Skip to main content

มุทิตา เชื้อชั่ง

ด้วยทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ ขนาบไปด้วยทะเลยาวเหยียด เหมาะเป็นเส้นทางขนส่งวัตถุดิบสารพัด ประจวบฯ จึงเป็นที่หมายตาของโครงการขนาดใหญ่ ไม่ว่าโรงไฟฟ้าหรือโรงงานอุตสาหกรรม

สำหรับชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งไม่เห็นด้วยกับโครงการเหล่านี้ ก็นับเป็นความอาภัพของชีวิต เพราะภูมิศาสตร์แบบนี้เองที่ทำให้พวกเขาต้องต่อสู้คัดค้านกับรัฐหรือทุนขนาดใหญ่กันไม่หยุดหย่อน ไม่โครงการนั้น ก็โครงการนี้ และไม่รู้ว่าด้วยความอาภัพนี้หรือไม่ที่ทำให้ขบวนการประชาชนที่นี่ แข็งแกร่ง' จะว่าที่สุดในประเทศก็คงไม่ผิดนัก


ล่าสุด มีการต่อสู้คัดค้านโรงถลุงเหล็กของเครือสหวิริยา ซึ่งเป็นโครงการขนาดมหึมา ที่จะไปลงในพื้นที่แม่รำพึง อำเภอบางสะพาน ขยายต่อจากโรงรีดเหล็กเดิมที่มีอยู่แล้ว

กระทั่งเมื่อสองวันก่อนมีการสูญเสียชีวิต จากเหตุการณ์ปะทะกันของชาวบ้าน เสื้อแดง' ฝ่ายสนับสนุน และ เสื้อเขียว' ฝ่ายคัดค้าน โดยผู้เสียชีวิตเป็นวัยรุ่นเสื้อแดงคนหนึ่งที่ถูกกระสุนปืน หลายคนตั้งคำถามกับกลุ่มเสื้อเขียว ขณะที่พวกเขาก็ยืนยันชัดเจนว่าเขาไม่มีอาวุธปืนในที่เกิดเหตุ แต่เป็นกลุ่มเสื้อแดงนั้นเองที่พกพาอาวุธปืนและมีการยิงข่มขู่

 

ข้อเท็จจริงของการเสียชีวิตนี้ควรได้รับการตรวจสอบอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม โดยไม่ต้องนับว่าเขาใส่เสื้อสีอะไร และไม่มีข้อยกเว้นใดๆ

เหตุการณ์นี้ไม่ควรเกิดขึ้นอย่างยิ่ง นี่ไม่ใช่การลอบยิงด้วยซ้ำ แต่เป็นการเสียชีวิตจากการเผชิญหน้ากันระหว่างชาวบ้านสองฝ่ายราวกับเป็นการจลาจล...ในพื้นที่กฎอัยการศึก! ซึ่งเจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจ มาไม่ทันการณ์บ้าง มาน้อยเกินไปบ้าง มาแล้วกลับก่อนบ้าง แต่โดยสรุปก็คือ ไม่สามารถจัดการอะไรได้' ทั้งที่มันไม่ใช่ความรุนแรงครั้งแรก มีสัญญาณและความรุนแรงย่อยๆ เกิดขึ้นก่อนหน้านี้หลายต่อหลายครั้ง โดยเฉพาะในช่วงหลังเมื่อความขัดแย้งเริ่มเปลี่ยนจากชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์กับบริษัทโดยตรง มาเป็นชาวบ้านกับกลุ่มนักการเมือง ผู้นำท้องถิ่น ซึ่งเป็นผู้รับเหมาหรือได้ประโยชน์จากโครงการนี้

แต่ ตำรวจ ทหาร ไม่ใช่จำเลยผู้เดียวสำหรับเรื่องนี้....

ความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านบางสะพานกับบริษัทสหวิริยานั้นมีมานานร่วม 2 ปี และเริ่มเข้มข้นขึ้นทุกที ขณะที่มันไม่เคยไปสู่การรับรู้ของสังคมวงกว้าง มีเพียงรายงานข่าวเล็กๆ ประปราย และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องก็ดูจะไม่ได้ทำหน้าที่อย่างจริงจังในการช่วยคลี่คลายปัญหา

หลายปัจจัยร่วมทำให้สถานการณ์ในพื้นที่ตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ เพราะโครงการนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่มาก ขณะที่ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ที่นี่ก็เข้มแข็งมาก ไม่ประนีประนอม และมีประสบการณ์การต่อสู้กับโครงการอื่นๆ มายาวนาน นอกจากนี้ที่นี่เป็นเมืองแห่งอิทธิพลมืด ซึ่งบทเรียนการต่อสู้ในอดีตก็มีการสังหาร' ผู้นำชาวบ้าน กรณีสะเทือนขวัญที่เป็นที่รู้จักคือ การลอบยิงเจริญ วัดอักษร' เมื่อครั้งที่เขาคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าบ่อนอก-บ้านกรูด และคดียังไม่คืบหน้าจนปัจจุบัน

