Skip to main content

บ่อนถูกกฎหมาย ?

 

 

หัวไม้ story - คือ ภาคต่อของรายการทีวีอินเทอร์เน็ต สมาคมหัวไม้' ที่เป็นคล้ายๆ บทบรรณาธิการของกอง บก.ประชาไท เกิดจากการพูดคุย ถกเถียง วิวาทะ เกี่ยวกับเรื่องราวที่น่าสนใจของความเป็นไปในสังคมรอบตัว และอยากจะเน้นย้ำให้ผู้อ่านประชาไทได้รับรู้ไปพร้อมกัน ทุกๆ สัปดาห์ จากนั้นจะมีการรายงานความคืบหน้าในประเด็น หัวไม้' อีกครั้งหนึ่ง ผ่านพื้นที่ของ หัวไม้ story' ในส่วนของบล็อกกาซีน-ประชาไท (ปลายสัปดาห์)

 

 

เพียงไม่นานหลังจากที่ นายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวช พูดออกอากาศในรายการ สนทนาประสาสมัคร' ณ วันที่ 2 มีนาคม 2551 ว่า อยากให้มี บ่อนการพนันถูกกฎหมาย' เกิดขึ้นในประเทศ วิวาทะระหว่างผู้สนับสนุนและผู้คัดค้านแนวคิดดังกล่าวก็กลายเป็นประเด็นร้อนแรงในสังคมไทย

เมื่อปล่อยให้สังคมตื่นตัวและถกเถียงเรื่องแนวคิด บ่อนถูกกฎหมาย' ได้สักพัก รัฐบาล หมัก 1' ก็กลับลำแก้เกี้ยวได้ทันเวลา โดยอ้างว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับนโยบายของรัฐ แต่เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัวของ นายกฯ สมัคร เท่านั้น เพราะดูเหมือนว่าการ โยนหินถามทาง' ในครั้งนี้จะได้รับคำตอบเรียบร้อยแล้ว โดย ผู้คัดค้าน' เสียงดังกว่าผู้สนับสนุน' เกือบเท่าตัว

ถึงกระนั้นก็ตาม นี่ไม่ใช่ความพยายามครั้งแรกที่ตัวแทนรัฐบาลพูดถึงการนำเศรษฐกิจนอกระบบให้เข้ามาอยู่ในระบบ โดยคาดหวังว่าผลประโยชน์จากเศรษฐกิจใต้ดินจะช่วยให้คนในสังคมส่วนใหญ่มีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ในขณะที่ฝ่ายคัดค้านก็ยังยืนกรานด้วยเหตุผลเดิมๆ ว่า การคำนึงถึงศีลธรรม, คุณธรรม และจริยธรรม คือสิ่งที่จำเป็นกว่า เพราะเงินที่ได้มาจากอบายมุขหรือวิธีการที่ ไม่สะอาด' ย่อมไม่ใช่หนทางที่ยั่งยืนและปกติสุข

ทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและฝ่ายที่คัดค้านต่างก็มีเหตุผลของตัวเอง การเปรียบเทียบข้อมูลของแต่ละฝ่ายว่าจริง-ไม่จริงอย่างไร จึงน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจว่าจะ เอา' หรือ ไม่เอา' ธุรกิจใต้ดินทั้งหลาย

 

เปรียบเทียบ ใครได้-ใครเสีย' ในอุตสาหกรรมการพนัน

ในความเป็นจริง เศรษฐกิจนอกระบบ' ครอบคลุมตั้งแต่ ยาเสพย์ติด, การค้าอาวุธสงคราม, น้ำมันเถื่อน, การขายบริการทางเพศ, แรงงานเถื่อน และสุดท้ายคือ การพนัน' ซึ่งนายกฯ สมัคร ได้เน้นเป็นพิเศษ โดยระบุว่า อุตสาหกรรมการพนันใต้ดิน เป็นแหล่งทำเงินมหาศาล และเงินจำนวนนั้นไม่ได้ถูกนำมาใช้เพื่อประโยชน์ของคนในสังคมอย่างเ็ต็มเม็ดเต็มหน่วย ตบท้ายด้วยการชูประเด็น บ่อนการพนันถูกกฎหมาย' ขึ้นมา

