วิกฤตการณ์ข้าวยากหมากแพงส่งผลกระทบไปทั่วโลก ซึ่งกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดเห็นจะหนีไปพ้น คนยากคนจนทั่วโลก ในหลายประเทศวิกฤตการณ์นี้นำไปสู่การจลาจล เหตุการณ์ความรุนแรงต่างๆ เช่นในเฮติ อียิปต์และโซมาเลีย วิกฤติอาหารยังลามถึงภูมิภาคอเมริกากลาง จนประธานาธิบดีนิคารากัวเรียกประชุมฉุกเฉิน ยอมรับภาวะขาดแคลนอาหารเข้าขั้นวิกฤติ จนเกรงว่าจะบานปลายเป็นเหตุวุ่นวายในสังคม
ขณะเดียวกันองค์กรระหว่างประเทศต่างก็ออกมาให้ข้อมูลชวนหวั่นไหว ธนาคารโลกออกมาเตือนว่า วิกฤตอาหารแพงนี้จะเพิ่มระดับความยากจนทั่วโลกอาจพุ่งสูงขึ้นในอีก 3 ปีข้างหน้า โดยราคาอาหารและน้ำมันแพงในช่วง 2 ปีที่แล้ว ทำให้ประชาชนประมาณ 100 ล้านคนตกอยู่ในฐานะยากจน มีชีวิตอยู่ด้วยความรันทดหนักเข้าไปอีก เพราะมีรายได้ต่ำกว่า 2 ดอลลาร์สหรัฐ หรือไม่ถึง 50 บาทต่อวัน
ปรากฏการณ์ที่สำคัญคือ ธัญพืช (ข้าว,ข้าวสาลี และข้าวโพด) ของโลกมีราคาสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเริ่มขึ้นในปี 2550 และเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงเดือนมีนาคม 2551 เป็นต้นมา ราคาข้าวโพดเพิ่มขึ้น 31% ข้าวเพิ่มขึ้น 74% ถั่วเหลืองเพิ่มขึ้น 87% และข้าวสาลีเพิ่มขึ้นมากที่สุดถึง 130%
ตอนนี้ราคาอาหารเฉลี่ยแล้วเพิ่มมากขึ้น 2 เท่าครึ่ง ข้อมูลจากองค์การอาหารและเกษตรกรรมโลก (เอฟเอโอ)ระบุว่า ราคาอาหารตอนนี้พุ่งขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 26 ทำให้ต้นทุนต่างๆ ขยับขึ้นร้อยละ 40
สาเหตุของวิกฤตการณ์พืชผล อาหารแพงเป็นประวัติการณ์ดังกล่าวมีหลายปัจจัย และแยกไม่ออกกับราคาน้ำมันที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์เช่นกัน ซึ่งเป็นเหตุทำให้หลายประเทศโหมปลูกพืชพลังงานทดแทน เบียดบังพื้นที่เพาะปลูกอาหาร บราซิลและสหรัฐดูเหมือนจะเป็นประเทศหลักที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงในกรณีนี้ เพราะเป็นผู้ผลิตเอทานอลรายใหญ่สุดของโลก ถึงขั้นที่ "ยีน ซีเกลอร์ " ผู้จัดทำรายงานพิเศษของสหประชาชาติเรื่องสิทธิในการเข้าถึงอาหาร เรียกการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพอย่างมโหฬารนี้ว่าเป็น "การก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ"
อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีลูอิซ อินาซิโอ ลูล่า ดา ซิลวาของบราซิล ได้ออกมาตอบโต้เรื่องนี้โดยบอกว่าชาติอุตสาหกรรมที่ให้เงินอุดหนุนต่อผลผลิตทางการเกษตรของชาติตนเอง จนทำให้ได้เปรียบประเทศกำลังพัฒนาต่างหากเป็นสาเหตุแท้จริงที่ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรของโลกลดน้อยลง
มุมมองนักเศรษฐศาสตร์
ด้านนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ของไทย ‘นิพนธ์ พัวพงศกร’ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในงานสัมมนาที่คณะเศรษฐศาสตร์ เรื่อง “สถานการณ์ข้าวยากหมากแพง: โอกาส หรือวิกฤตสำหรับสังคมเศรษฐกิจไทย” เมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยแยกสาเหตุวิกฤตการณ์ครั้งนี้เป็นระยะยาวและระยะสั้น
สาเหตุระยะยาว ด้านอุปสงค์ ได้แก่ 1.ประชากรโลกเพิ่มขึ้นสูง อัตราการเพิ่มของประชากรหลังทศวรรษ 1970 เพิ่มขึ้น 1.2% เทียบกับ 2% ในอดีต แต่ประชากรส่วนใหญ่ที่เพิ่มขึ้นอยู่ในประเทศกำลังพัฒนาเป็นหลัก
2.การเติบโตของรายได้จะทำให้ความยากจนในประเทศกำลังพัฒนาลดลง คนมีอำนาจซื้อมากขึ้น ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ระบุว่ายิ่งคนรวยขึ้นก็จะบริโภคคาร์โบไฮเดรตลดลงแต่จะบริโภคเนื้อสัตว์ ดังนั้น อุปสงค์ธัญพืชที่ใช้เลี้ยงสัตว์ก็จะเพิ่มขึ้นมาก เพราะเนื้อวัว 1 กก.ต้องใช้ 7 กก. เนื้อหมู 1 กก.ใช้ข้าวโพด 6.5 กก. ไก่ 1 กก.ใช้ข้าวโพด 2.6 กก.
