Skip to main content

หลังจากแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP) 2007 ได้รับอนุมัติไปเมื่อราวเดือนมิถุนายน 2550  ก็เป็นอันชัดเจนว่า นับจากนี้ไป 15 ปี ประเทศไทยมีแผนการสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซ 20 กว่าโรง โรงไฟฟ้าถ่านหิน 4 โรง (2,800 เมกกะวัตต์) โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 4 โรง (4,000 เมกกะวัตต์) มีทั้งที่ กฟผ.สร้างเองและการเปิดให้บริษัทเอกชนขนาดใหญ่ผลิตไฟฟ้า (IPP)ยังไม่นับรวมการรับซื้อไฟฟ้าจากเพื่อนบ้านอีกเป็นจำนวนมากด้วย

 

แผนดังกล่าวถูกร่างขึ้นโดย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นตัวหลัก ขณะที่มีเสียงเรียกร้องให้มีองค์กรอิสระขึ้นมาพิจารณาเรื่องนี้โดยเฉพาะเพื่อจะได้วิเคราะห์ข้อมูลอย่างรอบด้าน นอกจากนี้กระบวนการทำแผนยังมีเสียงสะท้อนเกี่ยวกับปัญหาเกี่ยวกับการมีส่วนร่วม เช่น การรับฟังความคิดเห็นครั้งใหญ่ๆ มีอยู่ไม่กี่ครั้ง และเป็นการอธิบายโดยวิทยากรมากกว่าจะรับฟังความคิดเห็นของฝ่ายต่างๆ  

 

อย่างไรก็ตาม แม้แผนจะชัดเจน แต่พื้นที่ที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน และโดยเฉพาะโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซึ่งยังมีข้อถกเถียงชวนกังวลนั้น ยังไม่ได้ชี้ชัดว่าจะไปลงตรงไหน จนมาปีนี้ความชัดเจนค่อยๆ ปรากฏขึ้นว่ามีแนวโน้มจะเป็นพื้นที่เดิมที่เคยถูกวางไว้และพื้นที่ใกล้เคียง

 

 

000

 

 

หลังจากแผนพีดีพีอนุมัติ พื้นที่ที่จะตั้งโครงการโรงไฟฟ้าทั้งถ่านหิน และนิวเคลียร์ ยังเป็นเรื่องคลุมเครือ อาจเพราะรัฐเองก็กำลังประเมินแรงต้านในพื้นที่ว่ายังมีหนาแน่น กระทั่ง ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์' อดีต รมว.พลังงานที่ดันพีดีพีฉบับล่าสุดสำเร็จก็ยังออกมาบ่นว่าว่ารัฐบาลขับเคลื่อนโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไปได้ช้า ขณะที่เวลาที่วางไว้ในแผนพีดีพีก็งวดเข้าทุกที ( "ปิยสวัสดิ์สับลดค่ากลั่น 10 ปีต้องผุดนิวเคลียร์" นสพ.ข่าวหุ้น 9 มิ.ย.51)

 

ตามแผนแล้วโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 2,000 เมกกะวัตต์แรกต้องป้อนไฟสู่ระบบในปี 2563 และอีก 2,000 เมกกะวัตต์ที่เหลือจะตามมาในปีถัดมา นับเป็นเวลาที่รวดเร็วมากในการคิดและดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ อาจเพราะไทยพยายามเร่งฝีเท้าให้ทันเวียดนาม ซึ่งถูกเล็งว่าเป็นคู่แข่งตัวฉกาจ เพราะเวียดนามก็เริ่มผลักดันโครงการนิวเคลียร์แล้ว แต่ขอเวลาศึกษาก่อน 15 ปี ขณะเดียวกันเวียดนามก็สำรวจพบแหล่งแร่ยูเรเนียมขนาดใหญ่ในประเทศเองด้วย

 

สำหรับประเทศไทย ขณะนี้มีคณะทำงานขึ้นมา 5 ชุดเพื่อเตรียความพร้อมทั้งด้านบุคลากร โครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการประชาสัมพันธ์กับประชาชน นอกจากนี้ กฟผ.ยังเตรียมส่งหนังสือเชิญ 5 บริษัทต่างประเทศ ทั้งญี่ปุ่น สหรัฐ ฝรั่งเศส เข้าคัดเลือกเป็นที่ปรึกษาโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยคาดว่าผลการศึกษาจะเสร็จภายใน 2 ปี

