พลังประชาชนบนโลกไซเบอร์

 

< พิณผกา งามสม >

เมื่อชาวนาอยากจะพูดให้คุณเข้าใจ

ปี 2545 ชาวบ้านปากมูลเลือกที่จะเดินทางทั่วอิสานเพื่อสื่อสารทางตรงไปยังบรรดาเพื่อนระดับชาวบ้านเพื่อให้เข้าใจว่าทำไมพวกเขาจึงต้องต้านเขื่อน

เพราะพวกเขาไม่ได้พื้นที่ในสื่อกระแสหลักที่มักนำเสนอข่าวแบบจุดพลุ แล้วก็เลือนหายไป นั่นจึงทำให้พวกเขาออกเดิน เดินเพื่อสื่อสารทางตรง ไม่ต้องผ่านสื่ออีกต่อไป แน่นอนว่าชาวบ้านปากมูลต้องเดินทางวันละกว่า 10 กิโลเมตร ค่อยๆ เดินไปเพื่อแสดงนิทรรศการ และพูด แบบปากต่อปาก

 

พวกเขาไม่ได้เดินมาที่ทำเนียบรัฐบาลหลังจากได้บทเรียนยาวนานจาก 99 วันหน้าทำเนียบ ชาวบ้านบางคนบอกว่า เขาต้องการความเข้าใจจากเพื่อนร่วมชาติมากกว่า เพราะหากเพื่อนร่วมชาติเข้าใจความทุกข์ของเขา เมื่อนั้น เขาคงพูดให้รัฐบาลเข้าใจง่ายขึ้น

ชาวนาจากแคว้นเชียปาส แคว้นที่ยากจนที่สุดแคว้นหนึ่งของเม็กซิโกออกเดินเช่นกัน เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2537 ปี พวกเขาเดินไปยังรัฐสภาของประเทศเม็กซิโก เพื่อประกาศหลักการของพวกเขาเองที่จะปลดเปลื้องตนเองออกจากการกดขี่โดยทุนนิยมเสรีที่รัฐบาลเม็กซิกันเดินตามหลังอเมริกาอย่างเชื่องๆ

แต่การเดินทางของชาวเชียปาสไม่เงียบเหงา พวกเขาที่รู้จักกันดีในนาม ขบวนการ "ซาปาติสตา" ไม่เพียงได้รับความสนใจจากสื่อทั่วโลก แต่พวกเขาได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากนักกิจกรรมฝ่ายซ้าย และฝ่ายต้านโลกาภิวัตน์และเสรีนิยมใหม่ แน่นอน.... การสื่อสารนั้นผ่านสื่ออินเทอร์เน็ต

คนทั่วโลกสามารถติดตามว่า ขบวนการซาปาติสตา มีวัตถุประสงค์อะไร มีการจัดลำดับความสัมพันธ์ในขบวนการแบบใด และเชื่อในหลักการพื้นฐานแบบไหน เพียงคลิกhttp://flag.blackened.net/revolt/zapatista.html ก็จะพบบทความ และคำประกาศ รวมไปถึงบทความจากรองผู้บัญชาการมาร์กอส ซึ่งทำหน้าที่เป็นฝ่ายสื่อสารและประสานงานให้กับชาวนาผู้เป็นผู้บัญชาการที่แท้จริง 

และด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทำให้การปิดกั้นข้อมูลข่าวสารยากยิ่งขึ้นทุกที ปฏิเสธไม่ได้ว่า แบบ' ของการต่อสู้ ชนิดกลับหัวกลับหาง คิดใหม่ทำใหม่ของขบวนการซาปาติสตานี้ ได้กลายมาเป็น แบบ' ที่ถูกจับตามองอย่างชื่นชมโดยนักเคลื่อนไหวต่อต้านโลกาภิวัตน์และเสรีนิยม  

Seattle คนจากทั่วมุมโลกมารวมตัวกันเพื่อต่อต้าน WTO

ภายหลังการประสานงานผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เช่น http://www.tao.ca/ และ http://www.indymedia.org/  การรวมตัวของนักกิจกรรมผู้ต่อต้านการค้าเสรีก็ปรากฏขึ้นในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2542 โดยผู้ประท้วงทำการปิดกั้นถนนซึ่งเป็นเส้นทางไปสู่สถานที่ประชุมระดับผู้นำขององค์การการค้าโลก ซึ่งจัดขึ้นในซีแอตเติ้ล สหรัฐอมริกา การประท้วงเป็นไปอย่างกว้างขวางด้วยกิจกรรมที่หลากหลายและยืนยาวอยู่จนถึงวันที่ 3 ธันวาคม 2542 ผู้เข้าประท้วงกว่า 600 คนถูกจับไป และอีกกว่าพันคนได้รับบาดเจ็บภายหลังจากที่เจ้าหน้าที่ตำรวจตัดสินใจสลายการชุมนุมโดยการยิงแก๊สน้ำตาใส่กลุ่มผู้ประท้วง ทั้งนี้ฝ่ายผู้ชุมนุมเองก็ทุบทำลายหน้าร้านที่เป็นสัญลักษณ์ของบรรษัทข้ามชาติที่ทรงอิทธิพล อย่างไนกี้ และแมคโดนัลด์

ผลที่สำคัญที่สุดของการรวมตัวกันครั้งนี้คือ การประชุมรอบซีแอตเติ้ลไม่สามารถบรรลุข้อตกลงใดๆ

จากซีแอตเติ้ล นักกิจกรรมทางสังคมใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเวทีสื่อสารและเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงเครือข่าย และรวมตัวกันต่อๆ มาในประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เช่น European Social Forum, the Asian Social Forum, World Social Forum (WSF).

จีน พลังของชาวเน็ตเพื่อผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว

ไม่เพียงเป็นหนทางระดมทุนอันรวดเร็วและกว้างขวาง แต่มีรายงานว่า ชาวจีนที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตกว่า พันสามร้อยล้านคนต่างพุ่งความสนใจและความรับผิดชอบร่วมกันเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

การรายงานข่าวแผ่นดินไหวในมณฑลเสฉวน ที่ผ่านมานั้นถูกรายงานโดยผู้ใช้อินเทอร์เน็ตก่อนสื่อกระแสหลักอื่นๆ รวมถึงการที่ชาวเน็ตจับได้ด้วยว่า ทางการจีนนั้นประกาศเหตุแผ่นดินไหวล่าช้ากว่าหน่วยงานในสหรัฐอเมริกาไปถึง 916 วินาที!!!

นอกเหนือจากทำหน้าที่ส่งเสียงและติดตามการให้ความช่วยเหลือจากทางการจีนอย่างเกาะติดแล้ว ประชากรชาวเน็ตในจีนยังจับตาดู สำนึกทางสังคม' ของบรรษัทข้ามชาติที่เข้ามาหาประโยชน์ในจีนด้วย แมคโดนัลด์ เป็นบริษัทหนึ่งที่ต้องออกมากล่าวขอโทษ เมื่อประชากรชาวเน็ตร่วมกันประณามเงินบริจาค จำนวน 10 ล้านหยวน ซึ่งน้อยเกินไป เมื่อเทียบกับกำไรที่แมคโดนัลด์ได้ไปจากคนจีน ขณะเดียวกันก็แสดงความชื่นชมน้ำใจของ เฉินหลง ดาราระดับแม่เหล็กของประเทศที่บริจาคด้วยจำนวนเดียวกัน ซึ่งบริจาคเงินอย่างรวดเร็วภายหลังทราบเหตุแผ่นดินไหว

ประชาชนชาวเน็ตบางคนทำหน้าที่จับตาปฏิกิริยาจากญี่ปุ่น ซึ่งเป็นคู่รักคู่แค้นของจีนมาเนิ่นนาน สิ่งที่เขานำเสนอออกมาคือภาพของมิตรภาพที่ญี่ปุ่นแสดงความห่วงใยจีนอย่างจริงจัง

เผชิญหน้า สื่อสาร และเปลี่ยนแปลง!!!