000

สำหรับกรณีนี้ ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ป่าพรุแม่รำพึง เริ่มรวมตัวกันคัดค้านโครงการขนาดพันล้านนี้ ด้วยความกังวลว่าโครงการผลิตเหล็กต้นน้ำนี้จะสร้างมลพิษอย่างมากมาย นอกเหนือจากนั้นประเด็นหลักที่หยิบยกมาต่อสู้กันคือ โครงการนี้กำลังจะก่อสร้างทับพื้นที่ป่าพรุนับพันไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะอยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนทำหน้าที่รองรับน้ำตามธรรมชาติของจังหวัดประจวบก่อนลงสู่ทะเล อีกทั้งกำลังถูกเสนอชื่อให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำระดับโลก การก่อสร้างนี้จะทำให้ประจวบไม่มีพื้นที่รองรับน้ำ และปัญหาน้ำท่วมยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น

นอกจากนี้โครงการยังทับพื้นที่ป่าช้าเดิมซึ่งเป็นที่สาธารณะและทางสาธารณะ มีการต่อสู้ ถกเถียงกัน โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ร่วมเข้ามาตรวจสอบเอกสารสิทธิต่างๆ ทำให้พบว่าเอกสารสิทธิบางส่วนได้มาไม่ถูกต้อง กระทั่งนำไปสู่การเพิกถอนสิทธิและส่งผลให้บริษัทต้องถอนรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ซึ่งผ่านการพิจารณาของ สผ.แล้วเหลือเพียงการลงนามอย่างเป็นทางการ

ในภายหลังทางบริษัทประกาศจะขยับพื้นที่โครงการไปด้านบนไม่ให้ทับป่าพรุและป่าช้าสาธารณะ แต่ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ยังคงยืนยันถึงผลกระทบที่จะปิดร่องน้ำตามธรรมชาติ ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมในเมืองหนักขึ้น ขณะที่ป่าพรุก็จะกลายสภาพเป็นป่าเสื่อมโทรม

ท่างกลางความขัดแย้งนี้ ท่ามกลางรายงานอีไอเอที่ยังไม่ผ่าน มีความพยายามถมพื้นที่เดินหน้าก่อสร้างโครงการแต่ก็มีการคัดค้านจากชาวบ้านอย่างหัวชนฝาถึงกับมีการตั้งศูนย์เฝ้าระวังพื้นที่ป่าพรุโดยมีชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สลับสับเปลี่ยนกันไปนอนเฝ้าป่าพรุทุกคืน หลังจากนั้นมีความพยายามครั้งใหม่ในการขุดร่องระบายน้ำและมีการคัดค้านเช่นเคย โดยชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ต้องการให้รอให้อีไอเอผ่านการพิจารณาให้แล้วเสร็จก่อน

ที่ผ่านมา คณะกรรมการสิทธิฯ ดูเหมือนเป็นหน่วยงานเดียวที่พยายามลงไปไกล่เกลี่ยแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม โดยพยายามจะตั้งคณะกรรมการหลายภาคส่วน แต่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จเนื่องจากทางโครงการไม่พอใจรูปแบบที่กำหนดและไม่เข้าร่วมด้วย อย่างไรก็ดี เมื่อมองเห็นเค้าความรุนแรงในพื้นที่ หลายส่วนพยายามหาความชัดเจนในข้อกฎหมายเกี่ยวกับอีไอเอ การถมดิน แต่ก็ไม่มีใครออกมาบอกชัดๆ ด้วยเสียงดังๆ ว่าทำได้ ไม่ได้ แค่ไหน อย่างไร  คณะกรรมการสิทธิฯ พยายามจะบอกให้หยุดไว้ก่อนเพื่อรอความชัดเจนของอีไอเอ แต่ก็ดูไร้ผล จนกระทั่งความขัดแย้งลุกลามบานปลาย

คำตอบสุดท้ายเฉพาะหน้าตอนนี้จึงพุ่งไปเรื่องอีไอเอ ซึ่งก็น่าห่วง เพราะที่ผ่านมากระบวนการพิจารณาอีไอเอก็มีปัญหา ถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่ในหลายเรื่อง จึงไม่แน่ใจว่าจะเป็นกลไกแห่งความหวังที่จะทำให้การลงทุนมีความโปร่งใส เป็นธรรม ไม่ผลักภาระทั้งด้านสิ่งแวดล้อม และต้นทุนอื่นๆ ไปให้สังคมหรือชาวบ้านแบกรับได้มากเพียงไหน

