< พิณผกา งามสม >
เมื่อชาวนาอยากจะพูดให้คุณเข้าใจ
ปี 2545 ชาวบ้านปากมูลเลือกที่จะเดินทางทั่วอิสานเพื่อสื่อสารทางตรงไปยังบรรดาเพื่อนระดับชาวบ้านเพื่อให้เข้าใจว่าทำไมพวกเขาจึงต้องต้านเขื่อน
เพราะพวกเขาไม่ได้พื้นที่ในสื่อกระแสหลักที่มักนำเสนอข่าวแบบจุดพลุ แล้วก็เลือนหายไป นั่นจึงทำให้พวกเขาออกเดิน เดินเพื่อสื่อสารทางตรง ไม่ต้องผ่านสื่ออีกต่อไป แน่นอนว่าชาวบ้านปากมูลต้องเดินทางวันละกว่า 10 กิโลเมตร ค่อยๆ เดินไปเพื่อแสดงนิทรรศการ และพูด แบบปากต่อปาก
พวกเขาไม่ได้เดินมาที่ทำเนียบรัฐบาลหลังจากได้บทเรียนยาวนานจาก 99 วันหน้าทำเนียบ ชาวบ้านบางคนบอกว่า เขาต้องการความเข้าใจจากเพื่อนร่วมชาติมากกว่า เพราะหากเพื่อนร่วมชาติเข้าใจความทุกข์ของเขา เมื่อนั้น เขาคงพูดให้รัฐบาลเข้าใจง่ายขึ้น
ชาวนาจากแคว้นเชียปาส แคว้นที่ยากจนที่สุดแคว้นหนึ่งของเม็กซิโกออกเดินเช่นกัน เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2537 ปี พวกเขาเดินไปยังรัฐสภาของประเทศเม็กซิโก เพื่อประกาศหลักการของพวกเขาเองที่จะปลดเปลื้องตนเองออกจากการกดขี่โดยทุนนิยมเสรีที่รัฐบาลเม็กซิกันเดินตามหลังอเมริกาอย่างเชื่องๆ
แต่การเดินทางของชาวเชียปาสไม่เงียบเหงา พวกเขาที่รู้จักกันดีในนาม ขบวนการ "ซาปาติสตา" ไม่เพียงได้รับความสนใจจากสื่อทั่วโลก แต่พวกเขาได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากนักกิจกรรมฝ่ายซ้าย และฝ่ายต้านโลกาภิวัตน์และเสรีนิยมใหม่ แน่นอน.... การสื่อสารนั้นผ่านสื่ออินเทอร์เน็ต
คนทั่วโลกสามารถติดตามว่า ขบวนการซาปาติสตา มีวัตถุประสงค์อะไร มีการจัดลำดับความสัมพันธ์ในขบวนการแบบใด และเชื่อในหลักการพื้นฐานแบบไหน เพียงคลิกhttp://flag.blackened.net/revolt/zapatista.html ก็จะพบบทความ และคำประกาศ รวมไปถึงบทความจากรองผู้บัญชาการมาร์กอส ซึ่งทำหน้าที่เป็นฝ่ายสื่อสารและประสานงานให้กับชาวนาผู้เป็นผู้บัญชาการที่แท้จริง
และด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทำให้การปิดกั้นข้อมูลข่าวสารยากยิ่งขึ้นทุกที ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘แบบ' ของการต่อสู้ ชนิดกลับหัวกลับหาง คิดใหม่ทำใหม่ของขบวนการซาปาติสตานี้ ได้กลายมาเป็น ‘แบบ' ที่ถูกจับตามองอย่างชื่นชมโดยนักเคลื่อนไหวต่อต้านโลกาภิวัตน์และเสรีนิยม
Seattle คนจากทั่วมุมโลกมารวมตัวกันเพื่อต่อต้าน WTO
ภายหลังการประสานงานผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เช่น http://www.tao.ca/ และ http://www.indymedia.org/ การรวมตัวของนักกิจกรรมผู้ต่อต้านการค้าเสรีก็ปรากฏขึ้นในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2542 โดยผู้ประท้วงทำการปิดกั้นถนนซึ่งเป็นเส้นทางไปสู่สถานที่ประชุมระดับผู้นำขององค์การการค้าโลก ซึ่งจัดขึ้นในซีแอตเติ้ล สหรัฐอมริกา การประท้วงเป็นไปอย่างกว้างขวางด้วยกิจกรรมที่หลากหลายและยืนยาวอยู่จนถึงวันที่ 3 ธันวาคม 2542 ผู้เข้าประท้วงกว่า 600 คนถูกจับไป และอีกกว่าพันคนได้รับบาดเจ็บภายหลังจากที่เจ้าหน้าที่ตำรวจตัดสินใจสลายการชุมนุมโดยการยิงแก๊สน้ำตาใส่กลุ่มผู้ประท้วง ทั้งนี้ฝ่ายผู้ชุมนุมเองก็ทุบทำลายหน้าร้านที่เป็นสัญลักษณ์ของบรรษัทข้ามชาติที่ทรงอิทธิพล อย่างไนกี้ และแมคโดนัลด์
ผลที่สำคัญที่สุดของการรวมตัวกันครั้งนี้คือ การประชุมรอบซีแอตเติ้ลไม่สามารถบรรลุข้อตกลงใดๆ
จากซีแอตเติ้ล นักกิจกรรมทางสังคมใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเวทีสื่อสารและเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงเครือข่าย และรวมตัวกันต่อๆ มาในประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เช่น European Social Forum, the Asian Social Forum, World Social Forum (WSF).