จุดแข็งของอินเทอร์เน็ตก็คือการสามารถเชื่อมโยงผู้คนจากต่างมุมโลกเข้ามาสื่อสารกันได้อย่างรวดเร็ว และนั่นก็เป็นหนทางหนึ่งที่เหล่าประชาชนระดับรากหญ้าและคนจนทั่วโลกใช้เครื่องมือนี้เพื่อสื่อสารสิ่งที่ไม่เคยปรากฏตามหน้าสื่อกระแสหลัก

See it Film it Change it!! ม็อตโตสั้นๆ แต่กระชับขององค์กรที่ขับเคลื่อนประเด็นสิทธิมนุษยชนผ่านสื่ออย่างอินเทอร์เน็ต มีจุดประสงเพื่อสนับสนุนให้คนชายขอบทั่วโลกได้ส่งเสียงของตัวเอง ด้วยตัวของเขาเอง

 http://hub.witness.org/  เป็นส่วนที่แตกแขนงออกมาจากองค์กรแม่อย่าง witness ทีมงานและอาสาสมัครของพื้นที่แห่งการเรียกร้องสิทธิมนุษยชน (The global platform for human rights media and action) แห่งนี้ไม่ได้เดินทางไปทั่วโลกเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้สื่อข่าว แต่พวกเขาจะเดินทางไปยังพื้นที่ในมุมอับของโลกเพื่อให้ประชาชนที่นั่นได้รู้จัก เครื่องมือ' ในการส่งเสียงไปให้ดังกว่าหูของรัฐบาลที่กดขี่พวกเขา หรือ ไปให้ดังกว่ากองกำลังทหารที่ทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนประชาชนของตัวเองในแผ่นดินของพวกเขาเอง

อย่างน้อยที่สุด เทคนิคการถ่ายภาพวีดีโอเบื้องต้น และการใช้อินเทอร์เน็ตจะถูกถ่ายทอด และสคริปต์นั้น...แน่นอน  คนที่อยู่กับปัญหานั้นเอง ย่อมพูดได้ดีที่สุด

ไม่มีอะไรดีร้อยเปอร์เซ็นต์

แม้อินเทอร์เน็ตจะทำหน้าที่ได้ดีมากเรื่องของความรวดเร็วและกว้างขวาง ทั้งยังเป็นพื้นที่สำหรับความสัมพันธ์แนวราบมากกว่าแนวดิ่ง อันเป็นสิ่งที่นักเคลื่อนไหวทางสังคมเรียกร้องทั้งจากรัฐบาลของตัวเอง บรรษัทข้ามชาติ องค์กรโลกบาล และเจ้าลัทธิที่ทำการนำเดี่ยวอย่างอเมริกา

แต่ว่า.... ความสัมพันธ์ในแนวราบนั้นเองก็ทำให้มีปัญหาในการเคลื่อนต่อไปข้างหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ นาโอมิ ไคลน์กล่าวไว้ในหนังสือ Fence and Windows

"วัฒนธรรมการสื่อสารในเครือข่ายอินเทอร์เน็ตดีกว่าในแง่ของความเร็วและปริมาณข้อมูล แต่อาจด้อยกว่าในแง่ของการสังเคราะห์ อินเทอร์เน็ตสามารถทำให้คนนับหมื่นๆ คนมารวมชุมนุมอยู่ที่หัวถนนเดียวกันพรั่งพร้อมด้วยแผ่นป้ายประท้วง แต่ไม่สามารถช่วยให้คนกลุ่มเดียวกันนี้ตกลงกันได้ถึงเป้าหมายที่พวกเขาต้องการอย่างแท้จริง"

เป็นไปได้สูงที่นักเคลื่อนไหวและประชาชนจะใช้งานอินเทอร์เน็ตไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทลายข้อจำกัดบางอย่าง สื่อสารด้วยตนเอง เป็นอิสระจากสื่อกระแสหลักที่ครอบงำวัฒนธรรมการรับรู้ข้อมูลข่าวสารมาเป็นเวลานาน แต่โจทย์ที่ท้าทายก็คือว่า เมื่อเปิดอินเทอร์เน็ตขึ้นมา นักเคลื่อนไหวและประชาชนเหล่านี้จะแทรกตัวไปเรียกร้องความสนใจจากคนในมุมอื่นๆ ของโลกอย่างไรภายใต้กระแสธารอันไหลเชี่ยวของข้อมูลข่าวสาร ที่ใครๆ ต่างก็เป็นผู้เล่าเรื่อง

อ้างอิง/แหล่งข้อมูล

นาโอมิ ไคลน์, รั้วแห่งการกักกัน หน้าต่างแห่งโอกาส, แปลโดย ภควดี วีระภาสพงษ์, มูลนิธิโกมลคีมทอง กรุงเทพฯ: 2546

ข้อมูลแนวคิดของขบวนการ และงานเขียนของรองผู้บัญชาการมาร์กอส http://flag.blackened.net/revolt/zapatista.html

http://encuentro.mayfirst.org/communicado.html

http://chiapas.indymedia.org/

The Power of Chinese Netizens After the Earthquake  Using the Internet, information and help flowed freely http://english.ohmynews.com/articleview/article_view.asp?no=382780&rel_no=1

ความเห็น

Submitted by บังวิน on

เมื่อสื่อกระแสหลักเป็นดั่งสื่อมวลสัตว์เสียแล้วเราคงต้องสื่อกันเองแหละครับ

Submitted by tik on

test

Submitted by montri jaitieng on

thailand's political turmoils because many parties useing the monarchy institution to destroying the oppositions that is the true real cause of troubles for the thai'citizen
not so many politicians talks about it i still remember the story when i was a small child about that old story" the king's new cloth " yes the true is thais don't have liberty freedom no free speech no democracy no people'constitution law

Submitted by Yut on

เห็นด้วยกับคุณมนตรีด้านล่าง
อยากให้คนไทย โดยเฉพาะชาวบ้านใช้เน็ตเป็นเครื่องมือต่อต้านความไม่เป็นยุติธรรมหลายอย่างในสังคมไทยวันนี้
และคิดว่าเน็ตเป็นแหล่งที่เหมาะที่จะทำให้สามารถแสดงความคิดเห็นอย่างเปิดเผยได้ โดยไม่ต้องกลัวว่าจะโดนฟ้อง แต่ต้องรักษาความซื่อสัตย์ในคำเขียนไว้ด้วย

2 คำถามเรื่องหลักการในข่าว “แดง” จับ “แดง”

กรณี “แดงจับแดง” ที่เกิดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ไม่ควรถูกมองว่าเป็นแค่เรื่องเข้าใจผิด หรือเรื่องน้ำผึ้งหยดเดียวและจบกัน แต่นี่คือเป็นปัญหาท่าที และหลักการของแกนนำซึ่งไปช้ากว่ามวลชนอย่างสม่ำเสมอ

M79 และผองเพื่อน: สิ่งเบี่ยงเบนข่าวสารราคาย่อมเยา

วิธีกลบข่าวแบบบ้านๆ ไทยๆ ไม่ต้องลงทุนมากก็กลบมันด้วยน้อง M79 ลูกกระสุนสนนราคาละไม่กี่ร้อย แต่ก็ได้พาดหัวข่าวหน้าหนึ่งกลบข่าวคนเป็นหมื่นเป็นแสนที่ออกมาไล่รัฐบาลในขณะนี้

โอกาสเดียว 'ยึด' และ 'ยึดหมด' : ข่าวคดียึดทรัพย์ในสายตานักข่าวเทศ

สื่อต่างประเทศให้ความสนใจกับข่าวการเมืองในไทยกันหนาแน่นตลอดสัปดาห์นี้ ยิ่งใกล้วันศุกร์ วันที่สื่อทั้งหลายเรียกมันว่า judgement day มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งลงข่าวและบทวิเคราะห์กันคึกคักมากขึ้นเท่านั้น ประเด็นของการรายงานของสื่อนอกเน้นหนักไปที่สองเรื่องใหญ่คือ แนวทางของคำพิพากษาที่จะออกมา กับผลสะเทือนทางการเมืองจากการตัดสินหนนี้ ทั้งต่อการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างสองขั้วคือเหลืองกับแดง และผลกระทบที่จะมีต่อเศรษฐกิจไทย

(ที่มาของภาพ: มังกรดำ) ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่อาคารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2551 หรือเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ถือเป็นการกลับเมืองไทยครั้งแรกนับตั้งแต่เขาออกจากประเทศไปประชุมที่องค์การสหประชาชาติและเกิดการรัฐประหารโค่นอำนาจเขาเมื่อ 19 กันยายน 2549 ต่อมาวันที่ 31 กรกฎาคม 2551 เขาเดินทางออกนอกประเทศอีกครั้งโดยไม่กลับมาฟังคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในคดีที่ดินรัชดา ล่าสุดในวันที่ 26 กุมภาพันธ์นี้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะอ่านคำพิพากษาคดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้านบาทอีกคดี นับเป็นอีกครั้งหนึ่งที่สื่อทั้งไทยและต่างประเทศให้ความสนใจต่อเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองไทย