Skip to main content

Ko We Kyaw

 

ไร่ปลูกสบู่ดำริมทางบนถนนระหว่างเมืองเจ้าปะต่าวกับมิตทีลา ภาคมัณฑะเลย์ ภาพถ่ายในเดือนพฤษภาคม 2551 (ที่มา: Kowekyaw/Prachataiburma)

 

 

พฤษภาคม 2551

1.

ผมอยู่บนรถโดยสารเก่าๆ แล่นออกจากเมืองเจ้าปะต่าว (Kyaukpadaung) มุ่งสู่มิตทีลา (Meiktila) ภาคมัณฑะเลย์ ใจกลางเขตแล้งฝน (dry zone) ของสหภาพพม่า สองข้างทางซึ่งเป็นดินแดงๆ จึงเหมาะจะปลูกเฉพาะพืชทนแล้ง โดยเมืองเจ้าปะต่าวถือเป็นแหล่งปลูกตาล ส่วนเนินแห้งแล้งรอบทะเลสาบมิตทีลาก็เป็นแหล่งปลูกฝ้าย แต่สองข้างทางของถนนที่ผมกำลังเดินทางกำลังเปลี่ยนโฉมหน้าด้วยโครงการปลูกพืชพลังงานชนิดใหม่ สบู่ดำ

ป้ายโครงการปลูกสบู่ดำและไร่สบู่ดำหรือที่ภาษาพม่าออกเสียงว่า แจ๊ตซู่ (Kyet-Suu) พบเห็นทั่วไปสองข้างทาง ปลูกทั้งที่ดินชาวบ้าน ทั้งที่ดินรัฐบาล ปลูกทั้งที่โล่ง และแม้แต่ปลูกบนอาคาร เช่นที่ว่างริมระเบียงในอพาร์ทเมนท์หรือยอดตึกในเมืองก็ไม่เว้น

 

2.

บทรายงานในนิตยสารสาละวินโพสต์ ฉบับ 1 เม.ย. – 15 พ.ค. 2551 ระบุว่า ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2548 พลเอกอาวุโสตานฉ่วย ผู้นำพม่า ได้ประกาศรณรงค์ให้ประชาชนปลูกต้นสบู่ดำเพื่อผลิตน้ำมันไบโอดีเซล โดยตั้งเป้าว่า ภายในสามปีจะต้องขยายพื้นที่ปลูกต้นไม้ชนิดนี้ให้ได้ 20 ล้านไร่ รัฐบาลแบ่งโควตาเพาะปลูกอย่างน้อย 1.25 ล้านไร่ ในเขตรัฐหรือภาคต่างๆ แม้ว่าแต่ละรัฐหรือภาคจะมีพื้นที่มากน้อยต่างกันก็ตาม ทำให้รัฐคะเรนนีซึ่งเป็นรัฐที่มีขนาดเล็กที่สุด จะต้องสูญเสียพื้นที่ให้กับพืชพลังงานชนิดนี้ถึงร้อยละ 17 และชาวบ้านทุกคนจะต้องปลูกต้นไม้เฉลี่ยคนละ 177 ต้นภายใน 3 ปี เพื่อให้ได้ตามจำนวนโควตาที่กำหนดไว้ ประชาชนแทบทุกสาขาอาชีพจะต้องเข้าร่วมโครงการนี้โดยไม่ถามความสมัครใจ ไม่ว่าจะเป็นครู นักเรียน พยาบาล และหน่วยงานต่างๆ จะต้องใช้พื้นที่ว่างในหน่วยงานของตนปลูกพืชชนิดนี้

ดังนั้นจึงมีการปลูกต้นสบู่ดำรอบๆ บริเวณบ้าน ตามถนน ในสวน หรือแม้แต่ในไร่ที่ติดทางหลวง แม้แต่ในเมืองหลวง ประชาชนที่อาศัยอยู่ตามอพาทเม้นท์ก็ต้องปลูกสบู่ดำ โดยถือว่าเป็นหน้าที่ต่อประเทศชาติ โดยประชาชนต้องซื้อเมล็ดมาปลูกเอง ไม่เว้นแม้แต่ปลูกตามระเบียงหน้าต่างของที่พัก

หลังจากโครงการผ่านไปสองปี กระทรวงเกษตรและชลประทานได้ออกแถลงการณ์เมื่อเดือนสิงหาคม 2549 ว่า ขณะนี้มีพื้นที่ปลูกต้นสบู่ดำไปแล้ว 2.5 ล้านไร่ โดยจะปลูกเพิ่มอีกประมาณปีละ 6 ล้านไร่ในปี 2550 ถึง 2551

โดยในปี 2552 นี้ ซึ่งเป็นปีสุดท้ายในแผนงานจะต้องปลูกเพิ่มอีกเกือบ 8.5 ล้านไร่ เพื่อรวมพื้นที่ทั้งหมดให้ได้ 20 ล้านไร่ทั่วประเทศพม่า

อย่างไรก็ตามรัฐบาลยังไม่มีแผนพัฒนาพลังงานชนิดนี้อย่างชัดเจน เช่นการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์และปุ๋ย รับประกันราคาผลผลิต ไปจนถึงการแปรรูปเป็นพลังงานไบโอดีเซล ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงที่มีการรณรงค์ของโครงการคือการยึดที่นาของชาวบ้านมาเป็นของกองทัพและบังคับให้ชาวบ้านปลูกพืชชนิดนี้ทั้งที่ดินของตนเอง และของกองทัพ รวมถึงการเรียกเก็บเงินทดแทนสำหรับชาวบ้านที่ไม่มีที่ดินปลูกพืชโดยรัฐบาล ได้ออกคำสั่งเป็นเอกสารไปยังหน่วยทหารทุกหน่วยให้ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมชาวบ้านในพื้นที่ของตนเองปลูกต้นสบู่ดำให้ได้ตามโควตาที่กำหนด

นอกจากนี้ยังเกิดปัญหาขาดแคลนอาหารในพม่า อันเนื่องจากแหล่งปลูกข้าวสำคัญคือที่ราบบริเวณปากแม่น้ำอิระวดีได้รับผลกระทบจากพายุนาร์กีส ขณะที่พื้นที่ส่วนที่เหลือของประเทศ ส่วนหนึ่งก็นำมาปลูกพืชพลังงานที่ว่า โดยการที่ชาวนาต้องใช้ที่ดินในการปลูกต้นสบู่ดำแทนพืชเพื่อยังชีพ ซึ่งใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปีจึงจะได้ผลผลิตรอบแรก

อีกทั้งประชาชนยังถูกบังคับให้ไปปลูกพืชชนิดนี้ในที่ดินของกองทัพ จนไม่มีเวลาทำงานเลี้ยงตนเองและครอบครัว ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากพากันอพยพออกไปหางานทำในประเทศเพื่อนบ้าน โดยจากรายงานล่าสุดในเดือนพฤษภาคม 2551 เรื่อง "Biofuel By Decree: Unmasking Burma's bio-energy fiasco" โดยกลุ่ม Ethnic Community Development Forum (ECDF) ระบุว่า ปัจจุบันมีประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการนี้อย่างน้อย 800 คน อพยพมาทำงานอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน

และนับตั้งแต่ต้นปี 2549 ที่รัฐบาลเริ่มโครงการทำไร่สบู่ดำ มีรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนของทหารพม่าที่เชื่อมโยงกับโครงการนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังเช่น รายงานของกลุ่มเพื่อสิทธิมนุษยชนชาวไทยใหญ่ ระบุว่า มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในรัฐฉานที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการนี้ โดยส่วนใหญ่เป็นการยึดที่ดินเกือบ 30 รายในช่วงเวลา 2 ปี โดยประชาชนเหล่านี้ต้องถูกยึดที่ดินทำกินโดยไม่ได้รับค่าชดเชยใดๆ เช่นเดียวกับประชาชนในเขตชายแดนพม่า - จีนเปิดเผยว่า กองทัพพม่าประจำทางตอนเหนือของรัฐฉานได้ยึดที่ทำกินชาวบ้านไปแล้วกว่า 2,500 ไร่ในเมืองหมู่เจ้เมื่อต้นปี 2550

ชาวบ้านส่วนใหญ่จะถูกยึดที่ดินโดยไม่ได้รับเงินชดเชยใดๆ หรือหากได้รับก็เป็นเงินจำนวนน้อยนิดเท่านั้นเมื่อเทียบกับที่ดินที่สูญเสีย ไป โดยอัตราค่าชดเชยที่ได้รับคือ 10,000 - 50,000 จั๊ต (300 บาท - 1,500 บาท) สำหรับพื้นที่ขนาดเล็ก หรือ 1 - 5 แสนจั๊ต (3,000 บาท - 15,000 บาท) สำหรับพื้นที่ขนาดใหญ่ เช่น ไร่ชา หรือ ไร่ส้มทั้งไร่

 

3.

ล่าสุด บริษัทพัฒนาพลังงานชีวภาพญี่ปุ่น (Japan Bio Energy Development Corp) หรือ JBEDC ประกาศวันที่ 27 ก.พ. 52 เกี่ยวกับแผนการร่วมทุนกับบริษัทท้องถิ่นของพม่า เพื่อก่อตั้งบริษัทใหม่ใช้ชื่อว่า Japan-Myanmar Green Energy เป็นการร่วมระหว่างเอกชนดังกล่าว 60% กับเอกชนพม่า 40% ภายใต้วงเงินลงทุนรวม 1.5 ล้านเหรียญสหรัฐ

โดยบริษัทนี้ตั้งเป้าส่งออกเมล็ดละหุ่ง 5,000 ตันในปี 2552 นี้ก่อนจะตั้งโรงงานสกัดน้ำมันแห่งที่หนึ่งในปี 2553 และยังมีแผนการจะส่งออกเชื้อเพลิงชีวภาพที่สกัดจากเมล็ดสบู่ดำ ในปีหน้าอีกด้วย

รายงานของบริษัทพัฒนาพลังงานชีวภาพญี่ปุ่น ยังระบุด้วยว่า ปัจจุบันพม่าเป็นประเทศผลิตสบู่ดำรายใหญ่ที่สุดของโลก รัฐบาลพม่าได้ส่งเสริมให้เกษตรปลูกอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2549 พื้นที่ปลูกขยายออกไปเป็น 2 ล้านเฮกตาร์ หรือ 12.5 ล้านไร่ เมื่อสิ้นปี 2551 หรือเท่ากับว่าพม่าปลูกสบู่ดำคิดเป็นร้อยละ 90 ของเนื้อที่ปลูกสบู่ดำในประเทศต่างๆ ทั่วโลกร่วมกัน!

 

4.

นอกจากนี้ ข่าวลืออีกด้านเกี่ยวกับโครงการปลูกต้นสบู่ดำ หรือ แจ๊ตซู่ก็คือ เหตุผลที่รัฐบาลผลักดันให้ประชาชนปลูกต้นไม้ชนิดนี้ไปทั่วอาจไม่ใช่เป้าหมายด้านพลังงาน แต่เป็นเพราะความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ที่ว่า ชื่อของต้นไม้ชนิดนี้ในภาษาพม่ามีความหมายตรงกับความต้องการของผู้นำพม่า นั่นเอง

คำว่า แจ๊ตซู่หรือ Kyet Suu มีความหมายในภาษาพม่าว่า ไก่ขันเสียงดัง และเมื่อไหร่ที่ไก่จำนวนมากรวมตัวกันส่งเสียงดัง คนเราก็ไม่สามารถจะส่งเสียงร้องสู้กับไก่ได้ นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทางการพม่าบังคับให้ประชาชนปลูกพืชสบู่ดำเพิ่มขึ้นทุกวันเพื่อกลบเสียงของประชาชน

อีกความเชื่อหนึ่ง คือ คำว่า Kyet Suu ยังมีตัวอักษรแรกของแต่ละคำ คือ K และ S สลับกับอักษรนำหน้าของนางออง ซาน ซูจี (Suu Kyi) คือ S และ K ซึ่งหากมีการปลูกต้นสบู่ดำมากเท่าไหร่ก็หมายความว่า เงาของต้นสบู่ดำจะปกคลุมเหนือผู้นำพรรคฝ่ายค้านของพม่าผู้นี้