ฝ่ายสนับสนุนบ่อนถูกกฎหมาย อ้างถึงรายได้จาก เศรษฐกิจนอกระบบ' จำนวนมหาศาลที่จะถูกส่งผ่านมาถึงมือรัฐ ซึ่งหมายถึงเงินจากกิจกรรมนอกกฏหมายทั้งหลาย และเป็นกิจการที่รัฐไม่ได้เข้าไปควบคุมดูแลตั้งแต่ต้น เงินดังกล่าวจึงไม่ได้ถูกนำมาใช้หมุนเวียนกับเศรษฐกิจในระบบ และไม่ได้รวมอยู่ในบัญชีประชาชาติ การผลักดันให้เกิดบ่อนการพนันถูกกฎหมาย จะช่วยให้รัฐเข้าไปควบคุมตรวจสอบความเป็นไปของเศรษฐกิจนอกระบบหรือเศรษฐกิจใต้ดินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

เมื่อเปรียบเทียบระหว่าง ยาเสพย์ติด, การค้าอาวุธ, น้ำมันเถื่อน, การขายบริการ และแรงงานเถื่อน ดูเหมือนว่า การพนัน' จะเป็นธุรกิจนอกระบบที่ น่ารังเกียจ' น้อยที่สุด และสามารถเรียกแบบอนุโลมได้ว่า เป็นการละเล่นเพื่อความบันเทิงอย่างหนึ่ง ประกอบกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ก็มีให้เห็นว่า การพนันกับคนไทย เป็นสิ่งที่มีความสัมพันธ์กันมาแต่โบราณ เห็นได้จากการเก็บภาษีอากรบ่อนเบี้ยในยุคต้นรัตนโกสินทร์

ฝ่ายสนับสนุนฯ จึงเชื่อมั่นว่า การเปิดบ่อนถูกกฎหมายจะเป็นประโยชน์กับสังคมได้ หากมีระบบจัดการที่ดี ช่วยลดอาชญากรรมที่เกี่ยวกับการกู้เงินนอกระบบ การทวงหนี้โดยผู้มีอิทธิพล การขายประเวณีเพื่อชำระหนี้ รวมถึงปัญหายาเสพติดด้วย

ฝ่ายคัดค้านบ่อนถูกกฎหมาย ไม่เห็นด้วยว่า การเปิดบ่อนพนันถูกกฎหมายจะช่วยลดสถิติการเกิดอาชญากรรมได้จริง และผลกระทบที่ตามมาจากการเปิดบ่อนถูกกฎหมายก็ไม่คุ้มค่า เพราะสังคมต้องเผชิญหน้ากับปัญหาอบายมุข-ประชาชนถูกมอมเมา-ครอบครัวแตกแยก ซึ่งไม่เหมาะกับ สังคมพุทธ' แบบไทยๆ ซึ่งคาดหวังแต่สิ่งดีงาม ด้วยประการทั้งปวง และปัจจุบัน การเปิดบ่อนถูกกฎหมายถือเป็นเรื่องที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ปี 2550 เพิ่มขึ้นมาอีกกรณีหนึ่ง เพราะ รธน.ปี 50 มาตรา 78 (1) ระบุข้อจำกัดเกี่ยวกับการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และ มาตรา 83 ระบุว่า "รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจ...โดยใช้ความระมัดระวังในการกระทำใดอันอาจทำให้สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชน"

สิ่งที่ต้องถามต่อก็คือ เหตุผลที่แต่ละฝ่ายถกเถียงกันมีความจริงเท็จแค่ไหน?

อุตสาหกรรมการพนันสร้างรายได้มหาศาล?