ด้านอุปทาน ได้แก่ 1.รัฐบาลกับองค์กรระหว่างประเทศลดการลงทุนในภาคการเกษตรหลังจากปฏิวัติเขียว เพราะหลังจากปฏิวัติเขียวราคาอาหารลดลงมาตลอด บรรษัทข้ามชาติเน้นการวิจัยจีเอ็มโอที่ลดการใช้ยาฆ่าแมลงแล้วให้เกษตรกรมาซื้อเมล็ดพันธุ์ทุกฤดูกาลแทนการเพิ่มผลผลิตโดยตรง
2.สต๊อกธัญพืชทั่วโลกลดลง ในอดีตรัฐบาลพัฒนาแล้วหลายประเทศจะช่วยเหลือเกษตรกรโดยซื้อเมล็ดพันธุ์มาไว้ในสต๊อกแล้วแจกจ่าย แต่หลังจากราคาเมล็ดพันธุ์สูงขึ้นมากในระยะหลังจึงอุดหนุนเป็นตัวเงินโดยตรง ขณะที่ ปัญหาเรื่องมลพิษก็ทำให้พื้นที่ทำการเกษตรมีข้อจำกัดขึ้นมาก
ส่วนสาเหตุระยะกลางและระยะสั้น ได้แก่ ปัญหาดินฟ้าอากาศในปีสองปีที่ผ่านมาทำให้พืชผลน้อยลง โดยเฉพาะสินค้าข้าว รัฐบาลในประเทศผู้ส่งออกต่างตกใจแล้วงัดมาตรการจำกัดการส่งออกมาใช้ ขณะที่ผู้นำเข้าก็แตกตื่นรีบสั่งซื้อข้าวกักตุนไว้จำนวนมาก นี่เป็นปัจจัยสำคัญของการดันราคาขึ้น ประกอบปัจจัยอื่นๆ เกี่ยวกับการเก็งกำไร ค่าเงิน กระพือให้ราคาส่งออกพุ่งสูงผิดปกติ ซึ่งนิพนธ์เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “ราคาฟองสบู่” กรณีข้าวเป็นกรณีพิเศษเพราะตลาดข้าว “บาง” มาก เพราะตลาดข้าวมีลักษณะเหมือนตลาดหุ้น ผลผลิตข้าวสารผลิตได้หลายร้อยล้านตัน แต่ซื้อขายกันในตลาดโลกเพียง 6% กว่าเท่านั้น ดังนั้น แม้การกระเพื่อมเพียงนิดหน่อย เช่น ผลผลิตลดลงเล็กน้อย ราคาก็จะพุ่งรวดเร็วและลดลงเร็วเช่นกัน
อีกด้านหนึ่งคือราคาพลังงานสูงขึ้น รัฐบาลทั่วโลกมีนโยบายว่าด้วยชีวพลังงาน และมีเป้าหมายอย่างมโหฬารในการผลิตพืชพลังงาน สหรัฐอเมริการะบุว่าภายในปี 2012 จะผลิตเอทานอลอีก 7.5 พันล้านแกลลอน หรือ 30 ล้านตัน บราซิลจะผลิต 36 พันล้านลิตร ต้องใช้พื้นที่มหาศาล กรณีของสหรัฐ นโยบายชีวพลังงานของสหรัฐนั้นใช้ข้าวโพด 20% ของผลผลิตทั้งหมดมาผลิตเอทานอล ซึ่งไปแย่งพื้นที่ปลูกธัญพืช ฝ้าย ฯ ทำให้พืชตัวอื่นๆ ราคาสูง
“ตลาดข้าวเวลานี้ไร้ดุลยภาพ ราคาฟองสบู่ การทำวิจัยขององค์กรระหว่างประเทศหลายแห่ง คาดคะเนว่าระหว่างปี 2548-2558 ราคาข้าวแท้จริงน่าจะเพิ่มขึ้น 28% ภายใต้ข้อสมมติว่ารัฐบาลประเทศต่างๆ ใช้นโยบายชีวพลังงาน ภายใต้ข้อสมมติว่า ผลผลิตต่อไร่คงที่ สรุปว่า คนส่วนใหญ่คิดว่าในระยะ 5-10 ปีราคาอาหารจะอยู่ในระดับสูง แต่ผันผวน ส่วนจะผันผวนมากแค่ไหนขึ้นอยู่กับรัฐบาลประเทศต่างๆ หากมีการแทรกแซงมากอาจจะทำให้ผันผวนมากกว่าในอดีต ซึ่งน่ากลัวมากเรื่องความผันผวน เพราะกระทบกระเทือนต่อเกษตรกรโดยตรง”
จ้าละหวั่น รับมือวิกฤต
ท่ามกลางสภาพการณ์เช่นนี้ หลายประเทศ หรือหลายกลุ่มประเทศเริ่มขยับปรับนโยบายเพื่อรับมือกับอนาคตอันไม่แน่นอนแล้ว เช่น คณะกรรมาธิการแห่งสหภาพยุโรปหรืออียู อยู่ระหว่างทบทวนร่างนโยบายการปฏิรูปเกษตรกรรมครั้งใหญ่ในหมู่ชาติสมาชิกอียู โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร
ล่าสุด เป็นที่น่าจับตามากสำหรับรัฐบาลแถบละตินอเมริกาซึ่งเริ่ม ‘เลี้ยวซ้าย’ มากขึ้นเรื่อยๆ รวมไปถึงประเทศคาบสมุทรแคริบเบียนรวม 17 ชาติ ได้จัดประชุมสุดยอด เรื่อง “อาหารเพื่อชีวิต” ขึ้นในกรุงมานากัวของนิการากัว เมื่อวันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่านมา หาแนวทางแก้วิกฤติที่กำลังรุมเร้า
โดยที่ประชุมร่วมลงนามในข้อตกลงแบบไร้ข้อผูกมัด เพื่อส่งเสริมภาคเกษตรในภูมิภาคและให้ธนาคารเอกชนปล่อยกู้ในภาคเกษตรสูงถึง 10% ของวงเงินและสินทรัพย์ที่มีและยังวิจารณ์กลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ที่อุดหนุนภาคเกษตร จำกัดการเผยแพร่เทคโนโลยีจนส่งผลกระทบต่อชาติยากจน
ข้อตกลงยังเรียกร้องให้ร่างแผนปฏิบัติการภายใน 30 วัน เพื่อเพิ่มผลผลิตอาหารท้องถิ่นในภูมิภาค จัดตั้งตลาดภายในและระหว่างประเทศ จำหน่ายสินค้าราคายุติธรรมต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค โดยข้อตกลงยังรวมเอาแนวคิดริเริ่มตั้งกองทุนอาหารจากผลกำไรการขายน้ำมัน มูลค่า 100 ล้านดอลลาร์ของเวเนซุเอลา และพันธมิตรฝ่ายซ้ายอย่างคิวบา โบลิเวีย และนิการากัวที่มีขึ้นเมื่อครั้งประชุม “กลุ่มการค้าอัลบา” (เอแอลบีเอ) ในกรุงการากัสเมื่อ 23 เม.ย. เข้าไปด้วย เรื่องนี้เริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นแม้บางประเทศยังมีความเห็นแย้งอยู่บ้าง
ขณะที่ประเทศไทยก็เริ่มยกระดับความสนใจให้วิกฤติอาหารโลกเป็นวาระแห่งชาติ และรัฐบาลมียุทธศาสตร์จัดการพืชพลังงานและอาหาร โดยมุ่งปรับโครงสร้างการผลิตอาหารใหม่พร้อมกำหนดนโยบายพืชพลังงานให้ชัดเจนขึ้น ในส่วนของมันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน และปาล์มน้ำมัน ซึ่งจะรักษาระดับพื้นที่ปลูกแต่ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต กำหนดเป้าหมายเพิ่มผลผลิตต่อไร่อย่างน้อย 10%
ทั้งหมดนี้เป็นกรอบกว้างๆ ที่รัฐบาลกำหนดไว้ อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญที่รัฐบาลไม่ได้ระบุถึงในขณะที่นักวิชาการจากหลายส่วนเคยเสนอไว้คือ การเพิ่มการทำวิจัยภาคการเกษตร และผลิตฐานข้อมูลอย่างเป็นระบบ เพราะแม้เราจะส่งออกอันดับ 1 แต่กลับลงทุนกับการวิจัย การสร้างองค์ความรู้น้อยมาก อย่างปีที่แล้วมีการลงทุนวิจัยเพียง 100 กว่าล้านบาท รวมทั้งเรื่องข้อมูลการเกษตรของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรนั้น ดูเหมือนจะมีปัญหาด้านคุณภาพของข้อมูล จึงยังไม่ต้องพูดถึงองค์ความรู้ ข้อมูลที่จะลงสู่เกษตรกรรายย่อยให้มีความรู้ความเข้าใจเรื่องนโยบายรัฐ ทิศทางการตลาดเพื่อวางแผนการผลิตมากขึ้นอย่างที่มีการนำเสนอกันตลอดมา
ข้อมูลบางส่วนจาก
เวิลด์แบงก์เตือนอาหารแพงทำคนยากจนพุ่ง, เว็บไซต์เดลินิวส์ วันที่ 21 พ.ค.51
ชี้งบโลกซื้ออาหาร กระฉูด32ล้านล้าน, เว็บไซต์ข่าวสด วันที่ 23 พ.ค.51
ละตินอเมริกา รวมกลุ่มคุยแก้วิกฤติอาหารโลก, เว็บไซต์ไทยรัฐ วันที่ 9 พ.ค.51