ว่ากันให้ถึงที่สุด นี่คือปัญหาความขัดแย้งระหว่างการพัฒนากับการอนุรักษ์ ระหว่างสิทธิชุมชนและการค้า การลงทุน โดยที่เรายังหาเส้นแห่งความสมดุลไม่ได้

ที่ยากลำบากคือ ความสูญเสียที่เกิดขึ้นเป็นการเผชิญหน้ากันของ ชาวบ้าน' ที่ทำให้ไม่สามารถขีดเส้นแบ่ง เขา - เรา เพื่อแบ่งแยกกันเองได้ชัดเจน ไม่ว่าฝ่ายตรงข้ามจะถูกนายทุนจ้างมาหรือไม่ เพราะ เรา' จะรู้ได้อย่างไรว่า เขา' ก็ไม่ใช่ เหยื่อ'

ในอีกด้านหนึ่ง หากยังมีผู้ไร้ที่ทำกิน ไร้โอกาส ซึ่งมีความหวังกับอุตสาหกรรม เรื่อง การอนุรักษ์' จะถูกจัดวางตรงไหน ?

ขณะที่ภาครัฐ หรือกลไกต่างๆ ก็ยังบิดเบี้ยว และไม่สามารถสร้างความเป็นธรรมให้กับคนเล็กคนน้อยได้ ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการใช้ทรัพยากรและต้นทุนสารพัดของท้องถิ่นก็กระจุก ไม่เคยกระจายให้ผู้คนอย่างเหมาะสม

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นอาจเป็นจุดเริ่มต้นให้สังคมหันมามองและคิดกับเรื่องนี้อย่างจริงจังเพื่อหาทางออกในหลายๆ ระดับ เพราะแนวโน้มปัญหาแบบนี้จะมากขึ้นและหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ

 

 

 

 