จากการวิจัยของ รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์, ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร และ นวลน้อย ตรีรัตน์ เรื่อง "เศรษฐกิจการพนัน: ทางเลือกเชิงนโยบายศูนย์ศึกษา" เศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2543) เป็นการศึกษาภาพรวมของเศรษฐกิจนอกกฎหมาย ในปี พ.ศ.2536-2538 พบว่ากิจกรรม 6 ประเภท ได้แก่ (1) ยาเสพย์ติดผ่านประเทศไทย (2) การค้าอาวุธสงคราม (3) น้ำมันเถื่อน (4) ค่าบริการโสเภณี (5) ค่าบริการนายหน้าค้าแรงงานพม่าเข้าไทย และการค้าหญิงไทยไปต่างประเทศ และ (6) การพนัน มีมูลค่าเพิ่ม (value added) เกิดขึ้นระหว่าง 286,000-457,000 ล้านบาท มูลค่าเพิ่มจากเศรษฐกิจนอกกฎหมายเท่ากับร้อยละ 8 ถึงร้อยละ 13 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GNP)

การศึกษาเรื่องการพนัน ครอบคลุมเรื่องหวยใต้ดิน พนันฟุตบอล และบ่อนการพนัน พบว่ามีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นระหว่าง 134,000-227,000 ล้านบาท มูลค่าเพิ่มของเศรษฐกิจการพนันที่ผิดกฎหมายในระหว่างปี พ.ศ.2536-2538 คิดเป็นร้อยละระหว่าง 3.7-7.6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ

ในปี พ.ศ.2544 ผู้วิจัยกลุ่มเดิมได้ขยายขอบเขตการศึกษากิจกรรมของเศรษฐกิจการพนันอีก 8 ประเภท คือ (1) หวยใต้ดิน (2) การพนันฟุตบอล (3) บ่อนการพนันในประเทศ (4) บ่อนชายแดนและบ่อนต่างประเทศ (5) หวยหุ้น (6) หวยออมสิน (7) หวยรายวัน (8) หวย ธ.ก.ส. พบว่า มูลค่าเพิ่มของเศรษฐกิจการพนันในปี 2544 สูงกว่าของปี 2536-2538 ระหว่างร้อยละ 2.5-4.1 เมื่อเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ

ที่เป็นเช่นนั้นเพราะประชาชนใช้จ่ายเงินในการซื้อหวยใต้ดินสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเมื่อ พ.ศ.2536-2538 วงเงินที่ประชาชนซื้อหวยใต้ดินอยู่ที่ 320,000 ล้านบาท แต่ในปี พ.ศ.2544 วงเงินหวยใต้ดินสูงถึง 542,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 222,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 69 เมื่อเปรียบเทียบกับวงเงินหวยใต้ดินในปี พ.ศ.2536-2538 ซึ่งสังศิตประมาณการว่า ในปี พ.ศ.2544 ผลกำไรของเจ้ามือหวยใต้ดินขั้นต่ำอยู่ที่ร้อยละ 30 ของยอดเงินที่ลูกค้าแทง หรือเท่ากับ 162,600 ล้านบาทต่อปี

นอกจากนี้ ผลการศึกษาพบว่า ค่าใช้จ่ายของประชาชนในบ่อนการพนันในประเทศสูงขึ้นมาก เช่นเดียวกับกิจกรรมการซื้อหวยใต้ดิน กล่าวคือ ในระหว่างปี พ.ศ.2536-2538 วงเงินที่เกี่ยวข้องกับการพนันในประเทศเพิ่มขึ้นจาก 224,000-816,000 ล้านบาทต่อปี กลายเป็น 541,000-826,000 ล้านบาท ในปี พ.ศ.2544 หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 317,000 ล้านบาทต่อปี หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 42 จึงอาจกล่าวได้ว่า ธุรกิจการพนันนอกระบบมีเม็ดเงินแพร่สะพัดในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก

เปิดบ่อนถูกกฎหมายช่วยลดอาชญากรรม, ช่วยแก้ปัญหาบ่อนเถื่อน และปัญหาผู้มีอิทธิพล?

ผลสรุปของคณะทำงานศึกษาแนวทางจัดการพนันในสังคมไทย สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2546 สนับสนุนรัฐบาล (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) ให้จัดการธุรกิจหวยใต้ดินเข้าสู่ระบบถูกกฎหมาย แต่คัดค้านการจัดตั้งบ่อนและโต๊ะพนันบอล เนื่องจากในขณะนั้น รัฐบาลได้ทำหนังสือขอคำปรึกษาและข้อเสนอแนะ เกี่ยวกับการจัดการพนัน 3 ประเภทให้ถูกกฎหมาย คือ การจัดตั้งบ่อนการพนัน หวยใต้ดิน และการพนันฟุตบอล

คณะทำงานฯ คัดค้านการจัดตั้งบ่อนถูกกฎหมาย โดยอ้างถึงผลการศึกษาของตน ซึ่งระบุว่า บ่อนถูกกฎหมายไม่ได้ทำให้บ่อนการพนันเถื่อนหมดไป เนื่องจากคนเล่นในบ่อนถูกกฎหมาย อาจเป็นลูกค้าคนละกลุ่มกับบ่อนเถื่อน หากรัฐบาลกำหนดคุณสมบัติด้านรายได้ของผู้ที่จะเข้าเล่นการพนันในบ่อนถูกกฎหมาย ประชาชนที่มีรายได้น้อยก็ไม่สามารถเล่นการพนันในบ่อนถูกกฎหมายได้อยู่ดี และประชาชนเหล่านั้นก็จะไปลงเอยที่บ่อนเถื่อน ซึ่งพยายามแข่งขันกับบ่อนถูกกฎหมาย และปรับตัวเพื่อรักษาลูกค้าของตนไว้ หรือดึงดูดผู้เล่นใหม่ให้เข้ามาใช้บริการมากขึ้น ส่งผลทำให้คนเล่นการพนันเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ การใช้มาตรการปราบปรามบ่อนพนันเถื่อนของรัฐบาลได้ผลเพียงระยะสั้นเท่านั้น เนื่องจากการที่รัฐบาลจะปราบปรามได้จริงต้องมีเงื่อนไขการผูกขาดเชิงอำนาจค่อนข้างสูง และดำเนินการปราบปรามอย่างต่อเนื่อง จึงจะสามารถทำลายเครือข่ายการพนันเถื่อนได้ แต่ในความเป็นจริง เจ้าหน้าที่ตำรวจและนักการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องในการพนันเถื่อนค่อนข้างมาก ทำให้การปราบปรามบ่อนเถื่อนไม่เด็ดขาดเท่าที่ควร

ในขณะที่ต้นทุนในการจับกุมคดีการพนันค่อนข้างสูง เพราะจะต้องมีเจ้าหน้าที่เฝ้าจับตาดูพฤติกรรมของผู้เล่น และบ่อนต่างๆ มีระบบป้องกันการจับกุมค่อนข้างรัดกุม รวมทั้งการห้ามคนไม่ให้เล่นพนันทำได้ยาก เพราะเป็นความต้องการของผู้เล่นและเป็นวิถีชีวิตของคนไทยมาเป็นเวลายาวนาน

การเปิดบ่อนการพนันถูกกฎหมายภายในประเทศจะช่วยลดปัญหาเงินไหลออกนอกประเทศ?

จำนวนประชากรที่เกี่ยวข้องกับบ่อนการพนันที่สังศิต และคณะ (2543) ประมาณการว่ามีอยู่ในระดับหลายหมื่นคนในระหว่างปี พ.ศ.2536-2538 ในปี พ.ศ.2544 สังศิตและคณะสำรวจพบว่าจำนวนผู้เล่นในบ่อนการพนันในประเทศมี 4.19 ล้าน และจำนวนนักการพนันที่ไปเล่นที่บ่อนชายแดนมีไม่น้อยกว่า 2.98 ล้านคนต่อปี ดังนั้นจำนวนประชากรที่เกี่ยวข้องกับบ่อนการพนันในปี พ.ศ.2544 อยู่ระหว่าง 4.19-7.17 ล้านคน

นอกจากนี้ในการศึกษาปี พ.ศ.2544 ผู้วิจัยได้ประมาณการเงินที่ลูกค้าคนไทยนำไปเล่นที่บ่อนการพนันที่คาสิโนชายแดน 34 แห่ง และคาสิโนต่างประเทศ เช่น ที่ออสเตรเลีย ลาสเวกัส มาเก๊า นิวซีแลนด์ และอังกฤษ ว่าอยู่ในราว 71,000-84,000 ล้านบาทต่อปี และนักวิจัยประมาณการว่าลูกค้าคนไทยขาดทุนในราวร้อยละ 20 หรือราว 14,000-17,000 ล้านบาทต่อปี ข้อมูลเหล่านี้ทำให้เหตุผลของผู้สนับสนุนให้เปิดบ่อนการพนันถูกกฎหมายมีน้ำหนักมากขึ้น หากรัฐสามารถดึงเงินหมุนเวียนเหล่านี้กลับมาอยู่ในระบบได้ ก็จะหมายถึงเงินรายได้ที่เพิ่มขึ้นของคนในสังคมไทยด้วย

อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาของคณะทำงานศึกษาแนวทางจัดการพนันในสังคมไทย สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปี 2546 พบว่า ถ้าประเทศไทยจะหารายได้จากคาสิโนอาจเป็นเรื่องไม่ถูกต้องนัก เพราะถือเป็นการเบียดเบียนประชาชน เนื่องจากรายได้ส่วนใหญ่ของบ่อนการพนันมาจากเงินของคนจน หรือคนที่มีรายได้ สภาพของการบังคับใช้กฎหมายก็ไม่เข้มแข็ง ทำให้ไม่มีหลักประกันว่า เปิดบ่อนการพนันถูกกฎหมายแล้วจะสามารถควบคุมให้เป็นไปตามกฎหมายได้อย่างแท้จริง

เช่นเดียวกับที่การพนันถูกกฎหมายแก้ปัญหาเงินทุนไหลออกไม่ได้อย่างสมบูรณ์ และปัญหาเงินทุนไหลออกอันเนื่องจากการพนันอาจจะไม่เป็นปัญหาใหญ่ดังที่คิด เพราะเงินรายได้ของบ่อนการพนันตามชายแดนจะไหลกลับเข้ามาในประเทศอยู่ดี เนื่องจากเจ้าของบ่อนชายแดนส่วนใหญ่เป็นคนไทย

 

 

กรณีศึกษา หวยใต้ดิน' สู่ หวยบนดิน'

ในระหว่างที่สังคมไทยถกเถียงเรื่อง เอา-ไม่เอา บ่อนถูกกฎหมาย' กันอย่างเคร่งเครียด โฆษกประจำสำนักนายกฯ ก็ออกมาให้ข่าวว่า การพูดออกอากาศของนายกฯ สมัคร ไม่มีอะไรเกี่ยวโยงกับนโยบายของรัฐ และดูเหมือนว่าประเด็นบ่อนถูกกฎหมายกำลังจะตกไปจากจอรับรู้ของสังคมไทย

ขณะเดียวกันนั้นเอง การรื้อฟื้นโครงการหวยออนไลน์และการออกสลากเลขท้าย 2 ตัว 3 ตัว ก็ได้รับสัญญาณไฟเขียวผ่านฉลุยอีกครั้ง หลังจากที่ โครงการหวยบนดิน' ในยุค พ.ต.ท.ทักษิณ ถูกรัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์ สั่งระงับการจำหน่ายหวยบนดินตั้งแต่งวดประจำวันที่ 1 ธ.ค.2549 เป็นต้นมา

ในปี พ.ศ.2547 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ศึกษาเรื่อง "ยุทธศาสตร์การบริหารเศรษฐกิจนอกระบบ" โดยระบุว่า รัฐบาลมียุทธศาสตร์ที่จะจัดการเศรษฐกิจนอกระบบ โดยเฉพาะเรื่อง หวยใต้ดิน'