 

อย่างไรก็ตาม  นายเดชรัตน์ สุขกำเนิด อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่ศึกษานโยบายพลังงานไทยมายาวนานให้ความเห็นว่า คณะกรรมการศึกษาความเหมาะสมเพื่อเตรียมความพร้อมการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ได้ทุ่มงบประมาณไปกว่า 100 ล้านบาท แบ่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ อาทิ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) สร้างความเข้าใจในเรื่องนี้แก่ประชาชน แต่ปัญหาคือ การดำเนินงานดังกล่าวยังไม่รอบด้าน มุ่งเน้นแต่การให้ความรู้ด้านนิวเคลียร์เท่านั้น ทั้งๆที่ประเทศไทยยังมีพลังงานทางเลือกชนิดอื่นๆ ( "ติงงบประชาสัมพันธ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 100 ล้าน" เว็บไซต์ไทยรัฐ 2 ก.ค.51)

 

ที่ผ่านมามีกลุ่มนักวิชาการและเอ็นจีโอเสนอแนวทางการปฏิบัติด้านพลังงานทางเลือกของประเทศไทยให้แก่กระทรวงพลังงาน แต่ดูเหมือนไม่ได้รับการตอบรับใดๆ จึงยังไม่มีบทสนทนาในเรื่องนี้เท่าไรนัก และน่าสนใจว่า เดชรัตน์และคณะก็กำลังจะพิมพ์หนังสือเรื่อง 10 สิ่งที่นิวเคลียร์พูดและไม่พูด เผยแพร่ในเดือนสิงหาคมนี้ เรียกได้ว่าแข่งกันทำความเข้าใจกับประชาชนเลยทีเดียว

 

 

000

 

 

ขณะที่เมื่อเร็วๆ นี้ นายกสมาคมนิวเคลียร์แห่งประเทศไทย "ผศ.ดร.ปรีชา การสุทธิ์" ในฐานะประธานคณะกรรมการชุดศึกษาความปลอดภัยและคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า คาดว่าพื้นที่เดิมที่เคยเตรียมไว้จะถูกนำมาทบทวนอีกครั้ง โดยเฉพาะทะเลชายฝั่งตะวันตก หรือ "เวสเทิร์นซีบอร์ด" ที่เคยมีการศึกษาไว้แล้วไล่ตั้งแต่ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี เนื่องจากมีความลึกของทะเลและมีการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานรองรับเอาไว้ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือในเขตภาคใต้ฝั่งตะวันตกดังกล่าวมี "แนวรอยเลื่อนระนอง" พาดผ่าน ตั้งแต่ประจวบฯ ชุมพร ระนอง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาพฤติกรรมของ "รอยเลื่อนระนอง" หลังเหตุการณ์ "สึนามิ" เมื่อ 3 ปีก่อนว่ามีการขยับหรือไม่ ซึ่งการศึกษาจะแล้วเสร็จภายในปลายปีนี้ ( "โรงไฟฟ้านิวเคลียร์  (จับกระแสพลังงาน)" เว็บไซต์แนวหน้า 30 พฤษภาคม 2551)

 

ภาคใต้ตอนบนเป็นทำเลทองสำหรับโครงการโรงไฟฟ้า หรืออุตสาหกรรมหนักมาเนิ่นนาน และพร้อมๆ กันก็มีประวัติการต่อสู้คัดค้านของชาวบ้านในพื้นที่มาอย่างยาวนานด้วย โดยเฉพาะที่ประจวบคีรีขันธ์

 

ทับสะแก'อีกอำเภอหนึ่งในจังหวัดประจวบฯ ก็เคยถูกเล็งไว้จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินชุดเดียวกับโรงไฟฟ้าบ่อนอก-บ้านกรูด (แห่งละ 700 เมกกะวัตต์) ซึ่งสุดท้ายทั้งบ่อนอก ทั้งบ้านกรูดถูกคัดค้านจนต้องพับโครงการไป ขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าทับสะแกซึ่งมีขนาดใหญ่กว่า คือ 2,000 เมกกะวัตต์ก็มีปัญหาการคอรัปชั่นของพนักงาน กฟผ. ในการซื้อที่ดิน 4,019 ไร่ โดยมีการทุจริตเป็นมูลค่า 800 ล้านบาท หรือ 40% ของมูลค่าทั้งหมดของโครงการ จนต้องหยุดชะงักไป แต่วันนี้โครงการโรงไฟฟ้าที่ทับสะแกกลับมาใหม่ และแว่วว่าอาจจะใหญ่กว่าเดิม

