ง” ฉลองปีใหม่แกล้มเวทีการเมือง 27 ธ.ค.นี้, ASTVผู้จัดการออนไลน์, 24 ธ.ค. 51, http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9510000151238
  • [42] “สนธิ” ย้ำให้โอกาส “มาร์ค” ยัน 193 วันได้ชัยชนะสร้าง “ครอบครัวพันธมิตร” สำเร็จ, ASTVผู้จัดการออนไลน์, 28 ธ.ค. 51, http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9510000152448
  • [43] “ประสงค์” โชว์กึ๋นสอนมวย รบ.เร่งแก้จน ไขกุญแจสู่ “การเมืองใหม่”, ASTVผู้จัดการออนไลน์, 28 ธ.ค. 51 http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9510000152456 และ "พรรคพันธมิตรฯ", หัวไม้ ใน Blogazineประชาไท, 30 มี.ค. 52 (อ้างแล้ว)
  • [44] พธม.โคราชฉลองชัยส่งท้ายสุดเหวี่ยง ลั่น’52 เป็นปีแห่งการเมืองภาคปชช., ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 29 ธ.ค. 51 http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9510000152873
  • [45] รายการสนทนาประสาสมัคร ประจำวันที่ 3 ส.ค. 2551 ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย NBT และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ http://thainews.prd.go.th/view.php?m_newsid=255108030020&tb=N255108 (วิดีโอคลิป) http://media.prachachonthai.net/vdo/nbt-3aug08.wmv
  • [46] นายกรัฐมนตรีแถลงข่าวการเตรียมจัดงานในวาระสำคัญของประเทศ, สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์, 4 ส.ค. 51 http://thainews.prd.go.th/PrintNews.php?m_newsid=255108040275&tb=NEWS
  • [47] พระราชดำรัสในหลวง นายกฯขอพึ่งบารมีจัดงานสมานสามัคคี, เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ, 5 ส.ค. 51 http://special.bangkokbiznews.com/detail.php?id=3362
  • [48] รัฐบาลเตรียมจัดกิจกรรม 116 วัน เพื่อสร้างความสามัคคีทั่วประเทศ, สำนักโฆษก สำนักนายกรัฐมนตรี 19 ส.ค. 51 http://media.thaigov.go.th/pageconfig/viewcontent/viewcontent1.asp?pageid=471&directory=1779&contents=23086
  • [49] "สมัคร"ยันรบ.ไม่นิ่งเฉย มีวิธีจัดการม็อบแต่ "ไม่รุนแรง" รับเปลี่ยนใจสลายม็อบ แก้คำสั่งกลางคัน, มติชนออนไลน์, 28 ส.ค. 51 http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1219933408&grpid=00
  • [50] สมัครทูลพระบรมฯ ขอย้ายที่จัดงานวันแม่-วันพ่อ, ข่าวสด, 29 ส.ค. 51 http://www.moj.go.th/th/cms/detail.php?id=1673
  • [51] สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระราชทานธงสัญลักษณ์โครงการจากวันแม่ถึงวันพ่อ 116 วัน สร้างสามัคคี, สำนักโฆษก สำนักนายกรัฐมนตรี, 30 ส.ค. 51 http://media.thaigov.go.th/pageconfig/viewcontent/viewcontent1.asp?pageid=471&directory=1779&contents=23308

บล็อกของ หัวไม้ story

หัวไม้ story
ระหว่างรอผลว่า ท้ายที่สุดอดีตนายกรัฐมนตรีไทยและภรรยาจะได้อยู่ในประเทศอังกฤษในฐานะผู้ลี้ภัย หรือจะกลายเป็นผู้ร้ายข้ามแดนที่ต้องประสานให้ส่งมอบตัวกลับมาดำเนินคดีในไทย ลองดูซิว่าทำเนียบรุ่นผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่ประเทศอังกฤษอ้าแขนรับที่ผ่านมา มีใครบ้าง.... 