นอกจากนี้ คำว่า Kyet Suu ในภาษาพม่า ถ้าแปลตามหลักโหรศาสตร์แล้วคำว่า Kyet ขึ้นต้นด้วยตัว K มีความหมายว่า วันจันทร์ ส่วนคำว่า Suu ขึ้นต้นด้วยตัว S มีความหมายว่า วันอังคาร ดังนั้น Kyet Suu จึงมีความหมายว่า วันจันทร์ วันอังคาร เช่นเดียวกับชื่อของนางอองซาน ซูจี หรือ Suu Kyi ในภาษาพม่า โดยคำว่า Suu ขึ้นต้นด้วย S มีความหมายตามหลักโหรศาสตร์ว่า วันอังคาร และคำว่า Kyi ขึ้นต้นด้วย K มีความหมายว่าวันจันทร์ตามที่กล่าวมาข้างต้น ดังนั้นชื่อของซูจี หรือ Suu Kyi อาจมีความหมายตามหลักโหราศาสตร์ว่า วันอังคาร วันจันทร์ การปลูกต้นสบู่ดำมากเท่าไหร่ก็จะทำให้วันจันทร์ต้องนำหน้าวันอังคารมากเท่านั้น ซึ่งจะทำให้อำนาจของนางซูจีพ่ายแพ้ต่อผู้นำพม่าวันยังค่ำ

ไม่ว่าการปลูกสบู่ดำจะเป็นไปด้วยเหตุผลใด ที่แน่นอนที่สุดทั้งประชาชนพม่า และอองซาน ซู จี ได้รับผลกระทบจากการปกครองภายใต้ระบอบเผด็จการที่ยาวนานเกือบ 50 ปี นับตั้งแต่การรัฐประหารโดยนายพลเนวิน (Ne Win) ใน พ.ศ. 2505

 


(ที่มาของภาพ: www.pbase.com/dassk)

พฤษภาคม 2552

5.

และไม่ว่าการรณรงค์ปลูกสบู่ดำจะเกี่ยวข้องกับไสยศาสตร์ของรัฐบาลทหารเพื่อข่มนางอองซาน ซูจีหรือไม่ แต่ที่แน่นอนที่สุดก็คือ ชะตากรรมของอองซาน ซูจี ผู้นำพรรคสันนิบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy – NLD) นั้น ในรอบ 19 ปีนี้ ถูกกักบริเวณอยู่ภายในบ้านพักริมทะเลสาบอินยา เมืองย่างกุ้ง กินเวลารวมถึง 13 ปี

โดยการกักบริเวณรอบแรกกินเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2533 – 2538 และการกักบริเวณรอบสองเกิดขึ้นนับตั้งแต่หลังกรณีที่สมาชิกสมาคมสหภาพเพื่อความสามัคคีและการพัฒนา (Union Solidarity and Development Association – USDA) โจมตีขบวนรถของนางออง ซาน ซูจี และผู้สนับสนุนที่หมู่บ้านเดปายิน (Depayin) เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2546 ระหว่างที่นางและแกนนำพรรค NLD กำลังอยู่ระหว่างตระเวนพบปะผู้สนับสนุนพรรคในภูมิภาคสะกาย (Sagaing Division) ทางเหนือของพม่า โดยการโจมตีขบวนรถดังกล่าวทำให้สมาชิกพรรค NLD เสียชีวิตกว่า 70 คน

จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้นางออง ซาน ซูจี ถูกกักบริเวณอยู่แต่ในบ้านพักนับจากนั้น โดยรัฐบาลทหารพม่าต่ออายุการกักบริเวณไปเรื่อยๆ ตามมาตรา 10 ของกฎหมายคุ้มครองรัฐ อนุญาตให้รัฐบาลกักบริเวณบุคคลโดยปราศจากข้อหาหรือการพิจารณาคดีได้เพียงไม่เกิน 5 ปี และขยายเวลากักบริเวณได้ครั้งละ 1 ปีไปเรื่อยๆ

โดยการขยายเวลากักบริเวณนางซูจีล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อปีก่อน และจะครบกำหนดการกักบริเวณในปลายเดือนพฤษภาคมนี้ แต่ไม่ทันที่รัฐบาลพม่าจะมีคำสั่งปล่อยตัวหรือขยายเวลากักบริเวณต่อไปอีก 1 ปี หรือไม่ ก็เกิดเหตุนายจอห์น วิลเลียม ยิตทอว์ (John William Yettaw) ลอบเข้าบ้านพักของนางซูจี

