คิม ไชยสุขประเสริฐ
5 ก.ค. 51
เยือนโขงเจียม แดนตะวันออกสุดเขตประเทศไทย ที่ว่ากันว่าเห็นตะวันก่อนใครในสยาม (อีกครั้ง)
แล้วเวลาแห่งการรอคอยของชาวบ้านปากมูนก็มาถึง เมื่อประตูบานเขื่องทั้ง 8 บานของ "เขื่อนปากมูล" ถูกยกขึ้นเพื่อปลดปล่อยฝูงปลาให้เวียนว่ายท้าทายกระแสน้ำขึ้นสู่ต้นน้ำตามวัฎจักร ได้เริ่มต้นมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.ที่ผ่านมา ตามมติของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูล หลังจากที่ "เขื่อนปากมูล" ต้องถูกปิดมากว่า 1 ปีเต็ม
ที่ผ่านมา "เขื่อนปากมูล" กับการต่อสู้ของ "ไทบ้านปากมูน" เป็นที่รับรู้มานานปี และดูเหมือนว่าวันนี้ ชาวบ้านในพื้นที่จะยังคงความเข้มแข็งไม่ต่างจากเมื่อตอนที่ได้มาเยี่ยมเยือนชาวบ้านในครั้งแรก แม้ว่าระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านไป พวกเขาจะต้องพบกับการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งก็คงทำให้หัวใจนักสู้ของพวกเขาสั่นไหวไปมากพอดู
เพราะปัญหาของพวกเขายังไม่จบ ชาวบ้านยังคงต้องดิ้นรนเพื่อให้มีชีวิตอยู่ต่อไปโดยการอยู่ร่วมกันเขื่อนที่พวกเขาไม่เคยต้องการให้ได้ และต่อสู่ต่อไปเพื่อสักวันตัวแทนการพัฒนาอย่างเขื่อน จะไม่มีความชอบธรรมในการดำรงอยู่อีกต่อไป
.....................
30 มิ.ย.50
เดินทางสู่ อ.โขงเจียม จ.อุบลครั้งแรก
สิ่งที่ฉันได้รับรู้...
ชาวบ้านได้หลั่งน้ำตามาครั้งแล้วครั้งเล่า ตั้งแต่ช่วงต้นของการก่อสร้าง "เขื่อนปากมูล" จนกระทั่งเขื่อนสร้างเสร็จเมื่อปี 2537 หลังจากการต่อสู้ไม่ให้ก่อสร้าง มาจนถึงต่อสู่กับปัญหาค่าเวนคืนและค่าชดเชย ที่ กฟผ.เจ้าของโครงการยังไม่สามารถเยียวยาความเดือนร้อนของชาวบ้านในพื้นที่ได้อย่างทั่วถึง
นอกจากนี้ความเจ็บปวดที่ไม่อาจลืมเลือน คือ ‘เขื่อน' ได้ทำให้ชาวบ้านต้องสูญเสียวิถีชีวิต และอาชีพการทำประมงพื้นบ้านที่เคยทำให้ชาวบ้านมีอยู่มีกินเลี้ยงครอบครัวก็แทบต้องสูญสลายไป เพราะประตูเขื่อนหนาหนัก 8 บานได้ขวางกั้นลำน้ำเส้นเลือดใหญ่ของพวกเขา พร้อมสกัดกั้นเหล่าปลาที่จะต้องขึ้นไปวางไข่บนต้นน้ำ
บันไดปลาโจนแห่งแรกของประเทศไทยที่ว่าสร้างขึ้นเพื่ออนุรักษ์พันธุ์ปลา ให้ปลาได้ใช้ข้ามไปวางไข่ ชาวบ้านก็ไม่เคยได้เห็นว่าปลาตัวไหนจะสมารถกระโจนผ่านความสูงชันของมันขึ้นไปได้ หรือจะมีสักกี่มากน้อย... ไม่มีข้อพิสูจน์ และไม่มีใครอยากพิสูจน์อีกต่อไป
กว่า 13 ปี ที่ชาวบ้านต้องต่อสู่อยู่กับการให้ปิด-เปิดเขื่อน ทั้งด้วยการพยายามหาข้อมูล เข้าหานักวิชาการ ทำการวิจัยแบบชาวบ้าน ไปดูศึกษาพื้นที่ปัญหาต่างๆ ยื่นจดหมายต่อหน่วยงานต่างๆ ตลอดจนการเดินขบวนเคลื่อนไหวเรียกร้อง แต่แล้วสุดท้ายการตัดสิ้นชี้ขาดชะตาชีวิตของพวกเขาก็ตกอยู่ในมือรัฐบาลที่กุมอำนาจอยู่ที่ส่วนกลางของประเทศ และแทบไม่เคยลงมาสัมผัสความเป็นจริงที่ชาวบ้านต้องประสบ
หลังจากเมื่อวันที่ 12 มิถุนายนที่ผ่านมา ครม.ในรัฐบาลที่นำโดยพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้มีมติให้ปิดเขื่อนปากมูลถาวร โดยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ รักษาระดับน้ำเขื่อนปากมูลไว้ที่ระดับ 106-108 ม.รทก.ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่ถึง 2 สัปดาห์ ครม.ได้มีมติให้เปิดประตูเขื่อน ในวันที่ 17 มิถุนายน ด้วยเหตุผลของรายชื่อ 2 หมื่นกว่ารายชื่อที่คัดค้านการเปิดเขื่อนได้ถูกส่งไปยัง ครม.ผ่านทางคนมีสี...