หัวไม้ story
วันที่ 8 สิงหาคม ปี 1988 เป็นวันแห่งการปราบปรามผู้เรียกร้องประชาธิปไตยในพม่า และการปราบปรามนั้นได้ดำเนินไปหลายวันในย่างกุ้ง หัวไม้สัปดาห์นี้ ขอเป็นส่วนหนึ่งของการรำลึกในโอกาสครบรอบ 20 ปี ของการต่อสู้ของเพื่อนมิตรชาวพม่าในครั้งนั้น ด้วยบทเพลงพม่าที่เขียนขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ครั้งนั้น คือเพลง วันที่ 8 เดือน 8 ปี 88 และ เพลงไม่มีวันลืม (Kabar Ma Kyay Bu Heyt!) ทั้งสองเพลงออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์เสียงประชาธิปไตยแห่งพม่า (Democratic Voice of Burma - DVB) ทุกรอบปี เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ปราบปรามที่เกิดขึ้นเราหวังว่าสักวันหนึ่งเสรีภาพและประชาธิปไตยจะปรากฏขึ้นในขอบฟ้าฟากตะวันตก เพลง วันที่ 8…
หัวไม้ story
< พิณผกา งามสม > ถ้าผู้หญิงคืออีกซีกหนึ่งของฟากฟ้า อย่างที่จอน เลนนอน ไอดอลแห่งยุคบุปผาชนเคยกล่าวไว้  ภาพข่าว ดร. วันอาซีซาร์ ประกาศลาออกจากตำแหน่งสมาชิกรัฐสภาแห่งสหพันธ์รัฐมาเลเซีย เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา เพื่อเปิดทางให้กับสามีได้ลงเลือกตั้งชิงเก้าอี้ในรัฐสภาที่ว่างลงในฐานะอีกครึ่งชีวิตทางการเมืองของนายอันวาร์ อิบราฮิม ก็คงเป็นตัวอย่างจริงของความเป็นอีกฟากหนึ่งของท้องฟ้า แต่จะเป็นท้องฟ้าของวันใหม่ดังที่นายอันวาร์ย้ำมาตลอดหรือไม่ เป็นเรื่องของการเมืองที่ยากจะคาดการณ์ ดร. วันอาซีซาร์ ได้ชื่อว่าเป็นทัพหลังที่แข็งแกร่งของนายอันวาร์ จากอาชีพจักษุแพทย์…
หัวไม้ story
ทีมข่าวการเมือง ประชาไท บันทึกปฏิกิริยาฝ่าย ‘ขวาใหม่' ภายใต้ฉายา ‘พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย' หลังจากการปราศรัยที่สนามหลวงของ น.ส.ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือ ‘ดา ตอร์ปิโด' เมื่อวันที่ 18 กรกฎคมที่ผ่านมาโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้หยิบประเด็นการปราศรัยของ ‘ดา ตอร์ปิโด' มาวิพากษ์วิจารณ์เป็นเวลาต่อเนื่องกันหลายคืนนับตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม เป็นต้นมา กระทั่ง กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บ.ชน.) ขอให้ศาลอาญากรุงเทพฯ อนุมัติหมายจับเลขที่ 2209/51 ให้จับกุม น.ส.ดารณีข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เมื่อวันที่ 22 ก.ค.ทำให้ น.ส.ดารณี…
หัวไม้ story
นับแต่รัฐบาลใหม่จากการเลือกตั้งเข้าสู่ตำแหน่ง การฟ้องร้องอันเนื่องมาจากการเมือง และการฟ้องร้องอันมีผลทางการเมืองก็ดาหน้าเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมไทย และองค์กรอิสระ เสมือนเป็นโหมโรงสำหรับ ‘ตุลาการภิวัตน์’ ก็ไม่ปาน เพื่อเป็นหมุดหยุดพักสำหรับความสับสนในคดีที่เยอะแยะ อีรุงตุงนังกันอยู่ขณะนี้  "ประชาไท" รวบรวมคดีที่มีการฟ้องร้องกัน ภายใต้เงื่อนเวลาเริ่มต้นคือรัฐบาลชุดนี้ ให้ดูกันว่ายุคนี้ ศาลนั้น "งานเข้า" ขนาดไหน  