โดยหนังสือพิมพ์เมียนมาร์ อะลีน (หนังสือพิมพ์แสงพม่า) หนังสือพิมพ์ของรัฐบาลพม่ารายงานว่า นายยิตตอว์ได้ว่ายน้ำข้ามทะเลสาบและเข้าไปในบ้านนางซู จี ตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 3 พ.ค. จากนั้นก็ว่ายน้ำกลับมาในกลางดึกคืนวันที่ 5 พ.ค. ก่อนจะถูกตำรวจจับได้เมื่อเช้ามืดที่ 6 พ.ค.

ชาวอเมริกันผู้นี้ว่ายน้ำโดยใช้กระป๋องน้ำ 5 ลิตร ช่วยพยุงตัวขณะว่ายน้ำ เมื่อตำรวจตรวจค้นสิ่งของติดตัว พบเป้สะพายหลังสีดำ 1 ใบ หนังสือเดินทางสหรัฐ 1 เล่ม คีม 2 อัน กล้องถ่ายภาพ 1 ตัว ธนบัตร 100 ดอลลาร์สหรัฐ 2 ใบ รวมทั้งเงินจ๊าตอีกจำนวนหนึ่ง โดยทางการสอบปากคำถึงแรงจูงใจว่าเหตุใดชายผู้นี้จึงว่ายน้ำไปยังพื้นที่ต้องห้าม

ไม่เพียงแต่ยิตทอว์จะถูกดำเนินคดี แต่ออง ซาน ซูจี และผู้ช่วยประจำตัวอีก 2 คน คือนางขิ่น ขิ่น วิน, ลูกสาวของนางขิ่น ขิ่น วิน คือนางสาววิน มะ มะ ก็ถูกดำเนินคดีในข้อหาละเมิดกฎการควบคุมตัวด้วย

ซึ่งหากศาลตัดสินว่ามีความผิด ระวางโทษของคนทั้ง 4 คือจำคุกระหว่าง 3-5 ปี

มีการวิจารณ์ว่ารัฐบาลทหารพม่าจะใช้โอกาสดังกล่าวเป็นเหตุขยายเวลากักบริเวณนางออง ซาน ซูจี และผู้ช่วย ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าพวกเขาอาจถูกกักบริเวณในบ้าน หรือไปที่ เรือนจำอินเส่ง อันลือชื่อ!

 

6.

18 พฤษภาคม 2552 ที่เรือนจำอินเส่ง เขตอินเส่ง เมืองย่างกุ้ง วันพิจารณาคดีละเมิดคำสั่งกักบริเวณเริ่มต้นเป็นวันแรก

ภายนอกเรือนจำ กลุ่มเยาวชนของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือเอ็นแอลดี มาชุมนุมกันอยู่บริเวณหน้าเรือนจำอินเส่ง

อู วิน ติ่น (U Win Tin) กรรมการกลางของพรรคเอ็นแอลดีและอดีตนักโทษการเมืองวัย 80 ปี เดินทางมาพร้อมกับประชาชนหลายร้อยคนเพื่อมารอฟังการพิจารณาคดี แต่พวกเขาไม่สามารถฝ่าแนวรั้วลวดหนามไฟฟ้าเข้าไปได้

ผู้ชุมนุมหลายคนรวมทั้งพระสงฆ์ผูกผ้าคาดหัวและชูป้ายที่เขียนข้อความว่า ออง ซาน ซูจี ไม่มีความผิด” …

000

 

อ้างอิง

เรื่องนโยบายการปลูกต้นสบู่ดำในพม่า สามารถอ่านรายละเอียดได้ที่

KAWN LEOW, จับกระแส: โครงการปลูกต้นสบู่ดำ พลังงานทางเลือกหรือความอดอยากหิว, ใน สาละวินโพสต์ ฉบับที่ 46 1 เม.ย. - 15 พ.ค. 51. เผยแพร่ออนไลน์ 20 พ.ค. 51

Chiho Matsuda, Nikkei Monozukuri, Japan-Myanmar JV Established to Produce Biofuel from Tropical Plant, Techon, Mar 3, 2009

 

เรื่องก่อนหน้านี้

'เหตุวิวาทในร้านน้ำชา' สู่ 'วันสิทธิมนุษยชนพม่า', Ko We Kyaw, 14/3/2009

ตลกพม่าประชันตลก.ไทยใครขำกว่า, Ko We Kyaw, 4/10/2008

 

หมายเหตุ

ติดตามข่าว บทความ และบทวิเคราะห์สถานการณ์ในสหภาพพม่าและชายแดนได้ที่ www.prachatai.com/burma

บล็อกของ Hit & Run

Hit & Run
 นายหอกหัก (จูเนียร์)     เห็นเด็กๆ สมัยนี้ออกมารณรงค์เรื่องการเมือง แล้วมันช่างน่าอิจฉาซะกระไร!เพราะมีสื่อทั้งผู้จัดการ ASTV เนชั่น TPBS และอื่นๆ อีกมากมายคอยประคบประหงมให้เขาเป็นดาราเพียงชั่วข้ามคืนไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเยาวชนขวาใหม่จัดคลั่งชาติคลั่งสถาบันอย่าง ยังแพด (Young pad) และอีกสารพัดของกลุ่มพลังนิสิต นักศึกษาชนชั้นกลาง ที่ละจากการโฉบเฉี่ยวสร้างความเท่ เก๋ไก๋ จากการฟังเพลงอินดี้ ดูหนังนอกกระแส แต่งตัวอย่างมีเทรนด์ มีสไตล์ มาช่วยกันขับเคลื่อนการเมืองใหม่ รัฐบาลประชาภิวัฒน์ ระบอบ 70: 30 ให้กับพวกพ้องพ่อแม่ญาติพี่น้องพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย…
Hit & Run
< จิรนันท์ หาญธำรงวิทย์>แบนเกมมาริโอ้ เหตุเด็กประถมกระโดดเอาศีรษะกระแทกอิฐ ไล่เตะเต่าและตะพาบ ซ้ำยังเอาแต่กินเห็ด เพราะอยากตัวสูง เลียนแบบเกมมาริโอ้ แบนอิคคิวซัง เหตุเด็กอนุบาล หวังฉลาดแบบอิคคิว เอานิ้วแตะน้ำลายถูรอบศีรษะจนเป็นขี้กลาก แบน นสพ.หัวสีรุ้ง หลังพบเด็กมัธยม อ่านข่าวข่มขืนแล้ว อยากทำตาม เพราะบรรยายอย่างละเอียด (เหตุการณ์สมมติ) ถ้าสังคมนี้ แก้ไขทุกอย่างด้วยการชี้นิ้วหาคนผิด และแบนสิ่งนั้นๆ เสีย ก็คงง่ายดีพิลึก ต่อไปสังคมก็คงใสสะอาด เต็มไปด้วยคุณธรรมสูงส่ง จริงหรือ?
Hit & Run
 มุทิตา เชื้อชั่ง   รู้ว่าหลายคนเห็นความไม่ถูกต้อง รู้สึกได้ถึงหายนะ แต่ไม่มีใครจัดการอะไรกับพวกเขาซักคน.......ถ้าไม่เพราะกลัวเครือข่ายอันกว้างขวางของพวกเขา ก็อาจเพราะไม่อยากเป็นเป้า ถูกโจมตีเสียเอง มันไม่ใช่เรื่องสนุกที่ต้องคัดง้างกับพวกนักบุญที่แสนอาฆาตมาดร้าย ป่าเถื่อน ราวกับหลุดมาจากยุคกลางแต่มันก็น่าสำรอกไม่หยอก ที่เขาทำตัวเป็นผู้จงรักภักดีกับอะไรต่อมิอะไรมากมาย มากกว่าคนอื่นๆ และเล่นงานศัตรูของเขาด้วยการตระเวรพูด พูด พูด พูด พูดทุกคืน ทุกวัน ทุกชั่วโมง ไม่หยุดหย่อนถึงความชั่วร้ายเลวทรามของศัตรู ง่ายๆ แบบสีขาว-สีดำ ใครก็ตามที่เขาเห็นว่าไม่ถูกต้องตามนิยามที่พวกเขาตั้งขึ้น…
Hit & Run
ภาพันธ์ รักษ์ศรีทอง   แล้ววันสำคัญทางพุทธศาสนาก็วนเวียนมาบรรจบอีกครั้งหนึ่งในรอบสองพันห้าร้อยห้าสิบเอ็ดปีหลังพระพุทธเจ้าเสด็จสู่นิพพาน เป็นความน่ายินดีที่รัฐไทยซึ่งประกาศตัวเป็นพุทธมามกะประกาศให้เป็นวันหยุดเพื่อแสดงความเคารพอย่างสำคัญและจะได้เปิดโอกาสให้ไปทำบุญทำทานกันตามธรรมเนียมประเพณี แต่สิ่งหนึ่งที่น่าเบื่อหน่ายพ่วงตามมากับบรรยากาศแบบนี้คือไม่สามารถไปหาซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาดื่มกินตามวิสัยได้ เนื่องจากเมื่อปีก่อนรัฐบาลคุณธรรมผลักดันจนมีกฎหมายมาบังคับ ทั้งที่เรื่องของศาสนาและแนวทางการปฏิบัติควรเป็นเรื่องของส่วนบุคคลเสียมากกว่า…
Hit & Run
  คิม  ไชยสุขประเสริฐ   5 ก.ค. 51  เยือนโขงเจียม แดนตะวันออกสุดเขตประเทศไทย ที่ว่ากันว่าเห็นตะวันก่อนใครในสยาม (อีกครั้ง) แล้วเวลาแห่งการรอคอยของชาวบ้านปากมูนก็มาถึง เมื่อประตูบานเขื่องทั้ง 8 บานของ "เขื่อนปากมูล" ถูกยกขึ้นเพื่อปลดปล่อยฝูงปลาให้เวียนว่ายท้าทายกระแสน้ำขึ้นสู่ต้นน้ำตามวัฎจักร ได้เริ่มต้นมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.ที่ผ่านมา ตามมติของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูล หลังจากที่ "เขื่อนปากมูล" ต้องถูกปิดมากว่า 1 ปีเต็ม  ที่ผ่านมา "เขื่อนปากมูล" กับการต่อสู้ของ "ไทบ้านปากมูน" เป็นที่รับรู้มานานปี และดูเหมือนว่าวันนี้…
Hit & Run
  เมื่อหนุ่มน้อย "สี TOA" เขียนจดหมายถึง "ศรีบูรพา" ว่าด้วยความสับสนและอคติต่ออุดมการณ์สื่อ
Hit & Run
< แสงธรรม > 20 มิถุนายน 2551ฉันได้รับการแจ้งข่าว ชาวบ้านในหมู่บ้านชายแดนไทย – พม่า ด้านที่ติดกับรัฐฉาน พบกลุ่มเด็กชายและหญิงจำนวน 5 คน วิ่งมาจากอีกฝั่งแล้วข้ามเข้ามาในเขตไทยดูเหมือนพวกเขาวิ่งหนีบางสิ่งบางอย่างชาวบ้านมาพบเด็กกลุ่มนี้เข้า พบว่าเป็นเด็กชาวว้า0 0 0
Hit & Run
จิรนันท์ หาญธำรงวิทย์    แถลงการณ์ ฉบับที่ 0.17 จากประชาชนผู้รักชาติ รักประชาธิปไตย รักหมา รักแมว รักสิ่งแวดล้อม จนอาจลืมรักเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน (ไปบ้าง)   เนื่องด้วยประเทศไทยอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่ต่างคนต่างก็ออกแถลงการณ์แสดงความเห็นต่อปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นอุบัติการณ์ ประชาชนผู้รักชาติ รักประชาธิปไตย รักหมา รักแมว รักสิ่งแวดล้อม จนอาจลืมรักเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน (ไปบ้าง) (ป.ป.ช.ผ.ร.ช.ร.ป.ช.ต.ร.ม.ร.ม.ร.ส.ว.ล.) จึงเห็นว่า ควรออกแถลงการณ์กับเขาบ้าง โดย ป.ป.ช.ผ.ร.ช.ร.ป.ช.ต.ร.ม.ร.ม.ร.ส.ว.ล. มีข้อสังเกตต่อการออกแถลงการณ์ ดังนี้