คลื่นความทุกข์ของชาวบ้านได้สาดซัดมาอีกระลอก
นับเป็นอีกครั้งหนึ่ง ของการใช้รูปแบบการเคลื่อนไหวมวลชนเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการปิดเขื่อนปากมูล หลังจากที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เคยให้สำนักงานสถิติแห่งชาติไปสำรวจความเห็นของชาวบ้านใน อ.โขงเจียม อ.สิรินธร อ.พิบูลมังสาหาร เพื่อทำให้ชาวบ้านต้องกลายเป็นพียงคนกลุ่มน้อยที่ไม่ต้องการเขื่อน ไม่ต้องการให้มีการปิดเขื่อน และนำไปสูการจัดการตามความต้องการของคนส่วนใหญ่
การกระทำของรัฐทั้งสองครั้งต่างกันเพียงแค่รัฐบาลเก่ายอมเปิดทางให้ชาวบ้านทำกิน 4 เดือน แต่รัฐบาลที่มาจากการแต่งตั้งจากคนดีมีศักดิ์มีศรีในสังคมคนเมืองได้ปิดทางของพวกเขาจนหมดสิ้น
............
14 ปีที่ผ่านพ้นมา ชาวบ้านปากมูนถูกจับให้อยู่ในฐานะของคนส่วนน้อยที่ต้องเสียสละให้คนส่วนใหญ่ เสียสละเพื่อประเทศชาติ และผลักไสพวกเขาไปสู่ความทุกข์ยากลำบาก จนต้องดิ้นรนต่อสู้พร้อมๆ ไปกับการเรียนรู้ สั่งสมประสบการณ์ และข้อมูลต่างๆ
ความทุกข์ที่พวกเขาได้รับ ช่วยสั่งสมให้ชาวบ้านธรรมดาๆ คนตัวเล็กตัวน้อยที่พร่ำพรรณนาถึงความทุกที่ไม่มีใครได้ยิน ให้เติมเต็มคุณค่าในตนเอง จนทำให้สามารถลุกขึ้นยืนหยัดเผชิญหน้าถกเถียงแลกเปลี่ยนกับกลุ่มเจ้านาย ทั้งข้าราชการ นักการเมืองมีอำนาจที่พวกเขาเคยเกรงกลัว ได้อย่างฉะฉานและมีเหตุมีผล
"สิ่งเหล่านั้นมันเป็นการเรียนรู้ด้วยชีวิต" แม่สมปอง เวียงจันทร์ หนึ่งในแกนนำชาวบ้านปากมูลบอกกับเรา
วันนี้... แม้จะมีคำถามถึง กระบวนการบริหารจัดการน้ำที่ย้อยถอยหลังมาสู่การดูแลโดยคณะกรรมการร่วมที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ว่าจะเกื้อหนุนการแก้ปัญหาของชาวบ้านได้มากแค่ไหน
แต่ชาวบ้านก็ยังคงมีความหวังอยู่เสมอ และพร้อมจะยืนหยัดเดินหน้าต่อสู้ปัญหาต่อไป
...................
วันนี้ประตูเขื่อนเปิดแล้ว แต่คนปากมูลยังหาปลาได้ไม่มากอย่างที่คิด มีชาวบ้านบอกเราว่าอาจเป็นเพราะการเปิดเขื่อนล่าช้ามาเกือบ 2 เดือน จากที่ปลาจะมาวางไข่ตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคมทำให้ปลาหายไป
"ฝนมาปลามา ปลามันชอบน้ำใหม่" ชาวบ้านยังบอกเราอย่างมีความหวัง เพราะไม่กี่วันที่ผ่านมาพยากรณ์อากาศบอกไว้ว่าฝนกำลังจะมา แต่วันนี้แดดจ้าทั้งวัน หรือเค้าจะต้องรอฝนวันใหม่เสียแล้ว...
ตกเย็น... เรานั่งรถไฟกลับจากอุบล คล้อยหลังจากที่เราเดินทางกลับมาไม่นานที่ปากมูนก็มีฝนตกหนัก เสียงจากในพื้นที่บอกผ่านมาทางโทรศัพท์
ดีใจกับชาวบ้านที่จะได้หาปลาหลังจากที่ตั้งตาเฝ้ารอกันมานาน แต่ก็แอบนึกเสียดาย...ที่ไม่ได้อยู่ในวันฝนมาที่ปากมูล
..........................