บล็อกของ Hit & Run

Hit & Run
  ตติกานต์ เดชชพงศ  เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ที่ผ่านมา เพิ่งมีโอกาสได้ไปดูฉากโหดๆ อาทิ หัวขาดกระเด็น เลือดสาดกระจาย กระสุนเจาะกระโหลกเลือดกระฉูด ในหนังไทย (ทุ่มทุนสร้างกว่า 80 ล้านบาท!) เรื่อง ‘โอปปาติก'  รู้สึกอัศจรรย์ใจเป็นอย่างยิ่งว่าหนังเรื่องนี้รอดพ้นเงื้อมมือกองเซ็นเซอร์ผู้เคร่งครัดมาได้ยังไง?เพราะด้วยการทำงานของหน่วยงานเดียวกันนี้ ทำให้หนังเรื่องหนึ่งถูกห้ามฉาย เพราะมีฉากพระสงฆ์เล่นกีตาร์, และฉากนายแพทย์บอกเล่าว่าตนก็มีึความรู้สึกทางเพศ แม้แต่ฉากเด็กผู้หญิงอาบน้ำ (ซึ่งเป็นเพียงตัวการ์ตูนญี่ปุ่น) ก็ยังถูกเซ็นเซอร์มาแล้ว ด้วยข้อหา ‘ทำให้เสื่อมเสียศีลธรรมอันดี'…
Hit & Run
วิทยากร บุญเรือง ผมไปเจอข่าวชิ้นหนึ่ง เหตุเกิดที่โรงพยาบาลศิริราช ซึ่งไม่ว่าจะยังไง ข่าวชิ้นนี้ผมว่ามันสามารถสะท้อนอะไรได้หลายอย่าง สำหรับสังคมไทยที่เป็นอยู่ในปัจจุบันคือข่าวที่กลุ่มมิจฉาชีพแฝงตัวเข้ามาก่ออาชญากรรมในโรงพยาบาลศิริราช มาหากินกับพสกนิกรผู้จงรักภักดีได้ลงคอ ... (กรุณาอ่านให้จบก่อนด่า)ท่านพงศพัศ พงษ์เจริญ ตำรวจหน้าหล่อ ได้กล่าวว่า ที่โรงพยาบาลศิริราช มีเรื่องซึ่งไม่น่าจะเกิดขึ้นนั่นคือมีกลุ่มมิจฉาชีพแฝงตัวเข้ามาก่ออาชญากรรม และที่ไม่เหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง คือเป็นการก่อเหตุในเขตพระราชฐาน โดยขณะนี้ตำรวจได้รวบรวมหลักฐานแล้วเตือนไปยังแก๊งมิจฉาชีพที่ตั้งใจมาก่ออาชญากรรมว่า…
Hit & Run
พงษ์พันธุ์ ชุ่มใจ 26 กันยายน 2550ย่านพระเจดีย์สุเล, กรุงย่างกุ้ง   ภาพที่เห็นคือ...ประชาชนหลายพันคนออกมายืนเต็มถนนย่านพระเจดีย์สุเล ซึ่งเป็นย่านกลางเมือง โดยไม่ไกลนักมีกองกำลังรักษาความมั่นคงพม่าตั้งแถวอยู่เบื้องหน้า ป้องกันไม่ให้ประชาชนเข้าใกล้พระเจดีย์แห่งนี้"เราต้องการประชาธิปไตย" ชายวัยกลางคนผู้หนึ่งกล่าว"รัฐบาลนี้อันตรายโคตรๆ" ชายอีกคนหนึ่งกล่าวประชาชนส่วนหนึ่ง พยายามต่อสู้กับทหาร ทหารที่มีทั้งโล่ กระบอง แก๊สน้ำตา กระทั่งปืน โดยประชาชนพยายามขว้างอิฐ ขว้างหิน เข้าใส่แถวแนวของทหารพวกนั้นก้อนแล้ว ก้อนเล่า ... ถูกทุบเป็นก้อนย่อมๆก้อนแล้ว ก้อนเล่า ... ถูกขว้างสุดแรงเกิด…
Hit & Run
  อรพิณ ยิ่งยงพัฒนาดูเหมือนเรื่องน่าจะจบลงไปแล้ว กับความพยายามของ สนช.กว่า 60 คน ที่เข้าชื่อกันยื่นแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา (ป.อาญา) และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) ในมาตราที่เกี่ยวข้องกับการทำผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ก่อนที่สุดท้าย สนช.จะตัดสินใจถอนการแก้ไขออกไปก่อนแม้เรื่องนี้มีนัยยะที่น่าสนใจหลายประเด็น แต่สิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือ กระแสความคิดที่เกิดขึ้น แม้ภายหลังการถอยและถอนการเสนอแก้กฎหมายแล้วก็ตามสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีจำนวน 242 คน โดย สนช. สามารถเข้าชื่อกันเพื่อเสนอหรือแก้ไขกฎหมายได้ ผ่านการเข้าชื่อเพียงจำนวนไม่น้อยกว่า 25 คน ยกเว้นกฎหมายที่เกี่ยวกับการเงิน…
Hit & Run
จิรนันท์ หาญธำรงวิทย์นอกจาก 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตย และ (อดีต) วันชาติแล้ว วันสำคัญที่เงียบเหงารองลงมา (อีกวัน) ก็คงหนีไม่พ้น 6 ตุลาคม 2519 ที่รับรู้กันว่า เกิดเหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษา ประชาชน เพราะเข้าใจว่าเป็นคอมมิวนิสต์ สำหรับปีที่แล้ว วันนี้อาจคึกคัก เพราะถึงวาระตัวเลขกลมๆ 30 ปี ซ้ำยังเพิ่งผ่านพ้นรัฐประหาร 19 กันยายน มาหมาดๆ กระแสเรื่องการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยจึงยังมีอยู่ แต่พอปีนี้กระแสกลับไปเงียบเหงาเหมือนปีก่อนๆ วันที่ 6 ตุลาในปีนี้ กลายเป็นวันเสาร์ธรรมดาๆเมื่อถามถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา กับหลายๆ คน…
Hit & Run
ภาพันธ์ รักษ์ศรีทองเป็นข่าวคราวกันพักใหญ่ในรอบสัปดาห์จนผู้หลักผู้ใหญ่ต้องรีบออกมาเต้นเร่าร้อนกันทั่ว เมื่อคุณหนูสาวๆ มีแฟชั่นเทรนใหม่เป็นการนุ่งกระโปงสั้นจุ๊บจิมโดยไม่สวมใส่ ‘กุงเกงลิง’ ความนิยมนี้เล่นเอาหลายคนหน้าแดงผ่าวๆจนพากันอุทาน ต๊ายยย ตาย อกอีแป้นจะแตก อีหนูเอ๊ยย ทำกันไปได้อย่างไร ไม่อายผีสาง เทวดาฟ้าดินกันบ้างหรืออย่างไรจ๊ะ โอ๊ย..ย สังคมเป็นอะไรไปหมดแล้ว รับแต่วัฒนธรรมตะวันตกมาจนไม่ลืมหูลืมตา วัฒนธรรมไทยอันดีงามของไทยไปไหนโม๊ดดดดเรื่องนี้มองเล่นๆ เหมือนจะเป็นเรื่องเล็กๆ แต่มันก็ไม่เล็ก จะว่าเป็นเรื่องใหญ่ก็ไม่ใหญ่ แต่ไปๆ มาๆ คล้ายกับว่ารอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ‘กุงเกงลิง’…