Hit & Run
< กรกช  เพียงใจ>ขณะใครเปล่งเสียงสู้เพื่อกู้ชาติขณะใครร่วมพิฆาตมาดมารร้ายขณะนั้นเขายืนอยู่อย่างเดียวดายกลางผืนทราย ฝูงยุง ทุ่งพระสุเมรุไม่มีศิลปินใดร่ายบทกวีไม่มีวงดนตรีระเริงเล่นมีเพียงเหล่าคนยากที่ชัดเจนจากหลืบเร้นเหม็นสาบวิบากกรรมหรือเขาเป็นคนทุกข์ผู้โฉดเขลาหลงมัวเมาประชานิยมจนถลำหรือเขาคือผู้ยึดถือในถ้อยคำจึงชอกช้ำ ‘ประชาธิปไตย’ ช่างเปล่ากลวงหรือเขาคือฝูงคนผู้หลงผิดผู้ยึดติดเงินตราดังค่าหลวงพวกป่าเถื่อนเกลื่อนกลาดอนาจทรวงคอยทะลวงสู้ตายกับลายพรางรู้เพียง...คนว่า…
Hit & Run
ภาพันธ์ รักษ์ศรีทอง >ความมืดเริ่มแผ่ปกคลุมรอบๆบริเวณ หญิงเฒ่ากำเศษเหรียญจำนวนสามบาทห้าสิบสตางค์เอาไว้ในมือ สายตามองตามรถปรับอากาศติดแอร์สีส้มสาย 60 ที่เพิ่งผ่านไปอย่างเลื่อนลอย แต่ด้วยจำนวนเงินที่มีในมือคงทำได้เพียงอดทนรอเหมือนที่ริ้วรอยย่นบนหน้าผากและผิวพรรณที่แห้งกร้านแสดงออกมาทั้งชีวิต การรอคอยยังมีความหวัง เพราะอีกไม่นานรถเมล์คันสีแดงคงจะขับผ่านมาอีกรอบ เมื่อไม่นานมานี้เองเศษเงินราคาไม่ถึงห้าบาทยังเต็มเปี่ยมไปด้วยความหวังของเส้นทางกลับบ้าน� �เพียงกระพริบตากาลเวลาก็ล่วงผ่าน ถึงพุทธศักราช 2551 ภายในรอบครึ่งปีแรก ราคาน้ำมันในตลาดโลกทุนนิยมเสรีถีบตัวขึ้นสูงลิ่วจ่อทะลุ 40…
Hit & Run
ชูวัส ฤกษ์ศิริสุขบางคนบอกว่าโลกใบนี้คือโรงละคร และก็มีบางคนที่เห็นว่ามันคือ ‘คุก’ และคุณว่ามันคืออะไร 0 0 0
Hit & Run
ภาพันธ์ รักษ์ศรีทองเพื่อนนักโบราณคดีส่งภาพความเสียหายที่ ‘ปราสาทหินพนมรุ้ง’ จังหวัดบุรีรัมย์มาให้ดูอย่างเศร้าๆ สะพานนาคราชชั้นที่ 1, 2 และ 3 เศียรนาคถูกตีใบหน้าตรงส่วนปากกึ่งจมูก เสียหายไป 13 เศียร โคนนทิ พาหนะแห่งองค์ศิวะถูกตีทำลายบริเวณใบหน้า ส่วน ‘แท่งศิวลึงค์’ ศูนย์กลางแห่งจักรวาลในไศวะนิกาย สัญลักษณ์แห่งองค์ศิวะถูกเคลื่อนย้ายจากตำแหน่งเดิมบนฐานโยนีแล้วเอาลงไปวางไว้ในร่องน้ำมนต์ ข้างนอกปราสาทแม้แต่ทวารบาลผู้รักษาประตูประจำทิศใต้ก็ไม่อาจรักษาดูแลตัวเองได้ แขนและมือถูกทำลายมือข้างหนึ่งถูกวางไว้ที่สะพานนาคราชชั้นที่ 1 มืออีกข้างถูกเอาไปวางที่สะพานนาคราชชั้นที่ 2 ด้านทิศเหนือ…