หัวไม้ story
จังหวัดระยองเป็นจังหวัดแรกๆ ที่รองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างเต็มรูปแบบ โดยนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเริ่มพัฒนามาตั้งแต่ปี 2524 จากขนาด 4,100 ไร่ ขยายจนเป็น 15,745 ไร่ นิคมฯ มาบตาพุดยังประกอบด้วย 4 นิคม ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด นิคมอุตสาหกรรมเหมราช นิคมอุตสาหกรรมผาแดง และนิคมอุตสาหกรรมเอเชีย ปัจจุบันมีโรงงานอุตสาหกรรมหนักทั้งสิ้น 134 โรง (รวมโรงไฟฟ้า 8 โรง (ข้อมูล ณ เดือนมกราคม 2550)) แยกเป็น 1.กลุ่มปิโตรเคมี  2.กลุ่มเคมีภัณฑ์และปุ๋ย 3.กลุ่มโรงกลั่นน้ำมัน 4.กลุ่มสาธารณูปโภค เช่น โรงไฟฟ้า 5.กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก 6.กลุ่มเขตธุรกิจอุตสาหกรรม เช่น โรงกำจัดกากของเสีย 7.กลุ่มเขตท่าเรือ…
หัวไม้ story
หลังจากแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP) 2007 ได้รับอนุมัติไปเมื่อราวเดือนมิถุนายน 2550  ก็เป็นอันชัดเจนว่า นับจากนี้ไป 15 ปี ประเทศไทยมีแผนการสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซ 20 กว่าโรง โรงไฟฟ้าถ่านหิน 4 โรง (2,800 เมกกะวัตต์) โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 4 โรง (4,000 เมกกะวัตต์) มีทั้งที่ กฟผ.สร้างเองและการเปิดให้บริษัทเอกชนขนาดใหญ่ผลิตไฟฟ้า (IPP)ยังไม่นับรวมการรับซื้อไฟฟ้าจากเพื่อนบ้านอีกเป็นจำนวนมากด้วย  แผนดังกล่าวถูกร่างขึ้นโดย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นตัวหลัก ขณะที่มีเสียงเรียกร้องให้มีองค์กรอิสระขึ้นมาพิจารณาเรื่องนี้โดยเฉพาะเพื่อจะได้วิเคราะห์ข้อมูลอย่างรอบด้าน…
หัวไม้ story
ในสังคมการเมืองไทยสมัยใหม่ของไทย ผ่านความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงระบบ โครงสร้าง การเข้าถึงอำนาจ หลายครั้ง หลายรูปแบบ ที่มีสำเร็จและล้มเหลวคละเคล้ากันไปสำหรับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างฉับพลัน โดยวิธีนอกระบบกฎเกณฑ์ทางการเมืองที่สังคมในช่วงเวลานั้นๆ ไม่ยอมรับ เกี่ยวพันโดยตรงกับผลลัพธ์ของปฏิบัติการ ถ้าสำเร็จ คณะผู้ก่อการก็สามารถบัญญัติคำหรือภาษาสวยงามลงไปอ้างอิงการกระทำของกลุ่มตนเองได้ ไม่ว่าจะเป็น คณะปฏิวัติ  คณะปฏิรูป  เป็นต้น แต่หากล้มเหลวมีเพียงโทษสถานเดียวคือการเป็นศัตรูของสังคมในฐานะ “กบฏ” หัวไม้สัปดาห์นี้จะพาย้อนไปดูการปฎิบัติการเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญ…
หัวไม้ story
  < พิณผกา งามสม > เมื่อชาวนาอยากจะพูดให้คุณเข้าใจปี 2545 ชาวบ้านปากมูลเลือกที่จะเดินทางทั่วอิสานเพื่อสื่อสารทางตรงไปยังบรรดาเพื่อนระดับชาวบ้านเพื่อให้เข้าใจว่าทำไมพวกเขาจึงต้องต้านเขื่อนเพราะพวกเขาไม่ได้พื้นที่ในสื่อกระแสหลักที่มักนำเสนอข่าวแบบจุดพลุ แล้วก็เลือนหายไป นั่นจึงทำให้พวกเขาออกเดิน เดินเพื่อสื่อสารทางตรง ไม่ต้องผ่านสื่ออีกต่อไป แน่นอนว่าชาวบ้านปากมูลต้องเดินทางวันละกว่า 10 กิโลเมตร ค่อยๆ เดินไปเพื่อแสดงนิทรรศการ และพูด แบบปากต่อปาก พวกเขาไม่ได้เดินมาที่ทำเนียบรัฐบาลหลังจากได้บทเรียนยาวนานจาก 99 วันหน้าทำเนียบ ชาวบ้านบางคนบอกว่า…
หัวไม้ story
สัมมนาทางวิชาการเนื่องในโอกาสครบรอบ 59 ปีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ห้อง ร.103 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์13 มิถุนายน 2551 “...ในวาระนี้นอกจากจะรู้สึกถึงวันเกิดของคณะ(รัฐศาสตร์) แล้ว ก็อยากจะอวยพรท่านนายกฯ ในสังคมมุสลิมนั้นมีวิธีขอพรให้ผู้นำ และเขาบอกว่าวิธีขอพรให้ผู้นำนั้น สิ่งสำคัญที่ต้องขอพรให้ต้อง ขอให้พระเป็นเจ้าเอื้ออำนวยให้ผู้ปกครองมีสติ สามารถดำเนินการปกครองของตัวโดยคำนึงถึงประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ ประโยชน์ของคนทั้งหลายทั้งปวง มีปัญญาเลือกทางเลือกที่ถูกต้อง ผมว่าอันนี้เป็นพรที่เราอยากจะให้กับท่านนายกรัฐมนตรีในวันเกิดของท่าน เสียดายที่นักข่าวโทรทัศน์ไปหมดแล้ว...”…
หัวไม้ story
ภาวะความขัดแย้งทางการเมืองไทยขณะนี้ ได้ก่อให้เกิดความกังวล 2 ประการคือ รัฐจะใช้ความรุนแรงกับผู้เคลื่อนไหวในนามพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และอีกประการคือ การรัฐประหารซึ่งสื่อกระแสหลักยังคงต้องเกาะติด ‘น้ำเสียง' และ ‘ท่าที' ของนายทหารระดับสูงอย่างต่อเนื่องเมื่อย้อนดูสถิติการรัฐประหารของไทยจะพบว่า ความถี่ในการรัฐประหารของไทยคือ ประมาณ 7 ปีต่อการรัฐประหาร 1 ครั้ง การรัฐประหารที่เว้นช่วงสั้นที่สุดคือการรัฐประหารครั้งที่ 7 วันที่ 6 ตุลาคม 2519 - 20 ตุลาคม 2520 ( 1 ปีกับอีก 15 วัน)ช่วงที่เว้นระยะนานที่สุดคือ 23 ก.พ. 2534 - 19 กันยายน 2549 เว้นช่วงนาน 15 ปี 6 เดือน กับอีก 28 วัน…
หัวไม้ story
หลังจากทำงานขับรถบรรทุกส่งแก๊สกับบริษัทไทยอินดัสเตรียลแก๊ส จำกัด (มหาชน) (ทีไอจี) มาได้ร่วมปี “สุรชัย” ถูกเรียกเข้าสำนักงานใหญ่ หวังใจว่าจะได้รับการบรรจุเป็นพนักงานประจำ หลังจากถูกต่ออายุทดลองงานมาเกือบปี แต่เมื่อไปถึงสำนักงานใหญ่ เขากลับได้รับการแนะนำให้รู้จักกับบริษัทอเดคโก้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ของบริษัททีไอจีอ้างว่า เป็นบริษัทจัดหางานระดับโลก ที่มีพนักงานกว่าเจ็ดหมื่นคนทั่วโลก ทีละคน ทีละคน... เขาและเพื่อนๆ ทยอยเซ็นสัญญาที่เจ้าหน้าที่ของบริษัทบอกว่าจะกรอกรายละเอียดให้ เขาบอกว่า ปัญหาใหญ่ คือทุกคนไม่ได้มีความรู้เรื่องกฎหมายแรงงานหรือสัญญาเลย ทั้งยังไม่มีเวลาอ่าน…