จีน พลังของชาวเน็ตเพื่อผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว
ไม่เพียงเป็นหนทางระดมทุนอันรวดเร็วและกว้างขวาง แต่มีรายงานว่า ชาวจีนที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตกว่า พันสามร้อยล้านคนต่างพุ่งความสนใจและความรับผิดชอบร่วมกันเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
การรายงานข่าวแผ่นดินไหวในมณฑลเสฉวน ที่ผ่านมานั้นถูกรายงานโดยผู้ใช้อินเทอร์เน็ตก่อนสื่อกระแสหลักอื่นๆ รวมถึงการที่ชาวเน็ตจับได้ด้วยว่า ทางการจีนนั้นประกาศเหตุแผ่นดินไหวล่าช้ากว่าหน่วยงานในสหรัฐอเมริกาไปถึง 916 วินาที!!!
นอกเหนือจากทำหน้าที่ส่งเสียงและติดตามการให้ความช่วยเหลือจากทางการจีนอย่างเกาะติดแล้ว ประชากรชาวเน็ตในจีนยังจับตาดู ‘สำนึกทางสังคม' ของบรรษัทข้ามชาติที่เข้ามาหาประโยชน์ในจีนด้วย แมคโดนัลด์ เป็นบริษัทหนึ่งที่ต้องออกมากล่าวขอโทษ เมื่อประชากรชาวเน็ตร่วมกันประณามเงินบริจาค จำนวน 10 ล้านหยวน ซึ่งน้อยเกินไป เมื่อเทียบกับกำไรที่แมคโดนัลด์ได้ไปจากคนจีน ขณะเดียวกันก็แสดงความชื่นชมน้ำใจของ เฉินหลง ดาราระดับแม่เหล็กของประเทศที่บริจาคด้วยจำนวนเดียวกัน ซึ่งบริจาคเงินอย่างรวดเร็วภายหลังทราบเหตุแผ่นดินไหว
ประชาชนชาวเน็ตบางคนทำหน้าที่จับตาปฏิกิริยาจากญี่ปุ่น ซึ่งเป็นคู่รักคู่แค้นของจีนมาเนิ่นนาน สิ่งที่เขานำเสนอออกมาคือภาพของมิตรภาพที่ญี่ปุ่นแสดงความห่วงใยจีนอย่างจริงจัง
เผชิญหน้า สื่อสาร และเปลี่ยนแปลง!!!