รัฐบาลได้นำหวยใต้ดินเข้าสู่เศรษฐกิจในระบบด้วยการทำให้เป็นการพนันที่ ถูกกฎหมาย' และใช้วิธีออกสลาก 3 ตัว 2 ตัว ก่อนจะเรียกสลากประเภทนี้ว่า หวยบนดิน' แต่จากการศึกษาความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการออกสลากแบบนี้ พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการออกสลาก เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่คิดว่าการออกสลากยิ่งเป็นการส่งเสริมให้คนในประเทศเล่นการพนันกันมากขึ้น และเป็นเรื่องที่ผิดศีลธรรม

ในขณะที่ประชาชนบางส่วนคิดว่ารัฐบาลอาจมีส่วนในการล็อคเลขรางวัลที่ออก แต่ก็มีประชาชนอีกจำนวนหนึ่งที่เห็นด้วยกับการออกสลาก โดยให้เหตุผลว่า การเล่นหวยบนดินจะช่วยส่งเสริมรายได้ให้กับรัฐ เพื่อนำเงินที่ได้ไปพัฒนาประเทศ การปราบปรามอิทธิพลของเจ้ามือหวย และปกป้องผู้เล่นไม่ให้ถูกเจ้ามือโกง โดยรัฐบาลเริ่มออกสลากเลขท้าย 3 ตัว 2 ตัว ในงวดแรกเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2546

จากรายงานเรื่อง หวยบนดิน' ของ หนึ่งฤทัย ชัยวงศ์ นักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (2550) พบว่า รัฐบาลได้รับรายได้จาการซื้อสลากของประชาชนในส่วนนี้เป็นจำนวนมาก และได้กำไรจากการออกสลากเป็นจำนวน 5,400,000,000 บาท

อย่างไรก็ตาม จากการอ้างอิงของหนึ่งฤทัย ระบุว่า เครือข่ายองค์กรด้านเด็ก เยาวชน ครอบครัว สังคม ศาสนา ได้ศึกษาวิจัยถึงผลกระทบของหวยบนดินที่มีต่อเด็กและเยาวชน และพบข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับสถานการณ์เด็กและเยาวชนในปี 2549 คือ

"วัยรุ่นในระดับมัธยมและอุดมศึกษามีการเล่นหวยบนดินสูงถึงร้อยละ 20 คิดเป็นเยาวชน 1.5 ล้านคน โดยมีการเล่นหวยบนดินเฉลี่ยเดือนละ 200 บาท คิดเป็นเม็ดเงินถึง 3,600 ล้านบาทต่อปี เมื่อแบ่งระดับการศึกษาพบว่าเด็กประถมเล่นหวย 6% มัธยมศึกษาตอนต้น 12% มัธยมศึกษาตอนปลาย 17% อาชีวศึกษา 25% และระดับอุดมศึกษา 27% ทั้งที่ก่อนหน้าที่จะมีหวยบนดินมีเยาวชนเล่นหวยประมาณร้อยละ 5 เมื่อมีหวยบนดิน เป็นการกระตุ้นให้เด็กติดการพนันเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าหรือเป็นจำนวนเพิ่มขึ้น 1 ล้านคน การที่มีเด็กติดการพนันเพิ่มเพราะราคาหวยบนดินนั้นถูกมาก ใช้เงินเพียง 20 บาทก็สามารถซื้อได้ และยังมีรางวัลล่อใจที่สูงเย้ายวนใจเกินกว่าที่เยาวชนจะหักห้ามใจได้"

น่าสังเกตว่าการนำหวยบนดินกลับมาครั้งนี้ ไม่มีเสียงต่อต้านจากประชาชนเลย สาเหตุหนึ่งน่าจะมาจากกระแสหนุนและต้านบ่อนถูกกฎหมายนั้นแรงกว่ามาก จนทำให้ความสนใจของประชาชนที่มีต่อประเด็นหวยบนดินถูกกลืนหายไป จึงเป็นเรื่องช่วยไม่ได้ที่ใครหลายคนอาจคิดว่า นี่เป็นเพียงกลยุทธ์ สับขาหลอก' ในเกมการเมืองเรื่อง การพนัน' ซึ่งยังไม่มีใครบอกได้ว่า ผลการตัดสินในวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร

 

บรรณานุกรม

สังศิต พิริยะรังสรรค์ ผาสุก พงษ์ไพจิตร และ นวลน้อย ตรีรัตน์, เศรษฐกิจการพนัน: ทางเลือกเชิงนโยบายศูนย์ศึกษา, เศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2543

คณะทำงานศึกษาแนวทางจัดการพนันในสังคมไทย สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, ผลสรุปของการศึกษาแนวทางจัดการพนันในสังคมไทย, สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2546

ผาสุก พงษ์ไพจิตร สังศิต พิริยะรังสรรค์ และ นวลน้อย ตรีรัตน์, หวย ซ่อง บ่อน ยาบ้า เศรษฐกิจนอกกฎหมายกับนโยบายสาธารณะในประเทศไทย, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง, 2543

บล็อกของ หัวไม้ story

หัวไม้ story
กรณี “แดงจับแดง” ที่เกิดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ไม่ควรถูกมองว่าเป็นแค่เรื่องเข้าใจผิด หรือเรื่องน้ำผึ้งหยดเดียวและจบกัน แต่นี่คือเป็นปัญหาท่าที และหลักการของแกนนำซึ่งไปช้ากว่ามวลชนอย่างสม่ำเสมอ
หัวไม้ story
ขอย้อนรอยความทรงจำจากปากคำของชาวบ้านภูมิซรอลอีกครั้ง ในฐานะที่พวกเขาเป็นมนุษย์ผู้ต้องเผชิญกับชะตากรรมของสงครามที่แท้จริง และบาดเจ็บล้มตายจริง จากการเปิดฉากต่อสู้
หัวไม้ story
วิธีกลบข่าวแบบบ้านๆ ไทยๆ ไม่ต้องลงทุนมากก็กลบมันด้วยน้อง M79 ลูกกระสุนสนนราคาละไม่กี่ร้อย แต่ก็ได้พาดหัวข่าวหน้าหนึ่งกลบข่าวคนเป็นหมื่นเป็นแสนที่ออกมาไล่รัฐบาลในขณะนี้
หัวไม้ story
สื่อต่างประเทศให้ความสนใจกับข่าวการเมืองในไทยกันหนาแน่นตลอดสัปดาห์นี้ ยิ่งใกล้วันศุกร์ วันที่สื่อทั้งหลายเรียกมันว่า judgement day มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งลงข่าวและบทวิเคราะห์กันคึกคักมากขึ้นเท่านั้น ประเด็นของการรายงานของสื่อนอกเน้นหนักไปที่สองเรื่องใหญ่คือ แนวทางของคำพิพากษาที่จะออกมา กับผลสะเทือนทางการเมืองจากการตัดสินหนนี้ ทั้งต่อการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างสองขั้วคือเหลืองกับแดง และผลกระทบที่จะมีต่อเศรษฐกิจไทย (ที่มาของภาพ: มังกรดำ) ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่อาคารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2551 หรือเมื่อ 2 ปีที่แล้ว…
หัวไม้ story
เรื่อง : สิริลักษณ์ ศรีประสิทธิ์ ภาพจาก : http://urbansea09.multiply.com/photos/album/1/Por_Border_Towns  
หัวไม้ story
ทีมข่าวการเมือง พันธมิตรฯ เดินสองแนวทางทั้งการขยายพรรคการเมืองใหม่ และพื้นที่การเมืองภาคประชาชน โดยในภาพนายสมศักดิ์ โกศัยสุข รองหัวหน้าพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) หนึ่งในแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) และแกนนำ พธม.เชียงราย ร่วมพิธีตัดริบบิ้นเปิดสำนักงานพรรคเชียงราย ย่านบ้านดู่ ใกล้มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย เมื่อ 20 ธ.ค. 52 (ที่มา: “ก.ม.ม.” ปักธงเปิดสาขาเชียงรายสำเร็จ - หางแดงรวมตัวได้แค่ 3 ป่วนไม่ขึ้น, ASTVผู้จัดการออนไลน์, 21 ธ.ค. 2552)
หัวไม้ story
ทีมข่าวการเมือง การชุมนุมของคนเสื้อแดงที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อ 10 ธ.ค. 52 (ที่มา: CBNpress) การชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือคนเสื้อแดงที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อ 10 ธ.ค. ผ่านไปอย่างเรียบร้อย โดยไม่มีเหตุยกคนมาล้อมคนเสื้อแดง อย่างที่สุนันท์ ศรีจันทรา นักวิเคราะห์ตลาดหลักทรัพย์ กล่าวเชิญชวนผ่านช่องเนชั่นฯ แต่อย่างใด
หัวไม้ story
  ทีมข่าวการเมือง   องค์กรเพื่อความโปร่งใสสากลหรือ TI ที่มีสำนักงานที่เบอร์ลินเผยแพร่รายงานดัชนีชี้วัดคอรัปชั่น (CPI) ประจำปี 2552 นิวซีแลนด์-เดนมาร์ก-สิงคโปร์-สวีเดน โปร่งใสสุด ไทยได้อันดับ 84 ขณะที่ผลสำรวจย้อนหลังพบว่าไทยเคยได้คะแนนดีที่สุดในปี 2548 ขณะที่ในรอบ 5 ปีมานี้คะแนนต่ำสุดช่วงรัฐบาลรัฐประหารในปี 2550
หัวไม้ story
ภาวะตลาดหุ้นและค่าเงินบาทของไทยดิ่งตัวลงอย่างฮวบฮาบเมื่อสัปดาห์ที่ ผ่านมาด้วยข่าวลือที่สื่อไทยไม่รายงานโดยตรงเลยแม้แต่สำนักเดียวว่าเป็นข่าว ลือเรื่องใด และแม้ตลาดหุ้นจะมีอาการกระเตื้องขึ้นอีกครั้งในวันสุดท้ายของสัปดาห์ แต่ภาวะความไม่มั่นใจของนักลงทุนนี้ถูกวิเคราะห์จากสื่อทั้งสองแห่งว่าเป็น ผลโดยตรงจากความผันผวนและไร้หลักยึดของการเมืองไทยที่เป็นอาการป่วยสั่งสม แอนดรูว์ มาร์แชล จากรอยเตอร์ วิเคราะห์ผ่านบทวิเคราะห์เรื่อง ทำไมพระพลานามัยของพระมหากษัตริย์จึงส่งผลสะเทือนต่อตลาดหุ้น (อ้างอิงจาก http://www.reuters.com/article/latestCrisis/idUSSP406158 อัพเดทเวลา 6.39 น. วันศุกร์ที่ 16 ตุลาคม)…
หัวไม้ story
กรณีนี้ไม่ใช่กรณีเดียวที่เกิดขึ้น สำหรับเรื่องที่เรียกกันว่า ‘หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ’ หากแต่เป็นกรณีแรกๆ ที่ตัดสินใจต่อสู้คดี โดยไม่รับสารภาพ และเดินหน้าสู่การอภัยโทษดังที่เคยเป็น ต่อไปนี้เป็นลำดับเวลาตลอดระยะปีกว่า เนื้อหาการต่อสู้คดีบางส่วน รวมถึงวิธีคิดของเธอจากการสนทนาสั้นๆ แบบเก็บเล็กผสมน้อย
หัวไม้ story
ทีมข่าวการเมือง     คลิปสนธิ ลิ้มทองกุลอ่านฎีกา เมื่อ 4 ก.พ. 2549 ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า (ตอนที่ 1) (ที่มา: บันทึกจาก ASTV)   คลิปสนธิ ลิ้มทองกุลอ่านฎีกา เมื่อ 4 ก.พ. 2549 ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า (ตอนที่ 2) (ที่มา: บันทึกจาก ASTV)   คลิปสนธิ ลิ้มทองกุลอ่านฎีกา เมื่อ 4 ก.พ. 2549 ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า (ตอนที่ 3) (ที่มา: บันทึกจาก ASTV)   คลิปสนธิ ลิ้มทองกุลอ่านฎีกา เมื่อ 4 ก.พ. 2549 ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า (ตอนที่ 4) (ที่มา: บันทึกจาก ASTV)