แล้ววันสำคัญทางพุทธศาสนาก็วนเวียนมาบรรจบอีกครั้งหนึ่งในรอบสองพันห้าร้อยห้าสิบเอ็ดปีหลังพระพุทธเจ้าเสด็จสู่นิพพาน เป็นความน่ายินดีที่รัฐไทยซึ่งประกาศตัวเป็นพุทธมามกะประกาศให้เป็นวันหยุดเพื่อแสดงความเคารพอย่างสำคัญและจะได้เปิดโอกาสให้ไปทำบุญทำทานกันตามธรรมเนียมประเพณี แต่สิ่งหนึ่งที่น่าเบื่อหน่ายพ่วงตามมากับบรรยากาศแบบนี้คือไม่สามารถไปหาซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาดื่มกินตามวิสัยได้ เนื่องจากเมื่อปีก่อนรัฐบาลคุณธรรมผลักดันจนมีกฎหมายมาบังคับ ทั้งที่เรื่องของศาสนาและแนวทางการปฏิบัติควรเป็นเรื่องของส่วนบุคคลเสียมากกว่า
คนดื่มเหล้าบางทีอาจไม่ได้เลวกว่าคนกินมังสวิรัติ และก็ไม่อาจบอกได้เช่นกันว่าดีกว่า...ใช่หรือไม่ ??
แต่ถ้าหากเชื่อตามแนวทางของรัฐ คือเชื่อว่าเมื่อสามารถควบคุมกิเลสให้พลเมืองได้แล้วบ้านเมืองจะสงบสุข มันก็ชวนให้สงสัยต่อว่าหากรัฐมีอำนาจทีทำได้จริงถึงขนาดนั้นแล้วทำไมจึงไม่ออกกฎหมายไปถึงขั้นบังคับโกนหัว โกนคิ้ว ห่มเหลือง ถือศีล 227 ข้อไปทุเสียเลย เพราะอานิสงค์สูงสุดจะได้พากันหลุดพ้นบ่วงกรรม ว่ายออกจากห้วงทะเลทุกข์ไร้ขอบเขต บรรลุนิพพานพบความสุขอันเป็นนิรันดร์กันเสียที
แต่ในความเป็นจริงนอกจากจะไม่เป็นแบบนั้นแล้ว สุดท้าย การบังคับใช้อำนาจเพื่อควบคุมพลเมืองผ่านความรู้สึกทางศีลธรรมมันก็เป็นแค่อีก ‘ลูกไม้’ หนึ่งในการสร้างความชอบธรรมในการใช้อำนาจของรัฐเท่านั้นเอง เมื่อคนเราเกิดความกลัวในบาปหรือเกิดการสะกดจิตตัวเองว่าจะกลายเป็นคนที่ดีบริสุทธิ์กว่ามนุษย์ขี้เหม็นธรรมดาทั่วไปแล้ว การยอมถูกรัฐควบคุมอีกนัยหนึ่งก็คือการทำให้รัฐดำรงตนให้กลายเป็นผู้ใช้อำนาจในการตัดสินมนุษย์ถึงในมิติของบาปบุญและให้คุณโทษแก่การกระทำอันเป็นนามธรรมนั้นได้
การควบคุมกิเลสโดยรัฐผ่านกฎหมายในรอบปีที่ผ่านมามีมากมายโดยที่เราไม่รู้สึกตัว และการที่เราไม่สามารถหาซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กินในวันอาสาฬหบูชาและออกพรรษาทั้งที่เราไม่ได้กระทำผิดอะไร vอีกทางหนึ่งมันก็อาจมาจากเพียงแค่เหตุผลทางภาพลักษณ์ของผู้ก้าวสู่อำนาจ โดยเฉพาะพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ซึ่งผ่านสภาออกมาในยุคที่ภาพลักษณ์ของทั้งฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติล้วนมากจากการรัฐประหารหรือไม่สง่างามทางความชอบธรมทั้งสิ้น รูปหน้ที่สวยงามจึงเป็นสิ่งสำคัญพอๆกับการมีอำนาจที่ศักดิ์สิทธิ์
กฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2551 มีมาตราข้อบังคับเข้มๆอย่างเช่น มาตรา 27 ที่ห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวัด สถานศึกษา สถานบริการสาธารณสุข ร้านขายยา หอพัก สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง และสถานที่ราชการ มาตรา 31 ห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ห้ามจำหน่ายตาม 27 และบริเวณสวนสาธารณะของราชการ
ในเวลาต่อมาภาพลักษณ์ที่ได้ผล ก็มีผลต่อเนื่องมาทางการสร้างภาพลักษณ์ของกระทรวงมหาดไทยที่มีรัฐมนตรีค่อนข้างยี้ในสายตาสังคม ทำให้เกิดการบังคับต่อเนื่องตามมาในวันเทศกาลหรือวันสำคัญทางศาสนาตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
และด้วยความเข้มงวดของกฎหมายไทย ในวันพระใหญ่จะหาแค่ไก่แช่ไวน์กินสักชิ้นยังลำบากกว่าหาเมียซักคน !!
