< แสงธรรม >
20 มิถุนายน 2551
ฉันได้รับการแจ้งข่าว ชาวบ้านในหมู่บ้านชายแดนไทย – พม่า ด้านที่ติดกับรัฐฉาน พบกลุ่มเด็กชายและหญิงจำนวน 5 คน วิ่งมาจากอีกฝั่งแล้วข้ามเข้ามาในเขตไทย
ดูเหมือนพวกเขาวิ่งหนีบางสิ่งบางอย่าง
ชาวบ้านมาพบเด็กกลุ่มนี้เข้า พบว่าเป็นเด็กชาวว้า
0 0 0
ไม่ต้องแปลกใจ หากจะพบหมู่บ้านชาวว้า ฐานทัพของกองทัพสหรัฐว้า (USWA) จำนวนมาก เริ่มเข้ามาตั้งอยู่ตามแนวชายแดนไทย-พม่า ด้านรัฐฉาน
ตามรายงาน ‘สั่งอพยพ’: โครงการบังคับโยกย้ายถิ่นฐานชาวว้าในเขตรัฐฉานตะวันออก (2542-2544) ระบุว่าตั้งแต่ปี พ.ศ.2542-2544 รัฐบาลพม่าเริ่มทำการบังคับอพยพโยกย้ายประชาชนว้าอย่างน้อย 126,000 คนจาก ‘ปางซาง’ เมืองติดชายแดนจีน ลงมายังรัฐฉานใต้หลายพื้นที่ และมาสร้างเมืองใหม่ชื่อ ‘เมืองยอน’ ติดกับชายแดน ภาคเหนือของไทย [1]
โดยที่ปางซาง กองบัญชาการสูงสุดของกองทัพสหรัฐว้า (USWA) มี ‘เปาโหย่วเฉียง’ เป็นผู้บัญชาการสูงสุด ส่วนเมืองยอน เมืองใหม่ที่ติดกับชายแดนไทยมี ‘เหว่ย เซียะ กัง’ ผู้นำกองพล 171 ของกองทัพสหรัฐว้าเป็นผู้คุมกำลัง
การอพยพที่เกิดขึ้น ทั้งรัฐบาลทหารพม่าและกองทัพสหรัฐว้าอ้างว่าเพื่อต่อต้านการปลูกฝิ่นของชาวบ้าน และส่งเสริมให้เพาะปลูกพืชชนิดอื่นๆ โดยจัดสรรพื้นที่ในรัฐฉานตอนใต้ให้
แต่เมื่อมีการอพยพกลับพบว่ายิ่งมีการปลูกฝิ่นในพื้นที่รัฐฉานตอนใต้โดยการสนับสนุนของทหารพม่าและว้า เกิดการบังคับเกณฑ์แรงงานชาวว้า ความอดอยาก การละเมิดสิทธิมนุษยชน
ขณะที่โรคภัยไข้เจ็บ โดยเฉพะโรคมาลาเรีย ตลอดจนความยากลำบากในการเดินทางของชาวบ้านที่ต้องเดินเท้าจากเหนือลงใต้กินเวลานับ 2 เดือนจึงทำให้ชาวว้าเสียชีวิตระหว่างการอพยพมากกว่า 4 พันคน
0 0 0
เด็กชาวว้ากลุ่มนี้เป็นเด็กชาย 3 คน เด็กหญิง 2 คน อายุ 12 ปีบ้าง 13 ปีบ้าง กำลังเดินขออาหาร และถามชาวบ้านว่า “อยากได้คนงานบ้างไหม เราทำงานอะไรก็ได้ ขอแค่ให้ที่อยู่ อาหารและเสื้อผ้าสักสองชุด”
เด็กๆ ทั้งหมดไม่มีอะไรติดตัวเลย นอกจากเสื้อผ้าที่ใส่ติดตัว รองเท้าที่ขาดวิ่น และยังพกพาความหิวโหย
พวกเด็กๆ ถูกพาเข้าไปในหมู่บ้าน
ชาวบ้านที่ตลาด ให้ความช่วยเหลือเด็กๆ เหล่านั้น ให้ข้าว ให้น้ำ ชาวบ้านได้แต่ฟัง ชาวบ้านคนหนึ่งร้องไห้ทันทีที่เด็กๆ เล่าถึงเหตุผลที่พวกเขาต้องหนีมาฝั่งไทย
เด็กๆ เล่าให้ฟังว่า พวกเขาไม่มีพ่อ ไม่มีแม่ ไม่มีบ้าน อีกแล้ว
ตอนนี้ถูกทหารว้า คนชาติเดียวกัน เอามารับใช้ในค่ายทหาร ใช้งานสารพัด บางคนถูกทหารว้าใช้ให้ไปทำงานในไร่ เจ้าของไร่ใช้งานหนักจนไม่ได้พัก หากเดือนไหน ‘โชคดี’ ก็จะได้เงิน ที่เรียกว่าเป็น ‘ค่าแรง’ 60 บาท จากเจ้าของสวน
ชาวบ้านถามเด็กๆ ว่าถูกทำร้ายบ้างไหม มีเสียงหนึ่งบอกว่าถูกทำร้ายสารพัดจนไม่อยากพูดถึงมันอีก
เด็กคนหนึ่งชี้ให้ดูรอยมีดสับที่นิ้วเท้าข้างขวา อีกคนให้ดูรอยมีดที่คาง พอพูดไปน้ำตาก็ตามมาด้วยทันที
พอเราทนไม่ได้จึงหนีออกมาอย่างไม่คิดชีวิต ทิ้งข้าวของสมบัติติดตัวที่มีน้อยนิด หนี หนี หนี ทั้งวิ่ง ทั้งเดิน บางคนรีบวิ่ง รีบหนี จนทิ้งร้องเท้าแตะไว้กลางป่า