จุดแข็งของอินเทอร์เน็ตก็คือการสามารถเชื่อมโยงผู้คนจากต่างมุมโลกเข้ามาสื่อสารกันได้อย่างรวดเร็ว และนั่นก็เป็นหนทางหนึ่งที่เหล่าประชาชนระดับรากหญ้าและคนจนทั่วโลกใช้เครื่องมือนี้เพื่อสื่อสารสิ่งที่ไม่เคยปรากฏตามหน้าสื่อกระแสหลัก
See it Film it Change it!! ม็อตโตสั้นๆ แต่กระชับขององค์กรที่ขับเคลื่อนประเด็นสิทธิมนุษยชนผ่านสื่ออย่างอินเทอร์เน็ต มีจุดประสงเพื่อสนับสนุนให้คนชายขอบทั่วโลกได้ส่งเสียงของตัวเอง ด้วยตัวของเขาเอง
http://hub.witness.org/ เป็นส่วนที่แตกแขนงออกมาจากองค์กรแม่อย่าง witness ทีมงานและอาสาสมัครของพื้นที่แห่งการเรียกร้องสิทธิมนุษยชน (The global platform for human rights media and action) แห่งนี้ไม่ได้เดินทางไปทั่วโลกเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้สื่อข่าว แต่พวกเขาจะเดินทางไปยังพื้นที่ในมุมอับของโลกเพื่อให้ประชาชนที่นั่นได้รู้จัก ‘เครื่องมือ' ในการส่งเสียงไปให้ดังกว่าหูของรัฐบาลที่กดขี่พวกเขา หรือ ไปให้ดังกว่ากองกำลังทหารที่ทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนประชาชนของตัวเองในแผ่นดินของพวกเขาเอง
อย่างน้อยที่สุด เทคนิคการถ่ายภาพวีดีโอเบื้องต้น และการใช้อินเทอร์เน็ตจะถูกถ่ายทอด และสคริปต์นั้น...แน่นอน คนที่อยู่กับปัญหานั้นเอง ย่อมพูดได้ดีที่สุด
ไม่มีอะไรดีร้อยเปอร์เซ็นต์
แม้อินเทอร์เน็ตจะทำหน้าที่ได้ดีมากเรื่องของความรวดเร็วและกว้างขวาง ทั้งยังเป็นพื้นที่สำหรับความสัมพันธ์แนวราบมากกว่าแนวดิ่ง อันเป็นสิ่งที่นักเคลื่อนไหวทางสังคมเรียกร้องทั้งจากรัฐบาลของตัวเอง บรรษัทข้ามชาติ องค์กรโลกบาล และเจ้าลัทธิที่ทำการนำเดี่ยวอย่างอเมริกา
แต่ว่า.... ความสัมพันธ์ในแนวราบนั้นเองก็ทำให้มีปัญหาในการเคลื่อนต่อไปข้างหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ นาโอมิ ไคลน์กล่าวไว้ในหนังสือ Fence and Windows
"วัฒนธรรมการสื่อสารในเครือข่ายอินเทอร์เน็ตดีกว่าในแง่ของความเร็วและปริมาณข้อมูล แต่อาจด้อยกว่าในแง่ของการสังเคราะห์ อินเทอร์เน็ตสามารถทำให้คนนับหมื่นๆ คนมารวมชุมนุมอยู่ที่หัวถนนเดียวกันพรั่งพร้อมด้วยแผ่นป้ายประท้วง แต่ไม่สามารถช่วยให้คนกลุ่มเดียวกันนี้ตกลงกันได้ถึงเป้าหมายที่พวกเขาต้องการอย่างแท้จริง"
เป็นไปได้สูงที่นักเคลื่อนไหวและประชาชนจะใช้งานอินเทอร์เน็ตไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทลายข้อจำกัดบางอย่าง สื่อสารด้วยตนเอง เป็นอิสระจากสื่อกระแสหลักที่ครอบงำวัฒนธรรมการรับรู้ข้อมูลข่าวสารมาเป็นเวลานาน แต่โจทย์ที่ท้าทายก็คือว่า เมื่อเปิดอินเทอร์เน็ตขึ้นมา นักเคลื่อนไหวและประชาชนเหล่านี้จะแทรกตัวไปเรียกร้องความสนใจจากคนในมุมอื่นๆ ของโลกอย่างไรภายใต้กระแสธารอันไหลเชี่ยวของข้อมูลข่าวสาร ที่ใครๆ ต่างก็เป็นผู้เล่าเรื่อง
อ้างอิง/แหล่งข้อมูล
นาโอมิ ไคลน์, รั้วแห่งการกักกัน หน้าต่างแห่งโอกาส, แปลโดย ภควดี วีระภาสพงษ์, มูลนิธิโกมลคีมทอง กรุงเทพฯ: 2546
ข้อมูลแนวคิดของขบวนการ และงานเขียนของรองผู้บัญชาการมาร์กอส http://flag.blackened.net/revolt/zapatista.html
http://encuentro.mayfirst.org/communicado.html
The Power of Chinese Netizens After the Earthquake Using the Internet, information and help flowed freely http://english.ohmynews.com/articleview/article_view.asp?no=382780&rel_no=1