ซึ่งการกลัวประชาชนมึนเมากับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จนกระทั่งห้ามขายแม้กระทั่งไก่แช่ไวน์ที่เราคงต้องกินกันซักสามเล้าจึงจะเมาเท่ากับเหล้าสักแก้ว บางทีมันก็เป็นเรื่องของสังคม..อีเดียดดด
เมื่อพูดถึงมิติทางสังคมแล้ว ยิ่งต้องมองต่อกันไปให้ลึกซึ้ง สังคมไทยเป็นสังคมที่มีผี และผีกับพุทธก็สัมพันธ์กันมาในวัฒนธรรมจนแยกกันไม่ออก ดังนั้นหากใครยังยืนยันให้บรรจุพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติลงในรัฐธรรมนูญก็ขอให้ใส่นับถือผีลงไปคู่กันด้วย ดังนั้นจงอย่าปฏิเสธเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพราะมันสำคัญนักแลในทางพิธีกรรมซึ่งยังคงปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาและยังมีให้เห็นอีกหลายหัวบ้าน อีกทางหนึ่งยังเป็นเรื่องของทางสังคมที่ใช้ดื่มกินสร้างสัมพันธ์กันอย่างสนุกสนาน
ในวันสำคัญทางพุทธศาสนา บางทีก็อยากเอาเหล้าเซ่นผีบรรพบุรุษสักแก้ว แต่เขาไม่ขาย แล้วรัฐธรรมนูญ มาตรา 37 ที่ว่าบุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนา นิกายของศาสนา หรือลัทธินิยมในทางศาสนา และย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติตามศาสนธรรม ศาสนบัญญัติ หรือปฏิบัติ พิธีกรรมตามความเชื่อถือของตน เมื่อไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของพลเมืองและไม่เป็นการขัดต่อ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
ในการใช้เสรีภาพตามวรรคหนึ่ง บุคคลย่อมได้รับความคุ้มครองมิให้รัฐกระทำการใดๆ อันเป็นการรอนสิทธิหรือเสียประโยชน์อันควรมีควรได้ เพราะเหตุที่ถือศาสนา นิกายของศาสนา ลัทธินิยม ในทางศาสนา หรือปฏิบัติตามศาสนธรรม ศาสนบัญญัติ หรือปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือ แตกต่าง จากบุคคลอื่น จะตรามาทำไมในเมื่อในทางการปฏิบัติรัฐยังคงให้คุณค่ากับพุทธศาสนาอย่างเดียว กฎหมายบางมาตราของรัฐธรรมนูญกลับถูกใช้ในความเป็นจริงของสังคมไม่ได้
อย่างไรก็ตาม หากคิดในเชิงปัจเจกไม่ต้องอ้างใคร เมื่อรักจะดื่มแล้วคงพูดพียงว่าถึงเวลแล้วคนมันอยากกิน ควักเงินตัวเอง จ่ายเอง ไม่เคยระรานใคร แล้วมันผิดตรงไหนถ้าอยากกินเหล้าตรงกับวันที่เข้าพรรษา
หรือถ้ารัฐมีเจตนาจะเป็น ‘รัฐศาสนา’ อย่างไม่กระแดะ คือเครียดกับการไม่อยากให้คนกินเหล้า เป็นคนดี อยู่ในศีลในธรรม อย่างจริงจัง หากแน่จริงก็ให้ออกกฎหมายเลิกขายเหล้าในประเทศกันไปเลย คืออย่ามางดเว้นกันพอเป็นพิธี เพราะแค่นี้มันไม่ได้ช่วยให้คนไทยลด ละ เลิกเหล้าได้จริงๆ หรอก