ชาวบ้านสงสารเด็กๆ จึงเลี้ยงข้าวแล้วพาไปส่งที่วัด ที่พักพิงแห่งเดียวในหมู่บ้านชายแดนสำหรับเด็กๆ ที่ระหกระหนอย่างไม่รู้อนาคตว่าจะไปไหนอย่างพวกเขา
เช้าวันรุ่งขึ้น ไม่ทันที่ชาวบ้านจะสอบถามพวกเด็กๆ ที่ค่ายทหารว้า มีเด็กๆ คนอื่นๆ ในสภาพดุจเดียวกับพวกเขาอีกกี่คน ทหารว้าทำอะไรพวกเขาบ้าง จะช่วยเหลือเด็กๆ พวกนี้อย่างไร
อปพร. ในหมู่บ้านตามหาจนพบกับกลุ่มเด็กพวกนี้ และยืนยันให้จับส่งทหารว้า
ดูเหมือนว่านี่เป็นการ “ขอ” มาจากทหารว้า
พวกเขาพาเด็กขึ้นรถกะบะ
ในจำนวนเด็กทั้งห้า ไม่มีใครยอมกินข้าวหรือยอมแตะอาหารกำลังจะกิน หลังจากที่รู้ว่าต้องถูกจับส่งกลับ พวกเขาพากันร้องไห้จ้า ไม่อยากกลับไปอีก บางคนพยายามกระโดดลงมา แต่ อพปร. ก็จับเด็กนั้นไว้มั่นมือ เสียงร้องไห้ของเด็กๆ ไม่ได้ทำให้จิตใจผู้ใหญ่สองสามคนที่จับพวกเขา รู้ถึงความกลัวและเสียใจที่จะถูกส่งกลับไปเลยสักนิด
รถกระบะหายลับไปแล้ว เสียงร้องไห้เด็กๆ หายลับไปแล้ว พร้อมกับอิสรภาพชั่วคราว ของเด็กๆ ก็อันตรธานหายไปด้วย
0 0 0
ฉันไม่เข้าใจ ประเทศไทยที่บอกว่าเป็นประชาธิปไตย แต่ทำไม เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจึงไม่ยึดหลักการนั้น แล้วคิดช่วยเหลือเด็กๆ เหล่านั้น
ทำไมรีบส่งเด็กพวกนั้นกลับ ทำไมไม่สอบถามเด็กๆ ว่าเกิดอะไรขึ้นใน ‘ฝั่งโน้น’ ทหารว้าทารุณพวกเขาหรือไม่ ทำไมต้องมาอยู่กับทหารว้า ทำไมทหารว้าพรากลูก ออกจากพ่อแม่ ทำไม นอกจากไม่ให้ความช่วยเหลือพวกเขา แล้วยังต้องซ้ำเติมชะตากรรมที่พวกเขายอมหนีตาย เพื่อเอาชีวิตมาแลกกับความหวังเพียงน้อยนิด ที่จะรอดพ้นจากความโหดร้ายเหล่านี้
ถ้าเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจะอ้างว่าไม่มีอำนาจสอบถามเท้าความถึงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในฝั่งพม่า
ก็แล้วทำไมเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นถึงมีอำนาจส่งกลับเด็กชาวว้าข้ามชายแดนโดยพละการ
หรือมีคำสั่ง มีการอนุมัติ มาจากเจ้าหน้าที่ๆ อยู่ระดับสูงกว่านั้น
หรือ ‘ความมั่นคงมนุษย์’ ความเป็นมนุษย์และชีวิตของเด็กเหล่านี้ สำคัญน้อยกว่าความมั่นคงของชาติ ความมั่นคงของทหารว้า และความั่นคงอย่างมหาสถาพรของรัฐบาลทหารพม่า
ทำไมเด็กชาวว้าถึงไม่มีโอกาสที่จะมีอิสรภาพ เหนือการบังคับกดขี่ เหนือความหวาดกลัว เหนือการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชน และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ใด
เด็กๆ หายลับไปพร้อมรถกะบะที่มุ่งหน้าไปชายแดนและส่งพวกเขาให้กับทหารว้า หากแต่ใจฉันยังได้ยินเสียงร้องไห้ และภาพที่พวกเขาถูกบังคับลากขึ้นรถ ทุกวินาที
ทันทีที่เท้าเหยียบอีกฝั่งหนึ่งของชายแดน พวกเขาต้องเผชิญกับอะไรบ้าง ตอนนี้อยู่กันอย่างไร
ไม่มีใครรู้
ฉันถามตัวเอง
คำตอบเหล่านั้น อยู่ในสายลม
- - - - -
หมายเหตุ
[1] อ่านรายงานการอพยพชาวว้าได้ที่ The Lahu National Development Organisation, “UNSETTLING MOVES: The Wa resettlement program in Eastern Shan State (1999-2001).” in http://www.shanland.org/resources/bookspub/humanrights/wa