 

 

000

 

         

ปลายปี  2549  กฟผ.ได้ฟื้นโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินทับสะแกขึ้นมาใหม่ พร้อมมีแผนจะขยายกำลังการผลิตจาก 2,000 เมกะวัตต์ เป็น 4,000 เมกะวัตต์ (5 โรง) คาดว่าจะใหญ่ที่สุดในเอเชีย

         

นายสถาน ช่อระหงส์ ชาวบ้านทับสะแกให้ข้อมูลว่า ถึงแม้ชาวบ้านจะเกาะติด ตามเรื่องที่กระทรวงพลังงานจนทางกระทรวงยืนยันว่าไม่มีนโยบายสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ทับสะแก แต่ในทางปฏิบัติ กฟผ.ก็ยังคงเข้ามาทำการผลักดันโครงการในรูปแบบต่างๆ และสร้างความแตกแยกกับคนในชุมชน จนบางชุมชนถึงกับต้องไล่ฝ่ายมวลชนสัมพันธ์ของ กฟผ.ออกจากหมู่บ้านไป

 

นอกจากนี้ยังมีประเด็นของการเปลี่ยนผังเมือง "สีเขียว" เป็น "สีน้ำเงิน" เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพราะปัจจุบันร่างผังเมืองรวมชุมชนทับสะแกที่โยธาและผังเมืองจังหวัดประจวบฯ ได้นำมาขอรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนครั้งที่ 1 ได้ระบุให้พื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินทับสะแกของ กฟผ.เป็นสีเขียว เพราะเห็นว่าเป็นแนวทางการใช้ประโยชน์ที่ดินที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจเดิมของชุมชนที่เป็นเกษตร และมีทิศทางการเติบโตด้านการท่องเที่ยวอย่างเห็นได้ชัด อยู่ห่างจากชุมชนหนาแน่นเพียง 1,500 เมตร แต่  กฟผ.ยื่นขอให้เปลี่ยนสีผังเมืองจากสีเขียวเป็นสีน้ำเงินแทน โดยอ้างว่า การใช้ประโยชน์ที่ดินนี้เป็นส่วนราชการและเป็นพื้นที่สาธารณูปโภค เพราะ กฟผ.ตีความว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นสาธารณูปโภคของรัฐ   ซึ่งเรื่องนี้ยังคงต่อสู้กันอยู่ โดยชาวบ้านในพื้นที่ยังคงรวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็งเพื่อคัดค้านโครงการ

 

คาดกันว่า โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่นี้จะเดินหน้าไปคู่กับการผลักดันให้พื้นที่ประจวบฯ เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์เหล็กแห่งชาติ เน้นการผลิตเหล็กครบวงจร ซึ่งก็กำลังผลักดันกันอยู่อย่างหนักหน่วงเช่นกัน

 

000

 

ด้านภาคตะวันออกและภาคกลาง ซึ่งเป็นพื้นที่รองรับอุตสาหกรรมหนักมาอย่างยาวนานและหนาแน่น ยังคงมีความพยายามใส่โครงการเหล่านี้เพิ่มเติมเข้าไป เช่น ที่ระยองมีการขยายโครงการปิโตรเคมีระยะ 3 ซึ่งเป็นอภิมหาโครงการด้านปิโตรเคมี รวมไปถึงโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ส่วนที่ฉะเชิงเทรา สมุทรสงครามก็มีโครงการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เช่นกัน

 

แม้ระดับนโยบายจะผลักดันโครงการเหล่านี้ ภาคเอกชนเองก็กำลังรีบดำเนินการ ในส่วนของคนในพื้นที่ก็มีการรวมตัวกันคัดค้านอย่างเหนียวแน่นเรียกว่าระดมพลข้ามเขตข้ามจังหวัดกันแล้ว เช่น เมื่อ 22 มิ.ย. ที่ผ่านมา แกนนำกลุ่มต่อต้านโรงไฟฟ้าหลายแห่ง เช่น กลุ่มต่อต้านโรงไฟฟ้าจังหวัดระยอง กลุ่มต่อต้านโรงไฟฟ้าหนองแซง จ.สระบุรี กลุ่มต่อต้านโรงไฟฟ้าบางปะกง กลุ่มต่อต้านโรงไฟฟ้าราชบุรี กลุ่มต่อต้านโรงไฟฟ้าเขาหินซ้อน จ.ฉะเชิงเทรา ได้เดินทางมารวมตัวกัน เพื่อประชุมหารือแนวทาง และผนึกกำลังกันในการเคลื่อนไหวต่อต้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในแต่ละท้องที่ที่ประชาชนจะได้รับผลกระทบ หลังจากมีกระแสข่าวว่า สำนักงานนโยบายและแผน กระทรวงพลังงานเร่งรัดให้ สำนักงานนโยบายและแผน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เร่งพิจารณาอนุมัติ ผ่านอีไอเอ (EIA) ให้แก่โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าภาคเอกชน 4 แห่ง ได้แก่ โรงไฟฟ้าเสม็ดเหนือ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา โรงไฟฟ้าถ่านหิน ของกลุ่มบริษัทเครือเกษตรรุ่งเรือง อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา โรงไฟฟ้าราชบุรี และโรงไฟฟ้า จ.ระยอง ทำการก่อสร้างโรงไฟฟ้า

 

 

000

 

 

แนวโน้มการผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าทั้งหลายดูเหมือนจะเต็มไปด้วยอุปสรรค

 

การเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมตั้งแต่ระดับนโยบาย ตั้งแต่จุดเริ่มต้นอาจหาจุดลงตัวยากลำบาก แต่น่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่าการต่อสู้กันในบั้นปลายที่มีแต่จะยิ่งเพิ่มแรงกดดันกับทุกฝ่าย

 

การแก้ปัญหาที่มีอยู่เดิม เช่น กรณีของแม่เมาะ มาบตาพุด ฯลฯ อาจเป็นเรื่องไม่ง่ายนักเพราะปัญหาสะสมหมักหมมมานาน แต่ก็น่าจะเพิ่มความมั่นใจให้ผู้คนที่กำลังจะเผชิญกับโครงการในรูปแบบเดียวกันได้

 

ยังคงต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดว่าโครงการมหึมาที่มีข้อถกเถียงกันเยอะแยะในทุกรายละเอียดนี้จะลงเอยอย่างไร ในพื้นที่ไหน ในภาวะที่ประชาชนหัวแข็งขึ้นเรื่อยๆ และไม่ยอมให้ "ผู้เชี่ยวชาญ" ผูกขาดอำนาจการกำหนดนโยบายแล้ว

