1 เดือนสมัคร รัฐบาลพลังประชาชน ยังมองเห็นประชาชนอยู่หรือเปล่า

หัวไม้ story หนึ่งเดือนสมัคร

หัวไม้ story - คือ ภาคต่อของรายการทีวีอินเทอร์เน็ต ‘สมาคมหัวไม้' ที่เป็นคล้ายๆ บทบรรณาธิการของกอง บก.ประชาไท เกิดจากการพูดคุย ถกเถียง วิวาทะ เกี่ยวกับเรื่องราวที่น่าสนใจของความเป็นไปในสังคมรอบตัว และอยากจะเน้นย้ำให้ผู้อ่านประชาไทได้รับรู้ไปพร้อมกัน ทุกๆ สัปดาห์ จากนั้นจะมีการรายงานความคืบหน้าในประเด็น ‘หัวไม้' อีกครั้งหนึ่ง ผ่านพื้นที่ของ ‘หัวไม้ story' ในส่วนของบล็อกกาซีน-ประชาไท (ปลายสัปดาห์)

 

(ข้ามไปที่สารบัญ)

1 เดือนสมัคร รัฐบาลพลังประชาชน ยังมองเห็นประชาชนอยู่หรือเปล่า

เร็วไปไหมที่จะทบทวนผลงานของรัฐบาลสมัครในรอบ 1 เดือนที่ผ่าน เป็นคำถามของกอง บ.ก.ประชาไทเมื่อคิดจะคุยกันเรื่องนี้ แต่บางเสียงจากกอง บ.ก. อีกเช่นกันบอกว่า ไม่!!!!

ในทางหนึ่ง น่าเห็นใจว่ารัฐบาลนี้ไม่มีช่วงเวลา ‘ฮันนีมูน’ เหมือนรัฐบาลใดๆ ที่ผ่านมาในอดีต นั่นอาจเพราะ ‘ภาพลักษณ์’ และ ‘สายสัมพันธ์’ ที่ตัดกันไม่ขาดระหว่างพรรคพลังประชาชน กับพรรคไทยรักไทยเดิม กระทั่งว่าหัวหน้าพรรคอย่าง สมัคร สุนทรเวช เองก็กล่าวอย่างเปิดเผยในวันประกาศตัวเป็นผู้นำพรรคว่า ‘พลังประชาชน’ เป็น นอมินีของทักษิณ ชินวัตร

และนั่นจึงเป็นความชัดแจ้งที่ไม่ต้องให้ฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองรั้งรอต่อการวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ อีก ความเฉพาะตัวของรัฐบาล ‘สมัคร 1’ จึงอยู่ที่ความต่อเนื่องของแนวคิด แนวทางของรัฐบาลไทยรักไทย ที่แน่นอนว่า แนวทางบางอย่างของไทยรักไทยต้องมี ‘ปัญหา’ และเป็นปัญหาใหญ่มากเสียจนกระทั่งการเมืองไทยปั่นป่วนจนเข้าสู่ภาวะถดถอยไปถึง 2 ปีเต็ม

‘สมัคร 1’ ในทางภาพลักษณ์แล้ว จึงไม่ต่างอะไรกับ ปีศาจ ที่คอยหลอกหลอนพรรคฝ่ายค้านและกลุ่มที่ออกมาต่อต้านรัฐบาลไทยรักไทย และบัดนี้ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยประกาศออกมาแล้วว่าพร้อมจะเคลื่อนพลในวันที่ 28 มีนาคมที่จะถึง เพื่อเขย่ารัฐบาลอันสุดจะหลอนประสาทนี้ แม้การดำเนินงานของรัฐบาลดังกล่าวจะดำเนินมาได้เพียงเดือนเศษๆ ก็ตาม

แต่มากกว่าความเป็นปีศาจที่รบกวนสัญชาตญาณของผู้รักความเป็นธรรม สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปเป็นร่างของแนวทางปฏิบัติของสมัคร 1 เอง ก็ยากจะช่วยกอบกู้ความเชื่อมั่น หรือเบี่ยงเบนความรู้สึกของผู้คนให้เป็นบวกขึ้นมาได้

เมื่อพิจารณากันบนฐานที่ว่า รัฐบาลต้องรับผิดชอบต่อนโยบายที่ตนประกาศ แนวทางของรัฐบาลที่นำโดยพรรคพลังประชาชนซึ่งมีฐานเสียงเป็นคนจน คนต่างจังหวัด ขณะนี้กลับถูกตั้งคำถามเสียแล้วว่า รัฐบาลนี้จะเห็นหัวของฐานเสียงของท่านหรือไม่

เริ่มกันตั้งแต่แนวทางของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขที่ออกสตาร์ทแบบติดลบ ด้วยการประกาศทบทวนเรื่องการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา ทำเอากลุ่มผู้ป่วยต้องออกมาทำงานกันเป็นกลุ่มแรก

แนวคิดเรื่องการจัดการทรัพยากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบท่อส่งน้ำ และเขื่อน ที่เคยได้รับการต่อต้านและมีรูปธรรมความล้มเหลวให้เห็นอยู่ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะเมื่อท่านนายกฯ ออกมาพูดเองเรื่องเขื่อน แก่งเสือเต้น ท่านก็คงต้องเต้นกันไปได้อีกยาวเพราะทั้งชาวบ้านและองค์กรพัฒนาเอกชนเขาจับตาดูอย่างใกล้ชิด และพลังของประชาชนจากรากหญ้านั้นมีอานุภาพเพียงใด พรรคพลังประชาชน น่าจะรู้ดีอยู่แก่ใจ

เหลียวมามองเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นจุดด้อยของรัฐบาลเกือบทุกรัฐบาล แต่ที่สาหัสที่สุดก็ไม่พ้นรัฐบาลไทยรักไทยต่อกรณีปัญหาภาคใต้และแนวทางการแก้ปัญหายาเสพติด ความต่อเนื่องของภาพลักษณ์เรื่องสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลที่นำโดยพรรคพลังประชาชน ยังถูกบวกเข้าไปอีกแรงด้วยภาพลักษณ์ของผู้นำรัฐบาลเอง ต่อกรณีเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ....อันว่าเรื่องภาพลักษณ์และประวัติศาสตร์ที่ต้องชำระนี้อาจจะฟังดูเป็นเรื่องว่ากันอีกยาว เพราะลงท้ายแล้วมันไม่ได้เกี่ยวกับคุณสมัครคนเดียว แต่ต้องว่ากันด้วยปัจจัยอีกหลายประการที่เข้ามามีอิทธิพลทางการเมืองไทยด้วย และแม้กระทั่งมีอิทธิพลต่อความปั่นป่วนทางการเมืองและรัฐประหารของไทยครั้งล่าสุด

อย่างไรก็ตาม ต่อกรณีสิทธิบัตรยา และคำพูดของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขที่เย้าหยอกให้คนไข้เตรียมหาดอกไม้จันทน์ นั่นเป็นสัญญาณที่ดีเช่นกันที่ประชาชนต้องพึงระวังว่ารัฐบาลคุณสมัคร บางทีเห็นประชาชนแต่อาจจะไม่เห็น คน หรือ มนุษย์ ก็เป็นได้

นี่เป็นคำถามที่โยงต่อไปถึงเรื่องการแก้ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลไทยรักไทยล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง พร้อมๆ กับตัวเลขผู้เสียชีวิตเหยียบ 3,000 คนภายในระยะเวลา 4 ปี จึงต้องจับตาดูว่าแนวทางที่พรรคนอมินีอย่างพลังประชาชนซึ่งทำหน้าที่กุมบังเหียนรัฐบาลอยู่ขณะนี้จะทำงานได้ ‘ต่าง’ ไปแค่ไหน แม้ว่าที่จุดเริ่มต้นดูจะมีสัญญาณที่ดี โดยที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอย่าง เฉลิม อยู่บำรุง ออกมาเปิดโอกาสให้พรรคฝ่ายค้านได้ร่วมแก้ไขปัญหา พร้อมๆ ไปกับการเสนอเรื่องโครงสร้าง ศอ.บต. รูปแบบใหม่ และแนวคิดเรื่องการทำให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตปกครองพิเศษ เหมือนเป็นการโยนหินถามทาง....แต่ก็ยังต้องตามต่อไป และต้อง ‘จับตา’ อย่างใกล้ชิดจริงๆ ว่า นี่จะไม่เป็นเพียง การบริหารความเสี่ยงบนเก้าอี้รัฐมนตรีของเซียนการเมืองผู้เก๋าเกมนาม เฉลิม อยู่บำรุง เท่านั้น แต่มันจะดำเนินต่อไปอย่างมีแนวโน้มที่ดีขึ้น

ท่าทีต่อประเด็นสิทธิมนุษยชนของไทยนั้น แม้ว่าจะไม่เพียงรัฐบาลทักษิณหรือสมัครที่ดู ‘ไม่ผ่าน’ เพราะหากมองในระดับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแล้ว นี่เป็นความต่อเนื่องของรัฐบาลไทยที่เดินตามพี่ใหญ่ของโลกเสรีอย่างอเมริกามาโดยตลอด และล่าสุด ประเด็นเรื่องคุกลับและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอันเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของทางการสหรัฐถูกระบุว่าเกิดขึ้นในประเทศไทย นี่ก็เป็นจุดอ่อนที่ง่ายต่อการถูกสะกิดสะเกาจากประชาคมโลกเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม แม้ภาพลักษณ์จะติดลบในหลายๆ กระทรวง แต่ก็ดูเหมือนว่า จุดแข็งของรัฐบาลสมัครจะอยู่ที่ทีมที่เศรษฐกิจที่ดูดีและร่วมไม้ร่วมมือกันเป็นทีมในฝัน แต่.....คำอธิบายต่างๆ จากทีมเศรษฐกิจจะเป็นเพียงการกล่อมเด็กขวัญเสียให้รู้สึกอุ่นใจขึ้นหรือไม่ 1 เดือน อาจจะน้อยไปจริงๆ ที่จะตัดสินแต่สิ่งที่น่าจะต้องสนใจกันสักหน่อยก็อยู่ที่ว่า เศรษฐกิจ นั้นเป็นจุดแข็งของพรรคไทยรักไทย และอาจรวมมาถึงรัฐบาลพลังประชาชนนี้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นโยบายประชานิยม ที่อาจต้องตอบกันให้ได้จริงๆ ว่า ถ้ารัฐบาลทำให้ประชา – นิยม แล้วมันผิดตรงไหน

สกู๊ป ‘หัวไม้’ ของประชาไท รวบรวมท่าทีและนโยบายในด้านต่างๆ ประกอบการตัดสินในฐานะเป็นเจ้าของประเทศว่าจะบริหารกำลังทางการเมืองของท่านกันอย่างไรต่อไปเมื่อรัฐบาลสมัคร 1 เข้าสู่เดือนที่ 2....เตรียมตัวกันไว้เนิ่นๆ นั่นแหละดี เพราะอย่างน้อย การเอ็กเซอร์ไซส์ทางการเมืองรอบแรกก็คงไม่พ้น 28 มีนาคม นี้แล้ว

 

1 เดือนสมัคร รัฐบาลพลังประชาชน ยังมองเห็นประชาชนอยู่หรือเปล่า
หวั่นสายสัมพันธ์ไทย-อเมริกาแน่นปึ้ก ชนวนรื้อคุกลับ-เป็นเป้าก่อการร้าย-สะเทือน ‘สิทธิมนุษยชน’
1 เดือนสมัครกับภาคใต้ : เห็นข่าว แต่ไม่เห็นความเปลี่ยนแปลง
ซีแอล : เรื่องร้อน-เร้าใจ ของไทย (และโลก)
1 เดือนรัฐบาลสมัคร จับตานโยบายที่เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ
พลังงาน : ความท้าทายนานาประการ...ไฟฟ้า น้ำมัน ก๊าซ นิวเคลียร์
1 เดือนสมัครกับนโยบายเศรษฐกิจ : ทำ ‘ประชานิยม’ ให้ประชาชนนิยม

 

 

หวั่นสายสัมพันธ์ไทย-อเมริกาแน่นปึ้ก ชนวนรื้อคุกลับ-เป็นเป้าก่อการร้าย-สะเทือน ‘สิทธิมนุษยชน’

ตติกานต์ เดชชพงศ

สัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยและสหรัฐอเมริกา ได้รับการยืนยัน (อย่างเป็นทางการ) แล้วว่า ‘แน่นแฟ้นเหมือนเดิม’ เมื่อเอกอัครราชทูตคริสโตเฟอร์ ฮิลล์ เดินทางมากรุงเทพและกล่าวแก่สื่อมวลชน เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2551 ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยใจความสำคัญที่ทูตฮิลล์บอกกล่าวก็คือว่า ความสัมพันธ์ด้านต่างๆ ระหว่างไทยและอเมริกากลับคืนมาดีดังเดิมเป็นที่เรียบร้อย หลังจากความช่วยเหลือบางด้านจากอเมริกาหยุดชะงักไป นับแต่เกิดการรัฐประหารในเดือนกันยายน 2549

การสานต่อนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศเป็นประเด็นที่สหรัฐอเมริกาให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ และประเด็นอื่นที่ตามมา ได้แก่ ความร่วมมือทางการทหาร และความช่วยเหลือด้านการศึกษา

ความร่วมมือด้านต่างๆ เป็นเรื่องที่ไม่น่าจะมีข้อขัดแย้งมากนัก แต่เมื่อเอ่ยถึง ‘ความร่วมมือทางการทหาร’ อาจทำให้หลายฝ่ายต้องเฝ้าระวังและจับตามองเป็นพิเศษ เพราะความสัมพันธ์ทางการทหารระหว่างไทย-สหรัฐฯอาจกลายเป็น ‘ดาบสองคม’ ที่จะทำให้ประเทศไทยตกเป็นเป้าโจมตีจากกลุ่มก่อการร้ายไปด้วย และสิ่งที่ต้องคำนึงถึงอย่างจริงจังกว่าก็คือการป้องกันมิให้ประเทศใดๆ เข้ามาใช้ประโยชน์จากพื้นที่ของประเทศไทยในการ ‘ละเมิดสิทธิมนุษยชน’ ด้วย

20080315 waterboarding
ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช กล่าวถึง Waterboarding ว่าเป็น ‘วิธีการสืบสวนนักโทษ’ รูปแบบหนึ่ง
ไม่ใช่ ‘การทรมานนักโทษ’ เหมือนอย่างนักสิทธิมนุษยชนและสื่อมวลชนอเมริกันพยายามนำเสนอ

(อ้างอิงจาก The Herald Tribune )

ในขณะที่ข่าวคราว ‘การทรมานนักโทษ’ หรือ ‘การซ้อมผู้ต้องสงสัย’ กลายเป็นประเด็นร้อนแรงเพียงชั่วครู่ชั่วยามในประเทศไทย เช่น กรณีมีผู้ร้องเรียนว่าถูกแก๊งค์ ตชด.จับกุมและสร้างหลักฐานเท็จ และการซ้อมผู้ต้องสงสัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ซึ่งประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ดูเหมือนจะมีเพียงกลุ่มนักสิทธิมนุษยชนเท่านั้นที่ให้ความสนใจและติดตามความเคลื่อนไหวตลอดเวลา

แต่ในสหรัฐอเมริกา การทรมานนักโทษหรือผู้ต้องสงสัย เป็นประเด็นสำคัญที่หลายฝ่ายกำลังทวงถามความกระจ่างจากรัฐบาลของตัวเอง

นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2550 เป็นต้นมา สื่อมวลชนสหรัฐอเมริกาเสนอข่าว ‘เทปลับ’ ของเจ้าหน้าที่เอฟบีไอ อย่างต่อเนื่อง โดยอ้างถึงหลักฐานที่บ่งชี้ว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐได้เผาทำลายเทปบันทึกการสอบปากคำผู้ต้องสงสัยในเหตุการณ์ 911 หรือการก่อวินาศกรรมตึกเวิลด์เทรด เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544

เทปลับดังกล่าวแสดงถึงกระบวนการสืบสวนสอบสวนโดยเจ้าหน้าที่เอฟบีไอ ซึ่งใช้วิธี ‘วอเตอร์บอร์ด’ หรือการจับผู้ต้องสงสัยตรึงกับแผ่นกระดาน จากนั้นจึงเทน้ำรดใบหน้าของผู้ต้องสงสัย ซึ่งวิธีนี้จะทำให้ผู้ถูกกระทำรู้สึกเหมือนกำลังจะจมน้ำ หายใจไม่ออก เจ็บปวดกระบังลม ลิ้นปี่ และอาจเป็นอันตรายถึงสมอง เนื่องจากขาดอากาศหายใจ

เมื่อปี 2547 หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์รายงานในบทความ CIA Holds Terror Suspects in Secret Prisons โดยระบุว่า รัฐบาลของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ได้อนุมัติให้เจ้าหน้าที่เอฟบีไอส่งตัวผู้ต้องสงสัยในคดีก่อวินาศกรรม 911 ไปสอบสวนสืบสวนภายนอกสหรัฐอเมริกา และมีหลายประเทศซึ่งต้องสงสัยว่ายินยอมให้อเมริกาตั้งคุกลับ (Black Site) หรือส่งตัวผู้ต้องสงสัยไปสืบสวนสอบสวน ซึ่งหนึ่งในบรรดาประเทศเหล่านั้น มีชื่อของ ‘ประเทศไทย’ รวมอยู่ด้วย

ต่อกรณีดังกล่าว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งดำรงตำแหน่งในรัฐบาลขณะนั้น ได้ออกมาปฏิเสธข่าวว่า ‘ไม่เป็นความจริง’ และเรื่องคุกลับในประเทศไทยก็เงียบหายไป

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2551 กรณีคุกลับก็ถูกนำเสนออีกครั้งหนึ่ง พร้อมกับข่าวว่าเจ้าหน้าที่เอฟบีไอสหรัฐฯ ทำลายเทปลับซึ่งบันทึกภาพการทรมานผู้ต้องสงสัยกรณีก่อวินาศกรรมฯ และเทปดังกล่าวถูกอ้างถึงว่าเป็นการบันทึกเหตุการณ์สืบสวนสอบสวนที่เกิดขึ้น ณ คุกลับแห่งหนึ่งในประเทศไทย

ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ได้ออกมายอมรับว่า ‘คุกลับ’ หรือ ‘สถานที่คุมขัง’ นอกสหรัฐอเมริกา ‘มีจริง’ และกล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ต้องสงสัยซึ่งถูกสอบสวนในคุกลับเหล่านั้นยอมรับสารภาพผิดแล้ว จึงถูกส่งตัวไปคุมขังที่เรือนจำกวนตานาโม ประเทศคิวบา เพื่อรอการตัดสินในชั้นศาลต่อไป

ถึงอย่างนั้นก็ตาม กรณีเทปลับและคุกลับ ยังเป็นเรื่องใหญ่ที่สังคมอเมริกันไถ่ถาม-ตรวจสอบ เพราะการใช้วิธี ‘วอเตอร์บอร์ด’ กับผู้ต้องสงสัย ถือเป็น ‘การทรมานร่างกาย’ อย่างหนึ่ง และเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง

เมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นผู้กระทำการละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนเสียเองจึงเป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้ และสื่อมวลชน ประชาชน นักศึกษา นักเคลื่อนไหว ทนายความ ทหารผ่านศึก รวมถึงเจ้าหน้าที่จากองค์กรระหว่างประเทศในสหรัฐอเมริกาจึงได้เรียกร้อง ให้มีการไต่สวนและเอาผิดเจ้าหน้าที่เอฟบีไอที่เกี่ยวพันกับการทรมานร่างกายผู้ต้องสงสัย ซึ่งคดีดังกล่าวยังไม่ยุติ สื่อมวลชนก็มีข่าวเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ทารุณนักโทษในเรือนจำนอกเขตอีกด้วย เช่น ที่เรือนจำกวนตานาโม โดยการทรมาน, ทารุณ หรือทำร้ายร่างกายนักโทษ มีอีกหลายวิธีที่ยังถูกใช้อยู่จริงๆ

20080315 torture is wrong
กลุ่มผู้ต่อต้านการทรมานร่างกายชูป้าย ‘Torture is wrong’ เพื่อประท้วงประธานาธิบดี จอร์จ บุช
หลังจากมีการใช้คำสั่งวีโต้ยกเลิกร่างกฎหมายซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นข้อบังคับไม่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ
กระทำการใดๆ อันเป็นการทรมานนักโทษหรือผู้ต้องสงสัย เมื่อวันที่ 8 มีนาคม ที่ผ่านมา

(ภาพจาก Huffington Post )

กระแสต่อต้านการทรมานนักโทษเป็นประเด็นใหญ่ที่ทำให้ประชาชนอเมริกันออกมาเคลื่อนไหวต่อต้าน แต่ในขณะเดียวกัน ผู้สนับสนุนพรรครีพับลิกันบางส่วนมองว่าการสอบสวนผู้ต้องสงสัยที่เกี่ยวพันกับการก่อการร้ายจำเป็นต้องใช้วิธีที่ค่อนข้างรุนแรง เช่น การวอเตอร์บอร์ด, การให้นักโทษอดนอน หรือการใช้กำลัง เพราะผู้ต้องสงสัยเหล่านี้มักมีแนวโน้มว่าจะเป็นผู้กระทำผิดจริง

ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการทรมานนักโทษ ให้เหตุผลว่า นอกจากจะเป็นกระทำที่ไร้มนุษยธรรมแล้ว การจับกุมตัวผู้ต้องสงสัยไปทรมาน อาจสุ่มเสี่ยงต่อการจับผิดตัว ดังกรณีของนายคาเลด เอล-มาสรี (Khaled El-masri) ชาวเยอรมันเชื้อสายอาหรับ ถูกเจ้าหน้าที่เอฟบีไอจับไปสอบสวนที่คุกลับในอัฟกานิสถานเป็นเวลานานหลายเดือน ก่อนจะถูกปล่อยตัวไปที่ประเทศอัลบาเนีย เนื่องจากไม่พบความเกี่ยวโยงใดๆ ว่าเป็นผู้กระทำผิดในเหตุการณ์วินาศกรรม 911

สาเหตุที่นายมาสรีถูกจับกุม เป็นเพราะเจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ เข้าใจผิดว่าเขาคือ ‘คาเลด อัล-มาสรี’ Khaled al Masri ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มก่อการร้ายอัลกออิดะห์

การถูกจับตัวไปสอบสวนในคุกลับเป็นเวลานาน ส่งผลต่อสภาพจิตใจของนายคาเลด ‘เอล’ มาสรี ทำให้เขาได้รับความเสียหายทั้งทางร่างกายและจิตใจ รวมทั้งเสื่อมเสียชื่อเสียงด้วย

ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การทรมานไม่ใช่วิธีที่จะทำให้ได้ ‘ความจริง’ จากปากของผู้ต้องสงสัย เพราะผู้ถูกทรมานอาจสร้างเรื่องอะไรขึ้นมาก็ได้เพื่อแลกเปลี่ยนกับการยุติความทรมาน ซึ่งข้อมูลที่ผิดพลาดจะยิ่งทำให้การทำงานของเจ้าหน้าที่ดำเนินไปอย่างยากลำบากมากขึ้น

แม้จะยังไม่มีการเกี่ยวโยงกรณีทรมานนักโทษเข้ากับความรับผิดชอบของรัฐบาลไทย แต่ประเด็นนี้ก็ไม่ใช่เรื่องที่ควรปล่อยผ่านไปได้ง่ายๆ และยิ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้ามเมื่อความสัมพันธ์ทางการทหารระหว่างไทยและอเมริกากลับสู่สภาพดูดดื่มเหมือนที่เคยเป็นมาแล้วในยุครัฐบาลก่อนๆ

ประชาไท สัมภาษณ์เพิ่มเติม รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์ความมั่นคง เกี่ยวกับภาพรวมของความสัมพันธ์ระหว่างไทยและอเมริกา เพื่อมองว่าแนวโน้มในวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร และไทยมีผลได้-ผลเสียอย่างไรในความสัมพันธ์ดังกล่าว

20080315 ปณิธาน วัฒนายากร

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและสหรัฐอเมริกามีความจำเป็นอย่างไรบ้าง
ประเทศไทยกับสหรัฐอเมริกาเป็นพันธมิตรกันมายาวนานถึง 175 ปี ทั้งทางการค้าและไมตรีและความร่วมมือ ด้านต่างๆ ความสัมพันธ์จึงซับซ้อน แต่ก็ถือว่ามั่นคง ความร่วมมือทางการค้าก็มีมาก แม้จะมีขัดแย้งกันบ้าง แต่โดยรวมก็เป็นความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด แล้วก็ค่อนข้างจะไปด้วยกันได้ดี

การฝึก การแลกเปลี่ยนข้อมูลต่างๆ ถือว่าแนบแน่น เป็นพันธมิตรทางการทหาร เป็นพันธมิตรนอกองค์การนาโต ทำให้เราและอเมริกามีจุดยืนที่ใกล้ชิดกันมาก ทั้งด้านการข่าวและการทหารหลายอย่าง อเมริกาจะไปรบที่อัฟกานิสถานก็มาลงที่อู่ตะเภา มีสัญญาเช่าใช้ แต่ตอนนี้รู้สึกว่าจะไ่ม่มีสัญญาเช่าใช้แล้ว น่าจะมีแต่สัญญาส่งกำลังซ่อมบำรุงร่วมกัน คือสามารถขออนุญาตใช้ฐานทัพเพื่อไปยังพื้นที่ต่างๆ อาจจะไปอิรัก มาแวะเติมน้ำมัน เข้ามาใช้ที่สำหรับซ่อมบำรุงเครื่องบิน หรือมาพัก เพราะฉะนั้นกิจกรรมร่วมกันมันมีเยอะ ก็เลยอาจเป็นที่ครหา เป็นที่ข้องใจสงสัย...

ถึงแม้ว่าตอนหลังจะคลายตัวไปเยอะ เพราะเราก็มองว่าไม่ดีนะ ที่ไปพึ่งพาเขาทุกอย่าง แต่มันก็ยังมีเรื่องของ ‘การศึกษา’ ที่ยังต้องการความช่วยเหลืออยู่ มีการนำข้อมูลไปใช้ ไปสู่การทำงานร่วมกันในการต่อต้านการก่อการร้ายบางรูปแบบ การจับกุมนายฮัมบาลีที่อยุธยาภายใน 2-3 ปีก่อน ก็เป็นความร่วมมือกันระหว่างไทยและอเมริกา

ที่สำคัญ พอมันมีเรื่องก่อการร้ายเริ่มต้นขึ้น สหรัฐอเมริกาก็ต้องการความร่วมมือพิเศษในการต่อต้านการก่อการร้าย เพราะพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ใหม่ อเมริกาก็เลยเดินนโยบายผลักดันให้ประเทศในเอเชีย เช่น ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เป็นฐานที่ตั้งของการร่วมมือกันในการป้องกันการก่อการร้ายในหลายๆ รูปแบบ ในมาเลเซียก็จัดตั้งศูนย์ต่อต้านการก่อการร้าย ศึกษาแลกเปลี่ยนข้อมูลของพวกเจไอให้กับพวกอเมริกัน

ในไทยเอง สหรัฐอเมริกาก็มีความพยายามที่จะใช้ไทยเป็นฐานในการส่งกำลังบำรุง ในการพักผ่อน เปลี่ยนผ่าน และมีการซ้อมรบร่วมกัน เช่น cobra gold ประจำปี ในกิจกรรมเหล่านี้ มีการตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะมีการนำเอาบุคคลต้องโทษ ต้องสงสัย ที่จับกุมได้จากภูมิภาคตะวันออกกลางมาพัก หรือมาเปลี่ยน มาทำการสอบสวนเบื้องต้น เพื่อที่จะส่งต่อไปยังที่กักกันที่คิวบา ก็เลยทำให้เกิดข่าว และข่าวนี้ก็อยู่ในรายงานของสหรัฐอเมริกาในบางหน่วยงาน เช่น CIA ว่าในไทย, อียิปต์, จอร์แดน หลายๆ ประเทศซึ่งก็คือพันธมิตรหลักๆ ของอเมริกา มีการเก็บตัวบุคคลต้องโทษ แต่ไม่ใช่เป็นคุกหรือที่คุมขังเหมือนอย่างในคิวบา คือเป็นสถานกักกัน สถานที่สอบสวนสืบสวน ซึ่งเรื่องเหล่านี้มันตรวจสอบไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องความลับทางการทหารที่ทำกันในระดับสูงๆ แล้วก็เป็นพื้นที่ทางการทหารที่ส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึง เพราะฉะนั้นตรงนี้ไม่สามารถยืนยันได้ รายงานซึ่งมาจากแหล่งต้นตอของทางสหรัฐอเมริกาก็ไม่มีใครยืนยันได้จริงจัง แต่ก็มีการรายงานออกมาตามสื่อ อย่างวอชิงตันโำพสต์ แต่ไม่สามารถระบุโลเกชั่นได้

การร่วมมือกับอเมริกาจะทำให้ไทยตกเป็นเป้าโจมตีของกองกำลังก่อการร้ายหรือไม่
ในอดีต กรณีที่เราส่งทหารไปเข้าร่วมที่อิรัก นั่นก็เป็นประเด็นอยู่แล้ว ทั้งที่จริงๆ เราไปเพื่อร่วมรักษาสันติภาพ คือเราไม่ได้ไปรบหรอก เราไปเพื่อซ่อมบำรุง และสร้างอะไรต่างๆ เพราะเีราส่งทหารช่างไป หรือแม้แต่การส่งทหารไปอัฟกานิสถานเอง ก็ไปเพื่อการซ่อมบำรุง แต่ตรงนี้ก็เป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดประเด็นในภาคใต้ ทำให้มีความเกลียดชังอเมริกามากขึ้น ใ้ห้เป็นปฏิปักษ์กับอเมริกาและพันธมิตรของอเมริกามากขึ้น

เพราะฉะนั้นคงต้องชี้แจง ถ้าคุณปล่อยให้เรื่องมันเงียบไปโดยไม่ทำอะไรเลยก็เป็นการยอมรับโดยปริยาย คุณต้องออกมาชี้แจง ถ้าไม่จริงก็ออกมาปฎิเสธ เหมือนอย่างเมื่อก่อนก็ออกมาปฏิเสธเป็นระยะๆ ซึ่งในความเป็นจริง เรื่องเหล่านี้ต้องออกมาชี้แจงให้เป็นระบบ กระทรวงการต่างประเทศไม่ได้มีหน้าที่โดยตรงในแง่ความมั่นคง เพราะฉะนั้นก็ควรจะให้ฝ่ายความมั่นคงออกมาชี้แจง ถ้าไม่ชี้แจง ปล่อยให้คลุมเครือ มันก็เป็นข้อครหา

การที่สหรัฐฯ ใช้พื้นที่นอกประเทศในการสืบสวนสอบสวนนักโทษ จะทำให้ประเทศอื่นๆ ที่ถูกใช้เป็นพื้นที่ปฏิบัติภารกิจได้รับผลกระทบหรือไม่
แน่นอน สหรัฐฯ เขาต้องการหลีกเลี่ยงความซับซ้อนของปัญหากฎหมายในบ้านเขา เพราะบ้านเขามีกฎหมายที่เข้มงวด ถ้าทำในบ้านตัวเอง เขาอาจจะโดนหลายกฎหมาย และหลายครั้งหลายหน ศาลสั่งปล่อยผู้ต้องหา และหลายครั้งศาลก็สั่งลงโทษเจ้าหน้าที่ข้อหา ‘ทำรุนแรงเกินกว่าเหตุ’ ในการจับกุมกักขังนักโทษเหล่านี้ เพราะฉะนั้นเขาเลยหลีกเลี่ยงไปดำเนินการในประเทศที่ไม่มีกฎหมายเหล่านี้ เขาก็อ้างว่าไม่ได้อยู่ในอำนาจคุ้มครองตามกฎหมายในประเทศ แต่มันก็ต้องขึ้นกับคุณธรรมจริยธรรมอีก ซึ่งมันก็ไม่มีกฎหมายไหนที่จะมาดูแลตรงนี้ได้

ถ้าพูดง่ายๆ ก็คือว่าคุณกำปั้นใหญ่พอไหมล่ะ กฎหมายระหว่างประเทศนี่มันถูกละเมิดได้อยู่แล้ว แต่จะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับศักยภาพของแต่ละประเทศ ประเทศไหนแข็งแรงก็สามารถเถียงได้ มันถึงต้องมีการเรียกร้องให้สหรัฐอเมริกาและก็มหาอำนาจทำตามกฎเกณฑ์มากขึ้น อันนั้นก็อาจจะช่วยได้ เพราะเขาเป็นมหาอำนาจ แต่องค์กรระหว่างประเทศไม่ใช่มหาอำนาจ ประเทศใหญ่ๆ ถึงไม่ต้องทำตาม เพราะฉะนั้น กม.ระหว่างประเทศก็ไม่ค่อยมีผลบังคับใช้เท่าไหร่ ยกเว้นในกรณีที่มีผลประโยชน์พ้องต้องกัน

กรณีที่มีข่าวว่าไทยเกี่ยวข้องกับคุกลับและการทรมานนักโทษที่เป็นสมาชิกอัลกออิดะห์ จะเป็นตัวเร่งความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้ของไทยหรือไม่
สิ่งที่จะเป็นตัวเร่งมันน่าจะเป็นการพูดของผู้นำ การจับกุมของเจ้าหน้าที่ จะมีการปฏิสััมพันธ์ มันทำให้เกิดการเร่งเร้า และฝ่ายขบวนการจะเกิดการ recruit หรือการแสวงหาสมาชิกใหม่ ที่เขาต้อง recruit เพราะมันมีการโดนจับ และคนของเขามีจำนวนไม่มาก พวกนี้มีการทำคลิปวิดีโอ ตัดต่อ ฆ่าตัดคออะไรต่างๆ เหตุการณ์กรือเซะ ตากใบ มีการตัดต่อเอาไว้ เพื่อทำให้เกิดความคิดแบบสุดโต่ง เลยทำให้เกิดพลวัฒน์เพิ่มขึ้น มีการจัดการโครงสร้าง อุดมการณ์ ซึ่งเราจะต้องลดความเชื่อมโยง หรืออีกวิธีหนึ่งคือต้องจับตัวผู้นำให้ได้ ก็จะทำลายองค์กร ทำลายแกนนำ แล้วก็สร้างองค์กรเครือข่ายของเราเอง ต้องพยายามไม่ให้ต่างประเทศเข้ามา ลดปัจจัยขั้นพื้นฐาน ทำสงครามกับความยากจน ควบคุมเครือข่ายเชื่อมโยงอินเทอร์เน็ตต่่างๆ ถ้าองค์กรเดียวทำไม่ได้ก็ต้องรวมตัวกัน แต่อย่าแยกกันทำ

ในหลักการระหว่างประเทศ การทรมานนักโทษ นอกจากจะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนแล้ว ยังเป็นการทำผิดต่อข้อตกลงสากลด้วยหรือไม่
มันมีสัญญาระหว่างประเทศอยู่หลายฉบับ ในแง่ของการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ถึงแม้ว่ารัฐจะมีข้อตกลง มีสัญญา มีข้อแลกเปลี่ยน มีกฎหมายที่ใกล้เคียงกัน แต่มันมีมาตรฐานขั้นต่ำ เรื่องข้อตกลงเจนีวา เรื่องผู้ร้ายเชลยศึก เรื่องอื่นๆ อีกหลายฉบับที่มีการพูดถึงสิทธิมนุษยชน แต่โดยรวมแล้วมันก็อยู่ในอำนาจของแต่ละรัฐ มันเป็นอธิปไตยของรัฐ กฎหมายระหว่างประเทศไม่ได้มีผลมากถ้ารัฐไม่ได้ยินยอมสละอธิปไตยให้กับองค์กรระหว่างประเทศ ซึ่งจริงๆ แล้วองค์กรระหว่างประเทศมันเป็นเพียงแค่ข้อตกลงหลวมๆ ถ้าตกลงกันแล้ว แต่ัยังไม่เป็นภาคี ก็ไม่มีผลบังคับใช้เลย เพราะมันต้องปรับกฎหมายในประเทศ

หลายๆ ประเทศส่วนใหญ่มีกฎหมายต่างกัน ที่จะประสบความสำเร็จได้ มันก็เป็นเพราะว่าเป็นภาคีกัน ตกลงแลกเปลี่ยนผู้ร้าย และฐานกฎหมายเหมือนกัน มีการตอบแทนวัตถุประสงค์ของกันและกัน วัตถุประสงค์ก็คือ ผมส่งให้คุณ คุณส่งให้ผมนะ ถ้าคราวหน้าคุณไม่ส่งให้ผม ผมก็ไม่ส่งให้คุณ ลักษณะอย่างนี้มันก็จะมีเกิดขึ้นอยู่ แต่มันเป็นเรื่องของการแลกเปลี่ยนผลตอบแทน ไม่ใช่เรื่องของการใช้กฎหมายระหว่างประเทศ เป็นเรื่องข้อตกลงของรัฐที่จะแลกเปลี่ยนอธิปไตย แลกเปลี่ยนข้อเสนอกัน ถ้าไม่มีข้อตกลงแบบนี้ ส่วนใหญ่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่ว่าการเรียกร้องให้เป็นไปตามกระบวนการประชาธิปไตย คำนึงถึงหลักจริยธรรม มนุษยธรรม เรื่องพวกนี้ก็เป็นสิ่งที่ควรจะผลักดันให้รัฐเหล่านี้อยู่ในกรอบ เพราะถ้าประกาศภาวะสงครามหรือภาวะฉุกเฉินก็ยิ่งไม่ต้องสนใจ ก็ถือว่าเขามีสิทธิ์ในการจัดการอธิปไตยในรัฐเขาเอง

 

หมายเหตุ:

(1) ประเทศอื่นๆ ที่ต้องสงสัยว่ามีคุกลับของสหรัฐอเมริกา ได้แก่ อัฟกานิสถาน, ลิเบีย, โมร็อกโก, อียิปต์, สาธารณรัฐเชก, เยอรมัน, ฮังการี, โปแลนด์, โรมาเนีย, จอร์เจีย, ลัตเวีย, บัลแกเรีย, อาเซอร์ไบจัน และ คาซัคสถาน

(2) รายงานข่าวการตั้งคุกลับในประเทศไทย มีพิกัดอยู่สถานีวิทยุกระจายเสียงสหรัฐอเมริกา (VOA-Voice of America) ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดอุดรธานี แต่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ปฏิเสธว่าไม่มีคุกลับของสหรัฐฯ ในประเทศไทย

 

(กลับสู่สารบัญด้านบน)

1 เดือนสมัครกับภาคใต้ : เห็นข่าว แต่ไม่เห็นความเปลี่ยนแปลง

ภาพันธ์ รักษ์ศรีทอง

ยากปฏิเสธว่าปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้เป็นเผือกร้อนสำหรับทุกรัฐบาลไปแล้ว เพราะนับตั้งแต่รัฐบาลทักษิณที่เริ่มเอาเผือกไปหมกไฟผ่านมือไปสู่รัฐบาลสุรยุทธ์ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร เผือกร้อนชิ้นนี้ยังคงร้อนระอุ

แม้ว่าข่าวความรุนแรงจะเงียบหายไปหรืออาจเป็นเพราะความชินชา แต่ความรุนแรงมันยังคงดำรงอยู่อย่างลุกลาม ปัจจุบันมีผู้เสียชีวิตจากสถานการณ์แล้วกว่า 2,900 ราย ซึ่ง ณ เวลาที่ท่านอ่านอยู่นี้ยอดอาจจะขยับขึ้นอีกก็เป็นได้

หลังมีรัฐบาลใหม่เมื่อเดือนที่ผ่านมา นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี อาจกล่าวได้ว่าสำหรับสถานการณ์ภาคใต้คงไม่ค่อยมีใครคาดหวังสักเท่าไหร่ ส่วนหนึ่งเนื่องจากมีภาพลักษณ์ที่เชื่อมโยงกับรัฐบาลทักษิณอย่างแนบแน่นจนไม่รู้ว่าใครนอมินีใคร ในขณะที่ท่าทีของรัฐบาลทักษิณและนโยบายการจัดการปัญหา 3 จังหวัดภาคใต้สมัยเรืองอำนาจดูจะยิ่งเป็นชนวนหรือเงื่อนไขความรุนแรงหรือทำให้เผือกร้องจนแดงมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งการอุ้มทนายสมชาย นีละไพจิตร หายสาบสูญไปโดยเจ้าหน้าที่ การฆ่ารายวันจากการทำสงครามยาเสพติดจนกลายเป็นข่าวลือแพร่สะพัดว่าเจ้าหน้าที่สั่งเก็บชาวบ้าน กรณีสังหารหมู่ที่มัสยิดกรือเซะและตากใบ

เหล่านี้หากตอนนั้นไม่ตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) มารับแรงปะทะแทน ภาพลักษณ์ของรัฐบาลในสายตาชาวโลกและชาวบ้านคงช้ำเลือดช้ำหนองไม่เบา ส่วนรัฐบาลสมัครที่มีภาพลักษณ์ในทางเดียวกันจึงอาจจะกลืนตะขาบรับลักษณะเด่น(หรือด้อย) บางประการมา

แต่แล้วกลับผิดคาดตั้งแต่ยังไม่ทันแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาเมื่อ นายเฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โยนหินถามทางอย่างแรงมาสู่สาธารณะ ด้วยแนวทางข้อเสนอที่ค่อนข้างแหลมคมที่สุดที่มีมาในบรรดาข้อเสนอเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาภาคใต้ นั่นคือ การเสนอแก้ปัญหาภาคใต้ด้วยการทำประชาพิจารณ์เรื่อง ‘เขตปกครองพิเศษ’ เพื่อให้ 3 จังหวัดเป็นพื้นที่ทางศาสนา

"การตั้งเขตปกครองพิเศษ ต้องมาช่วยกันดูว่าจะให้เป็นรูปแบบใด จีนหรือเยอรมนี ให้ช่วยกันคิดไม่ใช่มานั่งเฉยๆ แล้วปล่อยให้เกิดเหตุร้ายรายวันโดยไม่ทำอะไร ประเทศไทยปกครองในระบบรัฐเดียว แบ่งแยกไม่ได้ ก็ต้องหาวิธีเปลี่ยนแปลงปรับปรุงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า ไม่ใช่นั่งรอวันตาย ผมคงไม่เน้นการลงไปในพื้นที่ เพราะเราต้องรู้ว่ากองกำลังฝ่ายตรงข้ามพอมีผู้ใหญ่ลงพื้นที่ก็จะมีการโต้กลับค่อนข้างรุนแรง และการลงพื้นที่ของผม ก็ไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น ข้าราชการในพื้นที่ก็เหนื่อย ต้องมารับมาดูแลความปลอดภัย แล้วอยากถามว่าถ้ารัฐมนตรีลงไปแล้วขวัญกำลังใจดีขึ้นหรือเปล่า มันคนละเรื่อง" ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง กล่าวหลังการหารือกับทางศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้เมื่อวันที่ 11 ก.พ. 51

ฉับพลันทันทีทั้งดอกไม้และก้อนอิฐลอยไปหานายเฉลิมมากมาย และกลายเป็นประเด็นร้อนฉ่าไปทั้งสัปดาห์ แต่อะไรคงไม่เท่ากับการเหยียบเบรกดังเอี๊ยดโดยนายสมัครทันที

"ไปอ่านข้อมูลมาแล้วก็เสนอแนวคิด อย่างนี้อันตรายและไม่ควรออกความเห็น จะต้องไปคุยกันในวงเล็ก คือเห็นว่าดี แล้วออกความเห็นแต่ก็จะไปกันใหญ่ ต้องบอก ร.ต.อ.เฉลิมว่าผมเคยโดนมาแล้ว ไม่นาน ร.ต.อ.เฉลิมก็โดนอีก เรื่องนี้ไม่ควรไปแสดง เพราะแสดงแล้วมีปัญหา ผมก็เคยเจอตอนอิสลามเข้ามาเยี่ยมที่พรรคพลังประชาชนนิดเดียวก็เกิดเรื่องนี้มาครั้งหนึ่ง" หลังสั่งรูดซิปปากเรื่องเขตปกครองพิเศษแล้วยังยืนยันหนักแน่นว่าเขตปกครองพิเศษ “ไม่อยู่ในนโยบายของรัฐบาล”

แต่สำหรับนายสมัครเองก็มีแนวนโยบายของตัวเองและประกาศออกมาผ่านรายการสนทนาประสาสมัคร 24 ก.พ. 51 ในประเด็นเสนอให้ทหารมาร่วมทุนทางธุรกิจทำถนนและอุตสาหกรรมเพราะนักธุรกิจไม่กล้าลงพื้นที่

“ปัญหานักธุรกิจไม่กล้าไปลงทุนในชายแดนภาคใต้นั้น มีเอกชนประมูลการสร้างถนน 4 เลนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น ที่ จ.ยะลา ปรากฎว่าเอกชนที่ประมูลได้ ไม่กล้าที่จะลงไปทำ จึงพูดกับผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.)และเห็นตรงกันว่า เมื่อเอกชนไม่กล้าลงไปทำก็ส่งทหารช่างลงไปทำ ท่าน ผบ.ทบ.ก็เห็นด้วย รวมทั้ง จะสร้างอุตสาหกรรมทหารในจังวัดชายแดนภาคใต้ด้วย โดยให้ทหารลง 51เปอร์เซ็นต์และ เอกชนลง 49เปอร์เซ็นต์ ยืนยันว่า จ.ยะลาจะต้องมีถนน 4เลน”

ส่วนเสียงนายเฉลิมหลังถูกแตะเบรกเสียงเลยอ่อยลงโดยพลัน เลิกพูดถึงที่ว่าไปศึกษารูปแบบจีนหรือเยอรมัน พลิ้วไปว่าเจตนาแค่จะให้เป็น ‘เขตปกครองเฉพาะส่วน’ ที่ให้อำนาจพิเศษในส่วนราชการเท่านั้น อย่าฝันหวานไปคิดถึงเรื่องแบ่งแยกการปกครองหรือเลือกตั้งผู้นำกันเอง

ล่าสุดเมื่อ วันที่ 5 มี.ค. ที่ผ่านมาก็ออกมาตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงเรื่องการจัดตั้งเขตปกครองพิเศษใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ดุเงียบหายไปว่า โดยระบุว่าทำเสร็จเรียบร้อยแล้วแต่คนเข้าใจผิดว่าเป็นการแบ่งแยกแผ่นดิน จะไปเอาอย่างจีนไม่ได้ ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักร ผู้ใดจะแบ่งแยกมิได้

นอกจากนี้ยังสร้างมิติใหม่ของการแก้ปัญหาด้วยท่าทีสมานฉันท์ โดยระบุว่าปัญหาภาคใต้ต้องให้พรรคประชาธิปัตย์ช่วยแก้ปัญหาด้วย เพราะมี ส.ส. มาก รู้พื้นที่ รู้พฤติกรรมธรรมชาติของประชาชนในพื้นที่
นอกจากนี้ยังทำหนังสือเชิญพรรคประชาธิปัตย์มาหารืออย่างเป็นทางการ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า 1 เดือนรัฐบาลสมัครจะมีประเด็นฮือฮาและชวนถกเถียงมากมาย แต่ในด้านรูปธรรมการแก้ไขนอกจากทำถนนแล้วแนวทางอื่นๆยังไม่ปรากฏชัดเจน ส่วนประเด็น ‘เขตปกครองพิเศษ’ ก็กลายเป็นเรื่องที่ชวนเสียดายในท่าทีที่กล้าๆกลัวๆ เพราะประเด็นนี้แม้ไม่สามารถบอกได้ว่าเป็น ‘คำตอบ’ของการแก้ไขปัญหา แต่การกล้าพูดถึงแนวทางที่อาจดูสุดปลายในวันนี้ และศึกษาอย่างจริงจังในวันนี้และทำให้กลายเป็นประเด้นสาธารณะที่ทุกคนมีส่วนร่วมถกเถียงอาจจะทำให้มองเห็นแง่มุมทางออกอื่นๆก็เป็นไปไปได้ สุดท้ายความกล้าๆกลัวๆจึงทำให้ประเด้นหนักแน่นกลายเป็นเรื่องตลกและเป็นเพียงการบิดความหมายเพื่อเอาตัวรอดจากเสียงวิจารณ์เท่านั้น

ในขณะที่การส่งเทียบเชิญพรรคประชาธิปัตย์มาร่วมแก้ปัญหาแม้จะดูเหมือนเปิดกว้างต่อการแก้ปัญหาแต่ยังไม่ได้วางรูปแบบใดๆไว้รองรับ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะที่ปรึกษาหรือคณะกรรมการร่วมหรืออะไรก็ตาม ทำให้เหมือนจะเป็นการขอข้อมูลลอยๆ ที่สุดท้ายไม่แน่นอนว่าเมื่อได้ข้อมูลมาแล้วจะแปรไปสู่แนวนโยบายปฏิบัติระดับใด

ดังนั้น การพูดถึงปัญหาภาคใต้ในรอบ 1 เดือนรัฐบาลสมัครอาจยังเร็วเกินไปที่จะเห็นทิศทางและแนวนโยบาย แต่สำหรับในเรื่องความขยันในการสร้างประเด็นบนหน้าสื่อถือว่าพอฟัดพอเหวี่ยงกับต้นตำหรับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เลยทีเดียว

 

(กลับสู่สารบัญด้านบน)

ซีแอล : เรื่องร้อน-เร้าใจ ของไทย (และโลก)

มุทิตา เชื้อชั่ง

คงไม่มีกระทรวงไหน จะมีข่าวฮอตฮิตในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาเท่ากระทรวงสาธารณสุขแล้วกระมัง หลัง ‘ไชยา สะสมทรัพย์’ รัฐมนตรีว่าการสั่งทบทวนการประกาศบังคับใช้สิทธิ (ซีแอล) ในยามะเร็ง 4 ชนิด โดยอ้างถึงข้อท้วงติงจากหนังสือของกระทรวงพานิชย์ที่อดีตรัฐมนตรีเกริกไกร จิระแพทย์ ส่งทิ้งทวนไว้ให้รัฐบาลใหม่พิจารณา เพราะมีข้อร้องเรียนจากบริษัทยาข้ามชาติ

(CL -Compulsory License ถือเป็นมาตรการหนึ่งในข้อตกลงว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญา (ทริปส์) ขององค์การการค้าโลกเพื่อแก้ปัญหาผลกระทบด้านสาธารณสุขที่เกิดจากการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งมีระยะเวลายาวนานถึง 20 ปี ตามกฎเกณฑ์ของมาตรการใช้สิทธิ ประเทศที่ไม่มีศักยภาพในการผลิตยาจำเป็นบางชนิด สามารถประกาศมาตรการใช้สิทธิแล้วผลิตเองภายในหากประเทศนั้นมีศักยภาพเพียงพอ หรือนำเข้ายาชื่อสามัญที่ราคา ถูกกว่าในประเทศอื่นที่มีศักยภาพในการผลิตก็ได้ หากเกิดความจำเป็นเร่งด่วน, เกิดวิกฤตด้านสาธารณสุขขึ้นในประเทศ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะที่ไม่ใช่เชิงพาณิชย์)

การประกาศทบทวนแบบฟ้าผ่านี้สร้างแรงสะท้อนทั้งด้านที่ไม่เห็นด้วย และด้านที่เห็นว่าเป็นบทบาทที่รัฐบาลใหม่สามารถทำได้ แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้ว คือ บริษัทยาชื่อสามัญของอินเดียขอเลื่อนการส่งยารักษาโรคหัวใจที่ประกาศซีแอลไปแล้วก่อนนี้ออกไป 1 เดือน เนื่องจากชักไม่แน่ใจในนโยบายของไทยเรื่องนี้

หลังจากนั้นเครือข่ายผู้ป่วยเรื้อรัง เอ็นจีโอ ก็เดินสายไปให้ข้อมูลทักท้วง และเรื่องราวเริ่มบานปลายเมื่อมีการย้าย น.พ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงเขต 8, 9 ซึ่งนายแพทย์คนนี้มีบทบาทสำคัญยิ่งในการผลักดันซีแอลโดยข้ออ้างที่ไม่ค่อยสมเหตุสมผลนัก เช่น การไม่รายงานเรื่องร้องเรียนเรื่องเครื่องดื่นชูกำลังและเนื้อหมู

จนล่าสุด แม้นายไชยา จะได้ข้อสรุปจากการประชุมรวบรวมข้อมูลในระดับปลัดกระทรวงทั้ง 3 กระทรวง คือ พาณิชย์ การต่างประเทศ และสาธารณสุข เพื่อเดินหน้าซีแอลยามะเร็งต่อไปแล้วก็ตาม แต่ความขัดแย้งยังไม่จบลง และลุกลามจนมีการรวบรวมรายชื่อเพื่อถอดถอนนายไชยาออกจากตำแหน่งอย่างเป็นเรื่องเป็นราว โดยมีชมรมแพทย์ชนบทลุกมาเป็นหัวหอกสำคัญ โดยเฉพาะในประเด็นการโยกย้ายข้าราชการที่ไม่เป็นธรรม

เท้าความถึงจุดเริ่มต้น การประกาศซีแอล เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลจากการรัฐประหาร ‘พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์’ โดยน.พ.มงคล ณ สงขลา เป็นเจ้ากระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องฮือฮาพอควรทั้งในประเทศและในระดับโลก เพราะมาตรการนี้แม้จะถูกต้องตามข้อตกลงทริปส์ และกฎหมายภายใน แต่ไม่ใคร่มีประเทศกำลังพัฒนาประเทศไหนกล้าใช้ เพราะความยิ่งใหญ่ของบรรษัทยาทั้งในอเมริกาและยุโรป รวมทั้งสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับรัฐบาลยักษ์ใหญ่เป็นที่รู้กันดี ใครหาญกล้าใช้มาตรการนี้มักสุ่มเสี่ยงต่อการถูกตอบโต้ทางเศรษฐกิจ

ว่ากันว่า ตลาดเมืองไทยนั้นไม่ได้ใหญ่โตขนาดที่การทำซีแอลจะกระเทือนกำไรของบรรษัทยายักษ์ใหญ่ แต่การเริ่มต้นใช้ซีแอลอาจก่อปรากฏการณ์ ‘โดมิโน’ ในหมู่ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายให้หันมาใช้เครื่องมือนี้ในการทำให้ราคายาจำเป็นที่แพงลิบลดลงฮวบฮาบ เป็นระลอกคลื่น เพื่อประชาชนเข้าถึงยาได้มากขึ้น

และแน่นอน มันยังมีข้อถกเถียงประเภทที่เกี่ยวพันกับประเด็นประชาธิปไตยด้วย เพราะรัฐบาลที่มีความชอบธรรมมาจากการเลือกตั้งไม่เคยทำเรื่องนี้ ส่วนรัฐบาลที่ทำเรื่องนี้ก็เป็นรัฐบาลที่ไม่ชอบธรรม หรือความฉงนสงสัยซึ่งภายหลังได้รับการหยิบยกเป็นข้ออ้างของอุตสาหกรรมยาข้างชาติที่ รัฐบาลไทยทำซีแอลขณะที่เพิ่มงบทหารเป็นหมื่นล้าน !!

แต่ปัญหาประชาธิปไตยไม่ได้ใหญ่โตเป็นที่ถกเถียงมากเท่าผลกระทบด้านเศรษฐกิจ นั่นคือ ความหวั่นเกรงว่าไทยจะถูกสหรัฐตัดสิทธิพิเศษทางภาษี (จีเอสพี) ซึ่งมีสินค้ากว่า 3,400 รายการที่ใช้สิทธินี้อยู่ โดยสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (ยูเอสทีอาร์) จะมีการจัดสถานะประเทศที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาตามกฎหมายพิเศษ 301 (special 301) และไทยถูกเลื่อนชั้นจากลำดับควรจับตามอง (WL) เป็นประเทศที่ควรจับตามองเป็นพิเศษ (PWL) ในเรื่องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งอาจมีผลต่อการตัดจีเอสพี ทำให้ภาคธุรกิจออกมาแสดงความกังวลกับการประกาศซีแอล เพราะตลาดสหรัฐนั้นมีมูลค่าสูงถึง 19 พันล้านเหรียญหรือราว 13% ของการส่งออกทั้งหมด แม้ว่ายูเอสทีอาร์จะระบุชัดเจนว่าการพิจารณาเรื่องตัดจีเอสพีไทยนั้น เป็นประเด็นของการละเมิดลิขสิทธิ์ประเภทเทปผีซีดีเถื่อนเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์ออกมาไม่เป็นไปอย่างที่กังวลกันมากมาย ปีที่แล้วไทยถูกตัดจีเอสพีใน 3 รายการ คือ ทองคำ ทีวีสี และ Polyethylene ซึ่งเหตุผลที่โดนตัดเพราะสินค้าเหล่านี้มีความสามารถในการแข่งขันสูงแล้ว และสิทธิพิเศษทางภาษีนี้ไม่ว่าจะอย่างไรก็จะหมดอายุลงในวันที่ 1 ก.ค. 2552 ซึ่งขึ้นอยู่ที่สหรัฐว่าจะพิจารณาต่ออายุให้หรือไม่ จึงเป็นหลักหมายใหญ่ที่ไม่ว่าจะอย่างไรภาคอุตสาหกรรมไทยก็ต้องเร่งปรับตัวเพื่อการแข่งขัน

ด้านสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (พรีมา) ซึ่งเป็นตัวแทนของอุตสาหกรรมยายักษ์ใหญ่ในไทยก็แสดงความห่วงกังวลยิ่งว่าการประกาศซีแอลเป็นการที่รัฐบาลยึดเอาทรัพย์สินของบริษัท ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินทางปัญญาหรือทรัพย์สินอื่นๆ ไม่ว่าเพื่อเหตุผลใดๆ ก็ตาม มันจะส่งผลต่อการทำลายความมั่นใจของผู้ลงทุนไทยและต่างชาติในประเทศไทย ทั้งยังเชื่อว่าการใช้ซีแอล จะไม่เกิดประโยชน์และผลดีในระยะยาวต่อผู้ป่วย และไม่ใช่ทางออกที่ดีต่อระบบสุขภาพของประเทศไทย แต่จะทำให้เราหลงทางในการแก้ปัญหาระยะยาวด้วยวิธีของการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

ไม่ว่าจะอย่างไร ในเบื้องต้นก็ได้ข้อสรุปแล้วว่าจะไม่มีการยกเลิกซีแอลยารักษาโรคเรื้อรังที่ประกาศไปทั้ง 7 ตัว (ยาต้านไวรัสเอดส์ 2 ตัว ยารักษาโรคหัวใจ 1 ตัว ยารักษาโรคมะเร็ง 4 ตัว) โดยจุดหนึ่งที่ รมว.สาธารณสุขยอมเดินหน้าซีแอลโดยเฉพาะในยามะเร็งนั้น เห็นจะเป็นเพราะการคำนวณต้นทุนการจัดซื้อยาเพื่อให้บริการแก่ประชาชนโดยเอาประชาชนคนป่วยมะเร็งเป็นตัวตั้งแล้วพบว่า รัฐสามารถประหยัดเงินค่ายาได้ 3,000-4,000 ล้านบาทในช่วงเพียง 5 ปี (2551-2555)

ชื่อยา ราคายาที่ติดสิทธิบัตร ราคายาชื่อสามัญ
ยา Docetaxel (ชื่อทางการค้า Taxotere)
ใช้รักษาโรคมะเร็งปอด มะเร็งเต้านม
25,000 บาทต่อเข็ม 4,000 บาทต่อเข็ม
ยา Letrozole (ชื่อทางการค้า Femara)
ใช้รักษามะเร็งเต้านม กิน 1 เม็ดทุกวัน
230 บาทต่อเม็ด 6-7 บาทต่อเม็ด
ยา Erlotinib (ชื่อทางการค้า Tarceva)
ใช้รักษามะเร็งปอด กิน 1 เม็ดทุกวัน
2,750 บาท ต่อเม็ด 735 บาทต่อเม็ด
ยา Imatinib (ชื่อทางการค้าว่า Glivec)
ใช้รักษามะเร็งเม็ดเลือดขาด มะเร็งทางเดินอาหาร ใช้ยานี้อย่างน้อยวันละ 400 มก.
917 บาทต่อเม็ด
(ขนาด 100 มก.)
50-70 บาทต่อเม็ด
(ขนาด 100 มก.)

 

หมายเหตุ - กรณีของยา Imatinib บริษัท โนวาร์ตีส ได้เสนอให้ยาโดยไม่คิดมูลค่าแก่ผู้ป่วยภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าโดยกำหนดเพดานรายได้ครัวเรือนไว้ไม่เกิน 1.7 ล้านบาทและ 2.2 ล้านบาทต่อปี ภายใต้โครงการที่เรียกว่าโครงการ GIPAP (Glivec International Patient Assistance Program) ซึ่งเป็นการต่อรองที่มีผลน่าพอใจ กระทรวงสาธารณสุขจึงประกาศใช้ซีแอลต่อยาดังกล่าวภายใต้เงื่อนไขว่า จะดำเนินการใช้ซีแอลก็ต่อเมื่อมีการยกเลิกโครงการ GIPAP ดังกล่าว

ส่วนกรณีที่มีข่าวว่า สหภาพยุโรป (EU) กำลังวางแผนที่จะดำเนินคดีกับประเทศไทยในองค์การการค้าโลก (WTO) สืบเนื่องจากการที่ประเทศไทยใช้ซีแอล ซึ่งสิทธิบัตรยา 5 ใน 7 รายการที่ประเทศไทยซีแอลไปนั้น เป็นของบริษัทยาจากประเทศฝรั่งเศสคือบริษัทซาโนฟี่-อเวนตีส และบริษัทยาจากประเทศสวิสฯ คือบริษัทโนวาร์ติส เอจี และบริษัทโรช

เรื่องนี้ผู้แทนของสหภาพยุโรปออกมาปฏิเสธให้โล่งใจแล้วว่า ‘ไม่เป็นความจริง’ และเจ้าหน้าที่สหภาพยุโรปผู้หนึ่งกล่าวว่า สหภาพยุโรปไม่เคยขู่ว่าจะฟ้องหรือคิดวางแผนจะฟ้อง ทั้งยังทราบดีว่าการกระทำของประเทศไทยนั้นเป็นไปตามกฎข้อบังคับขององค์การการค้าโลก

แม้ว่าคำถามเรื่อง ‘ซีแอล’ เริ่มคลี่คลายลงเรื่อยๆ เช่นเรื่องความถูกต้องในด้านกฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายภายใน ความชอบธรรมในการประกาศ สิทธิในการเข้าถึงยาของประชาชน แต่ก็ยังคงมีข้อสงสัยอีกมากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการงบประมาณของประเทศไทย การจัดการระบบสาธารณสุข ตลอดจนการพัฒนาอุตสาหกรรมยาภายในประเทศเพื่อความยั่งยืน

“ซีแอลไม่ใช่คำตอบของทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้าไปดูในยุทธศาสตร์การเข้าถึงยา ซีแอลไม่ใช่ ends เป็นแค่ means ในการเข้าถึงยาเพิ่มขึ้น แต่ในยุทธศาสตร์มันมีวิธีการ มีเรื่องอื่นๆ ที่ต้องทำอีกมากมาย’ กรรณิการ์ กิจติเวชกุล จากองค์การหมอไร้พรมแดน-เบลเยี่ยม (ประเทศไทย) ระบุ

และท้ายที่สุด ในความเคลื่อนไหวด้านสาธารณสุขระดับโลก เริ่มมีการพูดถึงทางเลือกของระบบอื่นๆ ที่จะใช้กับการสร้างนวัตกรรมเกี่ยวกับยาด้วย เนื่องจากมีข้อสรุปแล้วว่าระบบสิทธิบัตรนั้นสร้างการผูกขาดและค้ากำไรเกินควรให้กับอุตสาหกรรมยา โดยที่สร้างยาตัวใหม่ๆ ที่จำเป็นต่อชีวิต โดยเฉพาะของชีวิตของคนจนน้อยมากหรือแทบไม่มีเลย อีกทั้งส่วนใหญ่คนคิดค้นตัวจริงก็เป็นทีมวิจัยในมหาวิทยาลัย รูปธรรมที่เริ่มเกิดขึ้นแล้วเช่น การสร้างระบบการให้รางวัลกับผู้คิดค้น และผลงานที่ได้เป็นของสาธารณะ ซึ่งเป็นทางเลือกที่น่าสนใจและเป็นกระแสที่ต้องจับตาอย่างยิ่งต่อไปจากนี้

“เราจะสร้างเครือข่ายระดับโลก เพื่อการเข้าถึงยาของประชาชน ทั้งนักกิจกรรม นักวิชาการ เครือข่ายผู้ป่วย ฯลฯ เพื่อให้มียาที่ไม่แพงสำหรับทุกคน” การประชุมนานาชาติ เรื่อง มาตรการบังคับใช้สิทธิ (ซีแอล) : นวัตกรรมและสิทธิในการเข้าถึงยา (21-23 พ.ย.) ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศไทย เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การการใช้ซีแอลในประเทศต่างๆ ก็มีการประกาศคำมั่นสัญญาไว้เช่นนั้น

-----------------------------------
ข่าวประกอบ
- ไชยาประกาศยังไม่มีการยกเลิกซีแอล
- เดินหน้าล่า 20,000 รายชื่อถอน ‘ไชยา’ ต่อไป ‘สารี’ แจง ความผิดเกิดแล้ว
- สั่งย้าย เด้งเลขาอย. ไชยาปัด ไม่เกี่ยวซีแอล
- ข่าวประชาธรรม : จม.จากเลขาธิการแพทย์ชนบท “ถึงประชาชนไทยทุกคน”
- 5 เหตุผล ทำไมไม่ควรล้ม ‘ซีแอล’ ยามะเร็ง
- ภาคปชช. VS พรีม่า แถลงเหตุผล : 5 ชอบ 5 ไม่ชอบ ‘ซีแอล’
- ประชุมนานาชาติ ‘ซีแอล’ เครือข่ายทั่วโลกหนุนไทย อย่าสนโฆษณาโจมตีของบริษัทยา

 

(กลับสู่สารบัญด้านบน)

1 เดือนรัฐบาลสมัคร จับตานโยบายที่เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ

วิทยากร บุญเรือง

หลังจากที่รัฐบาลพรรคพลังประชาชนได้รับเลือกเข้ามาให้จัดตั้งรัฐบาล ภายใต้นโยบายเร่งด่วนก็คือการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งไม่มียาอะไรจะดีและแรงเท่าการกระตุ้นด้วยโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ และการกระจายทุนสู่มือประชาชนด้วยนโยบายประชานิยม

ซึ่งในส่วนของการลงทุนโครงการขนาดใหญ่อย่างเร่งด่วน มีการคาดการกันว่ารัฐบาลจำเป็นต้องตั้งงบประมาณขาดดุลกว่า 2.6 แสนล้านบาท เมื่อเทียบกับงบประมาณปี 2551 ที่ขาดดุล 1.66 ล้านล้านบาท โดยโครงการที่สำคัญที่คาดว่าจะใช้เงินอย่างมหาศาลได้แก่ โครงการระบบชลประทาน โครงการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า โครงการระบบขนส่งทางอากาศ เป็นต้น [1]

โดยในรายงานชิ้นนี้ จะนำเสนอถึงโครงการที่กระทบถึงระบบทรัพยากรในประเทศ ในหลายๆ โครงการที่คาดว่าจะดำเนินการ และการโยนหินถามทางรายวัน ภายในหนึ่งเดือนที่ผ่านมา …

แก่งเสือเต้น

25 ก.พ.นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมชี้แจงนโยบายของรัฐบาลต่อผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานภาครัฐ ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยมีข้าราชการระดับสูง เข้าร่วมรับฟังอย่างพร้อมเพรียง ซึ่งนายสมัครใช้เวลาชี้แจงนโยบายดังกล่าวนานกว่า 2 ชั่วโมง

โดยนายสมัคร ได้พูดถึงเรื่องระบบ ชลประทาน ว่า เขื่อนในประเทศไทยที่มีอยู่เดิมเป็นประโยชน์มาก ดังนั้นโครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นจึงจะจำเป็น เพราะช่วยกักเก็บน้ำได้ถึง 1.2 พันล้านลูกบาศก์เมตร และยังช่วยป้องกันน้ำท่วมด้วย แต่ที่ผ่านมาถูกปลุกระดมขัดขวางโดยเอาเรื่องไม้สักทอง 500 ต้นมาอ้าง ทั้งที่ตอนนี้ต้นสักทองเหล่านั้นไม่มีเหลืออยู่แล้ว บางส่วนก็อ้างรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นขอรับประกันว่า ถ้าจะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นจริง ผู้ที่ได้รับผลกระทบจะได้รับการตอบแทนอย่างดีที่สุด [2]

ทั้งนี้โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นนั้นถูกผลักดันมาเกือบทุกยุคทุกสมัยโดยฝ่ายรัฐ โดยอาศัยประเด็น การกักเก็บน้ำ การป้องกันน้ำท่วม เป็นข้ออ้างเสมอมา

 

ข้อวิจารณ์

หาญณรงค์ เยาวเลิศ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ศึกษาผลกระทบที่เกิดจากการสร้างเขื่อนในเมืองไทย และเป็นผู้เกาะติดโครงการนี้มาอย่างใกล้ชิดมาตลอด ได้ให้ความเห็นทั้งในเรื่องการปลุกผีแก่งเสือเต้นไว้ดังนี้ [3]

“การสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ไม่ตอบโจทก์เรื่องการป้องกันน้ำท่วมและเพื่อการชลประทานได้เลย ถ้าจะบอกว่าสร้างเขื่อนเพื่อต้องการน้ำ ก็ต้องหาวิธีอื่นๆ แทน ว่าปัญหาอยู่ตรงไหน และหาการสร้างโครงการขนาดกลาง ขนาดเล็ก แทนการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ตรงไหนและบริเวณไหนต้องการน้ำก็ให้แก้ไขใกล้เคียงกับบริเวณนั้นจะดีกว่า”

“อยากจะอธิบายชัดๆ อีกครั้งว่า บริเวณที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น อยู่ในอุทยานแห่งชาติแม่ยม ซึ่งอุทยานแห่งชาติแม่ยม เป็นป่าที่ครอบคลุมแม่น้ำยมฝั่งซ้ายและขวา ซึ่งหากมีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ก็จะเกิดน้ำท่วมในอุทยานแห่งชาติยาวประมาณ 50 กิโลเมตร ทำให้อุทยานแห่งชาติแม่ยม ถูกน้ำท่วมประมาณ 25,000ไร่ จากพื้นที่น้ำท่วมทั้งหมด ประมาณ 45,625 ไร่ (ข้อมูลกรมชลประทาน) แต่ข้อมูลของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่าตัวเลขน่าจะอยู่ที่ประมาณ 64,000ไร่ ที่จะถูกน้ำท่วม และเป็นป่าสักเบญจพรรณ และป่าสักสมบูรณ์ รวมประมาณ 15,000 ไร่ จากพื้นที่ป่าสักที่มีทั้งหมด 23,000 ไร่ ซึ่งพื้นที่ป่าสมบูรณ์มีต้นสักต่อไร่ไม่น้อยกว่า 50 ต้น ดังนั้น พื้นที่ทั้งหมด จึงมีต้นสักเป็นจำนวนนับแสนต้น”

“เขื่อนขนาดใหญ่ ได้สร้างมามากพอแล้วสำหรับประเทศเรา แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่ได้ยกเหตุผลมาอ้างตั้งแต่แรกได้ และก็หาเหตุก่อสร้างเขื่อนไปเรื่อย ปัจจุบันรับไม่ได้ว่าเขื่อนคือเทคโนโลยี เพราะการสร้างเขื่อนเป็นวิธีการมาไม่น้อยกว่า 60 ปี และอยากจะบอกว่า การสร้างเขื่อนเป็นเพียงวิธีการที่เอาสิ่งก่อสร้างมาขวางแม่น้ำในภูมิประเทศที่เหมาะสมเท่านั้น มันไม่ได้สรรค์สร้างอะไรใหม่เลย เป็นเพียงวิธีที่สร้างสิ่งก่อสร้างประเภทหนึ่งที่ใช้วิธีเดียวกันนี้มาหลายสิบปี”

 

โครงการผันน้ำ

โครงการที่สำคัญที่คาดว่าจะใช้เงินอย่างมหาศาลในรัฐบาลชุดนี้ได้แก่ โครงการระบบชลประทาน ซึ่งที่พูดถึงกันมากที่สุดก็คือการผันน้ำจากแม่น้ำโขงมายัง 19 จังหวัดภาคอีสาน

ซึ่งกรมทรัพยากรน้ำ เคยดำเนินการเมื่อปี 2535 เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ โขง ชี มูล ซึ่งมีทางเลือก 3 ทาง คือ 1.ผันน้ำเข้ามาทางด้านเหนือของ จ.เลย ลงสู่ลำพะเนียงในพื้นที่ อ.นาด้วง แล้วส่งต่อไปยังแม่น้ำพอง เพื่อให้ไหลลงสู่เขื่อนอุบลรัตน์เพื่อเก็บกักไว้ แจกจ่ายให้เกษตรกร 2.ผันน้ำมาทาง จ.หนองคาย โดยอาศัยโครงสร้างพื้นฐาน และแหล่งรองรับน้ำ หรืออ่างเก็บน้ำ และ 3.การผันน้ำเข้ามาทางประเทศลาว

ส่วนโครงการระบบการจัดการส่งน้ำแบบไฮโดรชิล คือ การขุดอุโมงค์แบบรถไฟใต้ดินลึกประมาณ 25 เมตร ขนานไปกับถนนมิตรภาพ แล้วผันแม่น้ำโขงผ่านอุโมงค์ แจกจ่ายไปตามโครงข่ายลำน้ำอื่นๆ เป็นการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนในภาคอีสาน

โดยนโยบายนี้มีเสียงสะท้อนมาจากฝ่ายปฏิบัติการของรัฐ ที่พร้อมจะรับลูกต่ออยู่แล้ว ดังนี้ [4]

นายสราวุธ ชีวะประเสริฐ ผู้อำนวยการส่วนนโยบายและแผนกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ถ้ารัฐบาลมีนโยบายชัดเจนในเรื่องนี้จำเป็นต้องศึกษาทบทวนการจัดหาน้ำต้นทุนจากแม่น้ำโขง โดยเฉพาะปริมาณน้ำที่ต้องสูบจากแม่น้ำโขงว่าตัวเลขอยู่ที่ 3,500-6,000 ล้านลบ.ม.ต่อปี หรือเท่าไร สูบในฤดูไหน เพราะต้องทำตามข้อตกลงการใช้น้ำของคณะอนุกรรมการแม่น้ำโขงด้วย

นอกจากนี้ยังต้องทบ ทวนการใช้ประโยชน์เทียบกับการลงทุนระบบชลประทานเดิม เพราะอีสานมีตัวเลขเฉลี่ย 40,000 บาทต่อไร่ ขณะที่ภาคอื่นเฉลี่ย 10,000-15,000 บาทต่อไร่ ขณะที่ข้อจำกัดของ พื้นที่ดินเค็มก็ควรต้องศึกษาและกำหนดแผนที่เสี่ยงออกมา เพื่อเลี่ยงแนวผันน้ำไม่ให้ส่งผลกระทบกับชั้นเกลือใต้ดิน “ข้อเสนอในการผันน้ำในอนาคต รัฐควรการพัฒนาโครงการขนาดกลางและขนาดใหญ่ตามศักยภาพน้ำในประเทศการพัฒนาพื้นที่นอกเขตชลประทาน เพราะตัวเลขการทำเกษตรกรรมภาคอีสาน 85 ล้านไร่ ถ้าจะพัฒนาต้องหามาตรการอื่นเสริม เข้าไป ไม่จำเป็นต้องหาน้ำไปในพื้นที่ไม่มีศักยภาพ ในส่วนของกรมทรัพยากรน้ำ ได้ศึกษาโครงการผันน้ำงึมมาเติมในลุ่มน้ำชีและลุ่มน้ำมูลไว้แล้ว เพื่อนำมาเติมให้กับอุบลรัตน์ 300-500 ล้านลบ.ม. โดยจะผันจากน้ำงึม ลอดใต้แม่น้ำโขงมาฝั่งไทย ที่ อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย ซึ่งขณะนี้มีข้อสรุป 4 แนวทาง และยังยืนยันว่าควรต้องทบทวนข้อมูลทั้งหมดก่อน” นายสราวุธ กล่าว

ส่วน นายวีระ วงศ์แสงนาค รองอธิบดีฝ่ายบำรุงรักษา กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในทางเทคนิคแนวคิดการผันน้ำโขงสามารถทำได้ ความเป็นไปได้ด้านวิศวกรรม โดยระบบแรงโน้มถ่วงซึ่งกรมชลประทาน ศึกษาแนวผันน้ำเอาไว้แนวอุโมงค์ผันน้ำโขง-เลย-อุบลรัตน์ ระยะทาง 800 กม.ผ่านมาจากปากน้ำเลย มาที่ลำพะเนียง ห้วยมอ จ.หนองบัวลำภู และลงเขื่อนอุบลรัตน์ ซึ่งพบว่าระดับน้ำสูงสุดเฉลี่ย 197 ม.ทรก.

 

ข้อวิจารณ์

นายประยงค์ อัฒจักร เลขาธิการมูลนิธิเลยเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาอย่างยั่งยืน ได้กล่าวถึงกรณี รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช จะดำเนินโครงการผันน้ำผ่านท่อจากแม่น้ำโขงเข้าภาคอีสานว่า เห็นด้วยที่รัฐบาลคิดจะช่วยเหลือเกษตรกร แต่ไม่เห็นด้วยกับโครงการผันน้ำขนาดใหญ่ เพราะผลกระทบจะเกิดขึ้นกับระบบนิเวศโดยรวมมากมาย ถ้าระบบแม่น้ำนี้พังพินาศลง ประชาชนกว่า 6 ล้านคน ที่อาศัยอยู่กับแม่น้ำโขง จะดำรงชีวิตอย่างไร

ทั้งนี้ประยงค์ตั้งข้อสังเกตว่า การจัดการระบบน้ำชลประทาน จะทำลายระบบนิเวศ และวิถีชีวิตของคนอีสานมากกว่า เหมือนที่ชาวนาภาคกลางประสบมาแล้ว คือ มีหนี้สินมากมายจากการทำนาปีละ 3 ครั้ง ทั้งที่ควรจะเป็นชาวนาที่รวยที่สุดในประเทศ ดินเค็มอาจจะแพร่กระจายทั่วภาคอีสานจนเราควบคุมไม่ได้

นายประยงค์กล่าวอีกว่า การพัฒนาเกษตรกรรมเดินมาจนสุดทางแล้ว คือทยอยสูญเสียที่ดิน และร่ำรวยหนี้สินมากขึ้น การชลประทานคือตัวเร่งให้เกษตรกรสูญเสียที่ดิน เป็นสัญญาณการสูญพันธุ์ของเกษตรกรรายย่อย และได้เวลาของธุรกิจเกษตรยักษ์ใหญ่ที่จะครอบครองที่ดินเกษตรกร ถ้ารัฐคิดจะแก้ปัญหาเกษตรกรจริงๆ ต้องแก้ปัญหาหนี้สินอย่างเป็นระบบ เร่งฟื้นฟูชีวิตเกษตรกรโดยยึดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ใช้จุดแข็งของแต่ละพื้นที่ เช่น จ.เลย มีจุดแข็งเรื่องข้าวไร่ พืชผัก ผลไม้ รัฐต้องมีมาตรการประกันผลผลิตและราคา [5]

สุพจน์ เอี้ยงกุญชร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประจำ คณะวิศวกรรม และอุตสาหกรรม และ กิตติพงษ์ วุฒิจำนงค์ รองศาสตราจารย์ (อดีตคณบดี) คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้เสนอทางออกในการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำไว้ คือ แนวทางแรก การใช้สิ่งก่อสร้างทางชลประทาน สิ่งก่อสร้างดังกล่าวคือ ฝายทดน้ำ (Weir) และเขื่อนเก็บกักน้ำ (Dam) โดยฝายทดน้ำนั้นมีความจำเป็นในการยกระดับน้ำขึ้นไปยังพื้นที่ที่น้ำไหลขึ้นไปไม่ถึงเพราะมีระดับสูงกว่าทางน้ำธรรมชาติ ส่วนเขื่อนเก็บกักน้ำก็มีความจำเป็นสำหรับการรวบรวมน้ำฝนในช่วงฤดูฝน (Wet Season) ไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง (Dry Season) ซึ่งทั้งฝายและเขื่อนอาจมีขนาดต่างๆ กันไป ทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศเป็นสำคัญ และแนวทางที่สอง การไม่ใช้สิ่งก่อสร้างทางชลประทาน แนวทางนี้ต้องสร้างความเข้าใจให้ประชาชนรู้จักใช้น้ำอย่างประหยัดทั้งการอุปโภค บริโภค และการทำเกษตรกรรม ซึ่งสิ่งสำคัญก็คือการปลูกจิตสำนึกในการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ [6]

 

ยูคาลิปตัส

วุฒิพงศ์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ออกมาเสนอนโยบายการส่งเสริมการปลูกไม้ยูคาลิปตัสในพื้นที่ภาคอีสาน ใช้ในการผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพสำหรับอุตสาหกรรมพลังงาน รวมถึงสนับสนุนให้ใช้ประโยชน์ในโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ เช่น การผลิตพลังงานไอน้ำใช้กับโครงการรถไฟรางคู่ ซึ่งจะประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้มหาศาล รวมทั้งเป็นวัตถุดิบส่งโรงงานผลิตเยื่อกระดาษ เพื่อแก้ปัญหาความยากจนในภาคอีสาน

แนวคิดของฝ่ายสนับสนุนก็มีอาทิเช่น นายนิคม แหลมสัก ภาควิชาวนผลิตภัณฑ์ คณะวนศาสตรมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ความเห็นดังนี้ [7]

การปลูกต้นไม้โตเร็วเพื่อใช้ประโยชน์ในการผลิตผลิตภัณฑ์และเชื้อเพลิงชีวภาพ เป็นแนวโน้มที่ทั่วโลกให้ความสนใจ เนื่องจากเป็นพืชโตเร็วซึ่งมีศักยภาพการใช้งานมากกว่าพืชอาหาร อีกทั้งมีแนวโน้มเป็นเชื้อเพลิงทางเลือก ที่ทดแทนเชื้อเพลิงจากฟอสซิล

ยูคาลิปตัสปลูกในไทยมากว่า 10 ปี มีงานวิจัยที่พิสูจน์แล้วว่าไม่ส่งผลกระทบต่อดินและน้ำอย่างที่หลายคนคิด โดยผลจากการศึกษาคุณภาพดินก่อนปลูกและหลังปลูกไม่พบการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด พืชแต่ละชนิดต้องการธาตุอาหารเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นต้นยูคาลิปตัส ต้นยางพารา หรือต้นสัก โดยพืชทุกชนิดไม่มีอันตราย แต่การปลูกให้ได้ผลต้องขึ้นอยู่กับการจัดพื้นที่ปลูกให้ถูกต้อง

ส่วนการนำไม้ยูคาลิปตัสมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพนั้น มีความเป็นไปได้ ยกตัวอย่างโซนยุโรปตอนใต้ มีการตั้งโรงงานผลิตเชื้อเพลิงจากไม้ในระดับอุตสาหกรรม ขณะที่เทคโนโลยีนี้ในไทยยังอยู่ขั้นตอนของการพัฒนาระบบในห้องปฏิบัติการ และกำลังเข้าสู่ขั้นตอนโรงงานต้นแบบ

 

ข้อวิจารณ์

นายเพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมต.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (เงา) พรรคประชาธิปัตย์ ได้ให้ทัศนะอีกด้านเกี่ยวกับโครงการนี้ โดยเพิ่มศักดิ์ กล่าวว่าการปลูกต้นยูคาลิปตัสส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากต้นยูคาลิปตัสจะดูดซับสารอาหารต่างๆ ในดินและความชุ่มชื่นของน้ำจนหมด รวมทั้งยังแย่งสารอาหารจากพืชที่ปลูกใกล้เคียงด้วย ทำให้ความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศน์เริ่มเสื่อม โทรม และในที่สุดพื้นที่ละแวกนั้นจะแห้งแล้ง อุณหภูมิจะสูงขึ้น ฝนไม่ตกตามฤดูกาล ยกตัวอย่างพื้นที่ภาคตะวันออกที่มีการปลูกต้นยูคาลิปตัสจำนวนมากกลายเป็นพื้นที่ที่มีอุณหภูมิสูงขึ้น ฝนทิ้งช่วงไม่ตกต้องตามฤดูกาล ด้านคุณหญิงกัลยา กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ไม้โตเร็วหลายชนิดที่จะไปใช้เป็นพลังงานได้ ซึ่งมีการวิจัยอยู่พอสมควร แต่ยังไม่เคยได้ยินว่าจะเอายูคาลิปตัสไปทำเอทานอล เพราะส่วนใหญ่จะใช้อ้อย มันสำปะหลัง ถั่ว เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐมนตรีมีแนวคิดอย่างนี้ก็คงจะต้องติดตาม [8]

ทางด้าน NGO’s ท่าหนึ่งที่ใช้นามว่า สิน สันป่ายาง ได้อธิบายความน่ากลัวของการปลูกไว้ใน บทความ
หยุดปลูกยูคาฯ...หยุดเข่นฆ่าประชาชน ที่ได้เชื่อมโยงปะติดปะต่อนโยบายนี้เข้ากับ การทำลายระบบนิเวศ อำนาจทุน อำนารัฐ ระบบเกษตรพันธะสัญญา เลยไปถึงการล่มสลายของโลกภายใต้ระบบทุนนิยม [9]

 

20080315 ผืนป่าสักทองที่จะถูกน้ำท่วม

ผืนป่าสักทองที่จะถูกน้ำท่วม หากมีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น

20080315 อภิมหาโครงการขนาดใหญ่
อภิมหาโครงการขนาดใหญ่ การผันน้ำจากแม่น้ำโขง

20080315 ต้นยูคาลิปตัส
ต้นยูคาลิปตัส ดีหรือไม่ดีกันแน่ ยังคงเป็นข้อถกเถียงอยู่

0 0 0

ในการทำโครงการขนาดใหญ่ ที่มีการนำทรัพยากรธรรมชาติไปใช้ประโยชน์อย่างมหาศาล ในช่วงการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการขึ้นมามีอำนาจของรัฐบาลไทยรักไทยในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ มีข้อวิจารณ์ที่สำคัญ ก็คือการทำโครงการขนาดใหญ่ของรัฐและเอกชน เป็นการแปรผันเอาทรัพยากรธรรมชาติไปสร้างผลประโยชน์สู่กระเป๋าของนายทุนพวกพ้องและบรรษัทข้ามชาติ

และนั่นอาจเป็นตัวเร่งในการสั่นคลอนรัฐบาลไทยรักไทยในอดีต เพราะโครงการหลายอย่างที่กระทบกับระบบทรัพยากร กระทบกับชุมชน ถูกต้านทานโดยกลุ่มชาวบ้านที่เสียผลประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชาวบ้านในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ [10] การต่อต้านการวางแนวท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย, การเรียกร้องของขบวนการสมัชชาคนจนต่อกรณีเขื่อนปากมูน เป็นต้น

การสร้างวาทกรรมของแนวชุมชนนิยมเรื่องความเลวร้ายของเผด็จการทุนนิยม ความเลวร้ายของโลกาภิวัฒน์ กลายเป็นกระแสหลักทางความคิดของนักเคลื่อนไหวไทย ที่มีนักวิชาการผลิตงานวิชาการเสริม [11] ซึ่งสามารถปักหลักปักฐานได้อย่างเข้มแข็งในช่วงรัฐบาลไทยรักไทย – และสามารถผนวกเข้ากับกลุ่มต่อต้านรัฐบาลไทยรักไทยในเมือง อย่างเช่น กลุ่มพันธมิตรประชาชนประชาธิปไตย และกลุ่มทหาร โค่นล้มรัฐบาลไทยรักไทยได้สำเร็จ

หลังจากเมื่อรัฐบาลไทยรักไทยสะดุดในเกมอำนาจทางการเมืองไม่นาน ก็สามารถพึ่งพิงสิ่งสุดท้ายนั่นก็คือระบอบประชาธิปไตยรัฐสภา การอาศัยคะแนนเสียงของประชาชน ชุบตัวเข้ามากุมอำนาจใหม่ในรูปแบบของรัฐบาลผสมที่นำโดยพรรคพลังประชาชน

การวางเกมในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แน่นอนว่าจะต้องใช้การลงทุนภาครัฐขนาดใหญ่ ซึ่งจะต้องมีการนำระบบทรัพยากรธรรมชาติของประเทศเข้าไปเกี่ยวข้อง และก็มีการโยนหินถามทางในหลายเรื่อง เช่น การปลุกผีแก่งเสือเต้น การปลูกยูคาลิปตัส เป็นต้น รวมถึงนโยบายที่คาดว่าจะใช้เงินอย่างมหาศาล นั่นก็คือการจัดการระบบชลประทานขนานใหญ่

เราสามารถมองวิเคราะห์ถึงความน่าจะเป็นได้สองทาง ซึ่งจะมีการดึงเรื่องการเมืองเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเต็มรูปแบบ หนึ่งคือเมื่อพรรคพลังประชาชนสามารถเข้าสู่อำนาจด้วยการใช้ฐานเสียงของประชาชน การกระทำใดๆ ก็ควรที่จะคำนึงถึงฐานเสียงประชาชนในที่นั้นๆ หลายโครงการที่เสียมากกว่าคุ้มค่า (ทั้งเรื่องฐานเสียงและความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ) อาจจะถูกชะลอ ซื้อเวลา หรือยกเลิกไปในที่สุด

สอง คือเรื่องการอาศัยมติมหาชนส่วนใหญ่ เพื่อบีบบังคับให้คนกลุ่มในพื้นที่ที่เสียประโยชน์ยอมรับโครงการขนาดใหญ่นั้น ก็อาจจะมีความเป็นไปได้สูง เนื่องจากการเป็นผู้ชนะหลังจากที่อภิสิทธิ์ชนทำการรัฐประหารของพรรคพลังประชาชน มันอาจทำให้พวกเขาคิดว่า ไม่มีอะไรแล้วในตอนนี้ที่พวกเขาปั้นเสกไม่ได้

และในเกมทั้งสองรูปแบบนั้นจะทำให้เราได้เห็นว่าจากนี้ไป การสร้างขบวนการต้านทานโครงการขนาดใหญ่ ชาวบ้านที่เดือดร้อนจะไม่โดดเดี่ยวอีกต่อไป เพราะจะมีคู่ขนานมวลชนจัดตั้ง หรือมวลชนที่เห็นด้วยกับโครงการขนาดใหญ่โดยบริสุทธิ์ใจ ออกมาเผชิญหน้าโดยตรง และจะผุดขึ้นอย่างดอกเห็ดในหลายพื้นที่ความขัดแย้ง [12]

ในประเทศที่ไม่มีต้นทุนทางเทคโนโลยี ไม่มีต้นทุนที่สำคัญอื่นๆ การนำทรัพยากรธรรมมาใช้ประโยชน์เพื่อให้เกิดการพัฒนาจะต้องเกิด

และเมื่อเราได้รับฉันทามติจากคนส่วนใหญ่ในการพัฒนาประเทศตามแนวทางใดๆ แล้ว สิ่งสำคัญที่ต้องต่อสู้ก็คือเรื่องของการทำให้การพัฒนานั้นมีความเป็นธรรมมากที่สุด เรียกร้องการชดเชยความเสียหายที่เป็นธรรม [13] เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนส่วนใหญ่

แต่รูปแบบการต่อสู้ที่พยายามหยุดการพัฒนาทั้งหมดเพราะเห็นว่ามันมีปัญหา โดยไม่ได้ไปเคลื่อนไหวแก้ไขปัญหาในจุดที่มันเกิดความไม่เป็นธรรมนั้น อาจจะเป็นการต่อสู้ที่สูญเปล่าสำหรับทุกฝ่าย

…………
เชิงอรรถ

[1] ตั้งงบขาดดุล 2.6 แสนล้าน หาเงินลุยเมกะโปรเจ็กต์, ข่าวหุ้น 11 มี.ค. 2551
[2] 'หมัก' โชว์วิชัน ปลุก ขรก.เข็นเมกะโปรเจกต์, โพสต์ ทูเดย์ 26 ก.พ. 2551
[3] สัมภาษณ์ หาญณรงค์ เยาวเลิศ : จับโกหกคำโต ‘สมัคร’ หนุนสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ! (องอาจ เดชา สัมภาษณ์ ใน ประชาไท, 6 มีนาคม 2551)
[4] กรมชลฯรับลูกผันน้ำโขงทำได้ (กรุงเทพธุรกิจ, 29 กุมภาพันธุ์ 2551)
[5] เตือนรัฐบาลสมัคร"ผันน้ำโขง"สูญที่ดิน-รวยหนี้ (มติชน, 5 มีนาคม 2551)
[6] การขุดอุโมงค์ผันน้ำโขง? (มติชน, 25 กุมภาพันธุ์ 2551)
[7] วุฒิพงศ์หนุนปลูกยูคาฯ ทำเชื้อเพลิงชีวมวล (กรุงเทพธุรกิจ, 9 กุมภาพันธุ์ 2551)
[8] รมต.ปลุกผีสวนป่า ยูคาลิปตัส เอาไม้เป็นพลังงาน (ไทยรัฐ, 11 กุมภาพันธุ์ 2551)
[9] บทความ หยุดปลูกยูคาฯ...หยุดเข่นฆ่าประชาชน (สิน สันป่ายาง ประชาไท, 24 กุมภาพันธุ์ 2551)
[10] ขบวนการต่อต้านโรงไฟฟ้าในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อ่านประเด็นนี้โดยย่อ รวมถึงประเด็นปลาวาฬได้ใน http://www.talaythai.com/page2/bankrud.php และควรศึกษาข้อเขียนเกี่ยวกับคุณเจริญ วัดอักษร ในเวบไซต์หรือสื่อของภาคประชาชนต่างๆ รวมถึงบทสัมภาษณ์ของเขาใน http://www.nokkrob.org/pxp/pxp/Magazine2001/07-interview02.htm
[11] มีการสร้างวาทกรรมต่างๆ นานา ออกมาโจมตีกลุ่มนายทุนที่เข้าถึงอำนาจรัฐจากการเลือกตั้ง เช่น ระบอบทักษิณ เผด็จการทุนนิยม ฯลฯ โจมตีในเรื่องของการช่วงชิงทรัพยากรในท้องถิ่นนำมาแปรรูปเป็นสินค้า การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ซึ่งในอีกด้านหนึ่งถูกมองว่าเป็นการขายชาติ เมื่อบวกกับแนวคิดของฝ่ายอนุรักษ์นิยม
[12] ในระดับมหภาคสามารถดูโมเดลคู่ตรงข้ามนี้ได้จาก กรณี พันธมิตร vs นปก. ส่วนในระดับจุลภาคก็สามารถดูตัวอย่างได้จากกรณีฝ่าย เสื้อเขียว vs เสื้อแดง ที่ อ.บางสะพาน ซึ่งจากนี้ไปผู้เขียนเห็นว่าการเมืองแห่งการเผชิญหน้าจะเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
[13] ผู้เขียนคิดว่าแนวคิดของนักวิชาการเสรีนิยมอย่าง โสภณ พรโชคชัย ในบทความ โสภณ พรโชคชัย : ขอวิจารณ์แนวคิด “รักท้องถิ่น” ของคุณกรณ์อุมา พงษ์น้อย (ประชาไท, 5 กรกฎาคม 2550) เป็นแนวคิดที่กล้าวิพากย์แนวชุมชนอนาธิปไตย โดยใช้แนวคิดยืนบนพื้นฐานเสรีนิยมที่เป็นธรรม ซึ่งต่างจากนักวิชาการด้านสังคมศาสตร์เกือบทุกคนที่มักจะโจมตีแนวคิดทางทุนนิยม เสรีนิยม อยู่ตลอดเวลา

 

(กลับสู่สารบัญด้านบน)

พลังงาน : ความท้าทายนานาประการ... ไฟฟ้า น้ำมัน ก๊าซ นิวเคลียร์

มุทิตา เชื้อชั่ง

ปัญหาเฉพาะหน้าอันหน่วงของกระทรวงพลังงานก็คือ ราคาน้ำมันที่ทะยานทะลุ 100 เหรียญต่อบาเรลไปเมื่อไม่กี่วัน และรัฐบาลต้องนำเงินจากกองทุนน้ำมันมาช่วยอุ้มราคาน้ำมันดีเซลที่ใช้ในภาคขนส่งส่วนใหญ่ 90 สตางค์ต่อลิตรเพื่อไม่ให้ราคาทะยานเพิ่มสูงเกินไป ท่ามกลางเสียงท้วงติงจากนักวิชาการที่ไม่เห็นด้วยเพราะเป็นการบิดเบือนโครงสร้างน้ำมัน และทำให้หนี้กองทุนน้ำมันท่วม เหมือนสมัยที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทักษิณกันมากที่ชดเชยค่าอุดหนุนน้ำมันเกือบแสนล้านบาท คงต้องจับตามองกันวันต่อวัน สำหรับราคาน้ำมันและมาตรการแก้ปัญหาของภาครัฐ

และท่ามกลางภาวะผันผวนของน้ำมันนี้เองที่ขับเน้นให้ “ก๊าซ” เริ่มโดดเด่นอีกครั้ง และเมื่อพูดถึงก๊าซย่อมต้องเอ่ยถึงยักษ์ใหญ่ของไทยที่กำลังทะยานสู่ยักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง ปตท. ที่เตรียมมุ่งสู่การเป็นยักษ์ใหญ่ด้านก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ แอลเอ็นจี ในภูมิภาคเอเชีย โดยขณะนี้กำลังเร่งก่อสร้างสถานีรับ และคลังแอลเอ็นจีแล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2554

เรื่องแอลเอ็นจีนี้ได้รับการขานรับจาก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ พลโท(หญิง) พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ เป็นอย่างดี โดยระบุว่า ได้มีการหารือระดับทวิภาคีกับรัฐมนตรีด้านพลังงานของประเทศต่างๆ9 ประเทศ คือ บาห์เรน บรูไน โอมาน กาตาร์ ไนจีเรีย และเยเมน ถึงความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างกัน โดยเฉพาะโครงการนำเข้าแอลเอ็นจีของไทย

นอกจากนี้บางประเทศสนใจที่จะลงทุนโครงการแลนด์บริดจ์และเซาเทิร์นซีบอร์ดในไทย ซึ่งนับเป็นการรื้อฟื้นให้ความหวังกับโครงการที่สภาพัฒน์ฯ พยายามผลักดันมานานแล้ว และยังไม่เป็นรูปเป็นร่างชัดเจน

ขณะที่นักวิชาการอิสระอย่าง ชื่มชม สง่าราศี กรีเซ่น ได้วิจารณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่า โครงการสร้างคลังแอลเอ็นจีของ ปตท.มูลค่าหลายแสนล้านนั้นเป็นแผนที่เกิดขึ้นพ่วงมากับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (พีดีพี) ที่เน้นเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติอย่างมาก แต่ภายหลังได้มีการปรับแผนลดการใช้ก๊าซเหลือเท่าเดิม แต่แผนการลงทุนแอลเอ็นจีกลับยังเดินหน้าต่อ ที่สำคัญคือ การคำนวณความต้องการไฟฟ้าของประเทศในแผนพีดีพีนั้นอยู่บนฐานที่เกินความเป็นจริงไปมากทำให้เกิดภาระต่อผู้บริโภคโดยไม่จำเป็น เพราะการลงทุนในระบบพลังงานนั้นมีการประกันกำไรและผลักภาระทุกอย่างไปในค่าไฟของผู้บริโภครายย่อย

พูดถึงแผนพีดีพี นี่ก็เป็นอีกข้อถกเถียงที่สำคัญของสังคมไทย แม้จะยังไม่ไปสู่วงกว้างนัก เพราะการทำแผนปิดแคบอยู่ในวงแทคโนแครตภาครัฐ ไม่กี่ปีมานี้เริ่มมีการตั้งคำถามต่างๆ รวมถึงวิพากษ์วิจารณ์แผนมากขึ้น แต่นั่นก็มักเกิดขึ้นหลังจากแผน 15 ปีดังกล่าวได้รับการอนุมัติแล้ว ปัญหานี้ทำให้มีความคาดหวังว่า คณะกรรมการกำกับกิจการนโยบายและแผนพลังงาน ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาใหม่โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นตัวกลางในการดูแลผลประโยชน์ผู้บริโภครายย่อยอาจจะมีส่วนช่วยในการวางระบบการจัดทำแผนพลังงาน ให้เกิดความโปร่งใสและมีส่วนร่วมมากกว่าที่เป็นอยู่ รวมทั้งการกำกับด้านอื่นๆ ตามที่กฎหมายกำหนดด้วย

กล่าวเฉพาะแผนพีดีพีฉบับล่าสุด ปี 2007 ซึ่งจัดทำในรัฐบาลชุดที่แล้ว โดยมีนายปิยะสวัสดิ์ อัมระนันท์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แผนนี้มีความพิเศษอย่างยิ่งตรงที่กำหนดให้มีการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ กำลังการผลิตถึง 4,000 เมกกะวัตต์ ภายในปี 2564 ทั้งที่เรื่องนิวเคลียร์ยังเป็นเรื่องที่สังคมไทยหาฉันทานุมัติไม่ได้ และยังไม่มีการศึกษาแลกเปลี่ยนกันอย่างจริงจังเพียงพอ แม้ว่ามีหลายช่วงที่รัฐบาลผลักดันมาตลอด 30-40 ปีแต่เป็นอันฟุบไปทุกคราว

สรุปก็คือ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไปตั้งอยู่ในแผนแล้วอย่างเงียบเชียบ แม้จะมีเอ็นจีโอและนักวิชาการออกมาคัดค้านอยู่บ้าง รวมไปถึงชาวบ้านในจังหวัดติดชายทะเลหลายแห่งอย่างประจวบ ชุมพร ฯ ที่เริ่มไหวตัวว่าบ้านตนเองจะเป็นเป้าหมายของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็เริ่มฮึ่มๆ ให้ได้ยิน

และแม้แผนพีดีพีจะปรับเปลี่ยนกันได้เรื่อยๆ แต่ในเบื้องต้นเรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นี้มีการอนุมัติงบประมาณกว่า 1,345 ล้านบาทเพื่อจัดตั้งโครงสร้างการทำงานรองรับแล้วไม่น้อย โดยคณะรัฐมนตรี (พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์) ได้อนุมัติให้จัดตั้งสำนักงานพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ และมี “คณะกรรมการเพื่อเตรียมการศึกษาความเหมาะสมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์’ ขึ้นเพื่อเตรียมการเรื่องนี้ โดยแบ่งเป็นอนุกรรมการอีก 6 คณะ รวมไปถึงการจัดทำแผนจัดตั้งโครงสร้างพื้นฐษนเพื่อผลิตไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ฉบับสมบูรณ์ ซึ่งมีกำหนดเวลาว่าภายในปี 2554 แผนจะต้องอนุมัติเป็นที่เรียบร้อย และมีการจัดหาพื้นที่ที่เหมาะสมและโครงสร้างพื้นฐานให้พร้อม

ที่สำคัญ คือการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจต่อประชาชน (บนกรอบของการยอมรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์?)

แม้เรื่องนี้ยังไม่เป็นประเด็นมากนักในวันนี้ แต่คงเป็นประเด็นถกเถียงอย่างหนักในอนาคตอันใกล้ นอกเหนือจากประเด็นว่ามันดีไม่ดีอย่างไร ควรสร้างหรือหาทางออกเรื่องความมั่นคงด้านพลังงานแบบไหนแล้ว อาจต้องเถียงกันดุเด็ดเผ็ดมันที่สุดตรงที่ แล้วจะไปตั้งอยู่หลังบ้านใคร !

น่าเสียดายที่งบ 1.3 พันล้านลงไปบนโจทย์ที่ตอบเรียบร้อยแล้ว .....

 

(กลับสู่สารบัญด้านบน)

1 เดือนสมัครกับนโยบายเศรษฐกิจ : ทำ ‘ประชานิยม’ ให้ประชาชนนิยม

อรพิณ ยิ่งยงพัฒนา

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เดินทางไปเยี่ยมเยียนหน่วยงานต่างๆ อย่าง ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารสินเชื่อเพื่อเกษตรกร ปรากฏเป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ตลอดหนึ่งเดือนกว่า นับแต่ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

มาวันนี้ รัฐบาลส่งสัญญาณชัดเจนว่าจะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 มี.ค. ที่ผ่านมา ก็ได้ตั้งเป้างบประมาณรายจ่ายประจำปี 2552 เอาไว้ ขาดดุล 2 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 2.5% ของจีดีพี โดยประมาณการรายได้ ว่าคาดว่าจะสูงขึ้นจากปีงบประมาณ 2551 ราว 7-8%

เป้าหมายนี้เกิดขึ้นภายใต้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาก่อนหน้า ซึ่งน่าจะเรียกได้ว่าตอบสนองประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกองทุนหมู่บ้าน ธนาคารประชาชน โครงการพัฒนาศักยภาพของหมู่บ้านและชุมชน (SML) การพักหนี้เกษตรกร ที่ออกมาตอบสนองคนรากหญ้า การออกมาตรการลดภาษี บ้านเอื้ออาทร ที่เอื้อต่อชนชั้นกลาง การปล่อยกู้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำพิเศษ (ซอฟท์โลน) เพื่อช่วยผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และยังรวมถึงการปรับเงินเดือนข้าราชการ และการออกมาตรการเกี่ยวกับการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่

ขณะที่กระทรวงการคลังออกมาตรการเพื่อลดค่าครองชีพประชาชน กระทรวงพาณิชย์ก็มีมาตรการที่ไปเจรจากับผู้ผลิตสินค้า 12 บริษัทใหญ่ จนนำมาสู่การลดราคาสินค้าที่เป็นของใช้ประจำวัน 60 รายการ

เป็นที่ชัดเจนว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมานี้ เป็นนโยบาย ‘ประชานิยม’ อย่างไม่ต้องสงสัย และดูจะเป็นการต่อยอดแนวคิดจากพรรคไทยรักไทยเดิม ที่นำมาสู่พรรคพลังประชาชนในเวลาปัจจุบัน

ถึงแม้คำว่า ‘ประชานิยม’ อาจถูกตีความในแง่ลบว่าเป็นการทำนโยบายที่ใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือเพื่อหวังผลทางการเมือง อย่างไรก็ดี รากฐานแนวคิดของนโยบายประชานิยม คือการทำให้ประชาชนรู้สึกพอใจ และวันนี้ คงไม่มีใครปฏิเสธ หากการดำเนินนโยบายนั้น ยังคงยืนยันเป้าหมายหลักใหญ่ว่ามีหมุดสุดท้ายอยู่ที่ประชาชน

เวลานี้ ก้าวต่อไปของรัฐบาลมีความท้าทายที่รออยู่ว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจในลักษณะนี้ จะช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจให้เติบโต หรือกลายเป็นการสร้างปัญหาระบบเศรษฐกิจ

เพราะมาตรการต่างๆ ล้วนแล้วแต่ต้องใช้เงินอัดฉีด แถมบางมาตรการยังลดทอนรายได้เดิมที่รัฐพึงจะได้ อย่างมาตรการลดภาษีที่สูญเงินไป 42,000 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงการคลังน่าจะตอบคำถามให้ได้ในเร็ววันว่า ที่มาของเงินในการบริหารโครงการต่างๆ มาจากไหน ซึ่งมีแนวโน้มสูงว่า ธนาคารของรัฐต้องรับบทหนักในการอัดฉีดเงินสู่รากหญ้า ดังที่หลายฝ่ายเป็นห่วงว่าจะนำมาสู่ความเสี่ยงต่อปัญหาหนี้เสียที่อาจจะตามมา

ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเงา อย่างนายกรณ์ จาติกวนิช รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ให้ความเห็นกรณีรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจว่า “มาตรการที่ออกมาจะไม่มีผล เพราะประชาชนจะบริโภคต่อเมื่อมีเงินอยู่ในกระเป๋า ไม่ได้บริโภคเพราะคาดว่าจะมีเงินในอนาคตที่ได้จากการลดหย่อนภาษีที่เพิ่มขึ้น ที่สำคัญมาตรการที่ออกมาจะทำให้ผู้ประกอบการมีผลกำไรมากขึ้น ซึ่งผลกำไรเหล่านี้ไม่มีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจเลย เพราะจะถูกนำไปเก็บเป็นผลกำไรสะสม และบางส่วนเอาไว้จ่ายปันผลตอนสิ้นปี ทำให้ไม่มีเงินไหลกลับมาหมุนเวียนในระบบ”

ซึ่งนายกรณ์เห็นว่า รัฐบาลจะเสียรายได้จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เงินที่หมุนกลับมาในระบบจะมีน้อยกว่านั้นมาก ซึ่งทางที่ดี รัฐบาลควรเพิ่มงบประมาณที่มีผลต่อกำลังซื้อโดยตรงด้วยการจัดงบกลางปีสำหรับโครงการเรียนฟรี เป็นเบี้ยเลี้ยงให้กับอาสาสมัครสาธารณสุขทั่วประเทศ โครงการเอสเอ็มแอล โครงการอยู่ดีมีสุข
อย่างไรก็ตาม หลังการประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว ก็มีเสียงตอบรับเชิงบวกจากทั้งผู้ประกอบการและนักลงทุน ที่เห็นเด่นชัดมากคือธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ดูจะตื่นตัวมากเป็นพิเศษ เช่นเดียวกับเสียงตอบรับจากนักลงทุนต่างชาติ ที่ส่งสัญญาณความมั่นใจในการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย อาจเพราะคาดเดาว่านโยบายของรัฐบาลที่มีความชัดเจนในการสนับสนุนการลงทุน

ทั้งนี้ มาตรการ 2-3 มาตรการที่ออกมาในช่วงเดือนแรกนี้ ยังถูกวิพากษ์มากว่าอาจจะส่งผลเพียงระยะสั้น ทั้งที่แนวทางแบบที่ประชาชนจะนิยมอย่างแท้จริงนั้น คือนโยบายที่สร้างเสถียรภาพ ความมั่นคงในระยะยาว และเอื้อต่อการพัฒนาเชิงโครงสร้าง แต่นโยบายที่จำเป็นต่อรากฐานของชีวิต อย่างการสร้างโอกาสทางการศึกษาและสาธารณสุข ยังไม่ปรากฏอะไรที่เด่นชัด

นอกจากนี้ สำหรับรัฐบาลพรรคพลังประชาชนที่เชื่อกันว่าเป็นภาคต่อของพรรคไทยรักไทย ซึ่งได้ชื่อในเรื่องไร้ความน่าเชื่อถือในการบริหารอย่างมีธรรมาภิบาล คงจะยิ่งถูกจับตามากกว่าเดิมว่าจะบริหารนโยบายการเงิน และนโยบายการคลัง อย่างมีหลักธรรมาภิบาล มีกระบวนการตรวจสอบอย่างเข้มงวดและจริงจังในระดับใด

ก้าวถัดไปในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลสมัคร 1 หากสามารถสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และใส่ใจในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างได้ คำว่า ‘ประชานิยม’ จะได้เป็นกรณีตัวอย่างสำหรับพรรคการเมืองอื่นๆ แทนที่จะกลายเป็นคำที่ถูกนำมาใช้เป็นโจมตีทางการเมือง

 

(กลับสู่สารบัญด้านบน)

ความเห็น

Submitted by vanchana on

ความผิดพลาดของการบริหารประเทศมันหมักหมมมานาน เพราะเรายึดมั่นในพุทธศาสนาที่สอนว่าให้ยึดเอาปัจจุบัน ท่านเหล่านั้นสึกหาลาบวชมารับราชการก็นำมาใส่หัวผู้น้อยซึ่งรู้น้อย สมัยก่อนญาติผมเข้าตำรวจเมื่อรายได้จากเป็นพระเอกลิเกตกต่ำก็เข้าได้ ต่อมาเรารับระบบการศึกษาแบบฝรั่งก็ปลูกฝังค่านิยมปริญญาบัตร พวกที่เคยทำงานด้วยแรงกาย ก็ยังไม่ยอมรับว่าท่านที่เข้ามาเป็นหัวหน้าจะแก้ปัญหาได้หรือไม่ก็เกิดกระด้างกระเดื่องแบ่งพวกแบ่งฝ่ายกัน ต่อมามีกองหนุนกองเชียร์ สันถวไมตรีก็หมดไป สรุปแล้วก็ต้องโทษว่าการศึกษาเป็นเหตุโดยเฉพาะ"การสอนอ่านหนังสือเบื้องต้นผิดวิธีทำร้ายคนไทยให้ทำตัวเป็นปัญหาสังคมเมื่อโตขึ้น"ลองดูเว็บ"ใช้คำ piyayanti หาใน search engineหรือคลิกเข้าไปที่ เว็บข้างล่าง http://groups.google.co.th/group/-kontaikidpen มีเรื่องดีสำหรับลูกหลานบอกผ่านผู้ใหญ่ไปใช้สอนเด็กก็ดี ผมหวังดีจึงมีมติ จงทำอย่างที่ผมสอน แต่อย่าทำอย่างที่ผมทำ เพราะผมเห็นแจ้งในสัจธรรม ผมมุ่งทางธรรม แต่เมื่อคุณอยากอยู่กับโลก ต้องตามโลกให้ทัน อย่าขวางโลก ผมมุ่งสอนให้ทุกคนรู้จักความต้องการของตัวเอง เป็นตัวของตัวเอง โดยไม่มีปมจิตติดค้างโดยใครๆ

Submitted by ใจเย็นๆ on

หนึ่งเดือนเร็วไปที่จะมาวิจารณ์รํฐบาลประชาชนที่ยังไม่ได้เริ่มงานอะไรจริงๆจังๆ แถมยังมีทุ่นระเบิดจากฝ่ายค้่านทั้งในและนอกสภาวางไว้เต็มไปหมด
ถ้าเราทนให้รัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งนั่งๆ นอนๆ ไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน แถมยังออกกฎหมายบ่อนทำลายประชาธิปไตยมาได้เป็นเวลาเกือบสองปี กะอีแค่หนี่งเดือนจะนับประสาอะไร

Submitted by แฟนไอ้หมา on

ชอบไอ้หมาวิท'กร

ยังมีแง่คิดแบบใหม่มาเสมอ สะใจจริงๆ ตอกกลับพวกแนวชุมชน

Submitted by หัวคน on

หัวไม้ หรือ หัวหมา

Submitted by ยส เดชาแก้ว on

1 เดือน สำหรับ คุณภาพันธ์ น่าจะเรียนคาถามาดี เลยต้องการทำอะไรเหมือนเสกคาถา รัฐบาลทักษิณ ทำ 4 ปี รัฐบาล ที่พวกคุณเรียกร้องอยากได้ก็เข้ามา ๑๗ เดือน ยังทำอะไรไม่ได้ แต่ 1เดือน จะเอาให้เห็นเป็นรูปธรรม แค่ข้อมูลเฉย ๆ ยังได้ไม่ครบพื้นที่เลย ครับท่าน เมืองไทยนะครับไม่ใช้ หมู่บ้านของคุณ ที่ 1 เดือนก็ตรวจสอบครบหมด ลักษณะการเขียนคอลัมพ์แบบไม่ใช้หัวคิด สักแต่ขีดเขียน เหมือนไก่เขี่ยขี้ ก่อนจะเขียนขอให้ใช้หัวคิดให้มากหน่อยหรือทำข้อมูล และคิดให้รอบครอบ ประชาชนที่ฉลาดพอ เขารู้ว่าเป็นงานของพวกคุณที่ต้องการยุยงให้คนไม่ชอบ รัฐ เหมือนกับเป็นการสร้างความแตกแยก
การจะว่าคนอื่นต้องมีข้อมูลพอหรือข้อเสนอที่เขาอาจจะ มองไม่เห็น จะได้นำไปปฎิบัติได้ อย่าสักแต่ว่า (เขี่ย) แล้วจะสร้างความแตกแยกได้ บ้านเมือง ถดถอยเพราะมีคนอย่างพวกคุณ อย่าคิดว่า เป็น NGO ทำงานเพื่อประชาชนและประชาชนจะต้องรับฟังคุณหมด ให้ทำแบบเป็นเรื่อง ส่งเสริมจะดีกว่าอย่าทำในลักษณะทำลายเลย

Submitted by ตอบความเห็น 1 on

อย่าออกความเห็นเหมือนแกนนำ นปก.สิครับ ไม่สุภาพ

Submitted by คนคิดเป็น on

'กาซีนเอี้ยอะไร อคติชิบเผง แค่ 1เดือนจะทำอะไรได้ ยิ่งเข้ามาตอนที่อะไรๆมันเพี้ยนไปหมดยังงี้ สันดานสื่อเป็นเหมือนกันหมด

Submitted by guest on

ก็เร็วเกินไปที่จะกล่าวเช่นนั้น ปัญหารุมเร้ารอบด้าน กว่าจะได้ตั้งรัฐบาลก็ต้องผ่านด่าน กกต. ตอนนี้ก็ยังนับใบเหลืองใบแดงกันอยู่ เสร็จแล้วก็มาเจอด่าน คตส. สิ้นเดือนนี้ต้องมาเจอกลุ่มพันธฯ พรรคจะถูกยุบหรือเปล่าก็ไม่รู้ ต้องเปลี่ยนรัฐบาลใหม่รึเปล่า ประเทศก็ย่ำแย่จากปัญหาปากท้อง ปัญหาน้ำมัน อะไรจิปาถะไปหมด
ผมว่าเขามองเห็นประชาชนอยู่ตลอดเวลาครับ ตอนหาเสียงเขาก็ใช้ตาสองข้างมองประชาชน แต่พอมาเป็นรัฐบาลเข้าก็ต้องใช้ตาข้างหนึ่งมองปัญหาเพื่อแก้ปัญหา ส่วนตาอีกข้างหนึ่งเขาก็ยังมองประชาชน เพราะเขาก็รู้ดีว่าในประเทศนี้มีประชาชนที่เลือกเขามาเท่านั้นที่สนับสนุนเขา นอกนั้นต้องการฆ่าเขาให้ตายทุกวิถีทาง มีหรือเขาจะมองไม่เห็นประชาชน

Submitted by tinnawat on

คุณจะทำให้ผมแน่ใจได้อย่างไร ว่า ความคิดเห็นในบทความคุณ เป็นข้อเท็จจริง ไม่ไช่ ข้อโกหกที่ปนมากับความจริง

2 คำถามเรื่องหลักการในข่าว “แดง” จับ “แดง”

กรณี “แดงจับแดง” ที่เกิดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ไม่ควรถูกมองว่าเป็นแค่เรื่องเข้าใจผิด หรือเรื่องน้ำผึ้งหยดเดียวและจบกัน แต่นี่คือเป็นปัญหาท่าที และหลักการของแกนนำซึ่งไปช้ากว่ามวลชนอย่างสม่ำเสมอ

M79 และผองเพื่อน: สิ่งเบี่ยงเบนข่าวสารราคาย่อมเยา

วิธีกลบข่าวแบบบ้านๆ ไทยๆ ไม่ต้องลงทุนมากก็กลบมันด้วยน้อง M79 ลูกกระสุนสนนราคาละไม่กี่ร้อย แต่ก็ได้พาดหัวข่าวหน้าหนึ่งกลบข่าวคนเป็นหมื่นเป็นแสนที่ออกมาไล่รัฐบาลในขณะนี้

โอกาสเดียว 'ยึด' และ 'ยึดหมด' : ข่าวคดียึดทรัพย์ในสายตานักข่าวเทศ

สื่อต่างประเทศให้ความสนใจกับข่าวการเมืองในไทยกันหนาแน่นตลอดสัปดาห์นี้ ยิ่งใกล้วันศุกร์ วันที่สื่อทั้งหลายเรียกมันว่า judgement day มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งลงข่าวและบทวิเคราะห์กันคึกคักมากขึ้นเท่านั้น ประเด็นของการรายงานของสื่อนอกเน้นหนักไปที่สองเรื่องใหญ่คือ แนวทางของคำพิพากษาที่จะออกมา กับผลสะเทือนทางการเมืองจากการตัดสินหนนี้ ทั้งต่อการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างสองขั้วคือเหลืองกับแดง และผลกระทบที่จะมีต่อเศรษฐกิจไทย

(ที่มาของภาพ: มังกรดำ) ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่อาคารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2551 หรือเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ถือเป็นการกลับเมืองไทยครั้งแรกนับตั้งแต่เขาออกจากประเทศไปประชุมที่องค์การสหประชาชาติและเกิดการรัฐประหารโค่นอำนาจเขาเมื่อ 19 กันยายน 2549 ต่อมาวันที่ 31 กรกฎาคม 2551 เขาเดินทางออกนอกประเทศอีกครั้งโดยไม่กลับมาฟังคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในคดีที่ดินรัชดา ล่าสุดในวันที่ 26 กุมภาพันธ์นี้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะอ่านคำพิพากษาคดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้านบาทอีกคดี นับเป็นอีกครั้งหนึ่งที่สื่อทั้งไทยและต่างประเทศให้ความสนใจต่อเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองไทย