จิรนันท์ หาญธำรงวิทย์
แถลงการณ์ ฉบับที่ 0.17 จากประชาชนผู้รักชาติ รักประชาธิปไตย รักหมา รักแมว รักสิ่งแวดล้อม
จนอาจลืมรักเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน (ไปบ้าง)
เนื่องด้วยประเทศไทยอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่ต่างคนต่างก็ออกแถลงการณ์แสดงความเห็นต่อปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นอุบัติการณ์ ประชาชนผู้รักชาติ รักประชาธิปไตย รักหมา รักแมว รักสิ่งแวดล้อม จนอาจลืมรักเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน (ไปบ้าง) (ป.ป.ช.ผ.ร.ช.ร.ป.ช.ต.ร.ม.ร.ม.ร.ส.ว.ล.) จึงเห็นว่า ควรออกแถลงการณ์กับเขาบ้าง โดย ป.ป.ช.ผ.ร.ช.ร.ป.ช.ต.ร.ม.ร.ม.ร.ส.ว.ล. มีข้อสังเกตต่อการออกแถลงการณ์ ดังนี้
ก่อนอื่นควรมีชื่อกลุ่ม โดยควรมีคำสำคัญ อาทิ ประชาชน ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน แห่งชาติ ประเทศไทย
สิ่งที่ควรมีในแถลงการณ์ ประกอบด้วย คำว่า “ประชาธิปไตย” สำหรับก่อนและหลังรัฐประหารไม่นาน มักถูกใช้คู่กับคำว่า “เผด็จการ” อาทิ ประชาธิปไตยในคราบเผด็จการ หรือเผด็จการในคราบประชาธิปไตย หรือบางครั้ง อาจตามด้วยคำขยายเช่น แบบตะวันตก หรือแบบไทย หรือแบบไทยๆ
ส่วนหลังเลือกตั้ง มักถูกต่อท้ายด้วยคำในความหมายเชิงลบ เช่น ประชาธิปไตย 4 นาที หรือ ประชาธิปไตยเติมเงิน ประชาธิปไตยหุ่นเชิด หรือไม่ก็นำคำว่า เผด็จการ มาจับคู่กับระบบต่างๆ อาทิ เผด็จการทุนนิยม เผด็จการรัฐสภา เผด็จการโดยธรรม
หากผู้ออกแถลงการณ์ปรารถนาจะปฎิบัติการณ์เพื่ออะไรสักอย่างแล้ว อย่าลืมว่า อุดมการณ์ที่ขาดไม่ได้ คือ 3 สถาบันในธงชาติ – “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์” ไม่เช่นนั้นแล้ว ผู้ออกแถลงการณ์อาจถูกบอกให้ไปอยู่ประเทศอื่น
นอกจากนี้แล้ว ควรมีคำว่า “สิทธิมนุษยชน” โดยควรอ้างอิงกับหลักสากล หลักการขององค์กรโลกบาลทั้งหลาย หรือรัฐธรรมนูญ กรณีรัฐธรรมนูญไทย โปรดอัพเดตตัวเองทุกครั้งว่า ตอนนี้เขาฉีกกันไปถึงฉบับไหนแล้ว
อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่า คำว่า สิทธิมนุษยชน นั้นไม่สามารถใช้ได้กับทุกกรณี โดยเฉพาะกับคนที่ถูกตีตราไปแล้วว่าเป็น ‘คนเลว’ คำว่า สิทธิมนุษยชนสำหรับคนจำพวกนี้ จะค่อยๆ ถอยห่างหายไป ดังนั้น อย่าตกใจ ถ้ามีบางเหตุการณ์เกิดขึ้นกับคนกลุ่มนี้แล้ว ไม่มีแถลงการณ์ใดๆ ออกมา
โดยทั่วไป คำว่า “มาตรฐาน” นั้น จะถูกใช้เพียงมาตรฐานเดียว แต่ด้วยความเป็นชาติที่ไม่เหมือนใคร (ว่าแต่ มีชาติไหนอยากเหมือนกันบ้าง?) ไทยจึงมีสองมาตรฐาน กรุณาเลือกใช้มาตรฐานหนึ่งกับเหตุการณ์หนึ่ง และอีกมาตรฐานหนึ่งกับอีกเหตุการณ์หนึ่ง
การแสดงความไม่เห็นด้วยกับ “ความรุนแรง” ทุกชนิดเป็นสิ่งที่พึงกระทำ อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงทางวาจา มักจะไม่ค่อยมีใครพูดถึงกัน ท่านก็ควรข้ามๆ มันไปเสีย อ้อ เมื่อพูดถึงความรุนแรงแล้ว อย่าลืม ใส่คำว่า “อหิงสา” และ “อารยะขัดขืน” เข้าไปด้วย จะได้ไม่ตกเทรนด์
กรณีที่แถลงการณ์จะเสนอทางออก อย่าลืม “การมีส่วนร่วมของประชาชน” เป็นอันขาด ในที่นี้ การเลือกตั้งมักไม่ค่อยถูกนับรวม เพราะมีบางคนเชื่อว่า เสียงของเขา ดัง ดี มีคุณภาพกว่าเสียงของคนอื่น
สำหรับคำลงท้ายนั้น สามารถเลือกใช้ได้หลายแบบ อาทิ “ด้วยความสมานฉันท์” ฟังแล้วให้ความรู้สึกสามัคคี จนอยากพับนก “ด้วยจิตคารวะ” ฟังดูเท่และดูซ้ายๆ หรืออาจลงท้ายด้วยคำว่า “เชื่อมั่นในพลังประชาชน” (ไม่ได้หมายถึง พรรคการเมือง) ถึงแม้ว่าในทางปฏิบัติแล้ว ท่านไม่ได้แสดงว่า ท่านมีความเชื่อสักเท่าไหร่ก็ตาม
ด้วยรักและผูกพัน
ป.ล. 1 ถ้าเห็นด้วยอย่าลืมลงชื่อกันเยอะๆ และอย่าลืมใส่สังกัดของท่านด้วย
ป.ล. 2 แน่นอนว่าคุณภาพย่อมสำคัญกว่าปริมาณ แต่กรณีไม่แน่ใจในคุณภาพ ขอเสนอให้เอาปริมาณเข้าว่าก็แล้วกัน