บล็อกของ หัวไม้ story

หัวไม้ story
ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในประเทศไทยจำนวนหนึ่ง อาจจะฮือฮามาสักพักแล้วกับเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ของนักการเมืองค่ายประชาธิปัตย์ นำโดย หล่อใหญ่ อภิสิทธิ์ ตามมาด้วยสาทิตย์ วงษ์หนองเตย  แต่ก็ยังอาจจะยังไม่เห็นประสิทธิผลมากนักสำหรับการเปิดพื้นที่ใหม่ในสื่อใหม่ในโลกออนไลน์ เพราะยังไม่มีการใช้สำหรับแคมเปญหาเสียง หรือแคมเปญกิจกรรมอะไรพิเศษ แต่แล้ว เมื่อเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ชื่อ thaksinlive เริ่มเป็นที่รับรู้ของชาวไซเบอร์เพียงไม่กี่วัน ก็กลับฮือฮาเป็นกระแสพ้นพรมแดนโลกไซเบอร์ออกมาเหมือนปีศาจที่ตามหลอกหลอนไปทุกพรมแดนความรับรู้ของขั้วการเมืองฝ่ายตรงข้าม
หัวไม้ story
ในฐานะที่กระแสรางวัลซีไรต์ปีนี้ช่างแผ่วเบา เราจึงขอกระตุ้น ยั่วยวน ให้หันมองด้วยงานวิจารณ์ของ “นายยืนยง” ซึ่งยืนยันกับการชื่นชม “วิญญาณที่ถูกเนรเทศ” เล่มหนึ่งที่เข้ารอบสุดท้าย ไม่ว่าใครจะครหาอย่างไรก็ตาม         ชื่อหนังสือ         :           วิญญาณที่ถูกเนรเทศ ผู้เขียน              :           วิมล ไทรนิ่มนวล จัดพิมพ์โดย       :   …
หัวไม้ story
โดย ทีมข่าวการเมือง 5 แกนนำพันธมิตร ขึ้นปราศรัย ระหว่างงานรำลึก 1 ปีแห่งการต่อสู้ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อ 25 พ.ค. 52 ที่สนามกีฬากลาง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จ.ปทุมธานี (ที่มา: ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 25 พ.ค. 52)
หัวไม้ story
หลังการชุมนุมคนเสื้อแดงจบลงไปในวันที่ 14 เมษายน 2552 โดยการชุมนุมครั้งนั้นเกิดความรุนแรงขึ้นในหลายจุด ยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการใช้อาวุธ ทั้งจากฝ่ายตำรวจ ผู้ชุมนุม และกลุ่มไม่ทราบฝ่าย ช่วงเวลา 2-3 วันให้หลัง ประชาไทพยายามติดตามหาพยานผู้เห็นเหตุการณ์ ทว่าพยานบุคคลหลายคนเลือกที่จะเป็นเสียงเงียบ และหลายคนเลือกการเดินทางกลับต่างจังหวัด บรรยากาศภายใน 1 สัปดาห์หลังจากนั้น ดูเหมือนเป็นบรรยากาศแห่งความเงียบและหวาดระแวงสำหรับผู้เคยเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มคนเสื้อแดง นั่นทำให้เราเริ่มคิดถึงคนเสื้อแดงที่ต่างจังหวัด…
หัวไม้ story
สัมภาษณ์ เสรี สาระนันท์ ส.ส. หลายสมัยจากอ.วานรนิวาส จ.สกลนคร ถึงเหตุผลที่ ส.ส. ยังคงต้องอยู่กับเสื้อแดงและทักษิณ และกระบวนการจัดการเสื้อแดงที่เป็นฐานเสียง และเป็นมวลชนที่เข้าร่วมการชุมนุม รวมถึงให้เขาประเมินอนาคตของทั้งตนเองและขั้วอำนาจฝ่ายสีแดง การสัมภาษณ์ครั้งนี้สะท้อนถึงพลังของ "ปีศาจ" อย่างทักษิณ ที่จะยังครอบงำจิตใจชาวบ้านและหลอกหลอนการเมืองขั้วตรงข้ามต่อไปอย่างยากจะเปลี่ยนแปลง
หัวไม้ story
เสียง ภาพ ชาวบ้านเสื้อแดง ตำบลหนองไผ่ จังหวัดอุดรธานี บอกเล่าความรู้สึกและความเห็นทางการเมือง ว่าด้วยประชาธิปไตย และทักษิณ หลังการชุมนุมคนเสื้อแดงที่ยุติลงในช่วงบ่ายของวันที่ 14 เม.ย. อนึ่ง ชาวบ้านบางส่วน ได้เข้ามาร่วมการชุมนุมคนเสื้อแดงในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ขณะที่อีกบางส่วนไม่ได้เข้าร่วม แต่ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดอยู่ที่บ้าน ผ่านสถานีดีสเตชั่น และวิทยุชุมชนคนรักอุดร ประชาไทบันทึกคลิปวีดีโอ เมื่อวันที่ 23 เม.ย. ที่ผ่านมา
หัวไม้ story
ทีมข่าวการเมือง [การโหยหาอดีตของสองทหารแก่ สุรชัย-เปรม อาจไม่ต่างกันมาก ผิดกันตรงที่ ทหารแก่คนหนึ่งอาจสมใจ สังคมไทย Nostalgia ย้อนยุคขุนศึก อำมาตย์ เป็นใหญ่ได้อีกหลัง 19 ก.ย. 49 มีองคมนตรีมาเป็นนายกฯ ที่ป๋าเห็นเป็นวินสตัน เชอร์ชิล มีนายกฯ หนุ่มที่ป๋าบอก “ผมเชียร์” … เช่นนี้กระมัง สหายเก่า-ทหารแก่อีกคนจึงขอแต่งชุดทหารป่าเข้ามอบตัว ขอ Nostalgia อีกรอบ] ]   000 นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ แกนนำ นปช. ขณะเข้ามอบตัวเมื่อ 27 เม.ย. 52 (ที่มาของภาพ: ASTVผู้จัดการออนไลน์)
หัวไม้ story
[ ทีมข่าวการเมือง ]   ทุกๆ เช้าของวันจันทร์-ศุกร์ ถ้าไม่ใช่วันหยุดนักขัตฤกษ์ ภารกิจของนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย คือเตรียมเดินทางมายังสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมแห่งเอเชีย (Asia Satellite Television) หรือ เอเอสทีวี ถ.พระอาทิตย์ เพื่อดำเนินรายการ “Good Morning Thailand” รายการเล่าข่าวและวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองอย่างเผ็ดร้อน ซึ่งเขาจัดเป็นประจำทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 6.00-7.00 น. แต่วันนี้ 17 เมษายน เขาไม่ได้จัดรายการ “Good Morning Thailand” เหมือนเคย เพราะถูกลอบยิงเมื่อเวลาราว 5.40 น. ก่อนที่รถของเขาจะมาถึงสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี   000   ที่มา:…
หัวไม้ story
(ทีมข่าวการเมือง)ทีมข่าวการเมือง สัมภาษณ์ผู้ชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปช.) หรือคนเสื้อแดง ระหว่างการชุมนุมเมื่อวันที่ 8 เมษายน ที่ผ่านมา โดยถามพวกเขาว่า “ออกมาชุมนุมทำไม?” ต่อไปนี้คือคำตอบของพวกเขา 
หัวไม้ story
ห้องพิจารณาคดี 904 หลังสิ้นเสียงคำพิพากษาให้จำคุก 10 ปี...
หัวไม้ story
[ทีมข่าวการเมือง]"พี่สนธิก็เคยคุยกับผมเป็นการส่วนตัวว่าคิดถึงพรรคคอมมิวนิสต์จีนด้วยซ้ำ มีโปลิตบูโร หรือคณะกรรมการนโยบายของพรรคที่อาจจะไม่ได้มามีตำแหน่งบริหาร ไม่ได้มามีตำแหน่งทางการเมือง แต่ว่าคุมยุทธศาสตร์ คุมทิศทางพรรค ซึ่งอันนี้น่าสนใจ และคงต้องดูว่าโครงสร้างเป็นอย่างไร ขณะเดียวกัน เรายังมีเวลาศึกษาพรรคการเมืองจากหลายประเทศ เพื่อเปรียบเทียบกัน และต้องดูบริบทสังคมไทยด้วย แบบไหนมันเข้ากับสังคมไทย"สุริยะใส กตะศิลา, สัมภาษณ์ใน เนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 876, 13 มีนาคม 2552  000 แกนนำพันธมิตรฯ บน “เวทีคอนเสิร์ตการเมืองครั้งที่ 4” ของพันธมิตรฯ ที่เกาะสมุย เมื่อ 4 มีนาคม 2552…
หัวไม้ story
ทีมข่าวการเมือง การเยือนสหราชอาณาจักรอย่างเป็นทางการของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 13-15 มี.ค. มีหลายประเด็นจากการเยือนดังกล่าวที่ยังไม่ได้รับการพูดถึง หลายเรื่องถูกบิดเบือน และผลิตซ้ำ จนกลายเป็นชุดความคิดที่ถูกยอมรับโดยไม่มีการตั้งคำถาม “ประชาไท” ขอนำเสนอเรื่องที่ยังไม่มีการรายงาน เรื่องที่ยังไม่ถูกพูดถึง และเรื่องที่บิดเบือนดังกล่าว ในระหว่างการเยือนอังกฤษของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ  1.เปิดต้นทางข่าว “ไม่ได้หนี แล้วมาอยู่ตรงนี้ได้อย่างไร”   สื่อมวลชนไทยทุกฉบับพร้อมใจรายงานภารกิจของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่เดินทางเยือนสหราชอาณาจักรอย่างเป็นทางการ…